ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 490อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 511อ่านอรรถกถา 30 / 532อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
ปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทส

               อรรถกถาปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในปิงคิยสุตตนิทเทสที่ ๑๖ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ชิณฺโณหมสฺมี อพโล วิวณฺโณ ปิงคิยพราหมณ์ทูลว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ปราศจากผิวพรรณ.
               คือ ได้ยินว่า พราหมณ์นั้นถูกชราครอบงำ มีอายุ ๑๒๐ ปีโดยกำเนิด มีกำลังน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง คิดว่าจักยืนหยัดอยู่ในที่นี้ ไม่ไปที่อื่น. ด้วยเหตุนั้น ปิงคิยะจึงทูลว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย มีผิวพรรณเศร้าหมอง.
               บทว่า มาหมฺปนสฺสํ โมมุโห อนฺตราย ข้าพระองค์อย่าเป็นคนหลงเสียไปในระหว่างเลย คือ ข้าพระองค์ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมของพระองค์ อย่าเป็นคนไม่รู้เสียไปในระหว่างเลย.
               บทว่า ชาติชราย อิธ วิปฺปหานํ อันเป็นที่ละชาติชรา ณ ที่นี้เถิด คือ ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมคือนิพพานที่ข้าพระองค์พึงรู้แจ้ง อันเป็นที่ละชาติชรา ณ ปาสาณกเจดีย์ ใกล้บาทมูลของพระองค์ ณ ที่นี้ แก่ข้าพระองค์เถิด.
               บทว่า อพโล คือ ไม่มีกำลัง. บทว่า ทุพฺพโล คือ หมดกำลัง. บทว่า อปฺปพโล คือ มีกำลังน้อย. บทว่า อปฺปถาโม คือ มีเรี่ยวแรงน้อย.
               บทว่า วีตวณฺโณ ปราศจากผิวพรรณ คือมีผิวพรรณเปลี่ยนแปลงไป.
               บทว่า วิคตวณฺโณ คือ มีผิวพรรณปราศไป.
               บทว่า วีตจฺฉิตวณฺโณ มีผิวพรรณซูบซีด.
               บทว่า ยา สา ปุริมา สุภา วณฺณนิภา คือ ผิวพรรณอันงามผ่องเมื่อวัยต้นนั้น บัดนี้หายไปแล้ว.
               บทว่า อาทีนโว ปาตุภูโต คือ มีโทษปรากฏ.
               อาจารย์พวกหนึ่งตั้งบทไว้ว่า ยา สา ปุริมา สุภา วณฺณนิภา แล้วอธิบายว่า มีผิวพรรณงาม.
               บทว่า อสุทฺธา คือ นัยน์ตาไม่แจ่มใส ด้วยมีเยื่อหุ้มเป็นต้น.
               บทว่า อวิสุทฺธา คือ ไม่หมดจดเพราะมัวหมองเป็นต้น.
               บทว่า อปริสุทฺธา คือ ไม่บริสุทธิ์ เพราะถูกหุ้มด้วยฝีและเยื่อเป็นต้น.
               บทว่า อโวทาตา ไม่ผ่องแผ้ว คือไม่ผ่องใส เช่นกับผูกไว้.
               บทว่า โน ตถา จกฺขุนา รูปํ ปสฺสามิ ข้าพระองค์เห็นรูปไม่ชัดด้วยนัยน์ตาเช่นนั้น คือบัดนี้ ข้าพระองค์มองดูรูปารมณ์เก่าๆ ด้วยจักษุไม่ชัด.
               ในบทว่า โสตา อสุทฺธา หูฟังไม่สะดวก ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มาหมฺปนสฺสํ คือ ข้าพระองค์อย่าพินาศไปเลย.
               เพราะปิงคิยะทูลมีคำอาทิว่า ข้าพระองค์เป็นคนแก่ดังนี้ เพราะเพ่งในกาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อให้ปิงคิยะละความเยื่อใยในกายเสีย จึงตรัสคาถามีอาทิว่า ทิสฺวาน รูเปสุ วิหญฺมาเน เพราะเห็นชนทั้งหลายลำบากอยู่ในเพราะรูปทั้งหลาย ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า รูเปสุ คือ เพราะรูปเป็นเหตุ เป็นปัจจัย.
               บทว่า วิหญฺญมาเน เดือดร้อนอยู่ คือ ลำบากอยู่ด้วยกรรมกรณ์เป็นต้น.
               บทว่า รุปฺปนฺติ รูเปสุ คือชนทั้งหลายย่อมเดือดร้อน เพราะรูปเป็นเหตุด้วยโรคมีโรคตาเป็นต้น.
               บทว่า หญฺญติ คือ ย่อมเดือดร้อน.
               บทว่า วิหญฺญติ คือ ย่อมลำบาก.
               บทว่า อุปหญฺญติ ถูกเขาเบียดเบียน คือถูกตัดมือและเท้าเป็นต้น.
               บทว่า อุปฆาติยนฺติ ถูกเขาฆ่า คือถึงแก่ความตาย.
               บทว่า กุปฺปนฺติ คือ โกรธ.
               บทว่า ปิฬิยนฺติ คือ ถูกเบียดเบียน.
               บทว่า ฆฏิยนฺติ คือ ถูกฆ่า.
               บทว่า พฺยตฺถิตา คือ หวาดเสียว.
               บทว่า โทมนสฺสิตา เสียใจ คือถึงความลำบากใจ.
               บทว่า หายมาเน คือ เสื่อม.
               ท่านปิงคิยะฟังข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ตราบเท่าถึงพระอรหัตก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษ เพราะชรา มีกำลังน้อย เมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถานี้ว่า ทิสา จตสฺโส ทิศใหญ่ ๔ ดังนี้ จึงทูลขอให้เทศนาอีก.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาจนถึงพระอรหัตอีกแก่ท่านปิงคิยะนั้น จึงตรัสคาถามีอาทิว่า ตณฺหาธิปนฺเน ผู้ถูกตัณหาครอบงำ ดังนี้.
               บทว่า ตณฺหาธิปนฺเน คือ ถูกตัณหาย่ำยี.
               บทว่า ตณฺหานุเค คือ ไปตามตัณหา.
               บทว่า ตณฺหานุคเต คือ ติดตามตัณหา.
               บทว่า ตณฺหา นุสเฏ คือ แล่นไปกับตัณหา.
               บทว่า ตณฺหายาปนฺเน คือ จมลงไปในตัณหา.
               บทว่า ปฏิปนฺเน คือ ถูกตัณหาครอบงำ.
               บทว่า อภิภูเต คือ ถูกตัณหาย่ำยี.
               บทว่า ปริยาทินฺนจิตฺเต มีจิตอันตัณหายึดไว้ คือมีกุศลจิตอันตัณหายึดไว้.
               บทว่า สนฺตาปชาเต ผู้เดือดร้อน คือเดือดร้อนเพราะจิตเกิดขึ้นเอง.
               บทว่า อีติชาเต เกิดจัญไร คือเกิดโรค.
               บทว่า อุปทฺทวชาเต เกิดอุบาทว์ คือเกิดโทษ.
               บทว่า อุปสคฺคชาเต เกิดความขัดข้อง คือเกิดทุกข์.
               พึงทราบวินิจฉัยบทว่า วิรชํ วีตมลํ นี้ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า วิรชํ คือ ปราศจากธุลีมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า วีตมลํ คือ ปราศจากมลทินมีราคะเป็นต้น.
               จริงอยู่ ราคะเป็นต้นชื่อว่าธุลี เพราะอรรถว่าท่วมทับ ชื่อว่ามลทิน เพราะอรรถว่าประทุษร้าย.
               บทว่า ธมฺมจกฺขุํ ดวงตาเห็นธรรม คือในบางแห่งหมายถึงมรรคญาณที่ ๑ ในบางแห่งหมายถึงมรรคญาณ ๓ เป็นต้น บางแห่งมรรคญาณที่ ๔. แต่ในที่นี้ มรรคญาณที่ ๔ เกิดแก่ชฏิล ๑,๐๐๐ คน มรรคญาณที่ ๓ เกิดแก่ท่านปิงคิยะเท่านั้น.
               บทว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีเกิดการขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีการดับไปเป็นธรรมดา คือดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นแล้วแก่ท่านปิงคิยะผู้เป็นไปอย่างนี้ด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนา.
               บทที่เหลือ ในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต ด้วยประการดังนี้. และเมื่อจบเทศนา ท่านปิงคิยะได้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล.
               นัยว่า ท่านปิงคิยะนั้นคิดอยู่ในระหว่างๆ ว่า พาวรีพราหมณ์ผู้เป็นลุงของเรา ไม่ได้ฟังเทศนาอันมีปฏิภาณวิจิตรอย่างนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านปิงคิยะจึงไม่สามารถบรรลุพระอรหัตได้ เพราะความฟุ้งซ่านด้วยความเยื่อใย. แต่ชฏิลผู้เป็นอันเตวาสิก ๑,๐๐๐ ของท่านปิงคิยะ ได้บรรลุพระอรหัต. ทั้งหมดได้เป็นเอหิภิกขุ ผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๖               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค ปิงคิยมาณวกปัญหานิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 490อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 511อ่านอรรถกถา 30 / 532อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=4936&Z=5119
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=2028
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=2028
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :