ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 29 / 109อ่านอรรถกถา 29 / 881
อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ
๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส

               อรรถกถาทุฏฐัฎฐกสุตตนิทเทสที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถาแรก ในทุฏฐัฏฐกสูตรก่อน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วทนฺติ ความว่า ย่อมติเตียนพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์.
               บทว่า ทุฏฺฐมนาปิ เอเก อญฺเญปิ เว สจฺจมนา ความว่า บทว่า บางพวก ได้แก่ เดียรถีย์บางพวกมีใจอันโทษประทุษร้าย บางพวกแม้มีความสำคัญเช่นนั้นก็มีใจอันโทษประทุษร้าย.
               อธิบายว่า ชนเหล่าใดฟังเดียรถีย์เหล่านั้นแล้วเชื่อ ชนเหล่านั้นเข้าใจว่าจริง.
               บทว่า วาทญฺจ ชาตํ ความว่า คำด่าอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น.
               บทว่า มุนิ โน อุเปติ ความว่า มุนีคือพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เข้าถึงเพราะมิใช่ผู้กระทำ และเพราะความไม่กำเริบ.
               บทว่า ตสฺมา มุนี นตฺถิ ขิโล กุหิญฺจิ ความว่า เพราะเหตุนั้น มุนีนี้ พึงทราบว่า ไม่มีกิเลสเครื่องตรึงจิต ด้วยกิเลสเครื่องตรึง จิตมีราคะเป็นต้นในที่ไหนๆ.
               บทว่า ทุฏฺฐมนา ความว่า มีใจอันโทษทั้งหลายที่เกิดขึ้นประทุษร้ายแล้ว.
               บทว่า วิรุทฺธมนา ความว่า มีใจอันกิเลสเหล่านั้นกั้นไว้ไม่ให้ช่องแก่กุศล.
               บทว่า ปฏิวิรุทฺธมนา ท่านขยายด้วยสามารถอุปสรรค.
               บทว่า อาหตมนา ความว่า ชื่อว่ามีใจอันโทสะมากระทบ เพราะอรรถว่าเดียรถีย์เหล่านั้นมีใจอันปฏิฆะมากระทบแล้ว.
               บทว่า ปจฺจาหตมนา ท่านขยายด้วยสามารถแห่งอุปสรรคเหมือนกัน.
               บทว่า อาฆาติตมนา ความว่า ชื่อว่ามีใจอาฆาต เพราะอรรถว่า เดียรถีย์เหล่านั้นมีใจอาฆาตด้วยสามารถวิหิงสา.
               บทว่า ปจฺจาฆาติตมมา ท่านขยายด้วยสามารถอุปสรรคเหมือนกัน
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีใจชั่วด้วยสามารถความโกรธ ชื่อว่ามีใจอันโทษประทุษร้าย ด้วยสามารถความผูกโกรธไว้. ชื่อว่ามีใจผิด ด้วยสามารถลบหลู่คุณท่าน. ชื่อว่ามีใจผิดเฉพาะ ด้วยสามารถตีเสมอ. ชื่อว่ามีใจอันโทสะมากระทบเฉพาะ ด้วยสามารถโทสะ. ชื่อว่ามีใจอาฆาต อาฆาตเฉพาะ ด้วยสามารถพยาบาท. ชื่อว่ามีใจชั่ว มีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว เพราะไม่ได้ปัจจัยทั้งหลาย. ชื่อว่ามีใจผิด มีใจผิดเฉพาะ เพราะเสื่อมยศ. ชื่อว่ามีใจอันโทสะมากระทบ มากระทบเฉพาะ เพราะติเตียน. ชื่อว่ามีใจอาฆาต อาฆาตเฉพาะ เพราะเป็นผู้มีความพร้อมเพรียงด้วยทุกขเวทนา. อาจารย์บางพวกพรรณนาโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อุปวทนฺติ ความว่า ยังครหาให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อภูเตน ความว่า ไม่มีอยู่.
               บทว่า สทฺทหนฺตา ความว่า ยังศรัทธาให้เกิดขึ้นด้วยสามารถความเลื่อมใส.
               บทว่า โอกปฺเปนฺตา ความว่า หยั่งลงกำหนดด้วยสามารถแห่งคุณ.
               บทว่า อธิมุจฺจนฺตา ความว่า อดกลั้นถ้อยคำของเดียรถีย์เหล่านั้น ลงความเห็นด้วยสามารถความเลื่อมใส.
               บทว่า สจฺจมนา ความว่า เข้าใจว่าจริง.
               บทว่า สจฺจสญฺญิโน ความว่า มีความสำคัญว่าจริง
               บทว่า ตถมนา ความว่า เข้าใจว่าไม่วิปริต.
               บทว่า ภูตมนา ความว่า เข้าใจว่ามีความเป็นจริง.
               บทว่า ยาถาวมนา ความว่า เข้าใจว่าไม่หวั่นไหว.
               บทว่า อวิปรีตมนา ความว่า เข้าใจว่าตั้งใจแน่วแน่.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจตมนา สจฺจสญฺญิโน พึงทราบว่า ท่านกล่าวคุณของผู้ที่พูดจริง.
               บทว่า ตถมนา ตถสญฺญิโน ท่านกล่าวคุณที่เชื่อมต่อความจริง.
               บทว่า ภูตมนา ภูตสญฺญิโน ท่านกล่าวคุณที่เป็นความตั้งมั่น.
               บทว่า ยาถาวมนา ยาถาวสญฺญิโน ท่านกล่าวคุณที่ควรเชื่อถือได้.
               บทว่า อวิปรีตมนา อวิปรีตสญฺญิโน ท่านกล่าวคุณคือพูดไม่ผิด.
               บทว่า ปรโต โฆโส ความว่า มีศรัทธาเกิดขึ้นแต่สำนักผู้อื่น.
               บทว่า อกฺโกโส ความว่า คำด่า ๑๐ อย่างมีชาติเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า โย วาทํ อุเปติ ความว่า บุคคลใดเข้าถึงคำติเตียน.
               บทว่า การโก วา ความว่า ผู้มีโทสะอันกระทำแล้วก็ดี.
               บทว่า การกตาย ความว่า ด้วยความที่มีโทสะอันกระทำแล้ว.
               บทว่า วุจฺจมาโน ความว่า ถูกเขากล่าวอยู่.
               บทว่า อุปวทิยมาโน ความว่า ถูกเขาติเตียนอยู่ คือว่า ถูกตำหนิโทษ.
               บทว่า กุปฺปติ ความว่า ย่อมโกรธ.
               บทว่า ขีลชาตตาปี นตฺถิ ความว่า ชื่อว่า ผู้มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดแล้ว เพราะอรรถว่ามีกิเลสเครื่องตรึงจิตคือปฏิฆะ กล่าวคือความเป็นหยากเยื่อแห่งจิตโดยความผูกพัน เกิดแล้ว ภาวะแห่งผู้มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดแล้วนั้น ชื่อว่าความเป็นผู้มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดแล้ว ความเป็นผู้มีกิเลสเครื่องตรึงจิตเกิดแล้วแม้นั้น ย่อมไม่มีคือมีอยู่หามิได้.
               บทว่า ปญฺจปิ เจโตขีลา ความว่า ผู้มีความกำหนัดในกาย มีความกำหนัดในรูป บริโภคอาหารเต็มท้องพอแก่ความต้องการ ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการดูแล ประพฤติพรหมจรรย์ ปรารถนาเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า เราจักเป็นเทวดาหรือเทพอื่นๆ ด้วยศีล พรต ตบะหรือพรหมจรรย์นี้ กิเลสเครื่องตรึงใจ กล่าวคือความเป็นหยากเยื่อโดยความผูกพันจิต แม้ ๕ อย่างเห็นปานนี้ ย่อมไม่มี.
               ครั้นตรัสพระคาถานี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอานนทเถระว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายถูกกล่าวบริภาษสบประมาทอยู่อย่างนี้ กล่าวอะไรกันบ้าง. พระอานนทเถระกราบทูลว่า มิได้กล่าวอะไรๆ เลย พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงเป็นผู้นิ่งในที่ทั้งปวงด้วยคิดว่า เราเป็นผู้มีศีล ด้วยว่าคนทั้งหลายในโลกย่อมไม่รู้ว่าบัณฑิตปนกับเหล่าพาลเมื่อไม่กล่าว ดังนี้แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า คนพูดไม่จริงย่อมเข้าถึงนรก เพื่อจะแสดงธรรมว่า อานนท์ ภิกษุทั้งหลายจงท้วงตอบอย่างนี้กะมนุษย์เหล่านั้น.
               พระเถระเรียนพระพุทธพจน์นั้นแล้วกล่าวกะภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงท้วงตอบพวกมนุษย์ด้วยคาถานี้.
               ภิกษุทั้งหลายได้กระทำอย่างนั้น มนุษย์ที่เป็นบัณฑิตได้พากันนิ่งอยู่ ฝ่ายพระราชาทรงส่งพวกราชบุรุษไปในที่ทั้งปวง จับพวกนักเลงที่พวกเดียรถีย์จ้างให้ฆ่านางสุนทรี ทรงข่มขู่ จึงทรงทราบความเป็นไปนั้นได้ตรัสบริภาษเดียรถีย์ทั้งหลาย. ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายเห็นเดียรถีย์แล้ว ก็เอาก้อนดินขว้างเอาฝุ่นสาด พร้อมกับกล่าวว่า พวกนี้ทำความเสื่อมยศให้เกิดขึ้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระอานนทเถระเห็นดังนั้นจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาแก่พระเถระว่า สกญฺหิ หิฏฺฐึ ฯลฯ วเทยฺ ดังนี้.
               คาถานี้มีเนื้อความว่า ชนผู้เป็นเดียรถีย์มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า พวกเราฆ่านางสุนทรีแล้วประกาศโทษของพวกสมณศากยบุตรทั้งหลาย จักยินดีสักการะที่ได้มาด้วยอุบายนี้ ชนผู้เป็นเดียรถีย์นั้นพึงก้าวล่วงทิฏฐินั้นได้อย่างไร โดยที่แท้ความเสื่อมยศนั้นก็ย่อมมาถึงชนผู้เป็นเดียรถีย์นั้นเอง ผู้ไม่อาจล่วงทิฏฐินั้นได้ หรือผู้เป็นสัสสตวาทีแม้นั้น ไปตามความพอใจในทิฏฐินั้น และตั้งมั่นในความชอบใจในทิฏฐินั้น พึงล่วงทิฏฐิของตนได้อย่างไร
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อกระทำให้เต็มด้วยตนเอง คือเมื่อกระทำทิฏฐิเหล่านั้นให้บริบูรณ์ด้วยตนนั่นแล พึงกล่าวที่ตนรู้ทีเดียว.
               บทว่า อวณฺณํ ปกาสยิตฺวา ความว่า กระทำโทษมิใช่คุณให้ปรากฏ.
               บทว่า สกฺการํ ได้แก่ การกระทำความเคารพด้วยปัจจัย ๔.
               บทว่า สมฺมานํ ได้แก่ การนับถือมากด้วยใจ.
               บทว่า ปจฺจาหริสฺสาม ความว่า จักยังลาภเป็นต้นให้บังเกิด.
               บทว่า เอวํทิฏฺฐิกา ได้แก่ มีลัทธิอย่างนี้ เพราะชนผู้เป็นเดียรถีย์เหล่านั้นมีลัทธินี้ อย่างนี้ว่า พวกเราจักยังลาภเป็นต้นนั้นให้บังเกิด.
               อนึ่ง ชนผู้เป็นเดียรถีย์เหล่านั้นพอใจและชอบใจว่า เรามีธรรม มีประการดังกล่าวแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ชนผู้เป็นเดียรถีย์เหล่านั้นมีจิตมีสภาพอย่างนี้ทีเดียวว่า ความคิดของเรามีอยู่ ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่า ชนผู้เป็นเดียรถีย์เหล่านั้นมีความพอใจพร้อมกับทิฏฐิก็ดี มีความชอบใจพร้อมกับทิฏฐิและความพอใจก็ดี มีลัทธิพร้อมกับทิฏฐิความพอใจและความชอบใจก็ดี มีอัธยาศัยพร้อมกับทิฏฐิความพอใจความชอบใจและลัทธิก็ดี มีความประสงค์พร้อมกับทิฏฐิความพอใจ ความชอบใจ ลัทธิและอัธยาศัยก็ดี ดังนี้ จึงกล่าวว่า เอวํทิฏฺฐิกา ฯลฯ เอวํอธิปฺปายา ดังนี้.
               บทว่า สกํ ทิฏฺฐิ ได้แก่ ทัศนะของตน.
               บทว่า สกํ ขนฺตึ ได้แก่ ความอดกลั้นของตน.
               บทว่า สกํ รุจึ ได้แก่ ความชอบใจของตน.
               บทว่า สกํ ลทฺธึ ได้แก่ ลัทธิของตน.
               บทว่า สกํ อชฺฌาสยํ ได้แก่ อัธยาศัยของตน.
               บทว่า สกํ อธิปฺปายํ ได้แก่ ภาวะของตน.
               บทว่า อติกฺกมิตุํ ได้แก่ เพื่อก้าวล่วงพร้อม.
               บทว่า อถโข เสฺวว อยโส ความว่า ความเสื่อมยศนั้นนั่นแหละ ย้อนมาถึงโดยส่วนเดียว.
               บทว่า เต ปจฺจาคโต ความว่า ย้อนมาเป็นของเดียรถีย์เหล่านั้น
               บทว่า เต เป็นทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า อถวา เป็นบทแสดงระหว่างเนื้อความ.
               บทว่า สสฺสโต ได้แก่ เที่ยง คือยั่งยืน.
               บทว่า โลโก ได้แก่ อัตภาพ.
               บทว่า อิทเมว สจฺจํ โมฆมญฺญํ ความว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริงแท้ สิ่งอื่นเปล่า.
               บทว่า สมตฺตา ได้แก่ สมบูรณ์.
               บทว่า สมาทินฺนา ได้แก่ ถือเอาโดยชอบ.
               บทว่า คหิตา ได้แก่ เข้าไปถือเอา.
               บทว่า ปรามฏฺฐา ได้แก่ ถูกต้องถือเอาโดยอาการทั้งปวง.
               บทว่า อภินิวิฏฺฐา ได้แก่ ได้ที่พึ่งเป็นพิเศษ.
               บทว่า อสสฺสโต พึงทราบโดยปริยายตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า อนฺตวา ได้แก่ มีที่สุด.
               บทว่า อนนฺตวา ได้แก่ ไม่มีที่สุดคือความเจริญ.
               บทว่า ตํ ชีวํ ได้แก่ ชีพก็อันนั้น ท่านทำเป็นลิงควิปลาส.
               บทว่า ชีโว ก็ได้แก่ อัตตานั่นเอง.
               บทว่า ตถาคโต ได้แก่ สัตว์. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระอรหันต์.
               บทว่า ปรมฺมรณา ได้แก่ ต่อจากตายไป. ความว่า ปรโลก
               บทว่า น โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา ความว่า ต่อจากตายไป ย่อมไม่เป็นอีก.
               บทว่า โหติ จ น จ โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา ความว่า ต่อจากตายไป ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี.
               บทว่า เนว โหติ น น โหติ ตถาคโต ปรมฺมรณา ความว่า ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ด้วยสามารถขาดสูญ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ ด้วยสามารถเที่ยง.
               บทว่า สกาย ทิฏฺฐิยา เป็นต้นเป็นตติยาวิภัตติ.
               บทว่า อลฺลีโน ได้แก่ เป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า สยํ สมตฺตํ กโรติ ความว่า เปลื้องความบกพร่องกระทำตนให้เต็มโดยชอบด้วยตน.
               บทว่า ปริปุณฺณํ ความว่า เปลื้องโทษที่เกินเลย กระทำให้สมบูรณ์.
               บทว่า อโนมํ ความว่า เปลื้องโทษที่เลว กระทำให้ไม่ลามก.
               บทว่า อคฺคํ ได้แก่ เป็นต้น.
               บทว่า เสฏฺฐํ ได้แก่ เป็นประธาน คือปราศจากโทษ.
               บทว่า วิเสฏฺฐํ ได้แก่ เจริญที่สุด.
               บทว่า ปาโมกฺขํ ได้แก่ ยิ่ง.
               บทว่า อุตฺตมํ ได้แก่ วิเศษ คือไม่มีในเบื้องต่ำ.
               บทว่า ปวรํ กโรติ ความว่ากระทำให้สูงสุดเป็นพิเศษ.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาอย่างนี้ว่า กระทำให้เลิศด้วยเปลื้องโทษที่นอนเนื่องให้ประเสริฐ ด้วยเปลื้องโทษที่เป็นสังกิเลสให้วิเศษ ด้วยเปลื้องโทษที่เป็นอุปกิเลสให้เป็นวิสิษฏิ์ ด้วยเปลื้องโทษที่เต็มให้เป็นประธาน ด้วยเปลื้องโทษปานกลางให้อุดม ด้วยเปลื้องโทษอุดมและปานกลางให้บวร.
               บทว่า อยํ สตฺถา สพฺพญฺญู ความว่า พระศาสดาของพวกเรานี้เป็นพระสัพพัญญู ด้วยสามารถทรงรู้ทุกอย่าง.
               บทว่า อยํ ธมฺโม สฺวากฺขาโต ความว่า พระธรรมของพวกเรานี้ พระศาสดาตรัสแล้วด้วยดี.
               บทว่า อยํ คโณ สุปฏิปนฺโน ความว่า พระสงฆ์ของพวกเรานี้ ปฏิบัติแล้วด้วยดี.
               บทว่า อยํ ทิฏฺฐิ ภทฺทิกา ความว่า ลัทธิของพวกเรานี้ดี.
               บทว่า อยํ ปฏิปทา สุปญฺญตฺตา ความว่า ปฏิปทาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของพวกเรานี้ อันพระศาสดาทรงบัญญัติแล้วด้วยดี.
               บทว่า อยํ มคฺโค นิยฺยานิโก ความว่า มรรคเครื่องนำออกเป็นพักๆ ของพวกเรานี้ เป็นเครื่องนำออก บุคคลย่อมกระทำให้เต็มที่ด้วยตนเอง ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กเถยฺย ได้แก่ พึงพูดว่า โลกเที่ยง พึงแสดงว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า พึงแถลงว่า โลกมีที่สุด คือให้ถือเอาโดยวิธีมีอย่างต่างๆ ว่า ย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี.
               ลำดับนั้น พอล่วง ๗ วันพระราชาก็รับสั่งให้ทิ้งซากศพนั้น เวลาเย็นเสด็จไปวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อความเสื่อมยศเกิดขึ้นเช่นนี้ ควรจะแจ้งแม้แก่ข้าพระองค์ มิใช่หรือ.
               เมื่อพระราชากราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร การแจ้งแก่คนอื่นว่า เราเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยคุณความดี ดังนี้ ไม่สมควรแก่พระอริยะทั้งหลาย ดังนี้แล้วได้ทรงภาษิตคาถาที่เหลือว่า โย อตฺตโน สีลวตานิ ดังนี้ เพื่อเป็นเหตุให้เกิดเรื่องนั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลวตานิ ได้แก่ ศีลทั้งหลายมีพระปาติโมกข์เป็นต้น และธุดงควัตรทั้งหลายมีอารัญญิกธุดงค์เป็นต้น.
               บทว่า อนานุปฏฺโฐ ได้แก่ อันใครๆ ไม่ถาม.
               บทว่า ปาวา ได้แก่ ย่อมกล่าว.
               บทว่า อนริยธมฺมํ กุสลา ตมาหุ โย อาตุมานํ สยเมวปาวา ความว่า ชนใดย่อมบอกตนว่าเที่ยงนั่นแลอย่างนี้ ผู้ฉลาดทั้งหลายย่อมกล่าววาทะของชนนั้นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ธรรมของอริยชน.
               บทว่า อตฺถิ สีลญฺเจว วตฺตญฺจ ความว่า เป็นศีลด้วยนั่นเทียว เพราะอรรถว่าสังวร เป็นวัตรด้วย เพราะอรรถว่าสมาทาน.
               บทว่า อตฺถิ วตฺตํ น สีลํ ความว่า ข้อนั้นเป็นวัตรแต่ไม่เป็นศีล ด้วยอรรถดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า กตมํ เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา.
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ สีลวา เป็นต้น มีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า สํวรฏฺเฐน ความว่า ด้วยอรรถว่ากระทำความสำรวม คือด้วยอรรถว่าปิดทวารที่ก้าวล่วง.
               บทว่า สมาทานฏฺเฐน ความว่า ด้วยอรรถว่าถือเอาโดยชอบซึ่งสิกขาบทนั้นๆ.
               บทว่า อารญฺญิกงฺคํ ความว่า ชื่อว่าอารัญญิกะ เพราะอรรถว่ามีที่อยู่อาศัยในป่า องค์แห่งผู้มีที่อยู่อาศัยในป่า ชื่ออารัญญิกังคะ.
               บทว่า ปิณฺฑปาติกงฺคํ ความว่า ก็การตกลงแห่งก้อนอามิสกล่าวคือภิกษา ชื่อว่าบิณฑบาต.
               ท่านอธิบายว่า การตกลงในบาตรแห่งก้อนภิกษาที่คนเหล่าอื่นถวาย. ชื่อว่าบิณฑปาติกะ เพราะอรรถว่า บิณฑบาตนั้น คือเข้าหาสกุลนั้นๆ แสวงหา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า บิณฑปาตี เพราะอรรถว่ามีการเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวเป็นวัตร.
               บทว่า ปติตุํ แปลว่า การเที่ยวไป บิณฑปาตีนั่นแหละเป็นบิณฑปาติกะ, องค์แห่งบิณฑปาติกะผู้เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวเป็นวัตร ชื่อบิณฑปาติกังคะ. เหตุ ท่านเรียกว่าองค์. เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้เที่ยวไปเพื่อก้อนข้าวเป็นวัตรด้วยการสมาทานใด การสมาทานนั้น พึงทราบว่าเป็นชื่อขององค์นั้นโดยนัยนี้แหละ.
               ผ้าชื่อว่าบังสุกุล เพราะอรรถว่าเป็นเหมือนเกลือกกลั้วด้วยฝุ่นในที่นั้นๆ ด้วยอรรถว่าฟุ้งไป เพราะตั้งอยู่บนฝุ่นทั้งหลายในที่แห่งใดแห่งหนึ่งมีถนน ป่าช้าและกองหยากเยื่อเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าบังสุกุล เพราะอรรถว่าถึงภาวะน่าเกลียดเหมือนฝุ่น. ท่านอธิบายว่า ถึงความเป็นของน่ารังเกียจ การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลที่มีคำไขอันได้แล้วอย่างนี้
               ชื่อว่าบังสุกุล การทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลเป็นปกติของภิกษุนั้น เหตุนั้น ภิกษุนั้นถึงชื่อว่าบังสุกูลิก ผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุล. องค์แห่งภิกษุผู้ทรงไว้ซึ่งผ้าบังสุกุลนั้น ชื่อบังสุกูลิกังคะ.
               ชื่อว่า เตจีวริก เพราะอรรถว่ามีไตรจีวร กล่าวคือสังฆาฏิ อุตตราสงค์และอันตรวาสกเป็นปกติ. องค์แห่งเตจีวริกผู้มีไตรจีวรเป็นปกติ ชื่อเตจีวริกังคะ.
               บทว่า สปทานจาริกงฺคํ ความว่า ความขาด ท่านเรียกว่า ทานะ. ปราศจากความขาด ชื่อว่าอปทานะ. อธิบายว่า ไม่ขาด. กับด้วยการปราศจากความขาด ชื่อว่าสปทานะ. ท่านอธิบายว่า เว้นจากความขาด คือตามลำดับเรือน.
               ชื่อว่า สปทานจารี เพราะอรรถว่ามีการเที่ยวไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ. สปทานจารีนั่นแหละเป็นสปทานจาริกะ. องค์แห่งสปทานจาริกะผู้เที่ยวไปตามลำดับเรือนเป็นปกติ ชื่อสปทานจาริกังคะ.
               บทว่า ขลุ ในบทว่า ขลุปจฺฉาภตฺติกงฺคํ เป็นนิบาตลงในอรรถปฏิเสธ มีผู้ปวารณา ภัตที่ได้มาภายหลัง ชื่อว่าปัจฉาภัต. การบริโภคภัตที่ได้มาภายหลัง ชื่อว่าปัจฉาภัตโภชน์. ชื่อว่าปัจฉาภัตติกะ เพราะอรรถว่ามีปัจฉาภัตเป็นปกติ. เพราะทำสัญญาในปัจฉาภัตโภชน์นั้นว่าปัจฉาภัต มิใช่ปัจฉาภัตติกะ ชื่อว่าขลุปัจฉาภัตติกะ คำนี้เป็นชื่อของการบริโภคมากเกินซึ่งห้ามไว้ด้วยสามารถสมาทาน. องค์แห่งขลุปัจฉาภัตติกะ ผู้ไม่บริโภคภัตที่ได้มาภายหลัง ชื่อขลุปัจฉาภัตติกังคะ.
               บทว่า เนสชฺชิกงฺคํ ความว่า ชื่อว่าเนสัชชิกะ เพราะอรรถว่ามีการห้ามการนอน อยู่ด้วยการนั่งเป็นปกติ องค์แห่งเนสัชชิกะ ผู้ห้ามการนอนอยู่ด้วยการนั่ง ชื่อว่าเนสัชชิกกังคะ.
               บทว่า ยถาสนฺถติกงฺคํ ความว่า เสนาสนะที่เขาจัดไว้ใดๆ นั่นแล ชื่อว่าเสนาสนะตามที่จัดไว้. คำนี้เป็นชื่อเสนาสนะที่เขาแสดงก่อนอย่างนี้ว่า เสนาสนะนี้ย่อมถึงแก่ท่าน. ชื่อว่ายถาสันถติกะ เพราะอรรถว่ามีการอยู่ในเสนาสนะตามที่จัดไว้นั้นเป็นปกติ. องค์แห่งยถาสันถติกะผู้อยู่ในเสนาสนะตามที่จัดไว้เป็นปกติ ชื่อว่ายถาสันถติกังคะ.
               องค์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแล ชื่อว่าธุดงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งภิกษุผู้กำจัด เพราะกำจัดกิเลสด้วยสมาทานนั้นๆ. หรืออรรถว่ามีญาณที่ได้โวหารว่า ธุตะ เพราะกำจัดกิเลส เป็นองค์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธุดงค์ เพราะอรรถว่าธุตะเหล่านั้นด้วย. ชื่อว่าเป็นองค์ เพราะกำจัดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ด้วยการปฏิบัติด้วย ดังนี้ก็มี. ในข้อนี้พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถว่าอย่างนี้ก่อน.
               ก็ธุดงค์เหล่านี้ทั้งหมดนั่นแลมีเจตนาเครื่องสมาทานเป็นลักษณะ. สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า บุคคลผู้ตั้งใจแน่วแน่นั้น ย่อมตั้งใจแน่วแน่ด้วยธรรมใด ธรรมเหล่านั้นคือจิตและเจตสิก. เจตนาเครื่องสมาทานนั้น คือธุดงค์ ข้อที่ห้ามนั้น คือวัตถุ. ก็ธุดงค์ทั้งหมดนั่นแลมีความกำจัดความอยากได้เป็นรส. มีความไม่อยากได้เป็นปัจจุปปัฏฐาน. มีอริยธรรมมีความปรารถนาน้อยเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน. ในข้อนี้พึงทราบวินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้นด้วยประการฉะนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวัคคิกะ ๓. ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 29 / 1อ่านอรรถกถา 29 / 30อรรถกถา เล่มที่ 29 ข้อ 70อ่านอรรถกถา 29 / 109อ่านอรรถกถา 29 / 881
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=29&A=1311&Z=1821
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=45&A=4345
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=45&A=4345
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :