ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๕ / ๗.

               เพื่อจะแสดงปริยายของบทนั้นนั่นแล พระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า ธี วุจฺจติ ปญฺญา ปัญญาเรียกว่า ธี ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ทั่ว.
               รู้ทั่วอะไร? รู้ทั่วอริยสัจทั้งหลายโดยนัยว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น.
               แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า ปัญญา ด้วยสามารถประกาศให้รู้ทั่ว ประกาศให้รู้ทั่วว่า อย่างไร? ประกาศให้รู้ทั่วว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. ปัญญานั้นชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ เพราะครอบงำอวิชชาเสียได้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าให้กระทำความเป็นใหญ่ ในลักษณะที่ปรากฏ. อินทรีย์คือปัญญา ชื่อว่าปัญญินทรีย์.
               ก็ปัญญานี้นั้นมีความสว่างเป็นลักษณะ และมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะเหมือนอย่างว่า ในเรือนมีฝา ๔ ด้าน เวลากลางคืน เมื่อจุดประทีป ความมืดย่อมหายไป ความสว่างย่อมปรากฏฉันใด ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะก็ฉันนั้น. ชื่อว่าแสงสว่างที่เสมอด้วยแสงสว่างแห่งปัญญา ไม่มี. ก็เมื่อผู้มีปัญญานั่งโดยบัลลังก์เดียว หมื่นโลกธาตุย่อมมีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน.
               เพราะเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า
               มหาบพิตร บุรุษถือประทีปน้ำมันเข้าไปในเรือนที่มืด ประทีปเข้าไปแล้วย่อมกำจัดความมืดให้เกิดแสงสว่างส่องแสงสว่าง ทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏได้ฉันใด
               มหาบพิตร ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้น ย่อมกำจัดความมืดคืออวิชชา ให้เกิดแสงสว่างคือวิชชา ส่องแสงแห่งญาณ ทำอริยสัจ ๔ ให้ปรากฏได้, มหาบพิตร ปัญญามีความสว่างเป็นลักษณะอย่างนี้ทีเดียวแล
               อีกอย่างหนึ่ง เหมือนแพทย์ผู้ฉลาดย่อมรู้โภชนะเป็นต้น ที่เป็นสัปปายะและไม่เป็นสัปปายะของผู้ป่วยไข้ทั้งหลายฉันใด ปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และมีส่วนเปรียบ.
               สมจริงดังคำที่พระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส เพราะอรรถว่าย่อมรู้ทั่ว ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าปัญญา รู้ทั่วอะไร? รู้ทั่วว่า นี้ทุกข์ ดังนี้.
               คำนี้พึงให้พิสดาร พึงทราบความที่ปัญญานั้นมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะอย่างนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดตามสภาวะเป็นลักษณะ. หรือมีการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะ ดุจการแทงตลอดของลูกธนูของผู้ฉลาด, มีความสว่างในอารมณ์เป็นรส ดุจประทีป มีความไม่ลุ่มหลงเป็นปัจจุปปัฏฐาน ดุจคนชำนาญป่าไปป่า ฉะนั้น.
               บทว่า ขนฺธธีรา ความว่า ชื่อว่าผู้มีปัญญาในขันธ์ เพราะอรรถว่ายังญาณให้เป็นไปในขันธ์ ๕, ชื่อว่าผู้มีปัญญาในธาตุ เพราะอรรถว่ายังญาณให้เป็นไปในธาตุ ๑๘, แม้ในบทที่เหลือทั้งหลาย ก็พึงนำความไปประกอบโดยนัยนี้.
               บทว่า เต ธีรา เอวมาหํสุ ความว่า บัณฑิตเหล่านั้นกล่าวไว้แล้วอย่างนี้.
               บทว่า กเถนฺติ ได้แก่ กล่าวว่า น้อย นิดหน่อย.
               บทว่า ภณนฺติ ได้แก่ หน่อยหนึ่ง เป็นไปชั่วขณะ.
               บทว่า ทีปยนฺติ ได้แก่ เริ่มตั้งว่า เร็ว เดี๋ยวเดียว.
               บทว่า โวหรนฺติ ได้แก่ แถลงด้วยวิธีต่างๆ ว่า ตั้งอยู่ตลอดกาล ไม่ช้า ดำรงอยู่ได้ไม่นาน.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะแสดงความเกิดขึ้นแห่งความพินาศของพวกที่ไม่กระทำอย่างนี้ จึงกล่าวคาถาว่า ปสฺสามิ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺสามิ ได้แก่ เห็นด้วยมังสจักษุเป็นต้น.
               บทว่า โลเก ได้แก่ ในอบายเป็นต้น.
               บทว่า ปริผนฺทมานํ ได้แก่ ดิ้นรนไปข้างโน้นด้วยข้างนี้ด้วย.
               บทว่า ปชํ อิมํ ได้แก่ หมู่สัตว์นี้.
               บทว่า ตณฺหาคตํ ได้แก่ ผู้ไปในตัณหา. อธิบายว่า ถูกตัณหาครอบงำให้ตกลงไป.
               บทว่า ภเวสุ ได้แก่ ในกามภพเป็นต้น.
               บทว่า หีนา นรา ได้แก่นรชนผู้มีการงานเลว.
               บทว่า มจฺจุมุเข ลปนฺติ ความว่า คร่ำครวญอยู่ในปากแห่งมรณะที่ถึงในกาลที่สุด.
               บทว่า อวีตตณฺหา เส ได้แก่ ยังไม่ปราศจากตัณหา.
               บทว่า ภวา ได้แก่ กามภพเป็นต้น.
               บทว่า ภเวสุ ได้แก่ ในกามภพเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภวาภเวสุ ได้แก่ ในภพน้อยภพใหญ่, ท่านอธิบายว่า ในภพทั้งหลายบ่อยๆ.
               บทว่า ปสฺสามีติ มํสจกฺขุนาปิ ปสฺสามิ ความว่า มังสจักษุ ๒ อย่าง คือ สสัมภารจักษุ ปสาทจักษุ.
               ก้อนเนื้อที่กำหนดด้วยความโค้งของลูกตา ๒ ข้างคือข้างล่างด้วยกระดูกเบ้าตา ข้างบนด้วยกระดูกคิ้ว ข้างนอกด้วยขนตา เกี่ยวเนื่องด้วยสมองซึ่งมีเส้นเอ็นแล่นออกท่ามกลางเบ้าตาวิจิตรด้วยวงดำเป็นตาขาวตาดำ นี้ชื่อสสัมภารจักษุ. ประสาทซึ่งผูกที่ก้อนเนื้อนี้ ติดเนื่องในชิ้นเนื้อนี้ อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้ชื่อปสาทจักษุ ซึ่งประสงค์ในที่นี้.
               ปสาทจักษุนั่นนั้นยังเยื่อหุ้มจักษุ ๗ ชั้นให้เอิบอาบ เหมือนปุยนุ่นชุ่มในน้ำมันในปุยนุ่น ๗ ชั้น ในวงกลมที่เห็นในประเทศที่เกิดขึ้นแห่งสัณฐานสรีระของผู้ที่ยืนอยู่ตรงหน้า ท่ามกลางดวงตาดำซึ่งล้อมรอบดวงตาขาวของสสัมภารจักษุนั้น ให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวาร ตาม สมควรแก่จักขุวิญญาณเป็นต้น สักว่าพอมีโอกาสโดยประมาณตั้งอยู่. ปสาทจักษุนั้นชื่อว่าจักษุ เพราะอรรถว่าบอกให้รู้จักอะไรๆ. ข้าพเจ้าเห็นด้วยมังสจักษุนั้น.
               บทว่า ทิพฺพจกฺขุนา ได้แก่ ด้วยทิพยจักษุอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้เห็นแล้วแล ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์.
               บทว่า ปญฺญาจกฺขุนา ได้แก่ ด้วยปัญญาจักษุที่มาอย่างนี้ว่า ธรรมจักษุที่ปราศจากธุลีไม่มีมลทินเกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุนา ได้แก่ ด้วยพุทธจักษุที่มาอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตรวจดูอยู่ซึ่งโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นแล้วแล.
               บทว่า สมนฺตจกฺขุนา ได้แก่ ด้วยสมันตจักษุที่มาอย่างนี้ว่า สัพพัญญุตญาณ ท่านเรียกว่าสมันตจักษุ.
               บทว่า ปสฺสามิ ได้แก่ เห็นรูปด้วยมังสจักษุ เหมือนเห็นมะขามป้อมในฝ่ามือด้วยมังสจักษุ.
               บทว่า ทกฺขามิ ความว่า รู้พร้อมซึ่งจุติและอุบัติด้วยทิพยจักษุ.
               บทว่า โอโลเกมิ ความว่า ตรวจดูอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาจักษุ.
               บทว่า นิชฺฌายามิ ความว่า คิดอินทรีย์ ๕ มีศรัทธาเป็นต้นด้วยพุทธจักษุ.
               บทว่า อุปปริกฺขามิ ความว่า เห็นโดยรอบคือแสวงหาทางที่ควรแนะนำ ๕ ประการ ด้วยสมันตจักษุ.
               บทว่า ตณฺหาผนฺทนาย ผนฺทมานํ ได้แก่ หวั่นไหวด้วยความหวั่นไหวเพราะตัณหา. ความดิ้นรนเพราะทิฏฐิเป็นต้น ต่อจากนี้ ซึ่งมีสัตว์ผู้ดิ้นรนเพราะทุกข์คือความพินาศแห่งทิฏฐิเป็นที่สุด ง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า สมฺผนฺทมานํ ได้แก่ ดิ้นรนบ่อยๆ.
               บทว่า วิปฺผนฺทมานํ ได้แก่ หวั่นไหวด้วยวิธีต่างๆ.
               บทว่า เวธมานํ ได้แก่ สั่นอยู่.
               บทว่า ปเวธฺมานํ ได้แก่ สั่นด้วยความเพียร.
               บทว่า สมฺปเวธมานํ ได้แก่ สั่นอยู่บ่อยๆ, อีกอย่างหนึ่ง ท่านขยายบทด้วยอุปสรรค.
               บทว่า ตณฺหานุคตํ ได้แก่ เข้าไปตามตัณหา.
               บทว่า ตณฺหานุสฏํ ได้แก่ แผ่ไปตามตัณหา.
               บทว่า ตณฺหายาปนฺนํ ได้แก่ จมลงในตัณหา.
               บทว่า ตณฺหาย ปาติตํ ได้แก่ อันตัณหาซัดไป. ปาฐะว่า ปริปาติตํ ก็มี.
               บทว่า อภิภูตํ ได้แก่ อันตัณหาย่ำยีคือท่วมทับแล้ว.
               บทว่า ปริยาทินฺนจิตฺตํ ได้แก่ มีจิตอันตัณหายึดไว้หมดสิ้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ไปในตัณหาเหมือนไปตามห้วงน้ำ, ไปตามตัณหา เหมือนตกไปตามปัจจัยแห่งรูปที่มีวิญญาณครอง. ซ่านไปตามตัณหา เหมือนแหนแผ่ปิดหลังน้ำจมอยู่ในตัณหา. เหมือนจมลงในหลุมอุจจาระ, อันตัณหาให้ตกไปเหมือนตกจากยอดไม้ลงเหว, อันตัณหาครอบงำ เหมือนประกอบรูปที่มีวิญญาณครอง๑-, มีจิตอันตัณหาครอบงำแล้ว เหมือนมีวิปัสสนาเกิดขึ้นแก่ผู้กำหนดรูปที่มีวิญญาณครอง.๑-
____________________________
๑- รูปอันตัณหาและทิฏฐิเข้าไปยึดไว้โดยความเป็นผลและเป็นอารมณ์ของอุปาทานได้.

               อีกอย่างหนึ่ง ไปในตัณหาด้วยกามฉันทะ ไปตามตัณหาด้วยความกระหายในกาม, ซ่านไปตามตัณหาด้วยความหมักดองในกาม, จมอยู่ในในตัณหา ด้วยความเร่าร้อนเพราะกาม, อันตัณหาให้ตกไปด้วยความจบสิ้นเพราะกาม, อันตัณหาครอบงำเพราะโอฆะคือกาม, มีจิตอันตัณหาครอบงำแล้ว เพราะยึดมั่นกาม, อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กามภเว ได้แก่ ภพกามาพจร.
               บทว่า รูปภเว ได้แก่ ภพรูปาพจร.
               บทว่า อรูปภเว ได้แก่ ภพอรูปาพจร. ความต่างกันของภพเหล่านั้นได้ประกาศแล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า ภวาภเวสูติ ภวาภเว ความว่า บทว่า ภโว ได้แก่ กามธาตุ. บทว่า อภโว ได้แก่ รูปธาตุและอรูปธาตุ,
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภโว ได้แก่ กามธาตุ รูปธาตุ.
               บทว่า อภโว ได้แก่ อรูปธาตุ, ในภพน้อยภพใหญ่เหล่านั้น.
               บทว่า กมฺมภเว ได้แก่ กรรมวัฏ.
               บทว่า ปุนพฺภเว ได้แก่ วิปากวัฏที่เป็นไปในภพใหม่.
               บทว่า กามภเว ได้แก่ กามธาตุ.
               บทว่า กมฺมภเว ได้แก่ กรรมวัฏ. ในบทเหล่านั้น กรรมภพ ชื่อว่าภพ เพราะอรรถว่าทำให้เกิด.
               บทว่า กามภเว ปุนพฺภเว ได้แก่ วิปากวัฏ ซึ่งเป็นภพที่เข้าถึง. กามธาตุ. วิปากภพ ชื่อว่าภพ เพราะอรรถว่าเกิด แม้ในรูปภพเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               และคำว่า กามภเว รูปภเว อรูปภเว ในที่นี้ ท่านกล่าวหมายเอาโอกาสภพ.
               ในภพทั้ง ๓ บทว่า กมฺมภเว ได้แก่ กรรมวัฏ.
               บทว่า ปุนพฺภเว ท่านกล่าวหมายเอาอุบัติภพเหมือนกัน.
               บทว่า ปุนปฺปุนํ ภเว ได้แก่ ในการเกิดขึ้นไปๆ มาๆ.
               บทว่า คติยา ได้แก่ คติ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า อตฺตภาวาภินิพฺพตฺติยา ได้แก่ ความบังเกิดขึ้นแห่งอัตภาพทั้งหลาย.
               บทว่า อวีตตณฺหา เป็นบทเดิม.
               บทว่า อวิคตตณฺหา ความว่า ชื่อว่ายังไม่ปราศจากตัณหา เพราะอรรถว่ายังปราศจากตัณหาไม่ได้ เพราะไม่มีขณิกปหานะ ดุจขณิกสมาธิ.
               บทว่า อจฺจตฺตตณหา ความว่า ชื่อว่ามีตัณหายังไม่สละแล้ว เพราะอรรถว่ามีตัณหายังสละไม่ได้ เพราะไม่มีตทังคปหานะ.
               บทว่า อวนฺตตณฺหา ความว่า ชื่อว่ามีตัณหายังไม่สำรอกแล้ว เพราะอรรถว่ามีตัณหายังสำรอกไม่ได้ เพราะไม่มีวิกขัมภนปหานะ.
               บทว่า อมุตฺตตณฺหา ความว่า ชื่อว่ามีตัณหายังไม่พ้นไปแล้ว เพราะอรรถว่ามีตัณหายังพ้นไปไม่ได้ เพราะไม่มีสมุจเฉทปหานะล่วงส่วน.
               บทว่า อปฺปหีนตณฺหา ความว่า ชื่อว่ามีตัณหายังไม่ละเสียแล้ว เพราะอรรถว่ามีตัณหายังละไม่ได้ เพราะไม่มีปฏิปัสสัทธิปหานะ.
               บทว่า อปฺปฏินิสฺสฏฺฐตณฺหา ความว่า ชื่อว่า มีตัณหายังไม่สละคืนแล้ว เพราะไม่สละคืนสังกิเลสล่วงส่วน ที่ตั้งมั่นอยู่ในภพ เพราะไม่มีนิสสรณปหานะ.
               บัดนี้ เพราะผู้ยังไม่ปราศจากตัณหาดิ้นรนและบ่นเพ้ออยู่ ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระเมื่อจะชักชวนในการกำจัดตัณหา จึงกล่าวคาถาว่า มมายิเต เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มมายิเต ได้แก่ ในเพราะวัตถุที่ยึดถือว่าของเรา.
               พระเถระกล่าวเรียกผู้ฟังทั้งหลายด้วยบทว่า ปสฺสถ.
               บทว่า เอตมฺปิ ได้แก่ โทษแม้นั้น บทที่เหลือปรากฏแล้วทั้งนั้น.
               บทว่า เทฺว มมตฺตา ได้แก่ อาลัย ๒ อย่าง.
               บทว่า ยาวตา เป็นนิบาตในอรรถว่ากำหนดตัด.
               บทว่า ตณฺหาสงฺขาเตน ได้แก่ ส่วนแห่งตัณหา.
               บทว่า สงฺขา สงฺขาตํ โดยความเป็นอย่างเดียวกันเหมือนในข้อความว่า ก็ส่วนแห่งความเนิ่นช้า มีตัณหาเป็นเหตุ เป็นต้น.
               บทว่า สีมกตํ ได้แก่ เว้นจากโทษที่ไม่มีขอบเขต.
               บทว่า มริยาทกตํ ความว่า ดุจในข้อความว่า พึงสมมติสีมามีโยชน์หนึ่งเป็นอย่างยิ่งเป็นต้น.
               บทว่า โอธิกตํ ได้แก่ เว้นจากโทษที่ไม่มีกำหนดถ้อยคำดุจต้นไม้ที่อยู่ในระหว่างแดนซึ่งกำหนดไว้.
               บทว่า ปริยนฺตกตํ ได้แก่ กำหนดไว้ คือทำที่สุดรอบว่า ต้นไม้ที่อยู่ในระหว่างแดนเป็นสาธารณะของทั้งสองฝ่าย ทำให้เป็นเหมือนแถวต้นตาลที่เนื่องเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า ปริคฺคหิตํ ได้แก่ ถือเอาโดยอาการทั้งปวง พ้นที่ผู้อื่นอาศัยแม้ในระหว่างกาล.
               บทว่า มมายิตํ ได้แก่ ทำอาลัยเหมือนเสนาสนะของภิกษุผู้เข้าจำพรรษา.
               บทว่า อิทํ มม ได้แก่ ตั้งอยู่ในที่ใกล้.
               บทว่า เอตํ มม ได้แก่ ตั้งอยู่ในที่ไกล.
               บทว่า เอตฺตกํ ได้แก่ กำหนดบริขาร ดุจในข้อความว่า แม้เพียงเท่านี้ก็ไม่พึงกล่าวตอบ.
               บทว่า เอตฺตาวตา เป็นการกำหนดด้วยนิบาต แม้ในอรรถว่ากำหนด ดุจในข้อความว่า ดูก่อนมหานาม ด้วยคำเพียงเท่านี้แล.
               บทว่า เกวลมฺปิ มหาปฐวี ได้แก่ แผ่นดินใหญ่แม้ทั้งสิ้น.
               บทว่า อฏฺฐสตตณฺหาวิปรีตํ ได้แก่ ขยายไปเป็นตัณหา ๑๐๘.
               หากจะถามว่า เป็น ๑๐๘ ได้อย่างไร? ตัณหาที่เป็นไปในชวนวิถีในจักขุทวารเป็นต้นอย่างนี้ว่า รูปตัณหา ฯลฯ๒- ธรรมตัณหามีอารมณ์เช่นกับบิดา ดุจได้นามฝ่ายบิดา ในข้อความมีอาทิอย่างนี้ว่า บุตรแห่งเศรษฐี บุตรแห่งพราหมณ์ ดังนี้.
____________________________
๒- สัททตัณหา, คันธตัณหา, รสตัณหา, โผฎฐัพพตัณหา.

               ก็ในบทนี้ ชื่อว่ารูปตัณหา เพราะอรรถว่าตัณหามีรูปเป็นอารมณ์คือตัณหาในรูป, รูปตัณหานั้นที่ยินดีรูปเป็นไปด้วยความกำหนัดในกาม ชื่อกามตัณหา, ที่ยินดีเป็นไปอย่างนี้ว่า รูปเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ด้วยความกำหนัดที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิ ชื่อภวตัณหา, ที่ยินดีเป็นไปอย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ พินาศ ตายแล้ว จักไม่เกิด ด้วยความกำหนัดที่สหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อวิภวตัณหา, รูปตัณหามี ๓ อย่างอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               แม้สัททตัณหาเป็นต้นก็เหมือนรูปตัณหา. ตัณหาเหล่านี้เป็นตัณหาวิปริต ๑๘. ตัณหาเหล่านั้นในรูปภายในเป็นต้น ๑๘ ในรูปภายนอกเป็นต้น ๑๘ รวมเป็น ๓๖, ที่เป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็น ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง รูปที่อาศัยรูปภายในเป็นต้นมีอาทิอย่างนี้ว่า เมื่อบทว่า อสฺมิ มีอยู่ บทว่า อิตฺถสฺมิ ก็ย่อมมี, เพราะอาศัยรูปภายใน มี ๑๘ รูปที่อาศัยรูปภายนอกเป็นต้นว่า เมื่อบทว่า อสฺมิ มีอยู่ด้วยบทนี้ บทว่า อิตฺถสฺมิ ก็ย่อมมีด้วยบทว่า เพราะอาศัยรูปภายนอกมี ๑๘ รวมเป็น ๓๖ ที่เป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ แม้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า วีสติวตฺถุกา สกฺกายทิฏฺฐิ ความว่า ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ เพราะอรรถว่าทิฏฐิในกายนั้น ในเมื่อกายกล่าวคือขันธ์ปัญจกะมีอยู่ ด้วยอรรถว่ามีอยู่ซึ่งเกิดขึ้นทำวัตถุที่เป็นไป ด้วยสามารถยึดถือเป็น ๔ ส่วน โดยนัยมีอาทิว่า พิจารณารูปในรูปหนึ่งๆ แห่งขันธ์ ๕ มีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ทสวตฺถุกา มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ มิจฉาทิฏฐิที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล.
               อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิที่ไม่แน่นอน เป็นทิฏฐิที่เหลวไหลเพราะยึดถือผิด ชื่อมิจฉาทิฏฐิ. ชื่อมิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าทิฏฐิอันบัณฑิตทั้งหลายรังเกียจ เพราะไม่นำประโยชน์มาดังนี้ก็มี.
               มิจฉาทิฏฐินั้นมีความยึดมั่นโดยไม่แยบคายเป็นลักษณะ, มีความยึดถือเป็นรส, มีความยึดมั่นผิดเป็นปัจจุปปัฏฐาน, มีความเป็นผู้ใคร่เห็นพระอริยะทั้งหลายเป็นปทัฏฐาน, พึงเห็นว่ามีโทษอย่างยิ่ง.
               บทว่า ทสวตฺถุกา อนฺตคฺคาหิกา ทิฏฺฐิ ได้แก่ ทิฏฐิที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า โลกเที่ยง, โลกไม่เที่ยง, โลกมีที่สุด, เป็นไปอย่างนี้ด้วยสามารถทำส่วนหนึ่งๆ เป็นที่ตั้งยึดถือ ชื่ออันตัคคาหิกาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐.
               บทว่า ยา เอวรูปา ทิฏฺฐิ ได้แก่ ทิฏฐิที่มีชาติอย่างนี้.
               บทว่า ทิฏฺฐิคตํ ได้แก่ ความเป็นไปในทิฏฐิทั้งหลาย. ทัศนะนี้ชื่อว่า ทิฏฺฐิคตํ เพราะอรรถว่าหยั่งลงในภายในแห่งทิฏฐิ ๖๒.
               รกชัฏเพราะอรรถว่าก้าวล่วงได้ยากคือทิฏฐิ ชื่อว่ารกชัฏคือทิฏฐิ ดุจรกชัฏหญ้า รกชัฏป่า รกชัฏภูเขา.
               ชื่อว่ากันดารคือทิฏฐิ เพราะอรรถว่ามีภัยเฉพาะหน้าที่น่ารังเกียจ ดุจกันดารเพราะโจร กันดารเพราะสัตว์ร้าย กันดารเพราะขาดน้ำ และกันดารเพราะข้าวยากหมากแพง.
               ชื่อว่าเสี้ยนหนามคือทิฏฐิ เพราะอรรถว่าแทงตลอด และเพราะอรรถว่าทวนซึ่งสัมมาทิฏฐิ. ด้วยว่ามิจฉาทัศนะเมื่อเกิดขึ้นย่อมแทงตลอด และทวนสัมมาทัศนะ.
               ชื่อว่าความดิ้นรนคือทิฏฐิ เพราะอรรถว่าดิ้นรนจนผิดรูปด้วยทิฏฐิ เพราะบางครั้งก็ยึดถือความเที่ยง บางครั้งก็ยึดถือความขาดสูญ. ก็คนผู้มีทิฏฐิย่อมไม่อาจตั้งมั่นในอารมณ์เดียว บางครั้งก็คล้อยไปตามความเที่ยง บางครั้งก็คล้อยไปตามความขาดสูญ.
               ชื่อว่าทิฏฐิสังโยชน์ เพราะอรรถว่าทิฏฐินั่นแล ชื่อว่าสังโยชน์ ด้วยอรรถว่าผูกพันไว้.
               ชื่อว่าคาหะ ความถือ เพราะอรรถว่าถือเอาอารมณ์ไว้มั่น ดุจจระเข้เป็นต้นคาบบุรุษ.
               ชื่อว่าย่อมตั้งมั่น เพราะความตั้งมั่น. จริงอยู่ ทิฏฐินี้ตั้งมั่นแล้วถือเอาด้วยปวัตติภาพที่มีกำลัง.
               ชื่อว่าอภินิเวส ยึดมั่น เพราะอรรถว่าย่อมยึดมั่นว่าเที่ยงเป็นต้น
               ชื่อว่าปรามาสะ เพราะอรรถว่าลูบคลำไปข้างหน้าว่าเที่ยงเป็นต้น ก้าวล่วงสภาวะแห่งธรรม.
               ชื่อว่ามิจฉามัคคะ ทางชั่ว เพราะอรรถว่าทางที่บัณฑิตรังเกียจ เพราะไม่นำประโยชน์มาหรือทางแห่งอบายที่บัณฑิตรังเกียจ.
               ชื่อว่ามิจฉาปถะ เพราะเป็นทางที่ไม่แน่นอน. เหมือนอย่างว่า ทางที่คนหลงทิศยึดถือว่า นี้เป็นทางของบ้านชื่อโน้น ย่อมไม่ทำให้เขาถึงบ้านนั้นได้ฉันใด ทิฏฐิที่คนมีทิฏฐิยึดถือเอาว่าเป็นทางสู่สุคติ ก็ไม่ส่งเขาให้ถึงสุคติได้ฉันนั้น ดังนั้นจึงชื่อว่าทางผิด เพราะเป็นทางที่ไม่ถูก.
               ชื่อว่าความเห็นผิด เพราะมีความเห็นผิดเป็นสภาวะ.
               ชื่อว่าท่า เพราะอรรถว่าเป็นที่ข้ามแห่งคนพาลทั้งหลาย โดยหมุนไปรอบในที่นั้นเอง, ท่านั้นด้วยเป็นบ่อเกิดแห่งความพินาศทั้งหลายด้วย ดังนั้นจึงชื่อว่าติตถายตนะ ลัทธิเดียรถีย์,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอายตนะ ด้วยอรรถว่าเป็นประเทศที่เกิด และเป็นที่อยู่อาศัยของเดียรถีย์ทั้งหลาย ดังนั้นจึงชื่อว่าลัทธิเดียรถีย์ ความถือที่เป็นความแสวงหาผิด หรือความถือโดยความแสวงหาผิด ดังนั้นจึงชื่อว่าความถือโดยแสวงหาผิด.
               ความถือผิดสภาวะ ชื่อว่าความถือวิปริต ความถือที่เปลี่ยนแปลงไปโดยนัยเป็นต้นว่า ถือในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ชื่อว่าความถือวิปลาส.
               ความไม่ถือเอาโดยอุบาย ชื่อว่าความถือผิด. ความถือในเรื่องที่ไม่แน่นอน ไม่ใช่สภาวะ ว่าแท้ แน่นอนเป็นสภาวะ ชื่อว่าความถือในสิ่งที่ไม่แน่นอนว่าแน่นอน.
               บทว่า ยาวตา ได้แก่ มีประมาณเท่าใด.
               บทว่า ทฺวาสฏฺฐิทิฏฺฐิคตานิ ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒ ที่มาในพรหมชาลสูตร.
               บทว่า อจฺเฉทสงฺกิโนปิ ผนฺทนฺติ ความว่า แม้ผู้มีความหวาดระแวงเกิดขึ้นว่า คนทั้งหลายจักแย่งชิงข่มขี่ถือเอาโดยพลการ ย่อมหวั่นไหว.
               บทว่า อจฺฉิชฺชนฺเตปิ ได้แก่ ในเมื่อเขากำลังแย่งชิงโดยนัยที่กล่าวแล้วบ้าง.
               บทว่า อจฺฉินฺเนปิ ได้แก่ ในเมื่อเขาแย่งชิงถือเอาแล้วโดยนัยที่กล่าวแล้วบ้าง.
               บทว่า วิปริณามสงฺกิโนปิ ได้แก่ แม้ผู้มีความหวาดระแวง โดยความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นบ้าง
               บทว่า วิปริณามนฺเตปิ ได้แก่ ในเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง.
               บทว่า วิปริณเตปิ ได้แก่ เมื่อวัตถุนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง.
               บทว่า ผนฺทนฺติ ได้แก่ ย่อมหวั่นไหว.
               บทว่า สมฺผนฺทนฺติ ได้แก่ ย่อมหวั่นไหวโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า วิปฺผนฺทนฺติ ได้แก่ ย่อมหวั่นไหวโดยอาการมีอย่างต่างๆ.
               บทว่า เวธนฺติ ได้แก่ เห็นภัยแล้วหวั่นไหว
               บทว่า ปเวธนฺติ ได้แก่ หวั่นไหวเป็นพิเศษ เพราะภัยที่น่าหวาดเสียว.
               บทว่า สมฺปเวธนฺติ ได้แก่ หวั่นไหวโดยอาการทั้งปวง เพราะภัยที่ทำให้ขนลุกขนพอง.
               บทว่า ผนฺทมาเน เป็นทุติยาวิภัตติ พหุวจนะ.
               บทว่า อปฺโปทเก ได้แก่ มีน้ำน้อย.
               บทว่า ปริตฺโตทเก ได้แก่ มีน้ำนิดหน่อย.
               บทว่า อุทกปริยาทาเน ได้แก่ มีน้ำสิ้นไป.
               บทว่า พลากาหิ วา ได้แก่ ฝูงปักษีที่เหลือจากที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า ปริปาติยมานา ได้แก่ เบียดเบียนอยู่ กระทบกระทั่งอยู่
               บทว่า อุกฺขิปิยมานา ได้แก่ นำมาแต่ระหว่างเปือกตม หรือกลืนกิน
               บทว่า ขชฺชมานา ได้แก่ เคี้ยวกินอยู่.
               ปลาทั้งหลายย่อมดิ้นรน เพราะฝูงกา ย่อมกระเสือกกระสนเพราะฝูงเหยี่ยว ย่อมทุรนทุรายเพราะฝูงนกยาง ย่อมหวั่นไหวด้วยสามารถแห่งความตายในเวลาที่ถูกคาบด้วยจะงอยปาก ย่อมเอนเอียงในเวลาถูกจิก ย่อมกระสับกระส่ายในเวลาใกล้ตาย.
               บทว่า ปสฺสิตฺวา ได้แก่ เห็นโทษมิใช่คุณ.
               บทว่า ตุลยิตฺวา ได้แก่ เปรียบเทียบคุณและโทษ.
               บทว่า ติรยิตฺวา ได้แก่ ยังคุณและโทษให้พิสดาร.
               บทว่า วิภาวยิตฺวา ได้แก่ ปล่อยคือเว้นวัตถุอันทราม.
               บทว่า วิภูตํ กตฺวา ได้แก่ ให้ถึงความสำเร็จ คือยกเว้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เห็นด้วยการเปลื้องโทษที่เกลื่อนกล่นแล้วจำแนกเป็นเรื่องๆ. เทียบเคียงด้วยการเปลื้องโทษที่ไม่มีกำหนดแล้วทำการกำหนด, พิจารณาด้วยการเปลื้องวัตถุโทษแล้วแบ่งเป็นส่วนๆ, ตรวจตราด้วยการเปลื้องโทษความลุ่มหลงแล้วตีราคา ทำให้แจ่มแจ้งด้วยการเปลื้องโทษความเป็นก้อนแล้วแบ่งส่วนตามปกติ.
               บทว่า ปหาย ได้แก่ ละแล้ว.
               บทว่า ปฏินิสฺสชฺชิตฺวา ได้แก่ สละคืนแล้ว.
               บทว่า อมมายนฺโต ได้แก่ ไม่กระทำอาลัยด้วยตัณหาและทิฏฐิ.
               บทว่า อคฺคณฺหนฺโต ได้แก่ ไม่ถือเอาส่วนเบื้องต้นแห่งทิฏฐิด้วยปัญญา.
               บทว่า อปรามสนฺโต ได้แก่ ไม่กระทำการสละลงด้วยวิตก.
               บทว่า อนภินิวิสนฺโต ได้แก่ ไม่เข้าไปด้วยทิฏฐิที่ก้าวลงแน่นอน.
               บทว่า อกุพฺพมาโน ได้แก่ ไม่กระทำด้วยตัณหาเครื่องยึดถือ
               บทว่า อชนยมาโน ได้แก่ ไม่ให้เกิดด้วยตัณหาที่ให้เกิดในภพใหม่.
               บทว่า อสญฺชนฺยมาโน ได้แก่ ไม่ให้เกิดพร้อมเป็นพิเศษ.
               บทว่า อนิพฺพตฺตยมาโน ได้แก่ ไม่ให้บังเกิดด้วยตัณหาคือความปรารถนา.
               บทว่า อนภินิพฺพตฺตยมาโน ได้แก่ ไม่ให้บังเกิดเฉพาะด้วยอาการทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทเหล่านี้ ท่านขยายความด้วยอุปสรรค.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความยินดีด้วยคาถาแรก และโทษด้วย ๔ คาถาต่อจากนั้น ในที่นี้ด้วยประการฉะนี้ บัดนี้เพื่อจะแสดงการสลัดออกพร้อมด้วยอุบาย และอานิสงส์แห่งการสลัดออก, หรือแสดงโทษความต่ำช้าและความเศร้าหมองของกามทั้งหลายด้วยคาถาเหล่านี้ทั้งหมด บัดนี้เพื่อจะแสดงอานิสงส์ในเนกขัมมะ ท่านจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า อุโภสุ อนฺเตสุ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโภสุ อนฺเตสุ ได้แก่ ในที่สุดที่กำหนดไว้เป็นคู่ๆ มีผัสสะและผัสสสมุทัยเป็นต้น.
               บทว่า วิเนยฺย ฉนฺทํ ได้แก่ กำจัดฉันทราคะ.
               บทว่า ผสฺสํ ปริญฺญาย ได้แก่ กำหนดรู้นามรูปแม้ทั้งสิ้น คือผัสสะมีจักขุสัมผัสเป็นต้น หรืออรูปธรรมแม้ทั้งสิ้นที่สัมปยุตด้วยผัสสะนั้น โดยทำนองแห่งผัสสะและรูปธรรม โดยมีวัตถุทวารของอรูปธรรมเหล่านั้น โดยทำนองแห่งผัสสะและรูปธรรม โดยมีวัตถุทวารของอรูปธรรมเหล่านั้นเป็นอารมณ์ด้วยปริญญา ๓.
               บทว่า อนานุคิทฺโธ ได้แก่ ไม่ติดใจในธรรมทั้งปวงมีรูปเป็นต้น.
               บทว่า ยทตฺตครหี ตทกุพฺพมาโน ความว่า ไม่กระทำกรรมที่ตนติเตียน.
               บทว่า น ลิมฺปตี ทิฏฺฐสุเตสุ ธีโร ความว่า ธีรชนผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาเห็นปานนี้นั้น ย่อมไม่ติดด้วยการติดแม้สักอย่างหนึ่งแห่งการติดทั้งสองในธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เห็นแล้วและฟังแล้ว คือไม่ติดอะไรๆ เหมือนอากาศ ย่อมเป็นผู้ถึงความผ่องแผ้วยิ่งนัก.
               บทว่า ผสฺโส เอโก อนฺโต ได้แก่ ผัสสะเป็นกำหนดอันหนึ่ง.
               ชื่อว่าผัสสะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง ผัสสะนี้นั้นมีการถูกต้องเป็นลักษณะ, มีการเสียดสีเป็นรส, มีการประชุมเป็นปัจจุปปัฏฐาน, มีอารมณ์ที่อยู่ในคลองเป็นปทัฏฐาน.
               ก็ผัสสะนี้แม้เป็นอรูปธรรม ก็เป็นไปโดยอาการถูกต้องในอารมณ์นั่นแล ดังนั้นจึงชื่อว่ามีการถูกต้องเป็นลักษณะ, และแม้ไม่ติดแน่นเป็นเอกเทส ก็เสียดสี ดุจรูปเสียดสีจักษุ เสียงเสียดสีหู จิตเสียดสีอารมณ์ ดังนั้นจึงชื่อว่ามีการเสียดสีเป็นรส.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า มีการเสียดสีเป็นรส ด้วยรสแม้มีอรรถว่าสมบัติ เพราะเกิดขึ้นแต่การเสียดสีของวัตถุและอารมณ์.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า
               ผัสสะที่เป็นไปในภูมิ ๔ ที่จะชื่อว่าไม่มีการถูกต้องเป็นลักษณะนั้นย่อมไม่มี ก็ผัสสะที่มีการเสียดสีเป็นรส ย่อมเป็นไปในทวาร ๕ ทีเดียว ด้วยว่า คำว่า มีการถูกต้องเป็นลักษณะก็ดี มีการเสียดสีเป็นรสก็ดี เป็นชื่อของผัสสะที่เป็นไปในทวาร ๕, คำว่า มีการถูกต้องเป็นลักษณะ มิใช่มีการเสียดสีเป็นรส เป็นชื่อของผัสสะที่เป็นไปทางมโนทวาร
               และท่านกล่าวคำนี้แล้ว ได้นำพระสูตรนี้มาว่า :-
               มหาบพิตร เหมือนมีแพะ ๒ ตัวต่อสู้กัน พึงเห็นจักษุเหมือนแพะตัวที่ ๑ พึงเห็นรูปเหมือนแพะตัวที่ ๒ พึงเห็นผัสสะเหมือนการเข้าสู้กันของแพะ ๒ ตัวนั้น ผัสสะมีการถูกต้องเป็นลักษณะและมีการเสียดสีเป็นรสเหมือนกันฉันนั้น
               มหาบพิตร เหมือนสลักแอกไถ ๒ อันเบียดเสียดกัน แม้สัตว์ทั้ง ๒ ก็พึงเบียดเสียดกัน พึงเห็นจักษุเหมือนสัตว์ตัวที่ ๑ พึงเห็นรูปเหมือนสัตว์ตัวที่ ๒ พึงเห็นผัสสะเหมือนการเข้าเบียดเสียดกันของสัตว์ ๒ ตัวนั้น ผัสสะมีการถูกต้องเป็นลักษณะและมีการเสียดสีเป็นรส เหมือนกันฉันนั้น.
               พึงทราบความพิสดารดังต่อไปนี้.
               เหมือนอย่างว่า จักขุวิญญาณเป็นต้น ท่านกล่าวโดยชื่อว่าจักษุ ในข้อความว่า เห็นรูปด้วยจักษุเป็นต้นฉันใด จักขุวิญญาณเป็นต้นเหล่านั้นแม้ในที่นี้ก็พึงทราบว่า ท่านกล่าวโดยชื่อว่าจักษุฉันนั้น.
               เพราะฉะนั้น เนื้อความในข้อความว่า พึงเห็นจักษุอย่างนี้ เป็นต้น พึงทราบโดยนัยนี้ว่า พึงเห็นจักขุวิญญาณอย่างนี้. เมื่อเป็นอย่างนั้น แม้ในพระสูตรนี้ก็ย่อมสำเร็จเนื้อความว่ามีการเสียดสีเป็นรส ด้วยรสซึ่งมีกิจเป็นอรรถนั่นแล เพราะการเสียดสีของจิตกับอารมณ์ แต่มีการประชุมกันเป็นปัจจุปปัฏฐาน เพราะประกาศความเสียดสีด้วยการประชุมกันแห่งธรรมทั้ง ๓ อย่างด้วยสามารถแห่งเหตุของตน เพราะผัสสะนี้ท่านประกาศในที่นั้นด้วยสามารถแห่งการประกอบเหตุอย่างนี้ว่าความเป็นไปร่วมกันของธรรม ๓ อย่าง๓-
____________________________
๓- ธรรม ๓ อย่างคือ จักษุ ๑ รูป ๑ จักขุวิญญาณ ๑

               ดังนั้น สุตตบทนี้จึงมีเนื้อความนี้ว่า ชื่อว่าผัสสะ เพราะความเป็นไปร่วมกันของธรรม ๓ อย่าง ผัสสะมิใช่เพียงเป็นไปร่วม กันเท่านั้น แต่ย่อมปรากฏด้วยอาการนั้นนั่นแล เพราะท่านประกาศไว้อย่างนั้น ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า มีการประชุมกันเป็นปัจจุปปัฏฐาน.
               อนึ่ง ผัสสะชื่อว่ามีเวทนาเป็นเครื่องปรากฏ แม้ด้วยความปรากฏซึ่งมีผลเป็นอรรถ.
               อธิบายว่า ด้วยว่าผัสสะนี้ยังเวทนาให้ปรากฏ คือให้เกิดขึ้น.
               ก็ผัสสะนี้คือจิตซึ่งเป็นที่อาศัยของตน เพราะอาศัยจิต เมื่อให้เกิดขึ้น แม้มีสิ่งอื่นกล่าวคือวัตถุหรืออารมณ์เป็นปัจจัย ย่อมยังเวทนาให้เกิดขึ้น มิใช่ในวัตถุหรือในอารมณ์ เหมือนไออุ่นที่อาศัยธาตุกล่าวคือครั่ง แม้มีความร้อนภายนอกเป็นปัจจัย ก็ย่อมกระทำความอ่อนในนิสัยของตน มิใช่ในความร้อนกล่าวคือถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวภายนอกแม้เป็นปัจจัยของตน ฉะนั้นพึงทราบดังนี้.
               อนึ่ง ผัสสะนี้ ท่านกล่าวว่า มีอารมณ์ที่อยู่ในคลองเป็นปทัฏฐาน เพราะเกิดขึ้นโดยไม่มีอันตราย ในอารมณ์ที่แวดล้อมด้วยอินทรีย์ซึ่งเกิดจากนั้นและที่ประมวลมา. ผัสสะตั้งขึ้น คือเกิดขึ้นแต่ปัจจัยใด ปัจจัยนั้นท่านเรียกว่า ผัสสสมุทัย. สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงเกิดผัสสะ.
               พึงทราบว่า อตีตทุกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งกาล.
               เวทนาทุกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งสุขทุกข์ เพราะทำอุเบกขาเวทนาให้เป็นสุขอย่างเดียว เพราะท่านกล่าวไว้ว่า ก็อุเบกขา ท่านกล่าวว่า สุขอย่างเดียวเพราะสงบ.
               นามรูปทุกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งรูปธรรมและอรูปธรรม.
               อายตนะทุกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งความเป็นไปในสังสารวัฏ.
               สักกายทุกะ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งเบญจขันธ์.
               บรรดาบทเหล่านั้น ชื่อว่าสุข เพราะอรรถว่าเป็นไปสบาย. ชื่อว่าเวทนา เพราะอรรถว่าเสวยอารมณ์. ชื่อว่าทุกข์ เพราะอรรถว่าเป็นไปลำบาก. นามมีความน้อมไปเป็นลักษณะ. รูปมีความแตกดับไปเป็นลักษณะ, อายตนะภายใน ๖ มีจักขวายตนะเป็นต้น, อายตนะภายนอก ๖ มีรูปายตนะเป็นต้น, เบญจขันธ์มีรูปขันธ์เป็นต้น เป็นสักกายะ ด้วยอรรถว่ามีอยู่, อวิชชา กรรม ตัณหา อาหาร ผัสสะและนามรูป เป็นสักกายสมุทัย.
               บทว่า จกฺขุสมฺผสฺโส ความว่า ชื่อว่าจักษุ เพราะอรรถว่าบอกให้รู้จักอะไรๆ. อธิบายว่า ยินดี คือทำให้แจ้งซึ่งรูป, สัมผัสที่เป็นไปทางจักษุ ชื่อจักขุสัมผัสสะ.
               ก็จักขุสัมผัสสะนั้นเป็นปัจจัยแก่เวทนาที่สัมปยุตกับด้วยตน ด้วยอำนาจปัจจัย ๘ ปัจจัย คือ สหชาตะ, อัญญมัญญะ, นิสสยะ, วิปากะ, อาหาระ, สัมปยุตตะ, อัตถิ, อวิคตะ,
               ชื่อว่าโสตะ เพราะอรรถว่าฟัง. โสตะนั้นให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารตามควรแก่โสตวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังเจาะด้วยนิ้วมือ มีขนสีแดงบางๆ ขึ้นคลุม ภายในช่องสสัมภารโสตะ. สัมผัสที่เป็นไปทางโสต ชื่อโสตสัมผัสสะ.
               แม้ในฆานสัมผัสสะเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ชื่อว่าฆานะ เพราะอรรถว่าดม. ฆานะนั้นให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารตามควรแก่ฆานวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังกีบแพะ ภายในช่องสสัมภารฆานะ.
               ชื่อว่าชิวหา เพราะอรรถว่าเรียกชีวิต. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าชิวหา ด้วยอรรถว่าลิ้มรส. ชิวหานั้นให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวาร ตามควรแก่ชิวหาวิญญาณเป็นต้น ตั้งอยู่ในประเทศมีสัณฐานดังปลายกลีบดอกอุบลที่ทะลุตรงกลางใบข้างบน เว้นปลายสุด โคนและข้างๆ แห่งสสัมภารชิวหา.
               ชื่อว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่เกิดขึ้นแห่งธรรมที่เป็นไปกับด้วยอาสวะที่น่ารังเกียจทั้งหลาย.
               บทว่า อาโย แปลว่า เป็นประเทศที่เกิดขึ้น. กายประสาทให้สำเร็จความเป็นวัตถุและทวารตามควรแก่กายวิญญาณเป็นต้นโดยมากตั้งอยู่ในกายนั้น ตลอดเวลาที่ความเป็นไปแห่งสังขารที่มีใจครองยังมีอยู่ในกายนี้.
               ชื่อว่ามโน เพราะอรรถว่ารู้. อธิบายว่า รู้แจ้ง.
               บทว่า มโน ได้แก่ ภวังคจิตที่เป็นไปกับด้วยอาวัชชนะ สัมผัสที่เป็นไปทางมโน ชื่อมโนสัมผัสสะ.
               เพื่อจะแสดงว่า ผัสสะทั้ง ๖ อย่างนับเป็น ๒ อย่างเท่านั้น ฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า อธิวจนสมฺผสฺโส ปฏิฆสมฺผสฺโส สัมผัสทางนาม สัมผัสทางรูป.
               อธิวจนสัมผัสสะเป็นไปทางมโนทวาร ปฏิฆสัมผัสสะเป็นไปทางปัญจทวาร เพราะเกิดขึ้นด้วยการกระทบวัตถุและอารมณ์เป็นต้น.
               สัมผัสเป็นอารมณ์แห่งสุขเวทนา ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา, สัมผัสเป็นอารมณ์แห่งทุกขเวทนา ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา. สัมผัสเป็นอารมณ์แห่งอทุกขมสุขเวทนา ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา.
               บรรดาบทเหล่านั้น ชื่อว่าสุข เพราะอรรถว่าเป็นไปสบาย.
               อธิบายว่า เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ทำให้ผู้นั้นให้มีความสุข,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสุข เพราะอรรถว่าขุดและเคี้ยวกินซึ่งความลำบากกายและใจเสียได้ด้วยดี.
               ชื่อว่าทุกข์ เพราะอรรถว่าเป็นไปลำบาก. อธิบายว่า เกิดขึ้นแก่ผู้ใด ก็ทำผู้นั้นให้มีความทุกข์.
               ชื่อว่าอทุกขมสุข เพราะอรรถว่าทุกข์ก็ไม่ใช่ สุขก็ไม่ใช่
               อักษร ท่านกล่าวด้วยบทสนธิ. ผัสสะที่ว่าเป็น กุสโล เป็นต้น ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งชาติ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุสโล ได้แก่ ผัสสะที่สัมปยุตด้วยกุศลจิต ๒๑ ดวง.
               บทว่า อกุสโล ได้แก่ ผัสสะที่สัมปยุตด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง
               บทว่า อพฺยากโต ได้แก่ ผัสสะที่สัมปยุตด้วยอัพยากตจิต กล่าวคือวิปากจิตและกิริยาจิตที่เหลือ.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อชี้แจงด้วยสามารถแห่งประเภทของภพใหม่ จึงกล่าวกามาวจโร เป็นต้น.
               ผัสสะที่สัมปยุตด้วยกามาวจรจิต ๕๔ ดวง ชื่อว่ากามาวจร.
               ชื่อว่ารูปาวจร เพราะอรรถว่าละกามภพ ท่องเที่ยวไปในรูปภพ. ผัสสะที่สัมปยุตด้วยรูปาวจรจิต ๑๕ ดวง ด้วยสามารถแห่งกุศลและอัพยากตะ.
               ชื่อว่าอรูปาวจร เพราะอรรถว่าละกามภพและรูปภพ ท่องเที่ยวไปในอรูปภพ ผัสสะที่สัมยุตด้วยอรูปาวจรจิต ๑๒ ด้วยสามารถแห่งกุศลและอัพยากตะ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :