ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาสุตโสมชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น เป็นดุจพระยาไกรสรราชสีห์ ไม่หวาดหวั่น ตรัสตอบว่า
               คนที่มีศีลบริสุทธิ์ มุ่งปรารถนาความตาย คนผู้มีธรรมลามกที่นักปราชญ์ติเตียน ไม่พึงปรารถนาชีวิต นรชนคนใดพึงกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแม้แห่งของรักอันใด ของรักอันนั้น ไม่รักษานรชนคนนั้นจากทุคติได้เลย.
               แม้ถึงลมจะพึงพัดภูเขามาได้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึงตกในแผ่นดินได้ แม่น้ำทั้งหมดจะพึงไหลทวนกระแสได้ ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็พูดเท็จไม่ได้จริงๆ นะพระราชา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มตํ วเรยฺย ความว่า ดูก่อนเจ้าโปริสาท นรชนคนใด มีศีลบริสุทธิ์พึงมุ่งปรารถนาความตาย. อธิบายว่า จงต้องการ จงปรารถนาความตาย.
               บทว่า น ชีวิตํ ความว่า ส่วนบุคคลผู้มีธรรมอันลามกที่นักปราชญ์ติเตียน ไม่พึงปรารถนาคือไม่ต้องการชีวิต เพราะชีวิตของเขาไม่มีราคา เพราะไม่ทำความเจริญอะไรต่อไป.
               บทว่า ยสฺส ความว่า คนทุศีล พึงกล่าวคำเท็จเพื่อประโยชน์แก่ตนใด วัตถุมีตัวเองเป็นต้นนั้น ย่อมไม่รักษาบุรุษนั้นจากทุคติได้เลย.
               บทว่า คิริมาวเหยฺย ความว่า ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เป็นสหาย ท่านก็เป็นสหายผู้สนิท เคยเล่าเรียนในสำนักอาจารย์เดียวกันกับข้าพเจ้าถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแห่งชีวิตเลย ถึงแม้ว่า ลมต่างชนิดมีลมในทิศบูรพาเป็นต้น จะพึงพัดภูเขาใหญ่มาในอากาศ ประดุจปุยนุ่นได้ แม้เหตุนั้น ก็พึงเชื่อถือได้ แต่ท่านพึงเชื่อคำนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่พึงกล่าวคำเท็จ ดังนี้ได้ยิ่งกว่าเหตุนั้น ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะพึงตกในแผ่นดินพร้อมด้วยวิมานของตน แม้แม่น้ำทุกสายจะพึงไหลทวนกระแสได้ ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เจริญ ถ้อยคำอย่างนี้ ถ้ามีใครกล่าวขึ้น ก็พึงเชื่อได้ ส่วนคำที่ว่า ข้าพเจ้าพึงพูดเท็จนี้ ถ้าชนทั้งหลายกล่าวแก่ท่านแล้ว คำนั้นท่านไม่พึงเชื่อเลย.
               ฟ้าจะพึงแตกได้ ทะเลจะพึงแห้งได้ แผ่นดินอันทรงไว้ซึ่งภูตจะพึงพลิกได้ เมรุบรรพตจะพึงเพิกถอนได้ตลอดราก ข้าพเจ้าก็พูดเท็จไม่ได้เลยนะราชา.


               แม้พระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทก็ยังไม่ยอมเชื่อ ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงทรงดำริว่า เจ้าโปริสาทนี้ไม่ยอมเชื่อเรา เราจักให้เธอยอมเชื่อด้วยคำสาบาน แล้วตรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านจงให้ข้าพเจ้าลงจากบ่าก่อน ข้าพเจ้าจะทำสาบานให้ท่าน ครั้นพอเจ้าโปริสาทเอาลงวางไว้ ณ ภาคพื้นแล้ว
               เมื่อจะทรงทำการสาบาน ได้ตรัสพระคาถาว่า
               ข้าพเจ้าจักจับดาบและหอก จะทำแม้ซึ่งการสาบานแก่ท่านก็ได้นะสหาย ข้าพเจ้าพ้นจากท่านไปแล้ว เป็นผู้หาหนี้มิได้ จักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.


               ความแห่งคาถานั้นมีอธิบายว่า
               ดูก่อนเจ้าโปริสาทผู้เป็นสหาย ถ้าท่านปรารถนา ข้าพเจ้าก็จะจับดาบและหอกสาบานว่า ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ซึ่งมีการรักษาอันกวดขันเป็นอย่างดี ด้วยอาวุธเห็นปานนี้ ดูก่อนสหาย หรือว่าท่านปรารถนาคำสาบานอย่างอื่นอีก ข้าพเจ้าก็จะทำการสาบานให้แก่ท่านอีกก็ได้ เราพ้นจากท่านแล้ว ก็จะไปหาพราหมณ์ กระทำตนไม่ให้มีหนี้สินแก่พราหมณ์แล้ว ก็จักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.

               ในลำดับนั้น เจ้าโปริสาทคิดว่า เจ้าสุตโสมนี้กระทำการสาบาน ซึ่งพวกกษัตริย์ไม่ควรกระทำ จะประโยชน์อะไรด้วยเจ้าสุตโสมนี้แก่เรา เธอจะกลับมาหรือไม่กลับก็ตามที แม้ตัวเราก็เป็นขัตติยราช จักถือเอาเลือดในลำแขนของเรา กระทำพลีกรรมแก่เทวดา ท่านสุตโสมลำบากใจนัก แล้วกล่าวคาถาว่า
               การนัดหมายอันใด อันพระองค์ผู้ดำรงอยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทรงทำไว้กับพราหมณ์ในแคว้นของตน การนัดหมายอันนั้นต่อพราหมณ์ผู้ประเสริฐ พระองค์จงเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.


               คำว่า กลับมา ในคาถานั้น หมายถึงว่า พระองค์พึงเสด็จมาอีก.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านอย่าได้วิตกไปเลย ข้าพเจ้าได้สดับสตารหคาถา ๔ คาถาแล้ว ให้เครื่องบูชาแก่ธรรมกถึกแล้ว จักมาแต่เช้าทีเดียว แล้วตรัสคาถาว่า
               การนัดหมายอันใด ที่ข้าพเจ้าผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทำไว้กับพราหมณ์ในแคว้นของตน การนัดหมายอันนั้นต่อพราหมณ์ผู้ประเสริฐ ข้าพเจ้าจักเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมา.


               คำว่า กลับมา ในคาถานั้น หมายถึงว่า ข้าพเจ้าจะย้อนกลับมาอีก.

               ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทจึงทูลเจ้าสุตโสมว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทรงกระทำการสาบานที่พวกกษัตริย์ไม่ควรทำแล้ว จงทรงระลึกถึงพระดำรัสที่ได้ทรงปฏิญาณนั้นไว้ ครั้นพระมหาสัตว์ตรัสให้เชื่อด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านรู้จักข้าพเจ้าตั้งแต่เวลายังเยาว์ คำเท็จข้าพเจ้าไม่เคยพูดเลย แม้แต่การล้อเลียน ข้าพเจ้าจักพูดเท็จได้หรือ บัดนี้ ข้าพเจ้าดำรงอยู่ในราชสมบัติแล้ว รู้จักถูกและผิด จักพูดเท็จได้หรือ ท่านจงเชื่อข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจักกลับมาให้ทันพลีกรรมของท่านในวันพรุ่งนี้. เจ้าโปริสาทจึงกล่าวว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น ขอเชิญพระองค์เสด็จเถิด เมื่อพระองค์ไม่เสด็จมา จักไม่เป็นพลีกรรม เพราะเทวดาเว้นพระองค์จักไม่รับ ขอพระองค์อย่าทำอันตรายแก่พลีกรรมของข้าพเจ้า แล้วส่งพระมหาสัตว์ไป พระมหาสัตว์เป็นดุจพระจันทร์ พ้นแล้วจากปากแห่งราหู พระองค์มีกำลังดุจพญาช้างสมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรงได้ เสด็จถึงพระนครโดยฉับพลัน.
               ลำดับนั้น แม้เสนาของพระเจ้าสุตโสมนั้น ก็ยังตั้งขบวนอยู่นอกพระนคร เพราะดำริว่า พระเจ้าสุตโสมมหาราชเจ้า พระองค์เป็นบัณฑิตทรงแสดงธรรมไพเราะ เมื่อได้ตรัสกถาเรื่องหนึ่งหรือสองเรื่อง จักทรมานเจ้าโปริสาทได้แล้วกลับมา ดุจพญาช้างซับมันตัวประเสริฐพ้นแล้วจากปากแห่งสีหะ ฉะนั้น และเกรงชาวพระนครจะติได้ว่า ให้พระราชาแก่เจ้าโปริสาทแล้วมาเสีย ครั้นเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จมาแต่ไกล จึงพากันลุกขึ้นต้อนรับ ถวายคำนับแล้ว กราบทูลปฏิสันถารว่า พระมหาราชเจ้าถูกเจ้าโปริสาท ทำให้ลำบากอย่างไรบ้าง เมื่อตรัสตอบว่า เจ้าโปริสาทได้ทำกิจที่มารดาบิดาทำได้ยากแก่เรา เธอดุร้ายสาหัสเช่นนั้น ได้สดับธรรมกถาของเราแล้วปล่อยเราดังนี้ จึงแต่งองค์เจ้าสุตโสม เชิญเสด็จขึ้นคอช้างพระที่นั่ง แวดล้อมเข้าสู่พระนคร ชาวเมืองได้เห็นดังนั้น ก็ชื่นชมทั่วหน้ากัน
               พระโพธิสัตว์ เพราะว่าพระองค์มีความเคารพธรรม เป็นนักธรรมะ ไม่ทันได้เฝ้าพระราชมารดาบิดา ตั้งพระหฤทัยว่าจักเฝ้าทีหลัง จึงเสด็จเข้าพระราชนิเวศน์ ประทับนั่ง ณ พระราชอาสน์รับสั่งให้เรียกหาพราหมณ์มา และตรัสสั่งให้ทำอุปัฏฐานกิจ มีการแต่งหนวดเป็นต้น แก่พราหมณ์นั้นด้วย เวลาที่เจ้าพนักงานแต่งหนวดพราหมณ์แล้ว ให้อาบน้ำลูบไล้ด้วยของหอม ประดับด้วยผ้าและเครื่องอลังการแล้วนำเฝ้า พระองค์เสด็จสรงทีหลัง พระราชทานโภชนะของพระองค์แก่พราหมณ์นั้น
               เมื่อพราหมณ์บริโภคแล้ว พระองค์เสวยแล้ว เชิญพราหมณ์ให้นั่ง ณ บัลลังก์ควรบูชา พระองค์ประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำ พอบูชาพราหมณ์ด้วยสักการะมีของหอมและดอกไม้เป็นต้น เพราะทรงเคารพในธรรม ตรัสอาราธนาว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าขอฟังคาถาชื่อว่าสตารหา ที่ท่านนำมาเพื่อข้าพเจ้า.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสเป็นคาถาว่า
               ก็พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นพ้นจากเงื้อมมือของเจ้าโปริสาทแล้ว ได้เสด็จไปตรัสกะพราหมณ์นั้นดังนี้ว่า ดูก่อนพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอสดับคาถา ชื่อว่าสตารหา ซึ่งได้สดับแล้วจะพึงเป็นประโยชน์แก่ข้าพเจ้า.


               คำว่า ตรัสดังนี้ว่า ในคาถานั้น หมายความว่า ได้ตรัสคำนี้

               ลำดับนั้น ในเวลาที่พระโพธิสัตว์อาราธนาแล้ว พราหมณ์จึงฟอกมือทั้งสองด้วยของหอม นำเอาคัมภีร์อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ออกจากถุง จับขึ้นสองมือแล้วทูลว่า
               บัดนี้ ขอมหาบพิตรจงทรงสดับคาถา ชื่อว่าสตารหา ๔ คาถา ตามที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้ อันจะถอนความเมามีความเมาด้วยราคะเป็นต้นให้สร่าง ให้สำเร็จอมตมหานิพพานนี้
               แล้วดูคัมภีร์ กล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่ท่านสุตโสมมหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้สมาคมนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากก็รักษาไม่ได้
               พึงคบกับสัตบุรุษ พึงกระทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อม
               ราชรถที่เขาให้วิจิตรเป็นอันดี ยังคร่ำคร่าได้แล แม้สรีระ ก็เข้าถึงความชราได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความชรา สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกัน ย่อมรู้กันได้.
               ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวกันว่าไกล ข้าแต่พระราชา ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษทั้งสองนี้ ท่านกล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้นแล.


               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า คราวเดียวเท่านั้น หมายถึงสิ้นวาระเดียวเท่านั้น. คำว่า สัตบุรุษ หมายถึง สัตบุรุษทั่วๆ ไป. คำว่า ผู้สมาคมนั้น อธิบายว่า การสังคม คือการสมาคมกับพวกสัตบุรุษนั้น แม้เป็นไปแล้วเพียงครั้งเดียว ก็ย่อมอภิบาลรักษาคุ้มครองบุคคลนั้นได้. คำว่า อสัตบุรุษ อธิบายว่า ส่วนการสมาคมกับอสัตบุรุษ แม้บุคคลกระทำไว้แล้วมาก คือกระทำไว้เป็นเวลานาน ได้แก่ การอยู่ในที่เดียวกันก็รักษาไม่ได้ คือย่อมนำความพินาศมาให้. คำว่า พึงคบ คือ พึงนั่งใกล้. อธิบายว่า พึงคลุกคลีอยู่กับท่านบัณฑิตเหล่านั้น ตลอดทุกอิริยาบถ. คำว่า ความสนิทสนม หมายถึง ความสนิทสนมกันด้วยไมตรี.
               คำว่า สัทธรรมของสัตบุรุษ หมายถึง สัทธรรม คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการของบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น. คำว่า ความเจริญ อธิบายว่า เพราะรู้ธรรมนี้แล้ว มีแต่ความเจริญอย่างเดียว ขึ้นชื่อว่าความเสื่อม ย่อมไม่มีเลย. คำว่า ราชรถ หมายถึง รถทรงของพระราชาทั้งหลาย. คำว่า ให้วิจิตรเป็นอันดี หมายความว่า ที่เขากระทำบริกรรมไว้อย่างดี. คำว่า กับสัตบุรุษนั้นแล รู้กันได้. อธิบายว่า สัตบุรุษทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมรู้จักพระนิพพานอันงดงามสูงสุด ถึงการนับว่าสัตบุรุษ ธรรมของสัตบุรุษทั้งหลาย กล่าวคือพระนิพพานนั้นย่อมไม่เข้าถึงชรา คือย่อมไม่แก่. คำว่า ฟ้า หมายถึง อากาศ. คำว่า ไกลกัน อธิบายว่า แผ่นดินตั้งอยู่คงที่ อากาศมิได้ต่ำลงมา และไม่ได้ตั้งอยู่คงที่ ของทั้งสองอย่างนี้ แม้จะเนื่องเป็นอันเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้ก็ตามที แต่ก็ย่อมชื่อว่าอยู่ไกลกัน เพราะมิได้เกี่ยวเนื่องและติดต่อกันโดยเฉพาะ. คำว่า ฝั่ง คือ จากฝั่งข้างนี้ ไปยังฝั่งข้างโน้น. คำว่า ท่านกล่าว อธิบายว่า ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษนั้นไกลกันยิ่งกว่านั้น.

               พราหมณ์กล่าวคาถาชื่อว่า สตารหา ๔ คาถา ตามที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้อย่างนี้แล้ว ได้นั่งนิ่งอยู่ พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น มีพระหฤทัยโสมนัสว่า การมาของเรามีผลหนอ ทรงพระดำริว่า คาถาเหล่านี้ไม่ใช่ภาษิตของพระสาวก ไม่ใช่ภาษิตของฤาษี ไม่ใช่ภาษิตของกวี แต่เป็นภาษิตของพระสัพพัญญู จะควรค่าเท่าไรหนอ ทรงพระดำริต่อไปว่า แม้เราจักให้จักรวาลทั้งสิ้น กระทำให้เต็มด้วยรัตนะ ๗ ตลอดถึงพรหมโลก ก็ไม่อาจจะทำให้สมควร ส่วนเราพอที่จะให้ราชสมบัติในพระนครอินทปัตประมาณ ๗ โยชน์ ในกุรุรัฐประมาณ ๓๐๐ โยชน์แก่พราหมณ์นี้ โชคที่จะได้ราชสมบัติของพราหมณ์นี้มีอยู่หรือหนอ ทรงตรวจดูด้วยอานุภาพแห่งองค์วิทยาไม่เห็นมี ทรงตรวจถึงฐานันดร มีตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้น ไม่ทรงเห็นโชคฐานันดร แม้เพียงนายบ้านหมู่หนึ่ง เมื่อทรงตรวจถึงโชคลาภ ทรงตรวจตั้งแต่ทรัพย์โกฏิหนึ่ง ทรงเห็นโชคลาภเพียงสี่พันกหาปณะ ตกลงพระทัยว่า จักบูชาพราหมณ์นั้นด้วยทรัพย์เท่านี้ รับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ถุงละพันกหาปณะ รวมสี่ถุง ตรัสถามว่า ท่านอาจารย์แสดงคาถานี้แก่พวกกษัตริย์อื่นๆ ได้ทรัพย์เท่าไร
               พราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ได้คาถาละร้อยกหาปณะ เพราะฉะนั้น คาถาเหล่านี้จึงได้นามว่า สตารหา. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะพราหมณ์นั้นต่อไปว่า ท่านอาจารย์ไม่รู้ราคาของภัณฑะที่ตนถือเที่ยวไป ตั้งแต่นี้ คาถาเหล่านี้จงชื่อว่า สหัสสารหา ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถาว่า
               คาถาเหล่านี้ชื่อว่า สหัสสารหา ควรพัน ไม่ได้ชื่อว่า สตารหา ควรร้อย ท่านจงรับทรัพย์สี่พันโดยเร็วเถิดพราหมณ์.


               ครั้นแล้วพระมหาสัตว์ จึงพระราชทานยานน้อยที่เป็นสุขคันหนึ่ง ตรัสสั่งราชบุรุษว่า จงส่งพราหมณ์ให้ถึงบ้านโดยสวัสดี แล้วทรงส่งพราหมณ์นั้นไป ขณะนั้นได้เกิดเสียงสาธุการใหญ่ว่า คาถาชื่อสตารหา พระเจ้าสุตโสมทรงเปลี่ยนเป็นสหัสสารหา ทรงบูชาแล้ว สาธุ สาธุ พระราชมารดาบิดาของพระโพธิสัตว์ ได้ทรงสดับเสียงนั้น ตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไร ได้ทรงทราบตามความเป็นจริง กริ้วพระมหาสัตว์ เพราะเสียดายทรัพย์ ส่วนพระมหาสัตว์ทรงส่งพราหมณ์แล้ว เสด็จไปเฝ้าพระราชมารดาบิดา ถวายบังคมประทับยืนอยู่ ครั้งนั้น พระราชบิดาไม่ทรงกระทำ แม้สักว่าปฏิสันถารว่า เจ้าพ้นจากมือโจร ผู้ร้ายกาจเห็นปานนั้นมาได้อย่างไรพ่อ โดยเหตุที่ทรงเสียดายทรัพย์ ตรัสถามว่า ได้ยินว่า เจ้าฟังคาถา ๔ คาถา ให้สี่พันจริงหรือ เมื่อพระมหาสัตว์กราบทูลว่า จริง. ตรัสพระคาถาว่า
               คาถาควรแปดสิบหรือเก้าสิบ แม้ร้อยก็ควร พ่อสุตโสมเอ๋ย เจ้าจงรู้ด้วยตนเอง คาถาควรพันมีที่ไหน.


               คำว่า ด้วยตนเอง ในคาถานั้น อธิบายว่า เจ้าจงรู้ด้วยตัวของเจ้าเองทีเดียว. คำว่า มีที่ไหน อธิบายว่า คาถาที่ควรราคาถึงพันนั้นมีอยู่ ณ ที่ไหนกัน.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะกราบทูลพระราชบิดานั้น ให้ทรงทราบว่า ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาความเจริญทางทรัพย์เท่านั้น ย่อมปรารถนาความเจริญทางการศึกษาด้วย ได้ตรัสคาถาดังต่อไปนี้ว่า
               ข้าพระองค์ปรารถนาความเจริญของตนทางการศึกษา พวกสัตบุรุษผู้สงบจึงคบข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่อิ่มด้วยสุภาษิต ดุจมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยแม่น้ำฉะนั้น พระทูลกระหม่อม.
               ไฟไหม้หญ้าและไม้ย่อมไม่อิ่ม และสาครก็ไม่อิ่มด้วยแม่น้ำทั้งหลายฉันใด แม้บัณฑิตเหล่านั้นก็ฉันนั้น ได้ฟังคำสุภาษิตแล้ว ย่อมไม่อิ่มด้วยสุภาษิต
               พระทูลกระหม่อมผู้เป็นจอมประชาชน เวลาใด ข้าพระองค์จะต้องเรียนคาถาที่มีประโยชน์ต่อทาสของตน เวลานั้น ข้าพระองค์ต้องเรียนโดยเคารพเหมือนกัน ความอิ่มในธรรมของข้าพระองค์ไม่มีเลย พระทูลกระหม่อม.


               คำว่า โว ในคาถานั้น เป็นนิบาตสำหรับลงแทรกในระหว่างคำ. คำว่า พวกสัตบุรุษ อธิบายว่า ข้าพระองค์ปรารถนาว่า พวกสัตบุรุษเหล่านี้แลพึงคบข้าพระองค์. คำว่า แม่น้ำ หมายถึงแม่น้ำทุกสาย. คำว่า ของตน อธิบายว่า นันทพราหมณ์จงยกไว้ก่อนเถิด เวลาใด ข้าพระองค์ก็ต้องฟังธรรมกถาแม้จากทาสของตนเอง เวลานั้น ข้าพระองค์ก็ต้องฟังธรรมกถาโดยความเคารพ.

               ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าสุตโสมจึงทูลต่อไปว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระองค์อย่าทรงบริภาษข้าพระองค์เพราะทรัพย์ ข้าพระองค์ให้ปฏิญาณต่อโปริสาทไว้ว่า ฟังธรรมแล้วจักกลับ บัดนี้ ข้าพระองค์จักไปยังสำนักของโปริสาท ขอพระทูลกระหม่อม จงทรงรับราชสมบัตินี้เถิด
               เมื่อจะกราบทูลมอบราชสมบัติ ได้ตรัสพระคาถาว่า
               แว่นแคว้นของพระองค์นี้ บริบูรณ์ด้วยสมบัติทั้งปวง ทั้งทรัพย์ ทั้งยาน ทั้งพระธำมรงค์ พระองค์จะบริภาษข้าพระองค์เพราะเหตุแห่งกามทำไม ข้าพระองค์ขอทูลลาไปในสำนักโปริสาทในบัดนี้.


               คำว่า สำนัก ในคาถานั้น หมายถึง ที่อยู่ของเจ้าโปริสาท.

               ในสมัยนั้น พระหฤทัยของพระราชบิดาร้อนขึ้นทันที ท้าวเธอตรัสว่า พ่อสุตโสม ทำไมจึงพูดอย่างนี้ บิดาจักจับโจรด้วยจตุรงคเสนา แล้วตรัสคาถาว่า
               ทัพช้าง ทัพรถ ทัพเดินเท้า ทัพม้า ล้วนแต่ได้ศึกษาเชี่ยวชาญในการธนูทุกหมู่เหล่า พอที่จะรักษาตัวได้ เราจะยกทัพจับศัตรูฆ่าเสีย.


               ในคาถาเหล่านั้น บทว่า หนาม อธิบายว่า ถ้าเสนาที่เราเตรียมไว้อย่างนี้ อาจที่จะจับโจรนั้นได้ ลำดับนั้น เราจะพาชนชาวแคว้นทั้งหมดไปจับโจรนั้นแล้วฆ่าทิ้งเสีย คือจะฆ่าศัตรูซึ่งเป็นปัจจามิตรของพวกเรา.

               ลำดับนั้น พระราชมารดาบิดามีพระพักตร์นองด้วยอัสสุชล ทรงกันแสงพิไรร่ำรำพันอยู่ว่า อย่าไปนะพ่อ ไปไม่ได้นะพ่อ ทั้งพระสนมกำนัลจำนวนหมื่นหกพันนาง ทั้งราชบริพารนอกจากนี้ ก็ปริเวทนาว่า พระองค์จะเสด็จไปไหน ทิ้งพวกข้าพระองค์ไว้ให้อนาถา แม้ใครๆ ในพระนครทั้งสิ้น ก็ไม่อาจดำรงอยู่โดยภาวะของตนได้ ได้เกิดโกลาหลเป็นอันเดียวกันทั่วพระนครว่า ได้ยินว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงรับปฏิญาณพระเจ้าโปริสาทมา บัดนี้ ได้ทรงสดับสตารหาคาถา ๔ คาถา ทรงทำสักการะแก่พราหมณ์ธรรมกถึก ถวายบังคมลาพระราชมารดาบิดาแล้ว จักเสด็จไปสู่สำนักโจรอีกดังนี้
               ส่วนพระมหาสัตว์ได้ทรงสดับพระดำรัสพระราชมารดาบิดาแล้ว ตรัสพระคาถาว่า
               โปริสาทได้ทำกิจ ที่ทำได้แสนยาก จับข้าพระองค์ได้ทั้งเป็น แล้วปล่อยมา ข้าพระองค์ยังนึกถึงบุรพกิจเช่นนั้นอยู่ ข้าแต่พระทูลกระหม่อมผู้เป็นจอมประชาชน ข้าพระองค์จะพึงประทุษร้ายเขาได้อย่างไร.


               คำว่า จับได้ทั้งเป็น ในคาถานั้นมีอธิบายว่า จับได้ทั้งกำลังที่มีชีวิตอยู่. คำว่า เช่นนั้น คือ บุรพกิจเห็นปานนั้น ที่เขากระทำไว้แล้ว. คำว่า บุรพกิจ หมายถึง อุปการะ ซึ่งมีมาแล้วในกาลก่อน พระเจ้าสุตโสมทรงเรียกพระบิดาว่า พระทูลกระหม่อมผู้เป็นจอมประชาชน.

               พระเจ้าสุตโสมทูลอนุศาสน์พระราชมารดาบิดาแล้ว กราบทูลต่อไปว่า ขอพระราชมารดาบิดา อย่าได้วิตกถึงข้าพระองค์เลย ข้าพระองค์มีกัลยาณธรรมได้กระทำไว้แล้ว ความเป็นอิสระในฉกามาวจร ของข้าพระองค์ไม่เป็นผล ที่จะพึงได้ด้วยยาก แล้วถวายบังคมพระราชมารดาบิดาทูลลาแล้ว ตรัสสั่งชนอื่นๆ ที่เหลือแล้วเสด็จไป.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระโพธิสัตว์ถวายบังคมพระราชบิดาและพระราชมารดา ตรัสสั่งชาวนิคมและพลนิกรแล้ว พระองค์เป็นผู้ตรัสคำสัตย์ รักษาความสัตย์ ได้เสด็จไปยังสำนักของโปริสาทแล้ว.


               คำว่า รักษาความสัตย์ ในคาถานั้น มีอธิบายว่า พระโพธิสัตว์ทรงรักษาคำสัตย์อย่างมั่นคง ได้เสด็จไปแล้ว.

               พระอรรถกถาจารย์พรรณนาว่า ในคืนนั้น พระโพธิสัตว์ประทับอยู่ในพระราชนิเวศน์ รุ่งขึ้นเช้า พอได้อรุณ ก็ถวายบังคมลาพระราชมารดาพระราชบิดา ตรัสสั่งนิกรชนทั่วกันแล้ว อันมหาชนมีพวกฝ่ายในเป็นต้น มีหน้านองด้วยน้ำตา คร่ำครวญอยู่เซ็งแซ่ พากันไปส่งเสด็จ พระองค์เสด็จออกจากพระนคร เมื่อไม่อาจให้มิตรชนเหล่านั้นกลับได้ จึงทำขีดขวางด้วยท่อนไม้ในหนทางใหญ่ตรัสว่า ถ้ามีความรักใคร่ในเรา อย่าล่วงขีดนี้มา มหาชนไม่อาจล่วงขีดอาชญาของพระโพธิสัตว์ผู้มีศีลมีเดช คร่ำครวญอยู่ด้วยเสียงอันดัง และดูพระโพธิสัตว์ ผู้มีอาการอันองอาจดุจราชสีห์ เสด็จไปอยู่. เมื่อพระมหาสัตว์ล่วงลับสายตาแล้ว ร้องเซ็งแซ่ขึ้นพร้อมกัน กลับเข้าพระนครแล้ว ฝ่ายพระโพธิสัตว์เสด็จไปยังสำนักของเจ้าโปริสาท โดยหนทางที่เสด็จมา เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า พระโพธิสัตว์ไปยังสำนักของเจ้าโปริสาทนั้นแล้วแล.
               จบธรรมสวนกัณฑ์.

               ตั้งแต่พระโพธิสัตว์เสด็จไป เจ้าโปริสาทคิดว่า ถ้าท่านสุตโสมสหายของเราต้องการจะมา ก็จงมา ถ้าไม่ต้องการจะมา ก็อย่ามา รุกขเทวดาจงลงโทษแก่เราตามความปรารถนา เราจักฆ่าพระราชาเหล่านี้แล้ว จักทำพลีกรรมด้วยมังสะมีรส ๕ เวลาที่เจ้าโปริสาททำจิตกาธาน ก่อไฟขึ้นลุกโพลง นั่งถากหลาว รอเวลาจะให้เป็นถ่านเสียก่อน พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปถึง เจ้าโปริสาท ครั้นได้เห็นพระโพธิสัตว์ ก็มีจิตโสมนัส ทูลถามว่า สหายเอ๋ย ท่านเสด็จไปทรงทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วหรือ. พระมหาสัตว์ตอบว่า ใช่แล้ว มหาราช คาถาอันพระกัสสปทศพลทรงแสดงไว้ เราได้สดับแล้วและการสักการะ สำหรับพราหมณ์ธรรมกถึก เราได้กระทำเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นอันว่า เราได้ไปทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว จึงตรัสคาถาว่า
               การนัดหมาย อันเราผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ได้ทำไว้กับพราหมณ์ในแคว้นของตน การนัดหมายนั้นต่อพราหมณ์ผู้ประเสริฐ เราเป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมาแล้ว ดูก่อนท่านโปริสาท เชิญท่านบูชายัญกินเราเถิด.


               คำว่า จงบูชายัญ ในคาถานั้น มีอธิบายว่า ขอเชิญท่านฆ่าข้าพเจ้าเสียแล้ว จงบูชายัญแก่เทวดา หรือจงเคี้ยวกินเนื้อของข้าพเจ้า ก็เชิญตามสบายเถิด.

               เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น จึงคิดว่า พระราชานี้ไม่กลัว เป็นผู้องอาจ ไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัยตรัสได้อย่างนี้ นี่อานุภาพของอะไรหนอ จึงสันนิษฐานว่า สิ่งอื่นไม่มี พระเจ้าสุตโสมนี้ตรัสว่า เราได้สดับคาถาที่พระกัสสปทศพลทรงแสดงแล้ว นั่นพึงเป็นอานุภาพของคาถาเหล่านั้น เราจะให้เธอตรัสคาถาให้ฟัง คงจักเป็นผู้หาความกลัวมิได้อย่างนี้ แล้วกล่าวคาถาว่า
               การกินของข้าพเจ้าที่มีหวังได้ ไม่หายไปไหนเสีย ทั้งจิตกาธานนี้ ก็ยังมีควันอยู่ มังสะที่ให้สุกบนถ่านที่หมดควัน ชื่อว่าให้สุกดี ข้าพเจ้าขอสดับคาถาชื่อว่าสตารหา เสียก่อน.


               ในคาถานั้น คำว่า การกิน หมายถึง การเคี้ยวกิน. อธิบายว่า การกินตัวท่านเสียนั้น สำหรับข้าพเจ้าจะกินก่อนหรือหลังก็ได้ มิได้หายไปไหน แต่ว่า ข้าพเจ้าจะพึงกินท่านในภายหลัง. คำว่า ให้สุก อธิบายว่า เนื้อที่ให้สุกในไฟที่ไม่มีควัน คือ ไม่มีเปลว ย่อมชื่อว่าเป็นเนื้อที่สุกดี.

               พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น จึงทรงดำริว่า โปริสาทนี้เป็นคนมีธรรมอันลามก เราจะข่มเธอหน่อยหนึ่งให้เกิดความละอายแก่ใจ แล้วจึงจะแสดงให้ฟัง
               แล้วตรัสคาถาว่า
               ดูก่อนท่านโปริสาท ท่านเป็นคนประพฤติไม่ชอบธรรม ต้องจำจากแคว้น ก็เพราะเหตุแห่งท้อง ส่วนคาถาเหล่านี้ ย่อมกล่าวสรรเสริญธรรม ธรรมและอธรรมจะลงรอยกันได้ที่ไหน. คนที่ประพฤติไม่ชอบธรรม ทำกรรมที่ร้ายแรง มีฝ่ามือนองด้วยเลือดเป็นนิจ ย่อมหาสัจจะมิได้ ธรรมจักมีแต่ที่ไหน ท่านจะทำอะไรด้วยการสดับ.


               คำว่า ธรรม ในคาถานั้น มีอธิบายว่า ส่วนคาถาเหล่านี้กล่าวสรรเสริญโลกุตรธรรม ๙ ประการ. คำว่า จะลงรอยกันได้ที่ไหน อธิบายว่า จะมารวมกันได้อย่างไร ด้วยว่า ธรรมยังสัตว์ให้ถึงสุคติหรือนิพพาน ส่วนอธรรมยังสัตว์ให้ไปถึงทุคติ. คำว่า สัจจะ อธิบายว่า แม้เพียงว่า วาจาสัตย์ยังไม่มี แล้วธรรมะจะมีแต่ที่ไหน. คำว่า จะทำอะไรด้วยการสดับ มีอธิบายว่า ท่านจักทำอะไรด้วยการสดับนี้ เพราะท่านไม่ใช่ภาชนะของธรรมเป็นดุจภาชนะดิน ไม่ใช่ภาชนะสำหรับใส่มันเหลวสีหะ ฉะนั้น.

               แม้เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้ เจ้าโปริสาทก็ไม่โกรธ เพราะเหตุไร เพราะพระมหาสัตว์เป็นผู้ประเสริฐด้วยเมตตาภาวนา.
               ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทจึงทูลว่า พระสหายสุตโสม ข้าพเจ้าเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมคนเดียวละหรือ แล้วกล่าวคาถาว่า
               คนใดเที่ยวป่าฆ่ามฤค เพราะเหตุมังสะ หรือคนใดฆ่าคนเพราะเหตุตน ทั้งสองคนนั้น เป็นผู้เสมอกันในโลกเบื้องหน้า ทำไมหนอ พระองค์จึงตรัสถึงข้าพเจ้าว่า เป็นคนประพฤติไม่ชอบธรรม.


               ในคาถานั้น บทว่า กสฺมา โน ความว่า เจ้าโปริสาททูลว่า พวกพระราชาในพื้นชมพูทวีป แต่งตัวประดับประดาแล้ว มีพลนิกรเป็นบริวารใหญ่ ทรงรถอย่างดี เที่ยวประพาสป่าที่สำหรับล่าฆ่ามฤค แทงมฤคด้วยลูกศรที่คมๆ ฆ่าจนให้ตาย ทำไมพระองค์จึงไม่ตรัสว่า พระราชาเหล่านั้น ตรัสว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมแต่คนเดียว ถ้าเขาไม่มีโทษ แม้ข้าพเจ้าก็ไม่มีโทษเหมือนกันแหละ.

               พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้น เมื่อจะทรงแก้ลัทธิของเจ้าโปริสาทนั้น จึงตรัสว่า
               เนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิด อันกษัตริย์ผู้รู้จักขัตติยธรรม ไม่ควรบริโภค ท่านบริโภคเนื้อมนุษย์ซึ่งไม่ควรบริโภค เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม.


               คาถานั้นมีอธิบายว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ธรรมดากษัตริย์ผู้รู้จักธรรมของกษัตริย์ ไม่ควรบริโภคเนื้อสัตว์มีเนื้อช้างเป็นต้น ๕ ชนิด สองหน รวมเป็น ๑๐ ชนิด ซึ่งเป็นมังสะที่ไม่ควรบริโภคเลย. คำว่า น ขา ในคาถานั้น บาลีบางฉบับเป็น น โข ดังนี้ก็มี.
               อีกนัยหนึ่ง มีอธิบายว่า กษัตริย์ผู้รู้จักขัตติยธรรมควรบริโภคเนื้อสัตว์ ๕ ชนิด คือ กระต่าย เม่น เหี้ย หมู เต่า ในบรรดาสัตว์ที่มี ๕ เล็บเหล่านี้เป็นภักษาหาร ไม่ควรบริโภคเนื้อชนิดอื่น ส่วนท่านบริโภคเนื้อมนุษย์ ซึ่งมิใช่เป็นเนื้อที่ควรบริโภคเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม.

               เจ้าโปริสาทถูกพระมหาสัตว์ตรัสข่มขี่อย่างนี้ มองไม่เห็นอุบายที่จะโต้ตอบ เป็นอย่างอื่นได้ เมื่อจะให้พระมหาสัตว์รับบาปบ้าง จึงได้กล่าวคาถาว่า
               พระองค์พ้นจากมือของโปริสาทแล้ว ไปถึงพระราชมณเฑียรของตน ทรงอภิรมย์ด้วยกามคุณแล้ว ยังมาถึงมือของโปริสาทผู้เป็นศัตรูอีก พระองค์เป็นผู้ไม่ฉลาดในขัตติยธรรมเสียเลยนะพระราชา.


               ในคาถานี้มีอธิบายว่า เจ้าโปริสาทนั้นกล่าวว่า พระองค์ไม่ฉลาด ในคัมภีร์นิติศาสตร์ ส่วนที่เป็นขัตติยธรรม พระองค์ไม่รู้จักความเจริญ และความพินาศของตน เกียรติของพระองค์เลื่องลือระบือไปในโลกว่า เป็นบัณฑิต โดยหาเหตุมิได้เลย ส่วนข้าพเจ้าไม่เห็นเลยว่า พระองค์เป็นบัณฑิต เห็นแต่เพียงว่า พระองค์เป็นคนโง่มากที่สุด.

               พระมหาสัตว์ได้ทรงสดับดังนั้น ตรัสว่า ดูก่อนสหาย อันคนที่ฉลาดในขัตติยธรรม ควรเป็นเช่นตัวเรา นี้แหละ เพราะเรารู้จักขัตติยธรรม แต่มิได้ปฏิบัติอย่างที่ท่านกล่าว แล้วตรัสคาถาว่า
               ชนเหล่าใด เป็นผู้ฉลาดในขัตติยธรรม ชนเหล่านั้น ต้องตกนรกเสีย โดยมาก เพราะฉะนั้น เราจึงละขัตติยธรรม เป็นผู้รักษาความสัตย์กลับมาแล้ว ดูก่อนท่านโปริสาท ท่านจงบูชายัญ กินเราเสียเถิด.


               ในคาถานั้น คำว่า เป็นผู้ฉลาด คือ ฉลาดในการปฏิบัติ เพื่อความเป็นอย่างนั้น. คำว่า โดยมาก อธิบายว่า ชนเหล่านั้นโดยมากต้องตกนรก ส่วนชนเหล่าใดมิได้บังเกิดในนรกนั้น ชนเหล่านั้น ก็ย่อมบังเกิดในอบายที่เหลือ

               เจ้าโปริสาทกล่าวว่า
               ปราสาทราชมณเฑียร แผ่นดิน โค และม้า สตรีที่น่าอภิรมย์ทั้งกาสิกพัสตร์ และแก่นจันทน์ พระองค์ยังได้ในพระนครนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์อะไรด้วยความสัตย์.


               ในคาถานั้น บทว่า ปาสาทวาสา อธิบายว่า ดูก่อนสหายสุตโสม ปราสาทที่ประทับ ๓ หลัง สร้างขึ้นประดุจดังทิพยวิมานของพระองค์ เหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓.
               บทว่า ปฐวีควสฺสา ได้แก่ แผ่นดิน โค และม้า.
               บทว่า กามิตฺถิโย คือ สตรีอันเป็นวัตถุแห่งกามารมณ์.
               บทว่า กาสิกจนฺทนญฺจ ได้แก่ ทั้งผ้ากาสิกพัสตร์และแก่นจันทน์แดง.
               บทว่า สพฺพํ ตหึ ความว่า เครื่องเหล่านี้ และเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่น พระองค์ย่อมได้ในพระนคร ของพระองค์นั้นทุกอย่าง เพราะทรงเป็นเจ้าของ เมื่อทรงเป็นเจ้าของแล้ว จะปรารถนาสิ่งใด ก็ย่อมได้บริโภคสิ่งนั้นทุกๆ อย่าง ทุกๆ ประการ พระองค์ละสิ่งนั้นทั้งหมด เป็นผู้รักษาความสัตย์เสด็จมาในที่นี้ ทรงเห็นอานิสงส์อะไร ด้วยความสัตย์.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสพระคาถาว่า
               รสเหล่าใดบรรดาที่มีอยู่ในแผ่นดิน ความสัตย์ย่อมดีกว่ารสเหล่านั้น เพราะสมณพราหมณ์ที่ตั้งอยู่ในความสัตย์ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะเสียได้.


               ในคาถานั้น บทว่า สาธุตรํ อธิบายว่า เพราะเหตุที่ รสแม้ทั้งหมดย่อมเป็นของประณีตแก่สัตว์ทั้งหลาย ในกาลทุกเมื่อทีเดียว เพราะฉะนั้น ความสัตย์จึงดีกว่ารสเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่บุคคลตั้งอยู่ในวิรัติสัตย์ และวจีสัตย์แล้ว ย่อมข้ามฝั่งแห่งเตภูมิกวัฏ กล่าวคือชาติและมรณะเสียได้ คือถึงพระอมตมหานิพพานได้ เพราะฉะนั้น ความสัตย์จึงดีกว่ารสเหล่านั้น.

               พระมหาสัตว์ตรัสอานิสงส์ในความสัตย์แก่เจ้าโปริสาท ด้วยประการฉะนี้แล้ว ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทแลดูพระพักตร์ของพระมหาสัตว์ ซึ่งคล้ายกับดอกบัวที่แย้มแล้ว และพระจันทร์เต็มดวง ทรงดำริว่า ท่านสุตโสมนี้ แม้เห็นถ่านและกองเพลิง แม้เห็นเราผู้ถากหลาวอยู่ อาการของเธอแม้สักว่า ความหวาดเสียวก็ไม่มี นี้เป็นอานุภาพแห่งสตารหาคาถา หรือของความสัตย์ หรืออะไรอย่างอื่นหนอ จะถามเธอดูก่อน
               เมื่อจะถามได้กล่าวคาถาว่า
               พระองค์พ้นจากมือของโปริสาทแล้ว เสด็จไปถึงพระราชมณเฑียรของพระองค์ ทรงอภิรมย์ด้วยกามคุณแล้ว ยังกลับมาสู่มือของโปริสาทผู้เป็นศัตรูอีกได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งประชาชน ความกลัวตายของพระองค์ไม่มีแน่ละหรือ และพระองค์ผู้ตรัสซึ่งความสัตย์ ไม่มีพระทัยท้อแท้บ้างเทียวหรือ.


               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะตรัสแจ้งแก่เจ้าโปริสาทนั้น จึงตรัสเป็นคาถาว่า
               กัลยาณธรรมหลายอย่าง เราได้ทำแล้ว ยัญที่ไพบูลย์ บัณฑิตสรรเสริญ เราก็ได้บูชาแล้ว ทางปรโลกเราก็ได้ชำระให้บริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวตาย. กัลยาณธรรมหลายอย่าง เราได้ทำแล้ว ยัญที่ไพบูลย์ บัณฑิตสรรเสริญ เราได้บูชาแล้ว เราไม่เดือดร้อนที่จะไปสู่ปรโลก. ดูก่อนท่านโปริสาท เชิญท่านจงบูชายัญ กินเราเสียเถิด.
               พระชนกและพระชนนี เราก็ได้บำรุงแล้ว ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ได้ปกครองแล้วโดยธรรม ทางปรโลกเราก็ได้ชำระให้บริสุทธิ์แล้ว คนที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวความตาย. พระชนกและพระชนนี เราก็ได้บำรุงแล้ว ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ได้ปกครองแล้วโดยชอบธรรม. เราไม่เดือดร้อนที่จะไปสู่ปรโลก. ดูก่อนท่านโปริสาท เชิญท่านบูชายัญ กินเราเสียเถิด.
               อุปการกิจในพวกญาติและมิตร เราก็ได้กระทำแล้ว ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ได้ปกครองแล้วโดยธรรม ทางปรโลก เราก็ได้ชำระให้บริสุทธิ์แล้ว คนที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวต่อความตาย อุปการกิจในพวกญาติและมิตร เราก็ได้กระทำแล้ว ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ได้ปกครองแล้วโดยธรรม เราไม่เดือดร้อนที่จะไปสู่ปรโลก. ดูก่อนท่านโปริสาท ท่านจงบูชายัญกินเราเสียเถิด.
               ทานเราก็ได้ให้แล้วเป็นอันมากแก่คนจำนวนมาก สมณพราหมณ์ เราก็ได้อุปถัมภ์ให้อิ่มหนำแล้ว ทางปรโลกเราก็ชำระให้บริสุทธิ์แล้ว คนที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวต่อความตาย ทานเราก็ได้ให้แล้วเป็นอันมากแก่คนจำนวนมาก สมณพราหมณ์ เราก็ได้อุปถัมภ์ให้อิ่มหนำแล้ว เราไม่เดือดร้อนที่จะไปสู่ปรโลก. ดูก่อนท่านโปริสาท ท่านจงบูชายัญกินเราเสียเถิด.


               ในคาถานั้นมีอธิบายว่า คำว่า กัลยาณธรรมหลายอย่าง หมายถึง กัลยาณธรรมอันมากอย่างด้วยกัน ด้วยอำนาจของกินมีข้าวเป็นต้น. คำว่า ยัญ อธิบายว่า อนึ่ง ยัญอันไพบูลย์ยิ่งที่พวกบัณฑิตสรรเสริญแล้ว เราก็ได้บูชาแล้ว คือให้เป็นไปแล้ว ด้วยอำนาจแห่งการบริจาคทานวัตถุ ๑๐ อย่าง. คำว่า ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม อธิบายว่า บุคคลที่ตั้งอยู่ในธรรมเช่นกับตัวเรา ใครเล่าจะพึงกลัวต่อความตาย. คำว่า ไม่เดือดร้อน คือไม่ได้มีความเดือดร้อนเลย. คำว่า ความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ได้ปกครองแล้วโดยธรรม. อธิบายว่า ราชสมบัติเราก็ได้ปกครองแล้วโดยธรรมทีเดียว เพราะเรามิได้ยังราชธรรม ๑๐ ประการให้กำเริบ. คำว่า อุปการกิจเราก็ได้กระทำแล้ว หมายถึง กิจของญาติ เราก็ได้กระทำแล้วในญาติทั้งหลายและกิจของมิตร เราก็ได้กระทำแล้วในมิตรทั้งหลาย. คำว่า ทาน หมายถึง เจตนาพร้อมด้วยวัตถุ. คำว่า เป็นอันมาก คือโดยอาการมากมาย. คำว่า แก่คนจำนวนมาก อธิบายว่า เราให้ทานแก่คนเพียง ๕ คน ๑๐ คนเท่านั้นก็หาไม่ เราได้ให้แล้วแก่คนตั้งร้อยตั้งพันทีเดียว. คำว่า ให้อิ่มหนำแล้ว อธิบายว่า เรากระทำภาชนะสำหรับใส่ให้เต็มแล้ว จึงให้อิ่มหนำเป็นอย่างดีแล้ว.

               เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น ตกใจกลัวว่า พระเจ้าสุตโสมมหาราชนี้เป็นสัตบุรุษ พร้อมด้วยความรู้ แสดงธรรมอันไพเราะ ถ้าเราจะกินเธอเสีย แม้ศีรษะของเราก็จะต้องแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง หรือแผ่นดินพึงให้ช่องแก่เรา(ถูกแผ่นดินสูบ) แล้วทูลว่า ข้าแต่พระสหายสุตโสมเอ๋ย พระองค์เป็นคนที่ข้าพเจ้าไม่ควรกิน แล้วกล่าวคาถาว่า
               บุรุษผู้รู้อยู่ จะพึงกินยาพิษ หรือจับอสรพิษที่มีฤทธิ์รุ่งโรจน์ มีเดชกล้า ได้หรือ บุคคลใดพึงกินคนที่กล่าวคำสัตย์ เช่นกับพระองค์ ศีรษะของบุคคลนั้น จะต้องแตกออกเป็น ๗ เสี่ยงแน่.


               คำว่า ยาพิษ หมายถึง ยาพิษชนิดที่ร้ายแรง สามารถจะทำผู้ดื่มกินให้ตายได้ในที่นั้นทันที. คำว่า รุ่งโรจน์ อธิบายว่า ก็หรือบุคคลนั้นพึงจับอสรพิษที่คอ อันรุ่งโรจน์อยู่ด้วยพิษของตน มีเดชร้ายแรง ด้วยเดชแห่งพิษนั้น เหมือนกันนั่นแหละ ซึ่งเที่ยวไปอยู่ประดุจกองไฟ ฉะนั้น.

               เจ้าโปริสาทนั้นทูลพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระสหาย พระองค์เป็นเหมือนยาพิษที่ร้ายแรง ใครจักกินพระองค์ได้ด้วยประการฉะนี้ แล้วใคร่จะสดับคาถา จึงทูลพระมหาสัตว์ แม้จะถูกพระมหาสัตว์ตรัสห้ามว่า พระองค์ไม่ใช่ภาชนะของคาถาที่หาโทษมิได้เห็นปานนี้ เพื่อจะให้เกิดความเคารพในธรรม. ดำริว่า คนในชมพูทวีปทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นบัณฑิตเช่นกับท่านสุตโสมนี้ไม่มี เธอพ้นจากมือเราไปแล้ว ได้สดับคาถาเหล่านั้น ทำสักการะแก่ธรรมกถึกแล้ว ยังเอามัจจุติดหน้าผากกลับมาอีกได้ พระคาถาจักสำเร็จประโยชน์อย่างศักดิ์สิทธิ์ แล้วเกิดความเคารพในการฟังธรรมหนักขึ้น
               เมื่อจะทูลอ้อนวอนพระมหาสัตว์ จึงได้กล่าวคาถาว่า
               นรชนได้ฟังธรรม ย่อมรู้จักบุญและบาป ใจของข้าพเจ้าได้ฟังคาถา จะยินดีในธรรมได้บ้าง.


               คาถานั้นมีอธิบายว่า ข้าแต่สหายสุตโสม ธรรมดาว่า นรชนทั้งหลายได้สดับธรรมแล้ว ย่อมรู้จักบุญบ้าง บาปบ้าง แม้ใจของข้าพเจ้าได้ฟังคาถานั้นแล้ว จะพึงยินดีในธรรม คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการได้บ้างเป็นแน่.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า บัดนี้ เจ้าโปริสาทต้องการจะฟังธรรม เราจะแสดงดังนี้แล้ว ตรัสว่า ดูก่อนสหาย ถ้าเช่นนั้นท่านจงตั้งใจสดับให้ดี ครั้นเตือนเจ้าโปริสาทให้เงี่ยโสตสดับแล้ว ตรัสสรรเสริญพระคาถาอย่างเดียวกันกับที่นันทพราหมณ์กล่าวแล้ว เมื่อพวกเทวดาในชั้นกามาวจรทั้ง ๖ ให้สาธุการเสียงโกลาหลเป็นอันเดียวกัน ทรงแสดงธรรมแก่เจ้าโปริสาทตรัสพระคาถาว่า
               ดูก่อนมหาราช การสมาคมกับสัตบุรุษคราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้สมาคมนั้น การสมาคมกับอสัตบุรุษแม้มากครั้ง ก็รักษาไม่ได้
               พึงคบกับสัตบุรุษ พึงทำความสนิทสนมกับสัตบุรุษ เพราะรู้สัทธรรมของสัตบุรุษ ย่อมมีความเจริญ ไม่มีความเสื่อม.
               ราชรถที่เขาทำให้วิจิตรเป็นอย่างดี ยังคร่ำคร่าได้แล แม้สรีระก็เข้าถึงความชราได้เหมือนกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เข้าถึงความชรา สัตบุรุษกับสัตบุรุษด้วยกันนั่นแลย่อมรู้กันได้.
               ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็กล่าวว่า ไกลกัน ดูก่อนพระราชา ธรรมของสัตบุรุษ และของอสัตบุรุษ ท่านก็กล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้นอีก.


               เมื่อเจ้าโปริสาทคิดอยู่ว่า คาถาที่พระโพธิสัตว์ตรัสนั้น เป็นประหนึ่งว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้าตรัสแล้ว เพราะตรัสไว้ไพเราะ ทั้งพระองค์เป็นบัณฑิตด้วย สรีระทั้งสิ้นก็เต็มไปด้วยปีติ มีวรรณะ ๕ ประการ เธอได้เป็นผู้มีจิตอ่อนในพระโพธิสัตว์ สำคัญพระโพธิสัตว์เป็นดุจพระชนกผู้ประทานเศวตฉัตร ฉะนั้น เธอดำริว่า เราไม่เห็นเงินทองอะไรๆ ที่จะพึงถวายพระเจ้าสุตโสมได้ แต่เราจะถวายพระพร คาถาละพร แล้วกล่าวคาถาว่า
               ข้าแต่พระสหายผู้เป็นจอมประชาชน คาถาเหล่านี้มีประโยชน์ มีพยัญชนะดี พระองค์ตรัสไพเราะ ข้าพเจ้าได้สดับแล้วเพลิดเพลินปลื้มใจ ชื่นใจ อิ่มใจ ข้าพเจ้าขอถวายพระพร ๔ อย่างแด่พระองค์.


               ในคาถานั้น คำว่า เพลิดเพลิน ได้แก่ เกิดความเพลิดเพลินขึ้นแล้ว. คำว่า ปลื้มใจ ชื่นใจ อิ่มใจ นอกนี้ก็เป็นคำอธิบายขยายความของคำว่า เพลิดเพลินนั่นแล. แท้จริงคำทั้ง ๔ คำนี้ ก็คือเป็นคำที่แสดงถึงอาการร่าเริงยินดี นั่นเอง.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ท่านจักให้พรอะไร เมื่อจะตรัสรุกรานเจ้าโปริสาท ได้ตรัสพระคาถาว่า

.. อรรถกถา มหาสุตโสมชาดก ว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2258&Z=2606
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=8275
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=8275
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :