ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 834 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อรรถกถา วิธุรชาดก
ว่าด้วย พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี

หน้าต่างที่ ๕ / ๖.

               จบกัณฑ์ว่าด้วย การปลดเปลื้องโทษ
               ฝ่ายปุณณกยักษ์พักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดกาฬาคิรีบรรพตแล้ว จึงคิดว่า เมื่อวิธุรบัณฑิตนี้ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อว่าความเจริญย่อมไม่มีแก่เรา จำเราต้องฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้ให้ตายเสีย ถือเอาเนื้อหทัยไปถวายพระนางวิมลาที่นาคพิภพ จักรับนางอิรันทตีไปสู่เทวโลก.

               พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ได้ตรัสพระคาถาว่า
               ปุณณกยักษ์นั้น ไปยืนคิดอยู่บนยอดกาฬาคีรีบรรพต ความคิดย่อมเป็นความคิดสูงๆต่ำๆ ประโยชน์อะไรๆ ด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ หามีแก่เราไม่ เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้เสีย แล้วนำเอาแต่ดวงใจไปเถิด.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ได้แก่ ปุณณกยักษ์นั้น. บทว่า ตตฺถ คนฺตฺวาน ความว่า ไปยืนอยู่ที่บนยอดกาฬาคีรีบรรพตนั้น.
               บทว่า เจตนกา ความว่า ความคิดที่เกิดขึ้นทุกขณะจิต ย่อมเป็นความคิดสูงบ้างต่ำบ้าง แต่ว่า ความคิดเป็นเหตุให้ชีวิตแก่พระมหาสัตว์เป็นฐานะอันจะพึงเกิดขึ้นบ้าง มิได้มีเลย ได้ทำตามความตกลงใจว่า เรามิต้องการด้วยความเป็นอยู่ของวิธุรบัณฑิตนี้ แม้แต่น้อยหนึ่งเลย เราจักฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้ นำเอาไปแต่ดวงหทัยของเธอนี้เท่านั้น.

               ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์คิดว่า ถ้าอย่างไร เราไม่พึงฆ่าวิธุรบัณฑิตนี้ให้ตายด้วยมือของตน จะให้ถึงซึ่งความสิ้นชีวิต ด้วยการแสดงรูปอันน่าสะพึงกลัว แล้วจึงแปลงกายเป็น ยักษ์น่าสะพึงกลัวมาขู่พระมหาสัตว์ ผลักพระมหาสัตว์นั้นให้ล้มลง จับเท้าทั้งสองใส่เข้าในระหว่างแห่งฟัน ทำอาการเหมือนประสงค์จะเคี้ยวกิน ถึงทำอาการอย่างนั้น ความสะดุ้งกลัวแม้เพียงเป็น เครื่องทำให้ขนลุกก็มิได้มีแก่พระมหาสัตว์. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์จำแลงเพศเป็นพระยาไกรสรราชสีห์ เป็นช้างตกมันตัวใหญ่บ้าง วิ่งมาทำดังจะทิ่มแทงด้วยเขี้ยวและงา เมื่อพระมหาสัตว์ไม่สะดุ้งกลัว แม้ด้วยอาการอย่างนั้น. จึงนฤมิตเพศเป็นงูใหญ่ประมาณเท่าเรือโกลนลำหนึ่ง เลื้อยมาพันสรีระร่างกายของพระมหาสัตว์ กระหวัดรัดให้รอบแล้วแผ่พังพานไว้บนศีรษะ แม้เหตุทำให้กลัวเพียงความแสยงขน ก็มิได้มีแก่พระมหาสัตว์. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์จึงพักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดบรรพต บันดาลให้พายุใหญ่พัดมา ด้วยหมายว่า จักทำให้มหาสัตว์ตกลงเป็นจุณวิจุณไป พายุใหญ่นั้นมิอาจพัด แม้สักว่าปลายเส้นผมให้ไหวได้. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์จึงพักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดบรรพตนั้นแหละ เขย่าบรรพตให้ไหวไปมา ดุจช้างเขย่าต้นแป้ง ฉะนั้น. ถึงอย่างนั้น ก็ไม่อาจทำพระมหาสัตว์ให้เคลื่อนจากที่ยืน แม้ประมาณเท่าเส้นผมได้. ขณะนั้นจึงชำแรกเข้าไปภายในแห่งบรรพต ร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังทำแผ่นดินและนภากาศ ให้มีเสียงกึกก้องสนั่นหวั่นไหว เป็นอันเดียวกัน ด้วยหมายใจว่า จักชำแหละหทัยของพระมหาสัตว์ให้ตาย ด้วยความสะดุ้งหวาดเสียวแต่เสียง ถึงทำอาการอย่างนั้น เหตุทำให้กลัวแม้เพียงแต่ ความแสยงขนก็มิได้มีแก่พระมหาสัตว์.
               แท้จริง พระมหาสัตว์ย่อมทราบว่าที่แปลงเพศเป็นยักษ์เป็นราชสีห์ เป็นช้าง และเป็นพระยานาคมาก็ดี ทำให้ลมพัดและเขย่าบรรพตก็ดี ชำแรกเข้าไปยังภายในบรรพต แล้วเปล่งสีหนาทก็ดี คือมาณพนั้นเอง หาเป็นคนอื่นไม่. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์คิดว่า เราไม่สามารถให้วิธุรบัณฑิตนี้ตายด้วยความพยายามภายนอกได้ อย่าเลย เราจะให้เธอตายด้วยมือของเรา นี่แหละ คิดดังนี้แล้ว จึงพักพระมหาสัตว์ไว้บนยอดบรรพต ลงไปสู่เชิงบรรพตชำแรกขึ้นไปโดยภายในแห่งบรรพต ดังบุคคลร้อยด้ายแดงเข้าไปในดวงแก้วมณี ร้องตวาดด้วยเสียงอันดัง จับพระมหาสัตว์เข้าให้มั่น กวัดแกว่งให้ศีรษะลงเบื้องต่ำ แล้วขว้างไปในอากาศซึ่งไม่มีที่ยึดเหนี่ยว.

               เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสพระคาถาว่า
               ปุณณกยักษ์นั้นมีจิตคิดประทุษร้ายลงจากยอดเขา วางพระมหาสัตว์ไว้ในระหว่างภูเขา ชำแรกเข้าไปภายในภูเขานั้น จับพระมหาสัตว์เอาศีรษะลงเบื้องต่ำ ขว้างลงไปที่พื้นดิน ไม่มีอะไรกีดกั้น.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คนฺตฺวา ความว่า ปุณณกยักษ์ลงจากยอดบรรพตไปสู่เชิงบรรพต แล้วพักวิธุรบัณฑิตไว้ที่ระหว่างแห่งบรรพต ชำแรกไปในภายใต้แห่งที่ๆ พระมหาสัตว์ผู้ยืนอยู่บนยอดแห่งบรรพต. จับพระมหาสัตว์ขว้างลงไปที่พื้นแผ่นดิน ที่ไม่มีอะไรกีดขวาง.
               บทว่า ธารยิ ความว่า ครั้งแรกให้พระมหาสัตว์นั้นยืนอยู่บนยอดบรรพตนั่นเอง.

               ก็ปุณณกยักษ์ ยืนอยู่บนยอดบรรพตนั่นเอง ขว้างพระมหาสัตว์ลงไปที่พื้นแผ่นดิน ครั้งแรกพระมหาสัตว์ตกลงไกลประมาณ ๑๕ โยชน์ แล้วยื่นมือออกไปจับเท้าทั้ง ๒ ของพระมหาสัตว์ ยกขึ้นให้มีศีรษะลงเบื้องต่ำ มองดูหน้าทราบว่ายังไม่ตาย จึงขว้างพระมหาสัตว์ไปอีก. แม้ครั้งที่ ๒ พระมหาสัตว์ตกไปไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ แล้วยื่นมือออกไปจับพระมหาสัตว์ยกขึ้น โดยทำนองนั้นเหมือนกัน แลดูหน้าเห็นว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงคิดว่า คราวนี้เธอตกไปแม้ไกลได้ประมาณ ๖๐ โยชน์จักไม่ตายไซร้ เราจักจับเท้าของเธอฟาดลงบนยอดบรรพตนี้ให้ตาย. ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ได้ขว้างพระมหาสัตว์เป็นครั้งที่ ๓ ในเวลาที่พระมหาสัตว์ตกลงไปไกลได้ ๖๐ โยชน์ แล้วจึงยื่นมือออกไปจับเท้าพระมหาสัตว์ยกขึ้นมองดูหน้า.
               ฝ่ายพระมหาสัตว์คิดว่า มาณพนี้ขว้างอาตมาไปครั้งแรกไกล ๑๕ โยชน์. แม้ครั้งที่ ๒ ก็ไกลได้ ๓๐ โยชน์ ครั้งที่ ๓ ไกลได้ ๖๐ โยชน์. บัดนี้ มาณพนี้จักไม่ขว้างอาตมาไปอีก แต่ว่า เขาจักยกอาตมาขึ้นฟาดบนยอดบรรพตนี้ให้ตายโดยแท้ อาตมาซึ่งมีศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำอยู่อย่างนี้ จักถามถึงเหตุแห่งการจะฆ่าอาตมา ในเวลาที่ปุณณกยักษ์จะยกพระมหาสัตว์ขึ้นฟาดลงกับยอดบรรพต พระมหาสัตว์มิได้สะดุ้งกลัวและครั่นคร้ามเลย ได้กระทำอย่างนั้นแล้ว

               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสพระคาถาว่า
               วิธุรบัณฑิตผู้เป็นอำมาตย์ประเสริฐสุดของชาวกุรุรัฐ เมื่อถูกห้อยศีรษะลงในเหวอันชัน อันเป็นที่น่ากลัว น่าสยดสยอง น่าหวาดเสียวมาก ก็ไม่สะดุ้ง ได้กล่าวกะปุณณกยักษ์ว่า ท่านเป็นผู้มีรูปดังผู้ประเสริฐ แต่หาเป็นคนประเสริฐไม่ คล้ายจะเป็นคนสำรวม แต่ไม่สำรวม กระทำกรรมอันหยาบช้า ไร้ประโยชน์ ส่วนกุศลแม้แต่น้อยย่อมไม่มีในจิตของท่าน ท่านจะโยนข้าพเจ้าลงไปในเหว ประโยชน์อะไรด้วยการตายของข้าพเจ้า จะพึงมีแก่ท่านหนอ วันนี้ ผิวพรรณของท่านเหมือนอมนุษย์ ท่านจงบอกข้าพเจ้า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไร.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ลมฺพมาโน ความว่า วิธุรบัณฑิตผู้เป็นปราชญ์ประเสริฐสุดของชนชาวกุรุ เมื่อมีศีรษะห้อยลงไปในเหว อันชันเป็นวาระที่ ๓. บทว่า อริยาวกาโส ความว่า ท่านมีผู้มีรูปเช่นกับผู้ประเสริฐ มีวรรณะ ดังเทพบุตรเที่ยวไปอยู่. บทว่า อสญฺญโต ความว่า ท่านเป็นผู้ไม่สำรวมกายเป็นต้น เป็นผู้ทุศีล. บทว่า อจฺจาหิตํ แปลว่า ซึ่งกรรมอันล่วงเสียซึ่งประโยชน์ หรือกรรมอันไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง. บทว่า ภาเว จ เต ความว่า กรรมอันกุศล แม้น้อยหนึ่งก็ย่อมไม่มีในจิตของท่าน. บทว่า อมานุสสฺเสว เต อชฺช วณฺโณ ความว่า วันนี้ เหตุของท่านที่จะบวงสรวงอมนุษย์มีอยู่. บทว่า กตมาสิ เทวตา ความว่า ท่านเป็นเทวดาชื่ออะไรในระหว่างแห่งเทวดาทั้งหลาย.

               ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์กล่าวกับพระมหาสัตว์ด้วยคาถาว่า
               ข้าพเจ้าเป็นยักษ์ชื่อปุณณกะ และเป็นอำมาตย์ของท้าวกุเวร ถ้าท่านได้ฟังมาแล้ว พระยานาคใหญ่นามว่าวรุณ ผู้ครอบครองนาคพิภพมีรูปงามสะอาด สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณและกำลัง ข้าพเจ้ารักใคร่อยากได้นางนาคกัญญานามอิรันทตีธิดาของพระยานาคนั้น ดูก่อนท่านผู้เป็นปราชญ์ เพราะเหตุแห่งนางอิรันทตีผู้มีเอวอันงามน่ารักนั้น ข้าพเจ้าจึงตกลงใจจะฆ่าท่าน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สชีโว ได้แก่ เป็นอำมาตย์ชื่อว่า สชีวะ. บทว่า พฺรหา ความว่า สมบูรณ์ด้วยส่วนยาวและส่วนกว้าง. บทว่า สุจิ ได้แก่ เช่นรูปทองอันยกขึ้นแล้ว. บทว่า วณฺณพลูปปนฺโน ความว่า ผู้เข้าถึงด้วยความงามแห่งเรือนร่าง และด้วยกำลังกาย. บทว่า ตสฺสานุชํ ได้แก่ ธิดาผู้เกิดแต่พระยานาคนั้น. บทว่า ปตารยึ ความว่า ข้าพเจ้ายังจิตให้เป็นไปแล้ว คือได้กระทำการตกลงใจแล้ว.

               พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้น จึงคิดว่า โลกนี้ย่อมฉิบหาย เพราะความถือผิด.
               ปุณณกยักษ์ เมื่อปรารถนานางนาคมาณวิกา จะฆ่าอาตมาประโยชน์อะไร อาตมาถามให้รู้เหตุนั้นโดยถ่องแท้เสียก่อน แล้วกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนปุณณกยักษ์ ท่านอย่าได้มีความลุ่มหลงนักเลย สัตว์โลกเป็นอันมากฉิบหายแล้ว เพราะความถือผิด เพราะเหตุไร ท่านจึงทำความรักใคร่ในนางอิรันทตี ผู้มีเอวอันงามน่ารัก ท่านจะมีประโยชน์อะไร ด้วยความตายของข้าพเจ้า เชิญท่านจงบอกเหตุทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าด้วย.


               ลำดับนั้น ปุณณกยักษ์ เมื่อจะบอกแก่พระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้าปรารถนาธิดาของพระยาวรุณนาคราช ผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นผู้รับอาสาญาติของนางอิรันทตีมา ญาติเหล่านั้นได้สำคัญข้าพเจ้าว่า ถูกความรักใคร่ครอบงำโดยส่วนเดียว เหตุนั้น พระยาวรุณนาคราชได้ตรัสกะข้าพเจ้า ผู้ทูลขอนางอิรันทตีนาคกัญญาว่า เราทั้งหลายพึงให้ธิดาของเรา ผู้มีร่างกายอันสลวย มีเนตรงามอย่างน่าพิศวง ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์ ถ้าท่านพึงได้ดวงหทัยของวิธุรบัณฑิต นำมาในนาคพิภพนี้โดยธรรม เพราะความดีความชอบนี้ ท่านก็จะได้ธิดาของเรา เราทั้งหลายมิได้ปรารถนาทรัพย์อื่นยิ่งไปกว่านั้น.
               ดูก่อนท่านอำมาตย์ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนหลง ท่านจงฟังให้ทราบเรื่องอย่างนี้ อนึ่ง ข้าพเจ้ามิได้มีความถือผิดอะไรๆ เลย เพราะดวงหทัยท่าน ที่ข้าพเจ้าได้ไปโดยชอบธรรม ท้าววรุณนาคราชและพระนางวิมาลาจะประทาน นางอิรันทตีนาคกัญญาแก่ข้าพเจ้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าพึงพยายามเพื่อจะฆ่าท่าน ข้าพเจ้ามีประโยชน์ด้วยการตายของท่าน จึงจะผลักท่านให้ตกลงไปในเหวนี้ ฆ่าเสียแล้วนำดวงหทัยไป.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธีตุกาโม ความว่า ข้าพเจ้าอยากได้ คือปรารถนาธิดา จึงเที่ยวไปเพื่อต้องการธิดา. บทว่า ญาติภโตหมสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้รับอาสา พวกญาติของนางอิรันทตีนั้นมา. บทว่า ตํ แปลว่า ซึ่งนางนาคมาณวิกานั้น. บทว่า ยาจมานํ แปลว่า ซึ่งข้าพเจ้าผู้ขออยู่. บทว่า ยถา มํ ความว่า เพราะเหตุนั้น พระยาวรุณนาคราชจึงได้ตรัสกะข้าพเจ้า ผู้ทูลขออยู่.
               บทว่า สุกามนีตํ ความว่า ญาติเหล่านั้นได้สำคัญ คือรู้ว่าเราถูกความรักใคร่นำไปด้วยดี คือโดยส่วนเดียว เพราะเหตุนั้น พระยาวรุณนาคราชผู้เป็นพ่อตา จึงได้รับสั่งกะข้าพเจ้า ผู้ไปสู่ขอนางอิรันทตีนาคกัญญานั้นว่า เราทั้งหลายจะพึงให้ลูกสาวแก่ท่านแลเป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทชฺเชมุ แปลว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายพึงให้. บทว่า สุตนุํ แปลว่า ผู้มีรูปร่างอันสวยงาม. บทว่า อิธ มาหเรสิ ความว่า ท่านพึงนำมาในที่นี้

               พระมหาสัตว์ได้สดับถ้อยคำของปุณณกยักษ์นั้น จึงคิดว่า พระนางวิมลาจะต้องการดวงหทัยของเรา หามิได้ แต่ว่า พระยาวรุณนาคราชฟังธรรมกถาของเรา เกิดความเลื่อมใส เอาแก้วมณีบูชาเรา กลับไปถึงนาคพิภพนั้นแล้ว จักพรรณนาความที่เราเป็นธรรมกถึกแก่พระนาง เป็นแน่ เมื่อเป็นอย่างนั้น ความปรารถนาด้วยธรรมกถาของเรา จักเกิดขึ้นแก่พระนางวิมลา พระยาวรุณนาคราชจักถือผิดไป จึงทรงบังคับปุณณกยักษ์นี้ ที่ถือผิดไปตามพระองค์มาเพื่อฆ่าเราให้ตาย.
               ภาวะที่เราเป็นบัณฑิต เป็นผู้สามารถในอันค้นคว้าหาเหตุที่ตั้งและเกิดขึ้นได้นั้น ได้ทำเราให้ได้รับทุกข์ถึงเพียงนี้ เมื่อปุณณกยักษ์ฆ่าเราให้ตายเสีย จักทำประโยชน์อะไรได้ เอาเถอะ เราจักเตือนมาณพนั้นให้รู้สึกตัว ดังนี้แล้วกล่าวว่า ดูก่อนมาณพ ข้าพเจ้าย่อมทราบสาธุนรธรรม ในขณะที่ข้าพเจ้ายังไม่ตาย ท่านจงยังข้าพเจ้าให้นั่งลงบนยอดบรรพต แล้วตั้งใจฟังสาธุนรธรรมก่อน พึงทำกิจที่ท่านปรารถนาจะทำในภายหลัง แล้วคิดว่า เราพึงพรรณนาสาธุนรธรรม ยังปุณณกยักษ์ให้มอบชีวิตคืนแก่เรา.

               พระมหาสัตว์ มีศีรษะห้อยลงเบื้องต่ำอยู่อย่างนั้น นั่นแหละกล่าวคาถาว่า
               จงยกข้าพเจ้าขึ้นโดยเร็ว ถ้าท่านมีกิจที่ต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งปวงนี้แก่ท่าน ในวันนี้.


               ปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้น จึงดำริว่า ได้ยินว่า ธรรมนี้จักเป็นธรรมที่บัณฑิตยังมิเคยแสดงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เอาเถอะ เราจักยกบัณฑิตขึ้นฟังสาธุนรธรรมเสียก่อน ดังนี้แล้ว จึงยกพระมหาสัตว์ขึ้น เชิญให้นั่งบนยอดเขาบรรพต.

               พระศาสดา เมื่อจะประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
               ปุณณกยักษ์นั้น รีบยกวิธุรบัณฑิตอำมาตย์ ผู้ประเสริฐที่สุดของชาวกุรุรัฐวางลงบนยอดเขา เห็นวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทรามนั่งอยู่ จึงถามว่า ท่านอันข้าพเจ้ายกขึ้นจากเหวแล้ว วันนี้ ข้าพเจ้ามีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของท่าน ท่านจงแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนั้น ให้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า ในวันนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสฺสฏฺฐํ แปลว่า เป็นผู้ได้ความโล่งใจ.
               บทว่า สเมกฺขิยาน แปลว่า เห็นแล้ว. บทว่า สาธุ นรสฺส ธมฺมา ได้แก่ ธรรมดีของนรชน คือธรรมงาม.

               พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
               ข้าพเจ้าอันท่านยกขึ้นจากเหวแล้ว ถ้าท่านมีกิจที่จะต้องทำด้วยหทัยของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแสดงสาธุนรธรรมทั้งหมดนี้แก่ท่านในวันนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมุฏฺฐิโต(๑. บาลีว่า สมุทฺธโต.) ตฺยสฺมิ ความว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้อันท่านยกขึ้นแล้ว.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์พูดกับปุณณกยักษ์นั้นว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้มีสรีระอันเศร้าหมอง จะขออาบน้ำชำระกายเสียก่อน. ปุณณกยักษ์รับคำว่า ดีละ แล้วไปนำน้ำสำหรับอาบมา ในเวลาพระมหาสัตว์อาบน้ำเสร็จ ได้ให้ผ้าทิพย์ของหอม และดอกไม้ทิพย์แก่พระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์บริโภคโภชนาหารแล้ว ให้ประดับยอดกาฬาคีรีบรรพต และตกแต่งอาสนะแล้ว จึงนั่งบนอาสนะที่ปุณณกยักษ์ประดับแล้ว.

               เมื่อจะแสดงสาธุนรธรรม จึงได้กล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนมาณพ ท่านจงเดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว ๑. จงอย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม ๑. อย่าประทุษร้ายในหมู่มิตร ในกาลไหนๆ ๑. อย่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงอสติ ๑.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อลฺลญฺจ ปาณึ ปริวชฺชยสฺสุ ความว่า ท่านจงอย่าเผาฝ่ามือที่ชุ่มเสีย.

               ปุณณกยักษ์ไม่อาจหยั่งรู้สาธุนรธรรม ๔ ข้อที่พระมหาสัตว์แสดงโดยย่อได้ จึงถามโดยพิศดารว่า
               บุคคลผู้ชื่อว่า เป็นผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินไปแล้ว อย่างไร. บุคคลผู้ชื่อว่า เผาฝ่ามืออันชุ่ม อย่างไร. บุคคลเช่นไร ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร. หญิงเช่นไรชื่อว่าอสติ. ข้าพเจ้าถามแล้ว ขอท่านจงบอกเนื้อความนั้น.


               ฝ่ายพระมหาสัตว์ได้แสดงสาธุนรธรรมแก่ปุณณกยักษ์ว่า
               ผู้ใดพึงเชื้อเชิญคนที่ไม่คุ้นเคยกัน ไม่เคยพบเห็นกันด้วยอาสนะ บุรุษพึงกระทำประโยชน์แก่บุคคลนั้นโดยแท้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวบุรุษนั้นว่า ผู้เดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว.
               บุคคลพึงอยู่ในเรือนของผู้ใดแม้คืนเดียว ได้ข้าวน้ำด้วย ไม่ควรคิดร้ายแก่ผู้นั้น แม้ด้วยใจ ผู้คิดร้ายต่อบุคคลเช่นนั้น ชื่อว่า เผาฝ่ามืออันชุ่ม และชื่อว่า ประทุษร้ายมิตร.
               บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่ควรหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนชั่วช้า.
               หญิงที่สามียกย่องอย่างดี ถึงแก่ให้แผ่นดินนี้อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ได้โอกาสแล้วพึงดูหมิ่นสามีนั้นได้ บุคคลไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของหญิงเหล่านั้น ผู้ชื่อว่าอสติ.
               บุคคลชื่อว่าเดินไปตามทางที่ท่านเดินแล้ว อย่างนี้. ชื่อว่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม อย่างนี้. ชื่อว่าตกอยู่ในอำนาจของหญิงผู้ชื่อว่าอสติ อย่างนี้. ชื่อว่าประทุษร้ายมิตรอย่างนี้. ท่านจงเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จงละอธรรมเสีย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสณฺฐตํ ความว่า ไม่เคยอยู่ร่วมกัน แม้เพียงหนึ่งหรือสองวัน.
               บทว่า โย อาสเนนาปิ ความว่า ผู้ใดไม่พึงเชื้อเชิญผู้ไม่คุ้นเคยกัน เห็นปานนี้ แม้ด้วยอาสนะ จะป่วยกล่าวไปใยถึงการเชื้อเชิญ ด้วยข้าวและน้ำเล่า.
               บทว่า ตสฺเสว ความว่า เป็นบุรุษย่อมทำประโยชน์ตอบแทน แก่ปุพพการีบุคคลนั้นโดยแท้.
               บทว่า ยาตานุยายี ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า เป็นผู้เดินตามทางที่ปุพพการีบุคคลเดินไปแล้ว ก็ผู้กระทำก่อน ชื่อว่าผู้เดินทาง ส่วนผู้กระทำภายหลัง ชื่อว่าผู้เดินตาม. ดูก่อนเทวราชเจ้า นี้ชื่อว่าสาธุนรธรรมที่ ๑.
               บทว่า อลฺลญฺจ ปาณึ ความว่า จริงอยู่ บุคคลเผาเฉพาะมือเครื่องใช้สอยของตนที่นำภัตตาหารมาแต่ไกล ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตร การไม่เผามืออันชุ่ม นี้ชื่อว่าสาธุนรธรรมที่ ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า น ตสฺส ความว่า ไม่พึงทำลายกิ่ง ใบ หน่อของต้นไม้นั้น เพราะเหตุไร เพราะผู้ประทุษร้ายต่อมิตรเป็นผู้ลามก ดังนั้น ผู้ทำชั่วแม้ต่อต้นไม้ที่ไม่มีเจตนา ที่ได้บริโภคและอาศัยร่มเงา ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายต่อมิตร จะป่วยกล่าวไปไย ถึงผู้เป็นมนุษย์ การไม่ประทุษร้ายต่อมิตรอย่างนี้ ชื่อว่าสาธุนรธรรมที่ ๓.
               บทว่า ทชฺชิตฺถิยา ความว่า พึงให้แก่หญิง. บทว่า สมฺมตาย ความว่า หญิงที่สามียกย่องด้วยดีอย่างนี้ว่า เราเท่านั้นจะให้ความสุขแม้แก่หญิงนี้ ชายอื่นไม่เป็นเหมือนเราเลย หญิงนั้นย่อมปรารถนาแต่เราเท่านั้น. บทว่า ลทฺธา ขณํ ความว่า ได้โอกาสแห่งการล่วงเกิน. บทว่า อสตีนํ ได้แก่ หญิงผู้ประกอบด้วยอสัทธรรม ดังนั้น การอาศัยมาตุคามแล้วไม่กระทำความชั่ว นี้ชื่อว่าสาธุนรธรรมที่ ๔.
               บทว่า โส ธมฺมิโก โหหิ ความว่า ดูก่อนเทวราชเจ้า ท่านนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยสาธุนรธรรม ๔ เหล่านี้ ชื่อว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมแล.

               พระมหาสัตว์แสดงสาธุนรธรรมแก่ปุณณกยักษ์ ด้วยพุทธลีลา ด้วยประการฉะนี้ ปุณณกยักษ์ เมื่อฟังสาธุนรธรรม ๔ ประการนั้นแหละ กำหนดใจว่า บัณฑิตขอชีวิตของตนในที่ ๔ สถานและรู้สึกความผิดของตนได้ว่า ก็บัณฑิตนี้ได้กระทำสักการะเราที่ตนไม่คุ้นเคย ในกาลก่อน เราได้เสวยยศใหญ่อยู่ในเรือนของบัณฑิตนั้นตลอด ๓ วัน แต่เมื่อเราจะทำกรรมชั่วเช่นนี้ลงไป ก็เพราะอาศัยมาตุคามจึงกระทำ หากว่า เราประทุษร้ายต่อบัณฑิต ชื่อว่าประทุษร้ายมิตร แม้ในที่ทุกสถานทีเดียว จัดว่าไม่ประพฤติตามสาธุนรธรรม เราจะประโยชน์อะไรด้วยนาคมาณวิกา เราจักเช็ดหน้าอันเต็มด้วยน้ำตาของชนชาวอินทปัตตนครให้เบิกบาน นำบัณฑิตนี้ไปส่งโดยเร็ว ให้ลงที่โรงธรรมสภา ดำริดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า
               ข้าพเจ้าได้อยู่ในเรือนท่าน ๓ วัน ทั้งเป็นผู้ที่ท่านบำรุง ด้วยข้าวและน้ำ ท่านเป็นผู้พ้นจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอปล่อยท่าน. ดูก่อนผู้มีปัญญาอันสูงสุด เชิญท่านกลับไปเรือนของท่านตามปรารถนาเถิด ความต้องการของตระกูลพระยานาค จะเสื่อมไปก็ตามที เหตุที่จะให้ได้นางนาคกัญญา ข้าพเจ้าเลิกละ. ดูก่อนท่านผู้มีปัญญา เพราะคำสุภาษิตของตนนั่นแล ท่านจึงพ้นจากข้าพเจ้า ผู้จะฆ่าท่านในวันนี้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปฏฺฐิโตสฺมิ ความว่า เราเป็นผู้อันท่านบำรุงแล้ว. บทว่า วิสชฺชามหํ ตํ ความว่า ข้าพเจ้าย่อมปล่อยท่าน. บทว่า กามํ แปลว่า โดยส่วนเดียว. บทว่า วธาย แปลว่า เพื่อจะฆ่า. บทว่า ปญฺญ แปลว่า ดูก่อนท่านผู้มีปัญญา.

               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะปุณณกยักษ์นั้นว่า ดูก่อนมาณพ ท่านอย่าเพิ่งส่งข้าพเจ้าไปเรือนก่อนเลย จงนำข้าพเจ้าไปยังนาคพิภพโน่นเถิด จึงกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนปุณณกยักษ์ เชิญท่านนำข้าพเจ้าไปในสำนักของพ่อตาของท่าน จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็อยากเห็นท้าววรุณผู้เป็นอธิบดีของนาค และวิมานของท้าวเธอซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็น.


               บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิบาตใช้ในอรรถแห่งอุปสรรค. บทว่า สสุรนฺติเก อตฺถํ มยิ จรสฺสุ ความว่า จงนำข้าพเจ้าไปยังสำนักของพ่อตาของท่าน จงประพฤติประโยชน์ในข้าพเจ้า คืออย่ายังประโยชน์นั้นให้เสียหาย. บทว่า นาคาธิปตีวิมานํ ความว่า ข้าพเจ้าควรจะเห็นท้าววรุณผู้เป็นอธิบดีแห่งนาคและวิมานของท้าวเธอ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็น.

               ปุณณกยักษ์กล่าวคาถาว่า
               คนมีปัญญา ไม่ควรจะดูสิ่งที่ไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชนนั้นเลย ดูก่อนท่านผู้มีปัญญาอันสูงสุด เออก็เพราะเหตุไรหนอ ท่านจึงปรารถนาจะไปยังที่อยู่ของศัตรูเล่า.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อมิตฺตคามํ ความว่า เป็นที่อยู่ของศัตรู คือสมาคมของอมิตร.

               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะปุณณกยักษ์นั้นว่า
               แม้ข้าพเจ้าก็รู้ชัด ซึ่งข้อที่ผู้มีปัญญาไม่ควรเห็น สิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่นรชน นั้นแน่แท้ แต่ข้าพเจ้าไม่มีความชั่วที่จะกระทำไว้ ในที่ๆไหนเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่รังเกียจต่อความตาย อันจะมาถึงตน.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มรณาคมาย ความว่า ต่อมรณะที่จะมาถึงตน ดูก่อนเทวราชเจ้า อีกอย่างหนึ่งท่านเป็นคนหยาบช้ากล้าแข็งถึงเพียงนี้ ข้าพเจ้าเล้าโลมด้วยธรรมกถาทำให้อ่อนโยนได้ ดังท่านพูดกับข้าพเจ้าเมื่อกี้นี้เองว่า เราจะหยุดด้วยการพยายามให้ได้นางนาคมาณวิกา จะได้หรือไม่ได้ก็ตามที ไม่ต้องการละ เชิญท่านกลับไปเรือนของตนเถิด ดังนี้ การทำพระยานาคให้อ่อนโยน เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ท่านจงพาข้าพเจ้าไปในนาคพิภพนั้นให้ได้.

               ปุณณกยักษ์ได้สดับดังนั้น รับคำของพระมหาสัตว์ว่า ดีละ แล้วกล่าวคาถาว่า
               ดูก่อนบัณฑิต เชิญเถิด ท่านกับข้าพเจ้ามาไปดูพิภพของพระยานาคราช ซึ่งมีอานุภาพหาที่เปรียบมิได้ เป็นที่อยู่อันมีการฟ้อนรำขับร้องตามปรารถนา เหมือนนิฬิญญราชธานีเป็นที่ประทับอยู่ของท้าวเวสวัณ ฉะนั้น นาคพิภพนั้น เป็นที่ไปเที่ยวเล่นเป็นหมู่ๆ ของนางนาคกัญญา ตลอดวันและคืนเป็นนิตย์ มีดอกไม้ดารดาษอยู่มากมายหลายชนิด สว่างไสวดังสายฟ้าในอากาศ บริบูรณ์ด้วยข้าวและน้ำ เพียบพร้อมด้วยการฟ้อนรำ ขับร้องและประโคม พร้อมมูลไปด้วยนางนาคกัญญาที่ประดับประดาสวยงาม งามสง่าไปด้วยผ้านุ่งห่มและเครื่องประดับ.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนฺท จ นี้ เป็นเพียงนิบาตเท่านั้น. บทว่า ฐานํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ประทับของพระนาค. บทว่า นิฬิญฺญํ ได้แก่ ราชธานีชื่อว่า นิฬิญญา. บทว่า จริตํ คเณน ความว่า ที่ประทับของพระยานาคนั้น เป็นที่ๆ หมู่นางนาคกัญญาเที่ยวไป. บทว่า นิกีฬิตํ ความว่า อันเหล่านางนาคกัญญาเที่ยวเล่นเป็นหมู่ ตลอดวันและคืนเป็นนิตย์.

               พระศาสดา เมื่อทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
               ปุณณกยักษ์นั้น เชิญให้วิธุรบัณฑิตผู้ประเสริฐสุดของชาวกุรุ นั่งเหนืออาสนะข้างหลัง ได้พาวิธุรบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ทราม เข้าไปสู่ภพของพระยานาคราช วิธุรบัณฑิตได้สถิตอยู่ข้างหลังแห่งปุณณกยักษ์ จนถึงพิภพของพระยานาค ซึ่งมีอานุภาพหาเปรียบมิได้ ก็พระยานาคทอดพระเนตร เห็นลูกเขยผู้มีความจงรักภักดี ได้ตรัสทักทายปราศรัยก่อนทีเดียว.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โส ปุณฺณโก ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกยักษ์นั้นพรรณนานาคพิภพอย่างนี้แล้ว จึงยกบัณฑิตผู้ประเสริฐขึ้นสู่ม้าอาชาไนยของตน นำไปสู่นาคพิภพ. บทว่า ฐานํ ได้แก่ สถานที่เป็นที่ประทับของพระยานาค. บทว่า ปจฺฉโต ความว่า ได้ยินว่า ปุณณกยักษ์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ถ้าว่า พระยานาคทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตแล้ว จักมีพระทัยอ่อนน้อม นั่นเป็นการดี หากว่า ท้าวเธอไม่มีพระทัยอ่อนน้อมเล่า เมื่อท้าวเธอไม่ทันทอดพระเนตรบัณฑิตนั้น เราจักยกบัณฑิตขึ้นสู่ม้าอาชาไนยไปเสีย ลำดับนั้น จึงพักเธอไว้ข้างหลัง ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เบื้องหลังแห่งปุณณกยักษ์ ดังนี้. บทว่า สามคฺคิเปกฺขิ ความว่า เพ่งถึงความสามัคคี. บาลีว่า สามํ อเปกฺขิ ดังนี้ก็มี. ส่วนพระยานาคทอดพระเนตร เห็นปุณณกยักษ์ลูกเขยของตน จึงได้ตรัสทักทายปราศรัยก่อนทีเดียว

               พระยานาคตรัสเป็นคาถาว่า
               ท่านได้ไปยังมนุษยโลกเที่ยวแสวงหาดวงหทัยของบัณฑิต กลับมาถึงในนาคพิภพนี้ด้วยความสำเร็จหรือ หรือว่าท่านได้พาเอาบัณฑิตผู้มีปัญญาไม่ต่ำทรามมาด้วย.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กจฺจิ สมิทฺเธน ความว่า ท่านได้ไปยังมนุษยโลกแล้ว กลับมาในนาคพิภพนี้ ด้วยความสำเร็จตามมโนรถของท่านหรือ.

               ปุณณกยักษ์ทูลว่า
               ท่านผู้นี้แหละ คือวิธุรบัณฑิต ที่พระองค์ทรงปรารถนานั้นมาแล้ว พระเจ้าข้า ท่านวิธุรบัณฑิตผู้รักษาธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้มาแล้วโดยธรรม เชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททอดพระเนตรวิธุรบัณฑิตผู้แสดงธรรมถวายด้วยเสียงอันไพเราะ เฉพาะพระพักตร์ ณ บัดนี้ การสมาคมด้วยสัปบุรุษทั้งหลาย ย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้ โดยแท้.


               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ ตวมิจฺฉสิ แปลว่า ท่านปรารถนาสิ่งใด. บาลีว่า ยํ ตุวมิจฺฉสิ ดังนี้ก็มี. บทว่า ภาสมานํ ความว่า ขอพระองค์จงทอดพระเนตรวิธุรบัณฑิตนั้น ผู้รักษาธรรมปรากฏในโลก ผู้แสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะเฉพาะพระพักตร์ ในกาลบัดนี้ ก็ธรรมดาว่า การสมาคมด้วยสัตบุรุษคนดีทั้งหลาย ในฐานะเป็นอันเดียวกัน ย่อมเป็นเหตุนำความสุขมาให้แล.
               จบกาฬาคิรีบรรพตกัณฑ์

.. อรรถกถา วิธุรชาดก ว่าด้วย พระวิธูรบัณฑิตทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖]
อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 834 อรรถกถาอรรถาธิบาย
เล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 893 อรรถาธิบายเล่มที่ 28 เริ่มข้อที่ 1045 อรรถาธิบายเล่มที่  28 เริ่มข้อที่ 1045
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=28&A=5626&Z=6510
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=44&A=4104
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=44&A=4104
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๘
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :