ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 0อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 31 / 2อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สุตมยญาณกถา

               ๑. สุตมยญาณกถา               
               อรรถกถาวิสัชนุทเทส               
               [๑] บัดนี้ ท่านปรารภนิทเทสวารมีอาทิว่า กถํ โสตาวธาเน ปญฺญา สุตมเย ญาณํ - ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว ชื่อว่าสุตญาณ คืออย่างไร? ดังนี้ ก็เพื่อจะแสดงธรรมทั้งหลายที่รวบรวมไว้ด้วยอุทเทสตามที่ได้ยกขึ้นแสดงแล้วเป็นประเภทๆ ไป.
               ในนิทเทสวารนั้น คำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า โสตาวธาเน ปญฺญา, สุตมเย ญาณํ - ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว ชื่อว่าสุตมยญาณ ดังนี้ คำนี้เป็นคำถามเพื่อจะกล่าวแก้ด้วยตนเองว่าสุตญาณนั้นเป็นอย่างไร?.
               จริงอยู่ ปุจฉา - คำถามมี ๕ อย่าง คือ
               ๑. อทิฏฺฐโชตนาปุจฺฉา - ถามเพื่อจะส่องความที่ยังไม่เห็น
               ๒. ทิฏฺฐสํสนฺทนาปุจฺฉา - ถามเพื่อจะเทียบเคียงสิ่งที่เห็นแล้ว
               ๓. วิมติจฺเฉทนาปุจฺฉา - ถามเพื่อจะตัดความสงสัย
               ๔. อนุมติปุจฺฉา - ถามเพื่อจะสอบสวนความรู้
               ๕. กเถตุกมฺยตาปุจฺฉา - ถามเพื่อจะตอบเอง.
               ความต่างกันแห่งปุจฉา ๕ อย่างนั้นมีดังต่อไปนี้
               อทิฏฐโชตนาปุจฉา เป็นไฉน?๑-
               คือ บุคคลย่อมถามปัญหาเพื่อจะรู้ เพื่อจะเห็น เพื่อจะเปรียบเทียบ เพื่อจะใคร่ครวญ เพื่อจะแจ่มแจ้ง เพื่อจะเปิดเผย ซึ่งลักษณะตามปกติอันตนยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยเปรียบเทียบ ยังไม่เคยใคร่ครวญ ยังไม่เคยแจ่มแจ้ง ยังไม่เคยเปิดเผย, ปุจฉานี้ชื่อว่าอทิฏฐโชตนาปุจฉา.
               ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา เป็นไฉน?๑-
               คือ บุคคลนั้นย่อมถามปัญหาถึงลักษณะตามปกติที่ตนเคยรู้แล้ว เคยเห็นแล้ว เคยเปรียบเทียบแล้ว เคยใคร่ครวญแล้ว เคยแจ่มแจ้งแล้ว เคยเปิดเผยแล้ว เพื่อเทียบเคียงกับบัณฑิตเหล่าอื่น. ปุจฉานี้ชื่อว่าทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.
               วิมติจเฉทนาปุจฉา เป็นไฉน?๑-
               คือ บุคคลนั้นตามปกติเป็นผู้แล่นไปสู่ความสงสัย เป็นผู้แล่นไปสู่ความเคลือบแคลง เป็นผู้แล่นไปสู่ความเห็นอันเป็นเหมือนทาง ๒ แพร่ง ย่อมถามปัญหาเพื่อตัดความสงสัยว่า อย่างนั้นหรือหนอ? หรือมิใช่อย่างนั้น? อะไรหนอ? อย่างไรหนอแลดังนี้ นี้ชื่อว่าวิมติจเฉทนาปุจฉา.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๗๐๐.

               อนุมติปุจฉา คือ
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามปัญหาตามความรู้ของภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญรูปนั้นว่า เที่ยงหรือไม่เที่ยง? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า,
               ก็ตรัสถามต่อไปว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข? เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า,
               ก็ตรัสถามต่อไปอีกว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา, ควรละหรือที่จะยึดถือคือเห็นตามว่านั่นเป็นของเรา, นั่นเป็นเรา, นั่นเป็นอัตตา ตัวตนของเรา? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นไม่สมควรเลย พระเจ้าข้า๒- ดังนี้.
               ชื่อว่าอนุมติปุจฉา.
____________________________
๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๑

               กเถตุกัมยตาปุจฉา เป็นไฉน?
               คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยมีพระประสงค์จะแก้เองว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐานเหล่านี้มี ๔. สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?๓- ดังนี้ ชื่อว่ากเถตุกัมยตาปุจฉา.
____________________________
๓- สํ. มหา. ๑๙/๗๗๖.

               ในบรรดาปุจฉาทั้ง ๕ เหล่านั้น ปุจฉานี้ บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นกเถตุกัมยตาปุจฉาของพระสารีบุตรเถระ.
               บัดนี้ ท่านได้กล่าววิสัชนุทเทส - อุทเทสที่ตั้งไว้เพื่อจะแก้ ๑๖ ประการมีอาทิว่า ปัญญาเป็นเครื่องทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว คือเครื่องรู้ชัดธรรมที่สดับมาแล้วนั้นว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ดังนี้ ชื่อว่าสุตมยญาณ ตามกเถตุกัมยตาปุจฉาที่ยกขึ้นตั้งไว้ในเบื้องต้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น ปาฐเสสะ คือ พระบาลีว่า เทสยนฺตสฺส - ของผู้แสดงอยู่ ของคำว่า อิเม ธมฺมา อภิญฺเญยฺยา - ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง ดังนี้หายไป.
               อธิบายว่า สุตะความรู้ที่ทรงจำธรรมที่ได้ฟังแล้ว ชื่อว่าโสตาวธาน ตามนัยที่ได้กล่าวไว้แล้วในก่อน ของพระศาสดาหรือของเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ควรเคารพ แสดงอยู่ซึ่งธรรมว่า ธรรมทั้งหลายเหล่านี้อันพระโยคีบุคคลควรรู้ยิ่ง ดังนี้, ปัญญาเป็นเครื่องรู้โสตาวธานนั้น คือปัญญาเป็นเครื่องรู้สุตะนั้น ได้แก่ปัญญาอันทำการกำหนดรู้ซึ่งปริยาย ชื่อว่าสุตมยญาณ.
               คำว่า ตํปชานนา - เป็นเครื่องรู้ซึ่งสุตะนั้น เป็นฉัฏฐีตัปปุริสสมาส วิเคราะห์ว่า ตสฺส ปชานนา - เป็นเครื่องรู้ซึ่งสุตะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็นทุติยาวิภัตติด้วยสามารถแห่งวิภัตติวิปลาสว่า ตํ ปชานนา ดังนี้.
               ก็คำว่า อภิญฺเญยฺยา - ควรรู้ยิ่ง. ความว่า ควรรู้ด้วยสามารถแห่งการรู้ซึ่งสภาวลักษณะ คือด้วยอาการแห่งปัญญาในมหากุศลญาณสัมปยุตจิต.
               คำว่า ปริญฺเญยฺยา - ควรกำหนดรู้. ความว่า ควรรอบรู้ด้วยสามารถแห่งการรู้ซึ่งสามัญลักษณะ และด้วยสามารถแห่งการยังกิจให้สำเร็จ.
               คำว่า ภาเวตพฺพา - ควรอบรม ความว่า ควรเจริญ.
               คำว่า สจฺฉิกาตพฺพา - ควรทำให้แจ้ง. ความว่า ควรทำให้ประจักษ์. ก็การทำให้แจ้งมี ๒ อย่างคือ การทำให้แจ้งด้วยการได้เฉพาะ ๑ การทำให้แจ้งด้วยการทำให้เป็นอารมณ์ ๑.
               ธรรมทั้งหลายเหล่าใดจัดจำแนกเข้าฝ่ายเสื่อม กล่าวคือเป็นไปในฝ่ายแห่งความเสื่อมด้วยสามารถแห่งการกำเริบขึ้นแห่งธรรมอันเป็นข้าศึก ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จึงชื่อว่า หานภาคิยา - อันเป็นส่วนแห่งความเสื่อม.
               ธรรมทั้งหลายเหล่าใดจัดจำแนกเข้าในฝ่ายดำรงอยู่ กล่าวคือตั้งอยู่ด้วยสามารถแห่งการตั้งมั่นแห่งสติตามสมควรแก่ธรรมนั้น ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นจึงชื่อว่า ฐิติภาคิยา - อันเป็นส่วนแห่งการดำรงอยู่.
               ธรรมทั้งหลายเหล่าใดจัดจำแนกเข้าในฝ่ายคุณวิเศษด้วยสามารถแห่งการบรรลุคุณพิเศษในเบื้องบน ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นจึงชื่อว่า วิเสสภาคิยา - อันเป็นส่วนแห่งคุณพิเศษ.
               ธรรมใดย่อมชำแรก ย่อมทำลายกองโลภะโทสะโมหะ ซึ่งยังไม่เคยชำแรก ไม่เคยทำลาย ฉะนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่านิพเพธะ - ผู้ทำลาย คืออริยมรรค, ธรรมทั้งหลายเหล่าใดย่อมจัดจำแนกเข้าในฝ่ายทำลายนั้น ด้วยสามารถแห่งการตั้งขึ้นแห่งสัญญามนสิการอันสหรคตด้วยนิพพิทา - ความเบื่อหน่าย ฉะนั้น ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นจึงชื่อว่านิพเพธภาคิยา - อันเป็นส่วนแห่งความเบื่อหน่าย.
               คำว่า สพฺเพ สงฺขารา - สังขารทั้งปวง ได้แก่ ธรรมอันเป็นไปกับด้วยปัจจัยทั้งปวง. ธรรมเหล่านั้นชื่อว่าสังขตธรรม - ธรรมอันมีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว. ธรรมเหล่าใดอันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งขึ้น ฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่าสังขาร.
               สังขารเหล่านั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวให้แปลกออกไปว่าสังขตา เพราะถูกปัจจัยทั้งหลายกระทำขึ้น. รูปธรรมและอรูปธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ในอรรถกถา ท่านกล่าวว่าอภิสังขตสังขาร เพราะเกิดแต่กรรม. แม้อภิสังขตสังขารเหล่านั้นก็ย่อมสงเคราะห์เข้าในสังขตสังขาร ดุจในคำเป็นต้นว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา - สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ๔- ดังนี้.
____________________________
๔- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๔๗

               สังขารทั้งหลาย องค์ธรรมได้แก่กุศลอกุศลเจตนาในภูมิ ๓ มีอวิชชาเป็นปัจจัย มาแล้วในคำเป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลนี้ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา ย่อมตกแต่งสังขารอันเป็นบุญและบาป๕- ดังนี้ ชื่อว่าอภิสังขรณกสังขาร.
               ความเพียรอันเป็นไปทางกายและทางใจ มาในคำเป็นต้นว่า คติแห่งอภิสังขารมีอยู่เท่าใด, ก็ไปเท่านั้น เหมือนกับถูกตรึงตั้งอยู่๖- ดังนี้ ชื่อว่าปโยคาภิสังขาร.
               วิตกวิจารปรุงแต่งวาจา มาแล้วในคำเป็นต้นว่า ดูก่อนวิสาขะ อุบาสกผู้มีอายุ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารดับก่อนแต่นั้น กายสังขารดับ ต่อไปจิตสังขารจึงดับ๗- ฉะนั้น จึงชื่อว่าวจีสังขาร.
____________________________
๕- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๑๙๑  ๖- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๔
๗- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๑๐

               อัสสาสะปัสสาสะ - ลมหายใจเข้าออก ย่อมตกแต่งกาย ฉะนั้น จึงชื่อว่ากายสังขาร.
               สัญญาด้วย เวทนาด้วย ย่อมตกแต่งจิต ฉะนั้น จึงชื่อว่าจิตตสังขาร.
               แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอาสังขตสังขาร.
               ชื่อว่า อนิจจา - ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่ามีแล้วกลับไม่มี.
               ชื่อว่า ทุกขา - เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่าเบียดเบียน.
               คำว่า สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวรวมเอาพระนิพพานเข้าไว้ด้วย. ชื่อว่าอนัตตา เพราะอรรถว่าไม่เป็นไปในอำนาจ.
               ในเมื่อควรจะกล่าวว่า ทุกฺขสมุทโย ทุกฺขนิโรโธ ดังนี้ ท่านก็ทำให้เป็นลิงควิปลาสเสียว่า ทุกฺขสมุทยํ ทุกฺขนิโรธํ ดังนี้ ดุจในคำเป็นต้นว่า อิทํ ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ดังนี้ แต่พระอริยะเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นย่อมแทงตลอด ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อริยสจฺจานิ - อริยสัจทั้งหลาย ดังนี้.
               ชื่อว่าอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะของพระอริยเจ้า ดุจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ ฯลฯ
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล พระอริยเจ้า
                         ทั้งหลายย่อมแทงตลอด เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอริยสัจ.

               ชื่อว่าอริยสัจ เพราะสำเร็จความเป็นอริยะ เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอริยสัจทั้งหลายเหล่านั้น.
               ดุจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๘-
                                   พระตถาคตเป็นพระอริยะในโลก พร้อมทั้ง
                         เทวโลก ฯลฯ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์, เพราะ
                         ฉะนั้น จึงเรียกว่าอริยสัจ.

____________________________
๘- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๐๘

               และชื่อว่าอริยสัจ เพราะเป็นสัจจะอันประเสริฐ.
               ดุจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๙-
                                   ตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะตรัสรู้-
                         พร้อมเฉพาะซึ่งอริยสัจ ๔ เหล่านี้แล ตามความเป็นจริง
                         เพราะฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกว่าอริยะ.

____________________________
๙- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๐๓

               คำว่า อริยานิ - อันประเสริฐ คือ ไม่ผิดเพี้ยน. อธิบายว่า ไม่หลอกลวง.
               ดุจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑๐-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล
                         เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น เพราะ
                         ฉะนั้น จึงเรียกว่าอริยสัจ.

____________________________
๑๐- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๗๐๗

               คำว่า สจฺจานิ - สัจจะทั้งหลาย ความว่า หากจะถามว่า อะไรเป็นอรรถของสัจจะเล่า? ก็มีคำตอบว่า ธรรมใดไม่วิปริตดุจดังมายา เป็นธรรมที่ทำให้เข้าใจผิดพลาด ดุจพยับแดดเป็นดุจตัวตนด้วยการคาดคะเนเอาของพวกเดียรถีย์หาสภาวะมิได้ ย่อมปรากฏแก่ผู้พิจารณาด้วยปัญญาจักษุ,
               ธรรมนั้นแลเป็นโคจรของอริยญาณ โดยประการแห่ง สันติ-ความสงบ และ นิยยาน-การนำออก จากแดนเกิดแห่งความลำบาก และโดยความเป็นจริงอันไม่วิปริต.
               ความเป็นจริงคือความแท้ความไม่วิปริตนี้ พึงทราบว่าเป็นอรรถะของสัจจะ ดุจลักษณะแห่งไฟ และดุจปกติของโลก.
               ความพิสดาร ดุจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑๑-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ
                         เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า
                         นี้ทุกข์ เป็นของจริงแท้ ไม่แปรผัน ไม่เป็นอย่างอื่น.

____________________________
๑๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๑๖๙๗

               อีกอย่างหนึ่ง
                                   ทุกข์เป็นของทำให้ลำบาก นอกจากทุกข์ไม่มีสิ่งใด
                         ทำให้ลำบาก สิ่งนี้จึงเรียกว่าสัจจะ เพราะนิยามว่าทำให้
                         ลำบาก, เว้นจากสิ่งนั้นเสียแล้ว ทุกข์ไม่มีมาจากสิ่งอื่น ด้วย
                         เหตุที่สิ่งนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์โดยแน่นอน จึงเรียกสิ่งนั้น
                         ว่าวิสัตติกาคือตัณหา ว่าเป็นสัจจะ,
                                   ความสงบอื่นจากพระนิพพานไม่มี เพราะฉะนั้น
                         ความดับทุกข์จึงเป็นความจริง ด้วยเหตุที่พระนิพพานนั้น
                         เป็นความดับทุกข์อย่างแน่นอน.
                                   ทางนำออกนอกจากอริยมรรคไม่มี เพราะฉะนั้น
                         อริยมรรคจึงเป็นความจริง เพราะเป็นความนำออกอย่าง
                         แท้จริง เพราะเหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายจึงได้กล่าวว่า ความ
                         เป็นจริงอันไม่วิปลาสจากความจริง.
                                   ในธรรมแม้ทั้ง ๔ มีทุกข์เป็นต้น ว่าเป็นอรรถะแห่ง
                         สัจจะเป็นพิเศษ ดังนี้.
               ก็สัจจะศัพท์นี้ย่อมปรากฏในอรรถเป็นอเนก คือ
               ย่อมปรากฏในอรรถว่าวาจาสัจจะ ได้ในคำเป็นต้นว่า๑๒- บุคคลพึงกล่าวความจริง ไม่พึงโกรธ ดังนี้.
               ย่อมปรากฏในอรรถว่าวิรติสัจจะ ได้ในคำเป็นต้นว่า๑๓- และสมณพราหมณ์ทั้งหลายตั้งอยู่แล้วในสัจจะ ดังนี้.
               ย่อมปรากฏในอรรถว่าทิฏฐิสัจจะ ได้ในคำเป็นต้นว่า๑๔- พวกมีทิฏฐิต่างกัน ย่อมกล่าวสัจจะว่าสิ่งนี้แหละของจริง พวกนั้นจะเรียกว่าเป็นผู้ฉลาดเหมือนกันหมดหรืออย่างไร? ดังนี้.
               ย่อมปรากฏในอรรถว่าปรมัตถสัจจะ คือนิพพานและมรรค ในคำเป็นต้นว่า๑๔- สัจจะมีเพียงอย่างเดียว สัจจะที่ ๒ ไม่มี ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้รู้โต้เถียงกัน.
               ย่อมปรากฏในอริยสัจ ในคำเป็นต้นว่า๑๕- สัจจะ ๔ เป็นกุศลเท่าไร? เป็นอกุศลเท่าไร? ดังนี้.
               แม้ในที่นี้ สัจจศัพท์นี้นั้นย่อมเป็นไปในอรรถว่าอริยสัจ ฉะนี้แล.
____________________________
๑๒- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๗  ๑๓- ขุ. ชา. เล่ม ๒๘/ข้อ ๓๕๘
๑๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๑๙  ๑๕- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๕๕๑

               อรรถกถาพรรณนาแห่งวิสัชนุทเทส               
               อันท่านสงเคราะห์แล้วในนิทเทสวาระ จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สุตมยญาณกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 0อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 31 / 2อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=95&Z=104
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=1434
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=1434
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :