ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 600อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 699อ่านอรรถกถา 29 / 788อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               พึงทราบความในบทว่า สพฺพญฺญุตญาณํ พระสัพพัญญุตญาณนี้ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าสัพพัญญู เพราะรู้ทั่วถึงสิ่งทั้งปวงอันเป็นคลองแห่งธรรมที่ควรแนะนำ ๕ ประการ. ธรรมทั้งปวงมีประเภทเป็นสังขตธรรมและอสังขตธรรม ชื่อว่าเป็นคลองแห่งธรรมที่ควรแนะนำ ๕ ประการ คือ สังขาร ๑ วิการ ๑ ลักษณะ ๑ นิพพาน ๑ บัญญัติ ๑ ความเป็นแห่งสัพพัญญู ชื่อว่าสัพพัญญุตา. สัพพัญญุตานั่นเองคือ ญาณํ ควรจะกล่าวว่า สพฺพญฺญุตาญาณํ ท่านก็กล่าวว่า สพฺพญฺญุญาณํ.
               บทว่า สพฺพญฺญู รู้สิ่งทั้งปวง คือพึงถึงเป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง ๕ อย่าง คือ
               กมสัพพัญญู (รู้สิ่งทั้งปวงตามลำดับ) ๑. สกึสัพพัญญู (รู้สิ่งทั้งปวงคราวเดียว) ๑. สตตสัพพัญญู (รู้สิ่งทั้งปวงเนืองๆ) ๑. สัตติสัพพัญญู (รู้สิ่งทั้งปวงตามความสามารถ) ๑. ญาตสัพพัญญู (รู้สิ่งทั้งปวงที่รู้แล้ว) ๑.
               ในสัพพัญญู ๕ อย่างนั้น เพราะไม่มีกาลอันจะรู้สิ่งทั้งปวงตามลำดับ จึงไม่ชื่อว่ากมสัพพัญญู. เพราะไม่มีการยึดถืออารมณ์คราวเดียว จึงไม่ชื่อว่าสกึสัพพัญญู. เพราะมีจิตมีอารมณ์แน่นอนในจักขุวิญญาณเป็นต้น เพราะดับภวังคจิต และเพราะไม่มีการประกอบ จึงไม่ชื่อว่าสตตสัพพัญญู. เพราะสามารถรู้สิ่งทั้งปวงโดยไม่เหลือ พึงเป็นสัตติสัพพัญญู หรือเพราะรู้แจ้งธรรมทั้งปวง พึงเป็นญาตสัพพัญญู. การรู้สิ่งทั้งปวงไม่มีในสัตติสัพพัญญู ด้วยประการฉะนี้. แม้ข้อนั้นก็ไม่ถูก เพราะท่านกล่าวไว้ว่า สิ่งอะไรๆ ในโลกนี้ อันพระปัญญาจักษุของพระตถาคตนั้นไม่เห็น ย่อมไม่มี ฯลฯ เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักษุ. ญาตสัพพัญญูนั่นแลถูก. ก็เมื่อเป็นอย่างนี้สัพพัญญูย่อมมี โดยกิจ โดยไม่หลง โดยสำเร็จแต่การณะ โดยอาศัยอาวัชชนะ.
               บทว่า เตน ญาเณน ด้วยญาณนั้น คือด้วยญาณอันรู้สิ่งทั้งปวงนั้น. เพื่อสำเร็จความเป็นสัพพัญญูโดยปริยายอื่นอีก ท่านจึงกล่าวคาถาว่า น ตสฺส ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า น ตสฺส อทิฏฺฐมิธตฺถิ กิญฺจิ อะไรๆ ในโลกนี้อันพระปัญญาจักษุของพระตถาคตไม่เห็นย่อมไม่มี ความว่า อะไรๆ ในไตรโลกนี้อันพระปัญญาจักษุของพระตถาคตนั้น ไม่เห็นในกาลปัจจุบันนี้ แม้ประมาณน้อยย่อมไม่มี.
               บทว่า อตฺถิ นี้ เป็นบทอาขยาตเป็นไปในปัจจุบันแล.
               ด้วยบทนี้ ท่านจึงแสดงความที่ธรรมทั้งปวงอันเป็นไปในปัจจุบันกาล อันพระตถาคตรู้แล้ว.
               ก็ในคาถานี้ประกอบ เข้าไป เพื่อสะดวกในการแต่งคาถา.
               อโถ ศัพท์ ในบทว่า อโถ วิญฺญาตํ อนึ่ง ธรรมชาติอะไรๆ ที่ควรรู้ นี้เป็นนิบาตลงในความรับรองคำพูด.
               บทว่า อวิญฺญาตํ มีปาฐะที่เหลือว่า ธรรมชาติอะไรๆ ชื่อว่าอันพระพุทธญาณไม่รู้แจ้ง อันเป็นกาลในอดีต มิได้มี. แม้เว้นปาฐะที่เหลือในการถือเอาอัตถิศัพท์ อันเป็นอัพยยศัพท์ ก็ควรเหมือนกัน. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงถึงความที่ธรรมทั้งปวง อันเป็นอดีตกาลอันพระตถาคตรู้แล้ว.
               บทว่า อชานิตพฺพํ ไม่ควรรู้ คือธรรมชาติที่ไม่ควรรู้ อันเป็นอนาคตกาลจักไม่มีหรือย่อมไม่มี. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงถึงความที่ธรรมทั้งปวงอันเป็นอนาคตกาล อันพระตถาคตทรงรู้แล้ว.
                อักษรในบทว่า อชานิตพฺพํ นี้ เพียงเป็นวิเสสนะของกิริยารู้นั่นเอง.
               ในบทว่า สพฺพํ อภิญฺญาสิ ยทตฺถิ เนยฺยํ พระตถาคตทรงทราบแล้วซึ่งธรรมชาติที่ควรแนะนำนั้นทั้งหมด นี้พึงทราบดังนี้.
               ธรรมชาติอะไรๆ อันใดที่ควรแนะนำ ควรรู้ เป็นไปใน ๓ กาลหรือพ้นกาลไปแล้วมีอยู่ พระตถาคตทรงทราบ คือทรงรู้ทรงแทงตลอดธรรมชาตินั้นทั้งหมด ด้วยพระสัพพัญญุตญาณอันยิ่ง.
               ในบทนี้พึงเห็นว่า อัตถิศัพท์เป็นอัพยยศัพท์ในกาล โดยถือเอา ๓ กาลและพ้นกาลด้วยอัตถิศัพท์.
               บทว่า ตถาคโต เตน สมนฺตจกฺขุ ด้วยเหตุนั้นพระตถาคตจึงชื่อว่าผู้มีสมันตจักษุ คือชื่อว่าสมันตจักษุ เพราะมีญาณจักษุอันเป็นไปแล้วโดยรอบคือโดยประการทั้งปวง เพราะแสดงโดยไม่เหลือด้วยกาลด้วยโอกาส. ท่านอธิบายไว้ว่า เพราะเหตุตามที่กล่าวแล้วนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสัพพัญญูผู้มีสมันตจักษุ. พระสัพพัญญุตญาณสำเร็จลงแล้วด้วยเทศนาอันเป็นบุคลาธิษฐานด้วยคาถานี้.
               บทว่า น อิติหิติหํ คือ มิใช่โดยต้องเชื่อต่อผู้อื่นว่า ธรรมนี้เป็นดังนี้ ธรรมนี้เป็นดังนี้.
               บทว่า น อิติกิริยาย คือ มิใช่โดยได้ยินต่อๆ กันมาว่า ได้ยินว่านี้เป็นอย่างนี้.
               บทว่า น ปรมฺปราย คือ มิใช่โดยถือตามลำดับสืบๆ กันมา.
               บทว่า น ปิฏกสมฺปทาย มิใช่โดยอ้างตำรา คือมิใช่โดยอ้างว่านี้เหมาะสมกับตำราพระไตรปิฎกของเรา.
               บทว่า น ตกฺกเหตุ มิใช่โดยนึกเอา คือมิใช่โดยคาดคะเนเอา.
               บทว่า น อาการปริวิตกฺเกน มิใช่โดยตรึกตามอาการ คือมิใช่ตรึกตามเหตุอย่างนี้ว่า เหตุการณ์นี้ดี.
               บทว่า น ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา มิใช่โดยชอบว่าควรแก่ทิฏฐิของตน คือมิใช่ว่าเหมาะสมกับทิฏฐิที่เราชอบแล้วถือเอา.
               พึงทราบความในบทว่า อถวาปิ สมาธึ นี้ดังนี้
               บทว่า สมาธึ คือ ชื่อว่าสมาธิ เพราะจิตเป็นกุศลมีอารมณ์เดียว.
               ชื่อว่าสมาธิด้วยอรรถว่ากระไร. ด้วยอรรถว่าตั้งใจมั่น. ชื่อว่าการตั้งใจมั่นนี้เป็นอย่างไร. คือการตั้งจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์เดียวเสมอและโดยชอบ. ท่านอธิบายว่าการตั้งไว้. เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกทั้งหลายไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว ด้วยอานุภาพแห่งธรรมใดเสมอและโดยชอบ นี้พึงทราบว่าการตั้งใจมั่น.
               ท่านกล่าวถึงสมาธินั้นเป็นคาถาประพันธ์ว่า
                         สมาธินั้น มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีความกำจัด
               ความฟุ้งซ่านเป็นรส มีความไม่หวั่นไหวเป็นเครื่องปรากฏ
               มีความสุข ความเจริญเป็นปทัฏฐาน.

               สมาธิ ชื่อว่าตั้งมั่น เพราะตั้งอยู่ในอารมณ์โดยความไม่ขุ่นมัวไม่หวั่นไหว. สองบทต่อไปเพิ่มอุปสัค. ชื่อว่าตั้งอยู่พร้อม เพราะรวบรวมแม้อารมณ์ในสัมปยุตธรรมตั้งอยู่. ชื่อว่าตั้งลง เพราะไม่เข้าไปเกาะอารมณ์ตั้งอยู่.
               จริงอยู่ ในฝ่ายกุศลธรรมมี ๔ อย่าง คือศรัทธา สติ สมาธิและปัญญาย่อมหยั่งลงในอารมณ์. ด้วยเหตุนั้นแล ศรัทธาท่านจึงกล่าวว่าแน่วแน่. สติท่านกล่าวว่าไม่เลื่อนลอย. สมาธิท่านกล่าวว่าตั้งลงดิ่ง. ปัญญาท่านกล่าวว่าหยั่งลง.
               ส่วนในฝ่ายอกุศลธรรมมี ๓ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิและอวิชชาย่อมหยั่งลงในอารมณ์. ด้วยเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นโอฆะ.
               อนึ่ง ในฝ่ายอกุศลนี้ จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ แต่ไม่มีกำลัง. เหมือนอย่างว่า เมื่อบุคคลเอาน้ำรดในที่เปรอะด้วยธุลีแล้วถู ธุลีหายไปชั่วขณะเล็กน้อย เมื่อแห้งแล้วธุลีก็ปรากฏตามเดิมอีกฉันใด ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งในฝ่ายอกุศล จึงไม่มีกำลังฉันนั้นเหมือนกัน.
               ชื่อว่าไม่มีความฟุ้งซ่าน เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่านอันเป็นไปแล้วด้วยอำนาจความฟุ้งซ่านและความสงสัย. จิตแล่นไปด้วยอำนาจความฟุ้งซ่านและความสงสัยนั่นแล ชื่อว่าย่อมฟุ้งซ่าน. แต่สมาธินี้ไม่ฟุ้งซ่านอย่างนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าไม่ฟุ้งซ่าน. จิตแล่นไปคือแล่นไปข้างโน้นข้างนี้ด้วยอำนาจความฟุ้งซ่านและความสงสัย. แต่ความเป็นผู้มีใจอันอะไรๆ ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปได้อย่างนี้ ชื่อว่า อวิสาหฏมานสตา ความมีใจไม่ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า สมโถ ความสงบ มี ๓ อย่างคือจิตตสมถะ (ความสงบจิต) ๑ อธิกรณสมถะ (ความสงบอธิกรณ์) ๑ สัพพสังขารสมถะ (ความสงบสังขารทั้งปวง) ๑.
               ในสมถะ ๓ อย่างนั้น ชื่อว่าจิตตสมถะ เพราะจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งในสมาบัติ ๘. เพราะจิตหวั่นไหว จิตดิ้นรน สงบระงับเพราะอาศัยสมถะนั้น ฉะนั้น สมถะนั้น ท่านจึงเรียกว่าจิตตสมถะ.
               ชื่อว่าอธิกรณสมถะ (ความสงบอธิกรณ์) มี ๗ อย่าง มีสัมมุขาวินัย (ในที่พร้อมหน้าบุคคล วัตถุและธรรม) เป็นต้น. อธิกรณ์ทั้งหลายนั้นๆ สงบระงับไปเพราะอาศัยสมถะนั้น เพราะฉะนั้น สมถะนั้น ท่านจึงเรียกว่าอธิกรณสมถะ.
               แต่เพราะสังขารทั้งหลายทั้งปวงสงบระงับไป เพราะอาศัยนิพพาน ฉะนั้น นิพพานนั้น ท่านจึงเรียกว่าสัพพสังขารสมถะ.
               ในความนี้ ท่านประสงค์เอาจิตตสมถะ.
               ชื่อว่าสมาธินทริยะ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะของสมาธิ. ชื่อว่าสมาธิพละ เพราะไม่หวั่นไหวในอุทธัจจะ.
               บทว่า สมฺมาสมาธิ ได้แก่ สมาธิแน่นอน สมาธินำสัตว์ออกไป.
               ลำดับนั้น เพราะอินทรีย์สังวรเป็นการรักษาศีล หรือเพราะเทศนานี้ที่พระองค์ทรงแสดงตามลำดับนี้ เป็นที่สบายของเทวดาทั้งหลาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาเริ่มตั้งแต่อินทรีย์สังวรไป จึงทรงปรารภคำมีอาทิว่า จกฺขูหิ ดังนี้เป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า จกฺขูหิ เนว โลลสฺส ภิกษุไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุทั้งหลาย คือไม่พึงเป็นผู้โลเลด้วยจักษุทั้งหลาย ด้วยอำนาจมีรูปที่เราไม่เคยดู ควรดูเป็นต้น.
               บทว่า คามกถาย อาวรเย โสตํ พึงป้องกันหูจากคามกถา (คำพูดของชาวบ้าน) คือพึงป้องกันหูจากติรัจฉานกถา.
               บทว่า จกฺขุโลลิเยน ความเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ คือความเป็นผู้โลเลด้วยจักษุ ด้วยอำนาจความโลภอันเกิดขึ้นแล้วในจักษุทวาร.
               บทว่า อทิฏฺฐํ ทกฺขิตพฺพํ รูปที่เราไม่เคยดู ควรดู คือรูปารมณ์ที่เราไม่เคยดูควรเพื่อจะดู.
               บทว่า ทิฏฺฐํ สมติกฺกมิตพฺพํ รูปที่เคยเห็นแล้วควรผ่านไป คือรูปารมณ์ที่เคยเห็นแล้วควรผ่านไป.
               บทว่า อาราเมน อารามํ สู่สวนแต่สวน คือสู่สวนผลไม้ สวนดอกไม้เป็นต้น แต่สวนมีสวนดอกไม้เป็นต้น.
               บทว่า ทีฆจาริกํ คือ เที่ยวไปนาน.
               บทว่า อนวฏฺฐิตจาริกํ เที่ยวไปไม่แน่นอน คือเที่ยวไปโดยไม่ตกลงใจ.
               บทว่า อนุยุตฺโต โหติ รูปทสฺสนาย เป็นผู้ขวนขวายเพื่อจะดูรูป คือเป็นผู้ขวนขวายบ่อยๆ เพื่อจะดูรูปารมณ์.
               บทว่า อนฺตรฆรํ ปวิฏฺโฐ เข้าไปสู่ละแวกบ้าน คือเข้าไปถึงภายในธรณีประตู.
               บทว่า วีถึ ปฏิปนฺโน เดินไปตามถนน คือก้าวไประหว่างถนน.
               บทว่า ฆรมุขานิ โอโลเกนฺโต แลดูหน้ามุขเรือน คือมองดูประตูเรือน.
               บทว่า อุทฺธํ โอโลเกนฺโต แลดูข้างบน คือแหงนหน้ามองดูเบื้องบน.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา เห็นรูปด้วยจักษุ คือเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถเห็นรูป ที่เรียกว่าจักษุด้วยอำนาจของเหตุ.
               แต่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า จักษุไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจิต จิตไม่เห็นรูป เพราะไม่มีจักษุ ย่อมเห็นด้วยจิตอันมีปสาทจักษุกระทบอารมณ์ทางทวาร. ก็กถาเช่นนี้ชื่อว่าสสัมภารกถา (กล่าวรวมกัน) ดุจในประโยคมีอาทิว่า ยิงด้วยธนู เพราะฉะนั้น ความในข้อนี้จึงมีว่า เห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ.
               บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี เป็นผู้ถือนิมิต คือถือนิมิตหญิงและชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีสุภนิมิตเป็นต้นด้วยอำนาจฉันทราคะ. เพียงเห็นเท่านั้นนิมิตไม่ปรากฏ.
               บทว่า อนุพฺยญฺชนคฺคาหี ถืออนุพยัญชนะ คือถืออาการอันต่างด้วยมือ เท้า หัวเราะ ขบขัน พูด ชำเลืองดูและการเหลียวดูเป็นต้น เรียกว่าอนุพยัญชนะ เพราะทำให้ปรากฏโดยเป็นเหตุให้กิเลสทั้งหลายปรากฏ.
               พึงทราบความในบทว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ เป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               ธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้ พึงครอบงำติดตามบุคคลนั้นผู้ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ด้วยประตูคือสติ ผู้ไม่ปิดจักษุทวารอันเป็นเหตุแห่งการไม่สำรวมจักขุนทรีย์.
               บทว่า ตสฺส สํวราย น ปฏิปชฺชติ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ คือย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อปิดจักขุนทรีย์นั้นด้วยประตูคือสติ. ท่านกล่าวว่า ภิกษุเป็นอย่างนี้ ชื่อว่าย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์บ้าง.
               ในบทนั้น การสำรวมหรือไม่สำรวม ย่อมไม่มีในจักขุนทรีย์โดยแท้. เพราะสติหรือการหลงลืมย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุประสาท.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อใดรูปารมณ์มาสู่คลองจักษุ เมื่อนั้นเมื่อภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปสองครั้ง กิริยามโนธาตุยังอาวัชชนกิจให้สำเร็จ เกิดขึ้นแล้วดับไป. แต่นั้นจักษุวิญญาณก็ทำหน้าที่เห็น. แต่นั้นวิปากมโนธาตุทำหน้าที่รับ. แต่นั้นวิปากอเหตุกมโนวิญญาณธาตุทำหน้าที่พิจารณา. แต่นั้นกิริยาอเหตุกมโนวิญญาณธาตุยังโวฏฐัพพกิจให้สำเร็จ เกิดขึ้นแล้วดับไป. ในลำดับนั้น ชวนะจิตย่อมแล่นไป.
               ความไม่สำรวมหรือความสำรวมย่อมไม่มีในสมัยแห่งภวังคจิตแม้นั้น ย่อมไม่มีในสมัยใดสมัยหนึ่ง บรรดาอาวัชชนจิตเป็นต้น. ก็ในขณะชวนะจิต หากว่า ความเป็นผู้ทุศีล ความหลงลืม ความไม่รู้ ความไม่อดทนหรือความเกียจคร้านเกิดขึ้น ความไม่สำรวมย่อมมี. ภิกษุเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้ไม่สำรวมในจักขุนทรีย์.
               เพราะเหตุไร. เพราะเมื่อไม่มีการสำรวมในจักขุนทรีย์มีอยู่ แม้ทวารก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง.
               เหมือนอะไร. เหมือนเมื่อประตู ๔ ด้านในนครไม่ปิด แม้จะปิดประตูเรือนซุ้มและห้องเป็นต้นข้างในก็ตาม ถึงดังนั้นก็ไม่เป็นอันรักษาคุ้มครองทรัพย์ทั้งหมดภายในนครนั่นเอง โจรทั้งหลายเข้าไปทางประตูนคร พึงทำตามความต้องการฉันใด เมื่อความเป็นผู้ทุศีลเป็นต้น เกิดขึ้นในชวนะจิต เมื่อไม่มีการสำรวมนั้น แม้ทวารก็ไม่เป็นอันคุ้มครอง แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็ไม่เป็นอันคุ้มครองฉันนั้นนั่นแล.
               บทว่า สทฺธาเทยฺยานิ โภชนะอันเขาถวายด้วยศรัทธา คือโภชนะอันเขาเชื่อกรรม ผลของกรรม โลกนี้โลกหน้าแล้วถวาย. อธิบายว่า ไม่ได้ถวายด้วยอาการอย่างนี้ว่า ภิกษุนี้เป็นญาติ เป็นมิตรของเรา จักทำสิ่งนี้หรือเขาเคยทำสิ่งนี้ ดังนี้. การถวายอย่างนี้ไม่ชื่อว่าถวายด้วยศรัทธา.
               อนึ่ง บทว่า โภชนานิ นี้เป็นเพียงหัวข้อเทศนา. แต่โดยอรรถ ท่านกล่าวคำทั้งหมดนี้ว่า ภิกษุบริโภคโภชนะที่เขาถวายด้วยศรัทธา ห่มจีวร เสพเสนาสนะ บริโภคบริขารคือยาอันเป็นปัจจัยแห่งคนไข้.
               บทว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต มีความว่า นั้นเป็นไฉน.
               การฟ้อนอย่างใดอย่างหนึ่งชื่อว่านัจจะ. ภิกษุแม้เดินไปบ้านก็ไม่ควรแหงนดู.
               บทว่า คีตํ การขับ ได้แก่การขับอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า วาทิตํ ได้แก่ การประโคมอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า เปกฺขํ ได้แก่ มหรสพมีการรำเป็นต้น.
               บทว่า อกฺขานํ การเล่านิยาย คือเล่าเรื่องภารตะและรามายณะเป็นต้น (เรื่องรามเกียรติ์) ภิกษุไม่ควรไปในที่ที่เขาเล่านิยายกัน.
               บทว่า ปาณิสฺสรํ คือ เพลงปรบมือ.
               บทว่า เวตาฬํ คือ ฆ้อง. อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า การร่ายมนต์บนร่างของผู้ตาย.
               บทว่า กุมฺภถูนํ ระนาด คือการตีบนราง ๔ เหลี่ยม.
               บทว่า โสภนครกํ คือ หนัง.
               ท่านอธิบายว่า นครงาม คือมีผู้ทำให้วิจิตรด้วยความเฉียบแหลม.
               บทว่า จณฺฑาลํ เล่นตีคลี. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า กีฬาซักเปลือกไม้ของคนจัณฑาล.
               บทว่า วํสํ เล่นไต่ราว คือยกไม้ไผ่ขึ้นเล่น.
               บทว่า โธวนํ คือ การเล่นหน้าศพ.
               ได้ยินว่า ในชนบทบางแห่งเมื่อญาติตายเขาไม่เผา ขุดหลุมฝัง. ญาติรู้เวลาที่ผู้ตายนั้นจะเน่า จึงนำออกแล้วล้างกระดูกเอาของหอมทาเก็บไว้. ครั้นถึงวันนักขัตฤกษ์ พวกญาติตั้งกระดูกไว้ในที่หนึ่ง ตั้งสุราเป็นต้นไว้ในที่หนึ่ง แล้วพากันร้องไห้ คร่ำครวญไป ดื่มสุราไป.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในทักขิณาชนบทมีตำบลหนึ่งชื่อโธวนะ ที่ตำบลนั้นมีข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค ของลิ้มมากมาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตำบลโธวนะนั้นยังมีอยู่ เราไม่กล่าวว่าไม่มี ดังนี้.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าว การล้างกระดูกด้วยการเล่นกล ชื่อโธวนะ.
               ในการยุทธหัตถีเป็นต้น ภิกษุไม่ควรรบด้วยช้างเป็นต้น ไม่ควรให้เขารบกัน ไม่ควรดูเขารบกัน.
               บทว่า นิพฺพุทฺธํ คือ มวยปล้ำ.
               บทว่า เสนาพฺยูหํ การจัดกระบวนทัพ คือค่ายทหารที่พักนักรบ มีกองทัพเกวียนเป็นต้น.
               บทว่า อนีกทสฺสนํ กองทัพ คือดูกองทัพที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า กองทัพช้างมีช้าง ๓ เชือกเป็นที่สุด.
               บทว่า น นิมิตฺตคฺคาหี โหติ ภิกษุไม่ถือนิมิต คือไม่ถือนิมิตดังที่กล่าวแล้วด้วยอำนาจฉันทราคะ.
               แม้บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังว่า เมื่อความเป็นผู้ทุศีลเกิดขึ้นแล้วในชวนะจิต เมื่อไม่มีความสำรวม แม้ทวารก็เป็นอันคุ้มครองไม่ได้ แม้ภวังคจิต แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นก็คุ้มครองไม่ได้ฉันใด ในที่นี้ก็ฉันนั้น เมื่อศีลเกิดขึ้นแล้วในภิกษุนั้น แม้ทวารก็เป็นอันคุ้มครองได้ แม้ภวังคจิตก็เป็นอันคุ้มครองได้ แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นก็คุ้มครองได้.
               เหมือนอะไร. เหมือนเมื่อปิดประตูนครแล้ว แม้ภายในเรือนเป็นต้น ไม่ได้ปิดก็จริง ถึงดังนั้นทรัพย์สินทั้งหมดในภายในนครก็เป็นอันรักษาดีแล้ว คุ้มครองดีแล้วนั่นเอง เมื่อประตูนครปิดแล้ว โจรทั้งหลายก็เข้าไปไม่ได้ฉันใด เมื่อศีลเป็นต้นเกิดแล้วในชวนะจิต แม้ทวารก็เป็นอันคุ้มครองได้ แม้ภวังคจิตก็คุ้มครองได้ แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้นก็คุ้มครองได้.
               เพราะฉะนั้น ความสำรวมแม้เกิดขึ้นในขณะแห่งชวนะจิต ท่านก็กล่าวว่า เป็นความสำรวมในจักขุนทรีย์. ต่อจากนี้ทั้งข้างหลังข้างหน้าพึงทราบความโดยปริยายที่ท่านกล่าวแล้ว.
               บทว่า วิสูกทสฺสนา คือ การดูสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่กุศล.
               บทว่า คามกถา คือ คำพูดของชาวบ้าน.
               บทว่า พตฺตึส คือ ๓๒.
               คำพูดอันเป็นเครื่องปิดกั้นทางไปสวรรค์และทางแห่งความหลุดพ้น ชื่อว่าติรัจฉานกถา เพราะเป็นคำพูดที่ไม่นำสัตว์ออกไป.
               ในคามกถาเหล่านั้น คำพูดที่ปรารภพระราชาเป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า พระมหาสมมตราช พระเจ้ามันธาตุราช พระเจ้าธรรมาโศกราชมีอานุภาพอย่างนี้ๆ ชื่อว่าราชกถา พูดเรื่องพระราชา.
               ในโจรกถา (พูดเรื่องโจร) เป็นต้นก็มีนัยนี้.
               ในคามกถาเหล่านี้ คำพูดอาศัยเคหะโดยนัยมีอาทิว่า พระราชาพระองค์โน้นมีพระโฉมงามน่าชม ดังนี้ เป็นติรัจฉานกถา.
               อนึ่ง คำพูดที่เป็นไปอย่างนี้ว่า แม้พระราชาพระองค์นั้นมีอานุภาพมากถึงอย่างนี้ก็ยังสวรรคต ชื่อว่าตั้งอยู่ในความเป็นกรรมฐาน. แม้ในพวกโจรคำพูดอาศัยเคหะว่า อัศจรรย์ โจรผู้กล้าหาญทั้งหลายอาศัยการกระทำของพวกโจร ว่ามูลเทพ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมฆมาลมีอานุภาพมากอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าติรัจฉานกถา. แม้ในการรบคำพูดด้วยความชอบใจในเรื่องภารตยุทธ์เป็นต้นว่า ทหารชื่อโน้นถูกทหารชื่อโน้นฆ่าอย่างนี้ ถูกแทงอย่างนี้ ก็ชื่อว่าติรัจฉานกถา. ส่วนคำพูดที่เป็นไปอย่างนี้ว่า แม้คนนั้นก็ยังตาย ดังนี้ ย่อมเป็นกรรมฐานในที่ทั้งหมด.
               อีกอย่างหนึ่งในอาหารมีข้าวเป็นต้น ไม่ควรพูดด้วยความชอบใจในกามว่า เราเคี้ยว กิน ดื่มบริโภค อาหารมีสี มีกลิ่น มีรส ถึงพร้อมด้วยผัสสะ อย่างนี้ ดังนี้.
               อนึ่ง ควรทำให้ประกอบด้วยประโยชน์แล้วพูดว่า เมื่อก่อน เราได้ถวายข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ดอกไม้กลิ่นหอมอันสมบูรณ์ด้วยสีเป็นต้นอย่างนี้ แก่ท่านผู้มีศีลทั้งหลาย เราได้กระทำการบูชาพระเจดีย์ ดังนี้. แม้ในญาติกถา (พูดเรื่องญาติ) เป็นต้นก็ไม่ควรพูดด้วยความชอบใจว่า ญาติของเราเป็นผู้สามารถ หรือเมื่อก่อนเราได้เที่ยวไปด้วยยานอันวิจิตรอย่างนี้ ดังนี้.
               อนึ่ง ควรพูดว่าญาติทั้งหลายได้ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ไว้ แม้ญาติทั้งหลายของเราก็ตายเสียแล้ว หรือเมื่อก่อนเราได้ถวายรองเท้าอย่างนี้แก่สงฆ์.
               แม้ในคามกถา (คำพูดของชาวบ้าน) เป็นต้นก็ไม่ควรพูดด้วยความชอบใจอย่างนี้ว่า พวกที่อยู่บ้านโน้นเป็นคนกล้า มีความสามารถด้วยการมีหลักฐานดี ยากจน หากินง่าย หากินลำบาก ดังนี้. ควรพูดว่า คนนั้นทำสิ่งมีประโยชน์มีศรัทธา เลื่อมใส หรือคนนั้นได้ตายเสียแล้ว.
               แม้ในนิคมกถา (พูดเรื่องนิคม) นครกถา (พูดเรื่องนคร) ชนบทกถา (พูดเรื่องชนบท) ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แม้อิตถีกถา (พูดเรื่องสตรี) ก็ไม่ควรพูดด้วยความชอบใจเกี่ยวกับผิวและรูปร่างเป็นต้น. ควรพูดอย่างนี้อย่างเดียวว่า หญิงผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้ตายเสียแล้ว.
               แม้สูรกถา (พูดเรื่องคนกล้า) ก็ไม่ควรพูดด้วยความชอบใจว่า นักรบชื่อว่านันทิมิตรเป็นคนกล้า. ควรพูดอย่างนี้อย่างเดียวว่า นักรบผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้ตายเสียแล้ว ดังนี้.
               แม้วิสิขากถา (พูดเรื่องตรอก) ก็ไม่ควรพูดด้วยความพอใจว่า ตรอกโน้นเรียบไม่เรียบ. แม้สุรกถา (พูดเรื่องคนกล้า) ก็ไม่ควรพูดด้วยความพอใจว่า คนโน้นเป็นผู้กล้าเป็นผู้สามารถ ดังนี้. ควรพูดได้อย่างเดียวว่า คนกล้าที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้ตายไปเสียแล้ว ดังนี้.
               บทว่า กุมฺภฏฺฐานกถา (พูดเรื่องท่าน้ำ) ท่านกล่าวว่า อุทกติฏฺฐกถา บ้าง ได้แก่ กุมฺภทาสีกถา (พูดเรื่องนางกุมภทาสี). ไม่ควรพูดด้วยความพอใจว่า แม้นางกุมภาสีนั้นน่าเลื่อมใสเป็นหญิงฉลาดเพื่อฟ้อนรำ เพื่อขับร้อง. ควรพูดโดยนัยมีอาทิว่า นางกุมภทาสีนั้นเป็นหญิงมีศรัทธาเลื่อมใส.
               บทว่า ปุพฺพเปตกถา (พูดเรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว) คือพูดถึงญาติที่ตายไปแล้ว.
               ในบทนั้นพึงทราบวินิจฉัยเช่นเดียวกับพูดถึงญาติที่กำลังเป็นอยู่.
               บทว่า นานตฺตกถา (พูดเรื่องเบ็ดเตล็ด) คือพูดไร้ประโยชน์พ้นจากกถาก่อนและกถาหลังที่เหลือมีสภาพต่างๆ กัน.
               บทว่า โลกกฺขายิกา (พูดเรื่องโลก) คือพูดให้ชาวโลกหลงเชื่อมีอาทิอย่างนี้ว่า โลกนี้ใครสร้าง คนโน้นสร้าง กามีสีขาวเพราะกระดูกขาว นกยางโทนมีสีแดง เพราะเลือดแดง. สมุทฺทกฺขายิกา (พูดเรื่องทะเล) เพราะเหตุไรจึงชื่อว่า สมุทฺทกฺขายิกา. การพูดเรื่องสมุทรมีอาทิอย่างนี้ว่า ชื่อว่าสาคร เพราะเทพเจ้าประจำสาครขุด ชื่อสมุทร เพราะประกาศให้รู้ด้วยการชี้นิ้วว่า สาครเราขุด.
               บทว่า ภโว คือ ความเจริญ.
               บทว่า อภโว คือ ความเสื่อม. การพูดถึงเหตุอันไร้ประโยชน์ธรรมดาๆ ว่า ความเจริญเป็นอย่างนี้ ความเสื่อมเป็นอย่างนี้ ดังนี้ ชื่อว่าอิติภวาภวกถา (พูดเรื่องความเจริญและความเสื่อม).
               บทว่า อาวเรยฺย พึงป้องกัน คือพึงทำการป้องกัน.
               บทว่า นิวาเรยฺย พึงห้าม คือพึงกั้นจากอารมณ์.
               บทว่า สนฺนิวาเรยฺย พึงสกัดกั้น คือพึงกั้นทำให้ไม่มีเหลือโดยชอบ.
               บทว่า รกฺเขยฺย พึงรักษา คือพึงทำการรักษา.
               บทว่า โคเปยฺย พึงคุ้มครอง คือพึงคุ้มครองเสมอ.
               บทว่า ปิทเหยฺย พึงปิด คือพึงทำการปิด.
               บทว่า ปจฺฉินฺเทยฺย พึงตัดขาด คือพึงตัดกระแสคือตัณหา.
               บทว่า เตน เตน น ตุสฺสติ ไม่พอใจด้วยรสนั้นๆ คือไม่พอใจด้วยรสมีรสเปรี้ยวเป็นต้นนั้นๆ.
               บทว่า อปราปรํ ปริเยสนฺติ ย่อมเที่ยวแสวงหารสอื่นๆ คือย่อมแสวงหารสสูงๆ ขึ้นไป.
               บทว่า ผสฺเสน ได้แก่ ผัสสะคือโรค.
               บทว่า ภวญฺจ นาภิชปฺเปยฺย ไม่พึงปรารถนาภพ คือไม่พึงปรารถนาภพมีกามภพเป็นต้น เพื่อบรรเทาผัสสะนั้น.
               บทว่า เภรเวสุ จ น สมฺปเวเธยฺย ไม่พึงหวั่นในเพราะความขลาดกลัว คือไม่พึงหวั่นไหวในเพราะความขลาดกลัวมีราชสีห์และเสือโคร่งเป็นต้น อันเป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้น. หรือไม่พึงหวั่นไหวในอารมณ์ อันเป็นวิสัยแห่งฆานินทรีย์และมนินทรีย์ที่เหลือ. ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันท่านกล่าวถึงความสำรวมอินทรีย์บริบูรณ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความสำรวมอินทรีย์ด้วยบทก่อนแล้ว ด้วยบทนี้จึงทรงแสดงว่า อันภิกษุผู้อยู่ในป่า ได้เห็นหรือได้ยินสิ่งที่น่ากลัว ไม่พึงหวั่นไหวดังนี้.
               บทว่า เอเกนากาเรน คือ ด้วยเหตุอย่างเดียวกัน.
               บทว่า ภยมฺปิ เภรวมฺปิ ตญฺเญว ภัยก็ดี ความขลาดกลัวก็ดีนั้นแล คือภัยก็ดี ความขลาดกลัวก็ดี ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ก็เป็นนิมิตแห่งความหวาดสะดุ้งเหมือนกัน. เพื่อแสดงความนั้น ท่านจึงกล่าวคำมีอาทิว่า วุตฺตญฺเหตํ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้.
               บทว่า ภยํ คือ ภัยเกิดขึ้นเพราะความขลาดกลัวเป็นเหตุ.
               บทว่า ภยานกํ แสดงถึงอาการ คือกิริยาที่กลัว.
               บทว่า ฉมฺภิตตฺตํ ความหวาดหวั่น คือมีกายหวั่นไหวด้วยอำนาจความกลัว.
               บทว่า โลมหํโส ความเป็นผู้มีขนลุก คือขนลุกชัน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นแสดงภัยโดยกิจด้วยบททั้งสองนี้แล้ว ทรงแสดงโดยสภาวะอีกว่า ความหวาดเสียว ความสะดุ้งแห่งจิต.
               บทว่า อุพฺเพโค ความหวาดเสียว คือความขลาด.
               บทว่า อุตฺราโส ความสะดุ้ง คือความกำเริบแห่งจิต.
               บทว่า ชาติภยํ ภัยแต่ชาติ คือภัยเกิดขึ้นเพราะอาศัยชาติ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ภัยเกิดแต่พระราชา ชื่อราชภัย. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อตฺตานุวาทภยํ ภัยแต่การติเตียนตน คือภัยเกิดแต่การติเตียนตนผู้ทำกรรมชั่ว.
               บทว่า ปรานุวาทภยํ คือ ภัยเกิดแต่การติเตียนของผู้อื่น.
               บทว่า ทณฺฑภยํ ภัยแต่อาชญา คือภัยเกิดขึ้นเพราะอาศัยพระราชอาชญาหรือโทษทางวินัยของนักบวช.
               บทว่า ทุคฺคติภยํ ภัยแต่ทุคติ คือภัยเกิดขึ้นเพราะอาศัยอบาย ๔.
               บทว่า อูมิภยํ ภัยแต่คลื่น คือภัยเกิดแก่ผู้ลงน้ำในมหาสมุทร.
               นัยว่า ในมหาสมุทรมีคลื่นชื่อมหินทะผุดพลุ่งขึ้นประมาณ ๕๐ โยชน์ คลื่นชื่อว่าโรหิณี ผุดพลุ่งขึ้นประมาณ ๔๐ โยชน์ ภัยเกิดเพราะอาศัยคลื่น ชื่อว่าอูมิภัย. ภัยเกิดจากจระเข้ ชื่อว่ากุมภีลภัย ภัยแต่จระเข้. ภัยแต่วังวน ชื่อว่าอาวัฏฏภัย. ปลาดุเรียกว่า สํสุกา ภัยแต่ปลาดุนั้น ชื่อว่าสุงสุกาภัย.
               บทว่า อาชีวกภยํ ภัยแต่การเลี้ยงชีพ ชื่อว่าอาชีวกภัย.
               บทว่า อสิโลกภยํ คือ ภัยแต่ความติเตียน.
               บทว่า ลทฺธา น สนฺธึ กยิรา ได้แล้วไม่ควรทำการสะสม คือได้อย่างใดอย่างหนึ่งบรรดาข้าวเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว ไม่ควรคิดว่า อันภิกษุผู้อยู่ในป่าหาได้ยากแล้วทำการสะสม.
               บทว่า โอทโน ได้แก่ ข้าวสุกเกิดจากข้าวสารของข้าวเปลือก และอนุโลมด้วยข้าวเปลือก ๗ อย่าง คือข้าวสาลี ๑ ข้าวเปลือก ๑ ข้าวเหนียว ๑ ข้าวละมาน ๑ ข้าวฟ่าง ๑ ลูกเดือย ๑ หญ้ากับแก้ ๑.
               บทว่า กุมฺมาโส ขนมกุมมาส คือเกิดจากข้าวเหนียว.
               บทว่า สตฺตุ ข้าวสัตต คือข้าวสัตตูทำด้วยข้าวสาลีเป็นต้น.
               สัตว์เกิดในน้ำ ชื่อว่าปลา. เนื้อความชัดอยู่แล้ว.
               บทว่า อมฺพปานํ น้ำผลมะม่วง ได้แก่น้ำที่ทำด้วยผลมะม่วงดิบหรือสุก. เมื่อจะทำด้วยผลดิบ ควรผ่าผลมะม่วงอ่อนแล้วแช่น้ำผึ่งแดด กรองผสมกับน้ำผึ้ง น้ำตาลกรวดและการบูรเป็นต้นทำปานะ.
               บทว่า ชมฺพุปานํ คือ น้ำทำด้วยผลหว้า.
               บทว่า โจจปานํ คือ น้ำทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด.
               บทว่า โมจปานํ คือ น้ำทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด.
               บทว่า มธุกปานํ น้ำผลมะซาง คือน้ำทำด้วยรสชาติแห่งผลมะซาง. อนึ่ง น้ำผลมะซางนั้นควรผสมน้ำ ล้วนๆ ไม่ควร.
               บทว่า มุทฺทิกปานํ น้ำผลจันทน์ คือน้ำที่ขยำผลจันทน์ลงในน้ำ แล้วทำเหมือนน้ำผลมะม่วง.
               บทว่า สาลุกปานํ น้ำรากบัว คือน้ำที่ทำขยำรากบัวของบัวแดงและบัวเขียวเป็นต้น.
               บทว่า ผารุสกปานํ น้ำผลลิ้นจี่ คือน้ำที่ทำด้วยผลลิ้นจี่ดุจน้ำผลมะม่วง.
               บทว่า โกสมฺพปานํ คือ น้ำทำด้วยผลสะคร้อ.
               บทว่า โกลปานํ คือ น้ำทำด้วยผลกระเบา.
               บทว่า พทรปานํ น้ำผลพุทรา คือน้ำทำด้วยผลพุทราลูกใหญ่ เหมือนน้ำผลมะม่วง.
               ปานะ ๑๑ อย่างเหล่านี้ เย็นบ้าง สุกด้วยแสงอาทิตย์บ้างก็ควร.
               บทว่า ฆฏปานํ ปานะที่ทำด้วยเปรียง ได้แก่ น้ำเนยใส.
               บทว่า เตลปานํ น้ำมัน ได้แก่ น้ำมันงาเป็นต้น.
               บทว่า ปโยปานํ ได้แก่ น้ำนม.
               บทว่า ยาคุปานํ น้ำข้าวยาคู คือน้ำข้าวยาคูมีรสเปรี้ยวเป็นต้น.
               บทว่า รสปานํ คือ ปานะที่ทำด้วยรสมีรสผักเป็นต้น.
               บทว่า ปิฏฺฐขชฺชกํ ของควรเคี้ยวทำด้วยแป้ง คือของควรเคี้ยวทำด้วยแป้งมีอาทิอย่างนี้ คือแป้งขนุน แป้งขนุนสำมะลอ แป้งมะกอก แป้งเมล็ดผักกาดและแป้งเถาน้ำนม. ปูวขัชชกะ แม้ของควรเคี้ยวที่ทำเป็นขนม ก็ทำด้วยแป้งเหล่านี้เหมือนกัน.
               บทว่า มูลขชฺชกํ ของควรเคี้ยวทำด้วยเหง้าไม้ มีอาทิอย่างนี้คือเหง้าเผือก เหง้าไม้ช้างน้าว เหง้ามัน.
               บทว่า ตจขชฺชกํ ของควรเคี้ยวทำด้วยเปลือกไม้ มีเปลือกอ้อยเป็นต้น.
               บทว่า ปตฺตขชฺชกํ ของควรเคี้ยวทำด้วยใบไม้มีใบสะเดา ใบมวกเหล็ก ใบกระดอมและใบอัญชันเขียวเป็นต้น.
               บทว่า ปุปฺผขชฺชกํ ของเคี้ยวทำด้วยดอกไม้มีดอกเผือก ดอกไม้ช้างน้าว กุ่มขาว มะรุม อุบลและปทุมเป็นต้น.
               บทว่า ผลขชฺชกํ ของเคี้ยวทำด้วยผลไม้มีขนุน ขนุนสำมะลอ มะพร้าว มะกอก มะขาม มะงั่ว มะขวิด น้ำเต้า ฟักผลขาว มะพลับ แตงกวา มะเขือ กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ดเป็นต้น.
               บทว่า น กุหนาย มิใช่ได้ด้วยความโกหก คือมิใช่ได้ด้วยความพิศวง.
               บทว่า น ลปนาย ไม่ใช่ได้ด้วยความพูดเลียบเคียงเพื่อปัจจัย คือมิใช่เห็นพวกมนุษย์มาวิหารแล้วพูดเลียบเคียงอย่างนี้ว่า พวกท่านมาเพื่ออะไร มาเพื่อนิมนต์ภิกษุหรือ ผิว่าอย่างนั้นพวกท่านกลับไปก่อน อาตมาจะตามไปทีหลัง.
               อีกอย่างหนึ่ง มิใช่จะแนะนำตน แล้วพูดเลียบเคียงอย่างนี้ว่า อาตมาชื่อติสสะ พระราชาทรงเลื่อมใสในอาตมา มหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้นๆ ก็เลื่อมใสในอาตมา ดังนี้.
               บทว่า น เนมิตฺติกตาย คือมิใช่ได้ด้วยทำนิมิตทางกายและวาจาอย่างใดอย่างหนึ่งแก่คนอื่น ให้เกิดความรู้สึกจะถวายปัจจัย.
               บทว่า น นิปฺเปสิกตาย มิใช่ได้ด้วยกำจัดคุณเขา คือแสดงกิริยามีการด่าผู้อื่นเป็นต้น ชื่อว่ากำจัดครอบงำคุณของผู้อื่นอย่างไม่มีดี ดุจไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆ. อีกอย่างหนึ่ง เพราะการบดขยี้คุณของผู้อื่นให้แหลกลาญแล้วแสวงหาลาภ ดุจบดคันธชาตแล้วหากลิ่นหอมฉะนั้น ดังนั้นท่านจึงเรียกว่า นิปฺเปสิกตา กำจัดคุณเขา. มิใช่ได้ด้วยกำจัดคุณเขาเห็นปานฉะนี้.
               บทว่า นิชิคึสนตา ในบทว่า น ลาเภน ลาภํ นิชิคึสนตาย มิใช่ได้ด้วยแสวงหาลาภด้วยลาภนี้ คือการแสวงหา. การแสวงหาลาภด้วยด้วยการนำลาภที่ได้แล้วจากที่อื่นไปแลกเปลี่ยนในที่อื่น. มิใช่ได้ด้วยการแสวงหาลาภด้วยลาภเห็นปานฉะนี้.
               บทว่า น ทารุทาเนน มิใช่ได้ด้วยการให้ไม้จริง คือมิใช่ได้ด้วยการให้ไม้จริงอันเป็นเหตุเป็นปัจจัย.
               จริงอยู่ ไม่ควรให้ไม้จริงที่ขึ้นในวิหาร หรือที่นำมาจากที่อื่นแล้วรักษาคุ้มครองไว้แก่อุปัฏฐากทั้งหลายด้วยคิดว่า อุปัฏฐากเหล่านี้จักให้ปัจจัยแก่เราด้วยอาการอย่างนี้. เพราะเมื่อภิกษุสำเร็จชีวิตอยู่อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นอยู่โดยมิจฉาชีพ การแสวงหาที่ไม่สมควร. ภิกษุนั้นย่อมได้รับความติเตียนในปัจจุบันและจะต้องจมอยู่ในอบายในภพหน้า.
               ภิกษุให้ไม้จริงอันเป็นส่วนของตนเพื่อสงเคราะห์ตระกูล ย่อมต้องอาบัติทุกกฏ ชื่อว่ากุลทูสกะ. ให้ของคนอื่นด้วยไถยจิตถูกปรับเป็นภัณฑไทย. แม้ในของสงฆ์ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. แต่ถ้าให้ของนั้นเพราะตนเป็นผู้มีอำนาจ ย่อมต้องอาบัติข้อสละครุภัณฑ์. ก็ไม้จริงอย่างไหนเป็นครุภัณฑ์ อย่างไหนไม่เป็นครุภัณฑ์. ไม้ที่ไม่ได้ปลูกไว้ก่อน เกิดเองในที่ที่สงฆ์กำหนดเขตไว้นั้นแลเป็นครุภัณฑ์. นอกจากนั้นไม่เป็นครุภัณฑ์. ไม้ในที่ที่ปลูกไว้ก็เป็นครุภัณฑ์ทั้งหมด. ไม้มีประมาณเท่าเล่มเข็มโดยประมาณก็เป็นครุภัณฑ์.
               แม้ในบททั้งหลายมีอาทิว่า น เวฬุทาเนน มิใช่ได้ด้วยให้ไม้ไผ่ พึงทราบบททั้งปวงมีอาทิว่า ไม่ใช่ได้ด้วยการให้ไม้ไผ่อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยโดยนัยที่กล่าวแล้ว ในบทนี้ว่า น ทารุทาเนน ดังนี้.
               อนึ่ง ไม้ไผ่มีประมาณเท่าหลอดน้ำมันโดยประมาณเป็นครุภัณฑ์ ต่ำกว่านั้นไม่เป็น. มนุษย์ทั้งหลายไปวิหารขอไม้ไผ่. ภิกษุให้ไม่ได้เพราะเป็นของสงฆ์. มนุษย์ทั้งหลายอ้อนวอนหรือแค่นไค้บ่อยๆ ภิกษุทั้งหลายควรพูดว่า พวกท่านทำทัณฑกรรมแล้วถือเอาเถิด. ไม่มีการให้ไม้ไผ่.
               หากมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นถวายมีดและขวานเป็นต้น หรือของเคี้ยวของฉันก็ไม่ควรรับ. แต่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาวินัยว่า มนุษย์ถูกไฟเผาเรือน ถือเอาไปไม่ควรห้าม.
               หากจอมปลวกเกิดที่กอไผ่ของสงฆ์ เมื่อไม่ทำลายจอมปลวกนั้น ไม้ไผ่จะเสียหาย ควรทำอย่างไร.
               ควรบอกพวกมนุษย์ในเวลาออกบิณฑบาต. หากพวกมนุษย์ไม่ปรารถนาจะทำลาย ควรกล่าวว่า พวกท่านจักทำให้พื้นเสมอกันได้ไหม. พวกมนุษย์ก็ไม่ปรารถนาอยู่นั่นเอง ควรบอกว่าพวกท่านจักได้สองส่วน. แม้อย่างนี้พวกมนุษย์ก็ยังไม่ปรารถนาอยู่อีก ควรกล่าวว่า ไม่มีประโยชน์ที่ทำให้เสียหาย เมื่อพวกท่านมีเวลาพวกท่านจักทำทัณฑกรรม ทำลายแล้วเอาไปเถิด. ไม่มีการให้ไม้ไผ่.
               แม้เมื่อกอไผ่ถูกไฟไหม้ แม้ไม้ไผ่ที่ลอยน้ำมาก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยนี้ในการให้ใบไม้ เพราะเป็นครุภัณฑ์ต่อไป.
               ก็ในที่ใดเขาขายใบไม้กัน ผู้ต้องการกลิ่นเอาไปเพื่ออบกลิ่นเป็นต้นในที่ที่หายากเช่นนั้น ใบไม้ก็เป็นครุภัณฑ์.
               พึงทราบวินิจฉัยในใบทองกวาวและใบตาลใช้เป็นเครื่องประดับหูเป็นต้นก่อน.
               แม้ใบตาลก็ควรกล่าวไว้ในที่นี้เหมือนกัน. เพราะใบตาลในป่าตาลที่เกิดขึ้นเอง ก็เป็นครุภัณฑ์ในที่ที่สงฆ์กำหนดเขตไว้เหมือนกัน. นอกจากนั้นไม่เป็น. ใบตาลที่ปลูกแม้ทั้งหมดก็เป็นครุภัณฑ์. ใบลานเปล่าแม้ประมาณ ๘ องคุลีในที่สุดเบื้องต่ำ ก็เป็นประมาณของครุภัณฑ์นั้น. แม้หญ้าก็ควรนำมากล่าวไว้ในที่นี้เหมือนกัน ก็ในที่ใดไม่มีหญ้า มนุษย์ทั้งหลายก็เอาฟางใบมะพร้าวปกคลุมในที่นั้น. เพราะฉะนั้น แม้ฟางและใบมะพร้าวเหล่านั้นก็สงเคราะห์เข้าด้วยหญ้าได้เหมือนกัน.
               ด้วยเหตุนี้ บรรดาหญ้าปล้อง ฟางเป็นต้น หญ้าอย่างใดอย่างหนึ่งประมาณกำมือหนึ่ง และบรรดาใบมะพร้าวเป็นต้น แม้ใบเดียวที่เขาถวายแก่สงฆ์ก็ดี เกิดเองในที่นั้นก็ดี หญ้าที่เกิดในพื้นที่ของสงฆ์นอกวัด หญ้าที่สงฆ์รักษาคุ้มครองไว้แล้วก็ดี ย่อมเป็นครุภัณฑ์.
               อนึ่ง เมื่อสงฆ์จะทำสังฆกรรมและเจติยกรรม ควรให้ครุภัณฑ์นั้นในบุคลิกกรรม (ส่วนบุคคล) ดีกว่า.
               แม้ในไม้จริงและไม้ไผ่ที่ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังก็มีนัยเหมือนกัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในการให้ดอกไม้ดังต่อไปนี้.
               ดอกไม้ที่กำหนดไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย จงสละดอกไม้ในต้นไม้ประมาณเท่านี้ แล้วนำเข้าไปเพื่อข้าวยาคูและภัตร ในต้นไม้ประมาณเท่านี้จงนำเข้าไปในการปฏิสังขรณ์เสนาสนะดังนี้ ย่อมเป็นครุภัณฑ์.
               ผิว่า สามเณรทั้งหลายเก็บดอกไม้แล้วทำให้เป็นกองไว้ ภิกษุผู้แบ่งดอกไม้ประกอบด้วยองค์ ๕ นับสงฆ์แล้วทำให้เป็นส่วนๆ. ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อที่จะไม่ต้องบอกสงฆ์ในที่ประชุมแล้วให้. ส่วนภิกษุที่ยังไม่ได้รับสมมติ ควรบอกก่อนแล้วจึงให้.
               ก็ภิกษุย่อมได้เพื่อจะให้ดอกไม้แก่ใคร ไม่ได้เพื่อจะให้แก่ใคร.
               ภิกษุแม้ไปเรือนมารดาบิดา เรียกมารดาบิดาออกจากเรือนแล้วกล่าวว่า โยมจงเอาไปบูชาพระ ดังนี้ ย่อมได้เพื่อจะให้ ย่อมไม่ได้เพื่อเอาไปประดับศิวลึงค์.
               อนึ่ง ไม่ควรนำไปให้ญาติที่เหลือ ควรเรียกมาแล้วจึงให้เพื่อเอาไปบูชาพระ. เมื่อชนที่เหลือไปพร้อมกันยังที่บูชา คนที่ไม่หวังจะได้ก็ควรให้. ไม่มีการให้ดอกไม้. ดอกไม้ในวิหารบานมาก. ภิกษุผู้ไปเที่ยวบิณฑบาตเห็นมนุษย์ทั้งหลายพึงกล่าวว่า พวกท่านจงบูชาดอกไม้เป็นอันมากในวิหารเถิด. เพียงพูดไม่มีโทษ. แต่ไม่ควรพูดด้วยคิดว่า พวกมนุษย์จักถือเอาของเคี้ยวของบริโภคมาถวาย. หากภิกษุพูด ไม่ควรฉันของเคี้ยวของฉัน.
               พวกมนุษย์ถามว่า ดอกไม้ในวิหารยังมีตามธรรมดาหรือ แล้วกล่าวว่า ในวันโน้นพวกข้าพเจ้าจักมาวิหาร พระคุณเจ้าทั้งหลายอย่าให้สามเณรเก็บดอกไม้เลย. ภิกษุลืมบอกสามเณร. สามเณรพากันเก็บดอกไม้. พวกมนุษย์เข้าไปหาภิกษุกล่าวว่า ในวันโน้น พวกข้าพเจ้าได้เรียนพระคุณเจ้าทั้งหลายว่า อย่าให้สามเณรเก็บดอกไม้ ทำไมพระคุณเจ้าไม่ห้ามเล่า. ควรกล่าวว่า อาตมาลืมไป ดอกไม้เพียงเก็บเท่านั้น ยังไม่ได้ทำการบูชาเลย. ไม่ควรกล่าวว่า พวกท่านเอาไปบูชากันเถิด. หากภิกษุพูด ไม่ควรฉันอาหาร.
               ภิกษุอีกรูปหนึ่งบอกแก่สามเณรทั้งหลายว่า ชาวบ้านโน้นพูดว่า อย่าเก็บดอกไม้ แม้มนุษย์ทั้งหลายก็นำอาหารมาถวายท่านแล้วกล่าวว่า พวกมนุษย์ของพวกกระผมไม่มาก ขอพระคุณเจ้าโปรดสั่งให้สามเณรทั้งหลายเก็บดอกไม้กับพวกกระผมเถิด, ควรกล่าวว่า อุบาสก พวกสามเณรได้ภิกษาแล้ว พวกที่ไม่ไปบิณฑบาต อุบาสกจักรู้ด้วยตนเอง ดังนี้. ได้นัยเพียงเท่านี้แล้วทำสามเณรผู้เป็นบุตรหรือเป็นพี่น้องชายให้เก็บดอกไม้ ไม่มีโทษ. ไม่มีการให้ดอกไม้.
               พึงทราบวินิจฉัยในการให้ผลไม้ดังนี้.
               แม้ผลไม้ที่กำหนดไว้เหมือนดอกไม้ ก็เป็นครุภัณฑ์. เมื่อมีผลาผลมากในวิหาร พวกมนุษย์ไม่มีความสบายพากันมาขอ ภิกษุให้ไม่ได้ เพราะเป็นของสงฆ์ พวกมนุษย์เดือดร้อน พากันแช่งด่า ควรทำอย่างไรในเรื่องนั้น.
               ควรกำหนดผลไม้หรือต้นไม้แล้วทำกติกาว่า ในต้นไม้ต้นโน้นๆ ถือเอาผลไม้ได้ประมาณเท่านี้ หรือในต้นไม้ประมาณเท่านี้ถือเอาผลไม้ได้ ไม่ควรห้าม. พวกโจรหรืออิสรชนถือเอาด้วยพลการไม่ควรห้าม. เพราะพวกนั้นโกรธ แม้วิหารทั้งสิ้นก็จะเสียหาย. แต่ควรกล่าวถึงความผิด.
               พึงทราบวินิจฉัยในการให้เครื่องอาบน้ำดังต่อไปนี้. จุณที่ใช้อาบน้ำบดแล้วไม่เป็นครุภัณฑ์. เปลือกไม้ที่อยู่ในต้นไม้เป็นครุภัณฑ์. แต่จุณสำหรับใช้ย้อมควรแก่ภิกษุไม่เป็นไข้. จุณอย่างใดอย่างหนึ่งย่อมควรแก่ภิกษุไข้ทั้งนั้น. มิใช่ได้ด้วยการให้จุณไม้ซึกเป็นต้นมีนัยดังกล่าวแล้วในบทว่า น จุณฺทาเนน มิใช่ได้ด้วยการให้จุณ.
               พึงทราบวินิจฉัยในการให้ดินเหนียวดังนี้.
               ก็ในที่ใดหาดินเหนียวได้ยาก ดินเหนียวในที่นั้นแลเป็นครุภัณฑ์. แม้ดินเหนียวนั้นอย่างต่ำที่สุดมีประมาณเท่าลูกตาลและงบน้ำอ้อย ต่ำกว่านั้นไม่เป็นครุภัณฑ์.
               พึงทราบวินิจฉัยในการให้ไม้สีฟันดังนี้.
               ไม้สีฟันที่ยังไม่ได้ตัดเป็นครุภัณฑ์. สามเณรเหล่าใดถึงวาระที่จะได้ไม้สีฟันจากสงฆ์ สามเณรเหล่านั้นจะให้แก่อาจารย์และอุปัชฌาย์ของตนเฉพาะตัวไม่ได้.
               อนึ่ง สามเณรเหล่าใดกำหนดไว้ว่า พึงนำไม้สีฟันมาประมาณเท่านี้ดังนี้ แล้วถือเอาตามวาระ สามเณรเหล่านั้นจะให้ไม้สีฟันยิ่งกว่านั้นแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์ได้.
               ภิกษุรูปเดียวไม่ควรถือเอาไม้สีฟันมาจากต้นไม้ที่ใช้เป็นไม้สีฟัน ควรถือเอาอันเดียวเท่านั้นทุกๆ วัน. แม้ภิกษุอยู่รูปเดียวนับภิกษุสงฆ์แล้วควรถือเอาไม้สีฟันเท่าที่ถึงแก่ตนเท่านั้น. เมื่อภิกษุทั้งหลายกำลังมาในระหว่างหรือมาแล้ว ควรหลีกไปสู่ทิศ นำไม้สีฟันมาเก็บไว้ในที่ที่ตนเอาไป.
               บทว่า น มุโขทกทาเนน คือ มิใช่ได้ด้วยการให้น้ำล้างหน้า.
               ท่านกล่าว จาฏุกมฺยตา ในบทว่า น จาฏุกมฺยตาย มิใช่ได้ด้วยคำพูดมุ่งให้เขารักตนเป็นต้น คือวางตนไว้ในที่ต่ำดุจเป็นทาส แล้วอ้างคำพูดที่ได้พูดพลาดพลั้งแก่คนอื่น กล่าวยกย่องมุ่งให้เขารักตน.
               บทว่า มุคฺคสูปตาย คือ ด้วยถ้อยคำที่เหลาะแหละ.
               บทว่า มุคฺคสูปตา นี้ เป็นชื่อของการสำเร็จชีวิตอยู่ได้ด้วยคำพูดเหลาะแหละ.
               ในบุคคลผู้สำเร็จชีวิตอยู่ได้ด้วยคำพูดเหลาะแหละ. มีคำพูดเหลาะแหละมาก มีคำพูดจริงน้อยเหมือนเช่นการต้มแกงถั่ว ถั่วเขียวส่วนมากสุก ส่วนน้อยไม่สุกฉะนั้น. หรือคนผู้มีปกติพูดถ้อยคำเหลาะแหละ ย่อมไม่มั่นคง เหมือนที่น้ำไม่เข้าสู่ภายในของแกงถั่วฉะนั้น. คนพูดถ้อยคำเหลาะแหละ ย่อมตั้งอยู่ในสายทางที่ตนปรารถนาแล้ว เหมือนทางสี่แพร่งฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น ความที่บุคคลนั้นพูดเท็จ ท่านจึงเรียกว่า มุคฺคสูปตา ความเป็นผู้มีถ้อยคำเหลาะแหละเหมือนแกงถั่ว.
               บทว่า น ปาริภฏฺยตาย มิใช่ได้ด้วยกิริยาประจบเขา คือมิใช่ได้ด้วยความเป็นบ่าว. การงานของบ่าว ชื่อว่าปาริภัฏยะ ความเป็นผู้ทำการงานเป็นบ่าว ชื่อว่าปาริภัฏยตา. บทนี้เป็นชื่อของการทำของเล่นให้เด็ก ด้วยการทำเครื่องประดับเป็นต้น.
               บทว่า น ปีฐมทฺทิกตาย มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้นั่งบนตั่ง (ความตีสนิทเขา) คือไม่ใช่ได้ด้วยความเป็นผู้รีบร้อนเข้าไปเรือนแล้วนั่งบนตั่ง.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า น วตฺถุวิชฺชาย มิใช่ได้ด้วยวิชาดูพื้นที่ดังนี้ ตำรารู้ถึงหลักฐานมั่นคงไม่มั่นคง ของชาวบ้าน ชาวนิคมและชาวเมืองเป็นต้น ชื่อว่าวัตถุวิชชา. วิชาที่เหลือมีศาสตร์ว่าด้วยลักษณะและตำราทำนายฝันเป็นต้น อันปิดกั้นทางสวรรค์และทางไปสู่ความหลุดพ้น เพราะไม่นำสัตว์ออกไปจากทุกข์ได้ ชื่อว่าติรัจฉานวิชชา. การรู้ลักษณะความมีบุญไม่มีบุญของหญิงและชาย ชื่อว่าอังควิชชา. ตำรารู้การประกอบของนักษัตรทั้งหลาย ชื่อว่านักขัตตวิชชา วิชาดูฤกษ์.
               บทว่า น ทูตคมเนน คือ มิใช่ได้ด้วยการเดินเป็นทูต.
               บทว่า น ปหิณคมเนน มิใช่ได้ด้วยความเป็นคนรับใช้ คือมิใช่ด้วยการรับสาสน์ของคฤหัสถ์แล้วออกจากเรือนไปส่งถึงเรือน.
               บทว่า น ชงฺฆเปสนีเยน มิใช่ได้ด้วยความเป็นผู้เดินสาสน์ คือมิใช่ได้ด้วยการนำสาสน์และตอบสาสน์ของคฤหัสถ์เหล่านั้นๆ ในละแวกบ้านหรือในละแวกท้องถิ่นเป็นต้น.
               ชื่อว่าความเป็นผู้เดินสาสน์นี้ สมควรด้วยการรับสาสน์ของผู้ที่บำรุงมารดาบิดาของภิกษุนั้น แล้วไปส่งให้แก่มารดาบิดาของตน. การนำสาสน์ของช่างไม้ผู้กระทำการงานแก่เจดีย์ก็ดี แก่สงฆ์ก็ดี แก่ตนก็ดี ควร.
               มนุษย์ทั้งหลายกล่าวว่า ข้าพเจ้าจักให้ทาน ข้าพเจ้าจักทำการบูชา ขอพระคุณเจ้าจงแจ้งแก่ภิกษุสงฆ์ ดังนี้ ถวายบิณฑบาต ยาหรือจีวรโดยกล่าวว่าพระคุณเจ้าจงถวายแก่ภิกษุรูปโน้น มอบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้เป็นต้น หรือธงชัยธงแผ่นผ้าเป็นต้นให้ โดยกล่าวว่า พระคุณเจ้าจงทำการบูชา ดังนี้. นำไปทั้งหมดควร. ไม่มีการเดินสาสน์. เมื่อภิกษุถือสาสน์นอกเหนือไปจากนี้ เป็นอาบัติทุกกฏ ทุกๆ ก้าว.
               บทว่า น เวชฺชกมฺเมน มิใช่ได้ด้วยเวชกรรม คือมิใช่ได้ด้วยเป็นแพทย์ปรุงยามียารักษาร่างกายเป็นต้น. แต่ควรปรุงยาแก่สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี. เพราะจะไม่ปรุงยาแก่สหธรรมิกเหล่านั้นผู้มีศีลศรัทธาและปัญญาเสมอกัน ผู้ประกอบแล้วในไตรสิกขาไม่ได้. จะปรุงยาแม้แก่คนทั้ง ๕ เหล่านี้ คือมารดาบิดา ผู้บำรุงมารดาบิดาตนเอง ไวยาวัจกรผู้เป็นโรคผอมเหลือง ก็ควร. อันภิกษุผู้จะปรุงยาให้แก่คน ๑๐ จำพวกแม้เหล่านี้ คือ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว น้าสาว ป้า อา ลุง อาน้องสาวของพ่อ น้า ควรถือเอาเภสัชอันเป็นของชนเหล่านั้นปรุงให้อย่างเดียว. หากไม่พอ ควรให้ตาวกาลิก (ของบริโภคชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง) อันเป็นของตน.
               เมื่อภิกษุให้นำปัจจัย ๔ มาให้แก่ชนเหล่านั้น สืบมาตั้งแต่บุตรจนถึง ๗ ชั่วตระกูล ชื่อว่าไม่ทำวิญญัติ (พูดแกมขอ) เมื่อภิกษุปรุงยาให้แก่คนเหล่านั้นก็ไม่เป็นเวชกรรม หรือไม่เป็นอาบัติเพราะทำลายตระกูล (กูลทุสกะ).
               บทว่า น ปิณฺฑปฏิปิณฺฑเกน มิใช่ได้ด้วยการให้ก้อนข้าวตอบแทน.
               ก้อนข้าวในบทนี้ ควรให้แก่ใคร ไม่ควรให้แก่ใคร.
               ควรให้แก่มารดาบิดา ผู้บำรุงมารดาบิดา ไวยาวัจกร คนเป็นโรคผอมเหลือง โจรทามริกะมาประจันหน้า (โจรขบถ) แม้แก่อิสรชน. แม้ให้แก่ชนเหล่านี้แล้วกลับได้ในภายหลัง ก็ไม่เป็น ปิณฺฑปฏิปิณฺฑํ ให้ก้อนข้าวตอบแทน.
               บทว่า น ทานานุปฺปทาเนน มิใช่ได้ด้วยการให้และการเพิ่มให้ คือมิใช่ได้ด้วยการให้ตอบแก่คนที่ให้แก่ตน.
               บทว่า ธมฺเมน คือ เกิดขึ้นโดยธรรม.
               บทว่า สเมน โดยเสมอ คือโดยกายสุจริตเป็นต้น.
               บทว่า ลทฺธา ได้แล้ว คือได้แล้วทางกาย.
               บทว่า ลภิตฺวา รับแล้ว คือถึงแล้วทางใจ.
               บทว่า อธิคนฺตฺวา ได้มาแล้ว คือถึงพร้อมแล้ว.
               บทว่า วินฺทิตฺวา ประสบแล้ว คือประสบแล้วด้วยญาณ.
               บทว่า ปฏิลภิตฺวา ได้เฉพาะแล้ว คือได้บ่อยๆ.
               ในบทว่า อนฺนสนฺนิธึ การสะสมข้าวนี้ พึงทราบกถาสองอย่าง คือ โดยทางวินัยและโดยทางขัดเกลากิเลส. พึงทราบโดยทางวินัยก่อน ข้าวอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้รับในวันนี้ ทำการสะสมไว้ในวันอื่นอีก ต้องอาบัติปาจิตตีย์ในเพราะฉันข้าวนั้น. แต่ให้ข้าวที่ตนได้แก่สามเณรทั้งหลาย แล้วเก็บข้าวที่สามเณรเหล่านั้นได้ไว้ฉันในวันที่สอง ควร, แต่ไม่เป็นการขัดเกลากิเลส. แม้ในการสะสมน้ำดื่มก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ชื่อว่าปานะ ในบทนี้ ปานะ ๘ อย่างมีปานะทำด้วยผลมะม่วงเป็นต้น อนุโลมเข้ากันได้กับปานะเหล่านี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า วตฺถสนฺนิธึ สะสมผ้า ดังนี้.
               ผ้าที่มิได้อธิษฐานและมิได้วิกัป จัดเป็นสันนิธิคือการสะสม และยังสัลเลขปฏิบัติให้กำเริบ. นี้พูดโดยนิปริยายไม่อ้อมค้อม. แต่โดยปริยายคืออ้อมค้อม ภิกษุควรเป็นผู้สันโดษในไตรจีวร ได้ผืนที่สี่มา ควรให้แก่ภิกษุรูปอื่น. หากไม่สามารถจะให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งได้ ประสงค์จะให้แก่รูปใด รูปนั้นไปเพื่อเรียนหรือเพื่อสอบถาม ควรให้ในทางที่ท่านกลับมา. ไม่ให้ไม่ควร.
               อนึ่ง เมื่อจีวรไม่พอ เมื่อมีความหวัง ควรกำหนดเวลาที่อนุญาตไว้. เพราะไม่ได้ภิกษุผู้ทำจีวรโดยเย็บด้วยด้ายและเข็ม แม้ต่อจากนั้นก็ควรทำวินัยกรรมเก็บไว้. เมื่อจีวรเก่าจะเก็บไว้ด้วยคิดว่า เราจักได้จีวรเช่นนี้แต่ไหนอีกเล่า ไม่ควร. เป็นทั้งสันนิธิ ทั้งยังสัลเลขปฏิบัติให้กำเริบ.
               พึงทราบวินิจฉัยในการสะสมยานดังนี้.
               ชื่อว่ายาน ได้แก่ ล้อเลื่อน รถ เกวียน ระแทะ วอ เก้าอี้. นั่นมิใช่ยานของบรรพชิต. แต่รองเท้าเป็นยาน. รองเท้าสองคู่อย่างดีควรแก่ภิกษุรูปหนึ่ง คือคู่หนึ่งสำหรับไปป่า คู่หนึ่งสำหรับล้างเท้า, ได้คู่ที่สามควรให้แก่ภิกษุรูปอื่น. เมื่อรองเท้าเก่าจะเก็บไว้ด้วยคิดว่า เราจักได้รองเท้าอื่นแต่ไหนอีก ไม่ควร. เป็นทั้งสันนิธิและทั้งยังสัลเลขปฏิบัติให้กำเริบ.
               พึงทราบวินิจฉัยในการสะสมที่นอนดังนี้.
               บทว่า สยนํ ที่นอนคือเตียง. เตียงสองเตียงอย่างดี ย่อมควรแก่ภิกษุรูปหนึ่ง คือในห้องหนึ่งเตียง ในที่พักกลางวันหนึ่งเตียง. ได้เกินกว่านั้นควรให้แก่ภิกษุรูปอื่นหรือแก่คณะ. ไม่ให้ ไม่ควร. เป็นทั้งสันนิธิ ทั้งยังสัลเลขปฏิบัติให้กำเริบ.
               พึงทราบวินิจฉัยในการสะสมเครื่องหอมดังนี้.
               เมื่อมีอาพาธด้วยโรคฝี หิด อันเป็นโทษแก่ผิวหนังเป็นต้น เครื่องหอมย่อมควรแก่ภิกษุ. เมื่อโรคสงบด้วยเครื่องหอมนั้น ควรให้แก่ภิกษุอาพาธรูปอื่นๆ หรือนำไปเจิมเรือนที่ประตู. จะเก็บไว้ด้วยคิดว่าเผื่อจะมีโรคอีก ดังนี้ไม่ควร. เป็นทั้งคันธสันนิธิเป็นทั้งยังสัลเลขปฏิบัติให้กำเริบ.
               พึงทราบบทว่า อามิสํ เป็นต้น นอกเหนือจากที่กล่าวแล้ว.
               เช่นภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ให้นำงา ข้าวสาร ถั่วเขียว ถั่วทอง มะพร้าว เกลือ ปลา เนื้อแห้ง เนยใส น้ำมัน ภาชนะดินเป็นต้น มาเก็บไว้ด้วยคิดว่า ของเหล่านี้จักมีประโยชน์ในกาลนั้นๆ.
               ภิกษุนั้นในฤดูฝนให้สามเณรต้มข้าวยาคูแต่เช้ามืดแล้วฉัน ส่งสามเณรไปสั่งว่า สามเณร การเข้าไปบ้านในขณะน้ำเฉอะแฉะลำบาก เธอจงไปยังตระกูลโน้นบอกว่าเรามานั่งอยู่ในวิหารแล้ว เธอจงนำนมส้มเป็นต้นมาแต่ตระกูลโน้น ดังนี้.
               เมื่อภิกษุทั้งหลายถามว่า ทำไมท่านไม่เข้าไปสู่บ้านเล่าขอรับ. ภิกษุนั้นตอบว่า เดี๋ยวนี้บ้านนั้นเข้าไปลำบากซิคุณ. ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ไม่เป็นไรดอกขอรับ ท่านอยู่เถิด พวกผมจะหาภิกษามาเอง แล้วพากันไป.
               ลำดับนั้น สามเณรนำนมส้มเป็นต้นมา นำเข้าไปถวายพร้อมทั้งภัตรและผัก. เมื่อภิกษุฉันอาหารนั้นอยู่นั่นเอง พวกอุปัฏฐากก็ส่งภัตรไปถวาย. แต่นั้น ภิกษุนั้นก็ฉันอย่างเอร็ดอร่อย. ต่อมาภิกษุทั้งหลายรับบิณฑบาตแล้วกลับมา. ภิกษุนั้นก็ยังฉันอย่างเอร็ดอร่อยจนล้นคอหอยนั่นเอง.
               แม้สี่เดือนล่วงไป ภิกษุนี้ท่านเรียกว่ามีชีวิตอยู่อย่างกุฎุมพีโล้น มิใช่อยู่อย่างสมณะ. ภิกษุเห็นปานนี้ชื่อว่าเป็นผู้สะสมอามิส.
               แต่ในที่อยู่ของภิกษุ การเก็บอามิสมีประมาณเท่านี้ คือข้าวสารทะนานหนึ่ง น้ำอ้อยงบหนึ่งก้อน เนยใสประมาณ ๔ ส่วน ควร เพื่อประโยชน์แก่โจรที่มาถึงในเวลาอันไม่ควร. เพราะโจรเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ปฏิสันถารด้วยอามิส มันก็จะฆ่าเสีย. เพราะฉะนั้น หากไม่มีอามิสเท่านี้ก็ควรหามาเก็บไว้.
               อนึ่ง ในเวลาไม่สบายจะฉันอามิสที่เป็นกัปปิยะ แม้ด้วยตนเองก็ควร.
               อนึ่ง แม้เก็บอามิสมากไว้ในกัปปิยกุฏิก็ไม่เป็นสันนิธิ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๑๔. ตุวฏกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 600อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 699อ่านอรรถกถา 29 / 788อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=7639&Z=9093
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=8634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=8634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :