พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า
ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้ปฏิบัติบำรุงท่านเสียแล้ว ผู้เป็นเจ้ากล่าวถึงสามกุมารผู้งดงามน่าดูใด เกศาของสามกุมารนั้นยาวดำ
เฟื้อยลงไปปลายงอนช้อนขึ้นเบื้องบน สามกุมารนั้นข้าพเจ้าฆ่าเสียแล้ว นอนอยู่ที่หาดทรายเปรอะเปื้อนด้วยโลหิต.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวธึ ความว่า ข้าพเจ้ายิงด้วยลูกศรยิงมฤคให้ตายแล้ว.
บทว่า ปเวเทถ ได้แก่ กล่าวถึง.
บทว่า เสติ ความว่า นอนอยู่บนหาดทรายริมฝั่งมิคสัมมตานที.
ก็บรรณศาลาของปาริกาดาบสินีอยู่ใกล้ของทุกูลบัณฑิต. นางนั่งอยู่ในบรรณศาลานั้น ได้ฟังพระดำรัสของพระราชา
ก็ใคร่จะรู้ประพฤติการณ์นั้น จึงออกจากบรรณศาลาของตน ไปสำนักทุกูลบัณฑิตด้วยสำคัญเชือก ที่สำหรับสาวเดินไปได้กล่าวว่า
ข้าแต่ทุกูลบัณฑิต ท่านพูดกับใครซึ่งบอกว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหว
เพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว. กิ่งอ่อนแห่งต้นโพธิ์ใบ อันลมพัดให้หวั่นไหว ฉันใด ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว ฉันนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาทินา ความว่า ผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว.
บทว่า ปวาลํ ได้แก่ หน่ออ่อน.
บทว่า มาลุเตริตํ ความว่า ถูกลมพัดให้หวั่นไหว.
ลำดับนั้น ทุกูลบัณฑิต เมื่อจะโอวาทนางปาริกาดาบสินีนั้น จึงกล่าวว่า
ดูก่อนนางปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาสี พระองค์ทรงยิงสามกุมารด้วยลูกศร ที่มิคสัมมตานที ด้วยความโกรธ. เราทั้งสองอย่าปรารถนาบาปต่อพระองค์เลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิคสมฺมเต ความว่า ที่หาดทรายริมฝั่งมิคสัมมตานที.
บทว่า โกธสา ความว่า ด้วยความโกรธที่เกิดขึ้น ในเพราะมฤคทั้งหลาย.
บทว่า มา ปาปมิจฺฉิมฺหา ความว่า เราทั้งสองอย่าปรารถนาบาปต่อพระองค์เลย.
ปาริกาดาบสินีกล่าวอีกว่า
บุตรที่รักอันหาได้ด้วยยาก ผู้ได้เลี้ยงเราทั้งสอง ผู้ตามืดในป่า จะไม่ยังจิตให้โกรธ ในบุคคลผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้นได้อย่างไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆาตมฺหิ แปลว่า ในบุคคลผู้ฆ่า.
ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า
บุตรที่รักอันหาได้ด้วยยาก ผู้ได้เลี้ยงเราทั้งสอง ผู้ตามืดในป่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ไม่โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโกธํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ คือกล่าวถึงบุคคลผู้ไม่โกรธนั้นว่า ขึ้นชื่อว่าความโกรธ ย่อมทำให้ตกนรก ฉะนั้น. ไม่พึงทำความโกรธนั้น พึงทำความไม่โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรเท่านั้น.
ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ดาบสดาบสินีทั้งสองก็ข้อนทรวง ด้วยมือทั้งสอง พรรณนาคุณของพระมหาสัตว์ คร่ำครวญเป็นอันมาก.
ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักขราช เมื่อจะทรงเล้าโลมเอาใจดาบสทั้งสองนั้น จึงตรัสว่า
ขอผู้เป็นเจ้าทั้งสองอย่าคร่ำครวญ เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว ไปมากเลย.
ข้าพเจ้าจักรับการงานเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสอง ในป่าใหญ่. ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ปรากฏว่า เป็นผู้แม่นยำนัก.
ข้าพเจ้าจักรับการงานเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสอง ในป่าใหญ่. ข้าพเจ้าจักฆ่ามฤคและแสวงหามูลผลในป่า รับการงานเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาทินา ความว่า ท่านทั้งสองอย่ากล่าวคำเป็นต้นว่า บุตรผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอย่างนี้ของเรา
ถูกท่านผู้กล่าวอยู่กับข้าพเจ้าว่า ฆ่าสามกุมารเสียแล้วดังนี้ ฆ่าแล้ว. บัดนี้ใครจักเลี้ยงดูพวกเรา ดังนี้ คร่ำครวญมากไปเลย.
ข้าพเจ้าจักทำการงานแก่ท่านทั้งสอง เลี้ยงดูท่านทั้งสองเหมือนสามกุมาร. ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาได้ปลอบใจท่านทั้งสองนั้นว่า
ขอท่านทั้งสองอย่าได้คิดเลย ข้าพเจ้าไม่ต้องการราชสมบัติ ข้าพเจ้าจักเลี้ยงดูท่านทั้งสองตลอดชีวิต.
ลำดับนั้น ฝ่ายดาบสดาบสินีทั้งสองนั้นสนทนากับพระราชาทูลว่า
ขอถวายพระพรมหาบพิตร สภาพนั้นไม่สมควร การทรงทำอย่างนั้นไม่ควรในอาตมาทั้งสอง. พระองค์เป็นพระราชาของอาตมาทั้งสอง อาตมาทั้งสองขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาพหรือเหตุการณ์.
บทว่า เนตํ กปฺปติ ความว่า การกระทำการงานของพระองค์นั่น ย่อมไม่ควร คือไม่งาม ไม่สมควรในอาตมาทั้งสอง.
บทว่า ปาเท วนฺทาม เต ความว่า ก็ดาบสดาบสินีทั้งสองนั้น ตั้งอยู่ในเพศบรรพชิต ทูลพระราชาดังนี้ เพราะความโศกในบุตรครอบงำ และเพราะไม่มีมานะ.
พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงยินดีเหลือเกิน ทรงดำริว่า โอ น่าอัศจรรย์ แม้เพียงคำหยาบของฤาษีทั้งสองนี้ ก็ไม่มี ในเราผู้ทำความประทุษร้าย ถึงเพียงนี้
กลับยกย่องเราเสียอีก จึงตรัสอย่างนี้ว่า
ข้าแต่ท่านผู้เชื้อชาติเนสาท ท่านกล่าวเป็นธรรม ท่านบำเพ็ญความถ่อมตนแล้ว ขอท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า. ข้าแต่นางปาริกา ขอท่านจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตยา ความว่า เมื่อกล่าวเป็นคนๆ ก็กล่าวอย่างนี้.
บทว่า ปิตา เป็นต้น ความว่า ข้าแต่พ่อทุกูลบัณฑิต ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านจงตั้งอยู่ในฐานะแห่งบิดาของข้าพเจ้า.
ข้าแต่แม่ปาริกา แม้ท่านก็ขอจงตั้งอยู่ในฐานะแห่งมารดา ข้าพเจ้าก็จักตั้งอยู่ในฐานะแห่งสามกุมารบุตรของท่าน
กระทำกิจทุกอย่างมีล้างเท้าเป็นต้น. ขอท่านทั้งสองจงอย่ากำหนด ข้าพเจ้าว่าเป็นพระราชา จงกำหนดว่าเหมือนสามกุมารเถิด.
ดาบสทั้งสองประคองอัญชลีไหว้ เมื่อจะทูลวิงวอนว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ไม่มีหน้าที่ที่จะทำการงานแก่อาตมาทั้งสอง.
แต่ขอพระองค์จงทรงถือปลายไม้เท้าของอาตมาทั้งสอง นำไปแสดงตัวสุวรรณสามเถิด จึงกล่าวสองคาถาว่า
ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมาทั้งสองขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ยังชาวกาสีให้เจริญ อาตมาทั้งสองนอบน้อมแด่พระองค์ อาตมาทั้งสองประคองอัญชลีแด่พระองค์.
ขอพระองค์โปรดพาอาตมาทั้งสอง ไปให้ถึงสามกุมาร. อาตมาทั้งสองจะสัมผัสเท้าทั้งสองและดวงหน้าอันงดงามน่าดูของเธอ แล้วทรมานตนให้ถึงกาลกิริยา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว สามานุปาปย ความว่า โปรดพาอาตมาทั้งสองไปให้ถึงที่ที่สามกุมารอยู่.
บทว่า ภุชทสฺสนํ ความว่า สามกุมารผู้งามน่าดู คือมีรูปงามน่าเลื่อมใส.
บทว่า สํสุมฺภมานา ได้แก่ โบย.
บทว่า กาลมาคมยามฺหเส ความว่า จักกระทำ คือจักถึงกาลกิริยา.
เมื่อท่านเหล่านั้นสนทนากันอยู่อย่างนี้ พระอาทิตย์อัสดงคต. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า
ถ้าเรานำฤาษีทั้งสองผู้ตามืดไปในสำนักของสุวรรณสาม ในบัดนี้ทีเดียว หทัยของฤาษีทั้งสองจักแตกเพราะเห็นสุวรรณสามนั้น เราก็ชื่อว่านอนอยู่ในนรก.
ในกาลที่ท่านทั้งสามทำกาลกิริยา ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เราจักไม่ให้ฤาษีทั้งสองนั้นไป ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงตรัสคาถาสี่คาถาว่า
สามกุมารถูกฆ่านอนอยู่ที่ป่าใด ดุจดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ตกลงเหนือแผ่นดินแล้ว เกลือกเปื้อนด้วยฝุ่นทราย.
ป่านั้นเป็นป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ ผู้เป็นเจ้าทั้งสองจงอยู่ในอาศรมนี้แหละ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหา ได้แก่ สูงยิ่ง.
บทว่า อากาสนฺตํ ความว่า ป่านั่นแหละ เห็นกันทั่ว คือรู้กันทั่ว เป็นราวกะว่าที่สุดแห่งอากาศ.
อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อากาสนฺตํ ความว่า ทำให้เป็นรอยอยู่ คือประกาศอยู่.
บทว่า ฉมา ได้แก่ บนแผ่นดิน คือปฐพี. ปาฐะว่า ฉมํ ดังนี้ก็มี ความว่า เหมือนล้มลงบนแผ่นดิน.
บทว่า ปริกุณฺฐิโต ความว่า เปรอะเปื้อน คือพัวพัน.
ลำดับนั้น ฤาษีทั้งสองได้กล่าวคาถาเพื่อจะแสดงว่า ตนไม่กลัวพาลมฤคทั้งหลายว่า
ถ้าในป่านั้นมีพาลมฤค ตั้งร้อยตั้งพันและตั้งหมื่น อาตมาทั้งสองก็ไม่มีความกลัว ในพาลมฤคทั้งหลายในป่าไหนๆ เลย.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกจิ ความว่า ในป่านี้แม้เป็นประเทศแห่งหนึ่งในที่ไหนๆ อาตมาทั้งสองก็ไม่มีความกลัวในพาลมฤคทั้งหลาย.
ลำดับนั้น พระราชาเมื่อไม่อาจห้ามฤาษีทั้งสองนั้น ก็ทรงจูงมือนำไปในสำนักสุวรรณสามนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
ในกาลนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤาษีทั้งสอง ผู้ตามืดไปในป่าใหญ่ สุวรรณสามถูกฆ่าอยู่ในที่ใด ก็ทรงจูงมือฤาษีทั้งสองไปในที่นั้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต แปลว่า ในกาลนั้น.
บทว่า อนฺธานํ ได้แก่ ฤาษีทั้งสองผู้ตามืด.
บทว่า อหุ แปลว่า ได้เป็นแล้ว.
บทว่า ยตฺถ ความว่า พระเจ้ากาสีทรงนำฤาษีทั้งสองไปในที่ที่สุวรรณสามนอนอยู่.
ก็แลครั้นทรงนำไปแล้ว ประทับยืนในที่ใกล้สุวรรณสามแล้วตรัสว่า นี้บุตรของผู้เป็นเจ้าทั้งสอง. ลำดับนั้น ฤาษีผู้เป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ ช้อนเศียรขึ้นวางไว้บนตัก. ฤาษิณีผู้เป็นมารดาก็ยกเท้าขึ้นวางไว้บนตักของตนนั่งบ่นรำพันอยู่.
พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
ดาบสดาบสินีทั้งสองเห็นสามกุมาร ผู้เป็นบุตรนอนเกลือกเปื้อนฝุ่นทราย ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ดุจดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ตกเหนือแผ่นดิน
ก็ปริเทวนาการน่าสงสาร ประคองแขนทั้งสอง ร้องไห้ว่า สภาพไม่ยุติธรรมมาเป็นไปในโลกนี้.
พ่อสามผู้งามน่าดู พ่อมาหลับเอาจริงๆ เคลิบเคลิ้มเอามากมายดั่งคนดื่มสุราเข้ม ขัดเคืองใครเอาใหญ่ ถือตัวมิใช่น้อย มีใจพิเศษ. ในเมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ พ่อไม่พูดอะไรๆ บ้างเลย
พ่อสามนี้เป็นผู้ปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว บัดนี้ใครเล่าจักชำระชฎาอันหม่นหมองเปื้อนฝุ่นละออง.
ใครเล่าจักจับกราดกวาดอาศรมของเราทั้งสอง ใครเล่าจักจัดน้ำเย็นและน้ำร้อนให้อาบ. ใครเล่าจักให้เราทั้งสองได้บริโภคมูลผลาหารในป่า. ลูกสามะนี้เป็นผู้ปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปวิทฺธํ ความว่า ทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์.
บทว่า อธมฺโม กิร โภ อิติ ความว่า ได้ยินว่า ความอยุติธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้ในวันนี้.
บทว่า มตฺโต ความว่า มัวเมา คือถึงความประมาท ดุจดื่มสุราเข้ม.
บทว่า ทิตฺโต แปลว่า วางปึ่ง.
บทว่า วิมโน ความว่า เป็นนักเลง ฤาษีทั้งสองพูดบ่นเพ้อทั่วๆ ไป.
บทว่า ชฏํ ได้แก่ ชฎาของเราทั้งสองที่มัวหมอง.
บทว่า ปํสุคตํ ความว่า จักอากูลมลทินจับในเวลาใด.
บทว่า โกทานิ ความว่า บัดนี้ ใครเล่าจักจัดตั้งชฎานั้นให้ตรง คือทำความสะอาด แล้วทำให้ตรงในเวลานั้น.
ลำดับนั้น ฤาษิณีผู้มารดาแห่งพระโพธิสัตว์ เมื่อบ่นเพ้อ เป็นหนักหนา ก็เอามืออังที่อกพระโพธิสัตว์ พิจารณาความอบอุ่นคิดว่า ความอบอุ่นของบุตร
เรายังเป็นไปอยู่ บุตรเราจักสลบด้วยกำลังยาพิษ เราจักกระทำสัจจกิริยาแก่บุตรเรา เพื่อถอนพิษออกเสีย คิดฉะนี้แล้วได้กระทำสัจจกิริยา.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
มารดาผู้ระทมจิตด้วยความโศกถึงบุตร ได้เห็นสามะ ผู้เป็นบุตรนอนเกลือกเปื้อนด้วยฝุ่นทราย ได้กล่าวคำสัจว่า
ลูกสามะนี้ได้เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ได้เป็นผู้ประพฤติดังพรหมเป็นปกติ ได้เป็นผู้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดา
ได้เป็นผู้ประพฤติยำเกรงต่อท่านผู้เจริญในสกุล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา. โดยความจริงใดๆ ด้วยการกล่าวความจริงนั้นๆ
ขอพิษของลูกสามะจงหายไป. บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะกระทำแล้วแก่เราและแก่บิดาของเธอ มีอยู่. ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน สจฺเจน ได้แก่ ด้วยความจริงใด คือด้วยสภาวะใด.
บทว่า ธมฺมจารี ได้แก่ ผู้ประพฤติธรรมคือกุศลกรรมบถสิบ.
บทว่า สจฺจวาที ความว่า ไม่กล่าวมุสาวาท แม้ด้วยการหัวเราะ.
บทว่า มาตาเปติภโร ความว่า เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน เลี้ยงดูบิดามารดาตลอดคืนวัน.
บทว่า กุเล เชฏฺฐาปจฺจายิโก ความว่า เป็นผู้กระทำสักการะแก่บิดาเป็นต้นผู้เจริญที่สุด.
เมื่อมารดาทำสัจจกิริยาด้วยเจ็ดคาถาอย่างนี้ สามกุมารก็พลิกตัวกลับนอนต่อไป.
ลำดับนั้น บิดาคิดว่า ลูกของเรายังมีชีวิตอยู่ เราจักทำสัจจกิริยาบ้าง จึงได้ทำสัจจกิริยาอย่างนั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
บิดาผู้ระทมจิตด้วยความโศกถึงบุตร ได้เห็นสามะ ผู้เป็นบุตรนอนเกลือกเปื้อนด้วยฝุ่นทราย ได้กล่าวคำสัจว่า
ลูกสามะนี้ได้เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ได้เป็นผู้ประพฤติดังพรหมเป็นปกติ ได้เป็นผู้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดา
ได้เป็นผู้ประพฤติยำเกรงต่อท่านผู้เจริญในสกุล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา. โดยความจริงใดๆ ด้วยการกล่าวความจริงนั้นๆ
ขอพิษของลูกสามะจงหายไป. บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะกระทำแล้วแก่เราและแก่มารดาของเธอ มีอยู่. ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป.
เมื่อบิดาทำสัจจกิริยาอยู่อย่างนี้ พระมหาสัตว์พลิกตัวอีกข้างหนึ่งนอนต่อไป. ลำดับนั้น เทพธิดาผู้มีนามว่า พสุนธรี ได้ทำสัจจกิริยาลำดับที่สามแก่พระมหาสัตว์นั้น.
พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
นางพสุนธรีเทพธิดาอันตรธานไปจากภูเขาคันธมาทน์ มากล่าวสัจจวาจา ด้วยความเอ็นดูสามกุมารว่า เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ตลอดราตรีนาน.
ใครๆ อื่นซึ่งเป็นที่รักของเรากว่าสามกุมาร ไม่มี. ของหอมล้วนแล้วด้วยไม้หอมทั้งหมด ณ คันธมาทน์บรรพตมีอยู่. ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป.
เมื่อฤาษีทั้งสองบ่นเพ้อรำพันเป็นอันมากน่าสงสาร สามกุมารผู้หนุ่มงดงามน่าทัศนา ก็ลุกขึ้นเร็วพลัน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพตฺยาหํ ตัดบทเป็น ปพฺพเต อหํ ความว่า เราอยู่ ณ บรรพต.
บทว่า วนมยา ได้แก่ ล้วนแล้วไปด้วยต้นไม้มีกลิ่นหอม ที่ภูเขานั้นไม่มีต้นไม้อะไรๆ ที่ไม่มีกลิ่นหอมเลย.
บทว่า เตสํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฤาษีทั้งสองนั้นบ่นเพ้อรำพันกันอยู่นั่นแล สามกุมารได้ลุกขึ้นเร็วพลัน.
ในกาลที่เทพธิดาทำสัจจกิริยาจบลง ความเจ็บป่วยของสามกุมารนั้นได้คลายหายไป เหมือนน้ำกลิ้งจากใบบัว. ไม่ปรากฏแผลที่ถูกยิงว่า ถูกยิงตรงนี้ ถูกยิง ณ ที่นี้.
อัศจรรย์ทั้งปวงคือ พระมหาสัตว์หายโรค ฤาษีผู้เป็นบิดามารดาได้ดวงตากลับเห็นเป็นปกติ แสงอรุณขึ้น และท่านทั้งสี่เหล่านั้นปรากฏที่อาศรม ได้มีขึ้นในขณะเดียวกันทีเดียว.
บิดามารดาทั้งสองได้ดวงตาดีเป็นปกติแล้ว ยินดีอย่างเหลือเกินว่า ลูกสามะหายโรค.
ลำดับนั้น สามบัณฑิตได้กล่าวกะท่านเหล่านั้นด้วยคาถานี้ว่า
ข้าพเจ้ามีนามว่าสามะ ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยสวัสดี ขอท่านทั้งหลายอย่าคร่ำครวญนักเลย. จงพูดกะข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์แลเห็นพระราชา เมื่อจะทูลปฏิสันถาร จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
ข้าแต่มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว. อนึ่ง พระองค์เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้. พระองค์ผู้มีอิสระเสด็จมาถึงแล้ว
ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้. ข้าแต่มหาบพิตร เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย
ขอได้โปรดเลือกเสวยผลที่ดีๆ เถิด. ข้าแต่มหาบพิตร ขอจงทรงดื่มน้ำซึ่งเป็นน้ำเย็น นำมาแต่มิคสัมมตานที ซึ่งไหลจากซอกเขา ถ้าทรงพระประสงค์.
ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า
ข้าพเจ้าหลงเอามาก หลงเอาจริงๆ มืดไปทั่วทิศ ข้าพเจ้าได้เห็นสามบัณฑิตนั้นทำกาลกิริยาแล้ว ทำไมท่านเป็นได้อีกเล่าหนอ.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เปตํ ความว่า ได้เห็นสามบัณฑิตทำกาลกิริยาแล้ว.
บทว่า โก นุ ตฺวํ ความว่า พระราชาตรัสถามว่า ท่านกลับเป็นขึ้นมาได้อย่างไรหนอ.
ฝ่ายสามบัณฑิตดำริว่า พระราชาทรงกำหนดเราว่าตายแล้ว เราจักประกาศความที่เรายังไม่ตายแก่พระองค์ จึงทูลว่า
ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญซึ่งบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ เสวยเวทนาอย่างหนัก มีความดำริในใจ เข้าไปใกล้แล้ว ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว.
ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญซึ่งบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ เสวยเวทนาอย่างหนัก ถึงความดับสนิทระงับแล้วนั้น ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ ชีวํ ได้แก่ ยังเป็นอยู่แท้ๆ.
บทว่า อุปนีตมนสงฺกปฺปํ ได้แก่ มีจิตวาระหยั่งลงในภวังค์.
บทว่า ชีวนฺตํ แปลว่า ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ.
บทว่า มญฺญเต ความว่า โลกนี้ย่อมสำคัญว่า ผู้นี้ตายแล้ว.
บทว่า นิโรธคตํ ความว่า สามบัณฑิตกล่าวว่า โลกย่อมสำคัญซึ่งบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ มีอัสสาสะปัสสาสะ ถึงความดับสนิท ระงับแล้วยังเป็นอยู่แท้ๆ เช่นข้าพระองค์ ว่าตายแล้วอย่างนี้.
ก็แล ครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ประสงค์จะประกอบ พระราชาไว้ในประโยชน์ เมื่อแสดงธรรม จึงได้กล่าวคาถาอีกสองคาถาว่า
บุคคลใดเลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแก้ไขคุ้มครองบุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดานั้น.
บุคคลใดเลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้นั้นในโลกนี้. บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์.
พระราชาได้สดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอ แม้เทวดาทั้งหลาย ก็เยียวยาโรคที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดา.
สามบัณฑิตนี้งดงามเหลือเกิน ทรงดำริฉะนี้แล้ว ประคองอัญชลีตรัสว่า
ข้าพเจ้านี้หลงเอามากจริงๆ มืดไปทั่วทิศ. ท่านสามบัณฑิต ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ และขอท่านจงเป็นสรณะของข้าพเจ้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิยฺโย ความว่า เพราะข้าพเจ้าได้ทำผิด ในผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเช่นท่าน ฉะนั้น. ข้าพเจ้าจึงหลงเอาจริงๆ เหลือเกิน.
บทว่า ตฺวญฺจ เม สรณํ ภว ความว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ และขอท่านจงเป็นสรณะ คือจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ผู้ขอถึงสรณะ คือขอท่านจงทำข้าพเจ้าให้ไปเทวโลก.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์เสด็จสู่เทวโลก มีพระประสงค์บริโภคทิพยสมบัติใหญ่
จงทรงประพฤติในทศพิธราชธรรมจรรยาเหล่านี้เถิด เมื่อจะถวายโอวาทแด่พระราชา จึงได้กล่าวคาถาอัน ว่าด้วยการประพฤติทศพิธราชธรรมว่า
ข้าแต่ขัตติยมหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมในพระชนกพระชนนี ในพระโอรสและพระมเหสี ในมิตรและอมาตย์ ในพาหนะและพลนิกาย
ในชาวบ้านและชาวนิคม ในชาวแว่นแคว้นและชาวชนบท ในสมณะและพราหมณ์ ในฝูงมฤคและฝูงปักษีเถิด. ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมนั้นๆ ในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์.
ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด ธรรมที่พระองค์ทรงประพฤติแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้.
ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์. ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด.
พระอินทร์ เทพเจ้า พร้อมทั้งพระพรหม ถึงแล้วซึ่งทิพยสถาน ด้วยธรรมที่ประพฤติดีแล้ว. ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรม.
ก็เนื้อความของคาถาเหล่านี้ มีกล่าวไว้โดยพิสดารแล้วในสกุณชาดก นั้นแล.
พระมหาสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะถวายโอวาทยิ่งขึ้น ได้ถวายเบญจศีล.
พระราชาทรงรับโอวาทของพระมหาสัตว์นั้นด้วยพระเศียร ทรงไหว้พระโพธิสัตว์ ขอขมาโทษพระโพธิสัตว์แล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี
ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีทานเป็นต้น ทรงรักษาเบญจศีลครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอ. ในที่สุดแห่งพระชนม์ ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ปฏิบัติบำรุงบิดามารดา ยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดพร้อมด้วยบิดามารดา มิได้เสื่อมจากฌาน. ในที่สุดแห่งอายุได้เข้าถึงพรหมโลกพร้อมด้วยบิดามารดานั้นแล.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าการเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจสี่ ประชุมชาดก.
ในเวลาเทศนาอริยสัจสี่จบลง ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผล.
พระราชาปิลยักขราช ในกาลนั้น เป็น ภิกษุชื่ออานนท์ ในกาลนี้.
พสุนธรีเทพธิดา เป็น ภิกษุณีชื่ออุบลวรรณา.
ท้าวสักกเทวราช เป็น ภิกษุชื่ออนุรุทธะ.
ทุกูลบัณฑิตผู้บิดา เป็น ภิกษุชื่อมหากัสสปะ.
นางปาริกาผู้มารดาเป็น ภิกษุณีชื่อภัททกาปิลานี.
ก็สุวรรณสามบัณฑิต คือ เราผู้สัมมาสัมพุทธะ นี้เองแล.
----------------------------------------------------- .. อรรถกถา สุวรรณสามชาดก ว่าด้วย สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=3201&Z=3441
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=43&A=2349
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=43&A=2349
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]