ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค
นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

หน้าต่างที่ ๘ / ๙.


               วันรุ่งขึ้น พวกมนุษย์ชาวเมืองราชคฤห์แม้ทั้งสิ้นนับได้ ๑๘ โกฏิทั้งที่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าและทั้งที่ไม่ได้เห็น มีความประสงค์จะเห็นพระตถาคต จึงได้จากกรุงราชคฤห์ไปยังลัฏฐิวันแต่เช้าตรู่. หนทาง ๓ คาวุตไม่เพียงพอ ลัฏฐิวันอุทยานทั้งสิ้นได้แน่นขนัดไปหมด. มหาชนแลดูอัตภาพอันถึงความงามด้วยพระรูปโฉมของพระทศพล ไม่อาจกระทำให้อิ่มได้. ในฐานะทั้งหลายแม้เห็นปานนี้ พึงพรรณนาความสง่างามแห่งพระรูปกาย แม้ทั้งสิ้นนี้อันมีประเภทเป็นพระลักษณะ และพระอนุพยัญชนะของพระตถาคต ชื่อว่าวรรณรูป (การพรรณนารูป). มหาชนผู้แลดูพระสรีระของพระทศพลอันถึงความงามด้วยพระรูปโฉมแน่นขนัดไปหมด ด้วยอาการอย่างนี้. จึงไม่มีโอกาสที่แม้ภิกษุรูปหนึ่งจะออกไปที่อุทยานและที่หนทาง.
               ได้ยินว่า วันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงขาดพระกระยาหาร การขาดพระกระยาหารนั้น อย่าได้มีเลย. เพราะเหตุนั้น อาสน์ที่ท้าวสักกะประทับนั่ง จึงแสดงอาการร้อน. ท้าวสักกะนั้นทรงพระรำพึงอยู่ ได้ทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงทรงนิรมิตเพศเป็นมาณพน้อย กล่าวคำสดุดีอันปฏิสังยุตด้วยพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เสด็จลงตรงเบื้องพระพักตร์ของพระทศพล ได้โอกาสด้วยเทวานุภาพ เสด็จนำไปข้างหน้ากล่าวคุณของพระศาสดา ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีวรรณะงาม ดุจลิ่มทองสิงคี ผู้ทรงฝึกแล้ว เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์พร้อมด้วยพระปุราณชฏิล ผู้ฝึกตนได้แล้ว ผู้หลุดพ้นแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีวรรณะงาม ดุจลิ่มทองสิงคี ผู้หลุดพ้นแล้ว เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์พร้อมกับพระปุราณชฏิล ผู้หลุดพ้นแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีวรรณะงาม ดุจทองสิงคี ผู้ทรงข้ามแล้ว เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์พร้อมกับพระปุราณชฏิล ผู้ข้ามพ้นแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ ๑๐ มีพระกำลัง ๑๐ ทรงรู้แจ้งธรรม ๑๐ และประกอบด้วยพระคุณ ๑๐ มีบริวารพันหนึ่ง เสด็จเข้ากรุงราชคฤห์แล้ว.

               มหาชนได้เห็นความสง่าแห่งรูปของมาณพน้อย แล้วคิดว่า มาณพน้อยนี้มีรูปงามยิ่งนัก ก็มาณพน้อยนี้ เราไม่เคยเห็นเลย จึงกล่าวว่า มาณพน้อยนี้มาจากไหน หรือมาณพน้อยของใคร. มาณพน้อยได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวคาถาว่า
               พระสุคตเจ้าพระองค์ใดทรงฝึกพระองค์ได้ในที่ทั้งปวง ทรงประเสริฐที่สุด ไม่มีบุคคลเปรียบเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นคนรับใช้ของพระสุคตเจ้าพระองค์นั้น.

               พระศาสดาทรงดำเนินทางซึ่งมีโอกาสอันท้าวสักกะทรงกระทำแล้ว ทรงห้อมล้อมด้วยภิกษุพันหนึ่ง เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์. พระราชาทรงถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจักไม่อาจเป็นไปอยู่โดยเว้นรัตนะทั้งสาม หม่อมฉันจักมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาบ้างไม่ใช่เวลาบ้าง ก็ชื่อว่าลัฏฐิวันอุทยานไกลเกินไป แต่อุทยานชื่อว่าเวฬุวันของหม่อมฉันนี้ ไม่ไกลเกินไปไม่ใกล้เกินไป เป็นเสนาสนะสมบูรณ์ด้วยการคมนาคม สมควรแก่พระพุทธเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับเวฬุวันนี้เถิด แล้วทรงเอาพระสุวรรณภิงคารตักน้ำ อันมีสีดังแก้วมณี อบด้วยดอกไม้และของหอม เมื่อจะทรงบริจาคพระเวฬุวันอุทยาน จึงทรงหลั่งน้ำให้ตกลงบนพระหัตถ์ของพระทศพล ในขณะทรงรับพระอาราม มหาปฐพีได้หวั่นไหว อันเป็นเหตุให้รู้ว่า รากแก้วของพระพุทธศาสนาได้หยั่งลงแล้ว. จริงอยู่ ในชมพูทวีปยกเว้นพระเวฬุวันเสีย ชื่อว่าเสนาสนะอื่นที่ทรงรับแล้วแผ่นดินไหว ย่อมไม่มี. ฝ่ายในตามพปัณณิทวีป (คือเกาะลังกา) ไม่มีเสนาสนะอื่นที่รับแล้วแผ่นดินไหว ยกเว้นมหาวิหาร. พระศาสดา ครั้นทรงรับพระเวฬุวนารามแล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาแก่พระราชา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะ ห้อมล้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ได้เสด็จไปยังพระเวฬุวัน.
               ก็สมัยนั้นแล ปริพาชกทั้งสองคือสารีบุตรและโมคคัลลานะ อาศัยกรุงราชคฤห์ แสวงหาอมตธรรมอยู่. บรรดาปริพาชกทั้งสองนั้น สารีบุตรเห็นพระอัสสชิเถระเข้าไปบิณฑบาต มีจิตเลื่อมใสจึงเข้าไปนั่งใกล้ ได้ฟังคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด ดังนี้เป็นต้น ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ได้กล่าวคาถานั้นนั่นแหละแม้แก่โมคคัลลานะปริพาชกผู้สหายของตน. ฝ่ายโมคคัลลานะปริพาชกก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. สหายแม้ทั้งสองนั้นลาสัญชัยปริพาชกแล้ว บวชในสำนักของพระศาสดาพร้อมด้วยบริวารของตน.
               บรรดาสหายทั้งสองนั้น พระโมคคัลลานเถระบรรลุพระอรหัตโดย ๗ วัน พระสารีบุตรเถระบรรลุพระอรหัตโดยล่วงไปกึ่งเดือน. พระศาสดาทรงตั้งพระเถระแม้ทั้งสองไว้ในตำแหน่งอัครสาวก และในวันที่พระสารีบุตรเถระบรรลุพระอรหัตนั่นแล ได้ทรงกระทำสาวกสันนิบาต ประชุมพระสาวก.
               ก็เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในพระเวฬุวันอุทยานนั้นนั่นแล พระเจ้าสุทโธทนมหาราชได้ทรงสดับว่า ข่าวว่า บุตรของเราประพฤติทุกรกิริยา ๖ ปี บรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ประกาศธรรมจักรอันบวร อาศัยเมืองราชคฤห์อยู่ในเวฬุวัน. จึงตรัสเรียกอำมาตย์ผู้หนึ่ง มาตรัสว่า มาเถิดพนาย ท่านจงมีบุรุษพันหนึ่งเป็นบริวาร เดินทางไปกรุงราชคฤห์ กล่าวตามคำของเราว่า พระเจ้าสุทโธทนมหาราช พระบิดาของพระองค์มีพระประสงค์จะพบ แล้วจงพาบุตรของเรามา. อำมาตย์ผู้นั้นรับพระดำรัสของพระราชาด้วยเศียรเกล้าว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า. แล้วมีบุรุษหนึ่งพันเป็นบริวาร รีบเดินทางไปประมาณ ๖๐ โยชน์ นั่งอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ ของพระทศพล แล้วเข้าไปยังวิหารในเวลาแสดงธรรม อำมาตย์นั้นคิดว่า พระราชสาสน์ของพระราชาที่ส่งมาจงงดไว้ก่อน แล้วยืนอยู่ท้ายสุดบริษัท ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ตามที่ยืนอยู่นั่นแล ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับบุรุษบริวารหนึ่งพัน จึงทูลขอบรรพชา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด. ในขณะนั้นเอง คนทั้งหมดทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นประหนึ่งพระเถระมีพรรษา ๖๐ ฉะนั้น.
               ก็ธรรมดาพระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมมีตนเป็นกลาง จำเดิมแต่เวลาที่ได้บรรลุพระอรหัต. เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้กราบทูลสาสน์ที่พระราชาทรงส่งมา. พระราชาตรัสว่า อำมาตย์ผู้ไปแล้วก็ยังไม่มา ข่าวสาสน์ก็ไม่ได้ฟัง มาเถอะพนาย ท่านจงไป แล้วทรงส่งอำมาตย์อื่นไปตามทำนองนั้นนั่นแล แม้อำมาตย์นั้นไปแล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งบริษัท โดยนัยก่อนนั่นแหละก็ได้นิ่งเสีย. พระราชาทรงส่งอำมาตย์ ๙ คนซึ่งมีบริวารคนละหนึ่งพันไปโดยทำนองนี้นั่นแล. อำมาตย์ทุกคนยังกิจของตนให้สำเร็จแล้วก็เป็นผู้นิ่งอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั้นนั่นเอง.
               พระราชาไม่ได้อำมาตย์ผู้นำแม้มาตรว่า ข่าวสาสน์มาบอก จึงทรงพระดำริว่า ก็ชนมีประมาณเท่านี้ไม่นำกลับมา แม้มาตรว่าข่าวสาสน์ เพราะไม่มีความรักในเรา ใครหนอจักกระทำตามคำของเรา เมื่อทรงตรวจพลของหลวงทั้งหมดก็ได้เห็นกาฬุทายี.
               ได้ยินว่า กาฬุทายีนั้นเป็นอำมาตย์ผู้จัดราชกิจทั้งปวงให้สำเร็จ เป็นคนวงใน มีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ เป็นสหายเล่นฝุ่นมาด้วยกัน.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสเรียกกาฬุทายีอำมาตย์นั้นมาว่า พ่ออุทายี เราปรารถนาจะเห็นบุตรของเรา จึงส่งบุรุษไป ๙ พัน แม้บุรุษสักคนหนึ่งจะมาบอกมาตรว่า ข่าวสาสน์ก็ไม่มี ก็อันตรายแห่งชีวิตของเรารู้ได้ยากนัก เรามีชีวิตอยู่ปรารถนาจะเห็นบุตร ท่านจักอาจหรือหนอ ที่จะแสดงบุตรแก่เรา. กาฬุทายีอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระพุทธเจ้าจักอาจ ถ้าจักได้บรรพชา. พระราชาตรัสว่า ดูก่อนพ่อ ท่านจะได้บวชหรือไม่ได้บวชก็ตาม จงแสดงบุตรแก่เรา. กาฬุทายีอำมาตย์นั้นรับพระดำรัสแล้ว ถือพระราชสาสน์ไปยังกรุงราชคฤห์ ยืนอยู่ท้ายบริษัท ในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ได้สดับธรรมแล้ว พร้อมทั้งบริวารก็บรรลุพระอรหัตผล ดำรงอยู่ในความเป็นเอหิภิกขุ.
               ฝ่ายพระศาสดาได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ประทับอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตลอดภายในพรรษาแรก ออกพรรษาปวารณา แล้วเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา ประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลานั้น ตลอด ๓ เดือน ทรงแนะนำชฏิล ๓ พี่น้อง มีภิกษุพันหนึ่งเป็นบริวาร ในวันเพ็ญเดือนยี่ เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ๒ เดือน. โดยลำดับกาลมีประมาณเท่านี้เป็นเวลา ๕ เดือน สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จออกจากกรุงพาราณสี ฤดูเหมันต์ทั้งสิ้นล่วงไปแล้ว จำเดิมแต่วันที่พระอุทายีเถระมาแล้ว เวลาได้ล่วงไป ๗-๘ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๔ พระอุทายีเถระนั้นคิดว่า ฤดูเหมันต์ก็ล่วงไปแล้ว ฤดูวสันต์กำลังย่างเข้ามา พวกมนุษย์ถอนข้าวกล้าไปแล้ว ทำให้หนทางในที่ที่ตรงหน้าๆ ชุ่มแผ่นดินดาดาษไปด้วยหญ้าเขียวสด ราวป่ามีดอกไม้บานสะพรั่ง หนทางเหมาะแก่การที่จะเดิน กาลนี้เป็นกาลที่พระทศพลจะทรงกระทำการสงเคราะห์พระญาติ.
               ลำดับนั้น พระอุทายีเถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พรรณนาหนทางเสด็จ เพื่อต้องการให้พระทศพลเสด็จไปยังพระนครของราชสกุล ด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถาว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ต้นไม้ทั้งหลายมีดอกแดงสะพรั่ง มีผลเต็มต้นสลัดใบแล้ว ต้นไม้เหล่านั้นสว่างไสว ดุจมีเปลวไฟโชติช่วงอยู่. ข้าแต่พระมหาวีระ ถึงสมัยที่เหมาะสมแก่การที่พระองค์จะรื่นรมย์ สถานที่ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด ไม่อัตคัดและอดอยากนัก พื้นภูมิภาคก็มีหญ้าแพรกอันเขียวสด. ข้าแต่พระมหามุนี กาลนี้เป็นกาลสมควรแล้วที่จะเสด็จไป.

               ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะอุทายีเถระว่า อุทายี เพราะเหตุไรหนอ เธอจึงพรรณนาการไปด้วยเสียงอันไพเราะ. พระอุทายีเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าสุทโธมหาราช พระชนกของพระองค์มีพระประสงค์จะพบเห็นพระองค์ ขอพระองค์จงกระทำการสงเคราะห์แก่พระญาติทั้งหลายเถิด.
               พระศาสดาตรัสว่า ดีละ อุทายี เราจักกระทำการสงเคราะห์พระญาติ เธอจงบอกแก่ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจักได้บำเพ็ญคมิกวัตรสำหรับผู้จะไป. พระเถระรับพระพุทธดำรัส แล้วบอกแก่ภิกษุสงฆ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้อมล้อมด้วยภิกษุขีณาสพทั้งสิ้นสองหมื่นองค์ คือ ภิกษุผู้เป็นกุลบุตรชาวอังคะและมคธะหมื่นองค์ ภิกษุผู้เป็นกุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์หมื่นองค์ เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เสด็จเดินทางวันละหนึ่งโยชน์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า จักเสด็จจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ทาง ๖๐ โยชน์โดยเวลา ๒ เดือน จึงเสด็จหลีกจาริกไปโดยไม่รีบด่วน.
               ฝ่ายพระเถระคิดว่าจักกราบทูลความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกมาแล้ว จึงเหาะขึ้นสู่เวหาสไปปรากฏ ในพระราชนิเวศน์ของพระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระเถระแล้วทรงดีพระทัย นิมนต์ให้นั่งบนบัลลังก์อันควรค่ามาก ได้ทรงนำบาตรให้เต็ม ด้วยโภชนะมีรสเลิศต่างๆ ที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อพระองค์แล้วถวายไป พระเถระลุกขึ้นแสดงอาการจะไป พระราชาตรัสว่า จงนั่งฉันเถิดพ่อ. พระเถระทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพจักไปยังสำนักของพระศาสดาแล้วจักฉัน. พระราชาตรัสว่า พระศาสดาอยู่ที่ไหนละพ่อ.
               พระอุทายีเถระทูลว่า มหาบพิตร พระศาสดามีภิกษุ ๒ หมื่นเป็นบริวาร เสด็จออกจาริกเพื่อจะเห็นพระองค์. พระราชาทรงดีพระทัยตรัสว่า ท่านฉันภัตตาหารนี้ แล้วจงนำบิณฑบาตจากพระราชนิเวศนั้นไปถวายพระโอรสนั้น จนกว่าพระโอรสของเราจะถึงพระนครนี้. พระเถระรับแล้ว พระราชาอังคาสพระเถระ แล้วอบบาตรด้วยจุรณหอม บรรจุเต็มด้วยโภชนะอันอุดมแล้ววางไว้ที่มือของพระเถระ โดยตรัสว่า ท่านจงถวายพระตถาคต.
               พระเถระ เมื่อชนชาววังทั้งปวงเห็นอยู่นั่นแล ได้โยนบาตรขึ้นไปบนอากาศ ส่วนตนเองก็เหาะขึ้นสู่เวหาส นำบิณฑบาตไปวางเฉพาะที่พระหัตถ์ของพระศาสดาโดยตรง พระศาสดาเสวยบิณฑบาตนั้น. พระเถระได้นำบิณฑบาตมาทุกวันๆ โดยอุบายนี้ แม้พระศาสดาก็เสวยบิณฑบาตเฉพาะของพระราชาเท่านั้น ในระหว่างเดินทาง ในเวลาเสด็จภัตกิจทุกๆ วัน แม้พระเถระก็กล่าวว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสิ้นระยะทางมีประมาณเท่านี้ วันนี้เสด็จมาสิ้นระยะทางมีประมาณเท่านี้ ได้กระทำราชสกุลทั้งสิ้นให้มีความเลื่อมใสเกิดขึ้นในพระศาสดา โดยเว้นการได้เห็นพระศาสดาด้วยธรรมีกถาอันสัมปยุตด้วยพุทธคุณ.
               ด้วยเหตุนั้นแหละ พระศาสดาจึงสถาปนาพระอุทายีเถระนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกาฬุทายีนั้นเป็นเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายของเรา ผู้ยังตระกูลไห้เลื่อมใส.
               ฝ่ายเจ้าศากยะทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงโดยลำดับแล้ว ได้ปรึกษากันว่า พวกเราจักเห็นพระญาติผู้ประเสริฐของพวกเรา จึงประชุมกันพิจารณา สถานที่เป็นที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า กำหนดกันว่า อารามของเจ้านิโครธศากยะน่ารื่นรมย์ จึงให้กระทำวิธีการซ่อมแซมทุกอย่างในอารามนั้น ถือของหอมและดอกไม้ เมื่อจะกระทำการต้อนรับ จึงส่งเด็กชายและเด็กหญิงชาวบ้านหนุ่มสาว ซึ่งประดับด้วยเครื่องประดับทุกอย่างไปก่อน จากนั้นจึงส่งราชกุมารและราชกุมารีไป ตนเองบูชาด้วยของหอม ดอกไม้และจุรณเป็นต้น อยู่ในระหว่างราชกุมารและราชกุมารีเหล่านั้น ได้พาพระผู้มีพระภาคเจ้าไปยังนิโครธารามนั้นเอง.
               ในนิโครธารามนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่น ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้แล้ว.
               ธรรมดา เจ้าศากยะทั้งหลายผู้มีพระชาติมานะ ถือตัวจัด. เจ้าศากยะเหล่านั้นทรงพระดำริว่า สิทธัตถกุมารเป็นเด็กกว่าเราทั้งหลาย เป็นพระกนิษฐา เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส เป็นพระนัดดาของเราทั้งหลาย จึงตรัสกะราชะกุมารทั้งหลายที่หนุ่มๆ ว่า ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกเราจักนั่งข้างหลังท่านทั้งหลาย.
               เมื่อศากยะเหล่านั้นไม่ถวายบังคมประทับนั่งแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของเจ้าศากยะเหล่านั้น แล้วทรงพระดำริว่า พระญาติทั้งหลายไม่ไหว้เรา เอาเถอะ เราจักให้พระญาติเหล่านั้นไหว้ จึงทรงเข้าจตุตถฌานมีอภิญญาเป็นบาท ออกจากฌานแล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส ปานประหนึ่งโปรยธุลีพระบาทลงบนพระเศียรของเจ้าศากยะเหล่านั้น ได้ทรงกระทำปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับยมกปาฏิหาริย์ที่ควงต้นคัณฑามพพฤกษ์.
               พระราชาทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นจึงตรัสว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันที่พระองค์ประสูติ หม่อมฉันแม้ได้เห็นพระบาทของพระองค์ ซึ่งหม่อมฉันนำเข้าไปให้ไหว้กาลเทวลดาบส กลับไปประดิษฐานบนกระหม่อมของพราหมณ์ ก็ได้ไหว้พระองค์ นี้เป็นการไหว้ครั้งแรกของหม่อมฉัน. ในวันวัปปมงคลแรกนาขวัญ ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของร่มเงาไม้หว้าของพระองค์ ผู้บรรทมอยู่บนที่บรรทมอันประกอบด้วยสิริใต้ร่มเงาไม้หว้า ก็ได้ไหว้พระบาท นี้เป็นการไหว้ครั้งที่สอง. บัดนี้ แม้ได้เห็นปาฏิหาริย์นี้ ซึ่งไม่เคยเห็น จึงไหว้พระบาทของพระองค์ นี้เป็นการไหว้ครั้งที่สามของหม่อมฉัน.
               ก็เมื่อพระราชาถวายบังคมแล้ว แม้เจ้าศากยะพระองค์หนึ่ง ชื่อว่าผู้สามารถเพื่อจะไม่ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วดำรงอยู่ ไม่ได้มี. เจ้าศากยะทั้งปวงพากันถวายบังคมทั้งหมด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระญาติทั้งหลายถวายบังคมด้วยประการดังนี้ แล้วจึงเสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งบนพระอาสน์ที่ลาดไว้. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้ว สมาคมพระญาติอันถึงสุดยอดจึงได้มีขึ้น. เจ้าศากยะทั้งปวงเป็นผู้มีพระทัยแน่วแน่ประทับนั่งแล้ว.
               ลำดับนั้น มหาเมฆได้ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา น้ำสีแดงมีเสียงไหลไปข้างล่าง และผู้ประสงค์จะให้เปียกจึงจะเปียก ฝนโบกขรพรรษแม้มาตรว่าหยาดเดียวก็ไม่ตกลงบนร่างกายของผู้ที่ไม่ประสงค์จะให้เบียก. เจ้าศากยะทั้งปวงเห็นดังนั้น เกิดอัศจรรย์ไม่เคยเป็น จึงส่งสนทนากันว่า โอ! น่าอัศจรรย์ โอ! ไม่เคยมี. พระศาสดาตรัสว่า ฝนโบกขรพรรษตกลงในสมาคมแห่งพระญาติของเรา ในบัดนี้เท่านั้น ก็หามิได้ แม้ในอดีตก็ได้ตกแล้ว จึงตรัสเวสสันดรชาดก เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้. เจ้าศากยะทั้งปวงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว เสด็จลุกขึ้นถวายบังคม แล้วหลีกไป.
               พระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา แม้พระองค์เดียว ชื่อว่ากราบทูลว่า ขอพระองค์จงรับภิกษาของข้าพระองค์ทั้งหลาย ในวันพรุ่งนี้ ดังนี้แล้วจึงเสด็จไป มิได้มีเลย.
               วันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสด์. ไม่มีใครๆ จะไปนิมนต์หรือรับบาตร พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่เสาเขื่อน ทรงพระรำพึงว่า พระพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลายเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนครของตระกูล อย่างไรหนอ. ได้เสด็จไปยังเรือนของอิสรชนโดยข้ามลำดับ หรือเสด็จเที่ยวจาริกไปตามลำดับตรอก. แต่นั้น ไม่ได้ทรงเห็นแม้พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเสด็จไปโดยข้ามลำดับ. แล้วทรงพระดำริว่า นี้เท่านั้นเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น นี้เป็นประเพณีของเรา แม้เราก็ควรจะยกไว้ในบัดนี้ และสาวกทั้งหลายของเราสำเหนียกตามเราอยู่นั่นแล จักบำเพ็ญบิณฑบาตจาริกวัตรต่อไป. จึงเสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอก ตั้งแต่เรือนที่ตั้งอยู่ในที่สุดไป.
               มหาชนเล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถกุมารผู้เป็นเจ้า เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว จึงเปิดหน้าต่างบนปราสาทชั้นที่ ๒ และชั้นที่ ๓ เป็นต้น ได้เป็นผู้ขวนขวายเพื่อจะดู.
               ฝ่ายพระเทวีมารดาพระราหุล ทรงพระดำริว่า นัยว่า พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองเป็นต้น โดยราชานุภาพยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ. บัดนี้ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือกระเบื้องเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรตรวจดูอยู่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังถนนในพระนครให้สว่างไสว ด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระอันรุ่งเรืองด้วยความรุ่งเรืองต่างๆ ไพโรจน์ด้วยพุทธสิริอันหาอุปมามิได้ ประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สว่างด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐ ซึ่งตามประชิดล้อมรอบด้วยพระรัศมีด้านละวา. จึงทรงชมเชยตั้งแต่พระอุณหิสจนถึงพื้นพระบาทด้วยคาถาชื่อว่านรสีหะ ๘ ประการ มีอาทิอย่างนี้ว่า
               พระผู้นรสีหะมีพระเกสาเป็นลอน อ่อน ดำสนิท มีพื้นพระนลาตปราศจากมลทิน ดุจพระอาทิตย์ มีพระนาสิกโค้งอ่อนยาวพอเหมาะ ซ่านไปด้วยพระข่ายแห่งพระรัศมี
ดังนี้.
               แล้วจึงกราบทูลแด่พระราชาว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว. พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงจัดผ้าสาฎกให้เข้าที่ด้วยพระหัตถ์ รีบด่วนเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อายเพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ.
               พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์ เป็นกษัตริย์มหาสมมติราช มิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่า เที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพและพระพุทธเจ้าอื่นๆ นับได้หลายพัน ได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล ตรัสพระคาถานี้ว่า
               บุคคลไม่ควรประมาทในก้อนข้าว อันบุคคลพึงลุกขึ้นยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต บุคคลผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า.

               ในเวลาจบคาถา พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               และได้สดับคาถานี้ว่า
               บุคคลพึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมเป็นปรกติ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้ และในโลกหน้า
ดังนี้.
               ได้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล.
               ได้ทรงสดับธรรมปาลชาดก ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
               ในสมัยใกล้จะสวรรคต ทรงบรรทมบนพระที่บรรทมอันประกอบด้วยสิริภายใต้เศวตฉัตร ได้บรรลุพระอรหัต. กิจในการตามประกอบความเพียรโดยการอยู่ป่าไม่ได้มีแก่พระราชา.
               ก็ครั้นทรงกระทำให้แจ้งเฉพาะโสดาปัตติผลเท่านั้น ทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งบริษัทให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต. ในเวลาเสร็จภัตกิจ นางสนมทั้งปวงยกเว้นพระมารดาพระราหุลพากันมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ก็พระมารดาของพระราหุลนั้น แม้ชนผู้เป็นบริวารจะกล่าวว่า พระองค์จงเสด็จไปถวายบังคมพระลูกเจ้าเถิด ก็ตรัสว่า ถ้าคุณของเรามีอยู่ไซร้ พระลูกเจ้าจักเสด็จมายังสำนักของเราด้วยพระองค์เองทีเดียว เราจักถวายบังคมพระลูกเจ้านั้นผู้เสด็จมาเท่านั้น. ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็มิได้เสด็จไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระราชาถือบาตร แล้วเสด็จไปยังห้องอันมีสิริของพระราชธิดา พร้อมกับพระอัครสาวกทั้งสอง แล้วตรัสว่า พระราชธิดาเมื่อถวายบังคมตามชอบใจ ไม่พึงกล่าวคำอะไรๆ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. พระราชธิดาเสด็จมาโดยเร็ว จับข้อพระบาททั้งสอง เกลือกพระเศียรบนหลังพระบาท ถวายบังคมตามพระอัธยาศัย.
               พระราชาตรัสคุณสมบัติมีความรักและความนับถือมากในพระผู้มีพระภาคเจ้าของพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธิดาของหม่อมฉันได้ฟังข่าวว่า พระองค์ทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะ ตั้งแต่นั้นก็ทรงผ้ากาสาวะบ้าง. ได้สดับว่า พระองค์มีภัตหนเดียวก็มีภัตหนเดียวบ้าง. ทรงสดับว่าพระองค์ทรงละที่นั่งที่นอนใหญ่ ก็ทรงบรรทมเฉพาะบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า. ทรงทราบว่า พระองค์ทรงละเว้นจากของหอมมีดอกไม้เป็นต้นก็ทรงงดเว้นดอกไม้และของหอมบ้าง. เมื่อพระญาติทรงส่งข่าวมาว่า เราทั้งหลายจักปฏิบัติในญาติทั้งหลายของตน ก็ไม่ทรงเหลียวแลแม้พระญาติสักองค์เดียว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระธิดาของหม่อมฉันเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติอย่างนี้.
               พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ข้อที่พระราชธิดาอันพระองค์รักษาคุ้มครองอยู่ในบัดนี้ พึงรักษาคุ้มครองตนในเมื่อญาณแก่กล้าแล้วนั้น ไม่น่าอัศจรรย์. เมื่อก่อน ราชธิดานี้ไม่มีการอารักขา ท่องเที่ยวอยู่ที่เชิงเขาก็รักษาตนอยู่ได้ ในเมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ดังนี้ แล้วทรงบรรเทาความเศร้าโศกของพระราชธิดานั้น ตรัสจันทกินรีชาดก ทรงให้โสดาปัตติผล แล้วลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป.
               ในวันที่สอง เมื่อวิวาหมงคลเนื่องในการเสด็จเข้าพระตำหนักอภิเษกของนันทราชกุมาร ดำเนินไปอยู่. พระศาสดาเสด็จไปยังตำหนักของนันทราชกุมารนั้น ทรงให้พระกุมารถือบาตร มีพระประสงค์จะให้บวช จึงตรัสมงคลกถา แล้วเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ เสด็จหลีกไป. นางชนบทกัลยาณีเห็นพระกุมารกำลังเสด็จไป จึงทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า พระองค์ควรเสด็จกลับมาโดยด่วน แล้วทรงชะเง้อพระศอแลดู. ฝ่ายพระกุมารนั้นไม่อาจทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์ทรงรับเอาบาตรไป ได้เสด็จไปยังวิหารนั่นแล. นันทกุมารนั้นไม่ปรารถนาเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้บรรพชาแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปกบิลพัสดุ์บุรีทรงให้นันทกุมารบวช ด้วยประการฉะนี้.
               ในวันที่ ๗ พระมารดาพระราหุลประดับพระกุมาร แล้วส่งไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระดำรัสว่า ลูกเอย เจ้าจงดูพระสมณะซึ่งมีรูปดังพรหม มีวรรณะดังทองคำ แวดล้อมด้วยสมณะ ๒ หมื่นองค์อย่างนั้น พระสมณะนี้เป็นพระบิดาของเจ้า พระสมณะนั้นได้มีขุมทรัพย์ใหญ่ จำเดิมแต่ พระสมณะนั้นออกบวชแล้ว แม่ไม่เห็นขุมทรัพย์เหล่านั้น เจ้าจงไปขอมรดกกะพระสมณะนั้นว่า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์เป็นกุมาร ได้รับอภิเษกแล้วจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์ เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของสิ่งของอันเป็นของบิดา. พระกุมารเสด็จไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีเดียว กลับได้ความรักต่อพระบิดา มีจิตใจร่าเริงนัก กราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ร่มเงาของพระองค์เป็นสุข แล้วได้ยืนตรัสถ้อยคำอย่างอื่นอันสมควรแก่พระองค์เป็นอันมาก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงการทำภัตกิจ แล้วทรงกระทำอนุโมทนา แล้วเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป. ฝ่ายพระกุมารเสด็จติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป โดยตรัสว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอพระองค์จงประทานมรดกแก่ข้าพระองค์ ข้าแต่พระสมณะ ขอพระองค์จงประทานมรดกแก่ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไม่ให้พระกุมารกลับ. บริวารชนไม่ได้อาจเพื่อจะยังพระกุมารผู้เสด็จไปพร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้กลับ. พระกุมารนั้นได้เสด็จไปยังพระอารามพร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินไป ทรงพระดำริว่า กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดา ซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะมีความคับแค้น. เอาเถอะ เราจะให้อริยทรัพย์ ๗ ประการ ซึ่งเราได้เฉพาะที่โพธิมัณฑ์แก่กุมารนี้ เราจะกระทำให้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ. แล้วตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า สารีบุตร ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้ราหุลกุมารบวช.
               ก็เมื่อพระกุมารบวชแล้ว ทุกข์มีประมาณยิ่งเกิดขึ้นแก่พระราชา. เมื่อไม่ทรงสามารถจะอดกลั้นความทุกข์นั้น จึงทูลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ. แล้วทรงขอพรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดังหม่อมฉันจะขอโอกาส พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังไม่อนุญาต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับพระดำรัสนั้นของพระราชานั้น.
               ในวันรุ่งขึ้น เสวยพระกระยาหารเข้าในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระราชาผู้ประทับนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในคราวที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา เทวดาองค์หนึ่งเข้าไปหาหม่อมฉันกล่าวว่า พระโอรสของพระองค์ทรงทำกาละแล้ว หม่อมฉันไม่เชื่อคำของเทวดานั้น ห้ามเทวดานั้นว่าบุตรของเรายังไม่บรรลุพระโพธิญาณจะยังไม่ทำกาละ. จึงตรัสว่า บัดนี้ พระองค์จักทรงเชื่อได้อย่างไร แม้ในกาลก่อน เมื่อคนเอากระดูกแสดง แล้วกล่าวว่าบุตรของท่านตายแล้ว พระองค์ก็ยังไม่เชื่อ แล้วตรัสมหาธรรมปาลชาดก เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น. ในเวลาจบพระคาถา พระราชาทรงดำรงอยู่ในพระอนาคามิผล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระบิดาดำรงอยู่ในผลทั้ง ๓ ด้วยประการดังนี้แล้วอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว เสด็จไปกรุงราชคฤห์อีก ทรงประทับอยู่ที่ป่าสีตวัน.
               สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เอาเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าไปยังเรือนของเศรษฐีผู้เป็นสหายที่รักของตน ในกรุงราชคฤห์.
               ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในกรุงราชคฤห์นั้น ในเวลาใกล้รุ่งได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทางประตูที่เปิดด้วยอานุภาพของเทวดา ฟังธรรมแล้วได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตตผล. ในวันที่สองได้ถวายมหาทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ได้ขอให้พระศาสดาทรงรับปฏิญญาที่จะเสด็จมาเมืองสาวัตถี. ในระหว่างทางได้ให้ทรัพย์แสนหนึ่งสร้างวิหาร (ระยะทางห่างกัน) โยชน์หนึ่ง แล้วซื้อสวนของเจ้าเชตด้วยเงิน ๑๘ โกฏิโดยการปูลาดกหาปณะจำนวนโกฏิ (เต็มเนื้อที่) แล้วทำการก่อสร้างเสร็จ (คือ) ให้สร้างพระคันธกุฎีเพื่อพระทศพลตรงกลาง แล้วให้สร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ รายล้อมพระคันธกุฎีนั้น ในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ด้วยการบริจาคเงิน ๑๘ โกฏิ คือ ให้สร้างเสนาสนะ เช่น กุฏิหลังเดียว กุฏิสองหลัง กุฏิทรงหงส์เวียน ศาลารายและปะรำเป็นต้นและสระโบกขรณี ที่จงกรม ที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน โดยเป็นอาวาสสำหรับอยู่อาศัยเฉพาะผู้เดียว ตามลำดับๆ เพื่อพระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ แล้วส่งทูตไปเพื่อต้องการให้พระทศพลเสด็จมา.
               พระศาสดาได้ทรงสดับคำของทูตแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ เสด็จถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ. ฝ่ายมหาเศรษฐีแลเตรียมการฉลองพระวิหาร ในวันที่พระตถาคตเสด็จเข้าพระเชตวันวิหาร ได้ตกแต่งประดับประดาบุตร ด้วยอลังการเครื่องประดับทั้งปวง แล้วส่งไปพร้อมกับกุมาร ๕๐๐ คนผู้ตกแต่งประดับประดาแล้ว. บุตรเศรษฐีนั้นพร้อมทั้งบริวาร ถือธง ๕๐๐ คัน อันเรื่องรองด้วยผ้าห้าสี ได้อยู่ข้างเบื้องพระพักตร์ของพระทศพล. ข้างหลังของกุมารเหล่านั้นมีธิดาเศรษฐี ๒ นาง คือสุภัททาและจุลลสุภัททา พร้อมกับกุมารี ๕๐๐ นางถือหม้อเต็มด้วยน้ำเดินออกไป. ข้างหลังของกุมารีเหล่านั้น ภรรยาของท่านเศรษฐีประดับด้วยอลังการทั้งปวง พร้อมกับมาตุคาม ๕๐๐ นางถือถาดเต็ม (ด้วยอาหาร) ออกไปเบื้องหลังของตนทั้งหมด ท่านมหาเศรษฐีเองนุ่งผ้าใหม่ พร้อมกับเศรษฐี ๕๐๐ คนผู้นุ่งผ้าใหม่ มุ่งไปเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอุบาสกบริษัทนี้ไว้ข้างหน้า แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงกระทำระหว่างป่าให้เป็น ดุจสีแดงเรื่อๆ อันราดรดด้วยรสน้ำทอง ด้วยพระรัศมีแห่งพระสรีระของพระองค์ เสด็จเข้าสู่พระเชตวันวิหารด้วยพุทธลีลาอันต่อเนื่องกัน และด้วยพุทธสิริ อันหาที่เปรียบมิได้.
               ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะปฏิบัติในพระวิหารนี้อย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ท่านจงถวายแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ที่มาแล้วๆ ยังวิหารนี้ เถิด.
               ท่านมหาเศรษฐีรับพระพุทธฎีกา แล้วถือเต้าน้ำทอง หลั่งน้ำลงบนพระหัตถ์ของพระทศพล แล้วกล่าวถวายด้วยคำว่า ข้าพระองค์ขอถวายพระเชตวันวิหารนี้แก่สงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ซึ่งมาแล้วทั้ง ๔ ทิศ.
               พระศาสดาทรงรับวิหารแล้ว เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา ได้ตรัสอานิสงส์ของการถวายวิหาร ว่า
               เสนาสนะย่อมป้องกันเย็นและร้อน และแต่นั้นย่อมป้องกันเนื้อร้าย งู ยุง น้ำค้างและฝน แต่นั้น ลมและแดดอันกล้าเกิดขึ้นแล้ว ย่อมบรรเทาไป การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณาและเพื่อเห็นแจ้ง.
               พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ. เพราะเหตุนั้นแล บุรุษบัณฑิต เมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตนพึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตอยู่เถิด.
               อนึ่ง พึงถวายข้าว น้ำ ผ้าและเสนาสนะแก่ท่านเหล่านั้นด้วยน้ำใจอันเลื่อมใสในท่านผู้ซื่อตรง เขารู้ธรรมอันใดในโลกนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน. ท่านย่อมแสดงธรรมนั้น อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา.

               จำเดิมแต่วันที่สองไป ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเริ่มการฉลองวิหาร การฉลองวิหารของนางวิสาขา ๔ เดือนเสร็จ แต่การฉลองวิหารของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ๙ เดือน จึงเสร็จ หมดทรัพย์ไป ๘ โกฏิทีเดียว. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบริจาคทรัพย์นับได้ ๕๔ โกฏิ เฉพาะวิหารหลังเดียวเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ในอดีตกาล ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี เศรษฐีนามว่าปุนัพพสุมิตต์ ซื้อที่โดยการปูลาดอิฐทองคำ แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณหนึ่งโยชน์ลงในที่นั้นนั่นแหละ. ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าสิขี เศรษฐีนามว่าสิริวัฑฒะ ซื้อที่โดยการปูลาดข่ายทองคำ แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณ ๓ คาวุตลงในที่นั้นนั่นแหละ. ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าเวสสภู เศรษฐีนามว่าโสตถิยะ ซื้อที่โดยการปูลาดรอยเท้าช้างทองคำ แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณกึ่งโยชน์ลงในที่นั้นนั่นแหละ. ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะ เศรษฐีนามว่าอัจจุตะ ซื้อที่โดยการปูลาดอิฐทองคำเหมือนกัน แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณหนึ่งคาวุต ลงในที่นั้นนั่นแหละ. ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมนะ เศรษฐีนามว่าอุคคะ ซื้อที่โดยการปูลาดเต่าทองคำ แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณกึ่งคาวุต ลงในที่นั้นนั่นแหละ. ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ เศรษฐีนามว่าสุมังคละ ซื้อที่โดยการปูลาดเต่าทองคำ แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณ ๑๖ กรีส ลงในทีนั้นนั่นแหละ. แต่ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เศรษฐีนามว่าอนาถบิณฑิกะ ซื้อที่โดยการปูลาดกหาปณะจำนวนโกฏิ แล้วให้สร้างสังฆารามประมาณ ๘ กรีส ลงในพื้นที่นั้นนั่นแหละ. ได้ยินว่า ที่นั้นเป็นสถานที่อันพระพุทธเจ้าทั้งปวงมิได้ทรงละเลยแล้ว.
               ตั้งแต่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณที่มหาโพธิมัณฑ์ จนกระทั่งถึงเตียงเป็นที่เสด็จมหาปรินิพพาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในสถานที่ใด สถานที่นี้ชื่อว่า สันติเกนิทาน ด้วยประการฉะนี้.
               ข้าพเจ้าจักพรรณนาชาดกทั้งปวง ด้วยอำนาจสันติเกนิทาน นั้นแล.


               จบนิทานกถาด้วยประการฉะนี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค นิทานกถา ว่าด้วยทูเรนิทาน อวิทูเรนิทาน สันติเกนิทาน
อปัณณกชาดก ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙]
อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 27 เริ่มข้อที่ 2 อรรถาธิบายเล่มที่  27 เริ่มข้อที่ 2519
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=1&Z=12
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=35&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=35&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๔๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :