ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 3 / 1อ่านอรรถกถา 3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 3 ข้อ 40อ่านอรรถกถา 3 / 47อ่านอรรถกถา 3 / 504
อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ สัตตรสกัณฑ์
สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓

               อรรถกถาสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓               
               ในสิกขาบทที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

               ว่าด้วยเขตย่างเท้าทำให้ภิกษุณีต้องอาบัติ               
               ในคำว่า อติกฺกาเมนฺติยา นี้ มีวินิจฉัยว่า เมื่อภิกษุณียกเท้าข้างหนึ่งก้าวไป เป็นถุลลัจจัย, พอเมื่อก้าวเท้าที่ ๒ ล่วงไป เป็นสังฆาทิเสส.
               ในคำว่า อปริกฺขิตฺตสฺส คามสฺส อุปจารํ นี้ มีวินิจฉัยว่า ภิกษุณีเดินเลยที่ควรล้อมไปด้วยเท้าข้างหนึ่ง เป็นถุลลัจจัย, พอเมื่อก้าวเดินไปด้วยเท้าข้างที่ ๒ เป็นสังฆาทิเสส.
               อีกนัยหนึ่ง ในคำว่า ปริกฺเขปํ อติกฺกาเมนฺติยา เป็นต้นนี้ บัณฑิตพึงทราบคำพิสดารว่า ภิกษุณีออกจากบ้านของตนไป ไม่เป็นอาบัติ เพราะละแวกบ้านเป็นปัจจัย. แต่ครั้นออกไปแล้วไปยังละแวกบ้าน (อื่น) เป็นทุกกฏทุกๆ ย่างเท้า. แต่เมื่อล่วงเลยเครื่องล้อม หรืออุปจารของบ้านอีกบ้านหนึ่ง ไปด้วยเท้าข้างหนึ่ง เป็นถุลลัจจัย, พอก้าวเลยไปด้วยเท้าที่ ๒ เป็นสังฆาทิเสส. แม้ภิกษุณีผู้ออกจากละแวกบ้านนั้นไปแล้วกลับเข้ามายังบ้านของตน ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แต่ถ้าภิกษุณีอาจจะเข้าไปยังฟื้นที่ของวัดนั่นแลได้ทางกำแพงพัง หรือทางช่องรั้ว, เมื่อเข้าไปอย่างนี้ จัดว่าเป็นผู้เข้าไปยังกัปปิยภูมิ เพราะเหตุนั้นจึงสมควร. ถ้าแม้นว่า ภิกษุณีจะเข้าไปด้วยพาหนะมีหลังช้างเป็นต้น หรือด้วยฤทธิ์ ก็ควรเหมือนกัน. เพราะว่า การเดินไปด้วยเท้าเท่านั้น ท่านประสงค์เอาในสิกขาบทนี้. ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำว่า ปฐมํ ปาทํ อติกฺกาเมนฺติยา เป็นต้น.
               บ้าน ๒ บ้านมีรั้วติดกันกับวัดของภิกษุณี. วัดของภิกษุณีอยู่ใกล้บ้านใด ภิกษุณีจะเที่ยวไปบิณฑบาตในบ้านนั้นแล้ว กลับเข้าสู่วัด เดินไปตามทางของอีกบ้านหนึ่ง ซึ่งถ้ามีทางผ่านท่ามกลางวัดไป ก็ควร. แต่ควรจะกลับมาจากบ้านนั้นโดยทางนั้นเหมือนกัน. ถ้าภิกษุณีออกมาทางประตูบ้าน. พึงทราบชนิดแห่งอาบัติโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               เมื่อภิกษุณีออกจากบ้านของตน พร้อมกับพวกภิกษุณี ด้วยกรณียะบางอย่าง ในเวลากลับเข้ามา ช้างหลุดมาก็ดี มีการขับไล่ให้หลีกไปก็ดี พวกภิกษุณีนอกนี้รีบเข้าไปยังบ้าน, พึงยืนคอยนอกประตูจนกว่าภิกษุณีอื่นจะมา. ถ้ายังไม่มา, ภิกษุณีผู้เป็นเพื่อนชื่อว่าหลีกไปแล้ว, จะเข้าไป ก็ควร.
               เมื่อก่อนบ้านเป็นบ้านใหญ่ซึ่งมีวัดภิกษุณีอยู่ท่ามกลาง. ภายหลังคน ๔ คนได้ (ครอบครอง) บ้านนั้นแล้วแบ่งกันใช้สอย กั้นรั้วล้อมไว้เป็นสัดส่วน. ภิกษุณีจะไปยังบ้านใดบ้านหนึ่ง จากวัด ควรอยู่. จะเข้าไปยังบ้านอีกบ้านหนึ่งจากบ้านที่ไปแล้วนั้น ทางประตูบ้านหรือทางช่องรั้ว ไม่ควร. ควรย้อนกลับมายังวัดก่อน. เพราะเหตุไร? เพราะวัดเป็นที่สาธารณะแก่บ้านทั้ง ๔.

               ว่าด้วยลักษณะแม่น้ำและภิกษุณีผู้ไปยังฝั่งแม่น้ำ               
               สองบทว่า อนฺตรวาสโก เตมียติ มีความว่า สถานที่ซึ่งภิกษุณีครองผ้าโดยอาการปิดมณฑล ๓ ลุยข้ามไป ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทางท่าหรือมิใช่ท่าในหน้าฝน อันตรวาสก (ผ้านุ่ง) เปียกแม้เพียงนิ้วหรือ ๒ นิ้ว (ชื่อว่าแม่น้ำ). ลักษณะแห่งแม่น้ำที่เหลือ จักมีแจ้งในนทีนิมิตตกถา. ในเวลาที่ภิกษุณีลุยข้ามแม่น้ำมีรูปเห็นปานนี้ ทางท่าของแม่น้ำ หรือมิใช่ท่า เมื่อยกเท้าที่ ๑ ขึ้นวางบนฝั่ง เป็นถุลลัจจัย ในการยกเท้าที่ ๒ เป็นสังฆาทิเสส. เดินไปตามสะพาน ไม่เป็นอาบัติ. ในเวลาลุยข้ามด้วยเท้า ไม่เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุณีผู้เหนี่ยวสะพานข้ามไป. แต่ในเวลาข้ามไปทางสะพาน เมื่อเดินไป เป็นอาบัติเหมือนกัน.
               แม้ในการไปทางยาน ทางเรือ และทางอากาศเป็นต้นก็มีนัยนี้นั่นแล.
               เมื่อภิกษุณี (กระโดด) จากฝั่งนี้เหยียบฝั่งโน้นเลย ไม่เป็นอาบัติ. พวกภิกษุณีไปเพื่อทำการย้อมจีวร ๒-๓ รูปเที่ยวไปแทบฝั่งทั้งสอง ด้วยกิจมีการรวบรวมฟืนมาเป็นต้น ควรอยู่. แต่ถ้าว่า บรรดาภิกษุณีเหล่านี้ บางรูปก่อการทะเลาะกันแล้ว ไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เป็นอาบัติสองรูปข้ามน้ำไปด้วยกัน, รูปหนึ่งทำการทะเลาะกัน ในกลางแม่น้ำ กลับมาสู่ฝั่งนี้อีก ก็เป็นอาบัติ. แต่ภิกษุณีรูปนี้เป็นผู้ตั้งอยู่ในฐานแห่งภิกษุณีมีเพื่อนหลีกไปของภิกษุณีอีกรูปหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุณีผู้ไปสู่ฝั่งโน้น. ภิกษุณีผู้ลงสู่แม่น้ำเพื่ออาบ หรือเพื่อดื่มน้ำ แล้วกลับขึ้นสู่ฝั่งเดิมนั่นแหละ ไม่เป็นอาบัติ.
               ในคำว่า สห อรุณุคฺคมนา นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ถ้าภิกษุณีทำการสาธยายก็ดี ความเพียรก็ดี กรรมอะไรๆ อย่างอื่นก็ดี ทำความคำนึงว่า เราจักไปยังสำนักแห่งเพื่อนภิกษุณี ก่อนอรุณขึ้นนั่นแล. แต่เมื่อเธอยังไม่ทันรู้นั่นแล อรุณขึ้นเสียก่อน, ไม่เป็นอาบัติ. แต่ถ้าว่าเธอพักอยู่ในเอกเทศแห่งวิหารโดยความคำนึง หรือโดยมิได้คำนึงว่า เราจักอยู่ในที่นี้แลจนถึงอรุณขึ้น. เธอไม่ย่างลงสู่หัตถบาสแห่งเพื่อนภิกษุณีในเวลาอรุณขึ้น เป็นสังฆาทิเสส.
               จริงอยู่ หัตถบาสเท่านั้น เป็นประมาณในสิกขาบทนี้. ในการล่วงเลยหัตถบาสไป แม้ห้องเดียวกัน ก็คุ้มอาบัติไม่ได้.
               ในคำว่า อคามเก อรญฺเญ นี้ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
               ที่ชื่อว่าป่า เฉพาะที่มีลักษณะดังที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า นอกเสาอินทขีลออกไป ที่ทั้งหมดนี้ ชื่อว่าป่า. ก็ป่านี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อคามกํ เพราะไม่มีบ้านอย่างเดียว, ไม่ใช่เพราะเป็นเช่นกับป่าดงดิบ.
               เมื่อภิกษุณียังเข้าป่าเช่นนั้น ละอุปจารแห่งการมองเห็นไปแล้ว ถ้าแม้อุปจารแห่งการได้ยิน ยังมีอยู่ ก็เป็นอาบัติ. ด้วยเหตุนั้น ในอรรถกถา ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อพวกภิกษุณีเข้าไปสู่ลานมหาโพธิ์ ภิกษุณีรูปหนึ่งยืนอยู่ข้างนอก เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุณีรูปนั้น. ในพวกภิกษุณีผู้เข้าไปยังโลหปราสาทก็ดี ผู้เข้าไปยังบริเวณก็ดี ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในการไหว้พระมหาเจดีย์เป็นต้น ภิกษุณีรูปหนึ่ง ออกไปทางประตูด้านเหนือ เป็นอาบัติแม้แก่ภิกษุณีรูปนั้น. บรรดาภิกษุณีผู้เข้าไปยังถูปาราม รูปหนึ่งยืนอยู่ข้างนอก, แม้รูปนั้นก็เป็นอาบัติ. ก็บรรดาอุปจารแห่งการมองเห็นและอุปจารแห่งการได้ยินนี้ เพื่อนภิกษุณีเห็นภิกษุณีผู้ยืนอยู่ในที่ใด ที่นั้นชื่อว่า อุปจารแห่งการมองเห็น
               แต่ถ้ามีแม้ม่านกั้นระหว่างอยู่ ภิกษุณี ชื่อว่าละอุปจารแห่งการมองเห็น. สถานที่ซึ่งเพื่อนภิกษุณียืนอยู่ ได้ยินเสียงของภิกษุณีผู้เปล่งเสียงว่า อยฺเย ด้วยเสียงดุจเสียงกู่แห่งคนหลงทาง และด้วยเสียงดุจเสียงร้องบอกให้ฟังธรรม ชื่อว่าอุปจารแห่งการได้ยิน ในโอกาสกลางแจ้ง ถึงไกล ก็จัดเป็นทัสสนูปจารได้. ทัสสนูปจารนั้น คุ้มไม่ได้ ในเมื่อภิกษุณีละสวนูปจารเห็นปานนั้นไป. พอละสวนูปจารเท่านั้น ก็ต้องอาบัติสังฆาทิเสส.
               ภิกษุณีรูปหนึ่ง เดินทางล้าหลังเพื่อน, ถ้ายังเป็นผู้มีความอุตสาหะเดินติดตามไปด้วยตั้งใจว่า เราจักตามให้ทันเดี๋ยวนี้ ไม่เป็นอาบัติ. ถ้าหากภิกษุณีพวกข้างหน้าไปเสียทางอื่น จัดว่าเป็นผู้มีเพื่อนภิกษุณีหลีกไป ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน.
               บรรดาภิกษุณี ๒ รูปเดินทางไปด้วยกัน รูปหนึ่งไม่อาจตามทัน เดินล้าหลังด้วยคิดว่า เชิญแม่นี้ไปเถิด แม้อีกรูปหนึ่งก็เดินไปด้วยคิดว่า เชิญแม่นี้ล้าหลังอยู่เถิด เป็นอาบัติทั้งสองรูป.
               แต่ถ้าว่า ในภิกษุณี ๒ รูป ผู้กำลังเดินทาง รูปเดินหน้ายึดเอาทางสายหนึ่งก็ดี รูปเดินหลังยึดเอาทางสายหนึ่งก็ดี, รูปหนึ่งตั้งอยู่ในฐานแห่งผู้มีเพื่อนหลีกไปของอีกรูปหนึ่ง จึงไม่เป็นอาบัติแม้ทั้งสองรูป.
               บทว่า ปกฺขสงฺกนฺตา วา ได้แก่ ผู้ไปเข้ารีตเดียรถีย์.
               คำที่เหลือตื้นทั้งนั้น.
               สิกขาบทนี้มีสมุฏฐานดุจปฐมปาราชิก เป็นกิริยา สัญญาวิโมกข์ สจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ กายกรรม วจีกรรม มีจิต ๓ มีเวทนา ๓ ดังนี้แล.

               อรรถกถาสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ภิกขุนีวิภังค์ สัตตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๓ จบ.
อ่านอรรถกถา 3 / 1อ่านอรรถกถา 3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 3 ข้อ 40อ่านอรรถกถา 3 / 47อ่านอรรถกถา 3 / 504
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=3&A=559&Z=687
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=10979
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=10979
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๘  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๕
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :