ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 433อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 467อ่านอรรถกถา 30 / 490อ่านอรรถกถา 30 / 663
อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค
โปสาลมาณวกปัญหานิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               พึงทราบความในบทนี้ว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ สมติกฺกมา สัตว์ทั้งหลายก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สพฺพโส คือ โดยอาการทั้งปวง หรือแห่งรูปสัญญาทั้งปวง.
               บทว่า รูปสญฺญานํ คือ แห่งรูปาวจรฌานดังที่กล่าวแล้วด้วยธรรมเป็นหัวข้อคือสัญญา และอารมณ์แห่งรูปาวจรฌานนั้น.
               จริงอยู่ แม้รูปาวจรฌาน ท่านก็กล่าวว่ารูป ในบทมีอาทิว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ ดังนี้ แม้อารมณ์แห่งรูปาวจรฌานนั้นท่านก็กล่าวว่ารูป ในบทมีอาทิว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ สุวณฺทุพฺพณฺณานิ ดังนี้. เพราะฉะนั้น บทว่า รูปสญฺญานํ นี้จึงเป็นชื่อของรูปาวจรฌานด้วยธรรมเป็นหัวข้อว่าสัญญาอย่างนี้ว่า สัญญาในรูปนี้ชื่อว่ารูปสัญญา ดังนี้.
               ชื่อว่ารูปสัญญา เพราะมีรูปเป็นสัญญา. ท่านกล่าวว่า รูปเป็นชื่อของฌานนั้น.
               พึงทราบว่า บทว่า รูปสญฺญานํ นี้เป็นชื่อของอารมณ์ของรูปฌานนั้น มีประเภทแห่งปฐวีกสิณเป็นต้น.
               บทว่า สมติกฺกมา ก้าวล่วง คือเพราะปราศจากความกำหนัดเพราะดับ.
               ท่านอธิบายไว้ว่าอย่างไร.
               อธิบายไว้ว่า พระโยคาวจรเข้าอากาสานัญจายตนะ เพราะวิราคะเป็นเหตุ เพราะนิโรธเป็นเหตุ เพราะปราศจากราคะ เพราะดับรูปสัญญาอันได้แก่ฌาน ๑๕ ด้วยอำนาจแห่งกุศล วิบากและกิริยาก็ดี รูปสัญญาอันได้แก่อารมณ์ ๘ ด้วยอำนาจแห่งปฐวีกสิณเป็นต้นเหล่านั้นก็ดี รูปสัญญาที่เหลือโดยอาการทั้งปวงก็ดีย่อมอยู่. พระโยคาวจรไม่สามารถเข้าอากาสานัญจายตนฌานนั้น ด้วยการยังไม่ก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง. เพราะเมื่อยังไม่ปราศจากความกำหนัดในอารมณ์ จึงไม่เป็นอันก้าวล่วงสัญญา.
               อนึ่ง เมื่อก้าวล่วงสัญญาก็เป็นอันก้าวล่วงอารมณ์ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวการก้าวล่วงอารมณ์ แล้วกล่าวการก้าวล่วงสัญญาอย่างเดียวในวิภังค์อย่างนี้ว่า
               ในสัญญานั้น รูปสัญญาเป็นไฉน ความจำ อาการจำ ความเป็นผู้จำ ของพระโยคาวจรผู้เข้าถึงรูปาวจรสมาบัติก็ดี เกิดแล้วก็ดี ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันก็ดี เหล่านี้เรียกว่ารูปสัญญา เป็นผู้ล่วง ก้าวล่วง ก้าวล่วงพร้อมซึ่งรูปสัญญาเหล่านี้
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สพฺพโส รูปสญฺญานํ สมติกฺกมา ก้าวล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวงดังนี้. ก็เพราะสมาบัติเหล่านี้อันพระโยคาวจรจะพึงบรรลุได้ด้วยการก้าวล่วงอารมณ์ ไม่พึงถึงได้ในอารมณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น เหมือนการบรรลุรูปฌานมีปฐมฌานเป็นต้น ฉะนั้น พึงทราบว่านี้ท่านพรรณนาความแม้ด้วยสามารถการก้าวล่วงอารมณ์.
               บทว่า ปฏิฆสญฺญานํ อตฺถงฺคมา ดับปฏิฆสัญญา คือสัญญาอันเกิดขึ้นเพราะการกระทบของวัตถุมีจักษุเป็นต้น และของอารมณ์มีรูปเป็นต้น ชื่อว่าปฏิฆสัญญา. คำนี้เป็นชื่อของรูปสัญญาเป็นต้น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ปฏิฆสัญญาเป็นไฉน สัญญาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหล่านี้เรียกว่าปฏิฆสัญญา. การดับ การละ การไม่เกิดขึ้นแห่งปฏิฆสัญญา ๑๐ โดยประการทั้งปวง คือกุศลวิบากเหล่านั้น ๕ อกุศลวิบาก ๕ ท่านกล่าวว่ากระทำไม่ให้เป็นไปได้.
               ปฏิฆสัญญาเหล่านี้ย่อมไม่มีแม้แก่ผู้เข้าถึงปฐมฌานเป็นต้นโดยแท้ เพราะในสมัยนั้นจิตย่อมไม่เป็นไปด้วยสามารถแห่งทวาร ๕ แต่เมื่อเป็นอย่างนั้น เพื่อให้เกิดความอุตสาหะในฌานนี้ ดุจสุขและทุกข์ที่ละได้แล้วในจตุตถฌานและในที่อื่น และดุจในสักกายทิฏฐิที่ละได้ในมรรคที่ ๓ (อนาคามิมรรค) เป็นต้น พึงทราบคำในบทนี้แห่งปฏิฆสัญญาเหล่านั้นด้วยอำนาจแห่งการสรรเสริญฌานนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปฏิฆสัญญาเหล่านั้นย่อมไม่มีแก่ผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติก็จริง ที่แท้ไม่ใช่ไม่มี เพราะละแล้วก็หาไม่.
               จริงอยู่ รูปาวจรภาวนาย่อมไม่เป็นไป เพราะยังไม่คลายความยินดีในรูป และความเป็นไปแห่งรูปาวจรภาวนานี้ เพราะเนื่องด้วยรูป แต่ภาวนานี้ย่อมเป็นไปเพราะคลายความยินดีในรูป. เพราะฉะนั้น ควรจะกล่าวว่าละปฏิฆสัญญาได้ในฌานนี้. ไม่เพียงควรกล่าวอย่างเดียว ควรทรงไว้อย่างนี้โดยส่วนเดียวเท่านั้น. เพราะยังละปฏิฆสัญญาเหล่านั้นยังไม่ได้ในก่อนจากนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เสียงเป็นเสี้ยนหนามของผู้เข้าปฐมฌาน.
               ก็ในที่นี้ เพราะละปฏิฆสัญญาได้แล้ว ความไม่หวั่นไหวและความหลุดพ้นเพราะสงบของอรูปสมาบัติทั้งหลาย ท่านจึงกล่าวว่า อาฬารดาบส กาลามโคตรเข้าอรูปสมาบัติจึงไม่ได้เห็นและไม่ได้ยินเสียงเกวียน ๕๐๐ เล่มผ่านไป.
               บทว่า นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา ไม่มนสิการนานัตตสัญญา คือสัญญาอันเป็นไปแล้วในอารมณ์ต่างกันหรือสัญญาต่างกัน. เพราะสัญญาเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกไว้ในวิภังค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า นานัตตสัญญาเป็นไฉน ความจำ อาการที่จำ ความเป็นผู้จำของมโนธาตุที่พร้อมเพรียงกัน หรือของมโนวิญญาณธาตุที่พร้อมเพรียงกันของผู้ไม่เข้าสมาบัติ เหล่านี้เรียกว่านานัตตสัญญา.
               สัญญาที่สงเคราะห์เข้าในมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุของผู้ไม่เข้าสมาบัติ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ต่างกัน สภาวะต่างกัน มีรูปและเสียงเป็นต้น.
               อนึ่ง เพราะสัญญา ๔๔ เหล่านี้ คือสัญญาในกามาวจรกุศล ๘ สัญญาในอกุศล ๑๒ สัญญาในกามาวจรกุศลวิบาก ๑๑ สัญญาในอกุศลวิบาก ๒ สัญญาในกามาวจรกิริยา ๑๑ มีความต่างกัน มีสภาวะต่างกัน ไม่เหมือนกันและกัน ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นานตฺตสญฺญา มีสัญญาต่างกัน.
               การไม่ใส่ใจ การไม่คำนึงถึง การไม่นำมา การไม่พิจารณาถึงซึ่งนานัตตสัญญาเหล่านั้นโดยประการทั้งปวง. เพราะพระโยคาวจรไม่คำนึงถึง ไม่ใส่ใจ ไม่พิจารณาถึงนานัตตสัญญาเหล่านั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะในบทนี้ รูปสัญญาและปฏิฆสัญญาก่อนย่อมไม่มี แม้ในภพอันเกิดด้วยฌานนี้ จะกล่าวไปไยถึงในกาลที่เข้าฌานนี้ในภพนั้น ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงความไม่มีแห่งนานัตตสัญญาเหล่านั้นแม้โดยส่วนสอง คือการก้าวล่วง ๑ การดับ ๑.
               ก็ในนานัตตสัญญาทั้งหลาย เพราะสัญญา ๒๗ เหล่านี้ คือสัญญาในกามาวจรกุศล ๘ สัญญาในกิริยา ๙ สัญญาในกุศล ๑๐ ย่อมมีในภพที่แล้วด้วยฌานนี้ ฉะนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้ว่าไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญาเหล่านั้น.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรเข้าฌานนี้อยู่ ชื่อว่าเข้าเพราะไม่มนสิการนานัตสัญญาเหล่านั้น แต่เมื่อมนสิการนานัตตสัญญาเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่เข้าสมาบัติ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวการก้าวล่วงรูปสัญญาไว้ในที่นี้โดยย่อ ท่านกล่าวถึงการละรูปาวจรธรรมทั้งปวงด้วยบทนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ด้วยบทนี้ว่า ดับปฏิฆสัญญาและไม่มนสิการนานัตตสัญญา พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงการละและการไม่มนสิการจิตเจตสิกอันเป็นกามาวจรทั้งหมด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงคุณของอากาสานัญจายตนสมาบัติด้วย ๓ บท คือ ด้วยการก้าวล่วงรูปสัญญา ๑๕ ด้วยการดับปฏิฆสัญญา ๑๐ ด้วยไม่มนสิการนานัตตสัญญา ๔๔.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร.
               ตอบว่า เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความอุตสาหะและเพี่อเร้าใจ.
               เพราะหากว่า ชนบางพวกไม่เป็นผู้ฉลาดพึงกล่าวว่า พระศาสดาย่อมตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงยังอากาสานัญจายตนสมาบัติให้เกิดเถิด ตรัสถึงคุณของสมาบัติไว้ด้วยอาการเหล่านี้ว่า ชนทั้งหลายเหล่านั้นจงอย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า อะไรหนอเป็นประโยชน์เป็นอานิสงส์ของการเกิดนั้น. เพราะว่า ครั้นฟังชนเหล่านั้นแล้วจักคิดอย่างนี้ว่า นัยว่าสมาบัตินี้สงบอย่างนี้ ประณีตอย่างนี้ เราจักยังสมาบัตินั้นให้เกิด.
               ทีนั้น เพื่อให้สมาบัตินั้นเกิด ชนทั้งหลายจึงจักทำความอุตสาหะ.
               อนึ่ง เพื่อปลอบใจ. พระองค์จึงตรัสถึงคุณของสมาบัตินั้นแก่ชนเหล่านั้น ดุจพ่อค้าขายวิสกัณฑกะ. พ่อค้าขายวิสกัณฑกะ ท่านเรียกว่า คุฬวาณิช (พ่อค้าน้ำอ้อยงบ).
               เล่ากันมาว่า พ่อค้านั้นเอาเกวียนบรรทุกน้ำอ้อยงบน้ำตาลกรวดไปยังชายแดน แล้วโฆษณาว่าท่านทั้งหลายจงซื้อวิสกัณฑกะ วิสกัณฑกะกันเถิด. ชาวบ้านได้ฟังดังนั้นจึงคิดกันว่า ธรรมดาวิสะ (ยาพิษ) ร้ายมาก ผู้ใดกินวิสะเข้าไป ผู้นั้นย่อมตาย แม้กัณฑกะ (ลูกศร) ยิงแล้วก็ให้ตายได้ ทั้งสองอย่างร้ายทั้งนั้น เมื่อโฆษณาขาย อานิสงส์อะไรจักมีในการโฆษณานี้ จึงปิดประตูเรือนพาเด็กๆ หนีไป.
               พ่อค้าเห็นดังนั้นจึงคิดว่า ชาวบ้านเหล่านี้ไม่เป็นผู้ฉลาดในโวหาร ช่างเถิดเราจะให้เขาซื้อด้วยอุบาย จึงโฆษณาว่า พวกท่านทั้งหลาย จงซื้อของหวานมีรสอร่อย ท่านจะได้น้ำอ้อย น้ำอ้อยงบ น้ำตาลกรวดในราคาถูก ท่านจะซื้อได้ในราคามาสกเดียว กหาปณะเดียว.
               ชาวบ้านได้ฟังดังนั้นพากันยินดี พากันออกไปซื้อตามราคาเป็นอันมาก.
               พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านทั้งหลายจงยังอากาสานัญจาสมาบัติให้เกิดขึ้น ดุจการโฆษณาของพ่อค้าว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อวิสกัณฑกะกันเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงยังอากาสานัญจายนะให้เกิดเถิด ความคิดของผู้ฟังทั้งหลายว่าจะเกิดอานิสงส์อะไรในข้อนี้ พวกเรายังไม่รู้คุณของอากาสานัญจายตนะนั้นเลย ดุจความคิดของชาวบ้านว่า แม้ทั้งสองอย่างร้ายแรงมากในการโฆษณาจะเกิดผลดีในการโฆษณานี้ได้อย่างไร การประกาศอานิสงส์มีการก้าวล่วงรูปสัญญาเป็นต้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจถ้อยคำโฆษณาของพ่อค้านั้นมีอาทิว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อของหวานมีรสอร่อยกันเถิด จิตที่ได้รับการปลอบด้วยอานิสงส์นี้ ทำความอุตสาหะใหญ่แล้วยังสมาบัตินี้ให้เกิด ดุจชาวบ้านเหล่านั้นครั้นฟังโฆษณาอย่างนี้แล้วก็พากันซื้อน้ำอ้อยงบได้ตามราคาเป็นอันมาก.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อให้เกิดอุตสาหะ และเพื่อเร้าใจด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า อากาสานญฺจายตนูปคา เข้าถึงอากาสานัญจายตะ ดังนี้เป็นต้นต่อไป.
               ชื่อว่า อนนฺตํ เพราะอากาศไม่มีที่สุด. อากาศไม่มีที่สุดชื่อว่า อากาสานนฺตํ. อากาศไม่มีที่สุดนั่นแลชื่อว่า อากาสานญฺจํ. อากาศไม่มีที่สุดนั้นชื่อว่า อากาสานญฺจานํ เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรม ด้วยอรรถว่าตั้งมั่นดุจเทวสถานของเทวดาทั้งหลายฉะนั้น. คำนี้เป็นชื่อของ กสิณุคฆาติมากาส อากาศที่เพิกกสิณแล้ว. ในอากาสานัญจายตนะนั้น ชนทั้งหลายยังฌานให้เกิดแล้วเข้าถึงอากาสานัญจายตนภพด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ ชื่อว่า อากาสานญฺจายตนูปคา.
               ในบทต่อจากนี้ไปจักพรรณนาเพียงบทที่ต่างกันเท่านั้น.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า อากาสานญฺจายตนํ สมติกฺกมา ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะดังนี้ต่อไป.
               ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ เพราะอายตนะมีอากาศไม่มีที่สุด ด้วยอรรถว่าอธิษฐานไว้ตามนัยดังได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน แม้อารมณ์ก็เป็นทั้งฌานเป็นทั้งอารมณ์โดยนัยดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุนั้น ไม่ก้าวล่วงแม้ทั้งสองอย่าง ด้วยไม่กระทำให้เป็นไปและด้วยไม่ใส่ใจ. เพราะควรเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะนี้ ฉะนั้น ควรทำทั้งสองอย่างนี้ให้เป็นอันเดียวกัน และก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะ พึงทราบว่าข้อนี้ได้กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบความในบทว่า วิญฺญาณญฺจายนตนูปคา นี้ต่อไป.
               ชื่อว่า อนนฺตํ เพราะมีวิญญาณไม่มีที่สุด ด้วยอำนาจแห่งการควรมนสิการไม่มีที่สุด. วิญญาณไม่มีที่สุดนั่นเอง ชื่อว่า อานญฺจํ. วิญญาณไม่มีที่สุด ไม่กล่าวว่า วิญฺญาณานญฺจํ กล่าวว่า วิญฺญาณญฺจํ. นี้เป็น รุฬหิ ศัพท์ (ศัพท์เพิ่มขึ้น).
               ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าตั้งมั่นซึ่งวิญญาณไม่มีที่สุดนั้นนั่นแล ชื่อว่าวิญญาณัญจายตนะ สัตว์ทั้งหลายยังฌานให้เกิดในวิญญาณัญจายตนะนั้น แล้วเข้าถึงวิญญาณัญจายตนภพ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วิญฺญาณญฺจายตนูคา.
               แม้ในบทนี้ว่า วิญฺญาณญฺจายตนํ สมติกฺกมฺม ก็พึงทราบความต่อไปนี้.
               แม้ฌานก็ชื่อว่าวิญญาณัญจายตนะ เพราะชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าอธิษฐานไว้ซึ่งฌานนั้น มีวิญญาณไม่มีที่สุด โดยนัยดังได้กล่าวแล้วในก่อน. แม้อารมณ์ก็เป็นทั้งฌานเป็นทั้งอารมณ์ ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วนั่นแล ก้าวล่วงแม้ทั้งสองอย่าง ด้วยไม่ทำให้เป็นไปและไม่มนสิการด้วยประการฉะนี้. เพราะควรเข้าถึงอากิญจัญญายตนะนี้ ฉะนั้นทำทั้งสองนี้ให้เป็นอันเดียวกันแล้วก้าวล่วงวิญญาณัญจานะ ด้วยเหตุนั้น พึงทราบว่าข้อนี้ท่านกล่าวไว้แล้ว.
               อนึ่ง ในบทว่า อากิญฺจญฺญายตนูปคา นี้ พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า อกิญฺจนํ เพราะไม่มีเครื่องกังวล. ท่านกล่าวไว้ว่า ไม่มีเครื่องกังวลเหลือโดยที่สุดแม้เพียงในภังคขณะ ความไม่มีเครื่องกังวลชื่อว่า อากิญฺจญฺญํ. บทนี้เป็นชื่อของการปราศจากวิญญาณที่มีอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์ ชื่อว่า อากิญฺจญฺญายตนํ. ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าอธิษฐานซึ่งความไม่มีเครื่องกังวลนั้น. สัตว์ทั้งหลายยังฌานให้เกิดในอากิญจัญญายตนะนั้น แล้วเข้าถึงอากิญจัญญายตนภพ ชื่อว่า อากิญฺจญฺญายตนูปคา.
               บทว่า อยํ สตฺตมี วิญฺญาณฏฺฐิติ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ ๗ คือย่อมรู้ฐานะของปฏิสนธิวิญญาณที่ ๗ นี้. เพราะเนวสัญญานาสัญญายตนะ จะว่ามีวิญญาณก็ไม่ใช่ ไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ เพราะวิญญาณละเอียดเหมือนสัญญา ฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวไว้ในวิญญาณฐิติ.
               บทว่า อภูตํ ไม่จริง มีคำเป็นอาทิว่า รูปํ อตฺตา รูปเป็นตนดังนี้. คำนั้นไม่แท้เพราะวิปลาส. ชื่อว่าไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เพราะเป็นทิฏฐินิสัย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อภูตํ คือ ไม่มี ไม่เป็น. คำของผู้ไม่ใช่โจรมีอาทิว่า ทรัพย์นี้นางโจรภรรยาของเจ้าลักมา ทรัพย์นี้ไม่มีในเรือนของเจ้า.
               บทว่า อตจฺฉํ ไม่แท้ คือมีอาการไม่แท้ มีอาการเป็นอย่างอื่น มีอยู่ด้วยประการอื่น.
               บทว่า อนตฺถสญฺหิตํ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คือไม่อาศัยประโยชน์ในโลกนี้ หรือประโยชน์ในโลกอื่น.
               บทว่า น ตํ ตถาคโต พฺยากโรติ พระตถาคตไม่ทรงพยากรณ์เรื่องนี้ คือพระตถาคตไม่ตรัสกถาอันไม่นำสัตว์ออกไปนั้น.
               บทว่า ภูตํ ตจฺฉํ อนตฺถสญฺหิตํ คำจริงแท้ไม่มีประโยชน์ เป็นดิรัจฉานกถามีราชกถาเป็นต้น.
               บทว่า ภูตํ ตจฺฉํ อตฺถสญฺหิตํ คำจริงแท้มีประโยชน์ เป็นคำอิงอริยสัจ.
               บทว่า ตตฺร กาลญฺญู โหติ พระตถาคตทรงรู้จักกาลในเรื่องนั้น คือในการพยากรณ์ครั้งที่ ๓ นั้น พระตถาคตเป็นผู้รู้จักกาลเพื่อพยากรณ์ปัญหานั้น. อธิบายว่า พระตถาคตทรงรู้กาลในการถือเอา กาลในการรับของมหาชนแล้ว ทรงกระทำให้สมกับเหตุการณ์ จึงทรงพยากรณ์อันสมควรนั่นเอง.
               ชื่อว่า กาลวาที เพราะกล่าวในกาลอันสมควร.
               ชื่อว่า ภูตวาที เพราะกล่าวสภาพที่เป็นจริง.
               ชื่อว่า อตฺถวาที เพราะกล่าวถึงนิพพานอันเป็นปรมัตถ์.
               ชื่อว่า ธมฺมวาที เพราะกล่าวถึงมรรคธรรมและผลธรรม.
               ชื่อว่า วินยวาที เพราะกล่าวถึงวินัยมีการสำรวมเป็นต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐํ เห็นแล้ว คือย่อมรู้ย่อมเห็นอายตนะนั้นโดยอาการทั้งปวง ชื่อว่ารูปารมณ์อันมาสู่คลองในจักขุทวารของสัตว์นับไม่ถ้วนในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้มีอยู่. รูปายตนะนั้นอันผู้รู้ผู้เห็นอย่างนั้นจำแนกด้วยนัย ๕๒ ด้วยวาระ ๑๓ ด้วยชื่อมิใช่น้อย โดยนัยมีอาทิว่ารูปที่เรียกว่ารูปายตนะนั้นเป็นไฉน. รูปใดเป็นสีอาศัยมหาภูตรูป ๔ เป็นธรรมชาติที่เห็นได้และกระทบได้ ได้แก่สีเขียวคราม สีเหลือง... ดังนี้ เป็นธรรมชาติมีอยู่จริง ไม่จริงไม่มี ด้วยอำนาจอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ หรือด้วยอำนาจการได้ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในกลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้ทราบและในธรรมารมณ์ที่รู้แจ้ง.
               แม้ในเสียงเป็นต้นอันมาสู่คลองในโสตทวารเป็นต้นก็มีนัยนี้แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงอายตนะนั้นหลายๆ อย่าง จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ทิฏฺฐํ สุตํ เห็นแล้วฟังแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทิฏฺฐํ คือ รูปายตนะ.
               บทว่า สุตํ คือ สัททายตนะ.
               บทว่า มุตํ รู้แล้ว คือ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ เพราะถึงแล้วจึงควรรับ.
               บทว่า วิญฺญาตํ ได้แก่ ธรรมารมณ์ มีสุขและทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า ปตฺตํ คือแสวงหาก็ตาม ไม่แสวงหาก็ตาม ได้ถึงแล้ว.
               บทว่า ปริเยสตํ ถึงแล้วก็ตาม ไม่ถึงแล้วก็ตาม แสวงหาแล้ว.
               บทว่า อนุวิาจรํ มนสา คือ พิจารณาแล้วด้วยใจ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอายตนะนั้นด้วยบทนี้ว่า ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธํ อายตนะทั้งหมดนั้น ตถาคตรู้พร้อมแล้ว.
               รูปารมณ์ใดมีอาทิว่า สีเขียว สีเหลืองของโลก พร้อมทั้งเทวโลกนี้ ในโลกธาตุหาประมาณมิได้ ย่อมมาสู่คลองในจักขุทวาร สัตว์นี้เห็นรูปารมณ์ชื่อนี้ ในขณะนั้นเกิดความดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เฉยๆ บ้าง ด้วยเหตุนั้น ตถาคตรู้พร้อมรูปารมณ์นั้นทั้งหมด.
               อนึ่ง สัททารมณ์ใดมีอาทิว่า เสียงกลอง เสียงตะโพนของโลก พร้อมทั้งเทวโลกนี้ ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ย่อมมาสู่คลองในโสตทวาร, คันธารมณ์มีอาทิว่า กลิ่นที่ราก กลิ่นที่เปลือก ย่อมมาสู่คลองในฆานทวาร, รสารมณ์มีอาทิว่า มีรสที่ราก มีรสที่ลำต้น ย่อมมาสู่คลองในชิวหาทวาร, โผฏฐัพพารมณ์อันต่างด้วยปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ มีอาทิว่า แข็งอ่อน ย่อมมาสู่คลองในกายทวาร สัตว์นี้ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ชื่อนี้ ในขณะนี้ เกิดดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เฉยๆ บ้าง ด้วยเหตุนั้น ตถาคตรู้พร้อมซึ่งอารมณ์นั้นทั้งหมด.
               อนึ่ง ธรรมารมณ์มีประเภทเป็นสุขและทุกข์เป็นต้น ของโลกพร้อมด้วยเทวโลกนี้ ในโลกธาตุหาประมาณมิได้ ย่อมมาสู่คลองแห่งมโนทวาร สัตว์นี้รู้แจ้งธรรมารมณ์ชื่อนี้ในขณะนี้ เกิดดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ตถาคตรู้พร้อมธรรมารมณ์นั้นทั้งหมด.
               ดูก่อนจุนทะ อายตนะใด อันสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เห็นแล้ว ฟังแล้ว รู้แล้ว รู้แจ้งแล้ว อายตนะนั้นอันตถาคตไม่เห็นแล้ว ไม่ฟังแล้ว ไม่รู้แล้ว ไม่รู้แจ้งแล้วไม่มี. อายตนะที่มหาชนนี้แสวงหาแล้วยังไม่ถึงบ้างมีอยู่ ไม่แสวงหาแล้วยังไม่ถึงบ้างมีอยู่ แสวงหาแล้วถึงบ้างแล้วมีอยู่ ไม่แสวงหาแล้วถึงบ้างมีอยู่ แม้ทั้งหมดตถาคตยังไม่ถึงยังไม่ทำให้แจ้งด้วยญาณไม่มี.
               เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า เราเป็นตถาคต เพราะไปเหมือนอย่างที่ชาวโลกเขาไปกัน.
               แต่ในบาลีกล่าวว่า อภิสมฺพุทฺธํ บทนั้นมีความเดียวกันกับ คต ศัพท์.
               พึงทราบความแห่งบทนี้ว่า ตถาคโต ในวาระทั้งหมดโดยนัยนี้.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า ดูก่อนจุนทะ ณ ราตรีใด ตถาคตบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม และราตรีใด ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างนั้น ตถาคตกล่าว บอก ชี้แจงคำใด คำทั้งหมดนั้นเป็นจริงทั้งนั้น ไม่เป็นโดยประการอื่น เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกเราว่า ตถาคต ดังต่อไปนี้
               ณ ราตรีใด พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์ (บัลลังก์อันใครๆ ให้แพ้ไม่ได้) ณ โพธิมณฑล ทรงย่ำยีมารทั้ง ๓ เสียได้ แล้วตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ราตรีใด เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ ในระหว่างนี้ ในกาลมีกำหนด ๔๕ พรรษา ในปฐมโพธิกาลบ้าง มัชฌิมโพธิกาลบ้าง ปัจฉิมโพธิกาลบ้าง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำสอน คือ สุตตะ เคยยะ ฯลฯ เวทัลละ ทั้งหมดนั้นทั้งโดยอรรถ ทั้งโดยพยัญชนะ ไม่มีข้อตำหนิ ไม่บกพร่อง ไม่เกิน บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง กำจัดความมัวเมาด้วยอำนาจ ราคะ โทสะและโมหะ ในภาษิตนั้นไม่มีข้อผิดพลาดแม้เท่าปลายขนทราย ทั้งหมดนั้นเป็นจริงแน่นอน ไม่จริงไม่มี ดุจประทับด้วยตราตราเดียว ดุจตวงด้วยทะนานเดียว และดุจชั่งด้วยตาชั่งเดียว
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนจุนทะ ณ ราตรีใด ตถาคต ฯลฯ ทั้งหมดนั้นเป็นจริงแท้แน่นอนไม่เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกเราว่า ตถาคต ดังนี้.
               คต ศัพท์ในบทว่า ตถาคโต นี้มีความว่า กล่าว.
               อีกอย่างหนึ่ง คำพูดชื่อว่า อคทะ ความว่า คำกล่าว.
               พึงทราบความสำเร็จแห่งบทในความนี้อย่างนี้ว่า ชื่อว่า ตถาคโต เพราะแปลง อักษรเป็น อักษร ได้ความว่า เพราะมีพระดำรัสแท้ไม่วิปริต.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า ยถาวาที จุนฺท ฯลฯ วุจฺจติ ดังต่อไปนี้
               พระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าอนุโลมไปตามวาจา พระวาจาอนุโลมไปตามกาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเป็น ยถาวาที (พูดอย่างใด) ตถาการี (ทำอย่างนั้น) และ ยถาการี (ทำอย่างใด) ตถาวาที (พูดอย่างนั้น). อธิบายว่า แม้พระวรกายก็เป็นไปเหมือนพระวาจาของพระองค์ซึ่งเป็นไปแล้วอย่างนั้น.
               พึงทราบบทสำเร็จในบทนี้อย่างนี้ว่า ชื่อว่าตถาคโต เพราะพระวาจาไปแล้ว เป็นไปแล้วเหมือนพระวรกาย.
               บทว่า อภิภู อนภิภูโต เป็นใหญ่ยิ่งอันใครๆ ครอบงำไม่ได้ คือพระตถาคต เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องล่างถึงอเวจีเป็นที่สุด ทรงครอบงำสรรพสัตว์ในโลกธาตุทั้งหลาย อันหาประมาณมิได้โดยส่วนขวาง ด้วยศีลบ้าง สมาธิบ้าง ปัญญาบ้าง วิมุตติบ้าง วิมุตติญาณทัสสนะบ้าง จะชั่งหรือประมาณกับพระองค์ไม่มี พระตถาคตชั่งไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา เป็นเทวดายิ่งกว่าเทวดา เป็นท้าวสักกะยิ่งกว่าท้าวสักกะ เป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม.
               บทว่า อญฺญทตฺถุ โดยแท้ เป็นนิบาตลงใน เอกังสัตถะ มีความส่วนเดียว.
               ชื่อว่า ทโส เพราะทรงเห็น. ชื่อว่า วสวตฺติ เพราะเป็นผู้ให้อำนาจเป็นไป.
               พึงทราบบทสำเร็จในบทนั้นดังนี้ ชื่อว่า อคโท เป็นดุจยา.
               เป็นอย่างไร พระตถาคตทรงมีลีลาในการแสดงธรรมอันจับใจ และทรงมีบุญอันสะสมไว้แล้ว ด้วยเหตุนั้น พระองค์จึงทรงมีอานุภาพมาก ทรงครอบงำโลกพร้อมทั้งเทวโลกของผู้กล่าวติเตียนทั้งหมด ดุจแพทย์กำจัดพิษงูด้วยยาทิพย์ฉะนั้น.
               พึงทราบว่า ชื่อว่า ตถาคโต เพราะแปลง อักษรเป็น อักษร มีความว่า เพราะมียาคือลีลาการแสดง และการสะสมบุญแท้ไม่วิปริต ด้วยการครอบงำโลกทั้งหมดด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อิธฏฺฐญฺเญว ชานาติ กมฺมาภิสงฺขารวเสน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้จักผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ ด้วยอำนาจแห่งกรรมาภิสังขาร คืออปุญญาภิสังขาร.
               บทว่า กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา เมื่อการแตกตายไป คือเบื้องหน้าแต่ตายเพราะอุปาทินนกขันธ์แตก.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า อปายํ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า อปาโย เพราะปราศจากความสุขความเจริญ. ชื่อว่า ทุคฺคติ เพราะเป็นที่ไปเป็นที่อาศัยของทุกข์. ชื่อว่า วินิปาโต เพราะคนทำกรรมชั่วย่อมตกไปในอบายนี้. ชื่อว่า นิรโย เพราะอรรถว่าไม่มีความยินดี ไม่มีความชื่นใจ. เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกนั้น.
               บทว่า อุปฺปชฺชิสฺสติ คือ จักเกิดด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิ.
               บทว่า ติรจฺฉานโยนึ กำเนิดเดียรัจฉาน ชื่อว่า ติรจฺฉานา เพราะสัตว์ไปขวาง. กำเนิดแห่งเดียรัจฉานเหล่านั้น ชื่อว่า ติรจฺฉานโยนิ เข้าถึงกำเนิดเดียรัจฉานนั้น.
               บทว่า ปิตฺติวิสยํ เปรตวิสัย ชื่อว่า ปิตฺติวิสโย เพราะเป็นที่อยู่ของผู้ถึงความเป็นเปรต. เข้าถึงเปรตวิสัยนั้น.
               ชื่อว่ามนุษย์ เพราะมีใจสูง. ในมนุษย์เหล่านั้น.
               ต่อแต่นี้ไปพึงทราบความด้วยสามารถแห่งปุญญาภิสังขาร ในบทนี้ว่า กมฺมาภิสงฺขารวเสน ดังนี้.
               บทว่า อาสวานํ ขยา เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย คือเพราะอาสวะพินาศไป.
               บทว่า อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ เจโตวิมุตติอันหาอาสวะมิได้ คือผลวิมุตติที่ปราศจากอาสวะ.
               บทว่า ปญฺญาวิมุตฺตึ ปัญญาวิมุตติ คือปัญญาในอรหัตผล.
               พึงทราบว่า สมาธิชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ ปัญญาในอรหัตผลชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา.
               อีกอย่างหนึ่ง อรหัตผลอันตัณหาจริตบุคคลบรรลุแล้ว เพราะข่มกิเลสทั้งหลายด้วยกำลังของอัปปนาฌาน ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ. อรหัตผลอันทิฏฐิจริตบุคคลยังเพียงอุปจารฌานให้เกิด เห็นแจ้งแล้วจึงบรรลุ ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา.
               อีกอย่างหนึ่ง อนาคามิผล ชื่อว่าเจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะที่หมายถึงกามราคะ. อรหัตผล ชื่อว่าปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชาโดยประการทั้งปวง.
               พึงทราบความในบทว่า อากิญฺจญฺญายตเน อธิมุตฺติ วิโมกฺเขน น้อมไปในอากิญจัญญายตนะด้วยวิโมกข์ ดังนี้ต่อไป.
               ชื่อว่าวิโมกข์ด้วยอรรถว่ากระไร. ด้วยอรรถว่าพ้น. พ้นอะไร. พ้นด้วยดีจากธรรมเป็นข้าศึก และพ้นด้วยดีด้วยอำนาจความยินดียิ่งในอารมณ์. ท่านกล่าวไว้ว่าวิโมกข์ย่อมเป็นไปในอารมณ์ เพราะสิ้นสงสัย เพราะไม่ติเตียน ดุจทารกปล่อยอวัยวะน้อยใหญ่ตามสบายนอนบนตักของบิดา.
               บทว่า เอวรูเปน วิโมกฺเขน วิมุตฺตํ พ้นแล้วด้วยวิโมกข์เห็นปานนี้ คือปล่อยวิญญาณัญจายตนะแล้วจึงพ้น ด้วยอำนาจแห่งความไม่สงสัยในอากิญจัญญายตนะ.
               บทว่า อลฺลินํ ตตฺราธิมุตฺตํ ไม่ติด คือน้อมไปในสมาธินั้น.
               บทว่า ตทาธิมุตฺตํ คือ น้อมไปในฌานนั้น.
               บทว่า ตทาธิปเตยฺยํ คือ มีฌานนั้นเป็นใหญ่.
               ห้าบทมีอาทิว่า รูปาธิมุตฺโต น้อมใจไปในรูปดังนี้ ท่านกล่าวด้วยความหนักในกามคุณ.
               สามบทมีอาทิว่า กุลาธิมุตฺโต น้อมใจไปในตระกูล ท่านกล่าวด้วยความหนักในตระกูลมีกษัตริย์เป็นต้น.
               บทมีอาทิว่า ลาภาธิมุตฺโต น้อมใจไปในลาภ ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งโลกธรรม.
               สี่บทมีอาทิว่า จีวราธิมุตฺโต น้อมใจไปในจีวร ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งปัจจัย.
               บทมีอาทิว่า สุตฺตนฺตาทิมุตฺโต น้อมใจไปในพระสูตร ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งพระไตรปิฎก.
               บทว่า อารญฺญิกงฺคาธิมุตฺโต น้อมใจไปในองค์ของภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งธุดงค์.
               บทมีอาทิว่า ปฐมชฺฌานาธิมุตฺโต น้อมใจไปในปฐมฌาน ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งการได้เฉพาะ.
               บทว่า กมฺมปรายนํ มีกรรมเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งอภิสังขาร.
               บทว่า วิปากปรายนํ มีวิบากเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งความเป็นไป.
               บทว่า กมฺมครุกํ หนักอยู่ในกรรม คือหนักอยู่ในเจตนา.
               บทว่า ปฏิสนฺธิครุกํ หนักอยู่ในปฏิสนธิ คือหนักอยู่ในการเกิด.
               บทว่า อากิญฺจญฺญาสมฺภวํ เป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ คือรู้กรรมาภิสังขารว่า เป็นเหตุให้เกิดในอากิญจัญญายตนภพ. รู้อย่างไร. รู้ว่านี้เป็นปลิโพธ (ความห่วงใย).
               บทว่า นนฺทิสญฺโญชนํ อิติ มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ คือรู้ว่า ความเพลิดเพลินกล่าวคือราคะในอรูป ๔ เป็นเครื่องประกอบ.
               บทว่า ตโต ตตฺก วิปสฺสติ แต่นั้นก็พิจารณาเห็น (ธรรม) ในสมาบัตินั้น คือออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว เห็นแจ้งสมาบัตินั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น.
               บทว่า เอตํ ญาณํ ตถํ ตสฺส นั่นเป็นญาณอันเที่ยงแท้ของบุคคลนั้น คือนั่นเป็นอรหัตญาณอันเกิดขึ้นแล้วตามลำดับ แก่บุคคลนั้นผู้เห็นแจ้งอยู่อย่างนี้.
               บทว่า วุสีมโต คือ อยู่จบพรหมจรรย์.
               บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตด้วยประการฉะนี้ และเมื่อจบเทศนา ได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นกับที่กล่าวแล้วในครั้งก่อน.


               จบอรรถกถาโปสาลมาณวกปัญหานิทเทสที่ ๑๔               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปารายนวรรค โปสาลมาณวกปัญหานิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 30 / 1อ่านอรรถกถา 30 / 433อรรถกถา เล่มที่ 30 ข้อ 467อ่านอรรถกถา 30 / 490อ่านอรรถกถา 30 / 663
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=30&A=4258&Z=4518
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=46&A=1246
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=46&A=1246
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๔  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :