ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 152อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 153อ่านอรรถกถา 31 / 160อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ปัจจเวกขณญาณนิทเทส

               ๑๔. อรรถกถาปัจจเวกขณญาณนิทเทส               
               [๑๕๓-๑๕๙] พึงทราบวินิจฉัยในปัจจเวกขณญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               พระสารีบุตรเถระครั้นกล่าวองค์แห่งมรรคไว้แผนกหนึ่งๆ ก่อน เพราะอรรถว่าเป็นเหตุในขณะแห่งมรรคนั่นเอง แล้วจึงแสดงถึงโพชฌงค์ไว้แผนกหนึ่งโดยความเป็นองค์แห่งอริยะ อันได้ชื่อว่าโพธิ เพราะอรรถว่าตรัสรู้ธรรมอันเป็นองค์แห่งมรรค และมิใช่องค์แห่งมรรคอีก.
               จริงอยู่ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วีริยสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นองค์แห่งมรรคอย่างเดียว, ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ มิใช่องค์แห่งมรรค.
               บรรดาธรรมทั้งหลายที่แสดงไว้ต่างหาก โดยเป็นพละและอินทรีย์ ศรัทธาเท่านั้นมิใช่เป็นองค์แห่งมรรค.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงธรรมที่เกิดในขณะแห่งมรรคอีก ด้วยสามารถเป็นหมวดหมู่ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อาธิปเตยฺยฏฺเฐน - ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อุปฏฺฐานฏฺเฐน สติปฏฺฐานา - ชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะอรรถว่าตั้งมั่น.
               ความว่า สติเป็นไปในกาย เวทนา จิต ธรรม มีนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียวเท่านั้น ทั้ง ๔ อย่างนั้น ชื่อว่าสติปัฏฐาน ด้วยสามารถให้สำเร็จกิจในการละความสำคัญว่างาม เป็นสุข เที่ยง เป็นตัวตน, วีริยะอย่างเดียวเท่านั้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ ชื่อว่าสัมมัปธาน ๔ ด้วยให้สำเร็จกิจ คือละอกุศลที่เกิดแล้วและอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ให้สำเร็จกิจคือความเกิดขึ้นแห่งกุศลที่ยังไม่เกิดและความตั้งอยู่แห่งกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว.
               บทว่า ตถฏฺเฐน สจฺจา - ชื่อว่าสัจจะ เพราะอรรถว่าจริงแท้.
               ความว่า ชื่อว่าอริยสัจ ๔ เพราะอรรถว่าไม่ผิด ในความเป็นสัจจะมีทุกข์เป็นต้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ อริยสัจ ๔ นั่นแหละ ชื่อว่าประชุมกันในครั้งนั้น เพราะอรรถว่าเป็นการรู้แจ้งแทงตลอด. และท่านกล่าวถึงนิพพานไว้ต่างหากว่า อมโตคธํ นิพฺพานํ - หยั่งลงสู่อมตะ คือ พระนิพพาน. ส่วนธรรมที่เหลือชื่อว่าประชุมกันในครั้งนั้น เพราะอรรถว่าได้รับเฉพาะ.
               ในบทนี้ควรตัดสินว่า พระโยคาวจรย่อมพิจารณาสัจจะ ๔ อย่างแน่นอนในที่สุดแห่งมรรคผล เพราะคำว่า ตถฏฺเฐน สจฺจา ตทา สมุทาคตา - ชื่อว่าสัจจะประชุมกันในครั้งนั้น เพราะอรรถว่าเป็นสภาวะจริงแท้.
               และเพราะคำว่า๑- กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺ ตายาติ ปชานาติ - ย่อมรู้ว่ากิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่ควรทำเพื่ออย่างนี้อีก จึงเป็นอันกล่าวถึงการพิจารณาว่า ทุกข์อันเรากำหนดรู้แล้ว สมุทัยอันเราละแล้ว นิโรธอันเราทำให้แจ้งแล้ว มรรคอันเราเจริญแล้ว. การพิจารณาอย่างนั้นสมควร.
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๓

               อนึ่งในบทว่า สมุทโย นี้ พึงทราบถึงกิเลสที่ทำลายด้วยมรรคนั้นๆ นั่นแล. ด้วยการพิจารณาสมุทัยที่ท่านกล่าวไว้ในบทนี้ ในอรรถกถา ท่านจึงกล่าวว่า การพิจารณากิเลส ๒ อย่าง การพิจารณามรรคผล นิพพานมาแล้วโดยสรุปในที่นี้. ท่านมิได้กล่าวถึงการพิจารณาทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น. ถึงท่านไม่กล่าวไว้ก็จริง ที่แท้แล้วควรถือเอาตามที่ปรากฏในบาลีและตามความเหมาะสม.
               จริงอยู่ เมื่อการรู้แจ้งแทงตลอดสัจจะ สำเร็จแก่ผู้ปฏิบัติเพื่อรู้แจ้งแทงตลอดสัจจะ การพิจารณาถึงกิจที่ทำเสร็จแล้วด้วยตนเอง เป็นความสมควรทีเดียว.
               บทมีอาทิว่า อวิกฺเขปฏฺเฐน สมโถ - ชื่อว่าสมถะ เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน.
               ความว่า พระสารีบุตรเถระกล่าวธรรม คือสมถะและวิปัสสนาอันสัมปยุตด้วยมรรค เพื่อแสดงโดยอรรถมีรสอย่างเดียวกัน และโดยอรรถอันไม่ล่วงล้ำกัน.
               บทว่า สํวรฏฺเฐน สีลวิสุทฺธิ - ชื่อว่าสีลวิสุทธิ เพราะอรรถว่าสำรวม ได้แก่ มีวาจาชอบ มีการงานชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ.
               บทว่า อวิกฺเขปฏฺเฐน จิตฺตวิสุทฺธิ - ชื่อว่าจิตตวิสุทธิ เพราะอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน ได้แก่ มีความตั้งใจชอบนั่นเอง.
               บทว่า ทสฺสนฏฺเฐน ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ - ชื่อว่าทิฏฐิวิสุทธิ เพราะอรรถว่าเห็น ได้แก่ เห็นชอบนั่นเอง.
               บทว่า วิมุตฺตฏฺเฐน เพราะอรรถว่าหลุดพ้น คือหลุดพ้นจากกิเลส ทำลายด้วยมรรค ด้วยความเด็ดขาด หรือน้อมไปในอารมณ์คือนิพพาน.
               บทว่า วิโมกฺโข - ความหลุดพ้น ได้แก่ ความหลุดพ้นโดยเด็ดขาด คืออริยมรรคนั่นเอง.
               บทว่า ปฏิเวธนฏฺเฐน วิชฺชา - ชื่อว่าวิชชา เพราะอรรถว่าแทงตลอด คือแทงตลอดสัจจะ. ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ - เห็นชอบนั่นเอง.
               บทว่า ปริจฺจาคฏฺเฐน วิมุตฺติ - ชื่อว่าวิมุตติ เพราะอรรถว่าปล่อย.
               มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่าวิมุตติ เพราะพ้นจากกิเลสนั้นด้วยการละกิเลสอันมรรคฆ่าแล้ว. ได้แก่อริยมรรคนั่นเอง.
               บทว่า สมุจฺเฉทฏฺเฐน ขเย ญาณํ - ชื่อว่าขยญาณ เพราะอรรถว่าตัดขาด.
               ความว่า ชื่อว่าอริยมรรคญาณทำความสิ้นไปแห่งกิเลสด้วยการตัดกิเลสได้เด็ดขาด. ได้แก่ เห็นชอบนั่นเอง.
               พึงทราบฉันทะเป็นต้น โดยนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               จริงอยู่ ในบทนี้พระสารีบุตรเถระแสดงโดยอาการเป็นเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุดแห่งมรรคในขณะมรรคนั่นแหละ.
               อนึ่ง ในบทว่า วิมุตฺติ นี้ได้แก่ มรรควิมุตตินั่นเอง.
               อนึ่ง นิพพานแม้ท่านถือเอาในบทว่า ตถฏฺเฐน สจฺจา ชื่อว่าสัจจะ เพราะอรรถว่าจริงแท้ ก็พึงทราบว่าท่านกล่าวอีก เพื่อแสดงถึงความเป็นที่สุดในบทนี้.
               แม้ในขณะแห่งผลก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แต่ในบทนี้ว่า เหตฏฺเฐน มคฺโค ชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่าเป็นเหตุ พึงทราบในความเป็นเหตุแห่งผลนั่นเอง.
               บทว่า สมฺมปฺปธานา - ความเพียรชอบ พึงทราบว่า ท่านกล่าวเพราะความที่ผลอันเป็นกิจของความเพียรยังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จแล้วในขณะเกิด. เพราะสัมมัปธานย่อมไม่ได้ในขณะผลโดยประการอื่น.
               พระเถระผู้ยกโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ขึ้นในขณะแห่งมรรคกล่าวไว้ว่า ธรรม ๓๗ ประการที่เหลือ เว้นสัมมัปธาน ๔ ย่อมได้ในขณะแห่งผล.
               พึงทราบแม้สัจจะเป็นต้น ตามที่ประกอบด้วยสามารถสำเร็จกิจ มีกิจคือการแทงตลอดเป็นต้นอย่างนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง บทว่า วิโมกฺโข ได้แก่ ผลวิโมกข์.
               บทว่า วิมุตฺติ ได้แก่ ผลวิมุตติ.
               ชื่อ อนุปฺปาทญาณ - ญาณในความไม่เกิด เพราะอรรถว่าระงับ มีความดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า วุฏฺฐหิตฺวา - ออกแล้ว ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ด้วยอำนาจแห่งผล เพราะไม่มีการออกในระหว่าง.
               บทว่า อิเม ธมฺมา ตทา สมุทาคตา - ธรรมเหล่านี้เริ่มเกิดในครั้งนั้น.
               พึงทราบการเชื่อมใส่ อิติ ศัพท์ อันเป็นบาลีที่เหลือว่า พระโยคาวจรย่อมพิจารณาว่า ธรรมมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านี้ เริ่มเกิดในขณะแห่งมรรคและในขณะแห่งผล ดังนี้.

               จบอรรถกถาปัจจเวกขณญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ปัจจเวกขณญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 152อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 153อ่านอรรถกถา 31 / 160อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=1741&Z=1814
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6765
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6765
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :