ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๗ / ๗.


               ในบทว่า มุนิมุนิโน วุจฺจนฺติ ตถาคตา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้:-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต ด้วยเหตุ ๘ ประการคือ : -
                         ๑. เพราะเสด็จมาอย่างนั้น.
                         ๒. เพราะเสด็จไปอย่างนั้น
                         ๓. เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้
                         ๔. เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง ตามที่เป็นจริง
                         ๕. เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง
                         ๖. เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง
                         ๗. เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ
                         ๘. เพราะทรงครอบงำ.


               ตถาคตในอรรถว่าเสด็จมาอย่างนั้น               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้น เป็นอย่างไร?
               เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงขวนขวายเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งปวงเสด็จมาแล้ว.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ เสด็จมาด้วยอภินิหารใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาด้วยอภินิหารนั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ กล่าวคือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตาและอุเบกขา. ทรงบริจาคมหาบริจาค ๕ ประการ คือ บริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติและบริจาคบุตรภริยา. ทรงบำเพ็ญบุพประโยค บุพจริยา การแสดงธรรมและญาตัตถจริยาเป็นต้น ทรงถึงที่สุดแห่งพุทธจริยาเสด็จมาแล้วอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ ทรงเจริญเพิ่มพูนสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เสด็จมาแล้วอย่างใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของเราทั้งหลายก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาอย่างนั้นเป็นอย่างนี้.
               พระมุนีทั้งหลายมีพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้น เสด็จมาสู่ความเป็นพระสัพพัญญูในโลกนี้อย่างใด แม้พระศากยมุนีนี้ก็เสด็จมาเหมือนอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีจักษุจึงทรงพระนามว่า ตถาคต ดังนี้.

               ตถาคตในอรรถว่าเสด็จไปอย่างนั้น               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้นเป็นอย่างไร? เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นเสด็จไปอย่างไร?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ประทับยืนบนปฐพีด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว ดังพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า :-
               ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติบัดเดี๋ยวนั้น ก็ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว. เมื่อท้าวมหาพรหมกั้นพระเศวตฉัตร ทรงเหลียวดูทั่วทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย, บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไป ดังนี้.
               และการเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผัน ด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษหลายประการคือ ข้อที่พระองค์ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ก็ได้ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน นี้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ ของพระองค์.
               อนึ่ง ความที่พระองค์บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นโลกุตตรธรรมทั้งปวง, การย่างพระบาท ๗ ก้าว เป็นบุพนิมิตแห่งการได้รัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ.
               อนึ่ง การยกพัดจามรขึ้นที่กล่าวไว้ในคำนี้ว่า พัดจามรทั้งหลายมีด้ามทอง ก็โบกสะบัดนี้เป็นบุพนิมิตแห่งการย่ำยีเดียรถีย์ทั้งปวง. การกั้นพระเศวตฉัตรเป็นบุพนิมิตแห่งการได้เศวตฉัตรอันบริสุทธิ์ประเสริฐ คือพระอรหัตตวิมุตติธรรม, การทอดพระเนตรเหลียวดูทั่วทิศ เป็นบุพนิมิตแห่งการได้พระอนาวรณญาณคือความเป็นพระสัพพัญญู, การเปล่งอาสภิวาจาเป็นบุพนิมิตแห่งการประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ อันใครๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นี้ก็เสด็จไปเหมือนอย่างนั้น. และการเสด็จไปของพระองค์นั้น ก็ได้เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผันด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษเหล่านั้นแล.
               ด้วยเหตุนี้ พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า :-
                         พระควัมบดีโคดมนั้นประสูติแล้วในบัดเดี๋ยวนั้น
               ก็ทรงสัมผัสพื้นดินด้วยพระยุคลบาทสม่ำเสมอ เสด็จ
               ย่างพระบาทไปได้ ๗ ก้าว และฝูงเทพยดาเจ้าก็กาง
               กั้นเศวตฉัตร พระโคดมนั้นครั้นเสด็จไปได้ ๗ ก้าว
               ก็ทอดพระเนตรไปรอบทิศเสมอกัน ทรงเปล่งพระสุร-
               เสียงประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ปานดังราชสีห์ยืน
               อยู่บนยอดบรรพตฉะนั้น ดังนี้.

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้นเป็นอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ เสด็จไปแล้วฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระองค์นี้ก็เหมือนกันฉันนั้นนั่นเทียว ทรงละกามฉันทะด้วยเนกขัมมะเสด็จไปแล้ว ฯลฯ ทรงละนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ทรงละนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ฯลฯ ทรงละกิเลสทั้งหมดได้ด้วยอรหัตตมรรค เสด็จไปแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้น แม้เป็นอย่างนี้.

               ตถาคตในอรรถว่าเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้ เป็นอย่างไร?
               ปถวีธาตุมีความเข้มแข็งแท้ไม่แปรผันเป็นลักษณะ, อาโปธาตุมีการไหลเป็นลักษณะ, เตโชธาตุมีความร้อนเป็นลักษณะ, วาโยธาตุมีความเคร่งตึงเป็นลักษณะ, อากาศธาตุมีการสัมผัสได้เป็นลักษณะ, วิญญาณธาตุมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ, รูปมีการสลายแปรปรวนเป็นลักษณะ.
               เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ, สัญญามีการจำอารมณ์เป็นลักษณะ, สังขารมีการปรุงแต่งอารมณ์เป็นลักษณะ, วิญญาณมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ.
               วิตกมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นลักษณะ, วิจารมีการตามเคล้าอารมณ์เป็นลักษณะ, ปีติมีการแผ่ไปเป็นลักษณะ, สุขมีความยินดีเป็นลักษณะ, เอกัคคตาจิตมีการไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ, สัทธินทรีย์มีการน้อมใจเชื่อเป็นลักษณะ, วิริยินทรีย์มีการประคองเป็นลักษณะ, สตินทรีย์ มีการบำรุงเป็นลักษณะ, สมาธินทรีย์มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ, ปัญญินทรีย์มีการรู้อารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะ.
               สัทธาพละมีการไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความไม่เชื่อเป็นลักษณะ, วีริยพละมีการไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความเกียจคร้านเป็นลักษณะ, สติพละมีการไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมีสติฟั่นเฟือน เป็นลักษณะ, สมาธิพละมีการไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ. ปัญญาพละมีการไม่หวั่นไหวในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอวิชชาเป็นลักษณะ.
               สติสัมโพชฌงค์มีอุปัฏฐานะ การบำรุงเป็นลักษณะ, ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มีปวิจยะ การเลือกเฟ้นเป็นลักษณะ, วิริยสัมโพชฌงค์มีปัคคหะ การประคองเป็นลักษณะ, ปีติสัมโพชฌงค์มีผรณะ การแผ่ไปเป็นลักษณะ, ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์มีอุปสมะ ความสงบเป็นลักษณะ, สมาธิสัมโพชฌงค์มีอวิกเขปะ ความไม่ซัดส่ายเป็นลักษณะ, อุเบกขาสัมโพชฌงค์มีปฏิสังขาการ เพ่งเฉพาะเป็นลักษณะ.
               สัมมาทิฏฐิมีการเห็นเป็นลักษณะ, สัมมาสังกัปปะมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นลักษณะ, สัมมาวาจามีการกำหนดยึดถือเป็นลักษณะ, สัมมากัมมันตะมีการตั้งขึ้นเป็นลักษณะ, สัมมาอาชีวะมีความผ่องแผ้วเป็นลักษณะ, สัมมาวายามะมีการประคองเป็นลักษณะ, สัมมาสติมีการบำรุงเป็นลักษณะ, สัมมาสมาธิมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ.
               อวิชชามีความไม่รู้เป็นลักษณะ, สังขารมีความตั้งใจเป็นลักษณะ, วิญญาณมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ, นามมีการน้อมไปสู่อารมณ์เป็นลักษณะ, รูปมีการสลายแปรปรวนเป็นลักษณะ, สฬายตนะมีการสืบต่อเป็นลักษณะ, ผัสสะมีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ, เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ, ตัณหามีความเป็นเหตุเป็นลักษณะ, อุปาทานมีการยึดมั่นเป็นลักษณะ, ภพมีความเพิ่มพูนเป็นลักษณะ, ชาติมีความบังเกิดขึ้นเป็นลักษณะ, ชรามีความทรุดโทรมเป็นลักษณะ, มรณะมีการเคลื่อนย้ายจากภพที่ปรากฏอยู่เป็นลักษณะ,
               ธาตุมีความว่างเปล่าเป็นลักษณะ, อายตนะมีการสืบต่อเป็นลักษณะ,
               สติปัฏฐานมีการบำรุงเป็นลักษณะ, สัมมัปปธานมีการเริ่มตั้งเป็นลักษณะ, อิทธิบาทมีความสำเร็จเป็นลักษณะ, อินทรีย์มีความเป็นใหญ่ยิ่งเป็นลักษณะ. พละมีความไม่หวั่นไหวเป็นลักษณะ, โพชฌงค์มีการนำออกจากทุกข์เป็นลักษณะ, มรรคมีการเป็นเหตุเป็นลักษณะ, สัจจะมีความแท้เป็นลักษณะ, สมถะมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ, วิปัสสนามีการตามพิจารณาเห็นเป็นลักษณะ, สมถะและวิปัสสนามีรสเป็นหนึ่งเป็นลักษณะ, ธรรมที่ขนานคู่กันมีการไม่ครอบงำเป็นลักษณะ, ศีลวิสุทธิมีการสำรวมเป็นลักษณะ, จิตตวิสุทธิมีความไม่ซัดส่ายเป็นลักษณะ, ทิฏฐิวิสุทธิมีการเห็นเป็นลักษณะ, ขยญาณมีการตัดได้เด็ดขาดเป็นลักษณะ, อนุปปาทญาณมีการระงับเป็นลักษณะ,
               ฉันทะมีมูลเป็นลักษณะ, มนสิการมีการตั้งขึ้นเป็นลักษณะ, ผัสสะมีการประชุมเป็นลักษณะ, เวทนามีการซ่านไปในอารมณ์เป็นลักษณะ, สมาธิมีความประชุมเป็นลักษณะ, สติมีความเป็นใหญ่เป็นลักษณะ, ปัญญามีความยอดเยี่ยมกว่านั้นเป็นลักษณะ, วิมุตติมีสาระเป็นลักษณะ, พระนิพพานอันหยั่งลงสู่อมตะมีปริโยสานเป็นลักษณะ, ซึ่งแต่ละอย่างเป็นลักษณะที่แท้ไม่แปรผัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้ด้วยพระญาณคติ คือทรงบรรลุ ทรงบรรลุโดยลำดับ ไม่ผิดพลาดอย่างนี้ เหตุนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะเสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้ เป็นอย่างนี้.

               ตถาคตในอรรถว่าตรัสรู้ธรรมที่แท้               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง ตามที่เป็นจริง เป็นอย่างไร?
               อริยสัจ ๔ ชื่อว่าธรรมที่แท้จริง. อย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ เป็นธรรมที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่าง อื่น. อริยสัจ ๔ อะไรบ้าง? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ว่านี้ทุกข์ ดังนี้ เป็นธรรมที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น.
               พึงทราบความพิสดารต่อไป. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหล่านั้น เหตุนั้นจึงได้รับพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้.
               ก็ คต ศัพท์ในที่นี้มีเนื้อความว่า ตรัสรู้.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาวะที่ชราและมรณะเกิดและประชุมขึ้น เพราะมีชาติเป็นปัจจัย เป็นสภาวะที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น. ฯลฯ สภาวะที่สังขารทั้งหลายเกิดและประชุมขึ้นเพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นสภาวะที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น, สภาวะที่อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย ฯลฯ สภาวะที่ชาติเป็นปัจจัยแก่ชราและมรณะ เป็นสภาวะที่แท้ ไม่แปรผัน ไม่กลายเป็นอย่างอื่น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ธรรมที่แท้นั้นทั้งหมด แม้เพราะเหตุนั้น จึงได้รับพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะตรัสรู้ธรรมที่แท้จริง ตามที่เป็นจริง เป็นอย่างนี้.

               ตถาคตในอรรถว่าทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ทรงเห็นโดยประการทั้งปวงซึ่งอารมณ์อันชื่อว่ารูปารมณ์ ที่มาปรากฏทางจักขุทวารของหมู่สัตว์พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ในโลกนี้กับเทวโลก คือของสัตว์ทั้งหลายอันหาประมาณมิได้. และอารมณ์นั้นอันพระองค์ผู้ทรงรู้ทรงเห็นอยู่อย่างนี้ ทรงจำแนกด้วยสามารถอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์เป็นต้น หรือด้วยสามารถบทที่ได้ในอารมณ์ที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบและที่ได้รู้ ๑๓ วาระบ้าง ๕๒ นัยบ้าง มีชื่อมากมายโดยนัยเป็นต้นว่า รูป คือรูปายตนะ เป็นไฉน? คือรูปใดอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นแสงสี เป็นรูปที่เห็นได้ เป็นรูปที่กระทบได้ เป็นรูปสีเขียว เป็นรูปสีเหลือง ดังนี้ ย่อมเป็นอารมณ์ที่แท้จริงอย่างเดียว ไม่มีแปรผัน,
               แม้ในอารมณ์มีเสียงเป็นต้น ที่มาปรากฏแม้ทางโสตทวารเป็นต้นก็นัยนี้.
               ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อารมณ์ใดที่โลกพร้อมทั้งเทวดา พร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้ ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ค้นคว้าแล้วด้วยใจ เราย่อมรู้ซึ่งอารมณ์นั้น รู้ยิ่งแล้วซึ่งอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นตถาคตทราบแล้ว ปรากฏแล้วแก่ตถาคตดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริง เป็นอย่างนี้.
               พึงทราบความสำเร็จ บทว่า ตถาคต มีเนื้อความว่า ทรงเห็นอารมณ์ที่แท้จริงนั้น.

               ตถาคตในอรรถว่ามีพระวาจาที่แท้จริง               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะมีพระวาจาที่แท้จริง เป็นอย่างไร?
               ตลอดราตรีใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอปราชิตบัลลังก์ ณ โพธิมณฑลสถาน ทรงย่ำยีมารทั้ง ๔ แล้วตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และตลอดราตรีใดที่พระองค์เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในระหว่างนี้ คือในกาลประมาณ ๔๕ พรรษา พระวาจาใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในปฐมโพธิกาลก็ดี ในมัชฌิมโพธิกาลก็ดี ในปัจฉิมโพธิกาลก็ดี คือสุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ.
               พระวาจานั้นทั้งหมดอันใครๆ ติเตียนไม่ได้ ไม่ขาด ไม่เกิน โดยอรรถะและโดยพยัญชนะ บริบูรณ์โดยอาการทั้งปวง บรรเทาความเมา คือ ราคะ โทสะ โมหะ, ในพระวาจานั้นไม่มีความพลั้งพลาดแม้เพียงปลายขนทราย พระวาจานั้นทั้งหมด ย่อมแท้จริงอย่างเดียว ไม่ผันแปร ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ดุจประทับไว้ด้วยตราอันเดียวกัน ดุจตวงไว้ด้วยทะนานใบเดียวกัน และดุจชั่งไว้ด้วยตาชั่งอันเดียวกัน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า : -
               ดูก่อนจุนทะ ตลอดราตรีใดที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และตลอดราตรีใดที่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างนี้ คำใดที่ตถาคตกล่าว พูด แสดง คำนั้นทั้งหมดย่อมเป็นคำแท้อย่างเดียวไม่เป็นอย่างอื่น เหตุนั้นจึงได้นามว่า ตถาคต ดังนี้.
               ก็ในที่นี้ ศัพท์ คต มีเนื้อความเท่า คท แปลว่า คำพูด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าตถาคต เพราะมีพระวาจาแท้จริง เป็นอย่างนี้.
               อนึ่ง มีอธิบายว่า อาคทนํ เป็นอาคโท แปลว่า คำพูด. มีวิเคราะห์ว่า ตโถ อวิปรีโต อาคโท อสฺสาติ ตถาคโต แปลว่า ชื่อว่าตถาคต เพราะมีพระวาจาแท้จริง ไม่วิปริต โดยแปลง เป็น ในอรรถนี้ พึงทราบความสำเร็จบทอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               ตถาคตในอรรถว่าทำเองและให้ผู้อื่นทำ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ เป็นอย่างไร?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระวรกายตรงกับพระวาจา ทรงมีพระวาจาตรงกับพระวรกาย ฉะนั้น ทรงมีพระวาจาอย่างใด ก็ทรงกระทำอย่างนั้น. และทรงกระทำอย่างใดก็ทรงมีพระวาจาอย่างนั้น.
               อธิบายว่า ก็พระองค์ผู้เป็นอย่างนี้มีพระวาจาอย่างใด แม้พระวรกายก็ทรงเป็นไปคือทรงประพฤติอย่างนั้น และพระวรกายอย่างใด แม้พระวาจาก็ทรงเป็นไป คือทรงประพฤติอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้นแล จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพูดอย่างใด กระทำอย่างนั้น กระทำอย่างใด พูดอย่างนั้น. ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่า ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที เหตุนั้นจึงได้พระนามว่า ตถาคต ดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงกระทำเองและให้ผู้อื่นกระทำ เป็นอย่างนี้.

               ตถาคตในอรรถว่าครอบงำ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงครอบงำเป็นอย่างไร?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอบงำสรรพสัตว์ เบื้องบนถึงภวัคคพรหมเบื้องล่างถึงอเวจีเป็นที่สุด เบื้องขวางในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ด้วยวิมุตติ ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ การจะชั่งหรือประมาณพระองค์หามีไม่ พระองค์เป็นผู้ไม่มีใครเทียบเคียงได้ อันใครๆ ประมาณไม่ได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นพระราชาที่พระราชาทรงบูชาคือเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย เป็นสักกะยิ่งกว่าสักกะทั้งหลาย เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหมทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในโลกพร้อมทั้งเทวดา พร้อมทั้งมาร พร้อมทั้งพรหม ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ อันใคร ๆ ครอบงำไม่ได้ เป็นผู้เห็นถ่องแท้ เป็นผู้ทรงอำนาจ เหตุนั้นจึงได้รับพระนามว่า ตถาคต ดังนี้.
               ในข้อนั้น พึงทราบความสำเร็จบทอย่างนี้ อคโท แปลว่า โอสถ ก็เหมือน อคโท ที่แปลว่าวาจา ก็โอสถนี้คืออะไร? คือเทศนาวิลาสและบุญพิเศษ. ด้วยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้ทรงครอบงำผู้มีวาทะตรงกันข้ามทั้งหมด และโลกพร้อมทั้งเทวดา เหมือนนายแพทย์ผู้มีอานุภาพมากครอบงำงูทั้งหลายด้วยทิพยโอสถ ฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตพึงทราบว่า ทรงพระนามว่าตถาคต เพราะเหตุว่าทรงมีพระโอสถคือเทศนาวิลาสและบุญพิเศษอันแท้ ไม่วิปริต ในการครอบงำโลกทั้งปวง ดังนี้ เพราะแปลง เป็น .
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะอรรถว่าทรงครอบงำเป็นอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปด้วยกิริยาที่แท้ก็มี, ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงถึงกิริยาที่แท้ก็มี.
               บทว่า คโต ความว่า หยั่งรู้ เป็นไปล่วง บรรลุ ปฏิบัติ ในความ ๔ อย่างนั้น, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงหยั่งรู้ โลกทั้งสิ้นด้วยตีรณปริญญา ชื่อว่าด้วยกิริยาที่แท้. ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงเป็นไปล่วงซึ่งโลกสมุทัยด้วยปหานปริญญา ชื่อว่าด้วยกิริยาที่แท้. ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงบรรลุโลกนิโรธด้วยสัจฉิกิริยา ชื่อว่าด้วยกิริยาที่แท้. ทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะทรงปฏิบัติปฏิปทาอันให้ถึงโลกนิโรธ ชื่อว่ากิริยาที่แท้.
               ด้วยเหตุนั้น พระดำรัสใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตพรากแล้วจากโลก, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกสมุทัยตถาคตตรัสรู้แล้ว โลกสมุทัยตถาคตละได้แล้ว, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกนิโรธตถาคตตรัสรู้แล้ว โลกนิโรธตถาคตทำให้ แจ้งแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาอันให้ถึงโลกนิโรธตถาคตตรัสรู้แล้ว ปฏิปทาอันให้ถึงโลกนิโรธตถาคตเจริญแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติใดของโลกพร้อมทั้งเทวดา ฯลฯ ธรรมชาตินั้นทั้งหมดตถาคตตรัสรู้แล้ว เหตุนั้นจึงได้นามว่า ตถาคต ดังนี้.
               พึงทราบเนื้อความแห่งพระดำรัสนั้นแม้อย่างนี้.
               อนึ่ง แม้ข้อนี้ก็เป็นเพียงมุขในการแสดงภาวะที่พระตถาคตมีพระนามว่าตถาคต เท่านั้น. ที่จริง พระตถาคตเท่านั้นจะพึงพรรณนาภาวะที่พระตถาคตมีพระนามว่า ตถาคต โดยอาการทั้งปวงได้.
               อนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้มีพระคุณเสมอเหมือนแม้ด้วยคุณของพระตถาคต. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตถาคโต ด้วยสามารถแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง.
               บทว่า อรหนฺโต ความว่า พระตถาคต ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสทั้งหลาย เพราะทรงทำลายข้าศึกทั้งหลาย เพราะทรงหักกำแห่งสังสารจักร เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น และเพราะไม่มีความลับในการทำบาป. จริงอยู่ พระตถาคตนั้นทรงไกล คือทรงดำรงอยู่ในที่ไกลแสนไกลจากสรรพกิเลสทั้งหลาย เพราะทรงกำจัดกิเลสทั้งหลาย พร้อมทั้งวาสนาได้ด้วยมรรค เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่าอรหันต์ เพราะทรงไกลจากกิเลส.
                         พระผู้เป็นนาถะพระองค์นั้น ชื่อว่าทรงไกลจากกิเลส
               และเป็นผู้ไม่มีความพร้อมเพรียงเพราะไม่ทรงพร้อมเพรียง
               ด้วยโทษทั้งหลาย เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหันต์

               อนึ่ง ข้าศึกคือกิเลสเหล่านั้น พระตถาคตพระองค์นั้นทรงกำจัดแล้วด้วยมรรค เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหันต์ เพราะทรงกำจัดข้าศึกทั้งหลาย.
                         เพราะข้าศึกแม้ทั้งปวงกล่าวคือ ราคะเป็นต้น พระผู้
               เป็นนาถะทรงกำจัดแล้วด้วยศัสตราคือปัญญา ฉะนั้นจึง
               ทรงพระนามว่า อรหันต์.

               อนึ่ง สังสารจักรนั้นใด มีดุมสำเร็จด้วยอวิชชาและภวตัณหา มีกำคือปุญญาภิสังขารเป็นต้น. มีกงคือชราและมรณะ อันเพลาซึ่งสำเร็จด้วยอาสวสมุทัยร้อยคุมไว้ในรถคือภพ ๓ หมุนไปตลอดกาลหาเบื้องต้นมิได้ กำแห่งสังสารจักรนั้นทั้งหมด พระตถาคตนั้นประทับยืนบนปถพีคือศีลด้วยพระยุคลบาทคือวิริยะ ณ โพธิมัณฑสถาน. ทรงถือขวานคือญาณอันกระทำความสิ้นไปแห่งกรรม ด้วยพระหัตถ์คือศรัทธา ทรงหักเสียแล้ว เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหันต์.
                         เพราะกำลังแห่งสังสารจักรอันพระโลกนาถทรงหักเสีย
               แล้วด้วยดาบคือญาณ ฉะนั้น พระองค์จึงได้พระนามว่าอรหันต์.

               อนึ่ง พระตถาคตย่อมควรซึ่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้นและบูชาพิเศษ เพราะทรงเป็นอัครทักขิไณยบุคคล. เพราะเหตุนั้นแหละ เมื่อพระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เทวดาและมนุษย์ผู้มเหสักข์ทั้งหลายจึงไม่บูชาในที่อื่น.
               จริงอย่างนั้น ท้าวสหัมบดีพรหมทรงบูชาพระตถาคตด้วยพวงรัตนะ ประมาณเขาสิเนรุ. เหล่าเทวดาและมนุษย์อื่นๆ มีพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นต้นก็บูชาตามกำลัง. พระเจ้าอโศกมหาราชก็ทรงสละพระราชทรัพย์ ๙๖ โกฏิ สร้างวิหารแปดหมื่นสี่พันวิหารทั่วชมพูทวีป อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงแม้ปรินิพพานแล้ว จะป่วยกล่าวไปไยถึงบูชาพิเศษของคนอื่นๆ เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหันต์ แม้เพราะเป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น.
                         เพราะพระโลกนาถพระองค์นี้ ย่อมควรซึ่งบูชาพิเศษ
               กับด้วยปัจจัยทั้งหลาย ฉะนั้นพระชินเจ้าจึงควรแก่พระนาม
               นี้ว่าอรหันต์ในโลกตามสมควรแก่อรรถ.

               เหมือนอย่างว่า คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตบางพวกในโลก กระทำบาปในที่ลับเพราะกลัวถูกตำหนิฉันใด, พระตถาคตนี้ไม่กระทำบาปฉันนั้นในกาลไหน เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหันต์ แม้เพราะไม่มีที่ลับในการทำบาป.
                         เพราะที่ลับในการทำกรรมชั่ว ไม่มีแก่พระตถาคตผู้
               คงที่ ฉะนั้นพระตถาคตนี้จึงปรากฏพระนามว่า อรหันต์
               เพราะไม่มีที่ลับ.

               แม้ในที่ทั้งปวงก็กล่าวไว้อย่างนี้ว่า :-
                         เพราะทรงไกลจากข้าศึกคือกิเลส และเพราะทรงกำ
               จัดข้าศึกคือกิเลสเสียแล้ว พระมุนีนั้นทรงหักกำแห่งสังสาร
               จักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแก่ปัจจัยเป็นต้น ไม่ทรงกระทำบาป
               ทั้งหลายในที่ลับ เหตุนั้นจึงทรงพระนามว่า อรหันต์.

               ก็พระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้สม่ำเสมอกันแม้ด้วยคุณคือความเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวว่า อรหนฺโต ด้วยสามารถแห่งพระพุทธเจ้าแม้ทั้งปวง.
               บทว่า สมฺมาสมฺพุทฺธา ความว่า ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ เพราะตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยชอบและด้วยพระองค์เอง.
               จริงอย่างนั้น พระตถาคตนี้ตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เองซึ่งธรรมทั้งปวง คือซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง โดยความเป็นธรรมที่ควรรู้ยิ่ง, ซึ่งธรรมที่ควรกำหนดรู้ โดยความเป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้, ซึ่งธรรมที่ควรละ โดยความเป็นธรรมที่ควรละ. ซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง โดยความเป็นธรรมที่ควรทำให้แจ้ง และซึ่งธรรมที่ควรเจริญ โดยความเป็นธรรมที่ควรเจริญ.
               เพราะเหตุนั้นแหละ พระองค์จึงตรัสว่า
                         ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมที่ควรรู้ยิ่ง เรารู้ยิ่งแล้ว ธรรม
               ที่ควรเจริญ เราเจริญแล้ว และธรรมที่ควรละ เราละได้
               แล้ว ฉะนั้นเราจึงเป็นพุทธะ.

               อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง ซึ่งธรรมทั้งหลายแม้ด้วยการยกขึ้นเป็นบทๆ อย่างนี้ว่า จักษุ ชื่อว่าทุกขสัจ, ตัณหาอันมีมาแต่เดิมที่เป็นสมุฏฐาน โดยความเป็นมูลเหตุแห่งจักษุนั้น ชื่อว่าสมุสัจ. ความไม่เป็นไปแห่งทุกขสัจและสมุทยสัจทั้ง ๒ ชื่อว่านิโรธสัจ. ปฏิปทาเครื่องรู้ชัดนิโรธ ชื่อว่ามรรคสัจ.
               ในโสตะ ฆานะ ชิวหา กายะและมโนก็นัยนี้.
               อนึ่ง อายตนะ ๖ มีรูปายตนะเป็นต้น, หมวดแห่งวิญญาณ ๖ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น, ผัสสะ ๖ มีจักขุสัมผัสสะเป็นต้น, เวทนา ๖ มีจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น. สัญญา ๖ มีรูปสัญญาเป็นต้น, เจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนาเป็นต้น, วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น, วิจาร ๖ มีรูปวิจารเป็นต้น, ขันธ์ ๕ มีรูปขันธ์เป็นต้น, กสิณ ๑๐, อนุสสติ ๑๐, สัญญา ๑๐ มีอุทธุมาตกสัญญาเป็นต้น, อาการ ๓๒ มีเกสาเป็นต้น, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, ภพ ๙ มีกามภพเป็นต้น, ฌาน ๔ มีปฐมฌานเป็นต้น, อัปปมัญญา ๔ มีเมตตาภาวนาเป็นต้น, อรูปสมาบัติ ๔. องค์แห่งปฏิจจสมุปบาทโดยปฏิโลมมีชราและมรณะเป็นต้น โดยอนุโลมมีอวิชชาเป็นต้น พึงประกอบโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทเหล่านั้ยมีการประกอบความเฉพาะบทดังต่อไปนี้:-
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสรู้ คือตรัสรู้โดยสมควร ได้แก่ทรงแทงตลอด โดยชอบและด้วยพระองค์เองซึ่งธรรมทั้งปวง ด้วยการยกขึ้นเป็นบทๆ อย่างนี้ว่า ชราและมรณะ ชื่อว่าทุกขสัจ. ชาติชื่อว่าสมุทยสัจ, การสลัดออกซึ่งสัจจะทั้งสอง ชื่อว่านิโรธสัจ, ปฏิปทาเครื่องรู้ชัดนิโรธ ชื่อว่ามรรคสัจ.
               ก็หรือว่า ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ ด้วยสามารถแห่งวิโมกขันติกญาณ เพราะตรัสรู้โดยชอบและด้วยพระองค์เอง ซึ่งข้อควรแนะนำ อะไรๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด ก็การจำแนกบทเหล่านั้น จักมีแจ้งข้างหน้าแล.
               ก็เพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงเป็นผู้สม่ำเสมอแม้ด้วยคุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า สมฺมาสมฺพุทฺธา ด้วยสามารถแม้แห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง.
               บทว่า โมเนน ความว่า จริงอยู่ บุคคลชื่อว่าเป็นมุนี ด้วยความเป็นผู้นิ่งด้วยมรรคญาณ กล่าวคือโมไนยปฏิปทาโดยแท้ แต่ในที่นี้ บทว่า โมเนน ท่านกล่าวหมายเอาดุษณีภาพ.
               บทว่า มุฬฺหรูโป ได้แก่ เป็นผู้เปล่า.
               บทว่า อวิทฺทสุ ได้แก่ ไม่ใช่ผู้รู้ ด้วยว่าบุคคลแม้เป็นผู้นิ่งเห็นปานนี้ ก็ไม่ชื่อว่าเป็นมุนี. อีกอย่างหนึ่ง ย่อมชื่อว่ามุนีด้วยความเป็นผู้นิ่ง.
               อธิบายว่า ความเป็นคนเปล่า และความเป็นคนไม่รู้อะไรเลย.
               บทว่า โย จ ตุลํว ปคฺคยฺห ความว่า เหมือนอย่างว่า คนยืนถือเครื่องชั่งอยู่ ถ้าเกินก็เอาออก ถ้าพร่องก็เพิ่มเข้าฉันใด บุคคลนำไปคือเว้นความชั่วเหมือนคนชั่งเอาส่วนที่เกินออก ยังความดีให้เต็ม เหมือนคนชั่งเพิ่มส่วนที่พร่องให้เต็ม ฉันนั้น.
               อธิบายว่า ก็เมื่อบุคคลกระทำอยู่อย่างนี้ ถือเอาธรรมอันประเสริฐ คือสูงสุดนั้นแล กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ละเว้นบาปคืออกุศลกรรมทั้งหลาย บุคคลนั้นชื่อว่ามุนี.
               บทว่า เตน โส มุนิ ความว่า หากจะถามว่า ก็เพราะเหตุไร ผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นมุนี พึงตอบว่า ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมุนี เพราะเหตุที่กล่าวแล้วในหนหลังนั้น.
               บทว่า โย มุนาติ อุโภ โลเก ความว่า บุคคลใดย่อมรู้อรรถทั้งสองเหล่านี้ ในขันธโลกเป็นต้นนี้ โดยนัยเป็นต้นว่า เหล่านี้เป็นขันธ์มีในภายใน เหล่านี้ภายนอก ดังนี้ ดุจคนยกเครื่องชั่งขึ้นรู้อยู่ฉะนั้น
               บทว่า มุนิ เตน ปวุจฺจติ ความว่า เรียกว่าเป็นมุนี ก็ด้วยเหตุนั้นนั่นเทียว.
               คาถาว่า อสตญฺจ เป็นต้น มีความย่อดังต่อไปนี้ : -
               ธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษต่างโดยเป็นอกุศลและกุศลนี้ใด บุคคลนั้นรู้ธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษนั้น ด้วยญาณเครื่องสอดส่องในโลกทั้งปวงนี้ว่า เป็นภายในและภายนอก ล่วงเลยคือก้าวล่วงธรรมเป็นเครื่องข้อง ๗ อย่างมีราคะเป็นต้น และข่าย ๒ อย่าง คือตัณหาและทิฏฐิ ดำรงอยู่เพราะรู้ธรรมประเสริฐนั่นแล. ชื่อว่าเป็นมุนี เพราะประกอบด้วยญาณเครื่องสอดส่องนั้น กล่าวคือโมนะ.
               ก็คำว่า เทวมนุสฺเสหิ ปูชิโต นี้เป็นคำชมเชยบุคคลนั้น ด้วยว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ควรแก่การบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะเป็นมุนีผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ฉะนั้นท่านจึงกล่าวอย่างนี้.
               บทว่า สลฺลํ เป็นบทเดิม.
               บทว่า สตฺต สลฺลานิ เป็นบทกำหนดจำนวน.
               บทว่า ราคสลฺลํ ความว่า ชื่อว่าลูกศรคือราคะ เพราะอรรถว่าชื่อว่าลูกศร เพราะให้เกิดความบีบคั้น เพราะเจ้าเข้าไปภายใน เพราะถอนออกได้ยาก คือชื่อว่าราคะ เพราะอรรถว่ายินดี. แม้ในลูกศรคือโทสะเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อพฺพุฬฺหสลฺโล เป็นบทเดิม.
               บทว่า อพฺพุหิตสลฺโล ได้แก่ นำลูกศรออกแล้ว.
               บทว่า อุทฺธฏสลฺโล ได้แก่ ฉุดลูกศรขึ้น.
               บทว่า สมุทฺธริตสลฺโล ท่านกล่าวด้วยสามารถอุปสรรค.
               บทว่า อุปฺปาฏิตสลฺโล ได้แก่ ถอนลูกศรขึ้น.
               บทว่า สมุปฺปาฏิตสลฺโล ท่านกล่าวด้วยสามารถอุปสรรค.
               บทว่า สกฺกจฺจการี ความว่า เป็นผู้ทำโดยเคารพ ด้วยสามารถทำโดยเคารพบุคคลหรือไทยธรรม ด้วยการเจริญกุศลธรรมมีทานเป็นต้น. เป็นผู้ทำติดต่อ ด้วยการทำติดต่อกันไปด้วยสภาวะติดต่อ เป็นผู้ทำไม่หยุด ด้วยการทำโดยไม่หยุดยั้ง. กิ้งก่าไปได้หน่อยหนึ่งแล้วหยุดอยู่หน่อยหนึ่งไม่ไปติดต่อกัน อุปมานี้ฉันใด บุคคลใดในวันหนึ่งให้ทานก็ดี ทำการบูชาก็ดี ฟังธรรมก็ดี แม้ทำสมณธรรมก็ดี ทำไม่นาน ไม่ยังการทำนั้นให้เป็นไปติดต่อ อุปมัยนี้ก็ฉันนั้นนั่นแล. บุคคลนั้น เรียกว่าเป็นผู้ทำไม่ติดต่อกันไป ไม่ทำให้ติดต่อกันไป. บุคคลนี้ไม่ทำอย่างนั้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำไม่หยุด.
               บทว่า อโนลีนวุตฺติโก ความว่า เป็นผู้มีความประพฤติย่อหย่อนหามิได้ เพราะมีการแผ่ไป กล่าวคือการทำไม่มีระหว่าง เหตุนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน.
               บทว่า อนิกฺขิตฺตจฺฉนฺโท ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ปลงฉันทะ เพราะความที่ไม่ปลงฉันทะในความเพียรทำกุศล.
               บทว่า อนิกฺขิตฺตธุโร ย่อหย่อน ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ทอดธุระ เพราะไม่ปลงธุระคือความเพียร อธิบายว่า เป็นผู้มีใจไม่ท้อถอย.
               บทว่า โย ตตฺถ ฉนฺโท จ วายาโม จ ความว่า ความพอใจในธรรมคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ, ความพยายามกล่าวคือประกอบความอุตส่าห์ด้วยสามารถความขะมักเขม้น, และความเป็นผู้ขยันด้วยสามารถความขะมักเขม้นมีประมาณยิ่ง, นี้ชื่อว่าความพยายาม ด้วยอรรถว่าไปสู่ฝั่ง นี้ชื่อว่าความอุตส่าห์ ด้วยอรรถว่าไปก่อน. นี้ชื่อว่าความเป็นผู้ขยันด้วยอรรถว่ามีประมาณยิ่ง.
               บทว่า อปฺปฏิวานี จ ได้แก่ ความไม่ถอยกลับ.
               บทว่า สติ จ สมฺปชญฺญญฺจ ความว่า ชื่อว่าสติ ด้วยอรรถว่าระลึกได้. ชื่อว่าสัมปชัญญะ ด้วยอรรถว่ารู้ตัว. อธิบายว่า รู้โดยประการทั้งหลายโดยรอบ.
               พึงทราบประเภทแห่งสัมปชัญญะนี้ คือ สาคถกสัมปชัญญะ, สัปปายสัมชัญญะ, โคจรสัมปชัญญะ, อสัมโมหสัมชัญญะ.
               บทว่า อาตปฺปํ ได้แก่ ความเพียรเครื่องเผากิเลส.
               บทว่า ปธานํ ได้แก่ ความเพียรอันสูงสุด.
               บทว่า อธิฏฺฐานํ ได้แก่ ความตั้งมั่นในการทำความดี.
               บทว่า อนุโยโค ได้แก่ ความประกอบเนืองๆ.
               บทว่า อปฺปมาโท ได้แก่ ความไม่มัวเมา คือความไม่อยู่ปราศจากสติ.
               บทว่า อิมํ โลกํ นาสึสติ เป็นบทเดิม.
               บทว่า สกตฺตภาวํ ได้แก่ อัตภาพของตน.
               บทว่า ปรตฺตภาวํ ได้แก่ อัตภาพในปรโลก. รูปและเวทนาเป็นต้นของตน คือขันธ์ ๕ ของตน รูปและเวทนาเป็นต้นของผู้อื่น คือขันธ์ ๕ ในปรโลก.
               บทว่า กามธาตุํ ได้แก่ กามภพ.
               บทว่า รูปธาตุํ ได้แก่ รูปภพ.
               บทว่า อรูปธาตุํ ได้แก่ อรูปภพ.
               เพื่อแสดงทุกข์ด้วยสามารถแห่งรูปและอรูปอีก พระเถระจึงกล่าวกามธาตุ รูปธาตุไว้ส่วนหนึ่ง กล่าวอรูปธาตุไว้ส่วนหนึ่ง.
               บทว่า คตึ วา ความว่า คติ ๕ ท่านกล่าวด้วยสามารถเป็นที่ตั้ง.
               บทว่า อุปปตฺตึ วา ความว่า กำเนิด ๔ ท่านกล่าวด้วยสามารถความบังเกิด.
               บทว่า ปฏิสนฺธึ วา ความว่า ปฏิสนธิ ท่านกล่าวด้วยสามารถการสืบต่อแห่งภพ ๓.
               บทว่า ภวํ วา ท่านกล่าวด้วยสามารถกรรมและภพ.
               บทว่า สํสารํ วา ท่านกล่าวด้วยสามารถตัดขาดขันธ์เป็นต้น
               บทว่า วฏฺฏํ วา ความว่า ไม่หวังวัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓ ดังนี้แล.

               สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส               
               อรรถกถาคุหัฏฐกสุตตนิทเทส               
               จบสูตรที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๒. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 1อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 30อ่านอรรถกถา 29 / 70อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=487&Z=1310
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=2055
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=2055
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :