ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 712 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 717 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 722 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา อุรคชาดก
ว่าด้วย เปรียบคนตายเหมือนงูลอกคราบ

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกฎุมพีคนหนึ่งผู้มีบุตรตายแล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อุรโคว ตจํ ชิณฺณํ ดังนี้
               เรื่องปัจจุบันเป็นเหมือนเรื่องกฎุมพีผู้มีภรรยาตายและมีบิดาตายแล้วนั่นแหละ. แม้ในชาดกนี้ พระศาสดาเสด็จไปยังนิเวศน์ของกฎุมพีนั้น อย่างนั้นเหมือนกัน แล้วตรัสถามกฎุมพีนั้น ผู้มาถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ว่า อาวุโส ท่านเศร้าโศกหรือ.
               เมื่อกฎุมพีนั้นกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เศร้าโศก ตั้งแต่บุตรของข้าพระองค์ตายไปแล้ว. จึงตรัสว่า อาวุโส ชื่อว่าสิ่งที่มีการแตกทำลายเป็นธรรมดา ย่อมจะแตกทำลายไป ชื่อว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา ย่อมจะพินาศไป ก็แหละสิ่งที่มีการแตกและการพินาศไปนั้น จะมีแก่คนผู้เดียวเท่านั้นก็หามิได้ จะมีในหมู่บ้านเดียวเท่านั้น ก็หามิได้ ชื่อว่าสภาวธรรม คือ ความไม่ตายย่อมไม่มีในภพทั้งสาม ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ แม้สังขารอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดำรงอยู่โดยภาวะนั้นเท่านั้น ชื่อว่าเที่ยงยั่งยืนย่อมไม่มี สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นธรรมดา สังขารทั้งหลายมีการแตกสลายไปเป็นธรรมดา
               แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อบุตรตายแล้ว คิดว่าสิ่งที่มีการพินาศไปเป็นธรรมดา พินาศไปแล้ว จึงไม่เศร้าโศกเลย. อันกฎุมพีนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ ณ หมู่บ้านใกล้ประตูเมืองพาราณสี สั่งสมทรัพย์สมบัติไว้เลี้ยงชีพด้วยกสิกรรม. พระโพธิสัตว์นั้นได้มีทารก ๒ คน คือ บุตร ๑ ธิดา ๑.
               พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อบุตรเจริญวัยแล้ว ได้นำนางกุมาริกามาจากสกุลที่เสมอกัน. ดังนั้นชนเหล่านั้นได้เป็น ๖ คนด้วยกันกับนางทาสี คือ พระโพธิสัตว์ ภรรยา บุตร ธิดา ลูกสะใภ้และทาสี. ชนเหล่านั้นได้เป็นผู้สมัครสมานยินดีอยู่กันด้วยความรัก.
               พระโพธิสัตว์ได้ให้โอวาทแก่คนทั้ง ๕ ที่เหลืออย่างนี้ว่า
               ท่านทั้งหลายจงให้ทานโดยนิยามตามทำนองที่หาได้เท่านั้น จงรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม เจริญมรณัสสติ จงกำหนดถึงภาวะคือความตายของท่านทั้งหลาย เพราะความตายของสัตว์เหล่านี้เป็นของยั่งยืน ชีวิตไม่ยั่งยืน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรม (ดา) เทียว ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวันเถิด.
               ชนทั้ง ๕ นั้นรับโอวาทว่า สาธุ แล้วเป็นผู้ไม่ประมาท เจริญมรณสติอยู่.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ไปนาพร้อมกับบุตรไถนาอยู่ บุตรลากหยากเยื่อมาเผา ในที่ไม่ไกลบุตรนั้น มีอสรพิษอยู่ในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ควันไฟกระทบตาของอสรพิษนั้น มันโกรธเลื้อยออกมาคิดว่า ภัยเกิดแก่เราเพราะอาศัยคนผู้นี้ จึงกัดบุตรชายจมทั้ง ๔ เขี้ยว เขาล้มลงตายทันที.
               พระโพธิสัตว์เหลียวมาดูเห็นบุตรชายนั้นล้มลง จึงหยุดโคแล้วไปหา รู้ว่าบุตรชายนั้นตายแล้ว จึงยกบุตรนั้นขึ้นให้นอนอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง คลุมผ้าไว้ ไม่ร้องไห้ ไม่ปริเทวนาการร่ำไร ไถนาไปพลาง กำหนดถึงเฉพาะความเป็นอนิจจังว่า
                         ก็สิ่งที่มีการแตกเป็นธรรมดา แตกไปแล้ว
                         สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ตายไปแล้ว
                         สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สำเร็จด้วยความตาย.
               พระโพธิสัตว์นั้นเห็นบุรุษผู้คุ้นเคยกันคนหนึ่งเดินไปทางใกล้นา จึงถามว่า จะไปเรือนหรือพ่อ. เมื่อเขากล่าวว่า จ้ะ. จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านพึงแวะไปยังเรือนแม้ของพวกเรา บอกกะนางพราหมณีเขาว่า วันนี้ไม่ต้องนำภัตตาหารไปเพื่อคนสองคนเหมือนดังก่อน พึงนำอาหารไปเฉพาะสำหรับคนผู้เดียวเท่านั้น และเมื่อก่อน ทาสีผู้เดียวเท่านั้นนำอาหารมา แต่วันนี้ คนทั้ง ๔ พึงนุ่งห่มผ้าขาว ถือของหอมและดอกไม้มา.
               บุรุษนั้นรับคำแล้วไปบอกแก่นางพราหมณีเหมือนอย่างนั้น.
               นางพราหมณีถามว่า ดูก่อนพ่อ ข่าวนี้ใครให้ท่านมา?
               บุรุษนั้นตอบว่า พราหมณ์ให้มาจ้ะ แม่เจ้า.
               นางพราหมณีนั้นรู้ได้ว่า บุตรของเราตายแล้ว แม้ความวิปริตสักว่า ความหวั่นใจก็มิได้มีแก่นางพราหมณีนั้น ก็นางมีจิตอบรมไว้ดีแล้วอย่างนี้ นุ่งห่มผ้าขาว ถือของหอมและดอกไม้ ให้ถืออาหารแล้วได้ไปพร้อมกับคนที่เหลือ แม้คนผู้เดียวก็มิได้มีความร้องไห้หรือความร่ำไร.
               พระโพธิสัตว์นั่งในร่มเงาที่บุตรชายนอนอยู่นั่นแหละบริโภคอาหาร ในเวลาเสร็จการบริโภคอาหาร คนแม้ทั้งหมดก็ขนฟืนมา ยกบุตรชายนั้นขึ้นสู่เชิงตะกอน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้แล้วเผา น้ำตาแม้หยดเดียวก็ไม่ได้มีแก่ใครๆ ทั้งหมดเป็นผู้เจริญมรณัสสติไว้ดีแล้ว.
               ด้วยเดชแห่งศีลของชนเหล่านั้น ภพแห่งท้าวสักกะจึงแสดงอาการร้อน.
               ท้าวสักกะนั้นทรงใคร่ครวญอยู่ว่า ใครหนอประสงค์จะให้เราเคลื่อนจากที่ ทรงทราบว่า ภพร้อนเพราะเดชแห่งคุณของชนเหล่านั้น เป็นผู้มีพระมนัสเลื่อมใส ทรงดำริว่า เราไปยังสำนักของชนเหล่านี้ ทำให้เขาบันลือสีหในเวลาเสร็จสิ้นการบันลือสีหนาท จึงกระทำนิเวศน์ของชนเหล่านั้นให้เต็มด้วยรัตนะทั้ง ๗ แล้วจึงมา ย่อมจะควร จึงเสด็จไปในที่นั้นโดยเร็ว แล้วประทับยืนอยู่ที่ข้างป่าช้าตรัสว่า ดูก่อนพ่อ พวกท่านทำอะไรกัน.
               ชนเหล่านั้นกล่าวว่า นาย พวกเราเผามนุษย์คนหนึ่ง.
               ท้าวสักกะตรัสว่า พวกท่านจักไม่เผามนุษย์ แต่เห็นจะฆ่าเนื้อตัวหนึ่งแล้วจึงปิ้งอยู่. ชนเหล่านั้นกล่าวว่า นาย ข้อนั้นก็หามิได้ พวกเราเผาเฉพาะมนุษย์เท่านั้น.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เขาคงจะเป็นมนุษย์ที่มีเวรกับพวกท่าน.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะท้าวสักกะนั้นว่า นาย เขาเป็นบุตรผู้เกิดแต่อกของพวกเรา ไม่ใช่คนมีเวรกัน. ท้าวสักกะตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เขาคงจะเป็นบุตรผู้ที่ไม่เป็นที่รักของท่าน. พระโพธิสัตว์กล่าวว่า นาย เขาเป็นบุตรที่รักยิ่งของข้าพเจ้า.
               ท้าวสักกะตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ร้องไห้.
               พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อจะบอกถึงเหตุที่ไม่ร้องไห้ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
               บุตรของข้าพเจ้าละทิ้งร่างกายของตนไป ดุจงูละทิ้งคราบเก่าฉะนั้น เมื่อร่างกายแห่งบุตรของข้าพเจ้าใช้อะไรไม่ได้ ทำกาละไปแล้วอย่างนี้ บุตรของข้าพเจ้าถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของหมู่ญาติ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของตนมีอย่างใด เขาก็ย่อมไปสู่คติของตนอย่างนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตนุํ แปลว่า ร่างกายของตน.
               บทว่า นิพฺโภเค ความว่า ชื่อว่าเว้นจากการใช้สอย เพราะไม่มีชีวิตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่คือชีวิต.
               บทว่า เปเต ได้แก่ กลับไปยังปรโลก.
               บทว่า กาลกเต ได้แก่ กระทำกาละแล้ว. อธิบายว่า ตายแล้ว.
               ท่านกล่าวคำอธิบายนี้ไว้ว่า
               นาย บุตรของข้าพเจ้าละทิ้งร่างกายของตนไป เหมือนงูลอกคราบเก่า ไม่เหลียวแลห่วงใย ละทิ้งไปฉะนั้น เมื่อร่างกายแห่งบุตรของเรานั้น เว้นขาดจากชีวิตินทรีย์ ใช้การไม่ได้อย่างนี้ และเมื่อบุตรของเรานั้นละไปแล้ว คือหวนกลับไปแล้ว กระทำมรณกาลแล้ว ประโยชน์อะไรด้วยความการุณย์หรือความร่ำไห้ เพราะบุตรของเรานี้ย่อมไม่รู้ แม้ความร่ำไห้ของพวกญาติ เหมือนเอาหลาวแทงแล้วเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกสุขและทุกข์ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา เขาไปตามคติแห่งตนของเขาแล้ว.

               ท้าวสักกะได้ทรงฟังคำของพระโพธิสัตว์ แล้วตรัสถามนางพราหมณีว่า ดูก่อนแม่ เขาเป็นอะไรแก่ท่าน? นางพราหมณีตอบว่า นาย เขาเป็นบุตรที่ข้าพเจ้าบริหารด้วยครรภ์ถึง ๑๐ เดือน ให้ดื่มถันแล้ว บำรุงเลี้ยงให้เจริญเติบโต.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ดูก่อนแม่ บิดาไม่ร้องไห้ เพราะเป็นบุรุษก็ยกไว้ ส่วนหทัยของมารดาอ่อนโยน เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ร้องไห้.
               นางพราหมณีนั้น เมื่อจะบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้ จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               บุตรของดิฉันนี้ ดิฉันมิได้เชื้อเชิญให้เขามาจากปรโลก เขาก็มาเอง แม้เมื่อจะไปจากมนุษยโลกนี้ ดิฉันก็มิได้อนุญาตให้เขาไป เขามาอย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น การปริเทวนาถึงในการที่บุตรของดิฉันไปจากมนุษย์โลกนั้น จะเกิดประโยชน์อะไร
               บุตรของดิฉันถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไรของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของเขามีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนพฺภิโต ความว่า ดูก่อนพ่อ บุตรของดิฉันนี้ ดิฉันมิได้เชื้อเชิญ คือมิได้ขอร้องให้มาจากปรโลก.
               บทว่า อาคา ความว่า มาสู่เรือนของดิฉันแล้ว.
               บทว่า อิโต ความว่า แม้เมื่อจะไปจากมนุษยโลกนี้ ดิฉันมิได้อนุญาตเลย ได้ไปแล้ว.
               บทว่า ยถาคโต ความว่า แม้เมื่อจะมาก็มาตามความชอบใจของตนอย่างใด แม้เมื่อจะไปก็ไปอย่างนั้นนั่นแหละ. บทว่า ตตฺถ ความว่า จะมัวไปปริเทวนาการร่ำไห้อะไร ในการที่เขาไปจากมนุษยโลกนี้นั้น.
               คาถาว่า ทยฺหมาโน ดังนี้ไปพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วแล.

               ลำดับนั้น ท้าวสักกะ ครั้นได้สดับถ้อยคำของนางพราหมณีแล้ว จึงตรัสถามน้องสาวว่า แน่ะแม่ เขาเป็นอะไรแก่เธอ?
               น้องสาวกล่าวว่า เขาเป็นพี่ชายของดิฉันจ้ะนาย.
               ท้าวสักกะตรัสว่า แน่ะแม่ ธรรมดา น้องสาวทั้งหลายย่อมมีความสิเนหารักใคร่พี่ชาย เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ร้องไห้.
               ฝ่ายน้องสาวนั้น เมื่อจะบอกเหตุที่ไม่ร้องให้แก่ท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               เมื่อพี่ชายตายแล้ว หากว่าดิฉันจะพึงร้องไห้ ดิฉันก็จะผ่ายผอม เมื่อดิฉันร้องไห้อยู่ จะมีผลอะไร ความไม่ยินดีก็จะพึงมีแก่ญาติ มิตร และสหายของดิฉันยิ่งขึ้น
               พี่ชายของดิฉันถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงพี่ชายนั้น คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สเจ นี้ ท่านแสดงว่า ถ้าเมื่อพี่ชายตาย ดิฉันจะพึงร้องไห้ไซร้ ดิฉันจะพึงเป็นผู้มีร่างกายผ่ายผอม.
               อนึ่ง ชื่อว่าความเจริญอันมีการร้องไห้นั้นเป็นปัจจัย ก็ไม่มีแก่พี่ชายของดิฉัน.
               ด้วยบทว่า ตสฺสา เม นี้ แสดงว่า เมื่อดิฉันนั้นร้องไห้อยู่ ผลอะไร คืออานิสงส์อะไร จะพึงมี แต่ความไม่เจริญจะปรากฎ.
               บทว่า ญาติมิตฺตาสุหชฺชานํ ได้แก่ ญาติ มิตรและสหาย.
               อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ภิยฺโย โน ความว่า ความไม่ยินดีอย่างยิ่ง จะพึงมีแก่ญาติ มิตร และสหายเหล่านั้นของดิฉัน.

               ครั้นท้าวสักกะได้ทรงสดับถ้อยคำของหญิงผู้เป็นน้องสาวแล้ว จึงตรัสถามภรรยาของบุตรที่ตายนั้นว่า แน่ะแม่ เขาเป็นอะไรแก่เธอ?
               ภรรยาตอบว่า นาย เขาเป็นสามีดิฉัน.
               ท้าวสักกะตรัสว่า ธรรมดาสตรีทั้งหลาย เมื่อสามีตายไป ย่อมเป็นหม้าย ไร้ที่พึ่ง เพราะเหตุไร เธอจึงไม่ร้องไห้.
               ฝ่ายภรรยานั้น เมื่อจะบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               เด็กร้องไห้ขอพระจันทร์อันโคจรอยู่ในอากาศฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น
               สามีของดิฉันถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงสามีนั้น คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น.


               คำที่เป็นคาถานั้นมีเนื้อความว่า
               ทารกผู้อ่อนเยาว์ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร สิ่งที่ควรได้และไม่ควรได้ ในที่ใดที่หนึ่ง นั่งอยู่บนตักของมารดา เห็นพระจันทร์เต็มดวงในเดือนวันเพ็ญ ลอยเด่นอยู่ในอากาศ ย่อมร้องไห้แล้วๆ เล่าๆ ว่า แม่จ๋า จงให้พระจันทร์ฉัน แม่จ๋า จงให้พระจันทร์ฉัน ดังนี้ ฉันใด ความถึงพร้อมอุปไมย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
               คือ ความร้องไห้ของคนผู้เศร้าโศกถึงคนที่ละไป คือตายไปแล้วนั้น สำเร็จความอุปไมยเหมือนฉันนั้น ทั้งไม่มีประโยชน์ ยิ่งกว่าพาลทารกผู้ร้องไห้ อยากได้พระจันทร์แม้นี้ เพราะเหตุไร? เพราะพาลทารกเด็กอ่อนนั้นร้องไห้ถึงพระจันทร์ที่มีอยู่ ส่วนสามีของดิฉันตายแล้ว บัดนี้ไม่ปรากฎอยู่ แม้เขาเอาหลาวแทงเผาอยู่ ก็ไม่รู้อะไรๆ.

               ท้าวสักกะได้ทรงสดับถ้อยคำของภรรยา แล้วจึงตรัสถามทาสีว่า ดูก่อนแม่ เขาเป็นอะไรแก่เจ้า?
               ทาสีตอบว่า ข้าแต่นาย เขาเป็นนายของดิฉัน.
               ท้าวสักกะตรัสว่า เจ้าจักได้ถูกบุรุษนี้เบียดเบียนโบยตีแล้วใช้สอยเป็นแน่ เพราะฉะนั้น เจ้าจึงไม่ร้องไห้เพราะคิดว่า บุรุษนี้พ้นไปเสียดีแล้ว.
               ทาสีกล่าวว่า นาย ท่านอย่าพูดอย่างนั้น คำที่ท่านพูดนี้ไม่สมควรแก่นายดิฉันนี้ ลูกเจ้านายของดิฉันเพียบพร้อมด้วยขันติ เมตตาและความเอ็นดู ได้เป็นผู้เสมือนบุตรที่ดิฉันให้เจริญเติบโตในอก.
               ท้าวสักกะตรัสว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร เจ้าจึงไม่ร้องไห้.
               ฝ่ายทาสีนั้น เมื่อจะบอกเหตุที่ไม่ร้องไห้แก่ท้าวสักกะนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
               หม้อน้ำที่แตกแล้ว เชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลเศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น
               นายของดิฉันถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงนายนั้น คติของตนมีอย่างใด นายของดิฉันก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น.


               คำที่เป็นคาถานั้นมีความว่า
               หม้อน้ำอันเขายกขึ้น พลัดตกแตกออก ๗ เสี่ยง ย่อมไม่อาจที่จะเรียงเชื่อมกระเบื้องเหล่านั้นแล้ว ทำให้กลับเป็นของปกติได้อีก ชื่อฉันใด ความเศร้าโศกของคนผู้เศร้าโศก ถึงคนที่ละไปแล้วนั้น ก็ให้สำเร็จความอุปไมยเหมือนฉันนั้น เพราะไม่อาจทำคนตายให้เป็นขึ้นมาได้อีก.
               อีกอย่างหนึ่ง ผู้มีฤทธิ์ไม่อาจเชื่อมหม้อที่แตกแล้วให้เต็มด้วยน้ำ ด้วยอานุภาพแห่งฤทธิ์ ฉันใด ถึงผู้ที่ตายแล้ว ใครๆ ก็ไม่อาจทำให้กลับเป็นปกติตามเดิม แม้ด้วยกำลังฤทธิ์ได้ฉันนั้น.
               คาถานอกนี้ มีเนื้อความได้กล่าวไว้แล้วในคาถาก่อนทั้งนั้น.

               ท้าวสักกะทรงสดับธรรมกถาของคนทั้งหมดแล้ว ทรงเลื่อมใส ตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาทเจริญมรณัสสติแล้ว จำเดิมแต่นี้ไป ท่านทั้งหลายไม่ต้องทำการงานด้วยมือของตน เราเป็นท้าวสักกะเทวราช เราจักทำรัตนะทั้ง ๗ อันหาประมาณมิได้ไว้ในเรือนของพวกท่าน ท่านทั้งหลายจงให้ทาน รักษาศีล อยู่จำอุโบสถ จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.
               ครั้นให้โอวาทแก่ชนเหล่านั้นแล้ว ทรงกระทำเรือนให้มีทรัพย์นับประมาณไม่ได้ แล้วเสด็จหลีกไป.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ กฎุมพีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ทาสีในครั้งนั้น ได้เป็น นางขุชชุตตรา
               ธิดาได้เป็น นางอุบลวรรณา
               บุตรได้เป็น พระราหุล
               มารดาได้เป็น นางเขมา
               ส่วนพราหมณ์ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบอรรถกถาอุรคชาดกที่ ๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา อุรคชาดก ว่าด้วย เปรียบคนตายเหมือนงูลอกคราบ จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 712 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 717 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 722 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3407&Z=3435
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=8935
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=8935
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :