ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 600อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 699อ่านอรรถกถา 29 / 788อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

               อรรถกถาตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในตุวฏกสุตตนิทเทสที่ ๑๔ ดังต่อไปนี้.
               แม้บทว่า ปุจฺฉามิ ตํ นี้ ในมหาสมัยนั่นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประกาศความนั้นแก่เทวดาทั้งหลายบางพวกผู้มีจิตเกิดขึ้นว่า การปฏิบัติเพื่อบรรลุพระอรหัตเป็นอย่างไรหนอ จึงทรงให้พระพุทธนิมิตตรัสถามพระองค์ แล้วตรัสโดยนัยก่อนนั่นแล.
               ในบทเหล่านั้น พึงทราบความคาถาที่เป็นคำถามต้นก่อน ท่านจำแนกคำถามด้วยอทิฏฐโชตนาปุจฉา เป็นต้น ไว้ในบทนี้ว่า ปุจฺฉามิ ข้าพระองค์ขอทูลถามดังนี้.
               บทว่า อาทิจฺจพนฺธุ คือ ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์.
               บทว่า วิเวกํ สนฺติปทญฺจ ได้แก่ ผู้สงัดและผู้ดำเนินสู่ความสงบ.
               บทว่า กถํ ทิสฺวา คือ ภิกษุเห็นอย่างไรแล้ว.
               ท่านอธิบายว่า เป็นผู้เห็นความเป็นไปอย่างไร.
               บทว่า ติสฺโส ปุจฺฉา คำถามมี ๓ คำถาม เป็นการกำหนดจำนวน.
               คำถามเพื่อทำสิ่งที่ยังไม่เห็น ยังไม่แทงตลอดให้ปรากฏ ชื่อว่าอทิฏฐโชตนาปุจฉา.
               คำถามเพื่อเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้วด้วยญาณจักษุ ชื่อว่าทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.
               คำถามเพื่อตัดความสงสัย ชื่อว่าวิมติจเฉทนาปุจฉา.
               บทว่า ปกติยา ลกฺขณํ อญาตํ คือ ลักษณะที่แท้ของธรรมทั้งหลายที่ยังไม่รู้โดยปกติ.
               บทว่า อทิฏฺฐํ คือ ไม่เห็น.
               บทว่า อตุลิตํ ไม่พิจารณา คือไม่พิจารณาดุจพิจารณาด้วยเครื่องชั่ง.
               บทว่า อติริตํ ไม่เทียบเคียง คือไม่เทียบเคียงด้วยการไตร่ตรอง.
               บทว่า อวิภูตํ ไม่กระจ่าง คือไม่ปรากฏ.
               บทว่า อวิภาวิตํ ไม่แจ่มแจ้ง คือไม่เจริญด้วยปัญญา.
               บทว่า ตสฺส ญาณาย เพื่อรู้ธรรมนั้น คือเพื่อประโยชน์แก่การรู้ลักษณะของธรรมนั้น.
               บทว่า ทสฺสนาย คือ เพื่อประโยชน์แก่การเห็น.
               บทว่า ตุลนาย เพื่อพิจารณา คือเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา.
               บทว่า ติรณาย เทียบเคียง คือเพื่อประโยชน์แก่การเทียบเคียง.
               บทว่า วิภาวนาย เพื่อกระจ่าง คือเพื่อทำความกระจ่าง.
               บทว่า อญฺเญหิ ปณฺฑิเตหิ ด้วยบัณฑิตเหล่าอื่น คือด้วยผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้เหล่าอื่น.
               บทว่า สํสยปกฺขนฺโน๑- บุคคลผู้แล่นไปสู่ความสงสัย คือเข้าไปสู่ความสนเท่ห์.
____________________________
๑- ม. สํสยปกฺขนฺโท.

               บทว่า มนุสฺสปุจฺฉา คือ คำถามของมนุษย์ทั้งหลาย.
               บทว่า อมนุสฺสปุจฺฉา คือ คำถามของอมนุษย์ มีนาคและครุฑเป็นต้น.
               บทว่า คหฏฺฐา คือ คฤหัสถ์ที่เหลือ.
               บทว่า ปพฺพชิตา บรรพชิตทั้งหลายกล่าวโดยเพศ.
               บทว่า นาคา ได้แก่ นาค ชื่อว่าสุปัสสะเป็นต้น.
               บทว่า สุปณฺณา ครุฑ พึงทราบโดยที่รู้จักกันว่าเป็นครุฑ.
               บทว่า ยกฺขา พึงทราบโดยที่รู้จักกันว่าเป็นยักษ์.
               บทว่า อสุรา ได้แก่ อสูรทั้งหลาย มีปหาราทอสูรเป็นต้น.
               บทว่า คนฺธพฺพา ได้แก่ พวกคนธรรพ์มีบุตรคนธรรพ์ ชื่อว่าปัญจสิกขะเป็นต้น.
               บทว่า มหาราชาโน ได้แก่ มหาราชทั้ง ๔.
               บทว่า อหินินฺทฺริยํ มีอินทรีย์ไม่เลว คือมีอินทรีย์ไม่วิการ.
               บทว่า โส นิมฺมิโต คือ พระพุทธเจ้า อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเนรมิต.
               บทว่า โวทานตฺถปุจฺฉา การถามถึงประโยชน์แห่งธรรมขาว คือถามธรรมอันวิเศษ.
               บทว่า อตีตปุจฺฉา การถามถึงส่วนอดีต คือการถามปรารภธรรมอันเป็นอดีต.
               แม้ในธรรมอันเป็นอนาคต ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กุสลปุจฺฉา ถามถึงกุศลธรรม คือถามธรรมที่ไม่มีโทษ.
               บทว่า อกุสลปุจฺฉา ถามธรรมที่เป็นอกุศล คือถามธรรมที่มีโทษ.
               บทว่า อพฺยากตปุจฺฉา ถามถึงอัพยากตธรรม คือถามถึงธรรมอันตรงกันข้ามกับธรรมทั้งสองนั้น.
               บทว่า อชฺเฌสามิ ตํ คือ ข้าพระองค์ขอวิงวอนพระองค์.
               บทว่า กถยสฺสุ เม คือ ขอพระองค์ได้โปรดตรัสบอกธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์.
               บทว่า โคตฺตญาตโก คือ ผู้เป็นญาติโดยโคตร.
               บทว่า โคตฺตพนฺธุ เป็นเผ่าพันธุ์โดยโคตร คือเป็นญาติใกล้ชิดโดยโคตร.
               บทว่า เอเกนากาเรน คือ โดยส่วนเดียว.
               บทว่า สนฺติปทํ สันติบท คือบทคือนิพพาน กล่าวคือสันติ.
               บทว่า เย ธมฺมา สนฺตาธิคมาย ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อบรรลุความสงบ คือธรรมมีสติปัฏฐานเป็นต้นเหล่าใดเป็นไปเพื่อได้นิพพาน.
               บทว่า สนฺติผุสนาย เพื่อถูกต้องความสงบคือเพื่อถูกต้องนิพพานด้วยความถูกต้องคือญาณ.
               บทว่า สจฺฉิกิริยาย เพื่อทำให้แจ้ง คือเพื่อทำให้ประจักษ์.
               บทว่า มหนฺตํ สีลกฺขนฺธํ ศีลขันธ์ใหญ่ คือกองศีลใหญ่.
               แม้ในสมาธิขันธ์เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ศีลขันธ์เป็นต้นเป็นทั้งโลกิยะและโลกุตระ. วิมุตติญาณทัสสนะเป็นโลกิยะอย่างเดียว.
               บทว่า ตโมกายสฺส ปทาลนํ ทำลายกองมืด คือกำจัดกองอวิชชา.
               บทว่า วิปลฺลาสสฺส เภทนํ ทำลายวิปัลลาส คือทำลายวิปัลลาส ๔ อย่าง.
               บทว่า ตณฺหาสลฺลสฺส อพฺพุหณํ คือ ถอนลูกศรคือตัณหา.
               บทว่า อภิสงฺขารสฺส วูปสมํ ระงับอภิสังขาร คือดับอภิสังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
               บทว่า ภารสฺส นิกฺเขปนํ การปลงภาระ คือวางภาระอันได้แก่เบญจขันธ์.
               บทว่า สํสารวฏฺฏสฺส อุปจฺเฉทํ การตัดสังสารวัฏ คือตัดความเป็นไปแห่งสังสารวัฏ.
               บทว่า สนฺตาปสฺส นิพฺพาปนํ ดับความเดือดร้อน คือดับความร้อนคือกิเลส.
               บทว่า ปริฬาหสฺส ปฏิปสฺสทฺธึ ระงับความเร่าร้อน คือสงบความเร่าร้อน คือกิเลส.
               บทว่า เทวเทโว คือ พระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะเมื่อทรงเห็นจึงทรงกำจัดกิเลสทั้งหลายเสียได้ด้วยประการใด ครั้นทรงเห็นด้วยประการนั้นแล้วทรงเห็นความเป็นไปอย่างนั้น จึงเสด็จปรินิพพาน ฉะนั้นเมื่อจะทรงทำความนั้นให้แจ่มแจ้ง จึงทรงชักชวนเทพบริษัทนั้นในการละกิเลสด้วย ประการทั้งปวง ทรงเริ่มตรัสคาถา ๕ คาถา มีอาทิว่า มูลํ ปปญฺจสงฺขาย กิเลสเป็นรากเหง้าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้า ดังนี้.
               ในคาถานั้น พึงทราบความโดยสังเขปแห่งคาถาต้นก่อน.
               บทว่า ปปญฺจ ในบทว่า ปปญฺจสงฺขา ส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้าคือตัณหาที่ท่านบอกไว้. ปปญฺจา คือ ตัณหานั่นแล ชื่อว่า ปปญฺจสงฺขา ส่วนแห่งธรรมเครื่องเนิ่นช้า. กิเลสทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นเป็นรากเหง้าแห่งปปัญจธรรมนั้น. ภิกษุพึงกำจัดกิเลสทั้งปวงอันเป็นไปอยู่ คือกิเลสที่เป็นรากเหง้าแห่งส่วนธรรมเครื่องเนิ่นช้าและอัสมิมานะด้วยปัญญา ก็ตัณหาที่มี ณ ภายในอย่างใดอย่างหนึ่งพึงเกิดขึ้น ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดเพื่อละตัณหาเหล่านั้นในกาลทุกเมื่อ คือพึงเป็นผู้มีสติตั้งมั่นศึกษา.
               บทว่า อชฺฌตฺตสมุฏฺฐานา วา มีตัณหาในภายในเป็นสมุฏฐาน คือตัณหาเกิดขึ้นในจิต.
               บทว่า ปุเรภตฺตํ ในกาลก่อนภัต คือก่อนอาหารกลางวัน.
               บทว่า ปุเรภตฺตํ เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งอัจจันตสังโยคะ แปลว่าสิ้นกาลก่อนภัต. แต่โดยอรรถเป็นสัตตมีวิภัตติ แปลว่า ในกาลก่อนภัต. ในภายหลังภัตเป็นต้นก็มีนัยนี้.
               บทว่า ปจฺฉาภตฺตํ ในภายหลังภัต คือหลังอาหารกลางวัน.
               บทว่า ปุริมยามํ ในยามต้น คือส่วนแรกของราตรี.
               บทว่า มชฺฌิมยามํ ในยามกลาง คือส่วนที่สองของราตรี.
               บทว่า ปจฺฉิมยามํ ในยามหลัง คือส่วนที่สามของราตรี.
               บทว่า กาเฬ คือ ในข้างแรม.
               บทว่า ชุณฺเห คือ ในข้างขึ้น.
               บทว่า วสฺเส ในฤดูฝนคือในฤดูฝน ๔ เดือน.
               บทว่า เหมนฺเต ในฤดูหนาว คือในฤดูหนาว ๔ เดือน.
               บทว่า คิมฺเห ในฤดูร้อน คือในฤดูร้อน ๔ เดือน.
               บทว่า ปุริเม วโยกฺขนฺเธ ในขันธ์วัยต้น คือในส่วนของวัยแรก ได้แก่ในปฐมวัย.
               ก็ใน ๓ วัยเหล่านั้น สำหรับคนมีอายุ ๑๐๐ ปีเป็นเกณฑ์ ในวัยหนึ่งๆ ก็มีอายุ ๓๓ ปี กับ ๔ เดือน.
               พึงทราบความในคาถาแรกอย่างนี้ก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงเทศนาประกอบด้วยไตรสิกขา ด้วยธรรมเป็นยอดคืออรหัตแล้ว เพื่อทรงแสดงด้วยการละความถือตัวอีก จึงตรัสคาถา มีอาทิว่า ยํกิญฺจิ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํกิญฺจิ ธมฺมมภิชญฺญา อชฺฌตฺตํ ภิกษุพึงรู้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นภายใน คือพึงรู้คุณธรรมของตนมีความเป็นผู้มีตระกูลสูงเป็นต้น.
               บทว่า อถวาปิ พหิทฺธา คือ หรือพึงรู้คุณของอาจารย์และอุปัชฌาย์ในภายนอก.
               บทว่า น เตน ถามํ กุพฺเพถ ไม่พึงทำความถือตัวด้วยคุณธรรมนั้น.
               บทว่า สตานํ อันผู้สงบทั้งหลายคือผู้มีคุณธรรมคือความสงบ.
               บทว่า สนฺตานํ คือ เป็นผู้ดับมานะ.
               บทว่า น วุตฺตา แปลว่า ไม่กล่าว. บทว่า นปฺปวุตฺตา คือ ไม่แก้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงถึงวิธีไม่ทำความถือตัวนั้น จึงตรัสคาถาว่า เสยฺโย น เตน ภิกษุไม่พึงสำคัญว่าดีกว่าเขาด้วยคุณธรรมนั้น ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีความดังนี้
               ภิกษุไม่พึงสำคัญว่า เราดีกว่าเขา เราต่ำกว่าเขา หรือแม้ว่าเราเสมอเขาด้วยมานะนั้น ภิกษุผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเป็นอันมาก มีความเป็นผู้มีตระกูลสูงเป็นต้นเหล่านั้น ไม่พึงกำหนดตนดำรงอยู่โดยนัยมีอาทิว่า เราบวชแล้วจากตระกูลสูง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดง แม้ด้วยการละมานะอย่างนี้ บัดนี้เพื่อจะทรงแสดงด้วยการสงบกิเลสทั้งปวง จึงตรัสคาถาว่า อชฺฌตฺตเมว กิเลสภายในนี้แล ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌตฺตเมว อุปสเม ภิกษุพึงสงบกิเลสภายในนี้แล คือพึงสงบกิเลสทั้งหมดมีราคะเป็นต้นในตนนั่นแล.
               บทว่า น อญฺญโต ภิกฺขุ สนฺติเมเสยฺย ภิกษุไม่พึงแสวงหาความสงบโดยทางอื่น คือไม่พึงแสวงหาความสงบโดยอุบายอื่น นอกจากสติปัฏฐานเป็นต้น.
               บทว่า กุโต นิรตฺตํ วา ความว่า ความไม่มีตัวตนย่อมไม่มีแต่ที่ไหนๆ.
               บทว่า น เอเสยฺย คือ ไม่พึงแสวงหาด้วยศีลและพรตเป็นต้น.
               บทว่า น คเวเสยฺย ไม่พึงค้นหา คือไม่พึงมองดู.
               บทว่า น ปริเยเสยฺย ไม่พึงเข้าหา คือไม่พึงเห็นบ่อยๆ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้คงที่ของพระขีณาสพผู้สงบแล้วในภายใน จึงตรัสคาถาว่า มชฺเฌ ยถา เหมือนคลื่นย่อมไม่เกิดในท่ามกลางสมุทร ดังนี้เป็นต้น.
               บทนั้นมีความดังนี้
               คลื่นย่อมไม่เกิดในท่ามกลางประมาณ ๔,๐๐๐ โยชน์ คืออยู่ระหว่างกลางส่วนบนและส่วนล่างของมหาสมุทร หรือในท่ามกลางสมุทรที่ตั้งอยู่ในระหว่างภูเขา สมุทรนั้นสงบไม่หวั่นไหวฉันใด ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพพึงเป็นผู้หยุดอยู่ ไม่มีความหวั่นไหวฉันนั้น ภิกษุเช่นนั้นไม่พึงทำกิเลสเครื่องฟูขึ้นมีราคะเป็นต้นในที่ไหนๆ.
               บทว่า อุพฺเพเธน คือ โดยส่วนเบื้องล่าง.
               บทว่า คมฺภีโร คือ มหาสมุทรลึกประมาณ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ตั้งแต่หลังน้ำ. ปาฐะว่า อุพฺเพโธ บ้าง. บทนั้นไม่ดี.
               บทว่า เหฏฺฐา น้ำข้างล่าง คือน้ำภายใน.
               บทว่า อุปริ น้ำข้างบน คือน้ำเบื้องบน.
               บทว่า มชฺเฌ คือ ระหว่างกลาง.
               บทว่า น กมฺปติ คือ ไม่หวั่นไหวจากที่ตั้ง.
               บทว่า น วิกมฺปติ คือ ไม่วนไปวนมา.
               บทว่า น จลติ คือ ไม่ปั่นป่วน.
               บทว่า น เวธติ คือ ไม่กระเพื่อม.
               บทว่า นปฺปเวธติ คือ ไม่ซัดไปมา.
               บทว่า น สมฺปเวธติ คือ ไม่ม้วนไปมา.
               บทว่า อเนริโต คือ เป็นสมุทรไม่หวั่นไหว.
               บทว่า อฆฏฺฏิโต คือ ไม่กำเริบ.
               บทว่า อจลิโต คือ ไม่หวั่นไหว.
               บทว่า อนาลุลิโต ไม่ขุ่นมัว คือไม่มีเปือกตม.
               บทว่า ตตฺร อูมิ โน ชายติ คลื่นไม่เกิดในที่นั้น.
               บทว่า สตฺตนฺนํ ปพฺพตานํ อนฺตริกาสุ คือ สมุทรสีทันดรมีอยู่ในระหว่างภูเขาทั้ง ๗ มีภูเขายุคันธรเป็นต้น.
               บทว่า สีทนฺตรา สมุทรสีทันดร ชื่อว่าสีทา เพราะแม้ที่สุดปุยนุ่นตกไปในสมุทรเหล่านั้นก็จม.
               ชื่อว่า อนฺตรา เพราะเกิดในระหว่างภูเขา. ปาฐะว่า สีตนฺตรา*(ม. อนฺตรสีทา.) ก็มี
               บัดนี้ พระพุทธนิมิต เมื่อจะทรงอนุโมทนาพระธรรมเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยธรรมเป็นยอด คือพระอรหัตให้ยิ่งขึ้นไป เมื่อตรัสถามปฏิปทาเบื้องต้นของพระอรหัตนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า อกิตฺตยิ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น อกิตฺตยิ แปลว่า ได้ทรงแสดงแล้ว. วิวฏจกฺขุ ผู้มีพระจักษุแจ่มแจ้ง คือประกอบด้วยจักษุ ๕ แจ่มแจ้ง คือไม่มีเครื่องกั้น.
               บทว่า สกฺขิธมฺมํ สักขิธรรม คือธรรมที่ประจักษ์แก่พระองค์อันพระองค์ได้รู้ยิ่งแล้วเพื่อประกาศ.
               บทว่า ปริสฺสยวินยํ ธรรมเครื่องกำจัดอันตราย คือเพื่อกำจัดอันตราย.
               บทว่า ปฏิปทํ วเทหิ คือ ขอพระองค์จงตรัสตอบข้อปฏิบัติในบัดนี้เถิด.
               บทว่า ภทฺทนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คือพระพุทธนิมิตตรัสเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์เถิด.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า ขอพระองค์จงทรงตอบปฏิปทาอันเจริญดีแก่ข้าพระองค์เถิด.
               บทว่า ปาฏิโมกฺขํ อถวาปิ สมาธึ คือ ปาติโมกข์หรือแม้สมาธิ พระพุทธนิมิตตรัสถามแบ่งปฏิปทานั้นนั่นเอง. ตรัสถามมรรคด้วยบทว่า ปฏิปทํ. ตรัสถามศีลและสมาธิด้วยบทนอกนี้.
               บทว่า มํสจกฺขุนาปิ แม้ด้วยมังสจักษุ คือแม้ด้วยมังสจักษุอันเป็นไปกับด้วยบารมีธรรมที่สะสมมา.
               บทว่า ทิพฺพจกฺขุนาปิ แม้ด้วยทิพยจักษุ จักษุชื่อว่า ทิพฺพ เพราะเป็นเช่นกับของทิพย์.
               จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายมีปสาทจักขุเป็นทิพย์ เกิดขึ้นเพราะกรรมสุจริต ไม่เกลือกกลั้วด้วยดี เสมหะและเลือดเป็นต้น สามารถรับอารมณ์แม้ในที่ไกลได้เพราะพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง. แม้ทิพยจักษุนี้ก็เกิดขึ้นด้วยกำลังการบำเพ็ญความเพียร ญาณจักษุก็เช่นเดียวกัน เพราะเหตุนั้นชื่อว่า ทิพฺพ เพราะเป็นเช่นกับของทิพย์ เพราะได้มาด้วยทิพพวิหารธรรม เพราะอันตนอาศัยอยู่ในทิพพวิหารธรรมบ้าง เพราะรุ่งเรืองมากด้วยกำหนดอาโลกสัญญาบ้าง.
               ทั้งหมดพึงทราบโดยทำนองเดียวกันกับศัพทศาสตร์.
               ชื่อว่าทิพยจักษุ เพราะมีจักษุเป็นทิพย์. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระจักษุแจ่มแจ้งแม้ด้วยทิพยจักษุนั้น.
               บัดนี้ พระสังคีติกาจารย์เพื่อจะกล่าวจักษุ ๕ อย่างโดยพิสดาร จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กถํ ภควา มํสจกฺขุนา วิวฏจกฺขุ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระจักษุแจ่มแจ้งด้วยมังสจักขุ เป็นอย่างไรดังนี้.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า มํสจกฺขุมฺหิ ภควโต ปญฺจ วณฺณา สํวิชฺชนฺติ สี ๕ สีมีในพระมังสจักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ สี ๕ สีย่อมได้เฉพาะพระองค์ ในพระจักษุอันประกอบด้วยพระบารมีธรรมที่สะสมมาของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า.
               บทว่า นีโล จ วณฺโณ สีเขียว คือสีดอกผักตบ.
               บทว่า ปีตโก จ วณฺโณ สีเหลือง คือสีดอกกรรณิการ์.
               บทว่า โลหิตโก จ วณฺโณ สีแดง คือสีปีกแมลงทับ.
               บทว่า กณฺโห จ วณฺโณ สีดำ คือสีดอกอัญชัน.
               บทว่า โอทาโต จ วณฺโณ สีขาว คือสีดาวประกายพรึก.
               บทว่า ยตฺถ จ อกฺขิโลมานิ ปติฏฺฐิตานิ คือ ขนพระเนตรทั้งหลายตั้งอยู่เฉพาะที่ใด.
               บทว่า นีลํ ในบทนี้ว่า ตํ นีลํ โหติ สุนีลํ ที่นั้นมีสีเขียว เขียวสนิทดังนี้ ท่านกล่าวโดยรวมไว้ทั้งหมด.
               บทว่า สุนีลํ คือ เขียวสนิทเว้นช่องว่าง.
               บทว่า ปาสาทิกํ น่าชม คือให้เกิดความน่าชม.
               บทว่า ทสฺสนียํ น่าดู.
               บทว่า อุมฺมารปุปฺผสมานํ เหมือนดอกผักตบ คือเช่นกับดอกบัวจงกลนี.
               บทว่า ตสฺส ปรโต ต่อจากนั้น คือที่ข้างภายนอกโดยรอบขนพระเนตรนั้น.
               บทว่า ปีตกํ สีเหลือง ท่านกล่าวรวบยอด.
               บทว่า สุปิตกํ เหลืองนวล คือเหลืองสนิทเว้นช่องว่าง.
               บทว่า อุภยโต จ อกฺขิกูฏานิ เบ้าพระเนตรทั้งสอง คือท้ายพระเนตรทั้งสองข้าง.
               บทว่า โลหิตกานิ มีสีแดงกล่าวรวบยอด.
               บทว่า สุโลหิตกานิ คือ แดงสนิทไม่ปรากฏช่อง.
               บทว่า มชฺเฌ กณฺหํ ท่ามกลางพระเนตรมีสีดำ คือดำคล้ายดอกอัญชันตั้งอยู่กลางพระเนตร.
               บทว่า สุกณฺหํ ดำงาม คือดำสนิทเว้นช่องว่าง.
               บทว่า อลูขํ ไม่หมองมัว คือมีสิริ.
               บทว่า สินิทฺธํ สนิท คือประณีต.
               บทว่า อฬาริฏฺฐกสมานํ๒- เหมือนสีสมอดำ คือเช่นกับผลสมอดำที่เอาเปลือกออกแล้ว. บาลีว่า อทฺทาริฏฺฐกสมานํ เหมือนลูกประคำดีควายดังนี้ก็มี. อธิบายความบาลีนั้นว่า เช่นกับกาเปียกชุ่ม.
____________________________
๒- ม. ภทฺทาริฏฺฐกสสมานํ คล้ายเมล็ดในผลมะคำดีควายที่ปอกเปลือก.

               บทว่า โอทาตํ สีขาว ท่านกล่าวโดยรวม.
               บทว่า สุโวทาตํ ขาวงาม คือขาวสนิทเช่นเงินกลมเว้นช่องว่าง.
               ท่านแสดงความเป็นสีขาวยิ่งด้วยสองบทว่า เสตํ ปณฺฑรํ คือ ขาวผ่อง.
               บทว่า ปากติเกน มํสจกฺขุนา คือ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระมังสจักขุเป็นปกติ.
               บทว่า อตฺตภาวปริยาปนฺเนน คือ อาศัยอยู่ในพระวรกาย.
               บทว่า ปุริมสุจริตกมฺมาภินิพฺพตฺเตน เกิดขึ้นเพราะสุจริตกรรมในภพก่อน คือเกิดขึ้นเพราะกรรมมีกายสุจริตเป็นต้น ในอัตภาพที่เกิดแล้วในภพก่อน.
               บทว่า สมนฺตา โยชนํ ปสฺสติ ทรงเห็นโยชน์หนึ่งโดยรอบ คือทรงเห็นที่อยู่ภายในฝาเป็นต้น ในที่โยชน์หนึ่ง ประมาณ ๔ คาวุตโดยรอบ เว้นจากเครื่องกีดกั้นด้วยมังสจักขุปกติ.
               บทว่า ทิวา เจว รตฺตึ คือ ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน.
               บทว่า จตุรงฺคสมนฺนาคโต คือ มีมืดเต็มที่เว้นแสงสว่างประกอบด้วยองค์ ๔.
               บทว่า สุริโย จ อตฺถงฺคมิโต พระอาทิตย์อัสดงคต คือพระอาทิตย์เกิดแสงกล้าตั้งขึ้นแล้วตกไป.
               บทว่า กาฬปกฺโข จ อุโปสโถ วันอุโบสถข้างแรม คือวันอุโบสถแรม ๑๕ ค่ำ ในกาฬปักษ์.
               บทว่า ติพฺโพ จ วนสณฺโฑ แนวป่าทึบคือแนวไม้รกชัฏ.
               บทว่า มหา จ อกาลเมโฆ อพฺภุฏฺฐิโต อกาลเมฆใหญ่ตั้งขึ้น คือพื้นหมอกดำใหญ่ตั้งขึ้น.
               บทว่า กุฑฺโฑ วา ฝาก็ดี คือฝาก่อด้วยอิฐ.
               บทว่า กวาฏํ วา บานประตูก็ดี คือบานประตูและบานหน้าต่างก็ดี.
               บทว่า ปากาโร วา กำแพงก็ดี คือกำแพงดินเหนียวเป็นต้นก็ดี.
               บทว่า ปพฺพโต วา ภูเขาก็ดี คือภูเขามีภูเขาดินเป็นต้นก็ดี.
               บทว่า คจฺฉํ วา กอไม้ก็ดี คือกอไม้อ่อนก็ดี.
               บทว่า ลตา วา เถาวัลย์ก็ดี คือเถาวัลย์มีสีดำเป็นต้นก็ดี.
               บทว่า อาวรณํ รูปานํ ทสฺสนาย เป็นเครื่องบังการเห็นรูปทั้งหลาย คือเป็นเครื่องกั้นเพื่อเห็นรูปารมณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า เอกติลผลํ นิมิตฺตํ กตฺวา คือ เอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งทำเป็นเครื่องหมาย.
               บทว่า ติลวาเห ปกฺขิเปยฺย คือ ใส่ลงในเกวียนบรรทุกงา.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กระพองช้างและเกวียนสองเล่ม ชื่อว่าวาหะ.
               บทว่า ตญฺเญว ติลผลํ อุทฺธเรยฺย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบเอาเมล็ดงานั้นแหละขึ้นมาได้ คือทรงหยิบเมล็ดงาที่ทำเครื่องหมายไว้นั้นขึ้นมาได้.
               บทว่า ทิพฺเพน จกฺขุนา นี้ มีความได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า วิสุทฺเธน ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ คือด้วยการเห็นจุติและอุปบัติอันบริสุทธิ์ เพราะเหตุมีทิฏฐิบริสุทธิ์.
               จริงอยู่ ผู้ใดเห็นเพียงจุติอย่างเดียว ไม่เห็นอุปบัติ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมถือเอาซึ่งอุจเฉททิฏฐิ. ผู้ใดเห็นอุปบัติอย่างเดียว ไม่เห็นจุติ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมถือเอาซึ่งสัสสตทิฏฐิ เพราะปรากฏสัตว์เกิดใหม่. ส่วนผู้ใดเห็นทั้งสองอย่างนั้น เพราะผู้นั้นก้าวล่วงทิฏฐิแม้ทั้งสองอย่างนั้นเสีย ฉะนั้น ความเห็นของเขาจึงเป็นเหตุแห่งความเห็นบริสุทธิ์. ส่วนพระพุทธบุตรทั้งหลายย่อมเห็นทั้งสองอย่างนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ความเห็นชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะเป็นเหตุแห่งความเห็นบริสุทธิ์. เห็นความบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ เพราะเห็นรูปล่วงอุปจารของมนุษย์.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อว่าล่วงจักษุของมนุษย์ เพราะล่วงมังสจักษุอันเป็นของมนุษย์. ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์นั้น.
               บทว่า สตฺเต ปสฺสติ ทรงเห็นหมู่สัตว์ คือทรงแลดูหมู่สัตว์ ดุจมนุษย์ทั้งหลายดูด้วยตาเนื้อฉะนั้น.
               ในบทว่า จวมาเน อุปปชฺชมาเน นี้ พึงทราบความดังนี้
               ในขณะจุติก็ดี ขณะอุปบัติก็ดี ไม่สามารถจะเห็นได้ด้วยทิพยจักษุ ท่านประสงค์เอาว่า ก็สัตว์เหล่าใดใกล้จะจุติ จักจุติเดี๋ยวนี้ สัตว์เหล่านั้นก็กำลังจุติอยู่. ส่วนสัตว์เหล่าใดถือปฏิสนธิและเกิดแล้วในทันที สัตว์เหล่านั้นกำลังเกิดอยู่.
               ท่านแสดงไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงเห็นสัตว์เหล่านั้นที่กำลังจุติและกำลังอุปบัติ.
               บทว่า หีเน เลว คือเลว เพราะประกอบด้วยผลอันเกิดแต่โมหะ. ประณีตตรงกันข้ามกับเลวนั้น.
               บทว่า สุวณฺเณ มีผิวพรรณดี คือมีผิวพรรณน่าปรารถนา น่าใคร่น่าเอ็นดู เพราะประกอบด้วยผลอันเกิดแต่อโทสะ. ผิวพรรณชั่วตรงกันข้ามกับผิวพรรณดีนั้น คือมีรูปพิกลตรงข้ามกับรูปสวย.
               บทว่า สุคเต ได้ดี คือมั่งคั่งมีทรัพย์มาก เพราะประกอบด้วยผลอันเกิดแต่อโลภะ.
               บทว่า ทุคฺคเต ได้ชั่ว คือยากจน ไม่มีข้าวและน้ำ เพราะประกอบด้วยผลอันเกิดแต่โลภะ.
               บทว่า ยถากมฺมูปเค หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม คือเข้าถึงกรรมที่ตนสะสมไว้.
               ในบทเหล่านั้น ท่านกล่าวถึงกิจของทิพยจักษุ ด้วยบทมีอาทิว่า จวมาเน อันมีในบทก่อน แต่ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงกิจ คือความรู้หมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม.
               นี้เป็นลำดับของการเกิดขึ้นแห่งญาณนั้น
               ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญอาโลกสัญญามุ่งถึงนรก เห็นหมู่สัตว์นรกกำลังเสวยทุกข์ใหญ่. การเห็นนั้นเป็นกิจของทิพยจักษุเท่านั้น. ภิกษุนั้นกระทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอะไรไว้หนอจึงเสวยทุกข์นี้ ดังนี้.
               ลำดับนั้น ภิกษุนั้นก็เกิดญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์ว่า เพราะทำกรรมอย่างนี้ๆ ดังนี้.
               อนึ่ง ภิกษุเจริญอาโลกสัญญามุ่งสู่เทวโลกในเบื้องบน เห็นหมู่สัตว์ในสวนนันทวัน มิสสกวันและปารุสกวันเป็นต้น เสวยมหาสมบัติอยู่. แม้ความเห็นนั้นก็เป็นกิจของทิพยจักษุเหมือนกัน. ภิกษุนั้นกระทำไว้ในใจอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่านี้ทำกรรมอะไรไว้หนอ จึงเสวยสมบัตินี้ ดังนี้.
               ลำดับนั้น ภิกษุนั้นก็เกิดญาณอันมีกรรมนั้นเป็นอารมณ์ว่า เพราะทำกรรมอย่างนี้ๆ ดังนี้.
               นี้ชื่อว่า ยถากัมมูปคญาณ (รู้ว่าสัตว์เป็นไปตามกรรม). ญาณนี้ไม่มีบริกรรมต่างหาก. ญาณนี้ฉันใด แม้อนาคตังสญาณก็ฉันนั้น. เพราะว่าญาณเหล่านี้มีทิพยจักษุเป็นบาท จึงย่อมสำเร็จพร้อมกับทิพยจักษุนั่นเอง.
               บทว่า อิเม ในบทมีอาทิว่า อิเม วต โภนฺโต สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เป็นคำแสดงถึงการเห็นด้วยทิพยจักษุ.
               บทว่า วต เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งความเศร้า.
               บทว่า โภนฺโต คือ ผู้เจริญ.
               ชื่อว่าทุจริต เพราะประพฤติชั่วหรือประพฤติประทุษร้าย เพราะมีใจเน่าด้วยกิเลส. ชื่อว่ากายทุจริต เพราะประพฤติชั่วทางกาย หรือประพฤติชั่วเกิดแต่กาย.
               แม้ในบทนอกนี้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สมนฺนาคตา คือ มีความพร้อม.
               บทว่า อริยานํ อุปวาทกา ติเตียนพระอริยเจ้า คือเป็นผู้ประสงค์ความพินาศต่อพระอริยเจ้าผู้เป็นพุทธะ ปัจเจกพุทธะและสาวกพุทธะ โดยที่สุดแม้พระโสดาบันผู้เป็นคฤหัสถ์ กล่าวติเตียนด้วยอันติมวัตถุ (โทษมีในที่สุด) หรือด้วยกำจัดคุณ.
               ท่านอธิบายว่า ได้แก่ ด่า ติเตียน.
               กล่าวว่าภิกษุเหล่านี้ไม่มีสมณธรรม ภิกษุเหล่านี้ไม่ใช่สมณะดังนี้ ชื่อว่าติเตียนด้วยอันติมวัตถุ. กล่าวว่าภิกษุเหล่านี้ไม่มีฌาน วิโมกข์ มรรคหรือผลดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าติเตียนด้วยกำจัดคุณ.
               อนึ่ง ภิกษุนั้นรู้อยู่ก็ดี ไม่รู้อยู่ก็ดี พึงติเตียน ย่อมเป็นอันติเตียนพระอริยเจ้าแม้ทั้งสองอย่างนั้น. กรรมหนักเช่นอนันตริยกรรมที่ห้ามสวรรค์และห้ามมรรค ยังแก้ไขได้. เพราะฉะนั้น ผู้ใดติเตียนพระอริยเจ้า ผู้นั้นควรไป หากตนเป็นผู้ใหญ่กว่า ควรนั่งน้อมกาย แล้วกล่าวขอขมาว่า ผมได้กล่าวอย่างนี้ๆ กะท่าน ขอท่านได้ยกโทษให้แก่ผมด้วยเถิด ดังนี้ หากตนอ่อนกว่าพึงไหว้น้อมกาย ประคองอัญชลี แล้วขอขมาว่า กระผมได้กล่าวอย่างนี้ๆ ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด ดังนี้.
               แม้หากว่าท่านไปที่อื่น ควรไปเองหรือส่งสัทธิวิหาริกเป็นต้นไป ให้ท่านยกโทษ. หากไม่สามารถจะไปได้หรือไม่สามารถจะส่งไปได้. ก็ไปหาภิกษุที่อยู่ในวิหารนั้น หากว่าภิกษุเหล่านั้นอ่อนกว่า พึงนั่งน้อมกาย หากแก่กว่าควรปฏิบัติตามนัยที่กล่าวแล้วในภิกษุผู้ใหญ่นั่นแล แล้วกล่าวขอขมาว่า ท่านผู้เจริญ กระผมได้กล่าวอย่างนี้ๆ กะพระคุณเจ้าชื่อโน้น ขอพระคุณเจ้านั้นจงยกโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด ดังนี้.
               แม้เมื่อไม่ขอขมาต่อหน้า ก็ควรทำเช่นเดียวกัน.
               หากภิกษุเที่ยวไปรูปเดียว ที่อยู่ที่ไปของภิกษุนั้นไม่ปรากฏ. พึงไปหาภิกษุผู้ฉลาดรูปหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ กระผมได้กล่าวอย่างนี้ๆ กะท่านผู้มีอายุชื่อโน้น เมื่อกระผมนึกไปๆ ถึงท่านก็มีความเดือดร้อน กระผมจะทำอย่างไรดี.
               ภิกษุผู้ฉลาดรูปนั้นก็จักกล่าวว่า คุณอย่าคิดมากไปเลย พระเถระยกโทษให้แก่คุณ ขอให้คุณสงบใจเสียเถิด. พึงประคองอัญชลีมุ่งตรงไปยังทิศที่พระอริยเจ้านั้นไป แล้วพึงกล่าวว่า ขอพระคุณเจ้าโปรดยกโทษเถิด ดังนี้.
               ผิว่า พระอริยเจ้านั้นนิพพานไปแล้ว ควรไปยังที่ตั้งเตียงที่ท่านนิพพาน แล้วไปขอขมาจนถึงอัฐิที่บรรจุไว้. เมื่อทำอย่างนี้แล้ว จึงเป็นอันไม่ห้ามสวรรค์ไม่ห้ามมรรค ย่อมเป็นเหมือนเดิมนั่นเอง.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกา คือ มีความเห็นวิปริต.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิกมฺมสมาทาน ยึดถือการทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ คือยึดถือการกระทำต่างๆ หลายอย่างด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ.
               อนึ่ง ผู้ใดชักชวนแม้ผู้อื่นในกายกรรมเป็นต้น อันเป็นมูลแห่งมิจฉาทิฏฐิ ผู้นั้นก็ชื่อว่า เป็นผู้ยึดถือการกระทำต่างๆ หลายอย่าง.
               อนึ่ง ในบทนี้ แม้เมื่อมิจฉาทิฏฐิสงเคราะห์ด้วยการถือเอาวจีทุจริต และด้วยการถือเอามโนทุจริตในการติเตียนพระอริยเจ้า คำกล่าวของทั้งสองอย่างเหล่านี้พึงทราบว่า เพื่อแสดงความมีโทษมาก. เพราะผู้ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นผู้มีโทษมาก เช่นเดียวกับอนันตริยกรรม.
               แม้ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนสารีบุตร ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา พึงให้ผู้อื่นยินดีในทิฏฐธรรมด้วย แม้ฉันใด ดูก่อนสารีบุตร ข้อนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น เรากล่าวว่าผู้ไม่ละคำพูดนั้น ไม่ละจิตนั้น ไม่สละคืนทิฏฐินั้นเก็บสะสมไว้ เหมือนยินดีในนรก.
               ไม่มีอย่างอื่นที่มีโทษมากกว่ามิจฉาทิฏฐิเลย.
               เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีโทษมากเหมือนมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษทั้งหลายมีมิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างยิ่ง.
               บทว่า กายสฺส เภทา กายแตก คือสละขันธ์ที่ยังมีชีวิตอยู่.
               บทว่า ปรมฺมรณา เมื่อตายไป คือยึดขันธ์อันจะเกิดในลำดับนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กายสฺส เภทา คือ ตัดชีวิตินทรีย์.
               บทว่า ปรมฺมรณา เบื้องหน้าแต่จุติจิต.
               บทว่า อปายํ เป็นต้น เป็นไวพจน์ของนรกทั้งหมด. เพราะว่านรกชื่อว่าอบาย เพราะปราศจากความเจริญที่สมมติว่าบุญ อันเป็นเหตุแห่งสวรรค์และนิพพาน หรือเพราะไม่มีความเจริญแห่งความสุขทั้งหลาย. นรกชื่อว่าทุคติ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของทุกข์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทุคติ เพราะเกิดคือถึงด้วยกรรมชั่วอันมากไปด้วยโทษ. นรกชื่อว่าวินิปาตะ เพราะเป็นที่ที่อวัยวะน้อยใหญ่แตกพินาศไป. ชื่อว่านิรยะ เพราะเป็นที่ที่ไม่มีความเจริญที่รู้กันว่าเป็นความชอบใจ.
               ท่านแสดงกำเนิดเดียรัจฉาน ด้วยอปายศัพท์.
               จริงอยู่ กำเนิดเดียรัจฉาน ชื่อว่าอบาย เพราะปราศจากสุคติ. ไม่ชื่อทุคติ เพราะยังเป็นที่เกิดของนาคราชเป็นต้นผู้มีศักดิ์ใหญ่.
               ท่านแสดงปิตติวิสัย (ที่อยู่ของเปรต) ด้วยทุคคติ ศัพท์.
               จริงอยู่ ปิตติวิสัย ชื่อว่าอบายและทุคติ เพราะปราศจากสุคติและเพราะไปหาทุกข์ ส่วนนรกชื่อว่าวินิบาต. ส่วนวินิบาตไม่ชื่อว่าปิตติวิสัย เพราะไม่ตกไปเช่นอสูร.
               ท่านแสดงอสุรกาย ด้วยวินิปาต ศัพท์.
               จริงอยู่ อสุรกายนั้นชื่อว่าอบายและทุคติตามความที่กล่าวไว้แล้ว และท่านเรียกว่าวินิบาต เพราะตกไปทั้งร่างกาย.
               ท่านแสดงนรกมีหลายอย่าง มีอเวจีเป็นต้นด้วยนิรยศัพท์.
               บทว่า อุปฺปนฺนา เข้าไปถึงแล้ว. ในบทนั้นท่านประสงค์เอาว่าเกิดแล้ว.
               พึงทราบธรรมฝ่ายขาวโดยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               แต่ความต่างกันมีดังต่อไปนี้.
               ในบทนั้น แม้มนุษยคติ ท่านก็สงเคราะห์ด้วยสุคติศัพท์. เทวคติก็เหมือนกันท่านสงเคราะห์ด้วยสัคคศัพท์.
               ในบทนั้น ชื่อว่าสุคติ เพราะมีทางไปดี. ชื่อว่าสัคคะ เพราะเลิศไปด้วยอารมณ์มีรูปเป็นต้นดี. แม้ทั้งหมดนั้นมีความว่า ชื่อว่าโลก เพราะแตกสลาย.
               บททั้งปวงว่า อิติ ทิพฺเพน จกฺขุนา เป็นต้นเป็นคำสรุป.
               ความสังเขปในบทนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นด้วยทิพยจักขุด้วยประการฉะนี้แล.
               ทิพยจักษุญาณย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๔ ด้วยอำนาจแห่งปริตตอารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์ อัชฌัตตอารมณ์และพหิทธอารมณ์. ยถากัมมูปคญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๕ ด้วยอำนาจแห่งปริตตอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ อดีตอารมณ์ อัชฌัตตอารมณ์และพหิทธอารมณ์ อนาคตังสญาณย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ ด้วยอำนาจแห่งปริตตอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ อัปปมาณอารมณ์ มรรคอารมณ์ อนาคตอารมณ์ อัชฌัตตอารมณ์ พหิทธอารมณ์และนวัตตัพพอารมณ์.
               บทว่า อากงฺขมาโน จ ภควา คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาอยู่.
               บทว่า เอกมฺปิ โลกธาตุํ ปสฺเสยฺย พึงทรงเห็นแม้โลกธาตุหนึ่ง คือพึงทรงเห็นจักรวาลหนึ่ง.
               ในบทว่า สหสฺสิมฺปิ จูฬนิกา แม้โลกธาตุพันหนึ่งเป็นส่วนเล็กนี้ พึงทราบดังต่อไปนี้
               โลกธาตุนี้ชื่อว่าพันหนึ่งเป็นส่วนเล็กในอาคตสถานว่า
                                   โลกทรงไว้ซึ่งโลกธาตุพันหนึ่ง ตลอดเวลาที่พระจันทร์และ
                         พระอาทิตย์ยังเดินอยู่ ยังสว่างไสว หมุนไปทั่วทิศ อำนาจของ
                         ท่านย่อมเป็นไปในโลกนี้.

               บทว่า จูฬนิกํ คือ เล็กน้อย.
               ในบทว่า ทฺวิสหสฺสิมฺปิ มชฺฌิมิกํ โลกธาตุํ แม้โลกธาตุสองพันเป็นส่วนปานกลางนี้ พึงทราบความดังนี้
               ปริมาณจักรวาลล้านหนึ่งคูณจักรวาลพันหนึ่ง ด้วยส่วนของพัน รวมเป็นหนึ่งล้าน ชื่อว่าโลกธาตุสองพันเป็นส่วนปานกลาง. ด้วยโลกธาตุนี้ ท่านแสดงถึงเขตอันเป็นกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               จริงอยู่ ที่ประมาณเท่านี้ย่อมหวั่นไหว ในวันเคลื่อนจากเทวโลกในภพสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย แล้วถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา ในวันประสูติจากครรภ์ ในวันเสด็จออกผนวช และในวันตรัสรู้ ในวันแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันปลงอายุสังขาร และในวันเสด็จปรินิพพาน.
               บทว่า ติสหสฺสึ มหาสหสฺสิมฺปิ โลกธาตุ โลกธาตุสามพัน เพราะคูณด้วยหลายพัน แม้โลกธาตุหลายพัน คือชื่อว่า มหาสหสฺสี หลายพัน เพราะคูณโลกธาตุตั้งแต่พันหนึ่ง สามพันที่สาม พันที่หนึ่ง แล้วคูณโลกธาตุพันหนึ่งเป็นส่วนปานกลาง.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ท่านแสดงถึงโลกมีปริมาณแสนโกฏิจักรวาล.
               อนึ่ง พระคณกปุตตติสสเถระกล่าวไว้อย่างนี้ว่า
               นั่นไม่ใช่ปริมาณของโลกธาตุสามพันและหลายพัน เพราะปริมาณนี้ ชื่อว่าโลกธาตุสามพันหลายพัน เป็นความงมงายในการท่องบ่นของอาจารย์ทั้งหลาย เป็นที่เสื่อมของวาจา เป็นที่กำหนดจักรวาลล้านโกฏิ. ก็ด้วยเหตุมีประมาณเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านแสดงถึงอาณาเขตของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อานุภาพของอาฏานาฏิยปริตร อิสิคิลิปริตร ธชัคคปริตร โพชฌังคปริตร ขันธปริตร โมรปริตร เมตตปริตรและรัตนปริตร ย่อมแผ่ไปในระหว่างนี้.
               บทว่า ยาวตา วา ปน อากงฺเขยฺย คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารถนาเท่าใด.
               ด้วยบทนี้เป็นอันท่านแสดงวิสัยเขต (เขตของวิสัย).
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีการกำหนดปริมาณของวิสัยเขต.
               พระสังคีติกาจารย์นำข้ออุปมาในความไม่มีวิสัยเขตนี้มา ดังต่อไปนี้.
               หากใครๆ เอาเมล็ดผักกาดมาให้เต็มในแสนโกฏิจักรวาล ตลอดถึงพรหมโลก แล้วเอาเมล็ดผักกาดเมล็ดหนึ่งใส่ลงในจักรวาลหนึ่งทางทิศตะวันออก เมล็ดผักกาดเหล่านั้นแม้ทั้งหมดก็ถึงความสิ้นไป ส่วนจักรวาลทั้งหลายทางทิศตะวันออกไม่สิ้นไป. แม้ในทิศใต้เป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ชื่อว่าความไม่มีวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในการกำหนดประมาณนั้นย่อมไม่มี.
               บทว่า ตาวตกํ ปสฺเสยฺย คือ พึงทรงเห็นได้เท่านั้น. ทิพยจักษุกถาก็จบลงด้วยบทว่า ทิพยจักษุของพระผู้มีพระภาคเจ้าบริสุทธิ์อย่างนี้.
               บทว่า กถํ ภควา ปญฺญาจกฺขุนา วิวฏจกฺขุ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระจักษุแจ่มแจ้งแม้ด้วยปัญญาจักษุอย่างไร คือมีพระจักษุอันปัญญาจักษุไม่ปิดแล้วด้วยเหตุไร.
               บทว่า มหาปญฺโญ ปุถุปญฺโญ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีปัญญามากมีปัญญากว้างขวางเป็นต้น.
               บทสุดท้ายว่า ตตฺถ อติโรจติ ยทิทํ ปญฺญาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงไพโรจน์ยิ่งด้วยพระปัญญาในที่นั้น ดังนี้มีความได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               บทว่า พุทฺธจกฺขุนา ด้วยพุทธจักษุ คือด้วยอินทรียปโรปริยัตตญาณ (ปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย) และด้วยอาสยานุสยญาณ (ปรีชากำหนดรู้อัธยาศัยดีเลว และอนุสัยกิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ทั้งหลาย). มีญาณสองเหล่านี้จึงชื่อว่าพุทธจักษุ. สัพพัญญุตญาณ ชื่อว่าสมันตจักษุ (จักษุรอบคอบ). มรรคญาณ ๓ ชื่อว่าธรรมจักษุ.
               บทว่า โลกํ โวโลเกนฺโต อทฺทส สตฺเต คือ ทรงตรวจดูโลก ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลาย.
               พึงทราบความในบทว่า อปฺปรชกฺเข มีกิเลสเป็นเพียงดังธุลีน้อยเป็นต้น ธุลีมีราคะเป็นต้น ในปัญญาจักษุโดยนัยที่กล่าวแล้วของสัตว์เหล่าใดน้อย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีกิเลสน้อย. ธุลีมีราคะเป็นต้นของสัตว์เหล่านั้นมาก สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีกิเลสเพียงดังธุลีมาก. อินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นของสัตว์เหล่าใดกล้า สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีอินทรีย์กล้า. อินทรีย์เหล่านั้นของสัตว์เหล่าใดอ่อน สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีอินทรีย์อ่อน. อาการศรัทธาเป็นต้นเหล่านั้นของสัตว์เหล่าใดดี สัตว์เหล่านั้นชื่อว่ามีอาการดี. สัตว์เหล่าใดกำหนดเหตุที่กล่าวแล้วสามารถรู้ได้โดยง่าย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าแนะนำได้โดยง่าย. สัตว์เหล่าใดเห็นปรโลกและวัฏฏะโดยความเป็นภัย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าเห็นภัยในปรโลกและวัฏฏะ.
               บทว่า อุปฺปลินิยํ คือ ในกอบัว.
               แม้ในบทนอกนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อนฺโต นิมุคฺคโปสินี คือ จมอยู่ในน้ำอันน้ำหล่อเลี้ยงไว้.
               บทว่า อุทกา อจฺจุคฺคมฺม ติฏฺฐนฺติ โผล่ขึ้นจากน้ำ คือตั้งขึ้นพ้นน้ำ.
               ในดอกบัวเหล่านั้น ดอกบัวใดโผล่ขึ้นพ้นน้ำ ดอกบัวนั้นรอต้องแสงพระอาทิตย์ ก็จะบานในวันนี้. ดอกบัวใดตั้งอยู่เสมอน้ำ ดอกบัวนั้นจะบานในวันรุ่งขึ้น. ดอกบัวใดยังไม่พ้นจากน้ำจมอยู่ในน้ำ น้ำเลี้ยงไว้ ดอกบัวนั้นจะบานในวันที่สามนั่นแล. ดอกบัวใดไม่บานเลยก็จักเป็นอาหารของปลาและเต่าไปเท่านั้นเอง ดอกบัวนั้นท่านแสดงไว้ว่ามิได้ยกขึ้นสู่บาลี แต่ก็ควรนำมากล่าวไว้.
               ท่านแสดงถึงบุคคล ๔ จำพวก คืออุคฆติตัญญู วิปจิตัญญู เนยยะ ปทปรมะ เหมือนดอกบัว ๔ ชนิดฉะนั้น.
               บุคคลใดรู้ธรรมในเวลาที่ท่านยกขึ้นมากล่าว บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าอุคฆติตัญญู.
               บุคคลใด เมื่อท่านขยายความโดยพิสดารแห่งภาษิตที่ยกขึ้นกล่าวโดยย่อจึงรู้ธรรม บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าวิปจิตัญญู.
               บุคคลใดสอบถามใส่ใจ เสพคบนั่งใกล้กัลยาณมิตรจึงรู้ธรรม บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าเนยยะ.
               บุคคลใดแม้บอกมาก กล่าวมาก ทรงไว้มาก สอนมาก ก็ไม่รู้ธรรมในชาตินั้น บุคคลนี้ ท่านเรียกว่าปทปรมะ.
               ในบุคคลเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุเช่นกับดอกบัวเป็นต้น ได้ทรงเห็นโดยอาการทั้งปวงอย่างนี้ว่า วันนี้ อุคฆติตัญญูจะบาน วันนี้วิปจิตัญญูจะบาน ดังนี้. พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า จะสำเร็จประโยชน์แก่บุคคล ๓ จำพวกในอัตภาพ นี้แล พระธรรมเทศนาก็จะเป็นวาสนาแก่บุคคลผู้เป็นปทปรมะในอนาคต.
               พึงทราบความในบทว่า ราคจริโต เป็นราคจริตเป็นต้นนี้ ดังนี้
               ชื่อว่าเป็นราคจริต เพราะมีความประพฤติในอารมณ์ด้วยความกำหนัด. ชื่อว่าเป็นโทสจริต เพราะมีความประพฤติในอารมณ์ด้วยความประทุษร้าย. ชื่อว่าเป็นโมหจริต เพราะมีความประพฤติด้วยความหลง. ชื่อว่าเป็นวิตกจริต เพราะมีความประพฤติในอารมณ์ ด้วยความวิตกด้วยความตรึก. ชื่อว่าเป็นศรัทธาจริต เพราะมีความประพฤติในอารมณ์ด้วยความเชื่อง่าย. ชื่อว่าเป็นญาณจริต เพราะมีความประพฤติเป็นความรู้ ประพฤติด้วยความรู้ ประพฤติโดยความรู้หรือประพฤติเพื่อความรู้.
               บทว่า ราคจริตสฺส แก่บุคคลผู้เป็นราคจริต คือราคะหนา ราคะจัด.
               แม้บทอื่นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อสุภกถํ กเถติ ตรัสอสุภกถา คือทรงบอกกถาปฏิสังยุตด้วยอสุภะ ๑๐ อย่างมีอุทธุมาตกะ (ขึ้นอืด) เป็นต้น. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ควรเจริญอสุภะเพื่อละราคะ ดังนี้.
               บทว่า เมตฺตาภาวนํ อาจิกฺขติ คือ ตรัสบอกเมตตาภาวนา คือตรัสเมตตาภาวนาอันจับจิต. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า พึงเจริญเมตตา เพื่อละพยาบาทดังนี้.
               บทว่า อุทฺเทเส ในการเรียน คือในการท่องบ่น.
               บทว่า ปริปุจฺฉาย ในการไต่ถาม คือในการกล่าวเนื้อความ.
               บทว่า กาเลน ธมฺมสฺสวเน ในการฟังธรรมตามกาล คือในการฟังปริยัติธรรมให้ยิ่งในเวลาเรียน.
               บทว่า ธมฺมสากจฺฉาย ในการสนทนาธรรม คือในการสนทนากับผู้อื่น.
               บทว่า ครุสํวาเส ในการอยู่ร่วมกับครู คือในการเข้าใกล้ครู.
               บทว่า นิเวเสติ ให้อยู่ คือให้ตั้งอยู่ในสำนักของอาจารย์.
               บทว่า อานาปานสฺสตึ กเถติ บอกอานาปานสติ คือบอกกรรมฐานสัมปยุตด้วยอานาปานสติ (กำหนดลมหายใจเข้าออก) ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า พึงเจริญอานาปานสติเพื่อกำจัดวิตก.
               บทว่า ปาสาทนียํ นิมิตฺตํ อาจิกฺขติ ตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี คือตรัสบอกพระสูตรอันให้เกิดความเลื่อมใสมีจุลลเวทัลลสูตรและมหาเวทัลลสูตรเป็นต้น.
               บทว่า พุทฺธสุโพธึ ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า คือการตรัสรู้ความเป็นพุทธะของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า.
               บทว่า ธมฺมสุธมฺมํ ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม คือความที่โลกุตรธรรม ๙ อย่างอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว.
               บทว่า สงฺฆสุปฏิปตฺตึ การปฏิบัติของพระสงฆ์ คือการปฏิบัติดีมีการปฏิบัติชอบของพระอริยสงฆ์ ๘ จำพวก.
               บทว่า สีลานิ จ อตฺตโน ศีลของตน คือทรงบอกศีลอันเป็นของตน.
               บทว่า วิปสฺสนานิมิตฺตํ ธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา คือทรงบอกธรรมอันปฏิสังยุตด้วยวิปัสสนา มีความเกิดและความดับเป็นต้น.
               บทว่า อนิจฺจาการํ มีอาการไม่เที่ยง คือมีอาการมีแล้วไม่มี.
               บทว่า ทุกฺขาการํ มีอาการเป็นทุกข์ คือมีอาการบีบคั้น คือความเกิดและความดับ.
               บทว่า อนตฺตาการํ มีอาการไม่เป็นไปในอำนาจ.
               บทว่า เสเล ยถา ปพฺพตมุทฺธนิฏฺฐิโต คือ บุรุษยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาหนาทึบ. เมื่อยืนบนภูเขานั้นก็ไม่มีกิจที่จะขึ้นต้นไม้เพื่อดูเลย.
               บทว่า ตถูปมํ เปรียบเหมือนภูเขานั้น คือเปรียบด้วยภูเขาศิลาอันปฏิภาคกันนั้น.
               ในบทนี้มีความสังเขปดังต่อไปนี้
                                   บุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดเขาศิลา พึงเห็นหมู่ชน
                         โดยรอบฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปัญญาดี
                         คือมีปัญญาประเสริฐ มีพระจักษุโดยรอบ พระองค์มี
                         ความโศกไปปราศแล้ว ทรงขึ้นสู่ปราสาทอันสำเร็จด้วย
                         ธรรม สำเร็จด้วยปัญญา ขอจงทรงพิจารณาใคร่ครวญ
                         ไตร่ตรองถึงหมู่ชนผู้อาเกียรณด้วยความโศก และถูก
                         ชาติชราครอบงำแล้วฉันนั้น.

               ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้:-
               เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายทำพื้นที่อันใหญ่โดยรอบเชิงภูเขา แล้วปลูกกระท่อมไว้ที่แนวพื้นที่อันเหมาะแก่การเพาะปลูก ณ ที่นั้น นึกก่อไฟในเวลากลางคืน และพึงมีความมืดประกอบด้วยองค์ ๔ ทีนั้นเมื่อบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่บนยอดภูเขานั้นมองดูพื้นที่ พื้นที่ไม่ปรากฏ แนวเพาะปลูกไม่ปรากฏ กระท่อมไม่ปรากฏ มนุษย์ที่นอนในกระท่อมไม่ปรากฏ ปรากฏแต่เพียงเปลวไฟในกระท่อมฉันใด
               เมื่อพระตถาคตทรงขึ้นสู่ธรรมปราสาททรงตรวจดูหมู่สัตว์ สัตว์เหล่าใดไม่ทำความดีไว้ สัตว์เหล่านั้นแม้นั่ง ณ ข้างพระชานุเบื้องขวาในวิหารเดียวกัน ก็ไม่มาสู่คลองแห่งพุทธจักษุ เหมือนลูกศรที่ซัดไปในตอนกลางคืนฉะนั้น
               ส่วนสัตว์เหล่าใดทำความดีไว้ เป็นเวไนยบุคคล สัตว์เหล่านั้นแม้อยู่ไกลพระตถาคต ก็ย่อมมาสู่คลองพุทธจักษุ สัตว์เหล่านั้นดุจไฟ และดุจภูเขาหิมวันตะ.
               ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   สัตบุรุษทั้งหลายย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนภูเขา
                         หิมวันตะ อสัตบุรุษทั้งหลายไม่ปรากฏในที่นี้ เหมือนลูกศร
                         ที่ซัดไปในตอนกลางคืนฉะนั้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 600อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 699อ่านอรรถกถา 29 / 788อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=7639&Z=9093
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=8634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=8634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :