ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 165อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 171อ่านอรรถกถา 31 / 177อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ภูมินานัตตญาณนิทเทส

               อรรถกถาภูมินานัตตญาณนิทเทส               
               [๑๗๑-๑๗๒] พึงทราบวินิจฉัยในภูมินานัตตญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า ภูมิโย - ภูมิทั้งหลาย ได้แก่ ภาคหรือปริจเฉท.
               ในบทว่า กามาวจรา นี้ได้แก่ กาม ๒ อย่างคือ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑. ฉันทราคะเป็นกิเลสกาม. วัฏฏะเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นวัตถุกาม.
               กิเลสกามชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าให้ใคร่. วัตถุกามชื่อว่ากาม เพราะอรรถว่าอันบุคคลใคร่.
               กาม ๒ อย่างนั้นเคลื่อนไปในประเทศใดด้วยความเป็นไป. ประเทศนั้นชื่อว่ากามาวจร เพราะอรรถว่าเป็นที่เคลื่อนไปแห่งกาม.
               อนึ่ง ประเทศนั้นเป็นกามาวจร ๑๑ คือ อบาย ๔ มนุษยโลก ๑ และเทวโลก ๖. เหมือนอย่างว่า บุรุษพร้อมด้วยพ่อค้าเกวียนท่องเที่ยวไปในประเทศใด ประเทศนั้นแม้เมื่อมีสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้าเหล่าอื่นท่องเที่ยวไป ท่านก็เรียกว่า สสัตถาวจร - เป็นที่เที่ยวไปขอพ่อค้าเกวียน เพราะกำหนดพ่อค้าเกวียนเหล่านั้นไว้ฉันใด แม้เมื่อมีรูปาวจรเป็นต้นเหล่าอื่นเคลื่อนไปในประเทศนั้น ประเทศนั้น ท่านก็เรียกว่ากามาวจรอยู่นั่นแหละ เพราะกำหนดรูปาวจรเป็นต้นเหล่านั้นไว้ฉันนั้น.
               ท่านกล่าวว่ากาม เพราะลบบทหลัง เหมือนรูปภพท่านกล่าวว่ารูปฉะนั้น.
               ธรรมอย่างหนึ่งๆ อันเนื่องด้วยกามนั้น ชื่อว่ากามาวจร เพราะเคลื่อนไปในกามอันได้แก่ประเทศ ๑ อย่างนี้.
               แม้ว่า ธรรมบางอย่างในกามาวจรนี้เคลื่อนไปในรูปภพและอรูปภพก็จริง ถึงดังนั้น แม้ธรรมเหล่านั้นเคลื่อนไปในที่อื่น ก็พึงทราบว่าเป็นกามาวจรโดยแท้ เหมือนอย่างว่า ช้างได้ชื่อว่าสังคามาวจร เพราะท่องเที่ยวไปในสงคราม แม้เที่ยวไปในนครท่านก็กล่าวว่าสังคามาวจร - ท่องเที่ยวไปในสงครามเหมือนกัน. สัตว์ทั้งหลายเที่ยวไปบนบกในน้ำ แม้อยู่ในที่มิใช่บกและมิใช่น้ำ ท่านกล่าวว่า สัตว์บก สัตว์น้ำ เหมือนกัน ฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากามาวจร เพราะอรรถว่ากามเคลื่อนไปในธรรมทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านี้ ด้วยการทำเป็นอารมณ์.
               อนึ่ง กามนั้นแม้เคลื่อนไปในรูปาวจรธรรมและอรูปาวจรธรรมก็จริง ถึงดังนั้น พึงทราบข้อเปรียบเทียบดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อกล่าวว่า ชื่อว่าลูกวัว เพราะร้อง. ชื่อว่าควาย เพราะนอนบนแผ่นดิน. สัตว์จำพวกไม่ร้อง หรือจำพวกนอนบนแผ่นดิน ชื่อนั้นย่อมมีแก่สัตว์ทั้งปวง ฉะนั้น.
               [๑๗๓] ในบทนี้ท่านเพ่งถึงภูมิศัพท์ กล่าวทำธรรมเหล่านั้นทั้งหมดให้เป็นหมวดเดียวกันแล้ว จึงทำให้เป็นอิตถีลิงค์ว่า กามาวจรา. รูปภพเป็นรูปในบทมีอาทิว่า รูปาวจรา. ชื่อว่ารูปาวจร เพราะท่องเที่ยวไปในรูปนั้น.
               [๑๗๔] อรูปภพเป็นอรูป. ชื่อว่า อรูปาวจรา เพราะท่องเที่ยวไปในอรูปภูมินั้น.
               [๑๗๕] ชื่อว่า ปริยาปนฺนา เพราะอรรถว่านับเนื่องคือหยั่งลงภายใน ในเตภูมิกวัฏ. ชื่อว่า อปริยาปนฺนา เพราะอรรถว่าไม่นับเนื่องในเตภูมิกวัฏนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งภูมิมีกามาวจรภูมิเป็นต้นดังต่อไปนี้.
               บทว่า เหฏฺฐโต - ข้างล่าง คือโดยส่วนล่าง.
               บทว่า อวีจินิรยํ - อเวจีนรก ชื่ออวีจิ เพราะอรรถว่าคลื่นแห่งเปลวไฟแห่งสัตว์แห่งเวทนา คือช่องว่างในระหว่างไม่มีในอเวจีนี้. ชื่อว่านิรยะ เพราะอรรถว่าความเจริญ คือความสุข ไม่มีในนรกนี้.
               อนึ่ง ชื่อว่านิรยะ เพราะอรรถว่าไม่มีความยินดี.
               บทว่า ปริยนฺตํ กริตฺวา - กระทำเป็นที่สุด คือกระทำนรกกล่าวคืออเวจีนั้นให้เป็นที่สุด.
               บทว่า อุปริโต - ข้างบน คือ โดยส่วนบน.
               บทว่า ปรนิมฺมิตวสวตฺตี เทเว - เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี คือ เทวดาที่ได้ชื่ออย่างนี้ เพราะยังอำนาจให้เป็นไปในกามที่ผู้อื่นเนรมิตให้.
               บทว่า อนฺโต กริตฺวา - กระทำในภายใน คือใส่ไว้ในภายใน.
               บทว่า ยํ เอตสฺมึ อนฺตเร - ในระหว่างนี้ คือในโอกาสนี้.
               อนึ่ง บทว่า ยํ เป็นลิงควิปลาส.
               บทว่า เอตฺถาวจรา - ท่องเที่ยวไปในโอกาสนี้.
               ความว่า ด้วยบทนี้ เพราะแม้ขันธ์เป็นต้นเหล่าอื่นเที่ยวไปในโอกาสนี้บางครั้ง โดยเกิดขึ้นในที่บางแห่ง ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อวจรา เพื่อไม่สงเคราะห์ขันธ์เป็นต้นเหล่านั้น. ด้วยเหตุนั้น ขันธ์เป็นต้นเหล่าใดหยั่งลงในโอกาสนี้ เที่ยวไปโดยเกิดในที่ทุกหนทุกแห่งและในกาลทุกเมื่อ.
               อนึ่ง เที่ยวไปในส่วนเบื้องล่าง โดยความเป็นไปหมายถึงเกิดภายใต้อเวจีนรก. ย่อมเป็นอันทำการสงเคราะห์ขันธ์เป็นต้นเหล่านั้น. เพราะขันธ์เป็นต้นเหล่านั้นชื่อว่าอวจรา เพราะหยั่งลงเที่ยวไป. และเที่ยวไปในส่วนเบื้องล่าง.
               บทว่า เอตฺถ ปริยาปนฺนา - อันนับเนื่องในโอกาสนี้.
               ก็ด้วยบทนี้ เพราะขันธ์เป็นต้นเหล่านี้ท่องเที่ยวไปในโอกาสนี้ ชื่อว่าย่อมท่องเที่ยวไปแม้ในโอกาสอื่น. แต่ไม่นับเนื่องในโอกาสนั้น. ฉะนั้น เมื่อขันธ์เป็นต้นเหล่านั้นท่องเที่ยวไปแม้ในที่อื่น ย่อมเป็นอันท่านกำหนดเอา.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงธรรมอันนับเนื่องในโอกาสนี้ โดยความเป็นปัจจัยแห่งความว่างจากกอง และโดยความเป็นจริง จึงกล่าวว่า ขนฺธธาตุอายตนา เป็นอาทิ.
               บทว่า พฺรหฺมโลกํ - พรหมโลก คือ ฐานของพรหมอันได้แก่ภูมิของปฐมฌาน.
               บทว่า อกนิฏฺเฐ - เทพชั้นอกนิฏฐะ คือ มิใช่กนิฏฐะ เพราะอรรถว่าสูงสุด.
               บทว่า สมาปนฺนสฺส คือ เข้าสมาบัติ. ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงกุศลฌาน.
               บทว่า อุปฺปนฺนสฺส คือ เกิดในพรหมโลกด้วยอำนาจวิบาก.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึง วิปากฌาน.
               บทว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาริสฺส - ของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน คือในอัตภาพที่ประจักษ์ ชื่อว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหาโร. ชื่อว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารี เพราะอรรถว่ามีทิฏฐธรรมสุขวิหารธรรมนั้น. ได้แก่พระอรหันต์. ของท่านผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันนั้น.
               ด้วยบทนั้น ท่านกล่าวถึง กิริยาญาณ.
               บทว่า เจตสิกา ได้แก่ ธรรมที่เกิดในจิต. อธิบายว่า ธรรมสัมปยุตด้วยจิต.
               บทว่า อากาสานญฺจายตนูปเค ได้แก่ เทวดาผู้เข้าถึงอากาสานัญจายตนภพ.
               แม้ในบทที่สองก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า มคฺคา ได้แก่ อริยมรรค ๔.
               บทว่า มคฺคผลานิ ได้แก่ ผลของอริยมรรค ๔.
               บทว่า อสงฺขตา จ ธาตุ - อสังขตธาตุ คือ นิพพานธาตุที่ปัจจัยมิได้ตกแต่ง.
               [๑๗๖] บทว่า อปราปิ จตสฺโส ภูมิโย - ภูมิ ๔ อีกประการหนึ่ง พึงทราบด้วยสามารถจตุกะหนึ่งๆ.
               บทว่า จตฺตาโร สติปฏฺฐานา - สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน.
               มีอธิบายดังนี้ ชื่อว่า ปฏฺฐานํ เพราะอรรถว่าตั้งไว้.
               ความว่า เข้าไปตั้งไว้ คือหลั่งไหลแล่นเป็นไป.
               สตินั่นแหละตั้งไว้ ชื่อว่าสติปัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สติ เพราะอรรถว่าความระลึก. ชื่อว่า ปฏฺฐานํ เพราะอรรถว่าเข้าไปตั้งไว้. สตินั้นด้วยเป็นปัฏฐาน คือการเข้าไปตั้งไว้ด้วย ชื่อว่าสติปัฏฐาน. ชื่อว่าสติปัฏฐานทั้งหลาย เพราะสติเหล่านั้นมากด้วยอารมณ์.
               บทว่า จตฺตาโร สมฺมปฺปธานา - สัมมัปปธาน ๔ คือ ทำความเพียรเพื่อไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ๑ ทำความเพียรเพื่อละอกุศลที่เกิดขึ้น ๑ ทำความเพียรเพื่อให้กุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ๑ ทำความเพียรเพื่อความตั้งอยู่แห่งกุศลที่เกิดขึ้น ๑.
               ชื่อว่าปธาน เพราะอรรถว่าเป็นเหตุตั้งไว้ คือพยายาม.
               บทนี้เป็นชื่อของความเพียร.
               บทว่า สมฺมปฺปธานํ คือ เพียรไม่วิปริต เพียรตามเหตุ เพียรด้วยอุบาย เพียรโดยแยบคาย, ความเพียรอย่างเดียวเท่านั้นท่านทำเป็น ๔ ส่วน ด้วยสามารถแห่งกิจจึงกล่าวว่า สมฺมปฺปธานา.
               บทว่า จตฺตาโร อิทฺธิปาทา - อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วีริยะ จิตตะ วีมังสา. ความของบทนั้นได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า จตฺตาริ ฌานานิ - ฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌานมีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา. ทุติยฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา. ตติยฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา. จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา.
               องค์เหล่านี้ ท่านกล่าวว่าฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งอารมณ์.
               บทว่า จตสฺโส อปฺปมญฺญาโย - อัปปมัญญา ๔ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. ชื่อว่าอัปปมัญญา ด้วยการแผ่ไปไม่มีประมาณ.
               จริงอยู่ อัปปมัญญาเหล่านั้น ย่อมแผ่ไปยังสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์. หรือว่าแผ่ไปด้วยอำนาจการ แผ่ไปโดยไม่มีเหลือแม้สัตว์ผู้เดียว เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อปฺปมญฺญาโย ด้วยอำนาจการแผ่ไปไม่มีประมาณ.
               บทว่า จตสฺโส อรูปสมาปตฺติโย - อรูปสมาบัติ ๔ ได้แก่ อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ.
               บทว่า จตสฺโส ปฏิสมฺภิทา - ปฏิสัมภิทา ๔ มีความดังได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า จตสฺโส ปฏิปทา - ปฏิปทา ๔ ได้แก่ ปฏิปทา ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
               ทุกฺขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา - ปฏิบัติลำบาก รู้ช้า.
               ทุกฺขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา - ปฏิบัติลำบาก รู้เร็ว.
               สุขาปฏิปทา ทนฺธาภิญฺญา - ปฏิบัติสบาย รู้ช้า.
               สุขาปฏิปทา ขิปฺปาภิญฺญา - ปฏิบัติสบาย รู้เร็ว.
____________________________
๑- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๘๒

               บทว่า จตฺตาริ อารมฺมณานิ - อารมณ์ ๔ ได้แก่ อารมณ์ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
               ปริตฺตํ ปริตฺตารมฺมณํ - มีกำลังน้อย มีอารมณ์เล็กน้อย ๑
               ปริตฺตํ อปฺปมาณารมฺมณํ - มีกำลังน้อย มีอารมณ์ไพบูลย์ ๑
               อปฺปมาณํ ปริตฺตารมฺมณํ - มีกำลังมาก มีอารมณ์เล็กน้อย ๑
               อปฺปมาณํ อปฺปมาณารมฺมณํ - มีกำลังมาก มีอารมณ์ไพบูลย์ ๑.#-
____________________________
#- มีกำลังน้อย ได้แก่ฌานที่ไม่คล่องแคล่ว ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดฌานที่สูงขึ้นไป
    มีกำลังมาก ได้แก่ฌานที่คล่องแคล่ว เป็นปัจจัยให้เกิดฌานสูงขึ้นไป
    อารมณ์เล็กน้อย ได้แก่ฌานที่มีอารมณ์ที่ขยายไม่ได้
    อารมณ์ไพบูลย์ ได้แก่ฌานที่มีอารมณ์ที่ขยายได้
    ใน อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๖๗-๑๗๑.
____________________________


               พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงฌานมีอารมณ์ด้วยอารมณ์ทั้งหลาย โดยไม่ตั้งใจแน่วแน่ กำหนดอารมณ์มีกสิณเป็นต้น.
               บทว่า จตฺตาโร อริยวํสา - อริยวงศ์ ๔.
               ความว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านกล่าวว่าเป็นพระอริยะ. วงศ์เชื้อสาย ประเพณีของพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่าวงศ์ของพระอริยะ.
               วงศ์ของพระอริยะเหล่านั้นเป็นอย่างไร?
               ธรรม ๔ เหล่านี้ คือ สันโดษด้วยจีวร ๑. สันโดษด้วยบิณฑบาต ๑. สันโดษด้วยเสนาสนะ ๑. ความยินดีในภาวนา ๑.
               เมื่อกล่าวถึงสันโดษด้วยบิณฑบาต ท่านกล่าวถึงสันโดษด้วยคิลานปัจจัย เพราะภิกษุใดสันโดษในบิณฑบาต. ภิกษุนั้นจักไม่สันโดษในคิลานปัจจัยได้อย่างไร.
               บทว่า จตฺตาริ สงฺคหวตฺถูนิ - สังคหวัตถุ ๔##- ได้แก่ สังคหวัตถุ ๔ เหล่านี้ คือ ทาน ๑. เปยยวัชชะ ๑. อัตถจริยะ ๑. สมานัตตตา ๑. เป็นเหตุสงเคราะห์ชน ๔ เหล่านี้.
____________________________
##- องฺ. จตุกฺก เล่ม ๒๑/ข้อ ๓๒

               บทว่า ทานํ ได้แก่ การให้ตามสมควร.
               บทว่า เปยฺยวชฺชํ ได้แก่ พูดน่ารักตามสมควร.
               บทว่า อตฺถจริยา ได้แก่ การทำความเจริญ ด้วยทำกิจที่ควรทำในที่นั้นๆ และด้วยการสั่งสอนสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ.
               บทว่า สมานตฺตตา - ความเป็นผู้มีตนเสมอ คือมีความเสมอไม่ถือตัว.
               อธิบายว่า มีประมาณตน คิดประมาณตน. ชื่อว่า สมานตฺโต เพราะอรรถว่ามีตนเสมอคนอื่น. ความเป็นผู้มีตนเสมอ ชื่อว่าสมานัตตตา.
               อธิบายว่า การคิดประมาณตนว่า ผู้นี้เลวกว่าเรา ผู้นี้เสมอเรา. ผู้นี้ดีกว่าเราแล้วประพฤติ คือทำตามสมควรแก่บุคคลนั้น.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ความเป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์ ชื่อว่าสมานัตตตา.
               ในบทว่า จตฺตาริ จกฺกานิ - จักร ๔ นี้ ได้แก่ ชื่อว่าจักรมี ๕ อย่าง คือ จักรทำด้วยไม้ ๑ จักรทำด้วยแก้ว ๑ จักรคือธรรม ๑ จักรคืออิริยาบถ ๑ จักรคือสมบัติ ๑.
               จักรทำด้วยไม้ ในบทว่า๒- ข้าแต่เทวะ จักรนั้นสำเร็จแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ คืน.
               จักรทำด้วยแก้ว ในบทว่า๓- กำหนดเอาโดยยังจักรให้หมุนไป.
               จักรคือธรรม ในบทว่า๔- จักรอันเราให้เป็นไปแล้ว.
               จักรคืออิริยาบถ ในบทว่า๕- สรีรยนต์มีจักร ๔ มีทวาร ๙.
               คำว่า๖- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักร ๔ อย่างเหล่านี้, จักร ๔ ย่อมเป็นไปแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้มาประชุมพร้อมกันแล้ว,
               จักร ๔ อย่างคืออะไร? คือ ปฏิรูปเทสวาสะ ๑ สัปปุริสาปัสสยะ ๑ อัตตสัมมาปณิธิ ๑ บุพเพกตปุญญตา ๑.
               นี้ชื่อว่าจักรคือสมบัติ.
               ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาจักรคือสมบัตินั่นเอง.
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๔  ๓- ขุ. ชา. ๒๗/๑๗๙๑
๔- ขุ. สุ. ๒๕/๓๗๗  ๕- สํ. ส. ๑๕/๗๔  ๖- องฺ. จตฺตก. ๒๑/๓๑

               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปฏิรูปเทสวาโส - อยู่ในประเทศอันสมควร ได้แก่ บริษัท ๔ ปรากฏในประเทศใด. อยู่ในประเทศอันสมควรเห็นปานนั้น.
               บทว่า สปฺปุริสาปสฺสโย - อาศัยสัตบุรุษ ได้แก่ พึง เสพ คบสัตบุรุษมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บทว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ - ตั้งตนไว้ชอบ การตั้งตนไว้ชอบ. หากว่าครั้งก่อนเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น ละความไม่มีศรัทธาเป็นต้นนั้น แล้วตั้งอยู่ในศรัทธาเป็นต้น.
               บทว่า ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา - ความเป็นผู้ทำบุญไว้ในกาลก่อน ได้แก่ ความเป็นผู้สะสมกุศลไว้ในกาลก่อน.
               นี้เป็นข้อกำหนดในบทนี้.
               กุศลกรรมที่ทำด้วยจิตสัมปยุตด้วยญาณ กุศลนั้นนั่นแหละย่อมนำบุรุษนั้นเข้าไปในประเทศอันสมควร ให้คบสัตบุรุษ บุคคลนั้นนั่นแหละ ย่อมตั้งตนไว้ชอบ.
               บทว่า จตฺตาริ ธมฺมปทานิ - ธรรมบท ๔ ได้แก่ ส่วนแห่งธรรม ๔.
               ธรรมบท ๔ คืออะไร? คือ อนภิชฌา ๑ อัพยาปาทะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑
               ความไม่โลภก็ดี การบรรลุฌาน วิปัสสนา มรรค ผล นิพพาน ด้วยอำนาจแห่งอนภิชฌาก็ดี ชื่อว่าธรรมบทคืออนภิชฌา.
               ความไม่โกรธก็ดี การบรรลุฌานเป็นต้น ด้วยเมตตาเป็นหลักก็ดี ชื่อว่าธรรมบทคืออัพยาปาทะ.
               การตั้งสติไว้ชอบก็ดี การบรรลุฌานเป็นต้น ด้วยสติเป็นหลักก็ดี ชื่อว่าธรรมบทคือสัมมาสติ.
               สมาบัติ ๘ ก็ดี การบรรลุฌานเป็นต้น ด้วยสมาบัติ ๘ เป็นหลักก็ดี ชื่อว่าธรรมบทคือสัมมาสมาธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง การบรรลุเป็นต้น ด้วยอำนาจอสุภะ ๑๐ ชื่อว่าธรรมบทคืออนภิชฌา. บรรลุฌานด้วยอำนาจพรหมวิหาร ๔ ชื่อว่าธรรมบทคืออัพยาปาทะ. บรรลุฌานด้วยอำนาจอนุสติ ๑๐ และอาหาเรปฏิกูลสัญญา ชื่อว่าธรรมบทคือสัมมาสติ. บรรลุฌานด้วยอำนาจกสิณ ๑๐ และอานาปานสติ ชื่อว่าธรรมบทคือสัมมาสมาธิ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อิมา จตสฺโส ภูมิโย- ภูมิ ๔ เหล่านี้พึงประกอบบทหนึ่งๆ ด้วยสามารถจตุกะนั่นแล.

               จบอรรถกถาภูมินานัตตญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ภูมินานัตตญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 165อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 171อ่านอรรถกถา 31 / 177อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=2029&Z=2050
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=6959
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=6959
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :