ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 748 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 753 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 758 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา วรรณาโรหชาดก
ว่าด้วย ผู้มีใจคอหนักแน่น

               พระศาสดา เมื่ออาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพระเถระอัครสาวกทั้งสอง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วณฺณาโรเหน ดังนี้.
               ได้ยินว่า สมัยหนึ่ง พระมหาเถระทั้งสองคิดกันว่า พวกเราจักพอกพูนการอยู่ป่าตลอดภายในพรรษานี้ จึงทูลลาพระศาสดา แล้วละหมู่คณะ ถือบาตรจีวรด้วยตนเอง ออกจากพระเชตวัน อาศัยปัจจันตคามแห่งหนึ่งอยู่ในป่า. บุรุษกินเดนแม้คนหนึ่ง ทำการอุปัฏฐากพระเถระทั้งสองอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งในป่านั้นนั่นแหละ. บุรุษนั้นเห็นการอยู่อย่างพร้อมเพรียงของพระเถระทั้งสอง จึงคิดว่า พระเถระทั้งสองนี้อยู่พร้อมเพรียงกันเหลือเกิน เราอาจไหมหนอที่จะทำลายพระเถระเหล่านี้ให้แตกกันและกัน จึงเข้าไปหาพระสารีบุตรเถระแล้ว ถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านมีเวรอะไรๆ กับพระมหาโมคคัลลานเถระผู้เป็นเจ้าหรือหนอ?
               พระสารีบุตรเถระถามว่า ก็เวรอะไรเล่า? ผู้มีอายุ.
               บุรุษนั้นกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ในเวลาที่กระผมมา พระมหาโมคคัลลานเถระนี้กล่าวแต่โทษของท่านเท่านั้นว่า ชื่อว่าพระสารีบุตร จะพออะไรกับเราโดยชาติ โคตร ตระกูล และประเทศก็ตาม โดยสุตตะและคันถะก็ตาม หรือโดยปฏิเวธและอิทธิฤทธิ์ก็ตาม.
               พระเถระทำการแย้มหัวแล้วกล่าวว่า อาวุโส ท่านไปเสียเถอะ.
               ในวันแม้อื่น บุรุษนั้นเข้าไปหาพระโมคคัลลานเถระบ้าง แล้วก็กล่าวเหมือนอย่างนั้นแหละ.
               ฝ่ายพระมหาโมคคัลลานเถระก็กระทำการแย้มหัวแล้ว กล่าวกะบุรุษนั้นว่า ท่านไปเสียเถอะ ผู้มีอายุ. แล้วจึงเข้าไปหาพระสารีบุตรเถระถามว่า ท่านผู้มีอายุ คนกินเดนนั้นกล่าวอะไรๆ ในสำนักของท่าน. พระสารีบุตรกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เขากล่าวแม้กับผม ควรนำคนกินเดนนั้นออกไปเสีย เมื่อพระมหาโมคคัลลานเถระกล่าวว่า ดีละท่านผู้มีอายุ ท่านจงนำออกไปเสีย พระเถระจึงดีดนิ้วมือ อันเป็นเหตุให้รู้ว่า ท่านอย่าอยู่ที่นี้ แล้วนำเขาออกไป พระเถระทั้งสองนั้นอยู่อย่างสมัครสมานกัน แล้วไปยังสำนักของพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว จึงนั่งอยู่.
               พระศาสดาทรงกระทำปฏิสันถารแล้ว ตรัสถามว่า เธอทั้งสองอยู่ตลอดพรรษาโดยสบายหรือ? เมื่อพระเถระทั้งสองกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนกินเดนคนหนึ่งเป็นผู้ประสงค์จะทำลายพวกข้าพระองค์ เมื่อไม่อาจทำลาย จึงหนีไป. พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร มิใช่บัดนี้เท่านั้นที่เขาไม่อาจทำลาย แม้ในกาลก่อน คนกินเดนนี้ก็คิดว่า จักทำลายพวกเธอ เมื่อไม่อาจทำลายก็ได้หนีไปแล้ว อันพระเถระทั้งสองนั้นทูลอาราธนาแล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นรุกขเทวดาอยู่ในป่า. ครั้งนั้น ราชสีห์กับเสือโคร่งอยู่กันในถ้ำแห่งภูเขาในป่า สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอุปัฏฐากสัตว์ทั้งสองนั้น กินเดนของสัตว์ทั้งสองนั้นจนมีร่างกายใหญ่โต.
               วันหนึ่ง คิดว่า เราไม่เคยกินเนื้อของราชสีห์และเสือโคร่ง เราควรจะทำให้สัตว์ทั้งสองนี้ให้แตกกัน แต่นั้น เราจักกินเนื้อของสัตว์ทั้งสองนั้นที่ตายเพราะทะเลาะกัน. สุนัขจิ้งจอกนั้นจึงเข้าไปหาราชสีห์ แล้วถามว่า ข้าแต่นาย ท่านมีเวรอะไรๆ กับเสือโคร่งหรือ?
               ราชสีห์กล่าวว่า เวรอะไรเล่าสหาย.
               สุนัขจิ้งจอกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ในตอนที่ข้าพเจ้ามาเสือโคร่งนั้นกล่าวแต่โทษของท่านเท่านั้นแหละว่า ขึ้นชื่อว่าราชสีห์ย่อมไม่ถึงส่วนแห่งเสี้ยวของเรา โดยผิวพรรณแห่งร่างกายก็ตาม โดยลักษณะสูงใหญ่ก็ตาม หรือโดยชาติกำลัง และความเพียรก็ตาม.
               ราชสีห์กล่าวว่า จงไปเสียเถอะเจ้า เสือโคร่งนั้นคงจักไม่กล่าวอย่างนั้น.
               แม้เสือโคร่ง สุนัขจิ้งจอกก็เข้าไปหาแล้วก็กล่าวโดยอุบายนั้นเหมือนกัน.
               เสือโคร่งได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปหาราชสีห์แล้ว กล่าวว่า สหาย ได้ยินว่า ท่านพูดอย่างนี้และอย่างนี้
               เมื่อจะถาม จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ท่านผู้มีเขี้ยวงามกล่าวว่า เสือโคร่งชื่อว่าสุพาหุนี้ มีวรรณะ ลักษณะ ชาติ กำลังกายและกำลังความเพียร ไม่ประเสริฐไปกว่าเรา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พลนิกฺกมเนน จ ความว่า มีกำลังกาย และกำลังความเพียร.
               บทว่า สุพาหุ น มยา เสยฺโย ความว่า ได้ยินว่า ท่านพระยาเนื้อผู้ประกอบด้วยเขี้ยวทั้งหลายงดงาม ชื่อว่าผู้มีเขี้ยวงาม กล่าวอย่างนี้จริงหรือว่า เสือโคร่งชื่อว่าสุพาหุนี้ ไม่แม้นเหมือน คือไม่ยิ่งไปกว่าเราด้วยเหตุเหล่านี้.

               ราชสีห์ได้ฟังดังนั้นจึงได้กล่าว ๔ คาถาที่เหลือว่า : -
               เสือโคร่งชื่อสุพาหุกล่าวว่า ราชสีห์ผู้มีเขี้ยวงาม มีวรรณะ ลักษณะ ชาติ กำลังกายและกำลังความเพียร ไม่ประเสริฐไปกว่าเรา.
               แน่ะเพื่อนสุพาหุ ถ้าท่านจะประทุษร้าย เราผู้อยู่กับท่านอย่างนี้ บัดนี้ เราก็จะไม่พึงยินดีอยู่ร่วมกับท่านต่อไป.
               ผู้ใดเชื่อคำของคนอื่นโดยถือเป็นจริงเป็นจัง ผู้นั้นต้องพลันแตกจากมิตร และต้องประสบเวรเป็นอันมาก.
               ผู้ใดระมัดระวังอยู่ทุกขณะ มุ่งความแตกร้าว คอยแต่จับผิด ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นมิตร ส่วนผู้ใดอันผู้อื่นยุให้แตกกันไม่ได้ ไม่มีความรังเกียจในมิตร นอนอยู่อย่างปลอดภัย เหมือนบุตรนอนแอบอกมารดาฉะนั้น ผู้นั้นนับว่าเป็นมิตรแท้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺม แปลว่า เพื่อน.
               บทว่า ทุพฺภสิ ความว่า ถ้าท่านเชื่อถือถ้อยคำของสุนัขจิ้งจอกแล้วประทุษร้าย คือปรารถนาจะฆ่าเราผู้อยู่อย่างพร้อมเพรียงกับท่านอย่างนี้ไซร้ จำเดิมแต่บัดนี้ไป เราจะไม่พึงยินดีอยู่กับท่าน.
               บทว่า ยถาตถํ ความว่า พึงเชื่อคำอารยชนผู้ไม่กล่าวให้คลาดเคลื่อนกล่าวแล้วตามความเป็นจริง คือตามความจริงความแท้. อธิบายว่า ผู้ใดพึงเชื่อคำของคนอื่นคนใดคนหนึ่ง ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า โย สทา อปฺปมตฺโต ความว่า ผู้ใดเป็นผู้ไม่ประมาทระมัดระวังเป็นนิจ ไม่ให้ความคุ้นเคยแก่มิตร ผู้นั้นไม่ชื่อว่ามิตร.
               บทว่า เภทาสงฺกี ความว่า ย่อมหวังแต่ความแตกร้าวของมิตรอยู่อย่างนี้ว่า จักแตกกันวันนี้ จักแตกกันพรุ่งนี้.
               บทว่า รนฺธเมวานุปสฺสี ได้แก่ มองเห็นแต่ช่องบกพร่องเท่านั้น.
               บทว่า อุรสีว ปุตฺโต ความว่า เป็นผู้ไม่รังเกียจในมิตร เป็นผู้ปลอดภัยนอนอยู่ เหมือนบุตรนอนที่หทัยของมารดาฉะนั้น.

               เมื่อราชสีห์กล่าวคุณของมิตรด้วยคาถาทั้ง ๔ คาถานี้ด้วยประการฉะนี้
               เสือโคร่งกล่าวว่า โทษผิดของข้าพเจ้า แล้วขอขมาราชสีห์ สัตว์ทั้งสองนั้นได้อยู่พร้อมเพรียงกันเหมือนอย่างเดิม ส่วนสุนัขจิ้งจอกได้หนีไปอยู่ที่อื่นแล.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า
               สุนัขจิ้งจอกในกาลนั้น ได้เป็นคนกินเดน
               ราชสีห์ในกาลนั้น ได้เป็น พระสารีบุตร
               เสือโคร่งในกาลนั้น ได้เป็น พระโมคคัลลานะ
               ส่วนรุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ในป่านั้นเห็นเหตุการณ์นั้นโดยจัดแจ้ง ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

               จบ อรรถกถาวรรณาโรหชาดกที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วรรณาโรหชาดก ว่าด้วย ผู้มีใจคอหนักแน่น จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 748 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 753 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 758 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3553&Z=3568
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=9694
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=9694
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :