ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาสุตโสมชาดก
ว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ท่านจักให้พรอะไร เมื่อจะตรัสรุกรานเจ้าโปริสาท ได้ตรัสพระคาถาว่า
               ดูก่อนพระสหายผู้มีธรรมอันลามก พระองค์ไม่รู้สึกถึงความตายของพระองค์ ไม่รู้สึกถึงสิ่งที่เป็น ประโยชน์และหาประโยชน์มิได้ ทั้งนรกและสวรรค์ เป็นผู้ติดอยู่ในรส ตั้งอยู่ในทุจริต จักให้พรอะไร. ข้าพเจ้าพึงบอกพระองค์ว่า จงให้พร แม้พระองค์ให้พรแล้ว จะกลับไม่ให้ก็ได้ ความทะเลาะวิวาทนี้อยู่ในอำนาจของพระองค์ ใครจะเข้ามาเป็นบัณฑิต วินิจฉัยชี้ขาดได้.


               ในคาถานั้น บทว่า โย อธิบายว่า พระองค์ไม่รู้สึก คือไม่รู้ถึงความตาย แม้ของพระองค์เองว่า ตัวเรานี้ก็มีความตายเป็นธรรมดา จึงได้ประกอบกรรมอันลามกอย่างเดียว.
               บทว่า หิตาหิตํ ความว่า พระองค์ไม่รู้จักว่า กรรมนี้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา กรรมนี้หามีประโยชน์ไม่ กรรมนี้จักนำไปสู่นรก กรรมนี้จักนำไปสู่สวรรค์.
               บทว่า รเส ได้แก่ ในรสแห่งเนื้อมนุษย์.
               บทว่า วชชํ แปลว่า พึงกล่าว.
               บทว่า อวากเรยฺย ความว่า พระองค์ให้พรด้วยวาจา แม้ข้าพเจ้ากล่าวอยู่ว่า พระองค์จงให้พรนั้นแก่ข้าพเจ้า พระองค์จะกลับไม่ให้เสียก็ได้.
               บทว่า อุปพฺพเชยฺย ความว่า ใครจะมาเป็นบัณฑิต วินิจฉัยการทะเลาะนี้ได้.

               ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทดำริว่า ท่านสุตโสมนี้ไม่เชื่อเรา เราจะให้เธอเชื่อให้ได้ แล้วกล่าวคาถาว่า
               คนเราให้พรใดแล้ว จะกลับไม่ให้ ไม่ควรให้พรนั้น ดูก่อนสหาย ขอให้พระองค์จงทรงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตของหม่อมฉันก็จะสละถวายได้.


               คำว่า จงทรงมั่นพระทัย ในคาถานั้น หมายความว่า จงมีพระทัยอันแน่วแน่มั่นคงเถิด.

               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงพระดำริว่า เจ้าโปริสาทกล้าพูดหนักอยู่ เธอจักทำตามถ้อยคำของเรา เราจักรับพร แต่เราจักขอพรว่า ท่านอย่ากินเนื้อมนุษย์เป็นข้อแรก เธอจักลำบากเกินไป เราจักรับพร ๓ อย่างอื่นก่อน ภายหลังจึงรับพรข้อนี้ แล้วตรัสพระคาถาว่า
               พระอริยะกับพระอริยะ ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญา ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ข้าพเจ้าพึงเห็นท่านเป็นผู้หาโรคมิได้ตลอดร้อยปี นี้เป็นพรข้อที่หนึ่ง หม่อมฉันปรารถนา.


               ในคาถานั้น คำว่า อริยะ หมายถึง ความประเสริฐด้วยมรรยาท. คำว่า ศักดิ์ศรี หมายถึง ศักดิธรรม คือมิตรธรรม. คำว่า ผู้มีปัญญา หมายถึง ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยความรู้. คำว่า เสมอกัน คือ ย่อมเปรียบเทียบกันได้ เหมือนน้ำคงคากับน้ำยมุนา ฉะนั้น จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเปรียบเทียบกันได้โดยธาตุ. คำว่า พึงเห็นท่าน อธิบายว่า พระเจ้าสุตโสมทรงทำเป็นเหมือนปรารถนาให้เจ้าโปริสาทมีชีวิตยืนยาว จึงขอพรคือชีวิตอันประเสริฐข้อแรกก่อน. จริงอยู่ ธรรมดาว่า นักปราชญ์ไม่ควรจะพูดว่าท่านจงให้ชีวิตแก่เรา เจ้าโปริสาทฟังคำนั้น คิดว่า เจ้าสุตโสมปรารถนาความไม่มีโรคแก่เราผู้เดียว จึงกล่าวอย่างนี้.

               ส่วนเจ้าโปริสาทได้ฟังคำนั้น มีใจชื่นบานว่า เจ้าสุตโสมนี้ยังปรารถนาความเป็นอยู่ของเรา ผู้เป็นมหาโจร กำจัดตนออกจากอิสรภาพ ใคร่จะกินเนื้ออยู่ ณ บัดนี้ ผู้กระทำความพินาศใหญ่อย่างนี้ ท่านต้องการประโยชน์แก่เรา น่าสรรเสริญยิ่งนัก เมื่อจะถวายพระพร ยอมตามที่พระมหาสัตว์ตรัสลวงแล้ว รับพรอยู่นั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               อริยะกับอริยะ ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญา ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน พระองค์พึงเห็นหม่อมฉันผู้หาโรคมิได้ตลอดร้อยปี หม่อมฉันขอถวายพระพรข้อต้นนี้ ตามประสงค์แล.


               คำว่า พร ในคาถานั้น หมายถึง พรข้อที่หนึ่งในบรรดาพร ๔ ประการ

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสต่อไปว่า
               พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่า มุทธาภิสิตเหล่าใด ในชมพูทวีปนี้ พระองค์อย่ากินพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี่เป็นพรข้อที่สอง หม่อมฉันปรารถนา.


               คำว่า ได้นามบัญญัติ ในคาถานั้น อธิบายว่า ผู้มีพระนามาภิไธย อันกระทำแล้วว่า มุทธาภิสิต ดังนี้ เพราะทรงอภิเษกบนพระเศียรเกล้า. คำว่า พระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น อธิบายว่า พระองค์อย่าได้เสวยกษัตริย์ที่ได้รับมูรธาภิเษกเหล่านั้นเลย.

               พระมหาสัตว์ เมื่อจะทรงรับพรข้อที่สองได้ทรงรับพร คือชีวิตของพวกกษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ ด้วยประการฉะนี้ แม้เจ้าโปริสาท เมื่อจะถวายพระพรแด่พระโพธิสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า
               พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่า มุทธาภิสิตเหล่าใด ในชมพูทวีปนี้ หม่อมฉันจะไม่กินพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี้เป็นพระพรข้อที่สอง หม่อมฉันยอมถวาย.


               มีคำถามสอดเข้ามาว่า กษัตริย์เหล่านั้นได้ยินพระสุรเสียงของสองกษัตริย์ทั่วกัน หรือไม่?
               ตอบว่า ไม่ได้ยินทั่วกันหมด พระเจ้าโปริสาทก่อไฟห่างออกไป เพราะกลัวเปลวควันจะเป็นอันตรายต่อต้นไม้ พระมหาสัตว์ประทับนั่งตรัสกับเจ้าโปริสาท ในระหว่างกองไฟกับต้นไม้ เพราะฉะนั้น กษัตริย์เหล่านั้นจึงไม่ได้ยินทั้งหมด ได้ยินว่า ครั้งหนึ่ง กษัตริย์เหล่านั้นตรัสปลอบกันว่า พระเจ้าสุตโสมจักทรงทรมานเจ้าโปริสาทในบัดนี้ อย่ากลัวไปเลย ในขณะนั้น

               พระมหาสัตว์ตรัสคาถานี้ว่า
               กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ที่ถูกพระองค์จับร้อยพระหัตถ์ไว้ มีพระพักตร์นองด้วยพระอัสสุชลกันแสงอยู่นั้น ขอพระองค์จงปล่อยให้กลับไปสู่แคว้นของตนๆ นี้เป็นพรข้อที่สาม หม่อมฉันปรารถนา.


               คำว่า ร้อยเอ็ด ในคาถานั้น หมายถึงจำนวนเกินร้อย. คำว่า ที่ถูกพระองค์จับไว้ คือที่พระองค์ได้จับไว้แล้ว. คำว่า ร้อยพระหัตถ์ไว้ คือจับร้อยไว้ที่ฝ่ามือ.

               เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าทรงรับพรข้อที่สาม ได้ทรงรับพร คือขอให้มอบแคว้นของตนๆ แก่กษัตริย์เหล่านั้นด้วยประการฉะนี้ มีคำถามสอดเข้ามาว่า ทรงรับพรนี้เพราะเหตุไร? ตอบว่า เจ้าโปริสาทแม้จะไม่กิน แต่ก็อาจจะให้กษัตริย์ทั้งหมดอยู่เป็นทาสในป่านั้นก็เป็นได้ หรืออาจจะฆ่าทิ้งเสียก็ได้ หรืออาจจะนำไปจำหน่ายเสีย ณ ชนบทก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น พระมหาสัตว์จึงทรงรับพร คือขอให้มอบแคว้นของตนๆ แก่กษัตริย์เหล่านั้น
               ส่วนเจ้าโปริสาท เมื่อจะถวายพระพรแด่พระมหาสัตว์ จึงได้กล่าวคาถาว่า
               กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ที่หม่อมฉันร้อยพระหัตถ์ไว้ พระพักตร์นองด้วยพระอัสสุชลกันแสงอยู่นั้น หม่อมฉันจะปล่อยให้กลับไปสู่แคว้นของตนๆ นี้เป็นพระพรข้อที่สาม หม่อมฉันยอมถวาย.


               ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์จะทรงรับพรข้อที่สี่ จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
               รัฐมณฑลของพระองค์เป็นช่อง เพราะนรชนเป็นอันมากหวาดเสียวเพราะภัย หนีเข้าที่ซ่อนเร้น ขอพระองค์จงเว้นจากเนื้อมนุษย์เสียเถิด นี้เป็นพรข้อที่สี่ หม่อมฉันปรารถนา.


               ในคาถานั้นมีอรรถาธิบายว่า แคว้นของพระองค์ที่อยู่กันเป็นปึกแผ่นกลายเป็นช่อง เพราะบ้านเป็นต้นตั้งอยู่ในแคว้นนั้นๆ ต้องทิ้งบ้านช่องแตกกระจายไป.
               บทว่า พฺยถิตา ภยา หิ ความว่า นรชนทั้งหลายหวาดเสียว เพราะความกลัวท่านว่า เจ้าโปริสาทจักมาในบัดนี้.
               บทว่า เลณมนุปฺปวิฏฺฐา ความว่า พากันอุ้มลูกจูงหลาน หนีเข้าไปหาที่ซ่อนเร้นมีชัฏหญ้าเป็นต้น.
               บทว่า มนุสฺสมํสํ ความว่า ขอพระองค์ละเว้นเนื้อมนุษย์ ซึ่งเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็นเสียเถิด คือจงเว้นขาดจากเนื้อมนุษย์เสียเถิด.

               เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทปรบมือหัวเราะทูลว่า พระสหายสุตโสมพูดถึงเรื่องนี้ละหรือ พระพรนี้เท่ากับชีวิต หม่อมฉันจักถวายแด่พระองค์อย่างไรได้ ถ้าพระองค์ใคร่จะรับ จงรับพรอย่างอื่นเถิด แล้วกล่าวคาถาว่า
               นั่นเป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานแล้ว หม่อมฉันเข้าป่า ก็เพราะเหตุอาหารนี้ หม่อมฉันจะพึงงดอาหารนี้เสียอย่างไร ขอพระองค์จงทรงเลือกพระพรที่สี่อย่างอื่นเถิด.


               คำว่า ป่า ในคาถานั้น หมายความว่า หม่อมฉันยอมสละราชสมบัติ แล้วเข้าสู่ป่านี้.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า พระองค์กล่าวว่าไม่อาจงดได้ เพราะเป็นของรักอย่างยิ่ง ก็ผู้ใดทำบาปเพราะเหตุของรัก ผู้นี้เป็นอันธพาล แล้วตรัสพระคาถาว่า
               ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน คนเช่นพระองค์มัวคิดอยู่ว่า นี้เป็นที่รักของเรา ทำตนให้เห็นห่างจากความดี จะไม่ได้ประสบสิ่งที่รักทั้งหลาย ตนแลประเสริฐที่สุด ประเสริฐอย่างยอดเยี่ยมทีเดียว เพราะคนมีตนอบรมแล้ว ภายหลังจะพึงได้สิ่งที่รักทั้งหลาย.


               ในคาถานั้น บทว่า ตาทิโส ความว่า ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชน คนเช่นพระองค์ยังเป็นหนุ่ม มีรูปงาม มียศใหญ่ กระทำตนให้เหินห่างจากความดี ด้วยความโลภในวัตถุอันเป็นที่รักว่า ขึ้นชื่อว่าสิ่งนี้ย่อมเป็นที่รักของเรา เคลื่อนจากสุคติทั้งหมด และวิสัยแห่งความสุข ตกลงในนรกอย่างเดียว ชื่อว่าย่อมไม่ได้เสพสิ่งนั้นอันเป็นที่รักทั้งหลาย.
               บทว่า ปรมาว เสยฺโย ความว่า ด้วยว่าตนของบุรุษนั่นแหละ ประเสริฐกว่าวัตถุอันเป็นที่รักอย่างอื่น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพราะคนมีตนอันอบรมแล้วจะพึงได้สิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลาย. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่า สิ่งอันเป็นที่รักทั้งหลาย บุคคลผู้มีตนอันอบรมแล้ว และมีตนอันเจริญแล้ว ด้วยอำนาจแห่งวิสัยอันเป็นที่รักและบุญ กระทำสมบัติในเทวดาและมนุษย์แล้ว ก็อาจที่จะได้ในทิฏฐธรรม หรือในโลกเบื้องหน้า.

               เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทหวาดหวั่น ดำริว่า เราไม่อาจให้ท่านสุตโสมปล่อยพรนี้เสียได้ละกระมัง แม้เนื้อมนุษย์เราก็ไม่อาจอดได้ จักทำอย่างไรดีหนอ ถ้าเธอตรัสขอพรที่สี่อย่างอื่น จักถวายเธอทันที เราจักเป็นอยู่อย่างไร มีเนตรนองด้วยอัสสุชล กล่าวคาถาว่า
               เนื้อมนุษย์เป็นที่รักของหม่อมฉัน ดูก่อนท่านสุตโสม ขอท่านจงทราบความจำเป็น หม่อมฉันไม่อาจงดเว้นได้ ดูก่อนพระสหาย ขอท่านจงเลือกพระพรอย่างอื่นเถิด.


               คำว่า จงทราบ ในคาถานั้น หมายความว่า ขอพระองค์จงรู้ไว้เถิด.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า
               คนใดมัวรักษาของรักอยู่ว่า นี่เป็นที่รักของเรา ทำตนให้เหินห่างจากความดีแล้ว เสพของรักทั้งหลายอยู่ เหมือนนักเลงดื่มสุราที่เจือด้วยยาพิษฉะนั้น คนนั้นจะได้ทุกข์ในเบื้องหน้า เพราะความประพฤตินั่นแล.
               ส่วนบุคคลใดในโลกนี้ รู้สึกตัวละของรักได้ เสพอริยธรรม แม้ด้วยความฝืนใจ เหมือนคนเป็นไข้ดื่มโอสถ ฉะนั้น บุคคลนั้นจะได้สุขในเบื้องหน้า เพราะความประพฤตินั่นแล.


               ในคาถานั้น บทว่าโย เว มีอธิบายว่า ดูก่อนสหายโปริสาท บุรุษใดกระทำตนให้เหินห่างจากความดี ด้วยการกระทำบาปว่า สิ่งนี้เป็นที่รักแก่เรา แล้วเสพของรักอยู่ บุรุษนั้นย่อมได้รับความทุกข์ในอบาย มีนรกเป็นต้นในเบื้องหน้า เพราะกรรมอันเป็นบาปนั้น เปรียบดังนักเลงสุราดื่มสุราอันเจือยาพิษ เพราะว่าตนชอบสุรา ฉะนั้น. คำว่า รู้สึกตัว หมายถึง รู้ตัวพิจารณาตัวเองได้. คำว่า ละของรักได้ อธิบายว่า ละทิ้งของรักอันประกอบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรมเสียได้.

               เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทคร่ำครวญรำพันอยู่ กล่าวคาถาว่า
               หม่อมฉันทิ้งพระชนกพระชนนี ทั้งเบญจกามคุณที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจเข้าป่า ก็เพราะเหตุแห่งเนื้อมนุษย์ หม่อมฉันจะถวายพระพรนั้นแก่พระองค์อย่างไรได้.


               ในคาถานั้น เจ้าโปริสาทแสดงเนื้อมนุษย์ ด้วยคำว่า เพราะเหตุแห่งเนื้อมนุษย์นี้. คำว่า อย่างไรได้ อธิบายว่า หม่อมฉันจะกระทำอย่างไร จึงจะถวายพระพรนี้แก่พระองค์ได้.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
               พวกบัณฑิตไม่กล่าววาจาเป็นสอง พวกสัตบุรุษย่อมมีปฏิญาณเป็นสัตย์ทีเดียว ท่านได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า พระสหายจงรับพร ท่านได้กล่าวไว้อย่างนี้ ที่ท่านกล่าวในบัดนี้ จึงไม่สมกัน.


               ในคาถานั้น บทว่า ทิคุณํ อธิบายว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ธรรมดาว่า บัณฑิตพูดคำหนึ่งแล้ว ไม่ทำคำนั้นให้คลาดเคลื่อนอีก ย่อมไม่กล่าวคำที่สอง ท่านได้กล่าวกะข้าพเจ้าไว้แล้วอย่างนี้ว่า ดูก่อนสหายสุตโสม พระองค์จงรับพรเถิด.
               บทว่า อิจฺจพฺรวิ ความว่า เพราะฉะนั้น คำใดท่านกล่าวไว้แล้วด้วยประการฉะนี้ คำนั้นย่อมไม่สมกับคำของท่านในบัดนี้เลย.

               เจ้าโปริสาทร้องไห้อีก กล่าวคาถาอย่างนี้ว่า
               หม่อมฉันเข้าถึงบาปทุจริต ความเศร้าหมองมาก หาบุญลาภมิได้ เสื่อมยศ เสื่อมเกียรติ ก็เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ หม่อมฉันจะพึงถวายพระพรนั้นแก่พระองค์อย่างไรได้.


               ในคาถานั้น คำว่า บาป คือยังไม่ถึงกรรมบถ. คำว่า ทุจริต คือถึงกรรมบถแล้ว. คำว่า ความเศร้าหมอง หมายถึงความลำบาก. คำว่า เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ คือเพราะเหตุแห่งเนื้อมนุษย์. คำว่า เข้าถึง คือ หม่อมฉันเป็นผู้เข้าถึงแล้ว.
               บทว่า ตนฺเต ความว่า เจ้าโปริสาทกล่าวว่า หม่อมฉันถวายพระพรนั้นแก่พระองค์อย่างไรได้ พระองค์อย่าได้ห้ามหม่อมฉันเสียเลย จงทรงกระทำความอนุเคราะห์ ความกรุณาในหม่อมฉันเถิด จงทรงรับพรอย่างอื่นเถิด.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะเธออีกว่า
               คนเราให้พรใดแล้วกลับไม่ให้ ไม่ควรจะให้พรนั้น ขอพระสหายจงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตของหม่อมฉันก็จักสละถวายแล.


               เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงนำคาถาที่เจ้าโปริสาทนั้นกล่าวไว้ก่อนแล้ว มาแสดงอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงสนับสนุนให้เจ้าโปริสาทอาจหาญในการให้พร จึงตรัสว่า
               การเสียสละชีวิตได้ นั่นเป็นธรรมของสัตบุรุษ สัตบุรุษย่อมมีปฏิญาณเป็นสัตย์ทีเดียว พรอันพระองค์ประทานไว้แล้ว จงประทานเสียฉับพลัน ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐสุด พระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมของสัตบุรุษนั้นเถิด.
               นรชนพึงสละทรัพย์ เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ เมื่อนึกถึงธรรม พึงสละอวัยวะ ทรัพย์ แม้ชีวิตทั้งหมดเถิด.


               ในคาถานั้น คำว่า ชีวิต หมายถึงละชีวิตได้ อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมละชีวิตได้โดยแท้ พระองค์จงประทานพรเสียโดยฉับพลัน คือ จงประทานแก่เราเสียโดยเร็วในที่นี้เถิด. คำว่า ด้วยธรรมของสัตบุรุษนั้น คือเป็นผู้สมบูรณ์ถึงพร้อม เข้าถึงแล้วด้วยธรรมและความสัตย์นี้ พระโพธิสัตว์ทรงยกย่องเจ้าโปริสาทนั้น จึงทรงเรียกว่า ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐสุด. คำว่า พึงสละทรัพย์ อธิบายว่า ดูก่อนสหายโปริสาท บุรุษผู้เป็นบัณฑิต เมื่ออวัยวะมีมือและเท้าเป็นต้นยังมีอยู่ พึงสละทรัพย์แม้มาก เมื่อต้องการจะรักษาอวัยวะนั้น. คำว่า เมื่อนึกถึงธรรม อธิบายว่า เมื่อนึกถึงธรรมอยู่อย่างนี้ว่า แม้เราจะต้องสละอวัยวะทรัพย์และชีวิต ก็ไม่ยอมล่วงธรรมของสัตบุรุษ.

               พระมหาสัตว์ตรัสชักนำให้ เจ้าโปริสาทนั้นตั้งอยู่ในความสัตย์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้อย่างนี้แล้ว บัดนี้ จักยกความที่พระองค์เป็นครูขึ้นสนับสนุน จึงตรัสพระคาถาว่า
               บุรุษรู้ธรรมจากบุคคลใด และบุคคลเหล่าใดเป็นสัตบุรุษ บรรเทาความสงสัยของบุรุษนั้นได้ ข้อนั้นเป็นที่พึ่งพำนักของบุรุษนั้นได้ เป็นบัณฑิตไม่พึงทำลายไมตรีจากจากบุคคลนั้นเลย.


               ในคาถานั้น คำว่า ใด หมายถึงจากบุรุษผู้ใด. คำว่า ธรรม หมายถึง เหตุที่สำหรับส่องกุศลและอกุศลธรรม. คำว่า รู้ คือ พึงรู้ชัด. คำว่า ข้อนั้น อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นอาจารย์นั้น ชื่อว่าเป็นที่พึ่ง เพราะอรรถว่า เป็นที่พึ่งของบุคคลนั้น และชื่อว่าเป็นที่พำนัก เพราะอรรถว่า เป็นสถานที่บุคคลนั้นพึงไปหาในเมื่อมีภัยเกิดขึ้น. คำว่า ไม่พึงทำลายไมตรีจากบุคคลนั้น อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิตไม่พึงทำลายไมตรี ด้วยเหตุแม้อย่างใดอย่างหนึ่ง กับบุคคลผู้เป็นอาจารย์นั้น คือไม่พึงทำไมตรีนั้นให้พินาศไป.

               ก็พระโพธิสัตว์ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ขึ้นชื่อว่าถ้อยคำของอาจารย์ผู้มีคุณ ไม่ควรจะทำลาย เราเป็นปฤษฎาจารย์ของพระองค์ ให้พระองค์ศึกษาศิลปะเป็นอันมาก แม้ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์ บัดนี้ ได้กล่าวสตารหคาถาด้วยพุทธลีลาแก่พระองค์ เพราะฉะนั้น พระองค์ควรจะทำตามถ้อยคำของเรา.
               เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น จึงดำริว่า ท่านสุตโสมเป็นอาจารย์ของเรา และพร เราก็ได้ถวายแก่พระองค์ เราอาจจะทำอะไรได้ อันธรรมดาความตายในอัตภาพหนึ่ง ย่อมเป็นของแน่นอน เราจักไม่กินเนื้อมนุษย์ เราจะถวายพระพร ดังนี้ มีสายอัสสุชลนองหน้า ลุกขึ้นถวายบังคมพระบาทพระเจ้าสุตโสมจอมนรินทร์
               เมื่อจะถวายพระพรนั้น จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
               นั่นเป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานทีเดียว หม่อมฉันเข้าป่า ก็เพราะเหตุแห่งอาหารนี้ แต่ถ้าพระสหายตรัสขอหม่อมฉันในเรื่องนี้ หม่อมฉันก็ยอมถวายพระพรนี้ แด่พระองค์ได้.


               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนสหาย คนที่ตั้งอยู่ในศีลถึงจะตาย ก็ประเสริฐ เราขอรับพรที่ท่านประทาน และท่านได้ตั้งอยู่ในทางของพระอริยะตั้งแต่วันนี้แล้ว แม้ถึงอย่างนั้น เราต้องทูลขอท่าน ถ้าความรักในตัวเราของท่านยังมีอยู่ ขอท่านจงรับศีล ๕ เถิดนะมหาราช. เจ้าโปริสาททูลว่า ดีละสหาย ขอพระองค์จงประทานศีล ๕ แก่หม่อมฉัน. พระมหาสัตว์ตรัสว่า เชิญรับเถิด มหาราช. เจ้าโปริสาทถวายบังคมพระมหาสัตว์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง พระมหาสัตว์ได้ให้เจ้าโปริสาทตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้ว ขณะนั้น ภุมเทวดาผู้ประชุมกันในสถานที่นั้น เกิดความชื่นบานในพระมหาสัตว์ ได้กระทำสาธุการยังพนมวันให้มีเสียงสนั่นโกลาหลว่า คนอื่นตั้งแต่อเวจีตลอดถึงภวัครพรหม ชื่อว่าสามารถจะห้ามเจ้าโปริสาทจากเนื้อมนุษย์ได้ เป็นไม่มี พระเจ้าสุตโสมได้ทำกิจที่บุคคลอื่นทำได้อย่างแสนยาก น่าอัศจรรย์ เทพยดาชั้นจาตุมหาราชได้สดับต่อภุมเทวดาเหล่านั้น ก็กระทำสาธุการบันลือลั่นต่อๆ กันไปอย่างนี้ ได้เกิดโกลาหลเป็นอันเดียวกันตลอดพรหมโลก แม้พระราชาที่ถูกแขวนอยู่ ณ ต้นไม้ ก็พลอยได้ยินเสียงสาธุการของเทพยดาเหล่านั้นด้วย แม้พวกรุกขเทวดาผู้อยู่ในวิมานนั้นๆ ก็ให้สาธุการ การให้สาธุการของเทพยดาอย่างนี้ ได้ยินแต่เสียง ไม่เห็นตัวเทพยดา
               พวกพระราชาได้ทรงสดับเสียงสาธุการของพวกเทพยดา จึงทรงดำริว่า พวกเราได้ชีวิตเพราะอาศัยพระเจ้าสุตโสม พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานเจ้าโปริสาทได้ นับว่า ชื่อว่าทำกิจที่คนอื่นทำได้แสนยาก แล้วพากันสรรเสริญพระโพธิสัตว์. ฝ่ายเจ้าโปริสาทถวายบังคมพระบาทยุคลของพระมหาสัตว์แล้ว ยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสกะเจ้าโปริสาทว่า ดูก่อนพระสหาย ท่านจงปลดปล่อยกษัตริย์เหล่านี้เสียเถิด. เจ้าโปริสาทดำริว่า เราเป็นศัตรูของกษัตริย์เหล่านี้ กษัตริย์เหล่านี้ เมื่อเราปลดปล่อยไปแล้ว จะช่วยกันจับเราว่า เป็นศัตรูของตนแล้วจักเบียดเบียน แม้เราจะต้องเสียชีวิต ก็ไม่อาจจะทำลายศีลที่เรารับจากสำนักท่านสุตโสม เราจักไปปลดปล่อยด้วยกันกับท่านสุตโสม อย่างนี้จักไม่เป็นภัยแก่เรา แล้วถวายบังคมพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่ท่านสุตโสม เราทั้งสองจะไปปลดปล่อยกษัตริย์ทั้งหลายด้วยกัน แล้วกล่าวคาถาว่า
               พระองค์เป็นศาสดาของหม่อมฉัน และเป็นสหายด้วย หม่อมฉันได้ทำตามถ้อยคำของพระองค์ แม้พระองค์ก็จงกระทำตามถ้อยคำของหม่อมฉัน เราทั้งสองจะไปปลดปล่อยพวกกษัตริย์ด้วยกัน.


               คำว่า เป็นศาสดา ในคาถานั้น หมายถึงเป็นศาสดา เพราะได้แสดงทางสวรรค์ และเป็นสหายกันมา จำเดิมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสกะเจ้าโปริสาทนั้นว่า
               เราเป็นศาสดาของพระองค์ และเป็นสหายด้วย พระองค์ได้ทำตามถ้อยคำของเรา แม้เราก็จะทำตามถ้อยคำของพระองค์ เราทั้งสองจงไปปลดปล่อยพวกกษัตริย์ด้วยกันเถิด.


               ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์จึงเสด็จไปหากษัตริย์เหล่านั้น แล้วตรัสพระคาถาว่า
               พวกท่านอย่าคิดประทุษร้ายแก่พระราชานี้ ด้วยความแค้นว่า ถูกเธอผู้ได้นามว่า กัมมาสบาท (เท้าด่างเพราะถูกตอไม้แทง) เบียดเบียนร้อยฝ่ามือ ต้องร้องไห้ น้ำตานองหน้า ดังนี้เป็นอันขาด จงรับสัจจปฏิญาณต่อหม่อมฉัน ดังนี้.


               ในคาถานั้น บทว่า กมฺมาสปาเทน อธิบายว่า พระมหาสัตว์ทรงรับคำเจ้าโปริสาทว่า แม้เราทั้งสอง จงไปปลดปล่อยพวกกษัตริย์ด้วยกันดังนี้แล้ว ทรงดำริว่า ธรรมดา กษัตริย์เป็นผู้กระด้างด้วยมานะ พอหลุดได้อาจจะโบย หรือฆ่าเจ้าโปริสาทเสีย ด้วยความอาฆาตว่า พวกเราถูกเจ้าโปริสาทนี้ เบียดเบียนแล้วดังนี้ก็ได้ แต่เจ้าโปริสาทจะไม่ประทุษร้ายกษัตริย์เหล่านั้นเป็นแน่ เราแต่เพียงผู้เดียวจะไปรับปฏิญาณต่อกษัตริย์เหล่านั้นก่อน แล้วเสด็จไปในสำนักกษัตริย์เหล่านั้น ทรงเห็นกษัตริย์เหล่านั้นถูกร้อยฝ่าพระหัตถ์ แขวนอยู่ที่กิ่งไม้ ปลายนิ้วพระบาทพอจรดพื้นดิน ดิ้นรนอยู่ ดุจพวงดอกหงอนไก่ ซึ่งเขาห้อยไว้ที่ไม้เต้าในเวลาที่ต้องลม แม้กษัตริย์เหล่านั้น พอได้เห็นพระโพธิสัตว์แล้ว ร้องขึ้นพร้อมกันว่า พวกเราหาโรคมิได้ในบัดนี้แล้ว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสปลอบกษัตริย์เหล่านั้นว่า อย่ากลัวเลย แล้วตรัสว่า พวกท่านได้รับอภัยโทษจากเจ้าโปริสาทแล้ว แต่พวกท่านต้องทำตามถ้อยคำของหม่อมฉันด้วย แล้วจึงตรัสพระคาถาดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้น. คำว่า เป็นอันขาด ในคาถานั้น อธิบายว่า พวกท่านอย่าคิดประทุษร้ายโดยส่วนเดียวเท่านั้น.

               กษัตริย์เหล่านั้น ตรัสตอบเป็นพระคาถาว่า
               พวกหม่อมฉันจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระราชานี้ ด้วยความแค้นว่า ถูกเธอผู้ได้นามว่า กัมมาสบาท เบียดเบียนร้อยฝ่ามือไว้ ต้องร้องไห้น้ำตานองหน้า ดังนี้เป็นอันขาด หม่อมฉันขอรับสัจจปฏิญาณต่อพระองค์ ดังนี้.


               ในคาถานั้น บทว่า ปฏิสุโณม ความว่า กษัตริย์เหล่านั้นทูลพระมหาสัตว์ว่า หม่อมฉันรับปฏิญาณอย่างนี้ ก็แต่ว่า พวกหม่อมฉันกำลังเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าไม่สามารถจะเรียบเรียงคำปฏิญาณได้ดี ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่บรรดาสัตว์ทั้งปวงเถิด พระองค์จงเรียงคำปฏิญาณให้ด้วย พวกหม่อมฉันได้สดับคำของพระองค์แล้ว จักให้คำปฏิญาณ.

               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสกะพวกกษัตริย์เหล่านั้นว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงให้ปฏิญาณ แล้วตรัสพระคาถาว่า
               บิดาหรือมารดา ย่อมมีความกรุณา ปรารถนาความเจริญแก่ประชาคือบุตร ฉันใด แม้พระราชานี้ก็จงเป็นเหมือนอย่างนั้นแก่พวกท่าน และพวกท่าน ก็จงเป็นเหมือนอย่างบุตรทั้งหลาย ฉะนั้น.


               แม้กษัตริย์เหล่านั้น ก็รับคำปฏิญาณอยู่ ได้กล่าวคาถานี้ว่า
               บิดาหรือมารดา ย่อมมีความกรุณา ปรารถนาความเจริญแก่ประชาคือบุตร ฉันใด แม้พระราชานี้ ก็จงเป็นเหมือนอย่างนั้นแก่พวกหม่อมฉัน แม้พวกหม่อมฉันก็จะเป็นเหมือนอย่างบุตรทั้งหลาย ฉะนั้น.


               โว อักษรในคำว่า ตุมฺเห จ โว ในคาถานั้น เป็นเพียงนิบาต.

               พระมหาสัตว์ทรงรับปฏิญาณของกษัตริย์เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว ทรงเรียกเจ้าโปริสาท ตรัสว่า จงมาเถิดสหาย จงมาปลดปล่อยกษัตริย์เหล่านี้เถิด เจ้าโปริสาทจับดาบตัดเชือกที่ผูกพระราชาองค์หนึ่งแล้ว พระราชานั้นอดอาหารได้รับทุกขเวทนามาถึง ๗ วันแล้ว สลบล้มลง ณ ภาคพื้น พร้อมกับความขาดแห่งเชือกที่ผูก. พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีความกรุณา ตรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านอย่าตัดอย่างนั้นเลย คราวนี้เราทั้งสองจะจับพระราชาองค์หนึ่งไว้ให้มั่น ทำเธอไว้ ณ เบื้องอก แล้วจึงตัดเชือกที่ผูก. เมื่อเจ้าโปริสาทตัดเชือกด้วยพระขรรค์ พระมหาสัตว์รับพระราชานั้นให้นอน ณ พระอุระ เพราะพระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระกำลัง ประคองให้นอนลง ณ ภาคพื้น ด้วยพระหฤทัยประกอบไปด้วยเมตตา คล้ายกับประคองบุตรที่เกิดแต่อก ฉะนั้น ทรงประคองพระราชาเหล่านั้นทุกพระองค์ ให้นอนลงบนภาคพื้นอย่างนี้แล้ว ทรงชะแผล ค่อยๆ ดึงเชือกออก ดุจดึงด้ายเส้นน้อยออกจากหูของเด็ก ฉะนั้น ล้างหนองและเลือดแล้ว ทำแผลให้จนสะอาด ตรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ท่านจงฝนเปลือกไม้นี้ที่หินแล้วนำเอามา ครั้นให้นำมาแล้ว จึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐาน ทาที่ฝ่าพระหัตถ์ของกษัตริย์เหล่านั้น แผลนั้นหายในขณะนั้นทันที เจ้าโปริสาทเอาข้าวสารมาต้มเป็นน้ำใสๆ แม้กษัตริย์ทั้งสองนั้น ได้ให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ได้ดื่มน้ำข้าวต้มแล้ว.
               เมื่อพระโพธิสัตว์ และเจ้าโปริสาทให้กษัตริย์เหล่านั้นอิ่มหนำทั่วทุกพระองค์ ดังนี้แล้ว ก็พอพระอาทิตย์อัสดงคต แม้วันรุ่งขึ้นก็ให้ดื่มอย่างนั้น ทั้งในเวลาเช้าเวลาเที่ยงและเวลาเย็น วันที่ ๓ ให้ดื่มยาคูมีเมล็ด ปฏิบัติอย่างนี้จนกษัตริย์เหล่านั้นหาโรคมิได้. ครั้งนั้น พระมหากษัตริย์ตรัสถามกษัตริย์เหล่านั้นว่า พวกท่านอาจจะกลับไปได้หรือยัง. เมื่อกษัตริย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ไปได้. ตรัสว่า ดูก่อนสหายโปริสาท เชิญเสด็จเถิด เราทั้งหลายจงกลับไปยังแคว้นของตนเถิด. เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น ก็ร้องไห้ฟุบอยู่แทบบาทยุคลของพระมหาสัตว์ ทูลว่า พระสหายจงพาพระราชาทั้งหลายเสด็จไปเถิด หม่อมฉันจะกินรากไม้ผลไม้อยู่ในป่านี้. พระมหาสัตว์ตรัสว่า สหายจักทำอะไรในป่านี้ แคว้นของพระองค์น่ารื่นรมย์ จงเสด็จไปเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี นั้นเถิดนะ. เจ้าโปริสาททูลว่า พระสหายตรัสอะไร หม่อมฉันไม่อาจไปในพระนครพาราณสี เพราะชาวพระนครทั้งหมด เป็นศัตรูของหม่อมฉัน จักด่าบริภาษหม่อมฉันว่า กินมารดาของเขา กินบิดาของเขา ดังนี้เป็นต้นแล้ว จักพากันจับหม่อมฉันโดยตั้งข้อหาว่า เป็นโจร จักปลงชีวิตหม่อมฉันด้วยท่อนไม้หรือก้อนดิน ไม้ ค้อน หอก หรือขวาน ส่วนหม่อมฉันรับศีลในสำนักของพระองค์แล้ว หม่อมฉันไม่อาจจะฆ่าเขา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่ไป หม่อมฉัน เมื่อเว้นจากเนื้อมนุษย์เสียแล้ว จักเป็นอยู่นานสักเท่าไร คราวนี้การเห็นพระองค์ของหม่อมฉันไม่มีอีก. เจ้าโปริสาทกล่าวดังนี้แล้ว ก็ร้องไห้ทูลว่า เชิญพระองค์เสด็จเถิด.
               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงลูบหลังเจ้าโปริสาท ตรัสว่า พระสหายโปริสาทเอ๋ย หม่อมฉันชื่อสุตโสม คนหยาบช้าสาหัส เช่นพระองค์ยังฝึกได้ คนชาวพระนครพาราณสี จะเป็นไรไปเล่า หม่อมฉันจักให้พระองค์เสด็จเป็นพระราชา ในพระนครพาราณสีนั้นอีก เมื่อไม่อาจสามารถ ก็จักแบ่งราชสมบัติของหม่อมฉันออกเป็นสองส่วน ถวายพระองค์ส่วนหนึ่ง. เมื่อเจ้าโปริสาททูลว่า แม้ในพระนครของพระองค์ ศัตรูของหม่อมฉันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน แล้วทรงดำริว่า เจ้าโปริสาทนี้ทำตามถ้อยคำของเรา นับว่าเราทำกิจที่คนอื่นทำได้ยากนัก เราจะให้เธออยู่ในพระราชอิสริยยศตามเดิม โดยอุบายวิธีบางอย่าง
               เมื่อจะทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร เพื่อปลอบโยนเจ้าโปริสาทให้เกิดความพอใจ จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
               พระองค์เคยเสวยพระกระยาหารอันโอชารส ล้วนแต่เนื้อสัตว์ ๔ เท้าและนก อันพวกห้องเครื่องผู้ฉลาดปรุงทำให้สุกเป็นอย่างดี ดุจท้าวโกสีย์จอมเทวดาเสวยสุธาโภชน์ ฉะนั้น ไฉนจะทิ้งไว้ ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
               นางกษัตริย์ล้วนแต่เอวบางร่างเล็กสะโอดสะอง ประดับประดาด้วยผ้าและเครื่องอาภรณ์ชั้นดี เคยแวดล้อมบำเรอพระองค์ให้ชื่นบาน ดุจเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ ณ เมืองสวรรค์ ไฉนจะทิ้งไว้ ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
               พระแท่นที่บรรทมพนักแดง โดยมากปูลาดด้วย ผ้าโกเชาว์ ล้วนลาดด้วยเครื่องลาดที่งดงาม ประดับ ด้วยเครื่องอลังการน่าตระการตา พระองค์เคยบรรทม เป็นสุข ในท่ามกลางพระแท่นที่บรรทมเช่นนั้น ไฉน จะทิ้งไว้เล่า ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
               เวลาพลบค่ำ มีการฟ้อนรำส่งสำเนียงเสียงตะโพนสำทับ ดนตรีรับประสานเสียง ล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน การขับการประโคมก็ล้วนแต่ไพเราะเสนาะโสต ไฉนจะทิ้งไว้ ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
               พระราชอุทยานนามว่า มิคาชินวัน บริบูรณ์ด้วยบุปผชาตินานาพรรณ พระนครนั้นประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้ น่ายินดีเพลิดเพลินเจริญใจ ทั้งมั่งคั่งด้วยม้า รถ คชสาร ไฉนจะทิ้งไว้เล่า ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.


               ในคาถานั้น คำว่า ปรุงทำให้สุกเป็นอันดี คือ กระทำอย่างดีโดยประการต่างๆ.
               บทว่า สุนิฏฺฐิตํ ความว่า ทำให้สำเร็จด้วยดีด้วยการประกอบเครื่องต่างๆ ชนิด. คำว่า ไฉนจะทิ้งไว้ ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว อธิบายว่า พระองค์เสวยรากไม้และผลไม้เป็นต้น จักชอบอย่างไร ดูก่อนมหาราช ขอเชิญเสด็จเถิด เราทั้งสองจักไปด้วยกัน. คำว่า เอวบางร่างเล็กสะโอดสะอง อธิบายว่า มีรัศมีดุจกองทองแท่งที่กำลังร้อน และมีเอวบางร่างสูงโปร่ง. คำว่า ในเมืองสวรรค์ อธิบายว่า ในกาลก่อนพวกนางกษัตริย์แวดล้อม ทำให้ชื่นบานอยู่ในเมืองพาราณสี อันเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ดุจเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ในเทวโลก ฉะนั้น ไฉนพระองค์จึงจะทิ้งพวกนางกษัตริย์เหล่านั้นเสีย แล้วจักกระทำอะไรอยู่ในป่านี้. ดูก่อนสหาย เชิญเสด็จกลับเถิด เราทั้งสองจะไปด้วยกัน. คำว่า พนักแดง คือ พระแท่นที่บรรทมมีพนักเป็นสีแดง. คำว่า พระแท่นที่บรรทม หมายถึง พระแท่นบรรทมที่ปูลาดไว้ด้วยเครื่องลาดทั้งหมด. คำว่า ประดับ อธิบายว่า พระองค์เคยบรรทมบนพระแท่นนั้น ซึ่งประกอบด้วยเครื่องอลังการน่าตระการตา แสดงถึงชั้นเป็นอันมาก. คำว่า เป็นสุข อธิบายว่า พระองค์เคยบรรทมเป็นสุข ในท่ามกลางพระแท่นที่บรรทมเช่นนั้น บัดนี้ ไฉนจักยินดีในป่าเล่า ดูก่อนสหาย ขอเชิญท่านเสด็จเถิด เราทั้งสองจะไปด้วยกัน. คำว่า เวลาพลบค่ำ หมายถึงในกาลเป็นส่วนแห่งกลางคืน. คำว่า ทิ้งไว้ คือทิ้งสมบัติเห็นปานนี้. คำว่า อุทยานบริบูรณ์ด้วยบุปผชาติต่างๆ พรรณ อธิบายว่า ดูก่อนมหาราช พระราชอุทยานของพระองค์ สมบูรณ์ด้วยดอกไม้ต่างๆ ชนิด. คำว่า น่ายินดี อธิบายว่า พระราชอุทยานนั้นมีนามว่า มิคาชินวัน เป็นสถานที่น่าเพลิดเพลิน น่ายินดี สมกับชื่อ. คำว่า ทิ้ง อธิบายว่า ทิ้งนครอันน่าเพลิดเพลินเจริญใจเห็นปานนี้ไปได้.
               พระมหาสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว หวังพระทัยว่า ไฉนเจ้าโปริสาทจะนึกถึงรสของเครื่องอุปโภคบริโภคที่เคยเสวย จะพึงเกิดความอยากที่จะกลับไปสู่พระนคร จึงตรัสประโลมด้วยโภชนะเป็นข้อต้น ด้วยอำนาจกิเลสเป็นที่สอง ด้วยที่บรรทมเป็นที่สาม ด้วยการเต้นรำการขับร้อง และการประโคมเป็นที่สี่ ด้วยพระราชอุทยานและพระนครเป็นที่ห้า ครั้นตรัสประโลมเช่นนี้แล้ว ตรัสต่อไปว่า ดูก่อนมหาราช เชิญเสด็จเถิด เราจะพาพระองค์ไปดำรงราชย์ในพระนครพาราณสีแล้ว ภายหลังจึงจะไปสู่แคว้นของเรา ถ้าจะไม่ได้ราชสมบัติในพระนครพาราณสี จักถวายราชสมบัติของหม่อมฉันแก่พระองค์ครึ่งหนึ่ง ประโยชน์อะไรของพระองค์ด้วยการอยู่ป่า จงทำตามถ้อยคำของเราเถิด เจ้าโปริสาทได้สดับถ้อยคำของพระมหาสัตว์ เกิดความอยากที่จะกลับไปสู่พระนคร ดำริว่า ท่านสุตโสมทรงพระกรุณาปรารถนาความเจริญแก่เรา ตั้งเราไว้ในกัลยาณธรรมแล้ว บัดนี้ยังตรัสว่า จักสถาปนาในอิสริยยศตามเดิมอีก และพระองค์ก็อาจสถาปนาได้ด้วย เราควรจะไปกับพระองค์ ประโยชน์อะไรของเราด้วยการอยู่ในป่า ได้มีจิตชื่นบาน ประสงค์จะพรรณนามิตรธรรมอิงคุณของพระมหาสัตว์ จึงกราบทูลว่า พระสหายสุตโสม อะไรๆ ที่จะดียิ่งไปกว่าการคบหากัลยาณมิตรไม่มี อะไรๆ ที่จะลามกยิ่งไปกว่าการคบบาปมิตรไม่มีเลย
               แล้วกล่าวคาถาว่า
               พระจันทร์ในวันข้างแรมย่อมเสื่อมลงทุกวันๆ ฉันใด การคบอสัตบุรุษ ย่อมเป็นเหมือนวันข้างแรม ฉะนั้นแหละ พระราชา. หม่อมฉันก็เหมือนกัน อาศัยเจ้าคนครัวผู้ทำกับข้าว เป็นคนลามกเลวทราม ได้ทำบาปกรรมอันเป็นทางจะไปสู่ทุคติ.
               พระจันทร์ในวันข้างขึ้น ย่อมเจริญขึ้นทุกวันๆ ฉันใด การคบสัตบุรุษ ย่อมเป็นเหมือนวันข้างขึ้น ฉันนั้นแหละ พระราชา. หม่อมฉันก็เหมือนกัน ขอท่านสุตโสมจงทราบว่าอาศัยพระองค์ จักได้ทำกุศลกรรมอันเป็นทางที่จะไปสู่สุคติ.
               ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมประชาชน น้ำตกในที่ดอน ย่อมไม่คงที่ ไม่อยู่ได้นานฉันใด แม้การคบอสัตบุรุษของหม่อมฉันก็เหมือนกัน ไม่คงที่เหมือนน้ำในที่ดอน ฉะนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระที่กล้าหาญอย่างประเสริฐสุด น้ำตกในสระ ย่อมอยู่ได้นานฉันใด การคบสัตบุรุษของหม่อมฉันก็เหมือนกัน ย่อมตั้งอยู่ได้นาน เหมือนน้ำในสระ ฉะนั้น.
               การคบสัตบุรุษเป็นคุณไม่เสื่อมทราม ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตตั้งอยู่ ส่วนการคบอสัตบุรุษย่อมเสื่อมเร็ว เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษ จึงไกลกันแล.


               ในคาถานั้น คำว่า ทุกวันๆ คือในวันหนึ่งๆ. คำว่า ไม่อยู่ได้นาน คือไม่ควรที่จะอยู่นานได้. คำว่า สระ หมายถึงสมุทร. คำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นนระที่กล้าหาญอย่างประเสริฐสุด คือ ผู้ประเสริฐสุดกว่านรชน. คำว่า เหมือนน้ำในสระ คือเหมือนน้ำที่ตกลงในสมุทร. คำว่า ไม่เสื่อมทราม คือไม่ทรุดโทรม. คำว่า แม้ตลอดเวลาที่ชีวิตตั้งอยู่ อธิบายว่า ชีวิตยังตั้งอยู่ตลอดกาลเพียงใด การคบสัตบุรุษ ก็ย่อมเป็นอยู่ตลอดกาลเพียงนั้น ความเป็นมิตรไมตรีกับพวกสัตบุรุษไม่มีเสื่อมเลย.

               เจ้าโปริสาทพรรณนาถึงคุณของพระมหาสัตว์ ๗ คาถา ด้วยประการฉะนี้ พระมหาสัตว์ได้ทรงพาเจ้าโปริสาทและพระราชา ๑๐๑ พระองค์เสด็จไปถึงปัจจันตคาม ชาวบ้านนั้นเห็นพระมหาสัตว์แล้ว ไปแจ้งความที่เมือง พวกอำมาตย์ได้พาหมู่พลนิกายไปเฝ้ารับ พระมหาสัตว์ได้เสด็จไปยังพระนครพาราณสีด้วยบริวารนั้น ในระหว่างทาง พวกชาวชนบทถวายเครื่องบรรณาการ แล้วตามเสด็จ พระมหาสัตว์ได้มีบริวารมาก เสด็จถึงพระนครพาราณสีกับบริวารนั้น เวลานั้นพระโอรสของพระเจ้าโปริสาทเป็นพระราชา ท่านกาฬหัตถียังคงเป็นเสนาบดีอยู่เช่นเดิม ชาวเมืองกราบทูลพระราชาว่า ขอเดชะ ได้ยินว่า พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานเจ้าโปริสาทได้แล้ว กำลังพาเสด็จมาในพระนครนี้ พวกข้าพระองค์จักไม่ให้เข้าพระนครดังนี้ แล้วรีบปิดประตูพระนคร จับอาวุธอยู่พร้อมกัน พระมหาสัตว์ทรงทราบว่าเขาปิดประตู จึงพักเจ้าโปริสาทและพระราชา ๑๐๑ พระองค์ไว้ เสด็จเข้าไปใกล้ประตูกับอำมาตย์ ๒-๓ คน ตรัสว่า เราคือมหาราชชื่อว่าสุตโสม จงเปิดประตู. พวกราชบุรุษไปกราบทูลพระราชา พระราชาตรัสว่า พระเจ้าสุตโสมมหาราชเป็นบัณฑิต เป็นพระเจ้าทรงธรรม ตั้งอยู่ในศีล ภัยไม่มีแก่พวกเราอย่างแน่นอน แล้วรับสั่งให้เปิดประตูพระนครทันที.
               พระมหาสัตว์เสด็จเข้าพระนคร พระราชาและท่านกาฬหัตถีเสนาบดี ไปรับเสด็จพระมหาสัตว์ นำเสด็จขึ้นปราสาท พระมหาสัตว์ประทับ ณ พระราชอาสน์แล้ว รับสั่งให้หาพระอัครมเหสี และพวกอำมาตย์ของเจ้าโปริสาท มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถี เหตุไรจึงไม่ให้พระราชาเข้าพระนคร ท่านกาฬหัตถีกราบทูลว่า เมื่อท้าวเธอทรงราชย์ได้กินเนื้อมนุษย์ในพระนครนี้ เป็นจำนวนมากคน ทรงกระทำกรรมที่กษัตริย์ไม่สมควรทำเลย ได้ทำช่องในชมพูทวีปทั้งสิ้น ท้าวเธอมีธรรมอันลามกเช่นนี้ เพราะเหตุนั้น เขาจึงไม่ให้พระองค์เข้าพระนคร. พระมหาสัตว์ตรัสว่า บัดนี้ พวกท่านอย่าวิตกเลยว่า เธอจักทำเช่นนั้นอีก เราทรมานเธอให้ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เธอจักไม่เบียดเบียนใครๆ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ภัยแต่เธอไม่มีแก่พวกท่าน ท่านทั้งหลายอย่าทำอย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าบุตรและธิดาต้องปฏิบัติมารดาและบิดา ท่านที่เลี้ยงมารดาบิดานั่นแหละ จะไปสวรรค์ คนที่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาจะไปนรก.
               พระมหาสัตว์ประทานพระโอวาทแก่พระราชโอรสผู้ประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำอย่างนี้แล้ว ตรัสสอนเสนาบดีว่า ดูก่อนท่านกาฬหัตถี ท่านเป็นสหายและเสวกของพระราชา แม้พระราชาก็ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งอันสูงศักดิ์ แม้ท่านก็ควรจะประพฤติเป็นประโยชน์แก่พระราชา แล้วประทานโอวาทแม้แก่พระเทวีว่า ดูก่อนพระเทวี แม้เธอก็มาจากเรือนตระกูล ได้รับตำแหน่งอัครมเหสีในสำนักของพระราชา ถึงความเจริญด้วยพระโอรสและพระธิดา แม้เธอก็ควรประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระราชา
               เมื่อจะทรงแสดงธรรมให้ความนั้นถึงที่สุด จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
               พระราชาที่เอาชนะคนซึ่งไม่ควรชนะ ไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา เพื่อนที่เอาชนะเพื่อน ไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน ภรรยาที่ไม่กลัวเกรงสามี ไม่ชื่อว่าเป็นภรรยา บุตรที่ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่แล้ว ไม่ชื่อว่าเป็นบุตร.
               ที่ประชุมไม่มีสัตบุรุษ ไม่ชื่อว่าเป็นสภา คนพูดไม่เป็นธรรม ไม่ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ คนที่ละราคะ โทสะ โมหะ พูดเป็นธรรมนั่นแล ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ.
               บัณฑิตอยู่ปะปนกับพวกคนพาล เมื่อไม่พูด ก็รู้ไม่ได้ว่าเป็นบัณฑิต แม้พูดก็ต้องแสดงอมตธรรม จึงจะรู้ได้ว่าเป็นบัณฑิต.
               พึงกล่าวธรรมให้กระจ่าง พึงยกธงของพวกฤาษี พวกฤาษีมีสุภาษิตเป็นธง ธรรมแลเป็นธงของพวกฤาษี.


               ในคาถานั้น คำว่า คนซึ่งไม่ควรชนะ อธิบายว่า มารดาบิดา ชื่อว่าบุคคลที่ไม่ควรเอาชนะ พระราชาที่เอาชนะมารดาบิดาทั้งสองนั้น ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นพระราชา ถ้าหากว่าพระองค์ได้ราชสมบัติซึ่งรับรัชทายาทมาจากบิดาของพระองค์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นศัตรูของบิดา ชื่อว่าทรงกระทำกิจที่ไม่ควรกระทำ. คำว่า เอาชนะเพื่อน มีอธิบายว่า เอาชนะด้วยคดีโกง ดูก่อนท่านกาฬหัตถี ถ้าท่านไม่ได้บำเพ็ญมิตรธรรมกับพระราชา ก็ได้ชื่อว่าไม่เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จักบังเกิดในนรก. คำว่า ไม่กลัว คือไม่กลัวเกรง ถ้าท่าน ไม่กลัวเกรงพระราชา ท่านก็จักได้ชื่อว่าเป็นภรรยาที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม. คำว่า แก่ คือ แก่หง่อม. จริงอยู่ บุตรที่ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาในเวลาเช่นนั้น ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นบุตร. คำว่า สัตบุรุษ หมายเอาบัณฑิต. คำว่า ธรรม อธิบายว่า บุคคลผู้ใด เมื่อถูกเขาถามแล้ว ไม่บอกตามความเป็นจริง บุคคลผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต. คำว่า พูดเป็นธรรม มีอธิบายว่า บุคคลเหล่านี้ ละราคะ เป็นต้นได้แล้ว เป็นผู้อนุเคราะห์ประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอื่น กล่าวแต่ความจริง ย่อมชื่อว่าเป็นบัณฑิต. คำว่า เมื่อไม่พูด คือ มิได้พูดอะไรออกมาเลย. คำว่า อมตธรรม คือ บุคคลผู้แสดงอยู่ซึ่งอมตมหานิพพาน จึงจะรู้จักว่าเป็นบัณฑิต เพราะเหตุนั้นแล เจ้าโปริสาทได้สดับธรรมเทศนาแล้วจึงมีจิตเลื่อมใส ให้พร ๔ ประการ ประดิษฐานอยู่ในศีล ๕ ประการแล้ว. คำว่า พึงกล่าว อธิบายว่า เพราะเหตุนั้น บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงกล่าวธรรม คือ พึงสอดส่องยังธรรมให้สว่างไสว. จริงอยู่ ฤาษีทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะเหตุที่ธรรมเป็นธงของพวกฤาษีเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีสุภาษิตเป็นธง ยกย่องสุภาษิต ส่วนคนพาล ชื่อว่ายกย่องสุภาษิตไม่มีเลย.
               พระราชาและเสนาบดี ได้สดับธรรมกถาของพระโพธิสัตว์แล้ว เกิดปีติโสมนัส ปรึกษากันที่จะไปเชิญเสด็จพระราชา จึงสั่งให้คนตีกลองเที่ยวไปในพระนคร ให้ชาวเมืองประชุมกัน แล้วประกาศให้ทราบว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย ได้ยินว่า พระราชาเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมแล้ว จงพากันมาเถิด พวกเราจักไปนำพระราชานั้นมา จึงพามหาชนไป กระทำพระมหาสัตว์ให้เป็นประมุข ไปยังสำนักของพระราชาถวายบังคมแล้ว ให้เจ้าพนักงานช่างกัลบกแต่งพระเกศาและพระมัสสุแล้ว ให้สรงสนานพระองค์ด้วยเครื่องสุคนธ์ แต่งพระองค์ด้วยพระภูษาอาภรณ์ ตามขัตติยราชประเพณีแล้ว เชิญเสด็จขึ้นกองแก้ว เป็นราชบัลลังก์ อภิเษกแล้วเชิญเสด็จเข้าสู่พระนคร.
               พระเจ้าโปริสาทได้ทรงทำสักการะแก่กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ และพระมหาสัตว์เป็นการใหญ่ เกิดความโกลาหลใหญ่ทั่วชมพูทวีปว่า ได้ยินว่า จอมนรินทร์สุตโสมได้ทรงทรมานเจ้าโปริสาท แลได้ให้ประดิษฐานอยู่ในราชสมบัติแล้ว แม้ประชาชนชาวนครอินทปัต ก็ได้ส่งทูตไปเชิญเสด็จพระมหาสัตว์กลับพระนคร พระมหาสัตว์ประทับอยู่ในพระนครพาราณสีนั้น ประมาณเดือนครึ่ง ตรัสสอนพระเจ้าโปริสาทว่า ดูก่อนสหาย เราจะลากลับละนะ พระองค์จงอย่าได้เป็นผู้ประมาท จงให้สร้างโรงทาน ๕ แห่ง คือ ทำที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง และที่ประตูพระราชวัง ๑ แห่ง จงทรงบำเพ็ญทาน จงทรงประพฤติราชธรรม ๑๐ ประการ อย่าให้กำเริบ จงทรงละการถึงอคตินะมหาราช พลนิกายจากราชธานี ๑๐๑ ได้มาประชุมกันมากมาย พระมหาสัตว์มีพลนิกายเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว เสด็จออกจากพระนครพาราณสี แม้พระเจ้าโปริสาท ก็ได้เสด็จออกจากพระนคร เมื่อเสด็จส่งถึงครึ่งหนทางก็เสด็จกลับ พระมหาสัตว์ประทานพาหนะแก่พวกพระราชาที่ไม่มีพาหนะ ทรงส่งพระราชาเหล่านั้นทุกพระองค์ แม้พระราชาเหล่านั้นก็แสดงความชื่นบานกับพระมหาสัตว์ ได้กระทำกิจมีการถวายบังคมและการเจรจาเป็นต้นตามสมควร แล้วได้เสด็จกลับไปยังชนบทของตนๆ แม้พระมหาสัตว์เสด็จเข้าสู่พระนครที่พวกประชาชนชาวเมืองอินทปัต ตกแต่งไว้ดีแล้วประหนึ่งเทพนคร ถวายบังคมพระราชมารดาบิดา ทรงกระทำปฏิสันถารอันอ่อนน้อมแล้ว เสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรง.
               ฝ่ายพระเจ้าโปริสาทเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติโดยธรรม ทรงดำริว่า รุกขเทวดามีอุปการะแก่เราเป็นอันมาก เราจักกระทำลาภ คือพลีกรรมแก่ท่าน ท้าวเธอรับสั่งให้สร้างสระใหญ่ใกล้กับต้นไทร ทรงส่งตระกูลไปเป็นอันมาก ตั้งเป็นตำบลบ้านขึ้น บ้านนั้นได้เป็นบ้านใหญ่ประดับด้วยหนทาง และร้านตลาดถึงแปดหมื่น ส่วนต้นไทรนั้น ตั้งแต่ที่สุดกิ่งเข้ามา โปรดให้ปราบพื้นที่ให้ราบเรียบเสมอกัน ให้สร้างกำแพงมีแท่นบูชา และมีเสาระเนียดเป็นประตูแวดล้อม. เทวดาชื่นบานเป็นอย่างยิ่ง บ้านนั้นได้ชื่อว่ากัมมาสบาทนิคม เพราะเป็นสถานที่ทรมานเจ้ากัมมาสบาท และเป็นที่อยู่ของท้าวเธอด้วย พระราชาเหล่านั้นๆ ตั้งอยู่ในโอวาทของพระมหาสัตว์ ได้ทรงทำบุญมีทานเป็นต้น บำเพ็ญทางสวรรค์ให้บริบูรณ์แล้ว.
               พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ แล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้ทรมานพระอังคุลิมาลในบัดนี้เท่านั้น ก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ได้ทรมานเธอแล้วเหมือนกัน
               แล้วทรงประชุมชาดกว่า
                         พระเจ้าโปริสาทในกาลนั้น ได้เป็น อังคุลิมาล
                         กาฬหัตถีเสนาบดีได้เป็น สารีบุตร
                         นันทพราหมณ์ได้เป็น อานนท์
                         รุกขเทวดาได้เป็น กัสสป
                         ท้าวสักกะได้เป็น อนุรุทธะ
                         พระราชา ๑๐๑ พระองค์ที่เหลือได้เป็น พุทธบริษัท
                         พระราชมารดาบิดาได้เป็น มหาราชตระกูล
               ส่วนพระเจ้าสุตโสม คือ เราตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้แล.

               จบอรรถกถามหาสุตโสมชาดกที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

               รวมชาดกที่มีในอสีตินิบาตนี้ คือ
                         ๑. จุลลหังสชาดก ว่าด้วย พระยาหงส์ทรงติดบ่วง
                         ๒. มหาหังสชาดก ว่าด้วย หงส์ชื่อสุมุขะ ไม่ละทิ้งพระยาหงส์ผู้ติดบ่วง
                         ๓. สุธาโภชนชาดก ว่าด้วย ของกินอันเป็นทิพย์
                         ๔. กุณาลชาดก ว่าด้วย นางนกดุเหว่า
                         ๕. มหาสุตโสมชาดก ว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท.
               จบ อสีตินิบาตชาดก.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา มหาสุตโสมชาดก ว่าด้วย พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานพระยาโปริสาท จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 296 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 315 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 394 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=2258&Z=2606
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=8275
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=8275
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :