ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 120อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 136อ่านอรรถกถา 31 / 143อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
โคตรภูญาณนิทเทส

               อรรถกถาโคตรภูญาณนิทเทส               
               [๑๓๖-๑๔๐] พึงทราบวินิจฉัยในโคตรภูญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า อภิภุยฺย - ครอบงำ คือ ย่อมครอบงำ ย่อมก้าวล่วง.
               บทว่า พหิทฺธา สงฺขารนิมิตฺตํ - สังขารนิมิตภายนอก ได้แก่ สังขารนิมิตอันเป็นภายนอกจากกุศลขันธ์อันเป็นไปแล้วในสันดานของตน.
               จริงอยู่ สังขารอันเป็นโลกิยะ ท่านกล่าวว่าเป็นนิมิต เพราะเป็นเครื่องหมายแห่งกิเลสทั้งหลาย, หรือเพราะตั้งขึ้นด้วยอาการของนิมิต.
               บทว่า อภิภุยฺยตีติ โคตฺรภู - ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำ ท่านกล่าวถึงความเป็นโคตรภู เพราะครอบงำโคตรของปุถุชน.
               บทว่า ปกฺขนฺทตีติ โคตฺรภู - ชื่อว่าโคตรภู เพราะอรรถว่าแล่นไป คือท่านกล่าวถึงความเป็นโคตรภู เพราะความเกิดขึ้นแห่งโคตรพระอริยะ.
               บทว่า อภิภุยฺยิตฺวา ปกฺขนฺทตีติ โคตฺรภู - ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำแล้วแล่นไป คือท่านกล่าวย่อความทั้งสอง.
               บทว่า วุฏฺฐาตีติ โคตฺรภูติ จ วิวฏฺฏตีติ โคตฺรภูติ จ - ชื่อว่าโคตรภู เพราะอรรถว่าออกไป และเพราะอรรถว่าหลีกไป คือ ท่านกล่าวถึงอรรถคือความครอบงำโคตรปุถุชนโดยสมควรแก่บทว่า วุฏฐานะ - การออก, วิวัฏฏนะ - การหลีกไปแห่งมาติกา.
               พึงทราบอรรถว่า ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำโคตรมีนิวรณ์เป็นต้นแห่งโคตรภูดังกล่าวแล้วด้วยสมถะ, ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำโคตรมีความเกิดเป็นต้น.
               ในสมาบัติวาร ๖ มีอาทิว่า โสตาปตฺติผลสมาปตฺตตฺถาย - เพื่อต้องการโสดาปัตติผลสมาบัติ, ชื่อว่าโคตรภู เพราะครอบงำโคตรมีโสดาบันเป็นต้น.
               ในมรรควาร ๓ มีอาทิว่า สกทาคามิมคฺคปฏิลาภตฺถาย - เพื่อต้องการได้สกทาคามิมรรค.
               อนึ่ง ในบทว่า โคตฺรภู นี้ มีอรรถว่าโคตร และมีอรรถว่าพืช.
               นัยว่าในอัตตนิปกรณ์ ท่านกล่าวนิพพานว่า โคตฺตํ - โคตร เพราะคุ้มครองจากอันตรายทั้งปวง, ชื่อว่าโคตรภู เพราะดำเนินไปสู่นิพพานนั้น, แม้สมาบัติ ๘ ก็ชื่อว่า โคตฺตํ - โคตร เพราะคุ้มครองจากอันตรายของโคตรภู, โคตรนั้น ท่านกล่าวว่าโคตรภู เพราะดำเนินไปสู่โคตร.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า โคตรภูแห่งมรรค ๔ มีนิพพานเป็นอารมณ์, โคตรภูแห่งผลสมาบัติ ๔ มีสังขารเป็นอารมณ์ เพราะน้อมไปในผลสมาบัติ.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า จิตของพระโยคาวจรผู้เห็นแจ้งตามลำดับอันเป็นไปแล้วนั้น ย่อมเอิบอิ่มในนิโรธด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติในระหว่างโคตรภูญาณมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยเหตุนั้นแล ในมรรควารนี้พึงทราบว่า ท่านทำจิตที่ ๑๖ แล้วถือเอาจิตที่ ๖ ในสมาบัติวารแห่งบทสังขารนิมิตภายนอกที่ถือเอาแล้ว จึงไม่ถือเอา. โดยประการนอกนี้ พึงถือเอาการถือบทอันเป็นมูลเหตุ.
               [๑๔๑] ก็อาจารย์เหล่าอื่นกล่าวว่า การผูกใจครั้งแรกในนิพพาน เป็นการรวบรวมครั้งแรก นี้ท่านกล่าวว่าโคตรภู. โคตรภูหมายถึงผลนั้นไม่ถูก.
               ในบทนี้ว่า ปณฺณรส โคตฺรภูธมฺมา กุสลา - โคตรภูธรรมเป็นกุศล ๑๕ พึงทราบอธิบายดังต่อไปนี้
               ชื่อว่าโคตรภูย่อมไม่สมควรแก่พระอรหันต์ เพราะไม่มีนิวรณ์อันควรครอบงำ เพราะวิตกวิจารเป็นต้นพึงละได้ง่าย และเพราะอรรถว่าครอบงำ เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าท่านทำไว้แล้วไม่กล่าวถึง เพราะโคตรภูเป็นอัพยากฤต.
               อนึ่ง พระอรหันต์ผู้เข้าผลสมาบัติ ไม่สามารถครอบงำสังขารเข้าสมาบัติได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โคตรภูธรรมเป็นอัพยากฤตมี ๓.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สมาบัติ ๘ เป็นไปในส่วนแห่งการแทงตลอดด้วยสามารถอริยมรรคที่ท่านชี้แจงไว้แล้วในที่นี้, เพราะฉะนั้น โคตรภูแห่งสมาบัติ ๘ จึงเป็นกุศล.
               อนึ่ง พึงทราบแม้ในสังขารุเปกขาญาณอย่างนั้น.
               [๑๔๒] พึงทราบอธิบายความในคาถามีอาทิว่า สามิสญฺจ ดังต่อไปนี้.
               บรรดาวัฏฏามิส โลกามิส กิเลสามิสทั้งหลาย โคตรภูญาณมีอามิสด้วยโลกามิส เพราะยังมีความอยาก.
               นั่นคืออะไร? คือ สมถโคตรภูญาณ ๘ อย่าง.
               บทว่า วฏฺฏามิสํ ในที่นี้ ได้แก่ วัฏฏะเป็นไปในภูมิ ๓ นั่นเอง.
               บทว่า โลกามิสํ ได้แก่ กามคุณ ๕.
               บทว่า กิเลสามิสํ ได้แก่ กิเลสทั้งหลายนั่นเอง.
               บทว่า นิรามิสํ ได้แก่ วิปัสสนาโคตรภูญาณ ๑๐ อย่าง เพราะไม่มีความอยาก.
               จริงอยู่ พระอริยะทั้งหลายไม่ทำความอยากในโคตรภู.
               ในคัมภีร์อาจารย์ทั้งหลายเขียนไว้ว่า สามิสญฺเจ นั่นไม่ดีเลย.
               พึงทราบ ปณิหิตะ อัปปณิหิตะ, สัญญุตตะ วิสัญญุตตะ, วุฏฐิตะ อวุฏฐิตะ ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าปณิหิตะ คือความปรารถนา เพราะตั้งอยู่ในความใคร่. ชื่อว่าอัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้ง. ชื่อว่าสัญญุตตะ เพราะประกอบด้วยความอยาก. ชื่อว่าวิสัญญุตตะ เพราะไม่ประกอบด้วยความอยาก.
               บทว่า วุฏฺฐิตํ ได้แก่ โคตรภูญาณอันเป็นวิปัสสนานั่นเอง.
               จริงอยู่ โคตรภูญาณนั้น ชื่อว่าวุฏฐิตะ เพราะตัดความอยาก. นอกนั้นเป็นอวุฏฐิตะ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวุฏฐิตะ เพราะออกไปภายนอก.
               พึงทราบว่า แม้ผลโคตรภูอันเป็นสังขารนิมิตภายนอกก็ชื่อว่าวุฏฐิตะ เพราะมุ่งหน้าสู่นิพพานด้วยอัธยาศัยในนิพพาน.
               พึงทราบว่า แม้ในวาระแห่งการครอบงำ การออก การหลีกไปในภายหลัง ก็พึงทราบว่า ผลโคตรภูชื่อว่าย่อมครอบงำ ย่อมออกไป ย่อมหลีกไป เพราะมุ่งสู่นิพพานด้วยอัธยาศัย.
               บทว่า ติณฺณํ วิโมกฺขานปจฺจยา - เป็นปัจจัยแห่งวิโมกข์ ๓ ได้แก่ สมถโคตรภูเป็นปกตูปนิสปัจจัยแก่โลกุตรวิโมกข์ ๓, วิปัสสนาโคตรภูเป็นอนันปัจจัย สมนันปัจจัยและอุปนิสปัจจัย.
               บทว่า ปญฺญา ยสฺส ปริจฺจิตา - พระโยคาวจรอบรมแล้วด้วยปัญญา คือปัญญาอันเป็นส่วนเบื้องต้นอันพระโยคาวจรอบรมแล้วคือสะสมแล้ว.
               บทว่า กุสโล วิวฏฺเฏ วุฏฺฐาเน - พระโยคาวจรเป็นผู้ฉลาดในการออกไป ในการหลีกไป คือเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลมในโคตรภูญาณ อันได้แก่วิวัฏฏะด้วยความไม่ลุ่มหลงนั่นแล หรือเป็นผู้ฉลาดด้วยญาณอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า นานาทิฏฺฐีสุ น กมฺปติ - ย่อมไม่หวั่น เพราะทิฏฐิต่างๆ คือไม่หวั่นไหวในทิฏฐิมีประการต่างๆ ที่ละได้แล้วด้วยสมุจเฉท.

               จบอรรถกถาโคตรภูญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา โคตรภูญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 120อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 136อ่านอรรถกถา 31 / 143อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1584&Z=1645
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6559
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6559
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :