ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 171อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 177อ่านอรรถกถา 31 / 185อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ธรรมนานัตตญาณนิทเทส

               อรรถกถาธรรมนานัตตญาณนิทเทส               
               [๑๗๗-๑๗๘] พึงทราบวินิจฉัยในธรรมนานัตตญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า กมฺมปเถ ชื่อว่ากรรมบถ เพราะอรรถว่ากรรมเหล่านั้นเป็นทางเพื่อไปสู่อบาย. ซึ่งกรรมบถเหล่านั้น.
               กุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ กายสุจริต ๓ คือ เว้นจากฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากลักทรัพย์ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑. วจีสุจริต ๔ คือ เว้นจากพูดปด ๑ เว้นจากพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากพูดคำหยาบ ๑ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ๑, มโนสุจริต ๓ คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ ๑ ไม่พยาบาท ๑ เห็นชอบ ๑.
               อกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้แก่ กายทุจริต ๓ คือ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑. วจีทุจริต ๔ คือ พูดปด ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑. มโนทุจริต ๓ คือ เพ่งเล็งอยากได้ ๑ พยาบาท ๑ เห็นผิด ๑.
               อนึ่ง แม้ทั้งกุศลและอกุศลท่านก็กล่าวว่ากรรมบถ เพราะให้เกิดปฏิสนธิ. เหลือจากที่กล่าวแล้วท่านไม่กล่าวว่ากรรมบถ เพราะไม่มีส่วนในการให้เกิดปฏิสนธิ.
               พึงทราบว่า แม้กุศลและอกุศลที่เหลือ ท่านก็ถือเอาด้วยความมุ่งหมายถึงกุศลและอกุศลอย่างหยาบ.
               บทว่า รูปํ ได้แก่ รูป ๒๘ โดยประเภทเป็นภูตรูปและอุปาทายรูป.
               บทว่า วิปากํ ได้แก่ วิบาก ๒๓ ด้วยอำนาจแห่งกามาวจรกุศลวิบาก ๑๖. อกุศลวิบาก ๗.
               บทว่า กิริยํ ได้แก่ กามาวจรกิริยา ๑๑ ด้วยสามารถแห่งปริตตกิริยา ๓. มหากิริยา ๘. ชื่อว่ากิริยาเพราะเป็นเพียงกิริยาโดยไม่มีวิบาก.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ท่านกล่าวกามาวจรด้วยอำนาจแห่งรูปเป็นอัพยากฤต วิบากเป็นอัพยกฤต กิริยาเป็นอัพยากฤต.
               [๑๗๙-๑๘๐] บทว่า อิธฏฺฐสฺส ได้แก่ ของบุคคลผู้ยังอยู่ในโลกนี้. โดยมากท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งมนุษยโลก เพราะมีฌานภาวนาในมนุษยโลก.
               อนึ่ง แม้ในเทวโลกบางแห่งบางครั้งก็ได้ฌาน. แม้ในพรหมโลกรูปพรหมทั้งหลายก็ยังได้ ด้วยสามารถของผู้เกิดในพรหมโลกนั้น ผู้เกิดในเบื้องล่าง และผู้เกิดในเบื้องบน. แต่ในชั้นสุทธาวาสและในอรูปาวจร ไม่มีผู้เกิดในเบื้องล่าง. ในรูปาวจร อรูปาวจรผู้ไม่เจริญฌาน เกิดในเบื้องล่าง ย่อมเกิดในกามาวจรสุคติเท่านั้น ไม่เกิดในทุคติ.
               บทว่า ตตฺรูปปนฺนสฺส - ของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลกนั้น ได้แก่ วิบากฌาน ๔ เป็นไปด้วยอำนาจปฏิสนธิภวังค์และจุติของบุคคลผู้เกิดในพรหมโลกด้วยอำนาจของวิบาก.
               ท่านมิได้กล่าวถึงกิริยาอันเป็นอัพยากฤต ในฌานสมาบัติอันเป็นรูปาวจรและอรูปาวจร. ถึงแม้ท่านมิได้กล่าวไว้ก็จริง พึงทราบว่า เมื่อท่านกล่าวถึงกุศล ก็เป็นอันกล่าวถึงกิริยาเป็นอัพยากฤตไว้ด้วย เพราะเป็นไปเสมอกันด้วยกุศลโดยแท้.
               พึงทราบในข้อนี้เหมือนอย่างในปัฏฐาน ท่านสงเคราะห์กิริยาชวนะด้วยศัพท์กุศลชวนะว่า เมื่อกุศลอกุศลดับ วิบากย่อมเกิดขึ้นเพราะกุศลอกุศลนั้นเป็นอารมณ์.
               [๑๘๑] บทว่า สามญฺญผลานิ ได้แก่ สามัญผล ๔.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวถึงโลกุตรวิบากเป็นอัพยากฤต.
               บทว่า นิพฺพานํ ได้แก่ นิพพานเป็นอัพยากฤต.
               [๑๘๒] บทว่า ปามุชฺชมูลกา คือ มีความปราโมทย์เป็นเบื้องต้น. เพราะประกอบด้วยความปราโมทย์.
               ในบทว่า อนิจฺจโต มนสิกโรโต ปามุชฺชํ ชายติ นี้มีความว่า เมื่อทำไว้ในใจโดยแยบคาย ย่อมเกิดปราโมทย์. เมื่อทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ย่อมไม่เกิดปราโมทย์.
               จริงอยู่ เมื่อทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย กุศลจะไม่เกิด. ไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนาละ.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวไว้โดยสรุป.
               ตอบว่า เพื่อแสดงความที่ปราโมทย์มีกำลังมาก. เพราะเมื่อไม่มีปราโมทย์ ความไม่ยินดีความกระสันก็จะเกิดขึ้นในเสนาสนะอันสงัด และในธรรมอันเป็นอธิกุศล. เมื่อมีอย่างนี้ย่อมก้าวถึงภาวนาทีเดียว.
               อนึ่ง เมื่อมีปราโมทย์ ภาวนาย่อมถึงความเต็มเปี่ยมเพราะไม่มีความไม่ยินดี. เพื่อแสดงถึงความที่ภาวนามีอุปการะโดยความเป็นเบื้องต้นของการทำไว้ในใจโดยแยบคาย จักกล่าวถึงหมวด ๙ ข้างหน้า.
               ความปราโมทย์ เพราะเป็นปัจจัยแห่งวิปัสสนาย่อมเกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนา
               โดยบาลีว่า๑-
                         ยโต ยโต สมฺมสติ  ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ
                         ลภตี ปีติปาโมชฺชํ   อมตํ ตํ วิชานตํ.
                         เมื่อใดย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความเสื่อม
                         ของขันธ์ทั้งหลาย เมื่อนั้นย่อมได้ปีติและปราโมทย์
                         นั่นเป็นอมตะของผู้รู้แจ้งทั้งหลาย.
____________________________
๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๕

               แต่ในที่นี้พึงถือเอาความปราโมทย์ เพราะการพิจารณากลาปะเป็นปัจจัย.
               ความเป็นผู้ถึงความปราโมทย์ ชื่อว่า ปามุชฺชํ คือ ปีติมีกำลังอ่อน.
               พึงเห็นว่า อักษร ลงในอรรถแห่งอาทิกรรม.
               บทว่า ปมุทิตสฺส - ถึงความปราโมทย์ ได้แก่ ถึงความปราโมทย์ คือยินดีด้วยความปราโมทย์นั้น.
               ปาฐะว่า ปโมทิตสฺส บ้าง. ความอย่างเดียวกัน.
               บทว่า ปีติ ได้แก่ ปีติมีกำลัง.
               บทว่า ปีติมนสฺส ใจมีปีติ คือใจประกอบด้วยปีติ.
               พึงเห็นว่า ลบ ยุตฺต ศัพท์เสีย เหมือนบทว่า อสฺสรโถ รถเทียมด้วยม้า.
               บทว่า กาโย ได้แก่ นามกาย หรือกับรูปกาย.
               บทว่า ปสฺสมภติ ย่อมสงบ คือเป็นผู้สงบความกระวนกระวาย.
               บทว่า ปสฺสทฺธกาโย - กายสงบ คือ กายสบายเพราะประกอบด้วยความสงบทั้งสอง.
               บทว่า สุขํ เวเทติ - ย่อมได้เสวยสุข คือ ย่อมได้เสวยเจตสิกสุข หรือกับด้วยกายิกสุข.
               บทว่า สุขิโน - ของผู้มีความสุข คือพร้อมพรั่งด้วยความสุข.
               บทว่า จิตฺตํ สมาธิยติ - จิตย่อมตั้งมั่น คือจิตย่อมตั้งมั่นเสมอ. จิตมีอารมณ์เดียว.
               บทว่า สมาหิเต จิตฺเต - เมื่อจิตตั้งมั่น เป็นสัตตมีวิภัตติลงในภาวลักษณะโดยเป็นภาวะ. ย่อมกำหนดรู้ตามความเป็นจริงโดยความตั้งมั่นแห่งจิต.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ - ย่อมรู้ตามความเป็นจริง คือ รู้สังขารตามความเป็นจริงด้วยสามารถแห่งอุทยัพพยญาณเป็นต้น.
               บทว่า ปสฺสติ - ย่อมเห็น คือ เห็นด้วยปัญญาจักษุกระทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นดุจเห็นด้วยตา.
               บทว่า นิพฺพินฺทติ - ย่อมเบื่อหน่าย คือเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยวิปัสสนาญาณ ๙ อย่าง
               บทว่า นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ - เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายความกำหนัด คือ เมื่อยังวิปัสสนาให้ถึงชั้นยอด เป็นอันคลายกำหนัดจากสังขารโดยประกอบด้วยมรรคญาณ.
               บทว่า วิราคา วิมุจฺจติ - เพราะคลายความกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น คือ จิตย่อมหลุดพ้นด้วยน้อมไปในนิพพานด้วยผลวิมุตติ เพราะมรรคเป็นเหตุอันได้แก่วิราคะ.
               แต่ในบางคัมภีร์ในวาระนี้ ท่านเขียนนัยแห่งสัจจะไว้มีอาทิว่า รู้ตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ ด้วยจิตตั้งมั่น.
               อนึ่ง ในบางคัมภีร์ ท่านเขียนนัยแห่งสัจจะนั้นโดยนัยมีอาทิว่า ย่อมทำไว้ในใจโดยแยบคายว่านี้ทุกข์.
               แม้ใน ๒ วาระนั้นก็ต่างกันโดยพยัญชนะเท่านั้น โดยอรรถไม่ต่างกัน เพราะบทว่า นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ - เมื่อมรรคญาณสำเร็จ เพราะกล่าวถึงมรรคญาณ เป็นอันสำเร็จกิจเพราะตรัสรู้อริยสัจ ๔ ด้วย. เพราะฉะนั้น แม้วาระที่ท่านกล่าวโดยนัยแห่งสัจจะ ๔ ก็มิได้ต่างกันโดยอรรถด้วยวาระนี้.
               [๑๘๓] บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะให้อารมณ์ต่างกัน เพราะกล่าวถึงอารมณ์ไม่ต่างกันด้วยบทมีอาทิว่า อนิจฺจโต จึงกล่าวบทมีอาทิว่า รูปํ อนิจฺจโต มนสิกโรติ ย่อมมนสิการรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยง.
               บทว่า โยนิโสมนสิการมูลกา คือ ธรรมมีโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้นเป็นหลัก. เพราะปราโมทย์เป็นต้น ละโยนิโสมนสิการเสียแล้วก็ไม่ครบ ๙.
               บทว่า สมาหิเตน จิตฺเตน - ด้วยจิตตั้งมั่น คือด้วยจิตเป็นเหตุ.
               บทว่า ยถาภูตํ ปชานาติ - ย่อมรู้ตามความเป็นจริง คือรู้ด้วยปัญญา.
               ท่านสงเคราะห์แม้การรู้ตามสัจจะอันเป็นส่วนเบื้องต้นด้วยการฟังตาม ในเมื่อกล่าวว่า ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่านี้ทุกข์.
               บทว่า โยนิโสมนสิกาโร ได้แก่ มนสิการโดยอุบาย.
               [๑๘๔] ธาตุนานตฺตํ ปฏิจฺจ อุปฺปชฺชติ ผสฺสนานตฺตํ ความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น. ความว่า ความต่างแห่งจักขุสัมผัสเป็นต้น อาศัยความต่างจักขุธาตุเป็นต้นเกิดขึ้น.
               บทว่า ผสฺสนานตฺตํ ปฏิจฺจ - อาศัยความต่างแห่งผัสสะ คือ อาศัยความต่างแห่งจักขุสัมผัสเป็นต้น.
               บทว่า เวทนานานตฺตํ - ความต่างแห่งเวทนา คือ ความต่างแห่งจักขุสัมผัสสชาเวทนาเป็นต้น.
               บทว่า สญฺญานานตฺตํ - ความต่างแห่งสัญญา คือ ความต่างแห่งกามสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า สงฺกปฺปนานตฺตํ - ความต่างแห่งความดำริ คือ ความต่างแห่งความดำริถึงกามเป็นต้น.
               บทว่า ฉนฺทนานตฺตํ - ความต่างแห่งฉันทะ คือ ความต่างแห่งฉันทะย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ฉันทะในรูป ฉันทะในเสียง เพราะความต่างแห่งความดำริ.
               บทว่า ปริฬาหนานตฺตํ - ความต่างแห่งความเร่าร้อน คือ ความต่างแห่งความเร่าร้อน ย่อมเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า ความเร่าร้อนในรูป ความเร่าร้อนในเสียง เพราะความต่างแห่งฉันทะ.
               บทว่า ปริเยสนานตฺตํ - ความต่างแห่งการแสวงหา คือ ความต่างแห่งการแสวงหารูปเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะความต่างแห่งความเร่าร้อน.
               บทว่า ลาภนานตฺตํ - ความต่างแห่งการได้ คือ ความต่างแห่งการได้รูปเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นเพราะความต่างแห่งการแสวงหา.

               จบอรรถกถาธรรมนานัตตญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ธรรมนานัตตญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 171อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 177อ่านอรรถกถา 31 / 185อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=2051&Z=2118
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=7083
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=7083
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :