ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๗.

               เมื่อจะแสดงความเกิดขึ้นแห่งตัณหาด้วยสามารถวัตถุและอารมณ์ พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำว่า อิติ เม จกฺขุ เป็นต้น.
               บทว่า อิติ รูปา ได้แก่ มีรูปอย่างนี้.
               บทว่า ตตฺถ ฉนฺทราคปฏิพทฺธํ ความว่า ฉันทะกล่าวคือที่มีกำลังอ่อน และราคะกล่าวคือที่มีกำลังแรงในจักษุและรูปเหล่านั้น พัวพัน คือติดแน่นด้วยฉันทราคะนั้น.
               บทว่า วิญฺญาณํ ได้แก่ ชวนจิต.
               บทว่า ฉนฺทราคปฏิพทฺธตฺตา วิญฺญาณสฺส ความว่า เพราะชวนจิตนั้นพัวพันด้วยฉันทราคะ.
               บทว่า ตทภินนฺทติ ความว่า ย่อมเพลิดเพลินอารมณ์นั้น ด้วยสามารถตัณหา เมื่อเพลิดเพลินอารมณ์นั้นด้วยสามารถตัณหานั่นแล.
               บทว่า ยานิสฺส ตานิ ได้แก่ การหัวเราะ การเจรจาและการเล่นเหล่านั้น.
               บทว่า ปุพฺเพ ได้แก่ ในอดีต.
               บทว่า สทฺธึ ได้แก่ ร่วมกัน.
               บทว่า หสิตลปิตกีฬิตานิ ได้แก่ การหัวเราะมีกัดฟันเป็นต้น การเปล่งวาจาเจรจาและการเล่นมีการเล่นทางกายเป็นต้น.
               บทว่า ตทสฺสาเทติ ความว่า ย่อมชื่นชม คือได้ความชื่นชม คือยินดีอารมณ์นั้น.
               บทว่า ตํ นิกาเมติ ความว่า ย่อมมุ่งหวัง คือหวังเฉพาะอารมณ์นั้น.
               บทว่า วิตฺตึ อาปชฺชติ ความว่า ย่อมถึงความยินดี.
               บทว่า สิยํ แปลว่า พึงเป็น.
               บทว่า อปฺปฏิลทฺธสฺส ปฏิลาภาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การถึงอารมณ์ที่ยังไม่ถึง.
               บทว่า จิตฺตํ ปณิทหติ ความว่า ตั้งจิตไว้.
               บทว่า เจตโส ปณิธานปจฺจยา ได้แก่ เพราะเหตุแห่งการตั้งจิตไว้.
               บทว่า สีเลน วา ได้แก่ ด้วยศีลมีศีล ๕ เป็นต้น.
               บทว่า วตฺเตน วา ได้แก่ ด้วยสมาทานธุดงค์.
               บทว่า ตเปน วา ได้แก่ ด้วยสมาทานความเพียร.
               บทว่า พฺรหฺมจริเยน วา ได้แก่ หรือด้วยเมถุนวิรัติ.
               บทว่า เทโว วา ได้แก่ เทวราชผู้มีอานุภาพมาก.
               บทว่า เทวญฺญตโร วา ได้แก่ เทวดาตนใดตนหนึ่งบรรดาเทวดาเหล่านั้น.
               บทว่า ชปฺปนฺตา ได้แก่ กล่าวด้วยสามารถแห่งคุณ.
               บทว่า ปชปฺปนฺตา ได้แก่ กล่าวโดยประการ.
               บทว่า อภิชปฺปนฺตา ได้แก่ กล่าวโดยพิเศษ. หรือขยายความด้วยสามารถแห่งอุปสรรค.
               พระสารีบุตรเถระแสดงเป็นตัวอย่างว่า นรชนเช่นนั้นย่อมอยู่ไกลจากวิเวก ด้วยคาถาที่ ๑, ทำให้แจ้งซึ่งธรรมดาของเหล่านรชนเช่นนั้นด้วยคาถาที่ ๒, บัดนี้เมื่อจะทำให้แจ้งถึงการกระทำกรรมชั่วของนรชนเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาว่า กาเมสุ คิทฺธา เป็นต้น.
               เนื้อความของคาถานั้นว่า
               สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้ปรารถนาในกามทั้งหลาย ด้วยตัณหาในการบริโภค เป็นผู้ขวนขวายในกามทั้งหลาย เพราะขวนขวายการแสวงหาเป็นต้น เป็นผู้หลงใหลในกามทั้งหลาย เพราะถึงความหลงพร้อม เป็นผู้ตกต่ำ เพราะมีการไปต่ำ เพราะมีความตระหนี่และเพราะไม่ถือมั่นพระพุทธพจน์เป็นต้น ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ มีกรรมอันไม่เสมอทางกายเป็นต้น ในกาลอันเป็นที่สุด เข้าถึงทุกข์ คือความตาย ย่อมคร่ำครวญอยู่ว่า เราทั้งหลายเคลื่อนจากภพนี้แล้ว จักเป็นอะไรหนอ.
               บทว่า คิทฺธา ได้แก่ ปรารถนาด้วยกามราคะ.
               บทว่า คธิตา ความว่า เป็นผู้หวังเฉพาะด้วยความกำหนัดเพราะความดำริหลงใหล.
               บทว่า มุจฺฉิตา ความว่า เป็นผู้มีความติดใจเป็นที่ไปในเบื้องหน้าด้วยกามตัณหา.
               บทว่า อชฺโฌปนฺนา ความว่า หมกมุ่น ลุ่มหลง ด้วยความเพลิดเพลินในกาม.
               บทว่า ลคฺคา ความว่า ติดแน่นด้วยความเสน่หาในกาม.
               บทว่า ลคฺคิตา ความว่า เป็นอันเดียวกันด้วยความเร่าร้อนในกาม.
               บทว่า ปลิพุทฺธา ความว่า พัวพันด้วยความสำคัญในกาม.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า ปรารถนาในเพราะเห็นสิ่งที่เห็นแล้ว หลงใหลในเพราะเห็นเนืองๆ ติดใจในเพราะการกระทำความเกี่ยวข้อง ลุ่มหลงในเพราะการกระทำความคุ้นเคย ข้องในเพราะการตามรอยด้วยความเสน่หา เกี่ยวในเพราะความเข้าถึงเป็นคู่ๆ พัวพัน คือเป็นผู้ไม่ยอมปล่อยแล้วๆ เล่าๆ นั่นเอง.
               บทว่า เอสนฺติ ได้แก่ หวังเฉพาะ.
               บทว่า คเวสนฺติ ได้แก่ แสวงหา.
               บทว่า ปริเยสนฺติ ได้แก่ ต้องการคือปรารถนาด้วยอาการทั้งปวง
               อีกอย่างหนึ่ง หาดูว่า ในอารมณ์ที่เห็นแล้ว ความงาม ความไม่งาม มี ไม่มี ดังนี้ เมื่อจะทำให้เป็นที่รักด้วยเครื่องหมายเพราะทำให้ประจักษ์ในสุภารมณ์และอสุภารมณ์ ชื่อว่าแสวงหา ชื่อว่าเสาะหาแสวงหาด้วยสามารถแห่งจิต เสาะหาด้วยสามารถแห่งการประกอบ ค้นหาด้วยสามารถแห่งการกระทำ, ชื่อว่าเป็นผู้เที่ยวไปเพื่อกาม เพราะอรรถว่าเที่ยวไปอาศัยคือหยั่งลงสู่กาม ๒ อย่างนั้น. ชื่อว่าเป็นผู้มักมากในกาม เพราะอรรถว่ามักมาก คือยังกามเหล่านั้นแลให้เจริญ ให้เป็นไปโดยมาก. ชื่อว่าเป็นผู้หนักในกาม เพราะอรรถว่าไหม้ ทำกามเหล่านั้นแหละให้เป็นอารมณ์อย่างหนักหน่วง. ชื่อว่าเป็นผู้เอนไปในกาม เพราะอรรถว่าเป็นผู้เอนคือน้อมไปในกามเหล่านั้นอยู่, ชื่อว่าเป็นผู้โอนไปในกาม เพราะอรรถว่าเป็นผู้โอนไปในกามเหล่านั้นอยู่, ชื่อว่าเป็นผู้โน้มไปในกาม เพราะอรรถว่าเป็นผู้น้อมไปในกามเหล่านั้นแหละ. เพราะเป็นผู้แขวนอยู่ที่กามเหล่านั้นอยู่, ชื่อว่าเป็นผู้น้อมใจไปในกาม เพราะอรรถว่าเป็นผู้ครอบงำเกี่ยวข้องด้วยความลุ่มหลงในกามเหล่านั้นเที่ยวไป. ชื่อว่าเป็นผู้มุ่งกามเป็นใหญ่ เพราะอรรถว่าทำกามเหล่านั้นแหละให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้าเที่ยวไป.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า เป็นผู้เที่ยวไปเพื่อกาม เพราะปรารถนาอารมณ์, เป็นผู้มักมากในกาม เพราะใคร่อารมณ์, เป็นผู้หนักในกาม เพราะชอบใจอารมณ์, เป็นผู้เอนไปในกาม เพราะมีอารมณ์น่ารัก, เป็นผู้โอนไปในกาม เพราะมีอารมณ์ประกอบด้วยกาม, เป็นผู้โน้มไปในกาม เพราะมีอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด, เป็นผู้น้อมใจไปในกาม เพราะมีอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง, เป็นผู้มุ่งกามเป็นใหญ่ เพราะมีอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความผูกพัน.
               ในบทว่า รูเป ปริเยสนฺติ เป็นต้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวบท ปริเยสนฺติ ด้วยสามารถการแสวงหาลาภของผู้ที่ยังไม่ได้ลาภ.
               ท่านกล่าวบท ปฏิลภนฺติ ด้วยสามารถลาภอยู่ในมือแล้ว.
               ท่านกล่าวบท ปริภุญฺชนฺติ ด้วยสามารถการใช้สอย.
               ชื่อว่าคนผู้ทำความทะเลาะ เพราะอรรถว่าทำความทะเลาะวิวาท, ชื่อว่าขวนขวายในความทะเลาะ เพราะอรรถว่าประกอบในความทะเลาะนั้น. แม้ในคนทำการงานเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า โคจเร จรนฺโต ความว่า เที่ยวไปอยู่ในอโคจรมีซ่องหญิงแพศยา เป็นต้น หรือในโคจรมีสติปัฏฐานเป็นต้น ผู้ประกอบในโคจรเหล่านั้น ชื่อว่าขวนขวายในโคจร.
               ชื่อว่าผู้เจริญฌาน เพราะอรรถว่า มีฌานด้วยสามารถเข้าไปเพ่งอารมณ์, ผู้ประกอบในฌานนั้น ชื่อว่าขวนขวายในฌาน.
               บทว่า อวํคจฺฉนฺติ ได้แก่ ไปสู่อบาย.
               บทว่า มจฺฉริโน ได้แก่ ผู้ซ่อนสมบัติของตน.
               บทว่า วจนํ ได้แก่ คำพูด.
               บทว่า พฺยปถํ ได้แก่ ถ้อยคำ.
               บทว่า เทสนํ ได้แก่ โอวาทชี้แจง.
               บทว่า อนุสิฏฺฐึ ได้แก่ คำพร่ำสอน.
               บทว่า น อาทิยนฺติ ได้แก่ ไม่เชื่อถือ ไม่ทำความเคารพ ปาฐะว่า น อลฺลียนฺติ ก็มี ความก็อย่างเดียวกัน.
               เพื่อแสดงความตระหนี่โดยวัตถุ ท่านจึงกล่าวว่า ปญฺจ มจฺฉริยานิ อาวาสมจฺริยํ เป็นต้น.
               บรรดาความตระหนี่เหล่านั้น ความตระหนี่ในที่อยู่ ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ.
               แม้ในบทที่เหลือทั้งหลายก็นัยนี้แหละ.
               อารามทั้งสิ้นก็ตาม บริเวณก็ตาม ห้องนอนห้องเดียวก็ตาม ที่พักกลางคืนเป็นต้นก็ตาม ชื่อว่าที่อยู่, อยู่สบาย ได้ปัจจัยทั้งหลายในที่ใด ที่นั้นพึงทราบว่า อาวาส.
               ภิกษุรูปหนึ่งไม่ต้องการให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักผู้สมบูรณ์ด้วยวัตร มาในอาวาสนั้น คิดว่าแม้ภิกษุที่มาแล้วก็ขอให้รีบไปเสีย นี้ชื่อว่าอาวาสมัจฉริยะ, แต่ภิกษุผู้ไม่ต้องการให้พวกภิกษุผู้ก่อการทะเลาะวิวาท เป็นต้น อยู่ในที่อยู่นั้น ไม่เป็นอาวาสมัจฉริยะ.
               บทว่า กุลํ ได้แก่ สกุลอุปัฏฐากบ้าง สกุลญาติบ้าง ภิกษุไม่ต้องการให้ภิกษุอื่นเข้าไปในสกุลนั้น เป็นกุลมัจฉริยะ แต่เมื่อไม่ต้องการให้บุคคลลามกเข้าไป ไม่ชื่อว่าเป็นมัจฉริยะ ด้วยว่าบุคคลลามกนั้นย่อมปฏิบัติเพื่อทำลายความเลื่อมใสของอุปัฏฐากและญาติเหล่านั้นเสีย. แต่เมื่อไม่ต้องการให้ภิกษุผู้สามารถรักษาความเลื่อมใสไว้ได้ เข้าไปในสกุลนั้น ชื่อว่าเป็นมัจฉริยะ.
               บทว่า ลาโภ ได้แก่ ลาภคือปัจจัย ๔ นั่นเอง เมื่อภิกษุผู้มีศีลรูปอื่นได้ลาภอยู่ทีเดียว ภิกษุคิดว่า จงอย่าได้ ดังนี้ย่อมเป็นลาภมัจฉริยะ แต่ภิกษุใดทำสัทธาไทยให้ตกไป ให้พินาศด้วยไม่บริโภคและบริโภคไม่ดีเป็นต้น แม้ของบูดเน่าก็ไม่ให้แก่ผู้อื่น, เห็นภิกษุนั้นแล้วคิดว่า ถ้าภิกษุนี้ไม่ได้ลาภนี้ ภิกษุผู้มีศีลรูปอื่นพึงได้ พึงบริโภค ดังนี้ ย่อมไม่เป็นมัจฉริยะ.
               วรรณะแห่งสรีระก็ดี วรรณะคือคุณความดีก็ดี ชื่อว่าวรรณะ.
               ในวรรณะ ๒ อย่างนั้น ผู้ที่เมื่อเขากล่าวกันว่า ผู้อื่นมีรูปน่าเลื่อมใส ดังนี้ ไม่ประสงค์จะกล่าว ชื่อว่าตระหนี่วรรณะแห่งสรีระ, ผู้ที่ไม่ประสงค์จะกล่าวสรรเสริญผู้อื่นด้วยศีลธุดงค์ปฏิปทา อาจาระ ชื่อว่าวรรณะมัจฉริยะ.
               บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ปริยัติธรรมและปฏิเวธธรรม.
               บรรดาธรรม ๒ อย่างนั้น พระอริยสาวกทั้งหลายย่อมไม่ตระหนี่ปฏิเวธธรรม ย่อมปรารถนาให้โลกพร้อมทั้งเทวโลกแทงตลอดธรรมที่ตนแทงตลอดแล้ว ย่อมปรารถนาว่า ขอคนอื่นๆ จงรู้ปฏิเวธธรรมนั้นด้วย. ชื่อว่าธรรมมัจฉริยะ ในธรรมคือพระพุทธพจน์นั่นแลมีอยู่, บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมมัจฉริยะนั้น รู้คัณฐะหรือกถามรรคที่ลี้ลับอันใด ไม่ประสงค์จะให้คนอื่นๆ รู้คัณฐะหรือกถามรรคอันนั้น.
               แต่ผู้ใดไม่ให้โดยสอบสวนบุคคลแล้ว อนุเคราะห์ด้วยธรรม หรือโดยสอบสวนธรรม อนุเคราะห์บุคคล ผู้นี้ไม่ชื่อว่ามีธรรมมัจฉริยะ.
               ในข้อนั้น บุคคลบางคนเป็นคนโลเล บางเวลาเป็นสมณะ บางเวลาเป็นพราหมณ์ บางเวลาเป็นนิครนถ์, ก็ภิกษุใดไม่ให้ด้วยคิดว่าบุคคลนี้ทำลายข้อธรรมซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ที่มีมาโดยประเพณีเกลี้ยงเกลาละเอียดอ่อน แล้วจักร้อนใจ ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่ให้โดยสอบสวนบุคคล อนุเคราะห์ธรรม.
               ส่วนภิกษุใดไม่ให้ด้วยคิดว่าธรรมนี้เกลี้ยงเกลาละเอียดอ่อน ถ้าบุคคลผู้นี้จักถือเอา ก็จักพยากรณ์พระอรหัตผลกระทำให้แจ้งซึ่งตนจักฉิบหาย ภิกษุนี้ชื่อว่าไม่ให้โดยสอบสวนธรรมอนุเคราะห์บุคคล.
               แต่ภิกษุใดไม่ให้ด้วยคิดว่า ถ้าบุคคลผู้นี้จักถือเอาธรรมนี้ ก็จักสามารถทำลายลัทธิของพวกเราได้ ภิกษุนี้ชื่อว่ามีธรรมมัจฉริยะโดยแท้.
               บรรดาความตระหนี่ ๕ ประการเหล่านี้ บุคคลเป็นยักษ์ก็ตาม เป็นเปรตก็ตาม ยกหยากเยื่อในอาวาสนั้นเทินไปด้วยศีรษะ เพราะอาวาสมัจฉริยะก่อน.
               เมื่อบุคคลเห็นสกุลนั้นกระทำการให้ทานและความนับถือเป็นต้นแก่ผู้อื่น คิดว่าสกุลของเรานี้แตกแล้วหนอ ถึงแก่เลือดพุ่งออกจากปากก็มี ท้องเดินก็มี ไส้ใหญ่ออกมาเป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ก็มี เพราะกุลมัจฉริยะ.
               บุคคลตระหนี่ลาภที่มีอยู่ของสงฆ์ก็ตาม ของคณะก็ตาม บริโภคเหมือนบริโภคส่วนบุคคล ย่อมเกิดเป็นยักษ์ก็มี เป็นเปรตก็มี เป็นงูเหลือมใหญ่ก็มี เพราะลาภมัจฉริยะ.
               ก็บุคคลสรรเสริญคุณที่ควรสรรเสริญของตน ไม่สรรเสริญของผู้อื่นกล่าวโทษนั้นๆ ว่า ผู้นี้มีคุณอย่างไร ไม่ให้ปริยัติและอะไรๆ แก่ใครๆ ย่อมมีวรรณะทรามและเป็นใบ้เหมือนแพะ เพราะความตระหนี่วรรณะแห่งสรีระและวรรณคือคุณความดี และเพราะความตระหนี่ปริยัติธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมหมกไหม้อยู่ในเรือนโหละ เพราะความตระหนี่ที่อยู่ เป็นผู้มีลาภน้อย เพราะความตระหนี่สกุล, บังเกิดในคูถนรก เพราะความตระหนี่ลาภ, เมื่อบังเกิดในภพ ย่อมไม่มีวรรณะ เพราะความตระหนี่วรรณะ, บังเกิดในกุกกุลนรก คือนรกถ่านเพลิง เพราะความตระหนี่ธรรม.
               ความตระหนี่ด้วยสามารถแห่งผู้ตระหนี่, อาการแห่งความตระหนี่ ชื่อว่าอาการตระหนี่, ภาวะแห่งผู้ประพฤติด้วยความตระหนี่ คือผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยความตระหนี่ ชื่อว่าความเป็นผู้ประพฤติตระหนี่,
               ชื่อว่าผู้ปรารถนาต่างๆ เพราะอรรถว่าปรารถนาที่จะป้องกันสมบัติของตนทั้งหมดว่า จงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของผู้อื่น ภาวะแห่งผู้ปรารถนาต่างๆ ชื่อว่าความเป็นผู้ปรารถนาต่างๆ. คำนี้เป็นชื่อของความตระหนี่อย่างอ่อน.
               ปุถุชน ท่านเรียกว่าผู้เหนียวแน่น, ภาวะแห่งผู้เหนียวแน่นนั้น ชื่อว่าความเหนียวแน่น, คำนี้เป็นชื่อของความตระหนี่อย่างแรง ก็บุคคลที่ประกอบด้วยความตระหนี่อย่างแรงนั้น ย่อมห้ามแม้ผู้อื่นที่ให้ทานแก่คนอื่นอยู่.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า :-
                         คนตระหนี่มีความดำริชั่ว แม้มิจฉาทิฏฐิ ไม่เอื้อเฟื้อ
                         ย่อมห้ามผู้ให้ทานแก่พวกคนผู้ขอโภชนะอยู่.

               ชื่อว่าผู้มีจิตเจ็บร้อนในการให้ เพราะอรรถว่าจิตย่อมเป็นไปด้วยความเจ็บร้อน คือย่อมขัดเคืองเพราะเห็นพวกยาจก. ภาวะแห่งผู้มีจิตเจ็บร้อนในการให้ ชื่อว่าความเป็นผู้มีจิตเจ็บร้อนในการให้.
               อีกนัยหนึ่ง การถือทัพพี ท่านเรียกว่ากฏุกะ, ก็เมื่อบุคคลจะเอาข้าวใส่หม้อข้าวให้เต็มถึงขอบหม้อ ใช้ทัพพีสำหรับตักข้าวที่บิดเบี้ยวไปทุกส่วนตักใส่ ย่อมไม่อาจใส่ให้เต็มได้, จิตของบุคคลผู้มีความตระหนี่ก็อย่างนั้น ย่อมหดหู่ เมื่อจิตหดหู่ แม้กายของเขาก็หดหู่ โค้งงอ บิดเบี้ยว อย่างนั้นเหมือนกัน ไม่เหยียดยื่นออกได้ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ความเป็นผู้มีจิตเจ็บร้อนในการให้ ชื่อว่าความตระหนี่.
               บทว่า อคฺคหิตตฺตํ จิตฺตสฺส ความว่า ความที่จิตกั้นอย่างเหยียดยื่นไม่ได้ถือเอาโดยอาการมีให้ทานเป็นต้น ในการกระทำอุปการะแก่คนอื่นๆ.
               ก็เพราะบุคคลผู้มีความตระหนี่ เป็นผู้ไม่ประสงค์จะให้สมบัติของตนแก่คนอื่น ประสงค์จะถือเอาสมบัติของผู้อื่น ฉะนั้น ความตระหนี่นี้พึงทราบว่ามีลักษณะซ่อนสมบัติของตน และมีลักษณะถือเอาสมบัติของผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งความตระหนี่ที่เป็นไปว่า จงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของผู้อื่น.
               บทว่า ขนฺธมจฺฉริยมฺปิ มจฺฉริยํ ความว่า อุปบัติภพกล่าวคือเบญจขันธ์ของตนไม่สาธารณ์ถึงคนอื่นๆ ชื่อว่าความตระหนี่. ความตระหนี่ที่เป็นไปว่า ขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าเป็นของผู้อื่น ชื่อว่าความตระหนี่ขันธ์. แม้ในความตระหนี่ธาตุและความตระหนี่อายตนะก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า คาโห ได้แก่ ความถือด้วยมุ่งจะถือเอา.
               บทว่า อวทญฺญุตาย ได้แก่ ด้วยความไม่รู้พระดำรัสแม้ที่พระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสไว้.
               ก็บุคคลเมื่อไม่ให้แก่ยาจกทั้งหลาย ชื่อว่าย่อมไม่รู้คำที่ยาจกเหล่านั้นกล่าว.
               บทว่า ชนา ปมตฺตา ได้แก่ ชนผู้อยู่ปราศจากสติ.
               บทว่า วจนํ ได้แก่ คำกล่าวอย่างย่อ.
               บทว่า พฺยปถํ ได้แก่ คำกล่าวอย่างพิสดาร.
               บทว่า เทสนํ ได้แก่ คำที่แสดงอุปมาชี้แจงเนื้อความ.
               บทว่า อนุสิฏฺฐึ ได้แก่ คำที่ให้กำหนดบ่อยๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง การกล่าวชี้แจง ชื่อว่าวจนะ. การกล่าวให้ถือเอาชื่อว่าพยปถะ. การกล่าวแสดงเนื้อความ ชื่อว่าเทศนา. การกล่าวแสดงโดยบท ชื่อว่าอนุสิฏฐิ.
               อีกอย่างหนึ่ง การกล่าวให้ทุกข์คือความหวาดสะดุ้งพินาศไป ชื่อว่าวจนะ. การกล่าวให้ทุกข์คือความเร่าร้อนพินาศไป ชื่อว่าพยปถะ. การกล่าวให้ทุกข์ในอบายพินาศไป ชื่อว่าเทศนา. การกล่าวให้ทุกข์ในภพพินาศไป ชื่อว่าอนุสิฏฐิ.
               อีกอย่างหนึ่ง คำที่ประกอบการแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ทุกขสัจ ชื่อว่าวจนะ. คำที่ประกอบการแทงตลอดด้วยการละสมุทัยสัจ ชื่อว่าพยปถะ. คำที่ประกอบการแทงตลอดด้วยการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธสัจ ชื่อว่าเทศนา. คำที่ประกอบการแทงตลอดด้วยการทำมรรคสัจให้เกิด ชื่อว่าอนุสิฏฐิ.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า น สุสฺสุสนฺติ ความว่า ไม่ฟัง.
               บทว่า น โสตํ โอทหนฺติ ความว่า ไม่ตั้งโสตคือหูเพื่อฟัง.
               บทว่า น อญฺญา จิตฺตํ อุปฏฺฐเปนฺติ ความว่า ไม่ดำรงจิตเพื่อจะรู้.
               บทว่า อนสฺสวา ความว่า ไม่ฟังโอวาท.
               บทว่า อวจนกรา ความว่า ชื่อว่า ไม่ทำตามคำ เพราะอรรถว่าแม้ฟังอยู่ ก็ไม่ทำตามคำ.
               บทว่า ปฏิโลมวุตฺติโน ความว่า เป็นผู้ฝ่าฝืนเป็นไป.
               บทว่า อญฺเญเนว มุขํ กโรนฺติ ความว่า แม้กระทำอยู่ก็ไม่ให้เห็นหน้า.
               บทว่า วิสเม ความว่า ชื่อว่าไม่เสมอ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกรรมที่เสมอ ซึ่งสมมติว่ากายสุจริตเป็นต้น ในกรรมอันไม่เสมอนั้น.
               บทว่า นิวิฏฺฐา ความว่า เข้าไปแล้วนำออกได้ยาก.
               บทว่า กายกมฺเม ความว่า ในกายกรรมที่เป็นไปทางกายก็ตามที่เป็นไปด้วยกายก็ตาม. แม้ในวจีกรรมเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               บรรดากรรมเหล่านั้น กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ท่านจำแนกด้วยสามารถแห่งทุจริต. พึงทราบว่าปาณาติบาตเป็นต้น ท่านจำแนกด้วยสามารถแห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐. พรรณนาบทที่เป็นสาธารณะในที่นี้เท่านี้ก่อน.
               ก็ในบทที่เป็นอสาธารณะทั้งหลาย การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ชื่อว่าปาณาติบาต. ท่านอธิบายว่า การฆ่าสัตว์ การเบียดเบียนสัตว์.
               ก็ในบทว่า ปาโณ นี้ โดยโวหารได้แก่สัตว์ โดยปรมัตถ์ได้แก่ชีวิตินทรีย์.
               ก็เจตนาฆ่าที่เป็นไปทางกายทวารและวจีทวาร ทวารใดทวารหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นด้วยความเพียรเข้าไปตัดอินทรีย์คือชีวิต ของผู้มีความสำคัญในสัตว์มีชีวิตนั้นว่าเป็นสัตว์มีชีวิต ชื่อว่าปาณาติบาต. ปาณาติบาตนั้น.
               ในบรรดาสัตว์มีชีวิตทั้งหลายมีดิรัจฉานเป็นต้นที่เว้นจากคุณ ในสัตว์เล็ก มีโทษน้อย ในสัตว์ตัวใหญ่ มีโทษมาก.
               เพราะเหตุไร? เพราะปโยคะใหญ่, แม้เมื่อปโยคะเท่ากัน ก็เพราะวัตถุใหญ่.
               บรรดามนุษย์เป็นต้น ผู้มีคุณ สัตว์ที่มีคุณน้อย มีโทษน้อย ที่มีคุณมาก มีโทษมาก. ก็เมื่อสรีระและคุณเท่ากัน มีโทษน้อยเพราะกิเลสและความเพียรอ่อน, มีโทษมากเพราะกิเลสและความเพียรกล้าแข็ง พึงทราบดังพรรณนามาฉะนี้.
               ปาณาติบาตนั้นมีองค์ ๕ คือ
                         สัตว์มีชีวิต ๑
                         รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ๑
                         จิตคิดจะฆ่า ๑
                         ทำความเพียรที่จะฆ่า ๑
                         สัตว์ตายด้วยความเพียรนั้น ๑.
               มีปโยคะ ๖ คือ
                         สาหัตถิกปโยคะ ๑
                         อาณัตติกปโยคะ ๑
                         นิสสัคคิยปโยคะ ๑
                         ถาวรปโยคะ ๑
                         วิชชามยปโยคะ ๑
                         อิทธิมยปโยคะ ๑.
               เมื่อจะอธิบายเนื้อความนี้อย่างพิสดาร ก็จะยืดยาวเกินไป ฉะนั้นจักไม่อธิบายเรื่องนั้นให้พิสดาร. ผู้ต้องการทราบข้อความอื่นและข้อความอย่างนั้น พึงตรวจดูสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย ถือเอาเถิด.
               การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ชื่อว่า อทินฺนาทานํ, ท่านอธิบายว่า การลัก การขโมย การทำโจรกรรม.
               ในบทว่า อทินฺนาทานํ นั้น บทว่า อทินฺนํ ได้แก่ ของอันเจ้าของเขาหวงแหน ซึ่งเป็นที่เจ้าของเขาทำได้ตามความปรารถนา ไม่ควรแก่อาชญาและไม่มีโทษ.
               ก็เจตนาคิดที่จะลักที่ตั้งขึ้นด้วยความเพียรถือเอาสิ่งนั้น ของผู้มีความสำคัญในของอันเจ้าของเขาหวงแหนนั้น ว่าเป็นของอันเจ้าของเขาหวงแหน ชื่อว่าอทินนาทาน.
               อทินนาทานนั้น ในวัตถุที่เป็นของคนอื่นเลว มีโทษน้อย. ในวัตถุที่เป็นของคนอื่นประณีต มีโทษมาก. เพราะเหตุไร? เพราะวัตถุประณีต, เมื่อวัตถุเท่ากัน ในวัตถุที่เป็นของผู้ยิ่งด้วยคุณ มีโทษมาก, ในวัตถุที่เป็นของผู้มีคุณทรามกว่าคุณนั้นๆ โดยเทียบผู้ยิ่งด้วยคุณนั้นๆ มีโทษน้อย.
               อทินนาทานนั้นมีองค์ ๕ คือ
                         ของอันเจ้าของเขาหวงแหน ๑
                         รู้อยู่ว่าของอันเจ้าของเขาหวงแหน ๑
                         จิตคิดจะลัก ๑
                         ทำความเพียรเพื่อที่จะลัก ๑
                         ได้ของนั้นมาด้วยความเพียรนั้น ๑.
               มีปโยคะ ๖ มีสาหัตถิกปโยคะเป็นต้นนั่นเอง.
               ก็ปโยคะเหล่านั้นแล เป็นไปด้วยสามารถอวหารเหล่านี้ คือไถยาวหาร ปสัยหาวหาร ปฏิฉันนาวหาร ปริกัปปาวหาร กุสาวหาร ตามสมควร.
               นี้เป็นความย่อในข้ออทินนาทานนี้ด้วยประการฉะนี้ ส่วนความพิสดารได้กล่าวไว้แล้วในอรรถกถาสมันตปาสาทิกา.
               ก็ในบทว่า กาเมสุ มิจฺฉาจาโร นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า กาเมสุ ได้แก่ ความประพฤติเมถุน หรือวัตถุแห่งเมถุน.
               บทว่า มิจฺฉาจาโร ได้แก่ ความประพฤติลามก ซึ่งต้องตำหนิโดยส่วนเดียว. แต่โดยลักษณะ เจตนาก้าวล่วงอคมนียฐานที่เป็นไปทางกายทวาร ด้วยความประสงค์อสัทธรรม ชื่อว่ากาเมสุมิจฉาจาร.
               ในกาเมสุมิจฉาจารนั้น จะกล่าวถึงอคมนียฐานของพวกบุรุษก่อนซึ่งได้แก่ หญิงที่มารดารักษา, หญิงที่บิดารักษา, หญิงที่มารดาบิดารักษา, หญิงที่พี่ชายน้องชายรักษา. หญิงที่พี่สาวน้องสาวรักษา, หญิงที่ญาติรักษา, หญิงที่โคตรรักษา, หญิงที่ธรรมรักษา, หญิงที่มีอารักขา, หญิงที่มีอาชญา, รวมเป็นหญิง ๑๐ ประเภทมีหญิงที่มารดารักษาเป็นต้น.
               หญิงที่ช่วยมาด้วยทรัพย์. หญิงที่อยู่ด้วยความพอใจ, หญิงที่อยู่ด้วยโภคะ, หญิงที่อยู่ด้วยผ้า, หญิงที่ผู้ใหญ่จับมือคนทั้งสองจุ่มลงในน้ำแล้วมอบให้, หญิงที่บุรุษช่วยปลงภาระหนักแล้วมาอยู่ด้วย, หญิงที่เป็นทาสีแล้วยกขึ้นเป็นภรรยา, หญิงที่เป็นลูกจ้างแล้วได้เป็นภรรยา, หญิงที่บุรุษไปรบชนะได้มา, หญิงที่เป็นภรรยาชั่วคราว. รวมเป็นหญิง ๑๐ ประเภทมีหญิงที่ช่วยมาด้วยทรัพย์เป็นต้น รวมทั้งหมดเป็นหญิง ๒๐ ประเภท. เป็นอคมนียฐานของพวกบุรุษ.
               ส่วนในสตรีทั้งหลาย บุรุษอื่นๆ ชื่อว่าเป็นอคมนียฐานของสตรี ๑๒ ประเภท คือ หญิงที่มีอารักขา, และหญิงที่มีอาชญา ๒ ประเภท และหญิงที่ช่วยมาด้วยทรัพย์เป็นต้น ๑๐ ประเภท.
               ก็มิจฉาจารนี้นั้น ในอคมนียฐานที่เว้นจากคุณมีศีลเป็นต้น มีโทษน้อย, ในอคมนียฐานที่สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้น มีโทษมาก.
               กาเมสุมิจฉาจารนั้นมีองค์ ๔ คือ
                         วัตถุที่ไม่พึงถึง ๑
                         จิตคิดจะเสพในวัตถุนั้น ๑
                         ปโยคะในการเสพ ๑
                         การยังมรรคต่อมรรคให้จดกัน ๑
               มีปโยคะเดียวคือสาหัตถิปโยคะนั่นแล.
               บทว่า มุสา ได้แก่ วจีปโยคะหรือกายปโยคะ ซึ่งหักประโยชน์ของผู้ที่มุ่งจะกล่าวให้ผิดเจตนาที่ตั้งขึ้นด้วยกายปโยคะหรือวจีปโยคะซึ่งกล่าวให้ผิด ของผู้ที่มุ่งจะกล่าวให้ผิดนั้น ด้วยความประสงค์จะกล่าวให้ผิด ชื่อว่ามุสาวาท.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า มุสา ได้แก่ เรื่องไม่จริง ไม่แท้.
               บทว่า วาโท ได้แก่ การให้รู้เรื่องไม่จริงไม่แท้นั้นว่าจริงว่าแท้.
               ก็โดยลักษณะเจตนาที่ตั้งขึ้นด้วยวิญญัติอย่างนั้นของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นรู้เรื่องไม่จริงว่าจริง ชื่อว่ามุสาวาท.
               มุสาวาทนั้น มีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่หักนั้นน้อย มีโทษมากเพราะประโยชน์ที่หักนั้นมาก.
               อีกอย่างหนึ่ง สำหรับพวกคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า สิ่งของของตนไม่มี ด้วยความประสงค์จะไม่ให้เขา ดังนี้ มีโทษน้อย, มุสาวาทที่บุคคลเป็นพยานกล่าวเพื่อหักประโยชน์ มีโทษมาก
               สำหรับพวกบรรพชิต มุสาวาทที่เป็นไปโดยนัยที่ได้น้ำมันหรือเนยใสแม้น้อยมา แต่กล่าวว่าเต็ม ด้วยความประสงค์จะให้หัวเราะกันว่า วันนี้ในบ้านมีน้ำมันไหลเหมือนแม่น้ำ ดังนี้ มีโทษน้อย, แต่เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ได้เห็นเลย โดยนัยเป็นต้นว่า เห็น ดังนี้ มีโทษมาก.
               มุสาวาทนั้นมีองค์ ๔ คือ
                         เรื่องไม่จริง ๑
                         จิตคิดจะพูดให้ผิด ๑
                         เพียรกล่าวปดออกไป ๑
                         ข้อความที่ตนกล่าวนั้น คนอื่นรู้เข้าใจ ๑.
               มีปโยคะเดียว คือสาหัตถิกปโยคะนั่นแล.
               ในบทว่า ปิสุณวาจา เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
               บุคคลกล่าววาจานั้นแก่ผู้ใด กระทำความรักของตน ความส่อเสียดของผู้อื่น ในหทัยของผู้นั้น ด้วยวาจาใด วาจานั้น ชื่อว่าปิสุณวาจา.
               ก็บุคคลกระทำความหยาบกะตนบ้าง กะผู้อื่นบ้าง ด้วยวาจาใด. วาจาใดเป็นวาจาหยาบแม้เอง ไม่สบายหู ไม่สบายใจ วาจานี้ชื่อว่าผรุสวาจา.
               บุคคลพูดพร่ำคำเหลาะแหละไร้ประโยชน์ด้วยวาทะใด วาทะนั้นชื่อว่าสัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ. เจตนาแม้ที่เป็นมูลเหตุแห่งวาจา เหล่านั้น ก็ได้ชื่อว่า ปิสุณวาจา เป็นต้นเหมือนกัน. เจตนานั้นแหละ ท่านประสงค์ในที่นี้ดังนี้แล.
               ในบทว่า ปิสุณวาจา นั้น เจตนาที่ตั้งขึ้นด้วยกายปโยคะหรือวจีปโยคะ เพื่อทำผู้อื่นให้แตกกันก็ดี เพื่อทำความรักในตนก็ดี ของผู้ที่มีจิตเศร้าหมอง ชื่อว่า ปิสุณวาจา.
               ปิสุณวาจานั้น มีโทษน้อย, เพราะผู้ที่ทำให้แตกกันนั้นมีคุณน้อย, มีโทษมาก เพราะผู้ที่ทำให้แตกกันมีคุณมาก.
               ปิสุณวาจานี้มีองค์ ๔ คือ
                         ผู้อื่นที่จะพึงให้แตกกัน ๑
                         ความมุ่งทำให้แตกกันว่า คนเหล่านี้จักแตกกัน จักแยกจากกัน ด้วยประการฉะนี้ก็ดี ความกระทำให้เป็นที่รักว่า เราจักเป็นที่รัก เป็นที่พิสวาส ด้วยประการฉะนี้ก็ดี ๑
                         เพียรกล่าวส่อเสียดออกไป ๑
                         ข้อความที่ตนกล่าวนั้นคนนั้นรู้เข้าใจ ๑.
               เจตนาที่หยาบโดยส่วนเดียว ซึ่งตั้งขึ้นด้วยกายประโยคหรือวจีประโยคตัดจุดสำคัญของร่างกายของผู้อื่น ชื่อว่าผรุสวาจา, ปโยคะแม้ตัดจุดสำคัญของร่างกาย ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะจิตอ่อน เหมือนอย่างบิดามารดา บางคราวก็กล่าวกะบุตรน้อยๆ ถึงอย่างนี้ว่า พวกโจรจงทำพวกเจ้าให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ดังนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาแม้กลีบอุบลที่ตกลงข้างบนลูกน้อยๆ เหล่านั้น. อาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย บางคราวก็กล่าวกะพวกนิสิตอย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะหรือ จงขับพวกมันออกไป แต่ย่อมปรารถนาให้พวกนิสิตเหล่านั้นพร้อมด้วยอาคมและอธิคมโดยแท้ไม่เป็นผรุสวาจาเพราะจิตอ่อนฉันใด แม้ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะคำกล่าวอ่อน ก็หามิได้ฉันนั้น คำว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผู้นี้นอนเป็นสุขเถิดของผู้ประสงค์จะฆ่า จะไม่เป็นผรุสวาจา หามิได้เลย. ก็วาจานี้เป็นผรุสวาจาแท้ เพราะจิตหยาบ.
               ผรุสวาจานั้น มีโทษน้อย เพราะผู้ที่ผรุสวาจาเป็นไปหมายถึงนั้น มีคุณน้อย. มีโทษมาก เพราะผู้นั้นมีคุณมาก.
               ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือ
                         ผู้อื่นที่จะพึงด่า ๑
                         จิตโกรธ ๑
                         ด่า ๑.
               อกุศลเจตนาที่ตั้งขึ้นด้วยกายปโยคะหรือวจีปโยคะให้รู้เรื่องไม่เป็นประโยชน์ ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องพูดพร่ำคำเหลาะแหละไร้ประโยชน์. สัมผัปปลาปะนั้น มีโทษน้อย เพราะมีการซ่องเสพน้อย, มีโทษมาก เพราะมีการซ่องเสพมาก.
               สัมผัปปลาปะนั้นมีองค์ ๒ คือ
                         ความมุ่งกล่าวเรื่องไร้ประโยชน์ มีเรื่องภารตยุทธ์และเรื่องชิงนางสีดาเป็นต้น ๑
                         กล่าวกถามีอย่างนั้นเป็นรูป ๑.
               ชื่อว่าอภิชฌา เพราะอรรถว่าเพ่งเล็ง. อธิบายว่า มุ่งสิ่งของผู้อื่นเป็นไปด้วยความเป็นผู้น้อมไปในสิ่งของนั้น. อภิชฌานั้นมีลักษณะเพ่งเล็งสิ่งของของผู้อื่น ว่า โอ สิ่งนี้พึงเป็นของเราหนอ. มีโทษน้อย และมีโทษมาก เหมือนอทินนาทาน.
               อภิชฌานั้นมีองค์ ๒ คือ
                         สิ่งของของผู้อื่น ๑
                         การน้อมมาเพื่อตน ๑.
               ด้วยว่า เมื่อความโลภซึ่งมีสิ่งของของผู้อื่นเป็นที่ตั้งแม้เกิดขึ้นแล้ว กรรมบถก็ยังไม่แตก ตราบที่ยังไม่น้อมมาเพื่อตนว่า โอ สิ่งนี้พึงเป็นของเราหนอ ให้ถึงความพินาศ.
               พยาบาทนั้นมีลักษณะประทุษร้ายด้วยใจ เพื่อให้ผู้อื่นพินาศ มีโทษน้อยและมีโทษมากเหมือนผรุสวาจา.
               พยาบาทนั้นมีองค์ ๒ คือ
                         สัตว์อื่น ๑
                         คิดให้สัตว์อื่นนั้นพินาศ ๑.
               ก็เมื่อความโกรธซึ่งมีสัตว์อื่นเป็นวัตถุแม้เกิดขึ้นแล้ว กรรมบถก็ยังไม่แตกตราบที่ยังไม่ได้คิดให้ผู้นั้นพินาศว่า โอ ผู้นี้พึงถูกทำลาย พึงพินาศหนอ.
               ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าเห็นผิด เพราะไม่มีความยึดถือตามเป็นจริง. มิจฉาทิฏฐินั้นมีลักษณะเป็นทัศนะวิปริต โดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล มีโทษน้อย และมีโทษมากเหมือนสัมผัปปลาปะ.
               สัตว์เหล่านั้นย่อมสงสัยด้วยสามารถแห่งรูปเป็นต้นว่า เราทั้งหลายจักเป็นสัตว์มีสัญญา จักเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา จักเป็นสัตว์มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่. ย่อมสงสัยตนโดยนัยมีอาทิว่า เราทั้งหลายจักมีหรือหนอแล? ย่อมสงสัยความที่ตนมีอยู่และไม่มีอยู่ในอนาคต เพราะอาศัยอาการแห่งสัสสตทิฏฐิและอาการแห่งอุจเฉททิฏฐิในข้อนั้นว่า เราทั้งหลายจักมีหรือหนอแล? หรือจักไม่มี.
               บทว่า กึ นุ โข ภวิสฺสาม ความว่า สัตว์เหล่านั้นอาศัยความเข้าถึงชาติและเพศ สงสัยว่า เราทั้งหลายจักเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหนอแล?
               บทว่า กถํ นุ โข ภวิสฺสาม ความว่าอาศัยอาการแห่งทรวดทรงสงสัยว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้สูงต่ำ ขาวดำ มีประมาณและหาประมาณมิได้เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่าอาศัยความเป็นใหญ่และปราศจากมานะเป็นต้น สงสัยโดยเหตุว่า เราทั้งหลายจักเป็นเหตุการณ์อะไรหนอแล.
               บทว่า กึ หุตฺวา กึ ภวิสฺสาม นุ โข มยํ ความว่า อาศัยชาติเป็นต้น สงสัยคนอื่นต่อจากตนไป ว่า เราทั้งหลายเป็นกษัตริย์แล้วจักเป็นพราหมณ์หนอแล ฯลฯ เป็นเทวดาแล้วจักเป็นมนุษย์ ดังนี้.
               ก็บทว่า อทฺธานํ ในที่ทั้งปวงนั่นเทียว เป็นชื่อของกาลเวลา.
               เหตุใดท่านจึงกล่าวคำนี้ว่า ตสฺมา หิ สิกฺเขล ฯเปฯ อาหุ ธีรา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สิกฺเขถ ความว่า พึงรำลึกถึงสิกขา ๓.
               บทว่า อิเธว ได้แก่ ในศาสนานี้แหละ.
               ก็ในบทเหล่านั้น ชื่อว่าสิกขา เพราะอรรถว่าพึงศึกษา.
               บทว่า ติสฺโส เป็นการกำหนดจำนวน.
               บทว่า อธิศีลสิกฺขา ความว่า ชื่อว่าอธิศีล เพราะอรรถว่าศีลยิ่ง คือสูงสุด, ศีลยิ่งนั้นด้วย ชื่อว่าสิกขา เพราะพึงศึกษาด้วย ดังนั้นจึงชื่อว่าอธิศีลสิกขา.
               ในอธิจิตตสิกขาและอธิปัญญาสิกขาก็นัยนี้แหละ,
               และในสิกขา ๓ เหล่านี้ ศีลเป็นไฉน? อธิศีลเป็นไฉน? จิตเป็นไฉน? อธิจิตเป็นไฉน? ปัญญาเป็นไฉน? อธิปัญญาเป็นไฉน? จะได้อธิบายต่อไป :-
               อธิบายศีลก่อน ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๑๐ นั่นเอง. เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ยังมิได้เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ศีลนั้นก็เป็นไปอยู่ในโลก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งเหล่าพระสาวก ก็ให้มหาชนสมาทานในศีลนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้เป็นกรรมวาทีด้วย พระเจ้าจักรพรรดิมหาราชด้วย พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วย ให้มหาชนสมาทาน. สมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตก็สมาทานแม้ด้วยตนเอง. พวกเขาเหล่านั้นบำเพ็ญกุศลธรรมนั้นแล้วย่อมเสวยราชสมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               ก็ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ ท่านเรียกว่า อธิศีล. อธิศีลนั้น ยิ่งด้วย สูงสุดด้วยของโลกิยศีลทั้งหมด ดุจดวงอาทิตย์เป็นยอดยิ่งของแสงสว่างทั้งหลาย ดุจเขาสิเนรุสูงสุดของภูเขาทั้งหลายฉะนั้น ย่อมเป็นไปในพุทธุปาทกาลเท่านั้น นอกจากพุทธุปาทกาล ย่อมไม่เป็นไป.
               ด้วยว่า สัตว์อื่นย่อมไม่อาจที่จะยกบัญญัตินั้นขึ้นตั้งไว้ได้ แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นทรงตัดกระแสแห่งอัชฌาจารทางกายทวารและวจีทวารโดยประการทั้งปวง ทรงบัญญัติศีลสังวรนั้น ซึ่งสมควรแก่การละเมิดนั้นๆ .
               ศีลแม้ของผู้สำรวมในปาติโมกข์ ซึ่งสัมปยุตด้วยมรรคผลนั่นแล ก็ชื่อว่าอธิศีล.
               กุศลจิต ๘ ดวงอันเป็นกามาพจร และจิตที่สัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘ ดวงอันเป็นโลกิยะ พึงทราบว่า จิตนั่นเอง เพราะทำร่วมกัน.
               ก็ความเป็นไปของจิตนั้นด้วย การชักชวนให้สมาทานและการสมาทานด้วย ในกาลที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นและมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในศีลนั่นเทียว. จิตที่สัมปยุตด้วยสมาบัติ ๘ ซึ่งเป็นบาทแห่งวิปัสสนา ท่านเรียกว่า อธิจิต.
               อธิจิตนั้นยิ่งด้วย สูงสุดด้วยของโลกิยจิตทั้งหลาย เหมือนอธิศีลยิ่งด้วยสูงสุดด้วยของศีลทั้งหลายฉะนั้น และมีในพุทธุปาทกาลเท่านั้น นอกจากพุทธุปาทกาลหามีไม่. อนึ่ง มรรคจิตและผลจิตที่ยิ่งกว่านั้นแล ชื่อว่าอธิจิต.
               กัมมัสสกตาญาณที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล ดังนี้ ชื่อว่าปัญญา. ปัญญานั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม มิได้เสด็จอุบัติขึ้นก็ตาม ย่อมเป็นไปอยู่ในโลก เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้า ทั้งเหล่าพระสาวก ก็ให้มหาชนสมาทานในปัญญานั้น. เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย สมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้เป็นกรรมวาทีด้วย พระเจ้าจักรพรรดิมหาราชด้วย พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลายด้วย ให้มหาชนสมาทาน.
               บัณฑิตทั้งหลายก็สมาทานแม้ด้วยตนเอง.
               จริงอย่างนั้น อังกุรเทพบุตรได้ในมหาทานสองหมื่นปี. เวลามพราหมณ์ พระเวสสันดร และมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตอื่นๆ เป็นอันมากได้ให้มหาทานทั้งหลาย. เขาเหล่านั้นบำเพ็ญกุศลธรรมนั้นแล้วได้เสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               ก็วิปัสสนาญาณที่กำหนดไตรลักษณาการ ท่านเรียกว่า อธิปัญญา.
               อธิปัญญานั้นยิ่งด้วย สูงสุดด้วย ของโลกิยปัญญาทั้งหมด เหมือนอธิศีลและอธิจิต ยิ่งด้วยสูงสุดด้วยของศีลและจิตทั้งหลาย และนอกจากพุทธุปาทกาล ย่อมไม่เป็นไปในโลก. อนึ่ง ปัญญาที่สัมปยุตด้วยมรรคผลที่ยิ่งกว่านั้นนั่นแล ชื่อว่าอธิปัญญา.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงสิกขาเป็นอย่างๆ จึงกล่าวว่า อธิศีลสิกขาเป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์อยู่ ดังนี้เป็นต้น.
               คำว่า อิธ เป็นคำแสดงคำสอนซึ่งเป็นที่อาศัยของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยกรณียกิจอันเป็นส่วนเบื้องต้น ผู้บำเพ็ญศีลโดยประการทั้งปวง และเป็นคำปฏิเสธภาวะอย่างนั้นของศาสนาอื่น.
               สมจริงดังพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะในศาสนานี้แล ฯลฯ ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึงดังนี้.
               คำว่า ภิกฺขุ เป็นคำแสดงบุคคลผู้บำเพ็ญศีลนั้น.
               คำว่า ปาฏิโมกฺขสํวรสํวุโต นี้เป็นคำแสดงความที่บุคคลนั้นตั้งอยู่ในความสำรวมในปาติโมกข์.
               คำว่า วิหรติ นี้ เป็นคำแสดงความที่บุคคลนั้นมีความพร้อมเพรียงด้วยวิหารธรรมอันสมควรแก่ปาติโมกข์สังวรนั้น.
               คำว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน นี้ เป็นคำแสดงธรรมที่เป็นอุปการะแก่ปาติโมกข์สังวรของบุคคลนั้น.
               คำว่า อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี นี้ เป็นคำแสดงความไม่เคลื่อนจากปาติโมกข์เป็นธรรมดาของบุคคลนั้น.
               คำว่า สมาทาย นี้ เป็นคำแสดงการถือสิกขาบททั้งหลายโดยครบถ้วนของบุคคลนั้น.
               คำว่า สิกฺขติ นี้ เป็นคำแสดงความเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยสิกขาของบุคคลนั้น.
               คำว่า สิกฺขาปเทสุ นี้ เป็นคำแสดงธรรมที่พึงศึกษาของบุคคลนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิกฺขุ ความว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่าเห็นภัยในสังสารวัฏ. ชื่อว่าผู้มีศีล เพราะอรรถว่าศีลของภิกษุนั้นมีอยู่.
               คำว่า ศีล ในที่นี้ คืออะไร? ชื่อว่าศีล ด้วยอรรถว่าการปฏิบัติ. ชื่อว่าการปฏิบัตินี้ คืออะไร? คือการสมาทาน.
               ความว่า ความเป็นผู้มีกายกรรมเป็นต้นไม่กระจัดกระจาย ด้วยสามารถแห่งความเป็น ผู้มีศีลดี หรือว่าเป็นที่รองรับ.
               ความว่า ความเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย คือเป็นที่ตั้ง.
               ก็ในบทนี้ ปราชญ์ผู้รู้ลักษณะศัพท์ ย่อมรู้ตามเนื้อความทั้ง ๒ นั้นนั่นแหละ. แต่อาจารย์อื่นๆ พรรณนาไว้ว่า ชื่อว่าศีล ด้วยอรรถว่าประพฤติเคร่งครัด, ด้วยอรรถว่าอาจาระ, ด้วยอรรถว่าการปฏิบัติ, ด้วยอรรถว่าศีรษะ ด้วยอรรถว่าเย็น, ด้วยอรรถว่าเป็นที่ปลอดภัย.
                         การปฏิบัติเป็นลักษณะของศีล แม้ที่ขยายไปเป็น
               อเนกประการ เหมือนความเป็นสนิทัสสนะเป็นลักษณะ
               ของรูปที่ขยายไปเป็นอเนกประการฉะนั้น.
               เหมือนอย่างว่า ความเป็นสนิทัสสนะเป็นลักษณะของรูปายตนะซึ่งแม้ขยายเป็นอเนกประการมีชนิดเขียวและเหลืองเป็นต้น เพราะไม่ก้าวล่วงความเป็นสนิทัสสนะแม้ของรูปที่ขยายเป็นชนิดเขียวเป็นต้นฉันใด, การปฏิบัติที่กล่าวไว้ด้วยสามารถสมาทานกายกรรมเป็นต้น และด้วยสามารถเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย นั้นแหละเป็นลักษณะของศีลแม้ขยายเป็นอเนกประการ มีชนิดเจตนาเป็นต้น เพราะไม่ก้าวล่วงสมาทานและความเป็นที่ตั้งของศีลซึ่งแม้ขยายเป็นชนิดเจตนาเป็นต้นฉันนั้น.
                         ก็ความกำจัดความเป็นผู้ทุศีล และคุณอันหาโทษมิ
               ได้ ท่านกล่าวว่า ชื่อว่ารสของศีลซึ่งมีลักษณะอย่างนี้
               ด้วยอรรถว่า เป็นกิจและสมบัติ.
               เพราะฉะนั้น ชื่อว่าศีลนี้ พึงทราบว่า มีการกำจัดความเป็นผู้ทุศีลเป็นรส เพราะอรรถว่าเป็นกิจ ว่ามีคุณอันหาโทษมิได้เป็นรส เพราะอรรถว่าเป็นสมบัติ.
                         ศีลนี้นั้นมีความสะอาดเป็นปัจจุปปัฏฐาน โอตตัปปะและ
                         หิริ ท่านผู้รู้ทั้งหลายพรรณนาว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น.
               ก็ศีลนี้นั้น มีความสะอาดซึ่งท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ความสะอาดกาย ความสะอาดวาจา ความสะอาดใจเป็นปัจจุปปัฏฐาน ย่อมปรากฏ คือถึงความเป็นแห่งการรับเอาด้วยความสะอาด ก็หิริและโอตตัปปะท่านผู้รู้ทั้งหลายพรรณนาว่าเป็นปทัฏฐานของศีลนั้น.
               อธิบายว่า เป็นเหตุใกล้. ด้วยว่า เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ ศีลย่อมเกิดขึ้นและตั้งอยู่ เมื่อหิริและโอตตัปปะไม่มี ศีลย่อมไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่ตั้งอยู่ ดังนี้แล. บุคคลเป็นผู้มีศีลด้วยศีลอย่างที่อธิบายมานี้.
               ธรรมมีเจตนาเป็นต้น ของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติก็ดี พึงทราบว่า ชื่อว่า ศีล.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า อะไรชื่อว่า ศีล? เจตนาชื่อว่าศีล, เจตสิกชื่อว่าศีล, ความสำรวมชื่อว่าศีล การไม่ก้าวล่วงชื่อว่าศีล.
               บรรดาศีลเหล่านั้น เจตนาของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นก็ดี ของบุคคลผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติก็ดี ชื่อ เจตนาศีล, ความงดเว้นของผู้ที่งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อเจตสิกศีล.
               อีกอย่างหนึ่ง เจตนาในกรรมบถ ๗ ของผู้ละปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อเจตนาศีล, ธรรมคือความไม่เพ่ง ความไม่พยาบาทและสัมมาทิฏฐิ ที่ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายมหาวรรค โดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุละความเพ่ง มีใจปราศจากความเพ่งอยู่ดังนี้ชื่อ เจตสิกศีล.
               สังวร ในบทว่า สํวโร สีลํ นี้พึงทราบว่ามี ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร สติสังวร ญาณสังวร ขันติสังวร วิริยสังวร การกระทำสังวรนั้นต่างๆ กัน จักมีแจ้งข้างหน้า
               บทว่า อวีติกฺกโม สีลํ ความว่า ความไม่ก้าวล่วงทางกายทางวาจาของผู้สมาทานศีล ก็ในที่นี้ บทว่า สํวรสีลํ อวีติกฺกมสีลํ นี้แหละเป็นศีลโดยตรง บทว่า เจตนาสีลํ เจตสิกสีลํ เป็นศีลโดยปริยาย พึงทราบดังนี้.
               บทว่า ปาติโมกฺข์ ได้แก่ ศีลส่วนที่เป็นสิกขาบท เพราะศีลนั้นปลดคือเปลื้องผู้ที่คุ้มครองรักษาศีลนั้นให้พ้นจากทุกข์ทั้งหลายมีทุกข์ที่เป็นไปในอบายเป็นต้น ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ปาติโมกข์.
               บทว่า ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต ได้แก่ผู้ประกอบด้วยความสำรวมในปาติโมกข์.
               บทว่า อาจารโคจรสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร.
               บทว่า อณุมตฺเตสุ ได้แก่ มีประมาณน้อย.
               บทว่า วชฺเชสุ ได้แก่ ในอกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ภยทสฺสาวี ได้แก่ เห็นภัย.
               บทว่า สมาทาย ได้แก่ ถือเอาโดยชอบ.
               บทว่า สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ ได้แก่ สมาทานศึกษาสิกขาบทนั้นๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสุ ความว่า สมาทานศึกษาข้อใดข้อหนึ่งซึ่งควรศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย คือในส่วนแห่งสิกขาทั้งหลาย ทางกายก็ตาม ทางวาจาก็ตาม ทั้งหมดนั้น.
               บทว่า ขุทฺทโก สีลกฺขนฺโธ ได้แก่ ศีลขันธ์ซึ่งมีส่วนเหลือลงมีสังฆาทิเสสเป็นต้น.
               บทว่า มหนฺโต ได้แก่ ซึ่งหาส่วนเหลือลงมิได้มีปาราชิกเป็นต้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :