พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุแก่รูปหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธุตฺโตมฺหิ ดังนี้.
เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารแล้วใน สาลกชาดก ในหนหลัง.
แม้ในชาดกนี้ ภิกษุแก่นั้นให้เด็กชาวบ้านคนหนึ่งบวช แล้วด่าและประหาร เด็กจึงหนีไปสึก.
แม้ครั้งที่สอง ให้เด็กนั้นบวชแล้วก็ได้กระทำเหมือนอย่างเดิม. แม้ครั้งที่สอง เด็กนั้นก็สึก ผู้อันพระแก่นั้นอ้อนวอนอีก ก็ไม่ปรารถนาแม้เพื่อจะแลดู.
ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุแก่ชื่อโน้นไม่อาจเป็นไปเพื่อจะร่วมและจะพรากจากสามเณรของตน
ส่วนสามเณรเห็นโทษของพระแก่นั้น ไม่ปรารถนาแม้เพื่อจะแลดูอีก สามเณรนั้นเป็นเด็กใจดี.
พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เรื่องชื่อนี้ พระเจ้าข้า.
จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อน สามเณรนี้ก็เป็นคนใจดีแท้ เห็นโทษคราวเดียวไม่ปรารถนาแม้เพื่อจะแลดูอีก แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพ่อค้าข้าวเปลือก เจริญวัยแล้ว จึงเลี้ยงชีวิตด้วยการขายข้าวเปลือก.
ครั้งนั้น มีหมองูคนหนึ่งจับลิงมาฝึกให้เล่นกับงู เมื่อเขาโฆษณาการมหรสพในนครพาราณสี
จึงพักลิงนั้นมาไว้ในสำนักของพ่อค้าข้าวเปลือก แล้วเที่ยวเล่นอยู่ตลอด ๗ วัน. พ่อค้าแม้นั้นได้ให้ของเคี้ยว ของบริโภคแก่ลิง.
ในวันที่ ๗ หมองูเลิกเล่นมหรสพกลับมา ได้เอาซี่ไม้ไผ่ตีลิงนั้น ๓ ครั้ง แล้วพาลิงนั้นไปยังอุทยาน ผูกไว้แล้วจึงหลับไป.
ลิงแก้เครื่องผูกออกแล้วขึ้นไปยังต้นมะม่วง นั่งกินมะม่วงอยู่. หมองูนั้นตื่นขึ้นแล้ว แลเห็นลิงอยู่บนต้นไม้ จึงคิดว่า เราควรจะหลอกล่อจับลิงนั้น
เมื่อจะเจรจากับลิงนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
ดูก่อนสหายผู้มีหน้างาม เราเป็นนักเลงสะกาแพ้เขาเพราะลูกบาศก์ ท่านจงทิ้งมะม่วงสุกลงมาบ้าง เราจะได้บริโภคก็เพราะความเพียรของท่าน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อกฺขปราชิโต แปลว่า แพ้เพราะลูกบาศก์ทั้งหลาย.
บทว่า หเรหิ ความว่า จงให้ตกลงมา. บาลีว่า ปาเตหิ ดังนี้ก็มี.
ลิงได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาทั้งหลายที่เหลือว่า :-
ดูก่อนสหาย ท่านมาสรรเสริญเราผู้ล่อกแล่กด้วยคำไม่เป็นจริง ขึ้นชื่อว่าลิงที่มีหน้างาม ท่านเคยได้ยินหรือเคยได้เห็นที่ไหนมาบ้าง.
ดูก่อนหมองู ท่านทำกรรมใดไว้กะเรา กรรมนั้นยังปรากฎอยู่ในหัวใจของเราจนบัดนี้ ท่านเข้าไปยังร้านตลาดข้าวเปลือก เมาสุราแล้ว ตีเราผู้กำลังหิวโหยถึงสามที.
เราระลึกถึงการนอนเป็นทุกข์ ณ ที่ตลาดนั้นได้ อนึ่ง ถึงท่านจะยกราชสมบัติให้เราครอบครอง ถึงอย่างนั้น ท่านขอมะม่วงเราแม้ผลเดียว เราก็ไม่ให้ เพราะว่าเราถูกท่านคุกคามให้กลัวเสียแล้ว.
อนึ่ง บัณฑิตรู้จักผู้ใดที่เกิดในตระกูลเอิบอิ่มอยู่ในห้อง ไม่มีความตระหนี่ ก็ควรจะผูกความเป็นสหายและมิตรภาพกับผู้นั้นไว้ให้สนิท.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลิกํ ได้แก่ เหลวไหลหนอ.
บทว่า อภูเตน แปลว่า ไม่มีอยู่.
บทว่า โก เต แก้เป็น กตฺถ ตยา.
บทว่า สุมุโข แปลว่า ผู้มีหน้างาม. ลิงเรียกหมองูนั้นว่า อหิตุณฑิกะ. บาลีว่า อหิคุณฺฑิก ดังนี้ก็มี.
บทว่า ฉาตํ ได้แก่ ถูกความหิวครอบงำ คือทุรพล กำพร้า.
บทว่า หนาสิ ได้แก่ ตีด้วยซี่ไม้ไผ่ ๓ ครั้ง.
บทว่า ตาหํ แยกเป็นศัพท์ว่า ตํ อหํ.
บทว่า สรํ แปลว่า ระลึกถึงอยู่.
บทว่า ทุกฺขเสยฺยํ ได้แก่ นอนเป็นทุกข์อยู่ที่ตลาดนั้น.
บทว่า อปิ รชฺชมฺปิ การเย ความว่า ถ้าแม้ท่านจะเอาราชสมบัติในเมืองพาราณสีมาให้เรา แล้วให้เราครองราชสมบัติไซร้ แม้ถึงอย่างนั้น เราผู้อันท่านอ้อนวอนขอก็จะไม่ให้มะม่วงนั้น คือเราถูกท่านขอก็จะไม่ให้มะม่วงสุกนั้นแม้แต่ผลเดียว.
เพราะเหตุไร?
เพราะเราถูกท่านคุกคามให้กลัวเสียแล้ว. อธิบายว่า จริงอย่างนั้น เราถูกท่านคุกคามด้วยความกลัว.
บทว่า คพฺเภ ติตฺตํ ความว่า ผู้อิ่มเอิบด้วยสุธาโภชน์อยู่เฉพาะในท้องมารดา หรือในห้องนอนที่ประดับและตกแต่งแล้ว ชื่อว่าผู้ไม่จนเพราะหวังได้โภคทรัพย์.
บทว่า สขิญฺจ มิตฺตญฺจ ความว่า บัณฑิตควรจะเชื่อม คือเชื่อมต่อความเป็นเพื่อนและความเป็นมิตรกับบุคคลเห็นปานนี้ ผู้เกิดในตระกูล ผู้เอิบอิ่ม ไม่ยากจน ไม่มีความตระหนี่ ก็ใครเล่าจะเชื่อมต่อความเป็นมิตรกับท่านผู้เป็นหมองูยากจน.
ก็แหละวานร ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ผลุนผลันเข้าชัฎป่าไป.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า
หมองูในครั้งนั้น ได้เป็นพระเถระแก่
ลิงในครั้งนั้น ได้มาเป็นสามเณร
ส่วนพ่อค้าข้าวเปลือกในครั้งนั้น ได้เป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาอหิตุณฑิกชาดกที่ ๕
-----------------------------------------------------
.. อรรถกถา อหิตุณฑิกชาดก ว่าด้วย ลิงกับหมองู จบ.
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=3615&Z=3629
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=38&A=9903
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=38&A=9903
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]