ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 737 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 743 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 748 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา สุวรรณมิคชาดก
ว่าด้วย เนื้อติดบ่วงนายพราน

               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกุลธิดาคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิกฺกม เร มหามิค ดังนี้.
               ได้ยินว่า นางนั้นเป็นธิดาของสกุลอุปัฏฐากแห่งพระอัครสาวกทั้งสอง ในกรุงสาวัตถี เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส นับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมบูรณ์ด้วยมารยาท เป็นผู้ฉลาด ยินดียิ่งในบุญมีทานเป็นต้น. ตระกูลบุคคลมิจฉาทิฏฐิอื่นที่มีชาติเสมอกัน ในนครสาวัตถีนั้นแล ได้มาขอนางนั้น.
               ลำดับนั้น บิดามารดาของนางกล่าวว่า ธิดาของเรามีศรัทธาเลื่อมใส นับถือพระรัตนตรัย ยินดียิ่งในการบุญมีทานเป็นต้น ท่านทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ จักไม่ให้ธิดาของเราแม้นี้ให้ทาน ฟังธรรม ไปวิหาร รักษาศีล หรือทำอุโบสถกรรม ตามความชอบใจ เราจะไม่ให้ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงสู่ขอเอานางกุมาริกาจากตระกูลมิจฉาทิฏฐิที่เหมือนกับตนเถิด.
               ชนที่มาขอเหล่านั้นถูกบิดามารดาของนางกุมาริกานั้นบอกคืนแล้ว จึงกล่าวว่า ธิดาของท่านทั้งหลายไปเรือนของพวกเราแล้วจงกระทำกิจทั้งปวงตามความประสงค์เถิด พวกเราจักไม่ห้าม ขอท่านจงให้ธิดานั้นแก่พวกเราเถิด ผู้อันบิดามารดาของนางกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงเอาไปเถิด.
               เมื่อถึงฤกษ์ดี จึงกระทำมงคลพิธีแล้วนำนางไปเรือนของตน. นางกุลธิดานั้นได้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความประพฤติและมารยาท มีสามีเป็นดังเทวดา. วัตรปฏิบัติสำหรับพ่อผัว แม่ผัว และสามีย่อมเป็นอันทำแล้วอย่างครบถ้วน.
               วันหนึ่ง นางกล่าวกะสามีว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ดิฉันปรารถนาจะให้ทานแก่พระเถระประจำสกุลของพวกเรา. สามีกล่าวว่า ดีละนางผู้เจริญ เธอจงให้ทานตามอัธยาศัยเถิด. นางจึงให้นิมนต์พระเถระทั้งสองมาแล้วกระทำสักการะใหญ่ ให้ฉันโภชนะอันประณีตแล้วนิมนต์ให้นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ตระกูลนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธา ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย ดังดิฉันขอโอกาส ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงรับภิกษาหารในที่นี้แหละจนกว่าตระกูลนี้จะรู้คุณของพระรัตนตรัย.
               พระเถระทั้งหลายรับนิมนต์แล้วฉันเป็นประจำอยู่ในตระกูลนั้น. นางกล่าวกะสามีอีกว่า ข้าแต่ลูกเจ้า พระเถระทั้งหลายมาเป็นประจำ ณ ตระกูลนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ไปดูพระเถระเล่า. สามีกล่าวว่า เราจักไปดู. วันรุ่งขึ้น นางจึงบอกแก่สามีนั้น ในตอนพระเถระทั้งหลายทำภัตกิจเสร็จแล้ว. สามีของนางนั้นเข้าไปหาแล้วทำปฏิสันถารกับพระเถระทั้งหลายแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น พระธรรมเสนาบดีจึงกล่าวธรรมกถาแก่สามีของนางนั้น เขาเลื่อมใสในธรรมกถาและอิริยาบถของพระเถระ ตั้งแต่นั้น จึงให้ปูลาดอาสนะเพื่อพระเถระทั้งหลาย กรองน้ำดื่ม ฟังธรรมกถาในระหว่างภัต. ในกาลต่อมา มิจฉาทิฏฐิของเขาก็ทำลายไป.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระเถระ เมื่อกล่าวธรรมกถาแก่สามีภรรยาแม้ทั้งสองนั้น จึงประกาศสัจจะ ๔ ในเวลาจบสัจจะ สามีภรรยาทั้งสองดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               จำเดิมแต่นั้นมา ชนแม้ทั้งหมดมีบิดามารดาของเขาเป็นต้น จนชั้นที่สุดแม้ทาสและกรรมกรได้ทำลายมิจฉาทิฏฐิ เกิดเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์.
               อยู่มาวันหนึ่ง นางทาริกานั้นกล่าวกะสามีว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ดิฉันจะประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือน ดิฉันปรารถนาจะบวช. สามีนั้นกล่าวว่า ดีละนางผู้เจริญ แม้ฉันก็จักบวช แล้วนำภรรยานั้นไปยังสำนักภิกษุณี ด้วยบริวารมากมายให้บวชแล้ว ฝ่ายตนเองก็เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอบรรพชา พระศาสดาให้บรรพชาอุปสมบทแล้ว.
               เธอแม้ทั้งสองเจริญวิปัสสนาไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุสาวชื่อโน้นเกิดเป็นปัจจัยแก่ตนและแก่สามี แม้ตนบวชแล้วบรรลุพระอรหัต ก็ให้สามีแม้นั้นบรรลุด้วย.
               พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีนี้จะได้ปลดเปลื้องสามีจากบ่วง คือราคะ ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ก่อน แม้ในกาลก่อน นางภิกษุณีนี้ก็ได้ปลดเปลื้องโบราณกบัณฑิตทั้งหลายจากบ่วงคือมรณะ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้บังเกิดในกำเนิดมฤค เจริญวัยแล้ว เป็นผู้มีรูปงาม น่ารักใคร่ น่าดู มีผิวพรรณเหมือนทอง ประกอบด้วยเท้าหน้าและเท้าหลังประหนึ่งกระทำบริกรรมย้อมด้วยน้ำครั่ง เขาเช่นกับพวงเงิน นัยน์ตาทั้งสองมีส่วนเปรียบด้วยก้อนแก้วมณี และหางประดุจกลุ่มผ้ากัมพล. ฝ่ายภรรยาของเนื้อนั้นก็เป็นนางเนื้อสาวมีรูปงามน่ารัก. เนื้อทั้งสองนั้นอยู่ร่วมกันด้วยความพร้อมเพรียง. มีเนื้ออันงดงามตระการตาแปดหมื่นตัวคอยอุปัฏฐากบำรุงพระโพธิสัตว์อยู่.
               ในกาลนั้น พวกพรานฆ่าเนื้อทั้งหลายและดักบ่วง.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เดินไปข้างหน้าเนื้อทั้งหลาย เท้าติดบ่วงจึงดึงเท้ามา ด้วยคิดว่าจักทำบ่วงนั้นให้ขาด หนังจึงขาด เมื่อดึงเท้ามาอีก เนื้อขาด เอ็นขาด บ่วงได้รัดจนจดถึงกระดูก. พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อไม่อาจทำบ่วงให้ขาดก็สะดุ้งกลัวต่อมรณภัย จึงร้องบอกให้รู้ว่าติดบ่วง. หมู่เนื้อได้ฟังดังนั้นก็กลัวจึงพากันหนีไป.
               ส่วนภรรยาของพระโพธิสัตว์นั้น หนีไปแล้วแลดูในระหว่างพวกเนื้อ ไม่เห็นพระโพธิสัตว์นั้น คิดว่าภัยนี้คงจักเกิดแก่สามีที่รักของเรา จึงรีบไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์นั้น ร้องไห้มีหน้านองด้วยน้ำตากล่าวว่า ข้าแต่สามี ท่านเป็นผู้มีกำลังมาก ท่านจักไม่อาจทนบ่วงนี้หรือ ท่านจงรวบรวมกำลังทำบ่วงนั้นให้ขาด.
               เมื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดแก่พระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ข้าแต่เนื้อผู้มีกำลังมาก ท่านจงพยายามดึงบ่วงออก ข้าแต่ท่านผู้มีเท้าดุจทองคำ ท่านจงพยายามดึงบ่วงที่ติดแน่นให้ขาดออก ฉันผู้เดียวเว้นท่านเสีย จะไม่รื่นรมย์อยู่ในป่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิกฺกม ได้แก่ จงพยายาม. อธิบายว่า จงดึงออก.
               ศัพท์ว่า เร เป็นนิบาตใช้ในอรรถร้องเรียก.
               บทว่า หรีปท แปลว่า ผู้มีเท้าดุจทองคำ. แม้ในสรีระทั้งสิ้นของพระโพธิสัตว์นั้นก็มีวรรณดุจทองคำ. แต่นางเนื้อนี้กล่าวอย่างนั้น ด้วยอำนาจราคะ. ด้วยบทว่า นาหํ เอกา นี้ แสดงว่า ดิฉันเว้นท่านเสีย ผู้เดียวจักไม่รื่นรมย์ในป่า ก็ดิฉันจักไม่รับหญ้าและน้ำ ซูบผอมตาย.

               เนื้อได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ฉันพยายามดึงอยู่ แต่ไม่สามารถทำบ่วงให้ขาดได้ ฉันเอาเท้าตะกุยแผ่นดินด้วยกำลังแรง บ่วงติดแน่นเหลือเกิน จึงบาดเท้าฉัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิกฺกมามิ ความว่า นางผู้เจริญ ฉันทำความพยายามเพื่อเธออยู่.
               บทว่า น ปาเทมิ (บาลี น ปาเรมิ) ความว่า แต่ฉันไม่อาจทำบ่วงให้ขาด.
               บทว่า ภูมึ สุมฺภามิ ความว่า ฉันเอาเท้าตะกุยแผ่นดินที่บ่วงด้วยหวังว่าบ่วงจะขาดบ้าง.
               บทว่า เวคสา แปลว่า ด้วยกำลังแรง. บทว่า ปริกนฺตติ ความว่า บ่วงตัดหนังเป็นต้นบาดไปรอบด้าน.

               ลำดับนั้น นางเนื้อจึงกล่าวกะเนื้อนั้นว่า ข้าแต่สามี ท่านอย่ากลัวเลย ดิฉันจะอ้อนวอนนายพรานตามกำลังของตน จักนำชีวิตมาเพื่อท่าน ถ้าดิฉันเมื่ออ้อนวอนจักอาจเป็นไปได้ ดิฉันจักให้แม้ชีวิตของดิฉันแล้วนำเอาชีวิตมาเพื่อท่าน แล้วปลอบโยนพระมหาสัตว์ให้เบาใจ แล้วได้ยืนชิดพระโพธิสัตว์ผู้มีตัวอาบด้วยโลหิต.
               ฝ่ายนายพรานถือดาบและหอกเดินมาดุจไฟลุกติดกัป. นางเนื้อเห็นนายพรานนั้นแล้วปลอบโยนพระโพธิสัตว์นั้นว่า ข้าแต่สามี นายพรานเนื้อกำลังมา ดิฉันจักกระทำตามกำลังของตน ท่านอย่ากลัว แล้วเดินสวนทางต่อนายพรานแล้วถอยไปยืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ไหว้นายพรานนั้นแล้ว กล่าวคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ว่า ข้าแต่นาย สามีของข้าพเจ้ามีผิวพรรณดุจทองคำ สมบูรณ์ด้วยศีลและอาจารมารยาท เป็นราชาของหมู่เนื้อแปดหมื่นตัว.
               เมื่อพระยาเนื้อยังคงยืนอยู่นั่นแล เมื่อจะขอให้ฆ่าตน จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ข้าแต่นายพราน ท่านจงปูใบไม้ลง จงชักดาบออก จงฆ่าข้าพเจ้าก่อนแล้ว จึงฆ่าพระยาเนื้อต่อภายหลัง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปลาสานิ ความว่า ท่านจงปูใบไม้ทั้งหลาย เพื่อจะได้วางเนื้อ.
               บทว่า อสึ นิพฺพาห ความว่า ท่านจงชักดาบออกจากฝัก.

               นายพรานได้ฟังดังนั้นจึงคิดว่า คนที่เป็นมนุษย์ยังไม่ให้ชีวิตตนเพื่อประโยชน์แก่สามีได้เลย นางเนื้อนี้เป็นสัตว์เดียรัจฉานยังบริจาคชีวิตได้ ทั้งยังกล่าวเป็นภาษามนุษย์ด้วยเสียงอันไพเราะ วันนี้ เราจะให้ชีวิตของสามีแห่งนางเนื้อนี้ และชีวิตของนางเนื้อนี้ด้วย
               ครั้นคิดฉะนี้แล้ว ก็มีจิตเลื่อมใส จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               เราไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นเนื้อที่พูดภาษามนุษย์ได้ แน่ะนางผู้มีหน้าอันเจริญ ตัวท่านและพระยาเนื้อนี้จงเป็นสุขเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตํ วา ทิฏฺฐํ วา ความว่า ในกาลก่อนแต่นี้ สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นหรือได้ฟังมาเห็นปานนี้ ย่อมไม่มี.
               บทว่า ภาสนฺตึ มานุสึ มิคึ ความว่า เพราะในกาลก่อนแต่นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นเนื้อพูดวาจามนุษย์ได้เลย.
               บาลีว่า น จ เม สุตา วา ทิฏฺฐา วา ภาสนฺตี มานุสี มิคี แปลว่า เนื้อพูดภาษามนุษย์ ข้าพเจ้าไม่ได้ยินได้ฟังหรือเห็นมาเลย ดังนี้ก็มี เนื้อความของบทบาลีเหล่านั้น ย่อมปรากฎตามบาลีนั่นแหละ.
               นายพรานผู้เป็นบัณฑิต ฉลาดในอุบายเรียกนางเนื้อนั้นว่า ภทฺเท แน่ะนางผู้มีหน้าอันเจริญด้วยประการฉะนี้แล้ว ปลอบโยนนางเนื้อนั้นอีกว่า ท่านแม้ทั้งสองคือตัวท่านและพระยาเนื้อนี้จงเป็นผู้มีความสุข ปราศจากทุกข์เถิด แล้วได้ไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ เอามีดตัดบ่วงที่หนัง ค่อยๆ นำบ่วงที่ติดเท้าออก แล้วเอาเอ็นปิดเอ็น เอาเนื้อปิดเนื้อ เอาหนังปิดหนังแล้วเอามือบีบนวดเท้า.
               ด้วยอานุภาพบารมีที่พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมา ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาจิตของนายพราน และด้วยอานุภาพมิตรธรรมของนางเนื้อ บันดาลให้เอ็น เนื้อและหนังติดกับเอ็น เนื้อ หนัง ในขณะนั้นทันที. ฝ่ายพระโพธิสัตว์มีความสุข ปราศจากทุกข์ได้ยืนอยู่. นางเนื้อเห็นพระโพธิสัตว์มีความสุขสบาย จึงเกิดความโสมนัส.
               เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่นายพราน จึงกล่าวคาถาที่ ๕ ว่า :-
               ข้าแต่นายพราน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นพระยาเนื้อหลุดพ้นมาได้ แล้วชื่นชมยินดีอยู่ฉันใด ขอให้ท่านพร้อมด้วยญาติทั้งปวงของท่าน จงชื่นชมยินดี ฉันนั้น.


               ด้วยบทว่า ลุทฺทก นี้ ในคาถานั้นนางเนื้อเรียก โดยอำนาจชื่อที่ได้ด้วยการทำกรรมอันร้ายกาจ.

               พระโพธิสัตว์คิดว่า นายพรานนี้เป็นที่พึ่งอาศัยของเรา แม้เราก็ควรเป็นที่พึ่งอาศัยของนายพรานนี้บ้าง จึงมอบก้อนแก้วมณีให้แก่นายพรานก้อนหนึ่ง ซึ่งตนได้พบในภาคพื้นที่เที่ยวหากิน แล้วให้โอวาทแก่พรานนั้นว่า ดูก่อนสหาย ตั้งแต่นี้ไป ท่านอย่าได้กระทำบาปมีปาณาติบาตเป็นต้น จงรวบรวมทรัพย์สมบัติเลี้ยงดูลูกเมีย กระทำบุญมีทานและศีลเป็นต้น ด้วยก้อนแก้วมณีนี้เถิด แล้วก็เข้าป่าไป.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               นายพรานในครั้งนั้น ได้เป็น พระฉันนะ
               นางเนื้อได้เป็น ภิกษุณีสาว
               ส่วนพระยาเนื้อได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถาสุวรรณมิคชาดกที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา สุวรรณมิคชาดก ว่าด้วย เนื้อติดบ่วงนายพราน จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 737 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 743 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 748 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3513&Z=3527
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=9471
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=9471
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :