ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 20 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 52 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา มหาโพธิชาดก
ว่าด้วย ปฏิปทาของผู้นำ

               พระศาสดา เมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระปัญญาบารมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า กินฺนุ ทณฺฑํ กิมาชินํ ดังนี้.
               เนื้อเรื่องนี้ จักมีแจ่มแจ้งในมหาอุมมังคชาดกข้างหน้า.
               ก็ในกาลนั้น พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลบัดนี้เท่านั้น ถึงในกาลก่อน ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญาสามารถย่ำยีวาทะของคนอื่นได้เหมือนกัน ดังนี้ จึงทรงนำเอาอดีตนิทานมาตรัสดังนี้ว่า
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงเสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลผู้สูงสุด มีทรัพย์สมบัติประมาณได้ ๘๐ โกฏิ ในแคว้นกาสี. มารดาบิดาทำการตั้งชื่อพระโพธิสัตว์นั้นว่า โพธิกุมาร. โพธิกุมารนั้นเมื่อเจริญวัยเติบโต ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์ในเมืองตักกสิลาจนจบ แล้วกลับมาครอบครองเรือนอยู่.
               ในกาลต่อมา ได้ละความสุขอันเกิดแต่กามเสียแล้ว เข้าไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นปริพาชก มีเหง้าไม้และผลไม้ในป่านั้นนั่นเองเป็นอาหาร อยู่ได้เป็นเวลานาน พอถึงเวลาฤดูฝน จึงออกจากป่าหิมพานต์แล้ว เที่ยวจาริกไปจนได้ถึงกรุงพาราณสีโดยลำดับ เข้าไปอยู่ในพระราชอุทยาน.
               ในวันรุ่งขึ้น เที่ยวไปภิกขาจารในพระนคร โดยความเหมาะสมแก่ปริพาชก จนถึงประตูพระราชนิเวศน์. พระราชาประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์นั้น ทรงเลื่อมใสในกิริยาอันสงบเสงี่ยมของท่านรูปนั้น จึงตรัสสั่งให้ราชบุรุษไปนิมนต์ท่านเข้ามายังที่ประทับของพระองค์ ทรงกระทำปฏิสันถาร ได้ทรงสดับธรรมกถาเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ทรงถวายโภชนะมีรสชาติอันเลิศต่างๆ แล้ว.
               พระมหาสัตว์รับภัตตาหารมาแล้ว คำนึงว่า ขึ้นชื่อว่า ราชสกุลนี้มีความผิดมาก (ที่จะเกิดแก่ตัวเรา) ทั้งหมู่ปัจจามิตรก็มีมากมาย ใครหนอจักช่วยบำบัดทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวเราได้. พระโพธิสัตว์นั้นได้มองเห็นสุนัขสีเหลืองตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระราชา อยู่ในที่ใกล้ๆ จึงหยิบข้าวสุกก้อนใหญ่ แสดงทีท่าล่อจะให้สุนัขนั้น. พระราชาทรงทราบอาการนั้น จึงให้คนนำเอาภาชนะมาใส่ภัตรแล้วให้แก่สุนัขนั้น.
               แม้พระมหาสัตว์ก็ทำภัตกิจของพระราชาพระองค์นั้นให้สำเร็จลงแล้ว แม้พระราชาทรงรับปฏิญญาของพระมหาสัตว์นั้นเรียบร้อยแล้ว ให้ช่างสร้างบรรณศาลา ไว้ในพระราชอุทยาน ภายในพระนครแล้ว ทรงถวายเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิต นิมนต์ให้พระมหาสัตว์นั้นอยู่ประจำในที่นั้น.
               ก็พระราชาได้เสด็จไปยังที่บำรุงของพระมหาสัตว์นั้น วันละ ๒-๓ ครั้งทุกๆ วัน. ก็พอถึงเวลาฉัน พระมหาสัตว์ขึ้นนั่งบนพระแท่นสำหรับพระราชา แล้วฉันโภชนะของพระราชาอยู่เป็นประจำทีเดียว ทำอย่างนี้จนเวลาล่วงไปได้ ๑๒ ปี จนพระราชาพระองค์นั้นมีอำมาตย์ ๕ คนทำการสั่งสอนอรรถและธรรม.
               บรรดาอำมาตย์ทั้ง ๕ คนนั้น คนหนึ่งเป็นอเหตุกวาที คนหนึ่งเป็นอิสรกรณวาที คนหนึ่งเป็นปุพเพกตวาที คนหนึ่งเป็นอุจเฉทวาที และคนหนึ่งเป็นขัตตวิชชวาที.
               ในบรรดาอำมาตย์ทั้ง ๕ คนนั้น อำมาตย์ผู้เป็นอเหตุกวาที สั่งสอนมหาชนให้ถือเอาอย่างว่า สัตว์เหล่านี้เป็นผู้หมดจดในสงสาร อำมาตย์ผู้เป็นอิสรกรณวาที สั่งสอนมหาชนให้ถือเอาอย่างว่า โลกนี้ พระเจ้าเป็นผู้สร้าง. อำมาตย์ผู้เป็นปุพเพกตวาที สั่งสอนให้มหาชนให้เอาอย่างว่า ความสุขหรือความทุกข์ของสัตว์เหล่านี้ เมื่อจะเกิดขึ้นมา ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ตนทำไว้ในปางก่อนนั่นแหละ. อำมาตย์ผู้เป็นอุจเฉทวาที สั่งสอนให้มหาชนเอาอย่างว่า ขึ้นชื่อว่า บุคคลผู้จากโลกนี้ไปยังโลกหน้าย่อมไม่มี โลกนี้ย่อมขาดสูญ อำมาตย์ผู้เป็นขัตตวิชชวาที สั่งสอนให้มหาชนเอาอย่างว่า บุคคลควรฆ่ามารดาบิดาแล้ว มุ่งทำประโยชน์ของตนเองถ่ายเดียวเถิด.
               อำมาตย์ทั้ง ๕ คนนั้นดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้พิพากษาอรรถคดีแทนพระราชา แต่กลับพากันกินสินบน ตัดสินความทำคนที่มิได้เป็นเจ้าของ ให้ได้เป็นเจ้าของ และทำคนที่เป็นเจ้าของ ไม่ให้ได้เป็นเจ้าของ.
               ครั้นวันหนึ่ง บุรุษคนหนึ่งเป็นผู้แพ้คดีความ เพราะถูกโกง เห็นพระมหาสัตว์เที่ยวภิกขาจารเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ จึงไหว้พลางรำพันว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านมาฉันในพระราชนิเวศน์ เพราะเหตุไร จึงได้แต่แลดูพวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดี รับสินบนทำชาวโลกให้ฉิบหายอยู่เล่า บัดนี้ ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของแท้ๆ แต่กลับถูกพวกอำมาตย์ ๕ คน รับสินบนจากมือลูกความโกงแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าของ.
               ด้วยอำนาจความสงสารในบุรุษคนนั้น พระมหาสัตว์นั้นจึงไปยังโรงวินิจฉัยแล้ว ตัดสินความโดยชอบธรรม ได้ทำคนที่เป็นเจ้าของให้กลับได้เป็นเจ้าของอีกเหมือนเดิม.
               มหาชนได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดังขึ้นพร้อมกันทีเดียว.
               พระราชาได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า นี่เสียงอะไรกันนะ พอได้สดับข้อความนั้นแล้ว จึงเสด็จเข้าไปนั่งใกล้ พระมหาสัตว์ผู้ทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ทราบว่า วันนี้ พระคุณเจ้าตัดสินคดีความเองหรือ?
               พระมหาสัตว์ทูลว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร.
               พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ เมื่อพระคุณเจ้าทำการตัดสินคดีความเป็นประจำต่อไป ความเจริญจักมีแก่มหาชน จำเดิมแต่วันนี้ไป ขอพระคุณเจ้าจงช่วยตัดสินคดีให้ด้วยเถิด.
               พระมหาสัตว์ทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพเป็นบรรพชิต การวินิจฉัยอรรถคดีนี้ มิใช่กิจของอาตมภาพเลย.
               พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ พระคุณท่านควรทำความกรุณาในมหาชนเถิด พระคุณเจ้าไม่ต้องวินิจฉัยตลอดทั้งวันก็ได้ คือ ในเวลาเช้าออกจากอุทยาน ผ่านมาในที่นี้ กรุณาแวะเข้าไปยังโรงวินิจฉัยคดีแล้ว ทำการวินิจฉัยตัดสินความสัก ๔ เรื่อง พอฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จะกลับไปยังอุทยาน กรุณาช่วยทำการวินิจฉัยตัดสินความให้อีก ๔ เรื่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ความเจริญจักมีแก่มหาชน.
               พระมหาสัตว์นั้นถูกพระราชานั้นอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ เข้า จึงยอมรับว่า สาธุ ดังนี้. ตั้งแต่วันนั้นมาก็ได้ทำอย่างนั้น พวกลูกความโกงทั้งหลายไม่ได้แล้วซึ่งโอกาส.
               ฝ่ายพวกอำมาตย์ ๕ คนนั้นเล่า เมื่อไม่ได้สินบน ก็กลับกลายเป็นผู้ขัดสน จึงพากันปรึกษาว่า ตั้งแต่เวลาที่โพธิปริพาชกมาตัดสินความ พวกเราไม่ได้อะไรๆ เลย เอาเถอะ พวกเราจักหาเรื่องปริพาชกนั้นแล้ว ยุยงพระราชาให้ตัดสินฆ่าปริพาชกนั้นให้ได้.
               พวกอำมาตย์นั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า (บัดนี้) โพธิปริพาชกปรารถนาจักทำความพินาศต่อพระองค์
               เมื่อพระราชาไม่ทรงเชื่อ ตรัสว่า โพธิปริพาชกนั้นเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยความรู้ จักไม่ทำกรรมเห็นปานนั้นเด็ดขาด.
               จึงพากันกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ประชาชนชาวเมืองทั้งสิ้นถูกโพธิปริพาชกนั้นทำให้อยู่ในเงื้อมมือของตนเสียแล้ว แต่ยังไม่อาจที่จะทำพวกข้าพระองค์ทั้ง ๕ คนนี้ได้เท่านั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อถ้อยคำของพวกข้าพระองค์ไซร้ ในเวลาที่โพธิปริพาชกนั้นมาในที่นี้ พระองค์พึงทอดพระเนตรดูบริษัทเถิด.
               พระราชาทรงรับว่า ดีละ ดังนี้แล้ว ประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรดูปริพาชกนั้นกำลังเดินมา ทรงเห็นบริวาร เพราะค่าที่พระองค์ไม่รู้เท่าทัน จึงทรงเข้าใจพวกมนุษย์ที่มาฟ้องคดีความว่า เป็นบริวารของพระมหาสัตว์นั้น ทรงเชื่อแล้ว ตรัสสั่งให้พวกอำมาตย์นั้นเข้ามาเฝ้าแล้ว ตรัสถามว่า พวกเราจะทำอย่างไรกัน?
               พวกอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้จับปริพาชกนั้นเถิด พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า เมื่อเรายังมองไม่เห็นความผิดอันยิ่งใหญ่ จักสั่งให้จับเขาได้อย่างไร.
               พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงมีรับสั่งให้ลดการอุปัฏฐากที่เคยทำตามปกติแก่ปริพาชกนั้นลงเสียบ้าง ปริพาชกเป็นบัณฑิต พอเห็นการบำรุงนั้นค่อยๆ ลดลง คงจักไม่ยอมบอกใครๆ แล้วแอบหนีไปเอง.
               พระราชาตรัสว่า ดีละ แล้วตรัสสั่งให้ลดการบำรุงพระมหาสัตว์นั้นลงโดยลำดับ. ในวันแรก เจ้าหน้าที่จัดให้พระมหาสัตว์นั้นนั่งบนบัลลังก์เปล่าเป็นลำดับแรก. ท่านพอเห็นบัลลังก์เปล่าก็รู้ว่า พระราชาเสื่อมศรัทธาเราเสียแล้ว ครั้นกลับไปยังอุทยานแล้ว แม้เป็นผู้มีความต้องการจะหลีกไปเสียในวันนั้นทีเดียว แต่ก็ (หักใจ) ไม่หลีกไปด้วยคิดว่า เราจักรู้ให้ถ่องแท้เสียก่อนแล้ว จึงจักหลีกไป.
               ครั้นในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระมหาสัตว์นั้นนั่งบนบัลลังก์เปล่า เจ้าหน้าที่ได้ถือเอาภัตตาหารธรรมดาและสิ่งอื่นมาแล้ว ได้ถวายภัตตาหารที่คลุกปนกัน.
               ในวันที่ ๓ เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้าไปสู่ห้องใหญ่ ให้พักอยู่ตรงเชิงบันไดเท่านั้นแล้ว ได้ถวายภัตตาหารที่คลุกปนกัน. พระมหาสัตว์นั้นถือเอาภัตตาหารนั้น ไปยังอุทยานแล้ว ได้กระทำภัตกิจ.
               ในวันที่ ๔ เจ้าหน้าที่ให้ยืนอยู่ที่ปราสาทชั้นล่างแล้ว ได้ถวายภัตที่หุงด้วยปลายข้าว. พระมหาสัตว์นั้นรับภัตแม้นั้น กลับไปยังอุทยาน ได้กระทำภัตกิจแล้ว.
               พระราชาตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า มหาโพธิปริพาชก แม้เมื่อสักการะเสื่อมสิ้นลงแล้ว ก็ยังไม่ยอมหลีกไป พวกเราจะทำอย่างไรกันดี.
               พวกอำมาตย์กราบทูลแนะอุบายว่า ข้าแต่สมมติเทพ เธอประพฤติเพื่อต้องการภัตก็หามิได้ แต่เธอประพฤติเพื่อต้องการเศวตฉัตร หากเธอประพฤติเพื่อต้องการภัตจริง เธอก็พึงหนีไปเสียแต่ในวันแรกนั่นแล.
               พระราชาตรัสถามว่า บัดนี้ เราจะทำอย่างไรกันดี?
               พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พรุ่งนี้ ขอพระองค์จงตรัสสั่งให้ฆ่าเขาเสียเถิด.
               ท้าวเธอรับว่า ดีละ แล้วทรงมอบดาบไว้ในมือของอำมาตย์ทั้ง ๕ คนเหล่านั้น แล้วตรัสสั่งว่า พรุ่งนี้ พวกท่านจงมายืนซุ่มอยู่ที่ระหว่างประตู พอปริพาชกนั้นเดินเข้ามา จงฟันศีรษะแล้วช่วยกันสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย อย่าให้ใครรู้เรื่องอะไรแล้ว เอาไปทิ้งไว้ในหลุมคูถ อาบน้ำแล้วพึงกลับมาเสีย.
               อำมาตย์เหล่านั้นรับว่าดีละ แล้วจึงนัดหมายกันและกันว่า วันพรุ่งนี้ พวกเราจึงจักทำการอย่างนั้น แล้วต่างก็พากันไปสู่ที่อยู่ของตน.
               เวลาเย็น แม้พระราชาทรงเสวยโภชนะเสร็จแล้ว ทรงบรรทมเหนือที่บรรทมอันประกอบด้วยสิริ ได้ทรงระลึกถึงคุณงามความดีของพระมหาสัตว์. ในขณะนั้นนั่นเอง ความเศร้าโศกได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่พระองค์ พระเสโทหลั่งไหลออกจากพระสรีระ พระองค์ไม่ได้รับความเบิกบานสำราญพระหทัย ทรงกระสับกระส่ายไปมาบนพระที่บรรทม.
               ลำดับนั้น พระอัครมเหสีของพระองค์ บรรทมอยู่ใกล้ๆ ท้าวเธอไม่ยอมทำแม้เพียงการเจรจาปราศรัยกับพระนางเลย.
               ลำดับนั้น พระนางจึงทูลถามท้าวเธอว่า ข้าแต่พระมหาราช เพคะ ทำไมหนอ พระองค์จึงไม่ทรงทำ แม้เหตุเพียงการสนทนาปราศรัย หรือว่าหม่อมฉันมีความผิดอะไร?
               พระราชาตรัสว่า ดูก่อนเทวี เธอไม่มีความผิดอะไรดอก แต่ทราบข่าวว่า โพธิปริพาชกกลายเป็นศัตรูต่อพวกเราไป ดังนั้น เราจึงสั่งให้อำมาตย์ ๕ คน จัดการเพื่อฆ่าเธอในวันพรุ่งนี้ อำมาตย์เหล่านั้นจักฆ่าเธอฟันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วทิ้งในหลุมคูถ ก็โพธิปริพาชกนั้นได้แสดงธรรมเป็นอันมากแก่พวกเราตลอดเวลา ๑๒ ปี แม้โทษสักนิดของเธอ เราก็ไม่เคยเห็นประจักษ์ เป็นแต่เพียงได้รับคำบอกเล่าจากคนอื่น เราก็สั่งให้ฆ่าเธอเสียแล้ว เพราะเหตุนั้น เราจึงเศร้าโศก.
               ลำดับนั้น พระนางจึงปลอบพระทัยพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ หากว่า โพธิปริพาชกนั้นกลายเป็นศัตรูจริง เมื่อพระองค์รับสั่งให้ฆ่าเธอเสีย ทำไมพระองค์จึงทรงเศร้าโศกเล่า ขึ้นชื่อว่าศัตรูถึงจะเป็นลูกก็ต้องฆ่า เพื่อความสวัสดิภาพแก่ตน พระองค์อย่าได้เศร้าโศกไปเลย. เพราะถ้อยคำของพระนาง ท้าวเธอจึงได้รับความเบาพระทัย บรรทมหลับไป.
               ในขณะนั้น สุนัขตัวสีเหลืองชื่อว่า โกไลยกะ ได้ฟังถ้อยคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า พรุ่งนี้เราควรจะช่วยชีวิตโพธิปริพาชกนั้นด้วยกำลังของตน ดังนี้ พอถึงวันรุ่งขึ้น จึงลงจากปราสาทแต่เช้าตรู่แล้ว มายังพระทวารใหญ่ นอนเอาหัวพาดบนธรณีประตู คอยมองดูหนทางที่พระมหาสัตว์จะเดินผ่านมา. ฝ่ายพวกอำมาตย์เหล่านั้นแล ทุกคนต่างถือดาบเดินมายืนแอบอยู่ตรงที่ซอกประตูแต่เช้าตรู่. แม้พระโพธิสัตว์กะว่าได้เวลาแล้ว จึงออกจากอุทยานมายังประตูวัง.
               ลำดับนั้น สุนัขโกไลยกะพอเห็นพระโพธิสัตว์นั้นแล้ว จึงอ้าปากแยกเขี้ยวทั้งสี่ ร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ได้ภิกษาที่อื่นในพื้นชมพูทวีปแล้วหรือ พระเจ้าแผ่นดินของพวกเรา ทรงให้อำมาตย์ ๕ คน ทุกคนมีดาบอยู่ในมือ ซุ่มตรงซอกประตู เพื่อต้องการจะฆ่าท่านเสีย ท่านอย่ามารับเอาความตายไว้ที่หน้าผากเลย จงรีบกลับไปเสียโดยเร็วเถิด. พระมหาสัตว์รู้เนื้อความนั้นได้ เพราะตนเป็นผู้รู้สำเนียงเสียงร้องของสัตว์ทุกชนิด จึงกลับจากที่ตรงนั้น ไปยังอุทยานถือเอาบริกขาร เพื่อเตรียมตัวจะหลีกไปเสีย.
               ฝ่ายพระราชาประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรดูพระมหาสัตว์ทั้งเวลามาและเวลากลับไป จึงทรงพระดำริว่า ถ้าโพธิปริพาชกนี้พึงเป็นศัตรูต่อเราไซร้ เมื่อกลับไปยังสวนก็จักให้ประชุมหมู่พลตระเตรียมการงาน หากไม่เป็นเช่นนั้น ก็คงจักเก็บเอาบริกขารของตน แล้วเตรียมตัวจะเดินทางไป ขั้นแรก เราจักรู้กิริยาของโพธิปริพาชกนั้น ดังนี้ จึงเสด็จไปสู่อุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระมหาสัตว์เดินออกจากบรรณศาลาถึงท้ายที่จงกรม ด้วยคิดว่า เราจักถือเอาบริกขารของตน แล้วจักไป.
               จึงนมัสการ ประทับยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ตรัสคาถาว่า
                         ข้าแต่ท่านพราหมณ์ เพราะเหตุไรหนอ
               ท่านจึงรีบร้อนถือเอาไม้เท้า หนังเสือ ร่ม
               รองเท้า ไม้ขอ บาตรและผ้าพาด
               ท่านปรารถนาจะไปยังทิศไหนหนอ.


               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า
               พระราชาตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ แต่ก่อน ท่านมาสู่วังของเรา มิได้ถือไม้เท้าเป็นต้นมาเลย แต่ในวันนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงได้รีบด่วน ถือเอาเครื่องบริกขารเหล่านี้แม้ทั้งหมด คือ ไม้เท้า หนังเสือ ร่ม รองเท้า หม้อดิน ย่าม ขอสำหรับสอยผลไม้ บาตรดินและผ้าพาดมาด้วยเล่า ท่านปรารถนาทิศไหนหนอ คือ ท่านปรารถนาจะไปในที่ไหน.
               พระมหาสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว ก็เข้าใจว่า พระราชาองค์นี้ยังไม่รู้สึกถึงกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ จึงคิดว่า เราจักให้ท้าวเธอรับรู้.
               จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
                         ตลอดเวลา ๑๒ ปี ที่อาตมภาพอยู่ในสำนักของมหาบพิตรนี้
               อาตมภาพไม่เคยรู้จักเสียงที่สุนัขสีเหลืองมันคำราม ด้วยหูเลย
               สุนัขมันแยกเขี้ยวขาวเห่าอยู่ คล้ายกับว่าไม่เคยรู้จักกัน
               เพราะมันได้ยินถ้อยคำของมหาบพิตรกับพระชายาผู้สิ้นศรัทธา
               จึงกล่าวกะอาตมภาพอย่างนี้.


               ความแห่งบาทคาถานั้นว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า บรรดาบทเหล่านั้น
               บทว่า อภิกุชฺชิตํ ความว่า เราไม่เคยได้ยินเสียงที่สุนัขของพระองค์นี้ร้องด้วยเสียงอันดังอย่างนี้เลย.
               บทว่า ทตฺโตว แปลว่า คล้ายไม่เคยรู้จักกัน.
               บทว่า สภริยสฺส ความว่า เพราะมันได้ยินถ้อยคำของมหาบพิตรกับพระชายา ตรัสบังคับให้อำมาตย์ ๕ คน เตรียมการเพื่อฆ่าอาตมภาพ จึงส่งเสียงเห่าอย่างเอ็ดอึง คล้ายกับว่าไม่เคยรู้จักกันว่า ท่านไม่ได้ภิกษาในที่อื่นหรือ พระราชาตรัสสั่งให้อำมาตย์ฆ่าท่าน ท่านอย่ามาในที่นี้เลย.
               บทว่า วีตสทฺธสฺส มํ ปติ ความว่า สุนัขนั้นได้ฟังถ้อยคำของมหาบพิตรผู้หมดศรัทธาในระหว่างตัวเรา จึงกล่าวอย่างนี้.

               ในลำดับนั้น พระราชาทรงยอมพระองค์รับผิด.
               เมื่อจะทรงให้พระมหาสัตว์นั้นยกโทษ จึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า
                         ข้าแต่ท่านพราหมณ์ โทษที่ข้าพเจ้าทำแล้วนั้น
               จริงตามที่ท่านกล่าว ข้าพเจ้านี้ ย่อมเลื่อมใสยิ่งนัก
               ขอท่านจงอยู่เถิด อย่าเพิ่งไปเสียเลย ท่านพราหมณ์.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิยฺโย ความว่า ข้าพเจ้าได้สั่งบังคับไว้อย่างนี้ เป็นความจริง นี้เป็นความผิดของข้าพเจ้า ก็ข้าพเจ้านี้เลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่งในบัดนี้ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้เหมือนเดิมเถิด อย่าไปในที่อื่นเลยนะพราหมณ์.

               พระมหาสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้ว จึงทูลว่า ขอถวายพระพร ธรรมดาว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่อยู่ร่วมกับข้าศึกผู้ทำการงานโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบ เช่นอย่างพระองค์ ดังนี้.
               เมื่อจะประกาศอนาจารแด่พระราชานั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

               เมื่อก่อนข้าวสุกขาวล้วน ภายหลังก็มีสิ่งอื่นเจือปน บัดนี้แดงล้วน เวลานี้เป็นเวลาสมควรที่อาตมภาพจะหลีกไป
               อนึ่ง เมื่อก่อนอาสนะมีในภายใน ต่อมามีในท่ามกลาง ต่อมามีข้างนอก ต่อมาก็จะถูกขับไล่ออกจากพระราชนิเวศน์ อาตมภาพของดเสียเองละ
               บุคคลไม่ควรคบหาคนที่ปราศจากศรัทธา เหมือนบ่อที่ไม่มีน้ำ ฉะนั้น ถ้าแม้บุคคลจะพึงขุดบ่อน้ำนั้น บ่อนั้นก็จะมีน้ำที่มีกลิ่นโคลนตม
               บุคคลควรคบคนที่เลื่อมใสเท่านั้น ควรเว้นคนที่ไม่เลื่อมใส ควรเข้าไปนั่งใกล้ คนที่เลื่อมใส เหมือนคนผู้ต้องการน้ำ เข้าไปหาห้วงน้ำ ฉะนั้น
               ควรคบคนผู้คบด้วย ไม่ควรคบคนผู้ไม่คบด้วย ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ผู้นั้นชื่อว่า มีธรรมของอสัตบุรุษ ผู้ใดไม่คบคนผู้คบด้วย ไม่ซ่องเสพคนผู้ซ่องเสพด้วย ผู้นั้นแลเป็นมนุษย์ชั่วช้าที่สุด เหมือนเนื้ออาศัยกิ่งไม้ (ลิง) ฉะนั้น
               มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกัน ด้วยเหตุ ๓ ประการนี้ คือ ด้วยการคลุกคลีกันเกินไป ๑ ด้วยการไม่ไปมาหากัน ๑ ด้วยการขอในเวลาไม่สมควร ๑
               เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรไปมาหากันให้พร่ำเพรื่อนัก ไม่ควรเหินห่างไปให้เนิ่นนาน และควรขอสิ่งที่ควรขอตามเหตุกาลที่สมควร
               ด้วยอาการอย่างนี้ มิตรทั้งหลายจึงจะไม่แหนงหน่ายกัน คนที่รักกันย่อมไม่เป็นที่รักกันได้ เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินควร อาตมภาพมิได้เป็นที่รักของมหาบพิตรมาแต่ก่อน เพราะฉะนั้น อาตมภาพจึงขอลาไปก่อนละ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพเสโต ความว่า ขอถวายพระพร เฉพาะในวันก่อนๆ ข้าวสุกของอาตมภาพในนิเวศน์ของพระองค์ มีสีขาวล้วน พระองค์เสวยข้าวสุกชนิดใด ก็พระราชทานข้าวสุกชนิดนั้น (แก่อาตมภาพ)
               บทว่า ตโต ความว่า ภายหลังจากนั้น คือ แม้ในกาลที่พระองค์ทรงหน่ายแหนงในอาตมภาพ เพราะทรงเชื่อถ้อยคำของคนที่ยุยง ข้าวสุกจึงมีสิ่งอื่นคลุกระคนปนอยู่ด้วย.
               บทว่า อิทานิ คือ บัดนี้ ข้าวสุกเกิดกลายเป็นสีแดงล้วน.
               บทว่า กาโล ได้แก่ คราวนี้เป็นเวลาที่อาตมภาพจะต้องไปจากสำนักของพระองค์ผู้โง่เขลา.
               บทว่า อพฺภนฺตรํ ความว่า ในครั้งแรก อาสนะของอาตมภาพมีอยู่ในภายใน คือพวกเจ้าหน้าที่นิมนต์ให้อาตมภาพนั่งบนพระราชบัลลังก์ ที่มีพื้นใหญ่อันประดับแล้ว มีเศวตฉัตรอันยกขึ้นแล้ว.
               บทว่า มชฺเฌ คือ ที่เชิงบันได.
               บทว่า ปุรา นิทฺธมนา โหติ ความว่า จับคอเสือกไสออกไป.
               บทว่า อนุขเน ความว่า ถ้าบุรุษไปถึงหนองที่ไม่มีน้ำ เมื่อไม่เห็นน้ำ จึงคุ้ยเปือกตมขุดขึ้น แม้จะทำถึงขนาดนั้น หนองนั้นก็คงยังมีแต่กลิ่นตมของน้ำ ดื่มกินไม่ได้ เพราะไม่เป็นที่ชอบใจ ฉันใด แม้ปัจจัยที่บุคคลเข้าไปหาผู้ปราศจากศรัทธาแล้วได้มา จึงเป็นของน้อยและเศร้าหมอง ไม่เป็นที่น่าชอบใจ ไม่สมควรที่จะบริโภค.
               บทว่า ปสนฺนํ คือ มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว
               บทว่า รหทํ คือ ห้วงน้ำใหญ่ที่ลึก.
               บทว่า ภชนฺตํ ความว่า บุคคลควรคบผู้ที่คบตนเท่านั้น.
               บทว่า อภชนฺตํ คือ ผู้เป็นข้าศึก.
               บทว่า น ภชฺชเย แปลว่า ไม่พึงคบหา.
               บทว่า น ภชฺชติ ความว่า บุรุษใดไม่คบหา บุคคลผู้คบตน ซึ่งมีจิตคิดหวังประโยชน์ บุรุษนั้นชื่อว่ามีธรรมของอสัตบุรุษ.
               บทว่า มนุสฺสปาปิฏฺโฐ ได้แก่ มนุษย์ลามก มนุษย์ขี้ทูด คือมนุษย์ชั้นต่ำ
               บทว่า สาขสฺสิโต คือ ลิง.
               บทว่า อจฺจาภิกฺขณสํสคฺคา คือ ด้วยความคลุกคลีกันมากเกินไป.
               บทว่า อกาเล ความว่า มิตรทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมหน่ายแหนงกัน ด้วยการขอของรักของคนอื่น ในกาลที่ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร เพราะการอยู่ร่วมกันนานเกินไป ถึงพระองค์ก็ยังหมดความเมตตาในอาตมภาพ.
               บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะมิตรทั้งหลายย่อมแตกแยกกันด้วยการคลุกคลีกันเกินไป และด้วยการเหินห่างกันไป. คำว่า จิราจิรํ ความว่า ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเสียจนนานแล้ว จึงไปหากัน.
               บทว่า ยาจํ ความว่า ไม่ควรขอสิ่งที่สมควรขอ ในเวลาอันไม่สมควร.
               บทว่า น ชีรเร ความว่า มิตรทั้งหลายย่อมไม่แตกแยกกัน ด้วยอาการอย่างนี้.
               บทว่า ปุรา เต โหม ความว่า ตลอดเวลาที่เรามาแล้ว ยังไม่เป็นที่รักของท่าน เราก็จะขอไปอย่างนี้.

               พระราชาตรัสว่า
               ถ้าพระคุณเจ้าไม่รับทราบอัญชลี ของสัตว์ผู้เป็นบริวารมาอ้อนวอนอยู่อย่างนี้ ไม่กระทำตามคำขอร้องของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าวิงวอนพระคุณเจ้าถึงเพียงนี้ ขอพระคุณเจ้าโปรดกลับมาเยี่ยมอีก.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาวพุชฺฌสิ ความว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านไม่ยอมรับรู้ คือไม่ยอมรับอัญชลีที่ข้าพเจ้าวิงวอนกระทำอยู่แล้วอย่างนี้.
               บทว่า ปริยายํ ความว่า พระราชาตรัสวิงวอนว่า ขอท่านพึงหาโอกาสว่างสักครั้งหนึ่ง เพื่อมาเยี่ยมในที่นี้อีก.

               พระโพธิสัตว์ทูลว่า
               ดูก่อนมหาบพิตรผู้ผดุงรัฐ ถ้าเมื่อเราทั้งหลายอยู่อย่างนี้ อันตรายจักไม่มี แม้ไฉนเราทั้งหลาย พึงเห็นการล่วงไปแห่งวันและคืนของมหาบพิตร และของอาตมภาพ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวญฺเจ โน ความว่า พระโพธิสัตว์แสดงว่า ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าว่าอันตรายจักไม่มีแก่เราทั้งสองผู้แยกกันอยู่อย่างนี้ ชีวิตของพระองค์ หรือของอาตมภาพ ก็จักยืนยาว.
               บทว่า ปสฺเสม ความว่า พวกเราพึงเห็นโดยแท้.

               พระมหาสัตว์ พอกล่าวอย่างนี้เสร็จแล้ว แสดงธรรมแก่พระราชาแล้วจึงทูลว่า
               ดูก่อนมหาบพิตร ขอพระองค์จงอย่าทรงประมาทเลย ดังนี้แล้วออกจากอุทยาน เที่ยวภิกขาจารไปในสถานที่ อันมีส่วนเสมอกันแห่งหนึ่ง ออกจากเมืองพาราณสีแล้ว ถึงหิมวันตประเทศโดยลำดับ พักอยู่สิ้นกาลเล็กน้อยแล้ว กลับมาอยู่ในป่าอาศัยบ้านปัจจันตคามแห่งหนึ่ง.
               นับแต่เวลาที่พระมหาสัตว์นั้นไปแล้ว พวกอำมาตย์เหล่านั้นก็ได้พากันนั่ง ณ ที่โรงวินิจฉัยอีก กระทำการเบียดเบียน พากันคิดว่า ถ้ามหาโพธิปริพาชกจักกลับมาอีก ชีวิตของพวกเราคงไม่มีแน่ พวกเราควรทำเหตุที่จะให้ปริพาชกนั้นไม่กลับมาอีก อย่างไรดีหนอ.
               ลำดับนั้น พวกเขาจึงปรึกษากันว่า ธรรมดา สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมไม่สามารถจะละถิ่นฐานที่ตนติดอยู่ได้ ถิ่นฐานที่มหาโพธิปริพาชกนั้นติดอยู่ในที่นี้คืออะไรหนอ. ต่อจากนั้น พวกอำมาตย์ก็ทราบได้ว่า คงเป็นพระอัครมเหสีของพระราชาเป็นแน่ จึงปรึกษากันว่า ข้อที่มหาโพธิปริพาชกนั้นพึงมา เพราะอาศัยพระอัครมเหสี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ พวกเราจักรีบฆ่าพระอัครมเหสีนั้นเสียโดยเร็ว. พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงพากันกราบทูลเนื้อความนี้แด่พระราชาว่า หลายวันมานี้ พวกข้าพระองค์ได้ยินเรื่องเรื่องหนึ่ง.
               พระราชาตรัสถามว่า เรื่องอะไรกัน?
               พวกอำมาตย์กราบทูลเท็จว่า เล่าลือกันว่า มหาโพธิปริพาชกและพระราชเทวี ส่งข่าวสาสน์โต้ตอบกันไปมาเสมอ.
               พระราชาตรัสถามว่า ข่าวสาสน์นั้นสั่งให้ทำอะไร?
               พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ทราบว่า มหาโพธิปริพาชกนั้นส่งข่าวสาสน์มาถึงพระราชเทวีว่า เธออาจที่จะปลงพระชนม์พระราชาให้ตาย ด้วยกำลังของตน แล้วยกเศวตฉัตรให้แก่เรา ได้หรือไม่ ส่วนพระเทวีนั้นเล่าก็ส่งข่าวสาสน์ตอบไปถึงมหาโพธิปริพาชกนั้นว่า การปลงพระชนม์พระราชา เป็นภาระของฉัน ขอให้มหาโพธิปริพาชกรีบมาเร็วเถิด.
               เมื่อพวกอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลอยู่บ่อยๆ พระราชาก็ทรงเชื่อ จึงตรัสสั่งถามว่า บัดนี้ พวกเราจะพึงทำอย่างไรกันดี
               พวกอำมาตย์จึงกราบทูลว่า ควรตรัสสั่งให้ปลงพระชนม์พระเทวีเสียดังนี้
               ไม่ทันได้ทรงใคร่ครวญ ตรัสสั่งด่วนว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงฆ่าเธอเสีย แล้วสับให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย โยนมันลงไปในหลุมคูถ.
               พวกอำมาตย์เหล่านั้นทำการตามรับสั่งแล้ว ความที่พระราชเทวีถูกปลงพระชนม์ ได้ปรากฏเลื่องลือไปในพระนครทั้งสิ้น.
               ครั้งนั้น พระราชโอรส ๔ พระองค์ของพระราชเทวีนั้น ทรงทราบว่า พระบิดามีรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระมารดาของพวกเราผู้หาความผิดมิได้เสีย ดังนี้ จึงได้เป็นศัตรูต่อพระราชา. พระราชาได้เป็นผู้ประสบภัยอย่างใหญ่หลวง.
               พระมหาสัตว์ได้ทราบเรื่องราวนั้นโดยเล่ากันเป็นทอดๆ มา จึงดำริว่า เว้นจากเราเสียแล้ว คนอื่นชื่อว่าสามารถที่จะให้พระกุมารเหล่านั้นยินยอม ให้พระบิดาทรงอดโทษให้ ไม่มีเลย เราจักช่วยชีวิตพระราชา และจักเปลื้องพระกุมารให้พ้นจากบาป.
               ในวันรุ่งขึ้น ท่านจึงเข้าไปยังปัจจันตคาม ฉันเนื้อวานรที่พวกมนุษย์นำมาถวายแล้ว ขอหนังวานรนั้น นำเอามาตากแห้งไว้ที่อาศรม ทำจนหมดกลิ่นแล้ว ใช้นุ่งบ้าง ห่มบ้าง พาดบ่าบ้าง.
               ถามว่า การที่พระมหาสัตว์ทำดังนั้น เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า การที่ทำดังนั้น ก็เพราะเพื่อประสงค์จะตอบผู้คนว่า วานรตัวนี้มีอุปการะมากแก่เรา พระมหาสัตว์ถือเอาหนังวานรนั้นไปยังเมืองพาราณสีโดยลำดับ แล้วเข้าไปหาพระกุมารทั้งหลาย ทูลตักเตือนว่า ขึ้นชื่อว่า กรรมคือการฆ่าพระบิดา เป็นกรรมที่ร้ายแรงทารุณ พวกท่านไม่สมควรกระทำกรรมนั้นเลย ธรรมดาว่า สัตว์ที่จะไม่แก่ไม่ตายเป็นไม่มี เรามาแล้ว (ในที่นี้) ก็ด้วยความหวังว่า จักไกล่เกลี่ยให้พวกท่านมีความสามัคคีกันและกันไว้ พอเราส่งข่าวสาสน์ไป พวกท่านพึงพากันมา พอสอนพระกุมารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปสู่พระราชอุทยานภายในพระนคร ลาดหนังวานรลงแล้ว นั่งบนแผ่นหิน.
               ในขณะนั้น คนเฝ้าสวนพอเห็นท่าน ก็รีบไปกราบทูลแด่พระราชา. พระราชาทรงสดับข่าวนั้นแล้วก็ทรงบังเกิดความโสมนัส จึงพาอำมาตย์ทั้ง ๕ คนนั้นไปในที่นั้น ทรงนมัสการพระมหาสัตว์ แล้วประทับนั่ง ปรารภจะทำปฏิสันถาร.
               ส่วนพระมหาสัตว์มิได้รื่นเริงกับพระราชานั้น ลูบคลำหนังวานรเฉยเสีย.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะพระมหาสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ท่านไม่ยอมพูดจากับข้าพเจ้า มัวลูบคลำหนังวานรอยู่ได้ หนังวานรของท่านมีอุปการะมากกว่าข้าพเจ้าหรือ.
               พระมหาสัตว์ทูลว่า เป็นเช่นนั้น มหาบพิตร วานรนี้มีอุปการะมากแก่เรา เรานั่งบนหลังของมันเที่ยวไป วานรนี้นำหม้อน้ำมาให้แก่เรา กวาดที่อยู่ให้เรา ได้ทำอภิสมาจาริกวัตรปฏิบัติแก่เรา แต่เรากลับกินเนื้อของมันเสียแล้ว เอาหนังตากให้แห้งไว้ปูนั่งบ้าง ปูนอนบ้าง เพราะว่าตนมีใจทุรพล วานรนี้มีอุปการะมากแก่เราอย่างนี้.
               พระมหาสัตว์ยกหนังวานรและวานร ขึ้นกล่าวเป็นโวหาร เพื่อต้องการจะทำลายวาทะของอำมาตย์เหล่านั้น อาศัยปริยายนั้นๆ จึงกล่าวถ้อยคำนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ พระมหาสัตว์นั้นกล่าวว่า เรานั่งบนหลังมันเที่ยวไป เพราะท่านเคยนุ่งห่มหนังของมัน. ท่านกล่าวว่า มันนำหม้อน้ำมาให้ เพราะท่านเอาหนังของมันพาดบนบ่าแล้วแบกหม้อน้ำมา. ท่านกล่าวว่า มันกวาดที่อยู่ให้ เพราะท่านเคยเอาหนังนั้นปัดพื้น. ท่านกล่าวว่า มันทำวัตรปฏิบัติแก่เรา เพราะหลังถูกหนังนั้นในเวลานอน และถูกเท้าในเวลาเหยียบ. ท่านกล่าวว่า แต่เรากลับกินเนื้อของมันเสีย เพราะตนมีใจทุรพล เพราะท่านได้เนื้อของมันมาแล้ว บริโภคในเวลาหิว.
               พวกอำมาตย์เหล่านั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว มีความสำคัญว่า ท่านกระทำปาณาติบาตแล้ว จึงพากันปรบมือทำการหัวเราะเยาะว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญ พวกท่านจงดูกรรมของบรรพชิตเถิด ได้ยินแล้วใช่ไหมว่า บรรพชิตนี้ฆ่าลิงกินแล้ว ยังถือเอาหนังเที่ยวไป (อีก).
               พระมหาสัตว์เห็นพวกอำมาตย์เหล่านั้นกระทำการเช่นนั้น จึงคิดว่า พวกอำมาตย์เหล่านี้ยังไม่รู้ว่า เราเอาหนังวานรมา เพื่อต้องการจะทำลายวาทะของตน เราจักให้พวกเขารู้เสียบ้าง.
               ขั้นแรกจึงเรียกอำมาตย์อเหตุกวาทีมาแล้ว ถามว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ท่านหัวเราะเยาะเรา เพราะเหตุไร เขาตอบว่า เพราะท่านกระทำกรรม คือการประทุษร้ายต่อมิตร และยังกระทำปาณาติบาตด้วย.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า ก็บุคคลใดเชื่อถืออำมาตย์เหล่านั้นด้วยคติและด้วยทิฏฐิแล้วทำตามอย่างนั้น จะมีอะไรที่จะพึงกล่าวว่า บุคคลนั้นกระทำความชั่ว ดังนี้.
               เมื่อจะทำลายวาทะของอเหตุกวาทีของอำมาตย์นั้น จึงกล่าวเป็นคาถาว่า

.. อรรถกถา มหาโพธิชาดก ว่าด้วย ปฏิปทาของผู้นำ
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 20 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 52 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 66 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=321&Z=451
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=42&A=1064
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=42&A=1064
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๐  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :