ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา สุวรรณสามชาดก
ว่าด้วย สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้าเราบอกว่า เราเป็นเทวดา นาค ยักษ์ กินนร หรือเป็นกษัตริย์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. พระราชานี้ย่อมเชื่อคำของเรา เราควรกล่าวความจริงเท่านั้น ดำริฉะนี้แล้วจึงทูลว่า
               ขอจงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรฤาษี ผู้เป็นบุตรของนายพราน ญาติทั้งหลายเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สามะ. วันนี้ข้าพระองค์ถึงปากมรณะนอนอยู่อย่างนี้. ข้าพระองค์ถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรใหญ่อาบยาพิษ เหมือนมฤคที่ถูกพรานป่ายิงแล้ว ฉะนั้น.
               ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทอดพระเนตร ซึ่งข้าพระองค์ผู้นอนจมอยู่ในโลหิตของตน. เชิญทอดพระเนตรลูกศรอันแล่นเข้าข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย. ข้าพระองค์บ้วนโลหิตอยู่ เป็นผู้กระสับกระส่าย. ขอทูลถามพระองค์ว่า พระองค์ยิงข้าพระองค์แล้ว จะซ่อนพระองค์อยู่ทำไม.
               เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์เข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์เป็นผู้ควรยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภทฺทนฺเต ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรฤาษีผู้เป็นบุตรนายพราน.
               บทว่า ชีวนฺตํ ความว่า ญาติทั้งหลายเมื่อเรียกขานข้าพระองค์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เมื่อก่อนแต่นี้ว่า มาเถิดสามะ ไปเถิดสามะ ก็ได้เรียกกันว่า สามะ. บทว่า สวาชฺเชวงฺคโต ความว่า วันนี้ ข้าพระองค์นั้นไป คือถึง คือเข้าไปในปากแห่งมรณะแล้วอย่างนี้.
               บทว่า สเย แปลว่า นอนอยู่ มฤคถูกพรานป่ายิงด้วยลูกศรใหญ่อาบยาพิษ ฉันใด แม้ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น คือเป็นผู้ถูกพระองค์ทรงยิงอย่างนั้น. บทว่า ปริปลุโต ความว่า นอนจม ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรข้าพระองค์ผู้นอนอยู่เห็นปานนี้. บทว่า ปฏิวามคตํ ความว่า เข้าทางข้างขวาแล้วทะลุออกทางข้างซ้าย.
               บทว่า ปสฺส ได้แก่ โปรดทอดพระเนตรข้าพระองค์. บทว่า ถิมฺหามิ แปลว่า บ้วนอยู่ พระมหาสัตว์นั้นดำรงสติมั่นไม่หวั่นไหวเลย ถ่มโลหิต ตรัสแล้วด้วยประการฉะนี้. บทว่า อาตุโร ความว่า ข้าพระองค์เจ็บหนักขอทูลถามพระองค์. บทว่า นิลียสิ ความว่า ประทับนั่งอยู่ในพุ่มไม้แห่งหนึ่ง. บทว่า วิทฺเธยฺยํ แปลว่า ควรยิง.
               บทว่า อมญฺญถ ความว่า ได้เข้าใจว่าเหมือนมฤค.

               พระราชาทรงสดับคำของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่ตรัสบอกตามจริง เมื่อจะตรัสคำเท็จจึงตรัสว่า
               ดูก่อนสามะ มฤคปรากฏแล้ว มาสู่ระยะลูกศรเห็นท่านเข้าก็หนีไป เพราะเหตุนั้น เราจึงเกิดความโกรธ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุพฺพิชฺชิ แปลว่า หนีไป. บทว่า อาวิสิ ได้แก่ ท่วมทับ พระราชาทรงแสดงว่า ความโกรธเกิดขึ้นแก่เราเพราะเหตุนั้น.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์ตรัสอะไร ขึ้นชื่อว่า มฤคที่เห็นข้าพระองค์แล้วหนีไป ไม่มีในหิมวันตประเทศนี้ แล้วทูลว่า
               จำเดิมแต่ข้าพระองค์จำความได้ รู้จักถูกและผิด. ฝูงมฤคในป่าแม้ดุร้าย ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์. จำเดิมแต่ข้าพระองค์นุ่งผ้าเปลือกไม้ ตั้งอยู่ในปฐมวัย ฝูงมฤคในป่าแม้ดุร้าย ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดอยู่ภูเขาคันธมาทน์ เห็นข้าพระองค์ย่อมไม่สะดุ้งกลัว. เราทั้งหลายต่างชื่นชมต่อกันไปสู่ภูเขาและป่า. เมื่อเป็นเช่นนี้ มฤคทั้งหลายจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์ด้วยเหตุไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มํ มิคา ความว่า ธรรมดามฤคทั้งหลายเห็นข้าพระองค์แล้ว ย่อมไม่สะดุ้งกลัว. บทว่า สาปทานิ ได้แก่ พาลมฤค.
               บทว่า ยโต นิธึ ความว่า จำเดิมแต่กาลที่ข้าพระองค์นุ่ง คือทรงผ้าเปลือกไม้.
               บทว่า ภีรู กึปุริสา ราช ความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ มฤคทั้งหลายจงยกไว้ก่อน ธรรมดากินนรทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ขลาดอย่างยิ่ง กินนรเหล่าใดอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์นี้ กินนรแม้เหล่านั้นเห็นข้าพระองค์แล้ว ย่อมไม่สะดุ้งกลัว พวกเราชื่นชมต่อกันและกัน ไปตามป่าเขาลำเนาไพรโดยแท้แล.
               บทว่า อุตฺราสนฺติ มิคา มมํ ความว่า พระมหาสัตว์แสดงความว่าเพราะเหตุไร พระองค์จึงจักให้ข้าพระองค์เชื่อว่า มฤคทั้งหลายเห็นข้าพระองค์แล้วสะดุ้งกลัว.

               พระราชาได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เรายิงสุวรรณสาม ผู้ไร้ความผิดนี้แล้ว ยังกล่าวมุสาวาทอีก เราจักกล่าวคำจริงเท่านั้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า
               ดูก่อนสามะ เนื้อเห็นท่านแล้ว หาได้ตกใจไม่. เรากล่าวเท็จแก่ท่านดอก เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำแล้ว จึงยิงท่านด้วยลูกศรนั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตทฺทส ความว่า เนื้อเห็นท่านแล้วไม่ตกใจ.
               บทว่า กินฺตาหํ ความว่า เรากล่าวเท็จในสำนักของท่านผู้มีทัศนะงามอย่างนี้ดอก.
               บทว่า โกธโลภาภิภูตาหํ ความว่า เราเป็นผู้อันความโกรธและความโลภครอบงำแล้ว. ก็เมื่อเนื้อทั้งหลายข้ามลงก่อนแล้วนั่นแล เรานั้นจักยิงเนื้อทั้งหลายเพราะความโกรธ เรายืนยกธนูอยู่. ภายหลังได้เห็นพระโพธิสัตว์ ไม่รู้ว่าพระโพธิสัตว์นั้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาเทวดาเป็นต้น จักถามพระโพธิสัตว์นั้น พระราชายังความโลภให้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ ฉะนั้นจึงตรัสอย่างนี้.

               ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงดำริว่า สุวรรณสามนี้จะมิได้อยู่อาศัยในป่านี้แต่ผู้เดียวเท่านั้น ญาติทั้งหลายของเขาพึงมีแน่ จักถามเขาดู จึงตรัสคาถาอีกว่า
               ดูก่อนสามะ ท่านมาแต่ไหน หรือใครใช้ท่านมา. ท่านผู้จะตักน้ำจึงไปสู่แม่น้ำมิคสัมมตา แล้วกลับมา.


               บรรดาบทเหล่านั้น พระราชาตรัสเรียกพระโพธิสัตว์ ด้วยบทว่า สาม.
               บทว่า อาคมฺม ความว่า จากประเทศไหนมาสู่ป่านี้.
               บทว่า กสฺส วา ปหิโต ความว่า ท่านถูกใครส่งไปด้วยคำว่า จงไปสู่แม่น้ำเพื่อนำน้ำมาแก่พวกเรา ดังนี้ จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตานี้.

               พระโพธิสัตว์ได้สดับพระดำรัสของพระราชาแล้ว กลั้นทุกขเวทนาเป็นอันมาก บ้วนโลหิตแล้วกล่าวคาถาว่า
               บิดามารดาของข้าพระองค์ตาบอด ข้าพระองค์เลี้ยงท่านเหล่านั้นอยู่ในป่าใหญ่. ข้าพระองค์นำน้ำมาเพื่อท่านทั้งสองนั้น จึงมาแม่น้ำมิคสัมมตา.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภรามิ ความว่า นำมูลผลาผลเป็นต้นมาเลี้ยงดู.

               ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็บ่นรำพันปรารภบิดามารดา กล่าวว่า
               อาหารของบิดามารดานั้นยังพอมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตของท่านทั้งสองนั้นจักดำรงอยู่ราวหกวัน. ท่านทั้งสองนั้นตามืด เกรงจักตายเสียเพราะไม่ได้ดื่มน้ำ.
               ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความทุกข์ของข้าพระองค์นักไม่ เพราะความทุกข์นี้อันบุรุษจะต้องได้ประสบ.
               ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นบิดามารดา เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ ยิ่งกว่าความทุกข์ เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้เสียอีก.
               ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความทุกข์ของข้าพระองค์นักไม่เพราะความทุกข์นี้อันบุรุษจะต้องได้ประสบ.
               บิดามารดาทั้งสองนั้นเป็นกำพร้าเข็ญใจ จะร้องไห้อยู่ตลอดราตรีนาน จักเหือดแห้งไปในกึ่งราตรีหรือในที่สุดราตรี ดุจแม่น้ำน้อยในคิมหฤดูจักเหือดแห้งไป.
               ข้าพระองค์เคยหมั่นบำรุงบำเรอนวดมือเท้าของท่านทั้งสองนั้น. บัดนี้ไม่เห็นข้าพระองค์ ท่านทั้งสองจักบ่นเรียกหาว่า พ่อสามๆ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่.
               ลูกศร คือความโศก ที่สองนี้แหละ ยังหัวใจของข้าพระองค์ให้หวั่นไหว เพราะข้าพระองค์ไม่ได้เห็นท่านทั้งสอง ผู้จักษุบอด ข้าพระองค์เห็นจักละเสียซึ่งชีวิต.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุสามตฺตํ ได้แก่ พอเป็นอาหาร.
               ได้ยินว่า คำว่า อุสา เป็นชื่อของโภชนาหาร ความว่า บิดามารดาทั้งสองนั้นยังมีโภชนาหาร.
               บทว่า อถ สาหสฺส ชีวิตํ ความว่า มีชีวิตอยู่ได้ประมาณหกวัน. พระมหาสัตว์กล่าวคำนี้ หมายถึงผลาผลที่นำมาตั้งไว้
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อุสา ได้แก่ ไออุ่น ด้วยบทนั้น พระมหาสัตว์แสดงความนี้ว่า ในร่างกายของบิดามารดาทั้งสองนั้นพอมีไออุ่นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีชีวิตอยู่ได้หกวัน ด้วยผลาผลที่ข้าพระองค์นำมา.
               บทว่า มริสฺสเร แปลว่า จักตาย ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงนี้ ถึงเป็นความทุกข์ก็จริง แต่ไม่เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ เพราะเหตุไรจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า ปุมุนา ได้แก่ อันบุรุษ ความว่า ความทุกข์เห็นปานนั้นนี้ อันบุรุษพึงได้ประสบทั้งนั้น ก็เพราะความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็น คุณแม่ปาริกานั้น เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ ยิ่งกว่าความทุกข์เพราะถูกพระองค์ ยิงนี้ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า.
               บทว่า จิรํ รตฺตาย รุจฺจติ ความว่า จักร้องไห้ตลอดราตรีนาน.
               บทว่า อฑฺฒรตฺเต ได้แก่ ในสมัยกึ่งราตรี.
               บทว่า รตฺเต วา ได้แก่ ในสุดท้ายราตรี.
               บทว่า อวสุสฺสติ ได้แก่ จักเหือดแห้ง อธิบายว่า จักเหือดแห้งไปเหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อน.
               บทว่า อุฏฺฐานปาทจริยาย ความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ ข้าพระองค์ลุกขึ้นคืนละสองสามครั้ง หรือวันละสองสามครั้ง ปฏิบัติรับใช้บิดามารดาทั้งสองนั้น นวดมือเท้าของท่านทั้งสองนั้น ด้วยความหมั่นเพียรของข้าพระองค์. บัดนี้ ท่านทั้งสองผู้มีจักษุมืดนั้นไม่เห็นข้าพระองค์ จักลุกขึ้นเพื่อต้องการการปฏิบัตินั้นๆ จักบ่นรำพันว่า พ่อสาม พ่อสาม จักถูกหนามตำเอาเที่ยวไปในหิมวันตประเทศนี้.
               บทว่า ทุติยํ ความว่า ลูกศร คือความโศกเพราะไม่ได้เห็นบิดามารดาทั้งสองนั้น ซึ่งเป็นความทุกข์ที่สองนี้ เป็นความทุกข์กว่า ถูกลูกศรอาบยาพิษยิงเอาครั้งแรก ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า.

               พระราชาทรงฟังความคร่ำครวญของพระโพธิสัตว์ ทรงคิดว่า บุรุษนี้เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติบิดามารดาเยี่ยมยอด. บัดนี้ ได้ความทุกข์ถึงเพียงนี้ ยังคร่ำครวญถึงบิดามารดา เราได้ทำความผิดในบุรุษ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างนี้. เราควรเล้าโลมเอาใจบุรุษนี้อย่างไรดีหนอ. แล้วทรงสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เราตกนรก ราชสมบัติจักทำอะไรได้ เราจักปฏิบัติบิดามารดาของบุรุษนี้ โดยทำนองที่บุรุษนี้ปฏิบัติแล้ว. การตายของบุรุษนี้จักเป็นเหมือนไม่ตาย ด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสว่า
               ดูก่อนสามะผู้งดงามน่าดู ท่านอย่าปริเทวะมากเลย เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้นว่าเป็นผู้แม่นยำนัก จักฆ่ามฤคและแสวงหามูลผลาหารป่ามา ทำการงานเลี้ยงบิดามารดาของท่านในป่าใหญ่. ดูก่อนสามะ ป่าที่บิดามารดาของท่านอยู่ อยู่ที่ไหน. เราจักเลี้ยงบิดามารดาของท่าน ให้เหมือนท่านเลี้ยง.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภริสฺสนฺเต ความว่า เราจักเลี้ยงบิดามารดาของท่านเหล่านั้น.
               บทว่า มิคานํ ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองและมฤคเป็นต้น.
               บทว่า วิฆาสมนฺเวสํ ความว่า แสวงหา คือเสาะหาซึ่งอาหาร.
               พระราชาตรัสว่า เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ จักฆ่ามฤคอ้วนๆ เลี้ยงบิดามารดาของท่าน ด้วยมังสะอันอร่อย ดังนี้. เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์อย่าทำการฆ่าสัตว์เพราะเหตุพวกข้าพระองค์เลย ดังนี้ จึงตรัสคำนี้อย่างนี้.
               บทว่า ยถา เต ความว่า ท่านได้เลี้ยงท่านทั้งสองนั้นอย่างใด แม้ข้าพเจ้าก็จักเลี้ยงท่านทั้งสองนั้นอย่างนั้น เหมือนกัน.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้สดับพระวาจาของพระราชานั้นแล้วจึงทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดเลี้ยงดูบิดามารดาของข้าพระองค์เถิด เมื่อจะชี้ทางให้ทรงทราบ จึงทูลว่า
               ข้าแต่พระราชา หนทางที่เดินเฉพาะคนเดียว ซึ่งอยู่ทางหัวนอนของข้าพระองค์นี้ เสด็จดำเนินไปแต่ที่นี้ระหว่างกึ่งเสียงกู่ จะถึงสถานที่อยู่แห่งบิดามารดาของข้าพระองค์ ขอเสด็จดำเนินแต่ที่นี้ไป เลี้ยงดูท่านทั้งสองในสถานที่นั้นเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกปที แปลว่า ทางเดินเฉพาะคนเดียว. บทว่า อุสฺสีสเก ได้แก่ ในที่ด้านศีรษะของข้าพระองค์นี้. บทว่า อฑฺฒโฆสํ แปลว่า ระหว่างกึ่งเสียงกู่.

               พระมหาสัตว์ทูลชี้ทางแด่พระราชาอย่างนี้แล้ว กลั้นเวทนาเห็นปานนั้นไว้ ด้วยความสิเนหาในบิดามารดาเป็นกำลัง ประคองอัญชลีทูลวิงวอนเพื่อต้องการให้เลี้ยงดูบิดามารดา ได้ทูลอย่างนี้อีกว่า
               ข้าแต่พระเจ้ากาสิราช ข้าพระบาทขอน้อมกราบพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ยังชาวกาสีให้เจริญ. ข้าพระบาทขอน้อมกราบพระองค์ ขอพระองค์ทรงบำรุงเลี้ยงบิดามารดาตามืดของข้าพระองค์ในป่าใหญ่. ข้าพระองค์ขอประคองอัญชลีถวายบังคมพระองค์. ขอพระองค์มีพระดำรัสกะบิดามารดาของข้าพระองค์ให้ทราบว่า ข้าพระองค์ไหว้นบท่านด้วย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺโต วชฺชาสิ ความว่า พระมหาสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์ผู้อันข้าพระองค์กราบทูลแล้ว โปรดตรัสบอกการกราบไหว้ให้บิดามารดาทราบอย่างนี้ว่า สามะบุตรของท่านทั้งสอง ถูกเรายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษที่ริมฝั่งแม่น้ำ. นอนตะแคงข้างขวา เหนือหาดทรายคล้ายแผ่นเงิน ประคองอัญชลีแก่ท่าน กราบไหว้เท้าทั้งสองของท่าน.

               พระราชาทรงรับคำพระมหาสัตว์ส่งการไหว้บิดามารดาแล้ว ก็ถึงวิสัญญีสลบนิ่งไป.
               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
               หนุ่มสามะผู้งดงามน่าดูนั้น ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ถูกกำลังแห่งพิษซาบซ่าน เป็นผู้วิสัญญีสลบไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมปชฺชถ ได้แก่ เป็นผู้วิสัญญี.

               พระมหาสัตว์นั้น เมื่อกล่าวมาได้เพียงเท่านี้ก็ดับอัสสาสะ ไม่ได้กล่าวต่อไปอีกเลย. ก็ในกาลนั้น ถ้อยคำที่เป็นไปอาศัยหทัยรูป ซึ่งติดต่อจิตแห่งพระโพธิสัตว์นั้นขาดแล้ว เพราะกำลังแห่งพิษซาบซ่าน โอฐของพระโพธิสัตว์ก็ปิด จักษุก็หลับ มือเท้าแข็งกระด้าง ร่างกายทั้งสิ้นเปื้อนโลหิต.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงคิดว่า สุวรรณสามนี้ พูดกับเราอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นอะไรไปหนอ จึงทรงพิจารณาตรวจดูลมอัสสาสะปัสสาสะของพระโพธิสัตว์. ก็ลมอัสสาสะปัสสาสะดับแล้ว สรีระก็แข็งแล้ว. พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้น ก็ทรงทราบว่า บัดนี้สุวรรณสามตายแล้วดับแล้ว ไม่ทรงสามารถที่จะกลั้นความโศกไว้ได้ ก็วางพระหัตถ์ไว้บนพระเศียรครวญคร่ำรำพันด้วยเสียงอันดัง.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
               พระราชานั้นทรงคร่ำครวญน่าสงสาร เป็นอันมากว่า เราสำคัญว่าจะไม่แก่ไม่ตาย เรารู้เรื่องนี้วันนี้ แต่ก่อนหารู้ไม่. เพราะได้เห็นสามบัณฑิตทำกาลกิริยา ความไม่มาแห่งมฤตยูย่อมไม่มี.
               สามบัณฑิตถูกลูกศรอาบยาพิษ ซึมซาบแล้วพูดอยู่กะเรา. ครั้นกาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ ไม่พูดอะไรๆ เลย เราจะต้องไปสู่นรกแน่นอน เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย เพราะว่าบาปหยาบช้า อันเราทำแล้วตลอดราตรีนานในกาลนั้น.
               เราทำกรรมหยาบช้าในบ้านเมือง คนทั้งหลายจะติเตียนเรา. ใครเล่าจะควรมากล่าวติเตียนเราในราวป่า อันหามนุษย์มิได้. คนทั้งหลายจะประชุมกันในบ้านเมือง โจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา. ใครเล่าหนอจะโจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา ในป่าอันหามนุษย์มิได้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึ ความว่า เราได้มีความสำคัญว่า จะไม่แก่ไม่ตายมาตลอดกาลเท่านี้.
               บทว่า อชฺเชตํ ความว่า วันนี้เราได้เห็นสามบัณฑิตนี้ทำกาลกิริยา จึงรู้ว่าทั้งตัวเราและเหล่าสัตว์อื่นๆ ต้องแก่ต้องตายทั้งนั้น. บทว่า นตฺถิ มจฺจุสฺส นาคโม ความว่า พระราชาทรงครวญคร่ำรำพันว่า ความมาแห่งมัจจุนั้น เรารู้ในวันนี้เอง เมื่อก่อนแต่นี้ เราไม่รู้เลย.
               บทว่า สฺวาชฺเชวงฺคเต กาเล ความว่า พระราชาทรงแสดงว่า สามบัณฑิตใดถูกลูกศรอาบยาพิษซึมซาบแล้ว เจรจาอยู่กะเราในบัดนี้ทีเดียว. สามบัณฑิตนั้น ครั้นมรณกาลไป คือเป็นไปอย่างนี้ในวันนี้ ไม่กล่าวอะไรๆ แม้แต่น้อยเลย.
               บทว่า ตทา หิ ความว่า เราผู้ยิงสามบัณฑิตในขณะนั้นได้กระทำบาปแล้ว.
               บทว่า จิรํ รตฺตาย กิพฺพิสํ ความว่า ก็บาปนั้นทารุณหยาบช้าสามารถทำให้เดือดร้อนตลอดราตรีนาน.
               บทว่า ตสฺส ความว่า ติเตียนเรานั้นผู้เที่ยวทำกรรมชั่วเห็นปานนี้.
               บทว่า วตฺตาโร ความว่า ย่อมติเตียน. ติเตียนที่ไหน? ติเตียนในบ้าน. ติเตียนว่าอย่างไร? ติเตียนว่าเป็นผู้ทำกรรมหยาบช้า.

               พระราชาทรงคร่ำครวญว่า ก็ในป่าอันหามนุษย์มิได้นี้ ใครเล่าควรจะกล่าวติเตียนเรา ถ้าจะมี ก็พึงว่ากล่าวเรา. บทว่า สารยนฺติ ได้แก่ ในบ้านหรือในนิคมเป็นต้น. บทว่า สํคจฺฉ มาณวา ความว่า คนทั้งหลายจะประชุมกันในที่นั้นๆ จะยังกันและกันให้ระลึกถึงกรรมทั้งหลาย จะโจทนาอย่างนี้ว่า แน่ะท่านผู้ฆ่าคน ท่านทำทารุณกรรม ท่านต้องได้รับโทษอย่างโน้น. แต่ในป่าอันหามนุษย์มิได้นี้ ใครเล่าจักยังพระราชานี้ให้ระลึกถึงกรรม พระราชาทรงโจทนาตนคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               กาลนั้น เทพธิดามีนามว่า พสุนธรี อยู่ภูเขาคันธมาทน์ เคยเป็นมารดาของพระมหาสัตว์ ในอัตภาพที่เจ็ด พิจารณาดูพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ ด้วยความสิเนหาในบุตร. ก็วันนั้นนางเสวยทิพยสมบัติ มิได้พิจารณาดูพระมหาสัตว์. บางอาจารย์ว่า นางไปสู่เทวสมาคมเสีย ดังนี้ก็มี.
               ในเวลาที่พระมหาสัตว์สลบ นางพิจารณาดูว่า ความเป็นไปของบุตรเราเป็นอย่างไรบ้างหนอ. ได้เห็นว่า พระเจ้าปิลยักษ์นี้ ยิงบุตรของเราด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ล้มอยู่ที่หาดทรายฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา พร่ำรำพันด้วยเสียงอันดัง. ถ้าเราจักไม่ไปในที่นั้น สุวรรณสามบุตรของเราจักพินาศอยู่ในที่นี้ แม้พระหทัยของพระราชาก็จักแตก. บิดามารดาของสามะจักอดอาหาร จะไม่ได้น้ำดื่ม จักเหือดแห้งตาย. แต่เมื่อเราไป พระราชาจักถือเอาหม้อน้ำดื่มไป สู่สำนักบิดามารดาของสุวรรณสามนั้น. ก็แลครั้นเสด็จไปแล้วจักรับสั่งว่า บุตรของท่านทั้งสอง เราฆ่าเสียแล้ว และทรงสดับคำของท่านทั้งสองนั้นแล้ว จักนำท่านทั้งสองนั้นไปสู่สำนักของสุวรรณสามผู้บุตร.
               เมื่อเป็นเช่นนี้ ดาบสดาบสินีทั้งสอง และเราจักทำสัจจกิริยา. พิษของสุวรรณสามก็จักหาย บุตรของเราจักได้ชีวิตคืนมา จักษุทั้งสองข้างของบิดามารดาสุวรรณสามจักแลเห็นเป็นปกติ และพระราชาจักได้ทรงสดับธรรมเทศนาของสุวรรณสาม เสด็จกลับพระนคร ทรงบริจาคมหาทาน ครองราชสมบัติโดยยุติธรรม มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้น เราจะไปในที่นั้น เทพธิดานั้นจึงไปสถิตอยู่ในอากาศโดยไม่ปรากฏกาย ที่ฝั่งมิคสัมมตานที กล่าวกับพระเจ้าปิลยักขราช.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               เทพธิดานั้นอันตรธานไปในภูเขาคันธมาทน์ มาภาษิตคาถาเหล่านี้ เพื่ออนุเคราะห์พระราชาว่า พระองค์ทำความผิดมาก ได้ทำกรรมอันชั่วช้า. บิดามารดาและบุตรทั้งสาม ผู้หาความประทุษร้ายมิได้ ถูกพระองค์ฆ่าเสียด้วยลูกศรลูกเดียวกัน.
               เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะพร่ำสอนพระองค์ ด้วยวิธีที่พระองค์จะได้สุคติ. พระองค์จงเลี้ยงดูบิดามารดาทั้งสอง ผู้มีจักษุมืดโดยธรรมในป่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สุคติจะพึงมีแก่พระองค์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รญฺโญว แปลว่า พระราชานั่นแหละ.
               บทว่า อาคุํ กริ ความว่า ดูก่อนพระราชาผู้ใหญ่ พระองค์ได้ทรงกระทำความผิดมาก คือบาปมาก.
               บทว่า ทุกฺกฏํ ความว่า ความชั่วใดที่พระองค์กระทำแล้วมีอยู่ พระองค์ได้กระทำแล้วซึ่งความชั่วนั้นอันเป็นกรรมลามก.
               บทว่า อทูสกา แปลว่า ผู้หาโทษมิได้. บทว่า ปิตาปุตฺตา ความว่า ชนสามคนเหล่านี้ คือมารดาหนึ่ง บิดาหนึ่ง บุตรหนึ่ง พระองค์ฆ่าด้วยลูกศรลูกเดียว ด้วยว่าเมื่อพระองค์ฆ่าสุวรรณสามนั้น แม้บิดามารดาของสุวรรณสาม ผู้ปฏิพัทธ์สุวรรณสามนั้น ย่อมเป็นอันพระองค์ฆ่าเสียเหมือนกัน.
               บทว่า อนุสิกฺขามิ ความว่า จักให้ศึกษา คือจักพร่ำสอน.
               บทว่า โปเส ความว่า จงตั้งอยู่ในฐานะสุวรรณสาม ยังความสิเนหาให้เกิดขึ้น เลี้ยงดูบิดามารดาทั้งสองซึ่งตาบอดนั้น ราวกะว่าสุวรรณสาม. บทว่า มญฺเญหํ สุคตี สิยา ความว่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระองค์จักพึงไปสุคติเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

               พระราชาทรงสดับคำของเทพธิดาแล้วทรงเชื่อว่า เราเลี้ยงบิดามารดาของสุวรรณสามแล้ว จักไปสู่สวรรค์. ทรงดำริว่า เราจะต้องการราชสมบัติทำไม. เราจักเลี้ยงดูท่านทั้งสองนั้น ทรงตั้งพระหฤทัยมั่น ทรงร่ำไรรำพันเป็นกำลัง ทรงทำความโศกให้เบาบาง เข้าพระหฤทัยว่า สุวรรณสามโพธิสัตว์สิ้นชีพแล้ว จึงทรงบูชาสรีระของพระโพธิสัตว์นั้น ด้วยบุปผชาติต่างๆ ประพรมด้วยน้ำ. ทำประทักษิณสามรอบ ทรงกราบในฐานะทั้งสี่ แล้วถือหม้อน้ำที่พระโพธิสัตว์ใส่ไว้เต็มแล้ว ถึงความโทมนัส บ่ายพระพักตร์ทางทิศทักษิณเสด็จไป.
               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
               พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก ทรงถือหม้อน้ำ บ่ายพระพักตร์ทางทิศทักษิณเสด็จหลีกไปแล้ว.


               แม้โดยปกติพระราชาเป็นผู้มีพระกำลังมาก ทรงถือหม้อน้ำ เข้าไปสู่อาศรมบท ถึงประตูบรรณศาลาของทุกูลบัณฑิต ดุจบุคคลกระแทกอาศรมให้กระเทือน. ทุกูลบัณฑิตนั่งอยู่ภายใน ได้ฟังเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักขราช ก็นึกในใจว่า นี้ไม่ใช่เสียงแห่งฝีเท้าสุวรรณสามบุตรเรา เสียงฝีเท้าใครหนอ.
               เมื่อจะถาม จึงกล่าวคาถาสองคาถาว่า
               นั่นเสียงฝีเท้าใครหนอ เสียงฝีเท้ามนุษย์เดินเป็นแน่ เสียงฝีเท้าสามบุตรเราไม่ดัง. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ สามบุตรเราเดินเบาวางเท้าเบา เสียงฝีเท้าสามบุตรเราไม่ดัง ท่านเป็นใครหนอ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนุสฺสสฺเสว ความว่า เสียงฝีเท้าที่มานี้ไม่ใช่ของราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ยักษ์ และกินนรเป็นต้น เป็นเสียงฝีเท้าของมนุษย์แน่ แต่ไม่ใช่ของสุวรรณสาม. บทว่า สนฺตํ หิ ได้แก่ เงียบ. บทว่า วชฺชติ ได้แก่ ก้าวไป. บทว่า หญฺญติ ได้แก่ วาง.

               พระราชาได้สดับคำถามนั้น ทรงดำริว่า ถ้าเราไม่บอกความที่เราเป็นพระราชา บอกว่าเราฆ่าบุตรของท่านเสียแล้ว. ท่านทั้งสองนี้จักโกรธเรา กล่าวคำหยาบกะเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความโกรธในท่านทั้งสองนี้ ก็จักเกิดขึ้นแก่เรา. ครั้นความโกรธเกิดขึ้น เราก็จักเบียดเบียนท่านทั้งสองนั้น กรรมนั้นจักเป็นอกุศลของเรา. แต่เมื่อเราบอกว่าเราเป็นพระราชา ชื่อว่าผู้ที่ไม่เกรงกลัว ย่อมไม่มี. เพราะฉะนั้น เราจะบอกความที่เราเป็นพระราชาก่อน ทรงดำริฉะนี้แล้ว ทรงวางหม้อน้ำ ไว้ที่โรงน้ำดื่ม แล้วประทับยืนที่ประตูบรรณศาลา.
               เมื่อจะแสดงพระองค์ให้ฤาษีรู้จัก จึงตรัสว่า
               เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์. เราละแว่นแคว้นเที่ยว แสวงหามฤคเพราะความโลภ. อนึ่ง เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำนัก. แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศรของเราก็ไม่พึงพ้นไปได้.


               ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระราชา จึงทูลว่า
               ข้าแต่มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้. พระองค์ผู้มีอิสระเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้. ข้าแต่มหาบพิตร เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย. ขอได้โปรดเลือกเสวยผลที่ดีๆ เถิด. ข้าแต่มหาบพิตร ขอจงทรงดื่มน้ำซึ่งเป็นน้ำเย็น นำมาแต่มิคสัมมตานที ซึ่งไหลจากซอกเขา ถ้าทรงพระประสงค์.


               เนื้อความของคาถานั้น ได้กล่าวไว้แล้วในสัตติคุมพชาดก แต่ในที่นี้ บทว่า คิริคพฺภรา ท่านกล่าวหมายเอามิคสัมมตานที เพราะมิคสัมมตานที นั้นไหลมาแต่ซอกเขา จึงชื่อว่าเกิดแต่ซอกเขา.

               เมื่อดาบสทำปฏิสันถารอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงคิดว่า เราไม่ควรจะบอกว่า เราฆ่าบุตรของท่านเสียแล้ว. ดังนี้ก่อน ทำเหมือนไม่รู้ พูดเรื่องอะไรๆ ไปก่อนแล้วจึงบอก ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า
               ท่านทั้งสองจักษุมืด ไม่สามารถจะเห็นอะไรๆในป่า ใครเล่าหนอนำผลไม้มาเพื่อท่านทั้งสอง. ความสะสมผลไม้น้อยใหญ่ไว้ โดยเรียบร้อยนี้ ปรากฏแก่ข้าพเจ้าว่า ดูเหมือนคนตาดีสะสมไว้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาลํ ความว่า ท่านทั้งสองตามืด ไม่สามารถจะมองเห็นอะไรๆ ในป่านี้ได้. บทว่า โก นุ โว ผลมาหริ ความว่า ใครหนอนำผลไม้น้อยใหญ่มาเพื่อท่านทั้งสอง. บทว่า นิวาโป ความว่า การเก็บ คือสะสมผลไม้น้อยใหญ่ที่บริสุทธิ์ดี ซึ่งควรที่จะรับประทานที่ทำไว้อย่างเรียบร้อย คือโดยนัย โดยอุบาย โดยเหตุนี้. บทว่า อนนฺธสฺเสว ความว่า ย่อมปรากฏ คือเข้าไปตั้งไว้ แก่เราเหมือนคนตาดีทำไว้.

               ทุกูลบัณฑิตได้ฟังดังนั้น เพื่อจะแสดงว่ามูลผลาผลตนมิได้นำมา แต่บุตรของตนนำมา จึงได้กล่าวสองคาถาว่า
               สามะหนุ่มน้อยรูปร่างสันทัดงดงามน่าดู เกศาของเธอยาวดำ เฟื้อยลงไปปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน. เธอนั่นแหละนำผลไม้มา ถือหม้อน้ำจากที่นี่ ไปสู่แม่น้ำนำน้ำมา เห็นจะกลับมาใกล้แล้ว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาติพฺรหา ความว่า ไม่สูงไป ไม่เตี้ยไป.
               บทว่า สุนคฺคเวลฺลิตา ความว่า งอนขึ้นเหมือนปลายมีดเชือดเนื้อสำหรับสับเนื้อ กล่าวคือมีปลายงอนขึ้น. บทว่า กมณฺฑลุํ ได้แก่ หม้อ. บทว่า ทูรมาคโต ความว่า เข้าใจว่า บัดนี้พ่อสุวรรณสามจักมาใกล้แล้ว คือจักมาแล้วสู่ที่ใกล้.

               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า

.. อรรถกถา สุวรรณสามชาดก ว่าด้วย สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 442 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 482 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 525 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3201&Z=3441
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=2349
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=2349
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :