ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 698 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 702 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 707 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา มณิกุณฑลชาดก
ว่าด้วย ผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอำมาตย์ชั่วผู้จัดประโยชน์ทั้งปวงในภายในพระราชวังของพระเจ้าโกศล จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ชินฺโน รฏฺฐสฺสมณิกุณฺฑเล จ ดังนี้.
               เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               ส่วนในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระเจ้าพาราณสี อำมาตย์ชั่วนำพระเจ้าโกศลมายึดเอากาสิกรัฐ จองจำพระเจ้าพาราณสีใส่ไว้ในเรือนจำ.
               พระเจ้าพาราณสีทำฌานให้เกิดขึ้นแล้วนั่งขัดสมาธิในอากาศ ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในร่างกายของราชาผู้เป็นโจร.
               พระราชาโจรนั้นเข้าไปหาพระเจ้าพาราณสี แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

               พระองค์ทรงละทิ้งแว่นแคว้น ม้ากุณฑล แก้วมณี อนึ่ง ยังทรงละทิ้งราชบุตรและเหล่าสนม เมื่อโภคสมบัติทั้งสิ้นของพระองค์ไม่มีเหลือเลย เพราะเหตุไร พระองค์จึงไม่ทรงเดือดร้อนในคราวเศร้าโศกเล่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชินฺโน รฏฺฐสฺสมณิกุณฺฑเล จ ความว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงละทิ้งแว่นแคว้น ม้า และกุณฑลแก้วมณีทั้งหลาย. บาลีว่า รถมณิกุณฺฑเล จ ดังนี้ก็มี. บทว่า อเสสเกสุ แปลว่า ไม่เหลือเลย.

               พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า :-

               โภคสมบัติย่อมละทิ้งสัตว์ไปเสียก่อนก็มี บางทีสัตว์ก็ละทิ้งโภคสมบัติเหล่านั้นไปก่อนก็มี ดูก่อนพระองค์ผู้ใคร่ในกาม โภคสมบัติที่บริโภคกันอยู่เป็นของไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่เดือดร้อนในคราวที่ควรเศร้าโศก.

               พระจันทร์อุทัยขึ้นเต็มดวง และจะหายไป อนึ่ง พระอาทิตย์กำจัดความมืด ทำโลกให้เร่าร้อน แล้วอัสดงคตไป ฉันใด โภคสมบัติทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นและพินาศไป ฉันนั้น ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายหม่อมฉันชนะแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพว มจฺจํ ความว่า โภคะทั้งหลายย่อมละสัตว์ไปในเบื้องต้น คือก่อนทีเดียวบ้าง สัตว์ย่อมละโภคะเหล่านั้นไปก่อนกว่าบ้าง. พระโพธิสัตว์เรียกพระราชาที่เป็นโจรปล้นราชสมบัติ กามกามิ.
               อธิบายว่า ดูก่อนพระองค์ผู้ใคร่กามทั้งหลาย ชื่อว่ากามกามิ ธรรมดาคนผู้มีโภคสมบัติเป็นผู้ไม่แน่นอนในโลก คือเมื่อโภคสมบัติทั้งหลายฉิบหายไปแล้ว ถึงจะมีชีวิตอยู่ก็เป็นผู้ไม่มีโภคสมบัติ หรือตนละทิ้งโภคสมบัติฉิบหายไปเอง เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่เศร้าโศก แม้ในคราวเศร้าโศกของมหาชน.
               พระโพธิสัตว์เรียกราชาโจรด้วยคำว่า ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายหม่อมฉันชนะแล้ว ดังนี้.
               อธิบายว่า ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายมีอาทิว่า มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ ดังนี้ หม่อมฉันชนะแล้ว เหมือนอย่างว่าพระจันทร์อุทัยขึ้นเต็มดวง และกลับสิ้นไป ฉันใด และเหมือนพระอาทิตย์ขจัดความมืดทำภูมิภาคของโลกอันใหญ่โตให้ร้อน แล้วกลับถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ คืออัสดงคตไปไม่ปรากฎในตอนเย็น ฉันใด โภคสมบัติทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเกิดขึ้นและย่อมฉิบหายไป จะประโยชน์อะไร ด้วยการเศร้าโศกในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่เศร้าโศก.
               พระมหาสัตว์แสดงธรรมแก่พระราชาผู้เป็นโจรอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะติเตียนพระราชาโจรนั้นนั่นแหละ จึงกล่าวว่า :-

               คฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม เกียจคร้านไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวม ไม่ดี พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญแล้วกระทำ ไม่ดี การเป็นบัณฑิตขี้โกรธก็ไม่ดี.

               ท่านผู้เป็นใหญ่ในทิศ กษัตริย์พึงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงกระทำ ยังมิได้ใคร่ครวญแล้วไม่ควรทำ ยศและเกียรติย่อมเจริญแก่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญแล้วทำ.


               ก็คาถาทั้งสองนี้ ได้พรรณาให้พิสดารในหนหลังแล้วแล.

               พระราชาโจรขอขมาพระโพธิสัตว์แล้ว มอบราชสมบัติให้ทรงรับไว้แล้ว เสด็จไปยังชนบทของพระองค์เอง

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               พระเจ้าโกศลในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               ส่วนพระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถามณิกุณฑลชาดกที่ ๑

.. อรรถกถา มณิกุณฑลชาดก ว่าด้วย ผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 698 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 702 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 707 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3340&Z=3362
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=8689
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=8689
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :