ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาหังสชาดก
ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ท่านเป็นคนรับใช้ของพระราชาพระองค์ใด จงนำข้าพเจ้าไปให้ถึงพระราชาพระองค์นั้น ตามปรารถนาเถิด พระเจ้าสังยมนะจักทรงกระทำตามพระประสงค์ ในพระราชนิเวศน์นั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺเสว ความว่า ท่านจงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของพระเจ้าสังยมราชนั้นเถิด.
               บทว่า ตตฺถ คือ ในพระราชนิเวศน์นั้น.
               บทว่า ยถาภิญฺญํ ความว่า พระองค์จักทรงกระทำตามพระราชประสงค์ คือตามความพอพระทัย.

               นายเนสาทสดับคำนั้นจึงกล่าวว่า ดูก่อนท่านที่เจริญ ท่านอย่าพอใจให้พระราชาทอดพระเนตรเลย ขึ้นชื่อว่าพระราชาทั้งหลายเป็นที่น่าเกรงกลัว พึงกระทำท่านให้เป็นหงส์ระบำ หรือไม่ก็พึงฆ่าท่านเสีย. ลำดับนั้น สุมุขหงส์จึงกล่าวกะนายเนสาทนั้นว่า ดูก่อนนายพรานผู้สหายผู้ให้ชีวิต ท่านอย่าได้คิดถึงข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าได้ทำคนหยาบช้าเช่นท่าน ให้อ่อนโยนด้วยธรรมกถา ไฉนจักทำพระราชาให้เกิดความอ่อนโยนบ้างไม่ได้ ด้วยว่า พระราชาทั้งหลายเป็นผู้ฉลาด รู้จักวาจาที่เป็นสุภาษิตหรือทุพภาษิต ท่านจงนำข้าพเจ้าทั้งสองไปยังสำนักของพระราชาโดยเร็วเถิด แต่เมื่อจะนำไป อย่านำไปด้วยการผูกมัด จงยังข้าพเจ้าให้เกาะในกรงดอกไม้นำไป
               อนึ่ง เมื่อท่านจะกระทำกรงดอกไม้ ท่านจงกระทำกรงของพญาหงส์ธตรฐให้ใหญ่ คาดด้วยดอกบัวสีขาว ส่วนของข้าพเจ้าจงกระทำให้เล็ก คาดด้วยดอกบัวสีแดง แล้วจงพาพญาหงส์ธตรฐไปข้างหน้า พาข้าพเจ้าไปข้างหลัง กระทำให้ต่ำเล็กน้อย แล้วจงนำไปแสดงแด่พระราชาเถิด.
               นายพรานนั้นสดับคำของสุมุขหงส์นั้นแล้ว จึงคิดว่า สุมุขหงส์คงจะปรารถนาเฝ้าพระราชา ให้ประทานยศใหญ่แก่เรา ก็เกิดความโสมนัสยินดี เอาเถาวัลย์อ่อนๆ มากระทำให้เป็นกรง คาดด้วยดอกปทุมแล้ว ได้พาไปโดยนัยดังกล่าวแล้วทีเดียว.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               นายพรานอันสุมุขหงส์กล่าว ด้วยประการอย่างนี้แล้ว จึงเอามือทั้งสองประคอง พญาหงส์ทองตัวมีสีดังทองคำ ค่อยๆ วางลงในกรง นายพรานพาพญาหงส์ทั้งสอง ซึ่งมีผิวพรรณอันผุดผ่อง คือสุมุขหงส์และพญาหงส์ธตรฐ ซึ่งอยู่ในกรงหลีกไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌโวทหิ คือ วางลงไว้แล้ว.
               บทว่า ภสฺสรวณฺณิเน คือ มีพรรณอันถึงพร้อมด้วยรัศมี.

               ในเวลาที่นายลุททบุตรพาหงส์ทั้งสองไปด้วยอาการอย่างนี้ พญาหงส์ธตรฐระลึกถึงพระราชธิดาของพญาปากหงส์ ซึ่งเป็นภรรยาของตน จึงเรียกสุมุขหงส์แล้วพร่ำรำพัน ด้วยอำนาจกิเลส.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พญาหงส์ธตรฐ อันนายพรานนำไปอยู่ ได้กล่าวกะสุมุขหงส์ว่า ดูก่อนสุมุขะ เรากลัวนัก ด้วยนางหงส์ที่มีผิวพรรณดังทองคำ มีขาได้ลักษณะ นางรู้ว่าเราถูกฆ่า ก็จักฆ่าตนเสียโดยแท้. ดูก่อนสุมุขะ ก็ราชธิดาของพญาปากหงส์ นามว่าสุเหมา ซึ่งมีผิวงามดังทองคำ จักร่ำไห้อยู่ เหมือนนางนกกระเรียนที่กำพร้า ร่ำไห้อยู่ที่ริมฝั่งสมุทรฉะนั้น เป็นแน่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภายามิ ความว่า เรากลัวต่อมรณภัย.
               บทว่า สามาย แปลว่า ด้วยนางที่มีผิวพรรณดังทองคำ.
               บทว่า ลกฺขณูรุยา แปลว่า มีขาอันถึงพร้อมด้วยลักษณะ.
               บทว่า วธมญฺญาย ความว่า เมื่อนางรู้ว่าเราถูกฆ่า คือเป็นผู้มีความสำคัญว่า สามีอันเป็นที่รักของเราถูกฆ่าตายเสียแล้ว.
               บทว่า วธิสฺสติ ความว่า จักฆ่าตัวตายด้วยคิดว่า เมื่อสามีอันเป็นที่รักของเราตายแล้ว ประโยชน์อะไรที่เราจะมีชีวิตอยู่.
               บทว่า ปากหํสา คือ ราชธิดาของพญาปากหงส์.
               บทว่า สุเหมา คือ ราชธิดาที่มีพระนามอย่างนี้.
               บทว่า เหมสุตฺตจา คือ มีผิวหนังงดงามดุจทองคำ.
               บทว่า โกญฺจีว ความว่า นางคงจักร้องไห้คร่ำครวญอยู่เป็นแน่แท้ เสมือนหนึ่งนางนกกระเรียน เมื่อผัวจมลงสู่สมุทร กล่าวคือน้ำเค็ม ตายเสียแล้ว ก็ย่อมว้าเหว่คร่ำครวญอยู่ ฉะนั้นแล.

               สุมุขหงส์ได้สดับคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า พญาหงส์นี้เป็นผู้สมควรที่จะสั่งสอนผู้อื่น มาพร่ำรำพันไปด้วยอำนาจกิเลส เพราะอาศัยมาตุคาม เกิดเป็นประหนึ่ง เวลาที่น้ำมีอาการร้อน และเป็นประหนึ่ง เวลาที่นาอันไม่มีรั้วล้อมกั้น ถ้ากระไร เราพึงประกาศโทษมาตุคาม ด้วยกำลังแห่งญาณของตน พึงยังพญาหงส์นี้ให้รู้สึก
               จึงได้กล่าวคาถาว่า
               การที่พระองค์เป็นใหญ่กว่าโลกคือหงส์ ใครๆ ไม่สามารถจะประมาณคุณได้ เป็นครูของหมู่คณะใหญ่ พึงตามเศร้าโศกถึงหญิงคนเดียวอย่างนี้ เหมือนไม่ใช่ความประพฤติของผู้มีปัญญา
               ลมย่อมพัดพานทั้งกลิ่นหอมและกลิ่นเหม็น เด็กอ่อนย่อมเก็บผลไม้ทั้งดิบทั้งสุก คนตาบอดผู้โลภในรสอาหาร ย่อมถือเอาอาหาร ฉันใด ธรรมดาหญิงก็ฉันนั้น พระองค์ไม่รู้จักตัดสินใจในเหตุทั้งหลาย ปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนคนเขลา
               พระองค์จะถึงมรณกาลแล้ว ยังไม่ทรงทราบถึงกิจที่ควรและไม่ควร พระองค์เห็นจะเป็นกึ่งคนบ้า บ่นเพ้อไปต่างๆ ทรงสำคัญหญิงว่าเป็นผู้ประเสริฐ แท้จริง หญิงเหล่านี้เป็นของทั่วไป แก่คนเป็นอันมาก เหมือนโรงสุราเป็นสถานที่ทั่วไป แก่พวกนักเลงสุรา ฉะนั้น
               อนึ่ง หญิงเหล่านี้มีมารยาเหมือนพยับแดด เป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก เป็นเหตุเกิดโรคและอันตราย
               อนึ่ง หญิงเหล่านี้เป็นคนหยาบคาย เป็นเครื่องผูกมัด เป็นบ่วง เป็นถ้ำ ที่อยู่ของมัจจุราช บุรุษใดพึงหลงระเริงใจในหญิงเหล่านั้น บุรุษนั้นชื่อว่า เป็นคนเลวทรามในหมู่นระ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มหนฺโต คือ เป็นผู้ยิ่งใหญ่.
               บทว่า โลกสฺส คือ แก่โลกของหมู่หงส์.
               บทว่า อปฺปเมยฺโย ได้แก่ ใครๆ ไม่พึงอาจจะประมาณด้วยคุณทั้งหลายได้.
               บทว่า มหาคณี ได้แก่ เป็นครูของคณะอันประกอบแล้วด้วยคณะใหญ่.
               บทว่า เอกิตฺถึ ความว่า ท่านผู้เจริญเห็นปานนี้ พึงตามเศร้าโศกถึงหญิงคนเดียว ความตามเศร้าโศกนี้ ประหนึ่งมิใช่ของผู้มีปัญญาเลย เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงมีความสำคัญพระองค์ ว่าเป็นผู้โง่เขลา ในวันนี้เอง.
               บทว่า อาเทติ คือ ย่อมถือเอา.
               บทว่า เฉกปาปกํ คือ ทั้งดีทั้งชั่ว.
               บทว่า อามกปกกํ คือ ดิบด้วยสุกด้วย.
               บทว่า โลโล คือ โลภในรส.
               มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาว่า ลมย่อมพัดสระดอกปทุมเป็นต้น ซึ่งมีกลิ่นหอม และพัดสถานที่อันเต็มไปด้วยกองหยากเยื่อเป็นต้น ซึ่งมีกลิ่นเหม็น ย่อมพัดเอากลิ่นทั้งหอมทั้งเหม็นทั้งสองอย่าง ด้วยประการฉะนี้ ฉันใด อนึ่ง เด็กเล็กๆ นั่งอยู่ใต้ต้นมะม่วง และต้นหว้าทั้งหลาย เอื้อมมือออกไปเก็บผลทั้งที่ยังดิบและสุก ซึ่งหล่นลงมาแล้วเคี้ยวกิน ฉันใด อนึ่ง คนตาบอดผู้โลภในรสอาหาร เมื่อเขายกภัตรเข้ามาให้ ย่อมถือเอาอาหารทั้งที่มีแมลงและไม่มีแมลงทุกอย่าง ฉันใด ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลายย่อมถือเอา คือย่อมคบแม้คนตาบอด คนเข็ญใจ คนมีตระกูลสูง คนไม่มีตระกูล คนรูปสวย คนรูปชั่ว ทั้งหมด ด้วยอำนาจกิเลสฉันนั้น เหมือนกัน ข้าแต่มหาราช พระองค์มาบ่นรำพัน เพราะเหตุแห่งหญิงทั้งหลาย ผู้มีธรรมอันลามก เช่นกับลมและเด็กเล็กๆ และคนตาบอด.
               บทว่า อตฺเถสุ หมายเอาทั้งเหตุและมิใช่เหตุ.
               บทว่า มนโท คือ อันธพาล.
               บทว่า ปฏิภาสิ มํ คือ ย่อมตั้งขึ้นเฉพาะข้าพเจ้า.
               บทว่า กาลปริยายํ ความว่า พระองค์ถึงเวลาใกล้มรณะเห็นปานนี้แล้ว ยังไม่รู้สึกอีกว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ในเวลานี้ สิ่งนี้ควรกล่าว สิ่งนี้ไม่ควรกล่าวในกาลนี้.
               บทว่า อฑฺฒอุมฺมตฺโต ได้แก่ ชะรอยว่าเป็นบ้าไปครึ่งหนึ่ง.
               บทว่า อุทีเรสิ ความว่า พระองค์บ่นรำพันเพ้อ เหมือนบุรุษที่ดื่มสุราแล้ว แต่ไม่เมามายจนเกินไป บ่นถึงสิ่งโน้นบ้าง สิ่งนี้บ้างต่างๆ นานา.
               บทว่า เสยฺยา คือ เลิศสูงสุด.
               บรรดาบททั้งหลาย บทว่า มายา เป็นต้น ความว่า ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงทั้งหลาย เป็นผู้มีมารยาด้วยอรรถว่า หลอกลวง เปรียบเหมือนพยับแดดด้วยอรรถว่า เป็นสิ่งที่ใครๆ เข้าไปจับต้องถือเอาไม่ได้ เป็นผู้มีความเศร้าโศก เพราะเป็นปัจจัยแห่งความเศร้าโศกเป็นต้น เป็นผู้มีโรค และมีอันตรายเป็นอเนกประการ ทั้งชื่อว่าเป็นคนหยาบคาย เพราะกระด้างกระเดื่อง ด้วยกิเลสมีความโกรธเป็นต้น อนึ่ง ขึ้นชื่อว่าหญิงเหล่านี้เป็นเครื่องผูกมัด เพราะบุคคลถูกผูกมัดด้วยเครื่องจำมีขื่อคาเป็นต้น ก็เพราะอาศัยหญิงเหล่านี้ อนึ่ง หญิงเหล่านี้แหละชื่อว่า เป็นพระยามัจจุราช อันสิงอยู่ในถ้ำ คือสรีระ ก็พระราชาทั้งหลายจับโจรได้แล้ว ก็ตัดศีรษะเสียด้วยขวานอันคม แล้วเสียบไว้ที่ปลายหลาว ก็เพราะโจรพวกนี้อาศัยกามเป็นเหตุ มีกามเป็นแดนมอบให้ซึ่งผล มีกามเป็นอธิกรณ์ทีเดียว.

               ลำดับนั้น พญาหงส์ธตรฐแสดงว่า พ่อยังไม่รู้จักคุณของมาตุคาม พวกบัณฑิตเท่านั้นจึงจะรู้จัก ใครๆ ไม่ควรติเตียนหญิงเหล่านี้เลย เพราะความที่ตนเป็นผู้มีจิตหลงใหลไฝ่ฝันในมาตุคาม จึงกล่าวคาถาว่า
               วัตถุใด ชนท่านผู้เจริญทั้งหลายรู้จักดีแล้ว ใครควรจะติเตียนวัตถุนั้นเล่า ขึ้นชื่อว่าหญิงทั้งหลาย มีคุณมาก เกิดแล้วในโลก ความคะนองอันบุคคลตั้งไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น ความยินดีอันบุคคลตั้งเฉพาะไว้แล้วในหญิงเหล่านั้น
               พืชทั้งหลาย (มีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวกและพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น) ย่อมงอกขึ้นในหญิงเหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นพึงเจริญ บุรุษไรมาเกี่ยวข้องชีวิตหญิงด้วยชีวิตของตนแล้ว พึงเบื่อหน่ายในหญิงเหล่านั้น
               ดูก่อนสุมุขะ ท่านนั่นแหละ ไม่ต้องคนอื่นละ ก็ประกอบในประโยชน์ของหญิงทั้งหลาย เมื่อภัยเกิดขึ้นแก่ท่านในวันนี้ ความคิดจึงเกิดขึ้น เพราะความกลัว
               จริงอยู่ บุคคลทั้งปวงผู้ถึงความสงสัยในชีวิต มีความหวาดกลัว ย่อมอดกลั้นความกลัวไว้ได้ เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้ดำรงอยู่ในฐานะอันใหญ่ ย่อมประกอบในประโยชน์อันมากที่ประกอบได้
               พระราชาทั้งหลาย ย่อมทรงปรารถนาความกล้าหาญของมนตรีทั้งหลาย เพื่อทรงประสงค์ที่จะได้ความกล้าหาญนั้น ป้องกันอันตราย และสามารถป้องกันพระองค์เองด้วย
               วันนี้ ท่านจงกระทำด้วยประการที่ พวกพนักงานเครื่องต้นของพระราชา อย่าเชือดเฉือนเราทั้งสอง ในโรงครัวใหญ่เถิด จริงอย่างนั้น สีแห่งขนปีกทั้งหลาย จะฆ่าท่านเสีย เหมือนขุยไม้ไผ่ ฉะนั้น
               ท่าน แม้นายพรานจะปล่อยแล้ว ก็ไม่ปรารถนาจะบินหนีไป ยังเข้ามาใกล้บ่วงเองอีกทำไมเล่า วันนี้ ท่านถึงความสงสัยในชีวิตแล้ว จงถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่ายื่นปากออกไปเลย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ความว่า วัตถุกล่าวคือมาตุคามใด อันท่านผู้เจริญด้วยปัญญาทั้งหลายบัญญัติแล้ว คือปรากฏแก่ท่านเหล่านั้นทีเดียว มิได้ปรากฏแก่พวกชนพาล.
               บทว่า มหาภูตา ได้แก่ มีคุณมากคือมีอานิสงส์มาก.
               บทว่า อุปปชฺชิสุ ความว่า บังเกิดก่อน เพราะเพศหญิงปรากฏเป็นครั้งแรกในกาลแห่งปฐมกัลป์.
               บทว่า ตาสุ ความว่า ดูก่อนพ่อสุมุขะ ความคะนองกายและความคะนองวาจา อันบุคคลตั้งมั่น คือตั้งลงฝั่งไว้ในหญิงเหล่านั้น และความยินดีในกามคุณ ก็ตั้งอยู่เฉพาะในหญิงเหล่านั้นด้วย.
               บทว่า วีชานิ ความว่า พืชเป็นต้นว่าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ย่อมงอกขึ้นในหญิงเหล่านั้น.
               บทว่า ยทิทํ คือ สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ แม้ทั้งหมด.
               บทว่า ปชายเร ความว่า พญาหงส์ย่อมแสดงว่า ย่อมเจริญพร้อมแล้ว ในท้องของหญิงเหล่านั้นแล.
               บทว่า นิพฺพิเช แปลว่า หมดความอาลัยใยดี.
               บทว่า ปาณมาสชฺช ปาณิภิ ความว่า ใครๆ ที่เอาชีวิตของตน เข้าคลุกเคล้ากับชีวิตของหญิงเหล่านั้น ถึงกับสละชีวิตของตน จึงได้หญิงนั้นมาแล้ว จะพึงเบื่อหน่ายเสียได้เล่า.
               บทว่า นาญฺโญ ความว่า ดูก่อนพ่อสุมุขะ ไม่ต้องกล่าวถึงคนอื่นละ เมื่อเราอยู่ในท่ามกลางหมู่หงส์ ที่พื้นภูเขาจิตตกูฏ มองไม่เห็นพ่อ จึงถามว่า สุมุขหงส์ไปไหน หงส์ทั้งหลายตอบว่า สุมุขหงส์นี้พามาตุคามไปเสวยความยินดีอย่างสูงสุด อยู่ในถ้ำทอง พ่อนั่นแล ย่อมประกอบในประโยชน์ของหญิงอย่างนี้ คือเป็นผู้ประกอบแล้ว ประกอบทั่วแล้วทีเดียว ไม่ต้องกล่าวถึงคนอื่น.
               บทว่า ตสฺส ตฺยชฺช ความว่า พญาหงส์นั้นกล่าวดังนี้ ด้วยหมายความว่า เมื่อความกลัวตาย บังเกิดขึ้นแก่พ่อในวันนี้ ชะรอยว่า พ่อจะกลัวมรณภัยนี้ จึงเกิดความคิดอันละเอียด ซึ่งแสดงถึงโทษของมาตุคามนี้ขึ้น.
               บทว่า สพฺโพ หิ คือ ผู้ใดผู้หนึ่ง.
               บทว่า สํสยปฺปตฺโต คือ ผู้ที่ถึงความสงสัยในชีวิต.
               บทว่า ภีรุ ได้แก่ แม้เป็นผู้มีความหวาดสะดุ้งกลัว ก็ระงับความกลัวไว้ได้.
               บทว่า มหนฺตาโน ความว่า ส่วนชนเหล่าใดย่อมเป็นบัณฑิตด้วย ตั้งอยู่ในฐานะใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในฐานะใหญ่.
               บทว่า อตฺเถ ยุญฺชนฺติ ทุยฺยุเช ความว่า ชนเหล่านั้นย่อมประกอบ คือ สืบต่อพยายามในประโยชน์นั้น ให้เกิดความอุตสาหะว่า อย่ากลัวพ่อเลย พ่อจงเป็นนักปราชญ์เถิด จึงได้กล่าวไว้อย่างนี้.
               บทว่า อาปทํ ความว่า คนกล้าหาญย่อมป้องกันเสียได้ ซึ่งอันตรายอันจะมีมาถึงนาย เพราะฉะนั้น พระราชาทั้งหลายจึงทรงปรารถนา ความกล้าหาญของเหล่ามนตรี เพื่อประโยชน์อย่างนี้แล.
               บทว่า อตฺตปริยายํ อธิบายว่า อีกอย่างหนึ่ง คนกล้านั้น ย่อมอาจที่จะกระทำการคุ้มครองตนเองได้ด้วย.
               บทว่า วิกนฺตึสุ แปลว่า เชือดแล้ว.
               มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
               ดูก่อนสหายสุมุขะ เราตั้งพ่อไว้ในตำแหน่ง อันเป็นลำดับกับตัวเราเอง เพราะฉะนั้น พ่อครัวของพระราชา อย่าได้เชือดเฉือนเราทั้งสองในวันนี้ เพื่อต้องการเนื้อโดยประการใด ท่านจงกระทำโดยประการนั้นเถิด เพราะว่า สีแห่งขนปีกของเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นเช่นนั้น จะฆ่าพ่อเสีย.
               บทว่า ตํ วธิ ความว่า พญาหงส์กล่าวอย่างนี้ ด้วยความประสงค์ที่จะให้เข้าใจว่า สีอย่างนี้ สีอย่างนี้นั้นจะฆ่าพ่อเสีย เหมือนขุยไผ่ที่อาศัยต้นไผ่เกิดขึ้น ก็ย่อมจะฆ่าไม้ไผ่เสียฉะนั้น คือสีอย่างนี้ อย่าฆ่าท่านและเราเสียเลย.
               บทว่า มุตฺโตสิ ความว่า พ่อเป็นผู้อันนายลุททบุตรปล่อยแล้ว คือสละแล้วพร้อมกับเรา ด้วยคำอย่างนี้ว่า ท่านจงกลับไปยังเขาจิตตกูฏตามสบายเถิด ดังนี้แล้ว อย่าปรารถนาที่จะติดบ่วงอีกเลย.
               บทว่า สยํ อธิบายว่า พ่อปรารถนาจะเฝ้าพระราชา ชื่อว่าเข้าถึงการถูกฆ่าเองทีเดียว ภัยของเราทั้งสองนี้มาแล้ว เพราะอาศัยพ่ออย่างนี้.
               บทว่า โสสชฺช ความว่า ในวันนี้พ่อถึงความสงสัยในชีวิตแล้ว.
               บทว่า อตฺถํ คณฺหาหิ มา มุขํ ความว่า พ่อจงถือเอาเหตุที่จะให้ปล่อยพวกเราในบัดนี้เถิด คือว่า เราทั้งสองจะหลุดพ้นได้โดยประการใด ก็จงพยายามโดยประการนั้นเถิด พ่อกล่าวคำเป็นต้นว่า ลมย่อมพัดกลิ่นหอมและเหม็นฉันใด ดังนี้ ขออย่าได้ยื่นปากออก เพื่อประสงค์จะติเตียนหญิงเลย.

               พระมหาสัตว์ ครั้นสรรเสริญมาตุคามอย่างนี้แล้ว กระทำให้สุมุขหงส์หมดคำพูดที่จะโต้ตอบได้ ทราบว่า สุมุขหงส์นั้นมีความเสียใจ เพื่อจะกล่าวยกย่องสุมุขหงส์ในกาลบัดนี้ จึงกล่าวคาถาว่า
               ท่านนั้นจงประกอบความเพียรที่สมควร อันประกอบด้วยธรรม จงประพฤติการแสวงหาทาง ที่จะช่วยให้เรารอดชีวิต ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของท่านเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ความว่า ดูก่อนสุมุขะผู้เป็นสหายพ่อนั้น.
               บทว่า โยคํ ความว่า บัดนี้ พ่อจงประกอบความเพียรที่เราเคยประกอบไว้ในกาลก่อน จงประพฤติการแสวงหาให้เรารอดชีวิต.
               บทว่า ตว ปริยาปทาเนน คือ ด้วยความเพียรเครื่องประกอบอันบริสุทธิ์ของพ่อนั้น. บาลีว่า ปริโยทาเตน ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า ด้วยการป้องกัน อธิบายว่า อันเป็นของของพ่อ เพราะพ่อกระทำเอง จงประพฤติหาช่องทางให้เรารอดชีวิตด้วยเถิด.

               สุมุขหงส์ได้สดับคำนั้นจึงคิดว่า พญาหงส์กลัวต่อมรณภัยยิ่งนัก ไม่รู้จักกำลังของเรา เราจักเฝ้าพระราชาได้สนทนากันบ้างเล็กน้อยแล้วจักทราบ เราจักให้พญาหงส์นี้เบาใจเสียก่อน จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระองค์ที่ประเสริฐกว่านกทั้งหลาย อย่าทรงกลัวเลย ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยญาณวิริยะเช่นพระองค์ ย่อมไม่กลัว ข้าพระองค์จักประกอบความเพียรที่สมควร อันประกอบด้วยธรรม พระองค์จะหลุดพ้นจากบ่วง ด้วยความเพียรอันผ่องแผ้วของข้าพระองค์ โดยเร็วพลัน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาสา ได้แก่ บ่วงคือความทุกข์

               เมื่อพญาหงส์ทั้งสองนั้น สนทนากันอยู่ด้วยภาษาของนกฉะนี้ นายลุททบุตรมิได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ได้แต่พาเอาพญาหงส์ทั้งสองนั้นไปด้วยหาบแล้ว ก็เข้าไปยังกรุงพาราณสีอย่างเดียว นายพรานนั้นถูกมหาชนผู้มีความแปลกประหลาด อันเกิดแต่ความอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีติดตามไปอยู่ ก็ไปถึงประตูพระราชวัง กราบทูลความที่ตนมาถึงแล้ว แด่พระราชา.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               นายพรานนั้นเข้าไปยังประตูพระราชวัง พร้อมด้วยหาบหงส์แล้ว จึงสั่งนายประตูว่า ท่านจงไปกราบทูลถึงเราแด่พระราชาว่า พญาหงส์ธตรฐนี้มาแล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิเวเทถ มํ ความว่า นายพรานเข้าไปสั่งนายประตูว่า ท่านทั้งสองจงกราบทูลถึงเราแด่พระราชา อย่างนี้ว่า นายพรานเขมกะกลับมาแล้ว.
               บทว่า ธตรฏฺฐายํ ความว่า จงกราบทูลให้ทรงทราบต่อไปว่า พญาหงส์ธตรฐนี้ก็มาถึงแล้ว.

               นายประตูรีบไปกราบทูลตามคำสั่ง พระราชาทรงปลื้มพระทัยตรัสสั่งว่า จงมาเร็วๆ ทรงแวดล้อมไปด้วยหมู่อำมาตย์ ประทับนั่งบนราชบัลลังก์อันมีเศวตฉัตรยกชั้นไว้แล้ว ทอดพระเนตรเห็น นายพรานเขมกะนำเอาพญาหงส์ขึ้นมาสู่พระลานหลวง ทรงมองดูพญาหงส์ทั้งสองตัวมีสีดุจทองคำ จึงทรงพระดำริว่า ความปรารถนาของเราสำเร็จสมประสงค์แล้ว จึงทรงบังคับอำมาตย์ทั้งหลาย ถึงกิจที่ควรกระทำแก่นายพรานนั้น.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               ได้ยินว่า พระเจ้าสังยมนะทอดพระเนตรเห็น หงส์ทองทั้งสองตัวรุ่งเรืองด้วยบุญ หมายรู้ด้วยลักษณะ แล้วตรัสรับสั่งกะพวกอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้า ข้าว น้ำ และเครื่องบริโภคแก่นายพราน เงินเป็นสิ่งกระทำความปรารถนาแก่เขา เขาปรารถนาประมาณเท่าใด ท่านทั้งหลายจงให้แก่เขาประมาณเท่านั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุญฺญสงกาเส ได้แก่ มีบุญเช่นเดียวกับตน.
               บทว่า ลกฺขณสมฺมเต ได้แก่ สมมติกันว่าประเสริฐรู้กันโดยทั่วๆ ไปแล้ว.
               บทว่า ขลุ เป็นนิบาต เชื่อมข้อความด้วยบทเบื้องต้นว่า ได้ยินว่า พระราชาทรงทอดพระเนตรหงส์ทั้งสองนั้น ดังนี้.
               บทว่า เทถ ความว่า พระราชา เมื่อจะทรงกระทำอาการคือความเลื่อมใสให้ปรากฏเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามงฺกโร หิรญฺญสฺส ความว่า เงินทองย่อมเป็นกิริยาแห่งความใคร่ของเขา.
               บทว่า ยาวนฺตํ ความว่า นายพรานนี้ประสงค์ทรัพย์สินสักเท่าใดๆ ท่านทั้งหลายก็จงให้เงิน มีประมาณเท่านั้นแก่เขาเถิด.

               พระราชาตรัสสั่งให้กระทำอาการ คือความเลื่อมใสอย่างนี้ ทรงบันเทิงด้วยความปีติและโสมนัส รับสั่งกะพวกอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงไปเถิด จงไปตบแต่งประดับนายพรานนี้แล้วนำกลับมา.
               ลำดับนั้น พวกอำมาตย์จึงพาเขาลงจากพระราชนิเวศน์ ให้ช่างกัลบกตัดผมโกนหนวด แล้วอาบน้ำลูบไล้ทาตัวประดับ ด้วยเครื่องอลังการ เสร็จแล้วจึงนำกลับมาเฝ้าพระราชา.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงให้หมู่บ้าน ๑๒ หมู่ที่เก็บส่วยได้แสนกหาปณะในปีหนึ่ง รถที่เทียมม้าอาชาไนย และเรือนหลังใหญ่ที่ตบแต่งไว้แล้ว ได้ประทานยศใหญ่แก่นายพรานเขมกะนั้น
               นายพรานนั้น ครั้นได้ยศใหญ่แล้ว ปรารภที่จะประกาศการงานของตน จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ หงส์สองตัวที่ข้าพระองค์นำมาถวายพระองค์นี้ มิใช่หงส์ธรรมดาสามัญ ด้วยว่า หงส์มีชื่อว่าธตรฐ เป็นพระราชาแห่งหมู่หงส์เก้าหมื่นหกพัน ตัวนี้มีชื่อว่าสุมุขะ เป็นเสนาบดี.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสถามนายพรานนั้นว่า ดูก่อนสหาย หงส์ทองสองตัวนี้ ท่านจับมาได้อย่างไร.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระเจ้ากาสีทอดพระเนตรเห็นนายพรานผู้มีความผ่องใส แล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนเขมกะผู้สหาย ก็สระโบกขรณีนี้เต็มไปด้วยฝูงหงส์ตั้งอยู่ (น้ำเต็มเปี่ยม) อย่างไร ท่านจึงถือบ่วงเดินเข้าไปใกล้พญาหงส์ ซึ่งอยู่ในท่ามกลางฝูงหงส์ ที่น่าชอบใจเกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงหงส์ที่เป็นญาติ ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลางได้ และจับเอามาได้อย่างไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสนฺนตฺตํ ได้แก่ ผู้มีภาวะผ่องใส คือถึงความโสมนัสยินดีแล้ว.
               บทว่า ยทายํ ความว่า ดูก่อนเขมกะสหายที่รัก ถ้าหากว่าสระโบกขรณีของเรานี้ เต็มไปด้วยฝูงหงส์ตั้งเก้าหมื่นหกพันตั้งอยู่ไซร้.
               บทว่า กถํ รุจี มชฺฌคตํ ความว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านถือเอาบ่วงเดินเข้าไป ใกล้พญาหงส์ที่สูงสุด ซึ่งมิใช่หงส์ชั้นกลาง และมิใช่หงส์ชั้นเล็ก ซึ่งอยู่ในท่ามกลางฝูงหงส์ทั้งหลายอันน่ารักน่าดู น่าพึงพอใจเหล่านั้นได้อย่างไร และท่านจับเอามาได้อย่างไร.

               นายเขมกะสดับถ้อยคำของพระราชานั้น จึงกราบทูลว่า
               วันนี้เป็นราตรีที่ ๗ ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท แอบอยู่ในตุ่ม คอยติดตามรอยเท้าของพญาหงส์นี้ ซึ่งกำลังเข้าไปยังที่ถือเอาเหยื่อ ลำดับนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นรอยเท้าของพญาหงส์นั้น ซึ่งกำลังเที่ยวแสวงหาเหยื่อ จึงดักบ่วงลงในที่นั้น ข้าพระองค์จับพญาหงส์นั้นมาได้ด้วยอุบายอย่างนี้ พระเจ้าข้า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาทานานิ ความว่า ที่สำหรับยึดเอาเป็นที่หากิน. อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อุปาสโต คือ เข้าไปใกล้.
               บทว่า ปทํ คือ รอยเท้าที่พญาหงส์เหยียบลงในพื้นที่สำหรับหากิน.
               บทว่า ฆฏสฺสิโต คือ อาศัยอยู่ในกรงที่ทำคล้ายๆ ตุ่ม.
               บทว่า อถสฺส ความว่า ลำดับนั้น ครั้นถึงวันที่ ๖ ข้าพระองค์ก็ได้เห็นรอยเท้าของพญาหงส์นี้ ซึ่งเที่ยวแสวงหาที่ถือเอาอาหาร.
               บทว่า เอวนฺตํ อธิบายว่า นายพรานนั้นกราบทูลอุบายที่ตนจับพญาหงส์ทั้งหมด ด้วยคำว่า ข้าพระองค์จับพญานกนั้นมาได้ด้วยวิธีอย่างนี้แล.

               พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริว่า นายพรานผู้นี้ แม้ยืนกราบทูลอยู่ที่ประตูวัง ก็กราบทูลถึงการมาของพญาหงส์ธตรฐตัวเดียว แม้บัดนี้ก็ยังกราบทูลอยู่อีกว่า ขอพระองค์จงทรงรับพญาหงส์ธตรฐนี้ตัวเดียวเถิด เหตุอะไรจะพึงมีในข้อนี้หนอ
               จึงตรัสคาถาว่า
               ดูก่อนนายพราน หงส์นี้มีอยู่สองตัว ไฉนท่านจึงกล่าวว่ามีตัวเดียว จิตของท่านวิปริตไปแล้วหรือไร หรือว่าท่านคิดจะหาประโยชน์อะไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปลฺวฏฐํ คือ ความแปรปรวน.
               บทว่า อาทู กินฺนุ ชิคึสสิ ความว่า หรือว่าท่านคิดเห็นอย่างไรหนอ พระราชาตรัสถามว่า ท่านปรารถนาจะถือเอาพญาหงส์ที่เหลืออยู่อีกตัวหนึ่งนี้ไปให้คนอื่น จึงคิดหรือ.

               ลำดับนั้น นายเนสาทจึงกราบทูลว่า ขอเดชะ จิตของข้าพระองค์จะได้วิปริตก็หาไม่ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาที่จะให้หงส์ที่เหลืออีกตัวหนึ่งนี้แก่ผู้อื่น ด้วยว่าเมื่อข้าพระองค์ดักบ่วงไว้ หงส์ตัวเดียวเท่านั้นติดบ่วง
               เมื่อจะกระทำเนื้อความให้แจ่มแจ้ง จึงทูลว่า
               หงส์ตัวที่มีพื้นแดง มีสีงดงาม ดุจทองคำกำลังหลอม รอบๆ คอจรดทรวงอกนั้น เข้ามาติดบ่วงของข้าพระองค์ แต่หงส์ตัวที่ผุดผ่องนี้มิได้ติดบ่วง เมื่อจะกล่าวถ้อยคำเป็นภาษามนุษย์ ได้ยืนกล่าวถ้อยคำอันประเสริฐกะพญาหงส์ที่ติดบ่วง ซึ่งกระสับกระส่ายอยู่.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลหิตกา ตาลา ได้แก่ พื้นมีสีแดงคือมีรอยแดง ๓ รอย.
               บทว่า อุรํ สํหจฺจ ได้แก่ รอยแดง ๓ รอยนี้พาดลงไปทางลำคอจนจรดทรวงอก.
               มีคำที่ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า ข้าแต่มหาราช พญาหงส์ตัวที่มีรอยแดง ๓ รอย มีรัศมีงดงาม ประดุจทองคำมีสีสุกเหล่านี้ วงล้อมรอบคอลากไปถึงทรวงอกตั้งอยู่นั้น ตัวเดียวเท่านั้น เข้าไปติดในบ่วงของข้าพระองค์.
               บทว่า ภสฺสโร คือ บริสุทธิ์ ถึงพร้อมแล้วด้วยรัศมี.
               บทว่า อาตุรํ คือ เป็นไข้ กำลังได้รับทุกข์.
               บทว่า อฏฺฐาสิ ความว่า ส่วนพญาหงส์นี้ ครั้นทราบว่าพญาหงส์ธตรฐติดบ่วง จึงบินกลับมาปลอบเอาใจพญาหงส์ธตรฐนี้ แต่กระทำการต้อนรับในเวลาที่ข้าพระองค์ไปถึง กระทำการปฏิสันถารด้วยถ้อยคำอันไพเราะกับข้าพระองค์ในท่ามกลางอากาศทีเดียว กล่าวสรรเสริญคุณของพญาหงส์ธตรฐ ด้วยถ้อยคำเป็นภาษามนุษย์มากมาย กระทำใจของข้าพระองค์ให้อ่อนโยนแล้ว ได้ยืนอยู่ข้างหน้าพญาหงส์อีกทีเดียว ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ลำดับนั้น ข้าพระองค์ได้สดับถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของสุมุขหงส์ เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส จึงได้ปล่อยพญาหงส์ธตรฐไป พญาหงส์ธตรฐพ้นจากบ่วงด้วยประการฉะนี้ อันการที่ข้าพระองค์นำเอาพญาหงส์ทั้งสองตัวนี้มาในที่นี้นั้น สุมุขหงส์ตัวเดียวได้กระทำขึ้น.

               นายเขมกเนสาทนั้นกราบทูลสรรเสริญคุณของสุมุขหงส์อย่างนี้. พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงมีพระประสงค์ใคร่จะสดับธรรมกถาของสุมุขหงส์ เมื่อพระองค์ทรงกระทำสักการะแก่นายลุททบุตรอยู่ทีเดียว พระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว แสงประทีปสว่างไสวอยู่ทั่วไป อิสรชนมีกษัตริย์เป็นต้นมาประชุมกันเป็นอันมาก แม้พระนางเขมาเทวีทรงแวดล้อมด้วยนางฟ้อนต่างๆ ประทับนั่งข้างพระปรัศว์เบื้องขวาของพระราชา.
               ในขณะนั้น พระราชาทรงพระประสงค์จะให้สุมุขหงส์แสดงธรรมกถา จึงตรัสคาถาว่า
               ดูก่อนสุมุขหงส์ เหตุไรหนอ ท่านจึงยืนขบคางอยู่ในบัดนี้ หรือว่าท่านมาถึงบริษัทของเราแล้ว กลัวภัย จึงไม่พูด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนุ สํหจฺจ ความว่า ได้ยินว่า ท่านมีถ้อยคำอันไพเราะ เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรท่านจึงยืนปิดปากเสียในกาลนี้.
               บทว่า อาทู คือ บางครั้ง.
               บทว่า ภยา ภีโต ได้แก่ หรือว่าท่านกลัวภัย อันเกิดจากอำนาจราชศักดิ์ในบริษัท จึงไม่พูด.

               สุมุขหงส์ได้สดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนมิได้เกรงกลัวภัย จึงกล่าวคาถาว่า

.. อรรถกถา มหาหังสชาดก ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 163 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 199 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 249 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=1349&Z=1597
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=4899
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=4899
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :