ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 75 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 76 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 77 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก วรุณวรรค
๖. อสังกิยชาดก ว่าด้วยเมตตากรุณาทำให้ปลอดภัย

               พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสกชาวเมืองสาวัตถีผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า อสงฺกิโยมฺหิ คามมฺหิ ดังนี้.
               ได้ยินว่า อุบาสกนั้นเป็นพระอริยสาวกผู้โสดาบันเดินทางไปกับกองเกวียนขบวนหนึ่ง ครั้นพ่อค้าเกวียนทั้งหลายปลดเกวียน ตั้งเพิงพักในที่ป่าตำบลหนึ่ง ก็เดินจงกรมอยู่ที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง. พวกโจร ๕๐๐ กำหนดเวลาของตนแล้ว คบคิดกันว่า พวกเราจักปล้นที่พัก ต่างถือธนูและไม้พลองเป็นต้น พากันไปล้อมที่นั้นไว้ แม้อุบาสกนั้นก็คงเดินจงกรมอยู่นั่นเอง โจรทั้งหลายเห็นอุบาสกนั้นแล้วคิดว่า ผู้นี้ต้องเป็นยามเฝ้าที่พักแน่นอน คอยให้บุรุษผู้นี้หลับเสียก่อน พวกเราถึงจักปล้น เมื่อยังไม่อาจจู่โจม ก็ตั้งมั่นอยู่ในที่นั้นๆ.
               แม้อุบาสกนั้น ก็คงยังอธิษฐานเดินจงกรมอยู่นั่นเอง ทั้งในปฐมยาม มัชฌิมยาม และแม้ในปัจฉิมยาม จนถึงเวลารุ่งสว่าง พวกโจรไม่ได้โอกาส ก็ทิ้งก้อนหินและไม้พลองเป็นต้น ที่ต่างก็ถือกันมาแล้ว พากันหลบไป แม้อุบาสกกระทำกิจของตนสำเร็จแล้ว กลับมาสู่พระนครสาวัตถี เข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผู้ที่กำลังรักษาตน ก็เป็นผู้รักษาผู้อื่นด้วยหรือ พระเจ้าข้า? พระศาสดาตรัสว่า ถูกละอุบาสก ผู้รักษาตนชื่อว่ารักษาผู้อื่น รักษาผู้อื่นก็ชื่อว่ารักษาตน นั่นแหละ. อุบาสกนั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คำนี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว ข้าพระองค์เดินทางไปกับกองเกวียนขบวนหนึ่ง เดินจงกรมอยู่ที่โคนไม้ ด้วยคิดว่าจักรักษาตน (กลายเป็น) รักษาหมู่เกวียนทั้งหมดไว้แล้ว พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก แม้ในครั้งก่อน บัณฑิตทั้งหลายรักษาตนอยู่ เป็นอันรักษาผู้อื่นด้วย ดังนี้
               แล้วทูลอาราธนา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เกิดในสกุลพราหมณ์ เจริญวัยแล้ว เห็นโทษในกาม จึงบวชเป็นฤๅษีอยู่ในป่าหิมพานต์ มาสู่ชนบทเพื่อต้องการเสพรสเปรี้ยวรสเค็มบ้าง เมื่อท่องเที่ยวไปตามชนบท เดินทางไปกับกองเกวียนขบวนหนึ่ง เมื่อขบวนเกวียนพักที่ป่าแห่งหนึ่ง ก็ยับยั้งอยู่ด้วยความสุขเกิดแต่ฌาน ไม่ห่างกองเกวียน จงกรมอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งแล้วยืนอยู่.
               ครั้งนั้น พวกโจร ๕๐๐ พากันมาด้วยคิดว่า จักปล้นหมู่เกวียนในเวลาที่กินข้าวเย็นแล้ว โอบล้อมไว้ พวกโจรเหล่านั้นเห็นพระดาบส คิดว่า ถ้าพระดาบสนี้จักเห็นพวกเรา คงบอกชาวเกวียนเป็นแน่ ต่อเวลาท่านหลับ พวกเราค่อยปล้นกันเถิด แล้วพากันตั้งมั่นอยู่ ณ ที่นั้นเอง ฝ่ายพระดาบสคงเดินไปมาอยู่เรื่อยๆ ตลอดคืน พวกโจรไม่ได้โอกาส ก็พากันทิ้งไม้พลองและก้อนหินที่ถือกันมา ตะโกนบอกชาวเกวียนว่า ชาวเกวียนผู้เจริญ ถ้าดาบสผู้ที่เดินไปมาอยู่ที่โคนต้นไม้องค์นี้ ไม่มีในวันนี้แล้ว พวกท่านทุกคนจักต้องประสบการปล้นอย่างขนานใหญ่เป็นแน่ พรุ่งนี้ พวกท่านควรกระทำสักการะใหญ่แด่พระดาบส ดังนี้แล้วพากันหลีกไป
               ครั้นสว่างแจ้งแล้ว พวกกองเกวียนเห็นไม้พลองและก้อนหินเป็นต้น ที่พวกโจรพากันทิ้งไว้ ต่างกลัวพากันไปสำนักพระโพธิสัตว์ ถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าเห็นพวกโจรหรือ?
               พระโพธิสัตว์ตอบว่า เออ ผู้มีอายุทั้งหลาย เราเห็น.
               พวกกองเกวียนถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าเห็นโจรมีประมาณเท่านี้ ไม่มีความกลัว ความหวาดหวั่น เกิดขึ้นเลยหรือขอรับ?
               พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความกลัว ความครั่นคร้ามเพราะเห็นพวกโจร มีเฉพาะแก่คนมีทรัพย์ แต่อาตมาเป็นผู้ไร้ทรัพย์ จักต้องกลัวทำไม เพราะเมื่ออาตมาอยู่ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดี ความกลัวหรือความครั่นคร้ามไม่มีทั้งนั้น.
               เมื่อจะแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น กล่าวคาถานี้ ความว่า
               "เราไม่ต้องระแวงในบ้าน เราไม่มีภัยในป่า เรามุ่งก้าวขึ้นสู่ทางตรง ด้วยความเมตตาและกรุณา"
ดังนี้.

               บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยบทว่า อสงฺกิโยมฺหิ คามมฺหิ นี้ พระโพธิสัตว์แสดงความว่า เราชื่อว่าไม่ต้องระแวง เพราะไม่ประกอบไปด้วยความระแวง ไม่ตั้งอยู่ในความระแวง ถึงจะอยู่ในบ้าน ก็ไม่ต้องระแวง เป็นคนปลอดภัย หมดข้อสงสัย เพราะมิได้ตั้งอยู่ในความระแวง.
               บทว่า อรญฺเญ ได้แก่ ในสถานที่พ้นไปจากบ้านและอุปจารแห่งบ้าน.
               ด้วยบทว่า อุชุมคฺคํ สมารุฬุโห เมตฺตาย กรุณาย จ นี้ พระดาบสกล่าวไว้ หมายความว่า เราก้าวขึ้นสู่ทางตรง คือทางไปสู่พรหมโลก อันเว้นแล้วจากความคดทางกาย เป็นต้นด้วยเมตตาและกรุณา อันเป็นอารมณ์แห่งติกฌานและจตุกกฌาน
               อีกนัยหนึ่ง ด้วยบทนั้น พระดาบสแสดงว่า เพราะความเป็นผู้ศีลบริสุทธิ์ จึงชื่อว่าก้าวขึ้นสู่ทางตรง อันเว้นแล้วจากความคดด้วยกาย วาจา ใจ อันได้แก่ทางไปสู่พรหมโลก ดังนี้ แล้วแสดงความยิ่งไปกว่านั้นว่า เพราะดำรงมั่นในเมตตาและกรุณา ชื่อว่าก้าวขึ้นสู่ทางตรง คือทางไปพรหมโลก.
               อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีเมตตาและกรุณาเป็นต้นชื่อว่าเป็นทางตรง เพราะผู้ที่มีฌานไม่เสื่อม เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่หมายได้โดยถ่ายเดียว.

               พระโพธิสัตว์ ครั้นแสดงธรรมด้วยคาถานี้ด้วยประการฉะนี้ อันมนุษย์เหล่านั้นผู้มีใจยินดีแล้ว สักการะบูชาแล้ว เจริญพรหมวิหาร ๔ ตลอดชีพไปเกิดในพรหมโลกแล้ว.
               พระบรมศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงสืบอนุสนธิ ประชุมชาดกว่า
               ชาวเกวียนในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัท
               ส่วนพระดาบสมาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก วรุณวรรค ๖. อสังกิยชาดก ว่าด้วยเมตตากรุณาทำให้ปลอดภัย จบ.
อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 0 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 75 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 76 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 77 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=497&Z=501
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=36&A=2871
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=36&A=2871
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :