ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 31 / 10อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
อภิญเญยยนิทเทส

               ๒. อรรถกถาอภิญเญยยนิทเทส               
               ว่าด้วยอภิญเญยยธรรม               
               [๒] บัดนี้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้แสดงนิทเทสวารมีอาทิว่า กถํ อิเม ธมฺมา อภิญฺเญยฺยา - ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ควรรู้ยิ่ง อย่างไร? ดังนี้ ก็เพื่อจะแสดงธรรมอันท่านรวบรวมไว้ในวิสัชนุทเทส เป็นประเภทๆ ไป.
               ในคำเหล่านั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้ยกวิสัชนาข้อละ ๑๐ ๆ ตั้งแต่ต้นด้วยสามารถแห่งเอกนิทเทสเป็นต้นไป ในคำทั้ง ๕ มีคำแสดงธรรมที่ควรรู้ยิ่งเป็นต้น ขึ้นแสดงเทียบเคียงโดยปริยายแห่งทสุตตรสูตร.

               อรรถกถาเอกนิทเทส               
               ว่าด้วยอาหาร               
               บรรดาคำทั้ง ๕ นั้นในเบื้องแรก คำว่า สพฺเพ สตฺตา - สัตว์ทั้งปวงในอภิญเญยนิทเทส ได้แก่ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในภพทั้งปวง คือในกามภพเป็นต้น ในสัญญาภพเป็นต้นและในเอกโวการภพเป็นต้น.
               คำว่า อาหารฏฺฐิติกา - มีอาหารเป็นที่ตั้ง. ความว่า การดำรงอยู่ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เพราะอาหาร ฉะนั้นจึงชื่อว่า อาหารฏฺฐิติกา - มีอาหารเป็นที่ตั้ง.
               ก็ในคำว่า ฐิติ - การดำรงอยู่นี้ ท่านประสงค์เอา ความมีอยู่ในขณะของตน.
               ชื่อว่าอาหาร เพราะเป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่แห่งสัตว์ทั้งปวง เป็นธรรมอันหนึ่ง เป็นธรรมควรรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง. ครั้นรู้ปัจจัยแล้ว ก็เป็นอันรู้ปัจจยุปบัน - ธรรมเกิดแต่ปัจจัย เพราะปัจจัยและปัจจยุปบันทั้ง ๒ นั้นเพ่งความอาศัยกันและกัน.
               ญาตปริญญาเป็นอันท่านกล่าวแล้วด้วยคำนั้น.
               ถามว่า ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น คำใดที่ท่านกล่าวไว้ว่า อสัญญสัตตาเทวา - อสัญญสัตตาพรหม ไม่มีเหตุ ไม่มีอาหาร ไม่มีผัสสะ๑- ดังนี้เป็นต้น คำนั้นจะมิผิดไปหรือ?
               ตอบว่า คำที่ท่านกล่าวนั้นไม่ผิด เพราะฌานเป็นอาหารของอสัญญสัตตาเทวาเหล่านั้น.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๙๙

               ถามว่า ถึงแม้เป็นอย่างนั้น คำนี้ว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาหารทั้งหลาย ๔ เหล่านี้เพื่อความตั้งอยู่แห่งสัตว์ผู้เกิดแล้ว เพื่ออนุเคราะห์แก่เหล่าสัมภเวสี.
               อาหาร ๔ เป็นไฉน? คือ กพฬีการาหาร - อาหารคือคำข้าวเป็นอาหารหยาบหรือละเอียด, ผัสสะ - อาหารคือผัสสะเป็นที่ ๒, มโนสัญเจตนา - อาหารคือเจตนาเป็นที่ ๓, วิญญาณ - อาหารคือวิญญาณเป็นที่ ๔ ดังนี้ ก็ย่อมผิด.
               ตอบว่า ถึงแม้คำนั้นก็ไม่ผิด. เพราะในพระสูตรตรัสไว้โดยนิปริยายว่า ธรรมทั้งหลายมีอาหารเป็นลักษณะแล ชื่อว่าอาหาร แต่ในที่นี้ตรัสโดยปริยายว่า ปัจจัยชื่อว่าอาหาร เพราะสังขตธรรมทั้งปวงได้ปัจจัย ย่อมควร. ก็ปัจจัยนั้นย่อมยังผลใดๆ ให้เกิดขึ้น ชื่อว่าย่อมนำมาซึ่งผลนั้นๆ เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่าอาหาร.
____________________________
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๒๘

               ด้วยเหตุนั้นนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า๓-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้อวิชชา เราก็กล่าว
                         ว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร. ดูก่อนภิกษุ
                         ทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นอาหารของอวิชชา, ควร
                         กล่าวว่านิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา. ดูก่อน
                         ภิกษุทั้งหลาย แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร
                         มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็
                         อะไรเล่าเป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ ฯลฯ ควรกล่าวว่า
                         อโยนิโสมนสิการเป็นอาหารของนิวรณ์ดังนี้เป็นต้น.

               อาหารดังกล่าวแล้วนี้ ประสงค์แล้วในที่นี้.
____________________________
๓- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๑

               ครั้นถือเอาอาหารคือปัจจัยแม้นี้ อาหารทั้งโดยปริยาย และอาหารทั้งโดยนิปริยาย ก็เป็นอันถือเอาทั้งหมด.
               ในคำนั้น ปัจจยาหารย่อมได้ในอสัญญีภพ.
               จริงอยู่ เมื่อพระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จอุบัติขึ้น พวกที่บวชเป็นเดียรถีย์ทำบริกรรมในวาโยกสิณ ยังจตุตถฌานให้เกิดขึ้นออกจากฌานนั้นแล้ว ก็เห็นว่าจิตนี้เป็นของน่าติเตียนมาก ความไม่มีจิตเสียเลยเป็นการดี เพราะทุกข์มีการฆ่าและจองจำเป็นต้นย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจิต, เมื่อไม่มีจิตทุกข์นั้นก็ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นจึงเกิดความยินดีพอใจ ฌานไม่เสื่อมทำกาละแล้วเกิดในอสัญญีภพ.
               ผู้ใดตั้งอยู่ในอิริยาบถใดในมนุษย์ ผู้นั้นก็ย่อมเกิดด้วยอิริยาบถนั้นสถิตอยู่ตลอด ๕๐๐ กัป. เป็นเหมือนนอน นั่งหรือยืนตลอดกาลยาวนานมีประมาณเพียงนั้น.
               ก็ปัจจยาหารย่อมได้แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น. เพราะสัตว์เหล่านั้นเจริญฌานใดแล้วเกิด ฌานนั้นก็เป็นปัจจัยแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เหมือนลูกศรที่ยิงไปด้วยกำลังแห่งสายธนู กำลังสายธนูมีกำลังเพียงใดก็ไปได้เพียงนั้นฉันใด กำลังฌานปัจจัยมีประมาณเพียงใดก็สถิตอยู่ได้เพียงนั้นฉันนั้น. เมื่อกำลังฌานปัจจัยสิ้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็จุติ ดุจลูกศรที่มีกำลังสิ้นแล้วฉะนั้น.
               ส่วนสัตว์เหล่าใดเป็นผู้เกิดในนรก สัตว์เหล่านั้น ท่านกล่าวว่าไม่เป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยความเพียร ไม่เป็นผู้มีชีวิตอยู่ด้วยผลแห่งบุญเลย, อะไรเป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้นเล่า? กรรมนั่นแลเป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้นดังนี้.
               ถามว่า อาหารมี ๕ อย่างหรือ?
               ตอบว่า คำนี้ไม่พึงกล่าวว่ามี ๕ หรือมิใช่ ๕ ดังนี้. วาทะว่าปัจจัยเป็นอาหาร ท่านกล่าวไว้แล้วมิใช่หรือ? เพราะเหตุนั้น สัตว์เหล่านั้นเกิดในนรกด้วยกรรมใด กรรมนั้นนั่นแหละเป็นอาหารของสัตว์เหล่านั้น เพราะเป็นปัจจัยแห่งการดำรงอยู่.
               คำนี้ท่านกล่าวหมายเอาคำใด คำนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วว่า๔- ก็สัตว์นรกยังไม่ทำกาละตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้น.
____________________________
๔- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๗๕

               เพราะฉะนั้น คำว่า อาหารฏฺฐิติกา - มีอาหารเป็นที่ตั้ง จึงมีความว่า มีปัจจัยเป็นที่ตั้ง.
               ก็ในคำนี้ว่า เพราะปรารภกพฬีการาหารไม่พึงทำการกล่าวให้แตกต่างกันไป เพราะว่า ถึงแม้น้ำลายที่เกิดในปากก็ให้สำเร็จกิจเป็นอาหารแก่สัตว์เหล่านั้นได้.
               จริงอยู่ น้ำลายก็เป็นปัจจัยแก่พวกเกิดในนรกซึ่งเสวยทุกขเวทนา และแก่พวกเกิดในสวรรค์ซึ่งเสวยสุขเวทนา.
               ในกามภพมีอาหาร ๔ โดยตรง, ในรูปภพและอรูปภพ เว้นอสัญญีภพเสีย นอกนั้นมีอาหาร ๓, อสัญญีภพและภพนอกนั้น มีปัจจยาหารด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผู้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ด้วยอาหารดังกล่าวมาแล้วนี้.
               คำว่า สพฺเพ สตฺตา - สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นบุคลาธิฏฐานธรรมเทสนา.
               อธิบายว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง.
               จริงอยู่ เทสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ อย่างด้วยสามารถแห่งธรรมะและบุคคล
               คือ
                         ธรรมาธิฏฐานธรรมเทสนา ๑
                         ธรรมาธิฏฐานบุคลเทสนา ๑
                         บุคลาธิฏฐานบุคลเทสนา ๑
                         บุคลาธิฏฐานธรรมเทสนา ๑.
               ธรรมาธิฏฐานธรรมเทสนา เช่นเทสนาว่า๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่งที่อบรมแล้ว ย่อมควรแก่การงานเหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตที่อบรมแล้วย่อมควรแก่การงาน.
               ธรรมาธิฏฐานบุคลเทสนา เช่นแสดงว่า๖- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ จะพึงยึดถือสังขารไรๆ โดยความเป็นของเที่ยงนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้.
               บุคลาธิฏฐานบุคลเทสนา เช่นแสดงว่า๗- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               บุคลาธิฏฐานธรรมเทสนา เช่นแสดงว่า๘- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความปรากฏขึ้นแห่งจักษุใหญ่ย่อมมี เพราะความปรากฏขึ้นแห่งบุคคลคนเดียว.
____________________________
๕- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๒๓  ๖- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๕๓
๗- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๙๒  ๘- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๔

               ในเทสนา ๔ เหล่านั้น ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาบุคลาธิฏฐานธรรมเทสนา.
               ควรทราบว่า ท่านแสดงศัพท์คือธรรมะ ด้วยสัตตะศัพท์ เพราะมุ่งธรรมเท่านั้น ตั้งแต่ต้นจนถึงหมวด ๑๐.
               อีกอย่างหนึ่งพึงทราบว่า ท่านแสดงศัพท์คือสัตตะ โดยวิเศษ เพราะพึงเข้าไปใคร่ครวญธรรมอันนับเนื่องในสันดานของสัตว์ได้ตามสภาวะด้วยญาณอันยิ่ง หรือควรทราบว่า สังขารทั้งหลาย ท่านกล่าวว่าสัตว์ โดยผโลปจารนัย เพราะเป็นเพียงบัญญัติว่าสัตว์ดังนี้ ก็เพราะอาศัยสังขารทั้งหลาย. สัตว์ไรๆ ชื่อว่าตั้งอยู่ด้วยปัจจัยนั้นไม่มีเลย ในที่ไหนๆ ก็มีแต่สังขารทั้งนั้น แต่ท่านเรียกอย่างนี้ด้วยสามารถแห่งโวหาร.
               ญาตปริญญาเป็นอันท่านกล่าวไว้ด้วยคำนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               อรรถกถาทุกนิทเทส               
               ว่าด้วยธาตุ ๒               
               คำว่า เทฺว ธาตุโย - ธาตุ ๒ ได้แก่ สังขตธาตุ ๑ อสังขตธาตุ ๑.
               บรรดาธาตุทั้ง ๒ นั้น ขันธ์ ๕ อันปัจจัยเป็นอเนกปรุงแต่งแล้ว ชื่อว่าสังขตธาตุ, พระนิพพานอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว ชื่อว่าอสังขตธาตุ.

               อรรถกถาติกนิทเทส               
               ว่าด้วยธาตุ ๓               
               คำว่า ติสฺโส ธาตุโย - ธาตุ ๓ ได้แก่ กามธาตุ ๑, รูปธาตุ ๑, อรูปธาตุ ๑.
               บรรดาธาตุทั้ง ๓ นั้น กามธาตุเป็นไฉน?
               ในเบื้องต่ำมีอเวจีนรกเป็นที่สุด, ในเบื้องบนมีปรนิมมิตวสวัตดีเทวโลกเป็นที่สุด ขันธ์ ธาตุ อายตนะ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณที่ท่องเที่ยวไปในระหว่างนี้ ที่นับเนื่องในระหว่างนี้, นี้เรียกว่ากามธาตุ.๑-
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๒๒

               บรรดาธาตุทั้ง ๓ นั้น รูปธาตุเป็นไฉน?
               ในเบื้องต่ำมีพรหมโลกเป็นที่สุด ในเบื้องบนมีอกนิฏฐพรหมโลกเป็นที่สุด สภาวธรรมทั้งหลายคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติก็ดี ของผู้เกิดแล้วก็ดีของผู้อยู่ด้วยสุขวิหารธรรมในปัจจุบันก็ดี ที่ท่องเที่ยวไปในระหว่างนี้ นับเนื่องในระหว่างนี้, นี้เรียกว่ารูปธาตุ.๒-
____________________________
๒- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๒๙

               บรรดาธาตุทั้ง ๓ นั้น อรูปธาตุเป็นไฉน?
               ในเบื้องต่ำมีอากาสานัญจายตนะพรหมโลกเป็นที่สุด ในเบื้องบนมีเนวสัญญานาสัญญายตนะพรหมโลกเป็นที่สุด สภาวธรรมทั้งหลายคือจิตและเจตสิกของผู้เข้าสมาบัติก็ดี ของผู้เกิดแล้วก็ดี ของผู้อยู่ด้วยสุขวิหารธรรมในปัจจุบันก็ดี ที่ท่องเที่ยวไปในระหว่างนี้ นับเนื่องในระหว่างนี้, นี้เรียกว่าอรูปธาตุ.๓-
____________________________
๓- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๘๓๐

               แต่ในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า กามภพชื่อว่ากามธาตุ ได้ขันธ์ ๕, รูปภพชื่อว่ารูปธาตุ ได้ขันธ์ ๕, อรูปภพชื่อว่าอรูปธาตุ ได้ขันธ์ ๔. นี้ประกอบโดยปริยายแห่งทสุตตรสูตร.
               ส่วนในปริยายแห่งสังคีติสูตรว่า ถึงแม้ธาตุทั้งหลายที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               กุสลธาตุมี ๓ คือ เนกขัมธาตุ ๑, อัพยาปาทธาตุ ๑, อวิหิงสาธาตุ ๑.
               ธาตุ ๓ อื่นอีก คือ รูปธาตุ ๑ อรูปธาตุ ๑ นิโรธธาตุ ๑.
               ธาตุ ๓ อื่นอีก คือ หีนาธาตุ ๑ มัชฌิมาธาตุ ๑ ปณีตาธาตุ ๑.#-
               ก็ย่อมประกอบในที่นี้.
____________________________
#- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๒๘

               ความตรึก ความตรึกตรองอันประกอบด้วยเนกขัมมะ ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ นี้เรียกว่าเนกขัมธาตุ, กุสลธรรมแม้ทั้งหมดก็เรียกว่าเนกขัมธาตุ.
               ความตรึก ความตรึกตรองอันประกอบด้วยอัพยาปาทะ ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ เรียกว่าอัพยาปาทธาตุ, ความมีไมตรี อาการที่มีไมตรี สภาพที่มีไมตรีในสัตว์ทั้งหลาย เมตตาเจโตวิมุตติ นี้เรียกว่าอัพยาปาทธาตุ.
               ความตรึก ความตรึกตรองอันประกอบด้วยอวิหิงสา ฯลฯ สัมมาสังกัปปะ เรียกว่าอวิหิงสาธาตุ, ความกรุณา อาการที่กรุณา สภาพที่กรุณาในสัตว์ทั้งหลาย กรุณาเจโตวิมุตติ นี้เรียกว่า อวิหิงสาธาตุ.๔-
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๒๒

               รูปธาตุและอรูปธาตุได้กล่าวไว้แล้วแล.
               นิพพาน เรียกว่านิโรธธาตุ. อกุสลจิตตุปบาท ๑๒ เรียกว่าหีนาธาตุ, ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ เรียกว่ามัชฌิมาธาตุ, โลกุตรธรรม ๙ เรียกว่าปณีตาธาตุ.
               ก็ธรรมแม้ทั้งหมด เรียกว่าธาตุ เพราะอรรถว่าไม่ใช่ชีวะ.

               อรรถกถาจตุกนิทเทส               
               ว่าด้วยอริยสัจ ๔               
               คำว่า จตฺตาริ อริยสจฺจานิ - อริยสัจ ๔.
               ได้แก่ ทุกขอริยสัจ ๑, ทุกขสมุทยอริยสัจ ๑, ทุกขนิโรธอริยสัจ ๑, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑.
               วรรณนาแห่งอริยสัจ ๔ เหล่านี้จักมีแจ้งในวิสัชนาแห่งสัจจะแล.

               อรรถกถาปัญจกนิทเทส               
               ว่าด้วยวิมุตตายตนะ ๕               
               คำว่า ปญฺจ วิมุตฺตายตนานิ - วิมุตตายตนะ ๕.
               ความว่า เหตุแห่งการพ้น ๕ ประการเหล่านี้ คือ
               การสดับธรรมเทสนาที่ผู้อื่นแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ๑, การแสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้วเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเหล่าอื่น ๑, การสาธยายธรรมที่ตนได้สดับมาแล้ว ๑, การตรึกถึงธรรมตามที่ได้สดับมาแล้วด้วยใจ ๑, อารมณ์อันสมควรแก่สมถกรรมฐาน ๔๐ มีกสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ๑.
               ดุจดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระศาสดาหรือเพื่อน
               สพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะควรแก่การเคารพ
               แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ภิกษุนั้นย่อมเข้า
               ใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรมนั้นตามที่พระศาสดา
               หรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะควรแก่การ
               เคารพ แสดงธรรมแก่ภิกษุ, เมื่อภิกษุนั้นเข้าใจอรรถ
               เข้าใจธรรม ก็ย่อมเกิดความปราโมทย์, เมื่อเกิดความ
               ปราโมทย์แล้ว ปีติก็ย่อมเกิด, เมื่อใจสหรคตด้วยปีติ
               กายย่อมสงบ, ผู้มีกายสงบก็ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข
               จิตย่อมตั้งมั่น, นี้เป็นวิมุตตายตนะข้อที่ ๑.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระ-
               ศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะควร
               แก่การเคารพรูปใดรูปหนึ่ง ย่อมไม่ได้แสดงธรรม
               แก่ภิกษุเลย แต่ว่า ภิกษุย่อมแสดงธรรมตามที่ได้
               สดับมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่คนเหล่าอื่นโดย
               พิสดาร ภิกษุย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมในธรรม
               นั้นที่ภิกษุแสดงธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้
               เล่าเรียนมาแก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดาร เมื่อภิกษุ
               เข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ฯลฯ
               เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น. นี้เป็นวิมุตตายตนะข้อที่ ๒.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระ-
               ศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะควร
               แก่การเคารพรูปใดรูปหนึ่ง ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่
               ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงตามที่ได้สดับมา ตามที่
               ได้เล่าเรียนมาแก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดาร ก็แต่ว่า
               ภิกษุย่อมทำการสาธยายตามที่ได้สดับมา ตามที่
               ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร ภิกษุย่อมเข้าใจอรรถ
               เข้าใจธรรมนั้น ตามที่ภิกษุสาธยายธรรมตามที่ได้
               สดับมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อภิกษุ
               เข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ ฯลฯ
               เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้เป็นวิมุตตายตนะข้อที่ ๓.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระ-
               ศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะควร
               แก่การเคารพรูปใดรูปหนึ่ง ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่
               ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมตามที่ได้สดับมา ตาม
               ที่ได้เล่าเรียนมาแก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดาร แม้ภิกษุ
               ก็ไม่ได้ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้สดับมา ตาม
               ที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร ก็แต่ว่าภิกษุย่อมตรึก-
               ตรองใคร่ครวญธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้เล่า
               เรียนมาด้วยใจ ภิกษุย่อมเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม
               ย่อมเกิดปราโมทย์ ฯลฯ เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น นี้
               เป็นวิมุตตายตนะข้อที่ ๔.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง พระ-
               ศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้ตั้งอยู่ในฐานะควร
               แก่การเคารพรูปใดรูปหนึ่ง ก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่
               ภิกษุ ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมตามที่ได้สดับมา
               ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่คนเหล่าอื่นโดยพิสดาร
               ภิกษุก็ไม่ได้สาธยายธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่
               ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร แม้ภิกษุก็ไม่ได้ตรึก-
               ตรองใคร่ครวญธรรมตามที่ได้สดับมา ตามที่ได้
               เล่าเรียนมาด้วยใจ ก็แต่ว่าสมาธินิมิตอย่างใดอย่าง
               หนึ่ง เธอเล่าเรียนมาด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ทรง
               ไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา ภิกษุย่อม
               เข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมนั้น ตามที่ได้เล่าเรียน
               สมาธินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วยดี ทำไว้ในใจ
               ด้วยดี ทรงไว้ด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ด้วยปัญญา
               เมื่อภิกษุเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม ย่อมเกิดความ
               ปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ
               เมื่อมีใจสหรคตด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกาย
               สงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น.
               นี้เป็นวิมุตตายตนะข้อที่ ๕ ดังนี้แล.๑-
____________________________
๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๖

               อรรถกถาฉักกนิทเทส               
               ว่าด้วยอนุตริยะ ๖               
               ในคำนี้ว่า ฉ อนุตฺตริยานิ - อนุตริยะ ๖ มีความว่า คุณอันยิ่งกว่าธรรมชาติเหล่านั้น ไม่มี ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอนุตระ. อนุตระนั่นแหละชื่อว่าอนุตริยะ.
               อธิบายว่า เป็นธรรมชาติอันประเสริฐ.
               สมจริงดังพระดำรัสอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑-
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนุตริยะ ๖ ประการนี้.
               ๖ ประการเป็นไฉน? คือ -
                         ๑. ทัสนานุตริยะ - การเห็นอันประเสริฐ,
                         ๒. สวนานุตริยะ - การฟังอันประเสริฐ,
                         ๓. ลาภานุตริยะ - การได้อันประเสริฐ,
                         ๔. สิกขานุตริยะ - การศึกษาอันประเสริฐ,
                         ๕. ปาริจริยานุตริยะ - การบำรุงอันประเสริฐ,
                         ๖. อนุสตานุตริยะ - อนุสติอันประเสริฐ.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทัสนานุตริยะเป็นไฉน?
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
               ย่อมไปเพื่อจะดูช้างแก้วบ้าง, ม้าแก้วบ้าง, แก้วมณี
               บ้าง, ของใหญ่ของเล็ก หรือสมณพราหมณ์ผู้เห็นผิด
               ผู้ปฏิบัติผิด.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทัสนะมีอยู่ เรามิได้กล่าว
               ว่าไม่มี.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าทัสนะนี้นั้นแลเป็น
               ทัสนะอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน มิใช่
               ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไป
               เพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อ
               ความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลใดมีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใส
               ยิ่ง ย่อมไปเพื่อจะเห็นตถาคตหรือสาวกของตถาคต.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเห็นนี้ยอดเยี่ยมกว่า
               การเห็นทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่ง
               สัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร
               เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญาย-
               ธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใส
               ยิ่ง ไปเห็นพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตนี้
               เราเรียกว่าทัสนานุตริยะ. ทัสนานุตริยะเป็นดังนี้.
                         ก็สวนานุตริยะเป็นอย่างไร?
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
               ย่อมไปเพื่อฟังเสียงกลองบ้าง เสียงพิณบ้าง เสียงเพลง
               บ้าง หรือเสียงสูงๆ ต่ำๆ ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของสมณ-
               พราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้มีอยู่ เรามิได้กล่าว
               ว่าไม่มี ก็แต่ว่าการฟังนี้เป็นการฟังอันเลว ฯลฯ ไม่เป็น
               ไปเพื่อพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลใดแลมีสัทธา
               ตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความ
               เลื่อมใสยิ่ง ย่อมไปเพื่อฟังธรรมของตถาคต หรือของ
               สาวกของตถาคต.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การฟังนี้ประเสริฐกว่าการ
               ฟังทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้ง
               หลาย ฯลฯ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใส
               ยิ่ง ย่อมไปฟังธรรมของตถาคตหรือของสาวกของพระ
               ตถาคต นี้ เราเรียกว่าสวนานุตริยะ.
                         ทัสนานุตริยะ สวนานุตริยะเป็นดังนี้.
                         ก็ลาภานุตริยะเป็นอย่างไร?
                         ดูก่อนภิกษุ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมได้บุตร
               บ้าง ภรรยาบ้าง ทรัพย์บ้าง หรือลาภมากบ้าง น้อยบ้าง
               หรือได้สัทธาในสมณพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภคือการได้นี้มีอยู่ เรา
               มิได้กล่าวว่าไม่มี.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่า ลาภคือการได้นี้
               เป็นลาภเลว ฯลฯ ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลใดแลเป็นผู้มี
               สัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว
               มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมได้สัทธาในพระตถาคต หรือ
               สาวกของพระตถาคต.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภคือการได้นี้เป็นลาภ
               อันประเสริฐกว่าลาภทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความ
               บริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่ง
               พระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง
               ย่อมได้สัทธาในพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต
               นี้ เราเรียกว่าลาภานุตริยะ.
                         ทัสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะเป็นดังนี้.
                         ก็สิกขานุตตริยะเป็นอย่างไร?
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อม
               ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับช้างบ้าง ม้าบ้าง รถบ้าง ธนูบ้าง
               ดาบบ้าง หรือศึกษาศิลปะชั้นสูงชั้นต่ำ ย่อมศึกษาต่อ
               สมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้มีอยู่ เรามิได้
               กล่าวว่า การศึกษานี้ไม่มี.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าการศึกษานั้น เป็น
               การศึกษาที่เลว ฯลฯ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลใดมีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง
               ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรม
               วินัยอันตถาคตประกาศแล้ว.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การศึกษานี้ประเสริฐกว่า
               การศึกษาทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่ง
               สัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน,
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง
               ย่อมศึกษาอธิศีลบ้าง อธิจิตบ้าง อธิปัญญาบ้าง ในธรรม
               วินัยอันตถาคตประกาศแล้วนี้ เราเรียกว่าสิกขานุตริยะ.
                         ทัสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ สิกขา-
               นุตริยะ เป็นดังนี้.
                         ก็ปาริจริยานุตริยะเป็นอย่างไร?
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
               ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง, พราหมณ์บ้าง, คฤหบดีบ้าง,
               ก็หรือว่า ย่อมบำรุงบุคคลชั้นสูงและต่ำ, หรือย่อมบำรุง
               สมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้มีอยู่ เรามิได้
               กล่าวว่า การบำรุงไม่มี.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่การบำรุงนี้แลเป็นการ
               บำรุงอันเลว ฯลฯ ไม่เป็นไปเพื่อพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าบุคคลใดแลผู้มี
               สัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มี
               ความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของ
               พระตถาคต.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้ประเสริฐกว่า
               การบำรุงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิแห่ง
               สัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง
               ย่อมบำรุงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต. นี้เรา
               เรียกว่าปาริจริยานุตริยะ.
                         ทัสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ สิกขา-
               นุตริยะ ปาริจริยานุตริยะ เป็นดังนี้.
                         ก็อนุสตานุตริยะเป็นอย่างไร?
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้
               ย่อมระลึกถึงการได้บุตรบ้าง การได้ภรรยาบ้าง การ
               ได้ทรัพย์บ้าง ก็หรือว่าย่อมระลึกถึงการได้มากบ้าง
               น้อยบ้าง, หรือระลึกถึงสมณพราหมณ์ผู้มีความเห็นผิด
               ผู้ปฏิบัติผิด.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การระลึกถึงนี้มีอยู่ เรา
               มิได้กล่าวว่า การระลึกถึงนี้ไม่มี.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แต่ว่า การระลึกถึงนี้นั้น
               แลเป็นการระลึกถึงอันเลว ฯลฯ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อ
               พระนิพพาน.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าบุคคลใดแลผู้มี
               สัทธาตั้งมั่น มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว
               มีความเลื่อมใสยิ่ง ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวก
               ของพระตถาคต.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การระลึกถึงนี้ประเสริฐ
               กว่าการระลึกถึงทั้งหลาย ย่อมเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์
               แห่งสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน,
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีสัทธาตั้งมั่น
               มีความรักตั้งมั่น มีสัทธาไม่หวั่นไหว มีความเลื่อมใสยิ่ง
               ย่อมระลึกถึงพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต. นี้
               เราเรียกว่า อนุสตานุตริยะ.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้คือ อนุตริยะ ๖
               ฉะนี้แล.๑-
____________________________
๑- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๐๑

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา อภิญเญยยนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 31 / 10อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=105&Z=159
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=1536
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=1536
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :