ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 31 / 10อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
อภิญเญยยนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               อาการ ๓๒               
               [๖] วิสัชนา ๓๒ มีวิสัชนาเกสาเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้แสดงด้วยสามารถกรรมฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์.
               ก็เมื่ออาการ ๓๒ มีเกสาเป็นต้นเหล่านั้นปรากฏโดยความเป็นของปฏิกูล ก็เป็นอสุภกรรมฐานด้วยสามารถแห่งกายคตาสติ, เมื่อปรากฏโดยความเป็นสี ก็เป็นวัณณกรรมฐาน,๑- เมื่อปรากฏโดยความเป็นธาตุ ก็เป็นจตุธาตุววัตถานกรรมฐาน,
               อนึ่ง อาการ ๓๒ มีเกสาเป็นต้นปรากฏโดยความเป็นปฏิกูลหรือโดยสี ฌานก็มีสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอารมณ์. เมื่อธาตุปรากฏแล้ว ก็พึงทราบว่า เป็นโกฏฐาสเหล่านั้น และเป็นการเจริญธาตุที่มีโกฏฐาสนั้นเป็นอารมณ์.
____________________________
๑- ฉ. กสิณกรรมฐาน.

               ๑. เกสา - ผมทั้งหลาย เกิดอยู่ที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะในด้านข้างทั้ง ๒ แห่งศีรษะ กำหนดด้วยกกหูทั้ง ๒ ข้างหน้ากำหนดด้วยหน้าผากเป็นที่สุด, และข้างหลังกำหนดด้วยท้ายทอย นับได้ตั้งแสนเป็นอเนก.
               ๒. โลมา - ขนทั้งหลาย ตั้งอยู่ที่หนังหุ้มสรีระโดยมาก เว้นที่เป็นที่ตั้งแห่งอวัยวะมีผมเป็นต้น และฝ่ามือฝ่าเท้าทั้ง ๒ เสีย ท่านกำหนดขุมขนไว้ถึง ๙ หมื่น ๙ พันขุม ตั้งอยู่ในหนังหุ้มสรีระ มีประมาณลิกขาหนึ่งเป็นประมาณ.
               ๓. นขา - เล็บทั้งหลาย ตั้งอยู่บนหลังแห่งปลายนิ้วทั้งหลายนับได้ ๒๐.
               ๔. ทนฺตา - ฟันทั้งหลาย ตั้งอยู่ที่กระดูกคางทั้ง ๒ โดยมากนับได้ ๓๒ ซี่.
               ๕. ตโจ - หนังหุ้มสรีระทั้งสิ้น ตั้งอยู่ใต้ผิวหนัง บนพังผืดชั้นนอก.
               ๖. มํสํ - เนื้อนับได้ ๙๐๐ ชิ้น ตั้งฉาบกระดูก ๓๐๐ กว่าท่อน.
               ๗. นหารุ - เอ็น ๙๐๐ ผูกพันกระดูกทั้งหลาย ตั้งอยู่ทั่วสกลสรีระ.
               ๘. อฏฺฐี - กระดูก ๓๐๐ กว่าท่อน ตั้งอยู่ทั้งเบื้องล่างเบื้องบนทั่วสกลสรีระ.
               ๙. อฏฺฐิมิญฺชา๒- - เยื่อในกระดูก ตั้งอยู่ภายในกระดูกเหล่านั้นๆ.
               ๑๐. วกฺกํ๓- - ไต ได้แก่ ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนอยู่ล้อมเนื้อหัวใจ มีขั้วอันเดียวกันแตกออกจากหลุมคอ ถัดไปหน่อยหนึ่งแล้วแยกออกเป็น ๒ รึงรัดไว้ด้วยเอ็นหยาบๆ.
____________________________
๒- ในที่ทั่วไปเป็น อฏฺฐิมิญฺชํ.  ๓- โบราณแปลว่า ม้าม.

               ๑๑. หทยํ - หัวใจ ได้แก่ ก้อนเนื้อหทัย ตั้งอยู่ท่ามกลางถันทั้ง ๒ ข้างในภายในสรีระ เต็มไปด้วยโลหิตประมาณกึ่งฟายมือเป็นที่อาศัยแห่งจิต มีหลุมภายในมีประมาณเท่าที่ตั้งแห่งเมล็ดบุนนาค.
               ๑๒. ยกนํ - ตับ ได้แก่ แผ่นเนื้อเป็นคู่ อาศัยตั้งอยู่ข้างขวาภายในร่างกายระหว่างถันทั้ง ๒ ข้าง.
               ๑๓. กิโลมกํ - พังผืด ได้แก่ เนื้อหุ้ม ๒ อย่าง คือเนื้อพังผืดที่ปิดหุ้มหัวใจและม้ามตั้งอยู่ ๑, และเนื้อพังผืดที่ไม่ปิด หุ้มเนื้อใต้ผิวหนัง ตั้งอยู่ทั่วสกลสรีระ ๑.
               ๑๔. ปิหกํ๔- - ม้าม ได้แก่ เนื้อมีสัณฐานดุจลิ้นลูกโคดำตั้งอยู่ข้างซ้ายหัวใจ อาศัยข้างบนเยื่อหุ้มท้อง.
____________________________
๔- โบราณแปลว่า ไต.

               ๑๕. ปปฺผาสํ - ปอด ได้แก่ ก้อนเนื้อที่เรียกว่าปอดโดยประเภทนับได้ ๓๒ ก้อน ห้อยปิดเนื้อบนหัวใจและตับตั้งอยู่ราวนมทั้ง ๒ ข้างในภายในสรีระ.
               ๑๖. อนฺตํ - ไส้ใหญ่ ได้แก่ เกลียวไส้ที่เป็นขนด ขดอยู่ในที่ทั้งหลาย คือ เบื้องบนใต้หลุมคอลงมา เบื้องล่างถึงกรีสมรรค๕- ตั้งอยู่ภายในสรีระ มีหลุมคอเป็นต้นและมีกรีสมรรคเป็นที่สุดเกี่ยวพันถึงกัน ของบุรุษยาว ๓๒ ศอก ของสตรียาว ๒๘ ศอก รวม ๒๑ ขนดด้วยกัน.
____________________________
๕- กรีสมรรค = ทวารหนัก.

               ๑๗. อนฺตคุณํ - ไส้น้อย ได้แก่ ลำไส้น้อยพันปลายปากขนด รวมกันที่ขนดลำไส้ใหญ่ ตั้งอยู่ระหว่างขนดลำไส้ใหญ่ ๒๑ ขนด.
               ๑๘. อุทริยํ - อาหารใหม่ ได้แก่ อาหารที่ถูกบดจนเป็นจุรณด้วยสากคือฟัน หมุนไปรอบๆ ด้วยมือคือลิ้น เกลือกกลั้วด้วยน้ำลาย ในขณะนั้นก็ปราศจากสมบัติแห่งสีกลิ่นและรสเป็นต้น เช่นกับข้าวย้อมด้ายของช่างหูกและรากสุนัข ตกไปคลุกเคล้ากับดีเสมหะและลม เดือดด้วยกำลังความร้อนของไฟในท้อง เกลื่อนกล่นด้วยกิมิชาติตระกูลใหญ่น้อย ปล่อยฟองฟอดขึ้นเบื้องบน จนถึงความเป็นขี้ขยะมีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดยิ่งนัก ตั้งอยู่ที่พื้นลำไส้ใหญ่บนนาภี กล่าวคือที่ท้องอันเป็นที่อาศัยของอาหารใหม่ต่างๆ ที่กลืนดื่มเคี้ยวกินและลิ้มเข้าไป.
               ๑๙. กรีสํ - อาหารเก่า ได้แก่ อุจจาระตั้งอยู่ในที่สุดแห่งลำไส้ใหญ่ สูงประมาณ ๘ องคุลี ในระหว่างแห่งนาภีและที่สุดแห่งกระดูกสันหลัง๖- ในภายใต้ กล่าวคือที่อยู่ของอาหารที่ย่อยแล้ว.
               ๒๐. ปิตฺตํ - น้ำดี ได้แก่ ดี ๒ อย่าง คือ ที่อาศัยตับในระหว่างเนื้อหทัยและปอดตั้งอยู่ กล่าวคือน้ำดีที่อยู่ประจำในถุงน้ำดี มีสัณฐานเช่นกับรังบวบขมใหญ่ ๑, และที่มิได้อยู่ประจำ เว้นที่ของผม, ขน, เล็บและฟันที่ไม่มีเนื้อ และหนังที่ด้านและแห้งซึมซาบอยู่ทั่วสรีระส่วนที่เหลือ.
               ๒๑. เสมฺหํ - เสลด ได้แก่ เสมหะประมาณเต็มฟายมือหนึ่ง ตั้งอยู่ที่พื้นท้อง.
               ๒๒. ปุพฺโพ - หนอง ได้แก่ ความแปรไปแห่งโลหิตเสีย๗- เกิดที่อวัยวะที่ถูกเสี้ยนหนามและเปลวไฟเป็นต้น กระทบแล้วหรือที่อวัยวะที่มีฝีและต่อมพุพองเป็นต้น เกิดขึ้นแล้วด้วยการกำเริบแห่งธาตุในภายในสรีระประเทศ.
____________________________
๖- …ปิฏฺฐิกณฺฏกมูลานํ.
๗- ปริปกฺกโลหิต… โลหิตแก่รอบ.

               ๒๓. โลหิตํ - โลหิต ได้แก่ เลือด ๒ อย่าง คือ เลือดที่สั่งสมอยู่มีประมาณเพียงเต็มฟายมือหนึ่งชุ่มอยู่ที่ไตเนื้อหัวใจตับและปอดไหลออกทีละน้อยๆ เบื้องบนเนื้อหัวใจไตและปอดเต็มส่วนล่างของตับ ๑, และเลือดที่วิ่งแผ่ไปทั่วสรีระที่มีใจครองทั้งปวง โดยทำนองแห่งเปลวไฟที่พุ่งไป เว้นเสียแต่ที่ของผมขนเล็บและฟันที่ไม่มีเนื้อ และหนังที่ด้าน และแห้ง ๑.
               ๒๔. เสโท - เหงื่อ ได้แก่ อาโปธาตุที่ไหลออกจากช่องขุมผมและขนทั้งปวงในสรีระที่ร้อนเพราะความร้อนจากไฟและความร้อนจากดวงอาทิตย์และความวิการแห่งฤดูเป็นต้น.
               ๒๕. เมโท - มันข้น ได้แก่ ยางเหนียวข้น ของคนอ้วนอาศัย ตั้งอยู่ระหว่างหนังและเนื้อ, ของคนผอมอาศัยตั้งอยู่ที่อวัยวะทั้งหลายมีเนื้อแข้งเป็นต้น.
               ๒๖. อสฺสุ - น้ำตา ได้แก่ อาโปธาตุที่ตั้งอยู่เต็มเบ้าตาก็ดี ที่ไหลออกก็ดี เพราะเกิดจากดีใจเสียใจ อาหารที่เป็นวิสภาคคือที่เผ็ดร้อนและอุตุ.
               ๒๗. วสา - มันเหลว ได้แก่ มันเหลวใส ตั้งอยู่ที่ฝ่ามือที่หลัง มือฝ่าเท้าหลังเท้าดั้งจมูกหน้าผากและจะงอยบ่า โดยมากเกิดแต่อุสมาเตโชคือไออุ่นจากความร้อนของไฟความร้อนของดวงอาทิตย์และผิดฤดู.
               ๒๘. เขโฬ - น้ำลาย ได้แก่ อาโปธาตุที่ระคนกันเป็นฟอง ตั้งอยู่ที่ลิ้นข้างกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ข้าง เพราะโดยมากเกิดแก่ผู้เห็นหรือนึกถึงหรือหยิบวางอาหารเช่นนั้นไว้ในปากก็ดี เกิดแก่ผู้เหน็ดเหนื่อยอยู่ก็ดี หรือเกิดความรังเกียจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ดี.
               ๒๙. สิงฺฆาณิกา - น้ำมูก ได้แก่ ของเน่าไม่สะอาดลื่นเป็นมัน เกิดแก่ผู้มีธาตุกำเริบ เกิดด้วยอาหารวิสภาคและผิดฤดู, หรือแก่คนร้องไห้อยู่ ไหลออกจากเยื่อในสมองภายในศีรษะ ไหลออกมาทางช่องเพดานไปเต็มอยู่ในโพรงจมูกเกรอะกรังขังอยู่ก็มี ไหลออกอยู่ก็มี.
               ๓๐. ลสิกา - ไขข้อ ได้แก่ น้ำมันที่ให้สำเร็จกิจในการหยอดน้ำมันที่ข้อต่อแห่งกระดูก ตั้งอยู่ระหว่างข้อต่อแห่งกระดูก ๑๘๐ ข้อต่อ.
               ๓๑. มุตฺตํ - น้ำมูตร ได้แก่ อาโปธาตุตั้งอยู่ภายในกะเพาะปัสสาวะ ด้วยอำนาจอาหารและอุตุ.
               ๓๒. มตฺถลุงฺคํ - มันสมอง ได้แก่ กองแห่งเยื่อรวมกันแล้วมีจำนวน ๔ ก้อน ตั้งอยู่ที่รอยเย็บ ๔ แห่งภายในกะโหลกศีรษะ.

               อายตนะ ๑๒               
               [๗] วิสัชนา ๑๒ มีวิสัชนาในจักขายตนะเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยสามารถแห่งอายตนะ ๑๒.
               ชื่อว่าอายตนะ เพราะสืบต่อ, ชื่อว่าอายตนะ เพราะสืบต่อแห่งการมา, และชื่อว่าอายตนะ เพราะนำไปซึ่งการสืบต่อ.
               มีคำอธิบาย ท่านกล่าวไว้ว่า จริงอยู่ ธรรมคือจิตและเจตสิก ในบรรดาจักขุและรูปเป็นต้นเป็นทวารและอารมณ์นั้นๆ ย่อมมา ย่อมตั้งขึ้น ย่อมสืบต่อ คือย่อมพยายามโดยกิจของตนๆ มีการเสวยอารมณ์เป็นต้น.
               และมีคำอธิบาย ท่านกล่าวไว้อีกว่า ก็ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น ย่อมแผ่ไปสู๋ธรรมเหล่านั้น ในธรรมอันเป็นทางมา.
               และยังมีคำอธิบาย ท่านกล่าวไว้อีกว่า สังสารทุกข์สืบต่อกันไปอย่างมากมายเป็นไปในสงสารอันยืดยาวนานหาที่สุดมิได้นี้ ยังไม่หมุนกลับตราบใด ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น ก็ย่อมนำไปคือย่อมให้เป็นไปอยู่ตราบนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่, เพราะอรรถว่าเป็นบ่อเกิด, เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมลง, เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นที่เกิด, และเพราะอรรถว่าเป็นการณะ.
               จริงอย่างนั้น ในทางโลก ที่เป็นที่อยู่ ท่านเรียกว่าอายตนะ ได้ในคำเป็นต้นว่า อิสฺสรายตนํ - ที่อยู่ของพระอิศวร, วาสุเทวายตนํ - ที่อยู่ของวาสุเทพ.
               บ่อเกิด ท่านเรียกว่าอายตนะ ได้ในคำเป็นต้นว่า สุวณฺณายตนํ - บ่อทอง, รชตายตนํ - บ่อเงิน.
               แต่ในทางศาสนา ที่เป็นที่ประชุมลง ท่านเรียกว่าอายตนะ ได้ในคำเป็นต้นว่า มโนรเม อายตเน เสวนฺติ นํ วิหงฺคมา เหล่าวิหคย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ประชุมกันในที่เป็นที่รื่นรมย์ใจ.๑-
               ถิ่นเป็นที่เกิด ท่านเรียกว่าอายตนะ ได้ในคำเป็นต้นว่า ทกฺขิณาปโถ คุนฺนํ อายตนํ - ทักษิณาบถ ถิ่นเป็นที่เกิดแห่งโคทั้งหลาย.
               การณะ ท่านเรียกว่าอายตนะ ได้ในคำเป็นต้นว่า ตตฺร ตเตรฺว สกฺขิภพฺพตํ ปาปุณาติ สติ อายตเน๒- เมื่ออายตนะคือเหตุเป็นเครื่องระลึกมีอยู่ เธอก็จะบรรลุผลในธรรมคืออภิญญานั้นๆ แน่นอน.
____________________________
๑- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๘  ๒- องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๓

               ธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยอยู่ที่จักขุวัตถุเป็นต้น เพราะเนื่องด้วยการอาศัยจักขุวัตถุเป็นต้นนั้นอยู่ ฉะนั้น จักขุเป็นต้นนั้นจึงชื่อว่าเป็นที่อาศัยอยู่แห่งจิตและเจตสิกเหล่านั้น.
               ธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลายเหล่านั้น เกิดที่จักขุวัตถุเป็นต้น เพราะมีจักขุวัตถุเป็นต้นนั้นเป็นที่อาศัย และเพราะมีจักขุวัตถุเป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์ ฉะนั้น จักขุวัตถุเป็นต้นจึงชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งจิตและเจตสิกเหล่านั้น.
               จักขุเป็นต้นเป็นที่ประชุมแห่งธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะประชุมลงด้วยสามารถแห่งวัตถุทวารและอารมณ์ในทวารนั้นๆ.
               จักขุเป็นต้นเป็นประเทศเป็นที่เกิดแห่งธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น เพราะเกิดขึ้นในจักขุวัตถุเป็นต้นนั้นนั่นแหละ โดยความ อาศัยจักขุวัตถุเป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์.
               จักขุเป็นต้นเป็นเหตุแห่งธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น ก็เพราะความที่จักขุเป็นต้นยังไม่พินาศไป.
               จักขุนั้นด้วยเป็นอายตนะด้วย ฉะนั้น จึงชื่อว่าจักขายตนะตามใจความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้แล.
               ถึงแม้อายตนะที่เหลือก็อย่างนั้นเหมือนกัน.

               ธาตุ ๑๘               
               วิสัชนา ๑๘ มีวิสัชนาในจักขุธาตุเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยสามารถแห่งธาตุ ๑๘.
               ธรรมหนึ่งๆ ย่อมจัดแจงตามสมควรแก่อารมณ์ทั้งหลายในทวารทั้งหลายมีจักขุทวารเป็นต้น ฉะนั้นธรรมนั้นชื่อว่าธาตุ. ธรรมใดย่อมทรงไว้ ฉะนั้นธรรมนั้น ชื่อว่าธาตุ. ความทรงไว้ ชื่อว่าธาตุ. สภาพที่เป็นเหตุตั้งไว้ ชื่อว่าธาตุ. หรือสภาพที่เป็นเหตุย่อมทรงไว้ในทวารนั้น ฉะนั้น ทวารนั้นชื่อว่าธาตุ.
               อธิบายว่า โลกิยธาตุทั้งหลายกำหนดตั้งไว้โดยความเป็นเหตุ ย่อมจัดแจงสังสารทุกข์เป็นอเนกประการ ดุจธาตุมีธาตุทองและธาตุเงินเป็นต้น กำหนดตั้งไว้โดยความเป็นเหตุ จัดแจงอยู่ซึ่งทองและเงินเป็นต้น.
               ธรรมชาติใดอันสัตว์ทรงไว้. ความว่า ย่อมธำรงไว้ดุจภาระอันบุคคลผู้แบกภาระ แบกไปอยู่ฉะนั้น.
               อนึ่ง ธาตุนี้ก็เพียงแค่ทรงไว้ซึ่งทุกข์เท่านั้น เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ.
               อธิบายว่า สังสารทุกข์อันสัตว์ทั้งหลายทรงไว้เสมอด้วยธาตุทั้งหลายอันเป็นเหตุประการหนึ่ง, สังสารทุกข์นั้นอันสัตว์ทรงไว้แล้วอย่างนั้น ย่อมตั้งอยู่ สถิตอยู่ในธาตุทั้งหลายเหล่านั้นประการหนึ่ง.
               อนึ่ง สำหรับอัตตาของเดียรถีย์ทั้งหลายไม่มีอยู่โดยสภาวะฉันใด, ก็แลธาตุทั้งหลายเหล่านี้จะมีสภาวะฉันนั้นก็หาไม่. แต่ที่เรียกว่าธาตุ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน.
               เหมือนอย่างว่าส่วนต่างๆ ของหินมีหรดาลและมโนศิลาเป็นต้นอันวิจิตรตระการในโลก ก็เรียกว่าธาตุฉันใด ธาตุทั้งหลายอันวิจิตรแม้เหล่านี้ก็เรียกว่าเป็นส่วนที่จะพึงรู้ได้ด้วยญาณฉันนั้นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในส่วนทั้งหลายมีรสและโลหิตเป็นต้น กำหนดตามลักษณะอันเป็นวิสภาคแก่กันและกัน อันเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกายกล่าวคือสรีระ ย่อมมีชื่อว่าธาตุ ฉันใด ในส่วนต่างๆ แห่งอัตภาพกล่าวคือเบญจขันธ์แม้เหล่านี้ ก็พึงทราบว่า ชื่อว่าธาตุ ฉันนั้น. เพราะธาตุเหล่านั้นมีจักขุธาตุเป็นต้น ก็กำหนดด้วยลักษณะอันเป็นวิสภาคแก่กันและกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า ธาตุ นี้เป็นเพียงชื่อแห่งนิชชีวธรรม.
               จริงอย่างนั้น ในพระบาลีมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเรานี้มีธาตุ ๖ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทำเทสนาในเรื่องธาตุไว้ ก็เพื่อจะถอนความหมายมั่นว่าเป็นชีวะคือบุคคล.
               จักขุนั้นด้วย เป็นธาตุด้วย ฉะนั้น ชื่อว่าจักขุธาตุ ตามใจความที่ได้กล่าวแล้วแล. ถึงแม้ธาตุที่เหลือก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               คำว่า มโนธาตุ ได้แก่ มโนธาตุ ๓.
               คำว่า ธัมมธาตุ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์, สุขุมรูป ๑๖ และนิพพาน.
               คำว่า มโนวิญญาณธาตุ ได้แก่ มโนวิญญาณธาตุ ๗๖.

               อินทรีย์ ๒๒               
               วิสัชนา ๒๒ มีวิสัชนาในจักขุนทรีย์เป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยสามารถแห่งอินทรีย์ ๒๒.
               ชื่อว่า จักขุนทรีย์ เพราะทำจักขุวัตถุนั่นแหละให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการเห็น.
               ชื่อว่า โสตินทรีย์ เพราะทำโสตวัตถุนั่นแหละ ให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการได้ยิน.
               ชื่อว่า ฆานินทรีย์ เพราะทำฆานวัตถุนั่นแหละ ให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการสูดกลิ่น.
               ชื่อว่า ชิวหินทรีย์ เพราะทำชิวหาวัตถุนั่นแหละให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการลิ้มรส.
               ชื่อว่า กายินทรีย์ เพราะทำกายวัตถุนั่นแหละให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการถูกต้อง.
               ชื่อว่า มโน เพราะรู้อารมณ์, อธิบายว่า ย่อมรู้อารมณ์ต่างๆ ได้.
               แต่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่ามโน เพราะนึก เพราะรู้อารมณ์ ดุจคนกำหนดนับอยู่ด้วยทะนาน และดุจทรงไว้ด้วยตาชั่งใหญ่ฉะนั้น.
               ชื่อว่ามนินทรีย์ เพราะทำมโนนั้นนั่นแหละให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการรู้อารมณ์.
               สหชาตธรรมดำรงอยู่ได้ด้วยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าชีวิต, ชื่อว่าชีวิตินทรีย์ เพราะทำชีวิตินทรีย์นั้นให้เป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการอนุบาลรักษาสหชาตธรรม.
               ชีวิตินทรีย์นั้นมี ๒ อย่าง คือ รูปชีวิตินทรีย์ ๑, อรูปชีวิตินทรีย์ ๑.
               ธรรมชาติที่เกิดร่วมกับกัมมชรูปทั้งหมด อนุบาลรักษาสหชาตรูปไว้ ชื่อว่ารูปชีวิตินทรีย์, เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทั้งหมด อนุบาลรักษาสหชาตนามธรรมไว้ ชื่อว่าอรูปชีวิตินทรีย์.
               ผู้ใดย่อมปรารถนา คือย่อมถึงซึ่งความสมสู่ ผู้นั้นชื่อว่าอิตถี - หญิง เพราะตั้งครรภ์ได้, ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในอวัยวะทั้งหลายมีเพศแห่งหญิงเป็นต้น, ความเป็นใหญ่แห่งหญิงนั่นแล ชื่อว่าอิตถินทรีย์ โดยกำหนด.
               นิรยะ - นรก ท่านเรียกว่า ปํ, ผู้ใดถูกบีบคั้นเบียดเบียนอยู่ในนรก กล่าวคือปํ ฉะนั้นผู้นั้น ชื่อว่าปุริส - ชาย, ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในอวัยวะทั้งหลายมีเพศแห่งบุรุษเป็นต้น, ความเป็นใหญ่แห่งบุรุษนั้นแล ชื่อว่าปุริสินทรีย์ โดยกำหนด.
               ในอินทรีย์แม้ทั้ง ๒ นั้น อินทรีย์แต่ละอย่างที่เกิดร่วมกับกัมมชรูป ย่อมมีแต่ละอินทรีย์ตามสภาวะ.
               สุขเวทนา ที่ประกอบกับกุศลวิปากกายวิญญาณจิต, ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการรู้สึกสบายทางกาย, สุขเวทนานั่นแหละเป็นใหญ่ ชื่อว่าสุขินทรีย์.
               ทุกขเวทนา ที่ประกอบกับอกุศลวิปากกายวิญญาณจิต, ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการรู้สึกไม่สบายทางกาย, ทุกขเวทนานั่นแหละเป็นใหญ่ ชื่อว่าทุกขินทรีย์.
               มนะ - ใจ ดีคืองาม เพราะประกอบด้วยปีติและโสมนัสของบุคคลนั้นมีอยู่ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าสุมโน - มีใจดี, ความเป็นแห่งสุมนะ ชื่อว่าโสมนัสสะ, เป็นอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความยินดีของเจตสิก, โสมนัสสะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าโสมนัสสินทรีย์.
               มนะ - ใจ ชั่ว เพราะประกอบด้วยโทมนัสเวทนาของบุคคลนั้นมีอยู่ ฉะนั้น บุคคลนั้นชื่อว่าทุมมโน - มีใจชั่ว, ความเป็นแห่งทุมมนะ ชื่อว่าโทมนัสสะ, เป็นอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความไม่ยินดีของเจตสิก, โทมนัสสะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าโทมนัสสินทรีย์.
               ธรรมชาติใดย่อมเพ่งความเป็นไปแห่งอาการของสุขเวทนาและทุกขเวทนา ย่อมเป็นไปโดยอาการนั้น เพราะตั้งอยู่ด้วยอาการแห่งความเป็นกลาง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอุเปกขา, เป็นอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความเป็นกลาง, อุเปกขานั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าอุเปกขินทรีย์.
               บุคคลย่อมเชื่อด้วยธรรมชาตินั้น หรือเชื่อเอง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสัทธา.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติสักว่าความเชื่อนั่นแหละ ชื่อว่าสัทธา, เป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดีครอบงำความไม่เชื่อ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะกระทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการน้อมใจ,
               สัทธานั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าสัทธินทรีย์.
               ความเป็นแห่งความแกล้วกล้า ชื่อว่าวีริยะ, หรือการงานแห่งบุคคลผู้แกล้วกล้าทั้งหลาย, หรือพึงขวนขวาย คือพึงเป็นไปด้วยวิธีอันเป็นอุบายเครื่องนำไป, เป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดีครอบงำความเกียจคร้าน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความเพียร.
               วีริยะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าวีริยินทรีย์.
               บุคคลย่อมระลึกได้ด้วยธรรมชาตินั้น, หรือระลึกเอง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติสักว่าความระลึกได้นั่นแหละ ชื่อว่าสติ, เป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดีครอบงำความเผลอสติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการตั้งมั่น, สตินั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าสตินทรีย์.
               ธรรมชาติใดย่อมทรงไว้ ย่อมตั้งไว้ด้วยดีซึ่งจิตในอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าสมาธิ, เป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดีครอบงำความซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งความไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ, สมาธินั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าสมาธินทรีย์.
               ธรรมชาติใดย่อมรู้อริยสัจโดยนัยเป็นต้นว่า นี้ทุกข์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าปัญญา. แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปัญญา เพราะประกาศพระไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ - ไม่เที่ยง, ทุกฺขํ - เป็นทุกข์, อนตฺตา - มิใช่อัตตา. เป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดีครอบงำอวิชชา,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะทำความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งทัสนญาณ, ปัญญานั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าปัญญินทรีย์.
               ชื่อว่า อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ เพราะเกิดแก่พระโยคีบุคคลผู้ปฏิบัติด้วยคิดว่า เราจักรู้พระนิพพานอันเป็นอมตบทอันยังไม่เคยรู้ในสังสารวัฏอันยาวนาน, หรือจักรู้สัจธรรม ๔ เท่านั้นดังนี้ และเพราะมีอรรถว่าอินทรีย์.
               อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์นี้เป็นชื่อของโสดาปัตติมรรคญาณ.
               ชื่อว่า อัญญินทรีย์ เพราะเป็นอินทรีย์ที่รู้ทั่วถึง เพราะรู้สัจธรรม ๔ อันมรรคนั้นรู้แล้ว ไม่ก้าวล่วงขอบเขตอันปฐมมรรครู้แล้ว และเพราะมีอรรถว่าอินทรีย์.
               อัญญินทรีย์นี้เป็นชื่อแห่งญาณในฐานะทั้ง ๖ มีโสดาปัตติผลญาณเป็นต้น.
               ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ เพราะเกิดแก่พระขีณาสพผู้รู้ทั่วถึงแล้วคือมีกิจในจตุสัจญาณเสร็จสิ้นแล้ว และเพราะมีอรรถว่าอินทรีย์,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ เพราะสำเร็จความเป็นใหญ่ในระหว่างแห่งธรรมทั้งหลายอันพระขีณาสพผู้รู้ทั่วถึงแล้วคือผู้มีจิตในสัจจะ ๔ เสร็จสิ้นแล้วแทงตลอดสัจจะ ๔.
               อัญญาตาวินทรีย์นี้เป็นชื่อแห่งอรหัตผลญาณ.
               อินทรีย์แม้ทั้งหมดเหล่านี้ ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าประกาศกรรมที่เป็นจอม เพราะอรรถว่าท่านผู้เป็นจอมแสดงแล้ว, เพราะท่านผู้เป็นจอมเห็นแล้ว, เพราะอรรถว่าท่านผู้เป็นจอมจัดแจงแล้ว, และเพราะอรรถว่าท่านผู้เป็นจอมเสพแล้ว บัณฑิตพึงนำไปประกอบตามสมควร.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าเป็นจอม เพราะความเป็นผู้มีความใหญ่ยิ่ง, และกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ก็ชื่อว่าเป็นจอม เพราะไม่มีใครจะมีความใหญ่ยิ่งเหนือกรรม. เพราะเหตุนั้นแล ในอินทรีย์เหล่านี้ อินทรีย์ที่กรรมให้เกิด ย่อมประกาศให้รู้กุศลกรรมและอกุศลกรรม, และอินทรีย์เหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นจอมนั้น ทรงจัดแจงแล้ว ฉะนั้นจึงชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าประกาศกรรมที่เป็นจอม และเพราะอรรถว่าท่านผู้เป็นจอมจัดแจงแล้ว
               อนึ่ง อินทรีย์แม้ทั้งหมดเหล่านั้นนั่นแล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นจอมทรงประกาศแล้ว และตรัสรู้ยิ่งแล้วตามความเป็นจริง ฉะนั้นจึงชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าท่านผู้เป็นจอมแสดงแล้ว และเพราะอรรถว่าท่านผู้เป็นจอมทรงเห็นแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นนั่นแหละผู้เป็นจอมมุนี เสพอินทรีย์บางอย่าง ด้วยการเสพโดยความเป็นอารมณ์ เสพอินทรีย์บางอย่างด้วยการเสพโดยภาวนา ฉะนั้น ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าผู้เป็นจอมเสพแล้วก็มี.
               อีกอย่างหนึ่ง อินทรีย์เหล่านี้ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่กล่าวคือเป็นอธิบดีก็มี. ด้วยว่าความเป็นอธิบดีแห่งจักขุเป็นต้น สำเร็จได้ในปวัตติกาลแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น เพราะเมื่ออินทรีย์แก่กล้า จักขุวิญญาณเป็นต้นก็แก่กล้า, เมื่ออินทรีย์อ่อน จักขุวิญญาณเป็นต้นก็อ่อน ดังนี้แล.

               ธาตุ ๓ โดยภพ ๓ โวการ ๓               
               [๘] วิสัชนา ๑๒ มีวิสัชนาในกามธาตุเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงแล้วโดยประเภทแห่งภพ.
               ธาตุอันประกอบด้วยกาม กล่าวคือกามราคะ ชื่อว่ากามธาตุ หรือธาตุกล่าวคือกาม ชื่อว่ากามธาตุ.
               ธาตุอันประกอบแล้วด้วยรูปฌาน ชื่อว่ารูปธาตุ เพราะละกามเสียได้ หรือธาตุกล่าวคือรูปฌาน ชื่อว่ารูปธาตุ.
               ธาตุอันประกอบแล้วด้วยอรูปฌาน ชื่อว่าอรูปธาตุ เพราะละกามและรูปฌานเสียได้, หรือธาตุกล่าวคืออรูปฌาน ชื่อว่าอรูปธาตุ.
               ธาตุเหล่านั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวโดยปริยายแห่งภพอีก.
               จริงอยู่ ท่านเรียกว่าภพ เพราะย่อมเกิด.
               ภพอันประกอบแล้วด้วยสัญญา ชื่อว่าสัญญาภพ หรือภพอันสหรคตด้วยสัญญา ชื่อว่าสัญญาภพ, หรือสัญญามีอยู่ในภพนี้ ฉะนั้น ภพนี้จึงชื่อว่าสัญญาภพ.
               โส กามภโว จ อสญฺญาภวมุตฺโต รูปภโว จ เนวสญฺญานาสญฺญาภวมุตฺโต อรูปภโว จ โหติ ฯ น สญฺญาภโว อญฺญาภโว โส รูปภเวกเทโส ฯ
               กามภพนั้น ๑, รูปภพที่พ้นจากอสัญญาภพ ๑, อรูปภพที่พ้นจากเนวสัญญานาสัญญาภพ ๑, มิใช่สัญญาภพ ชื่อว่าอสัญญาภพ, อสัญญาภพนั้นเป็นเอกเทสแห่งรูปภพ.
               เพราะความไม่มีสัญญาหยาบ ชื่อว่าเนวสัญญา - มีสัญญาก็ไม่ใช่, เพราะมีสัญญาละเอียด ชื่อว่านาสัญญา - ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ ฉะนั้นจึงชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญา, ภพที่ประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญานั้น ชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญาภพ,
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะความไม่มีสัญญาหยาบ และเพราะความมีสัญญาละเอียด ชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญา มีอยู่ในภพนี้ ฉะนั้น ภพนี้จึงชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญาภพ, เนวสัญญานาสัญญาภพนั้นเป็นเอกเทสแห่งอรูปภพ.
               ภพที่ระคนด้วยรูปขันธ์ๆ เดียว คือล้วนไปด้วยรูปขันธ์ๆ เดียวแห่งภพนั้นมีอยู่ ฉะนั้น ภพนั้นจึงชื่อว่าเอกโวการภพ, เอกโวการภพนั้นเป็นอสัญญาภพแล.
               ภพที่ระคนด้วยนามขันธ์ ๔ คือล้วนไปด้วยนามขันธ์ ๔ แห่งภพนั้นมีอยู่ ฉะนั้น ภพนั้นจึงชื่อว่าจตุโวการภพ, จตุโวการภพนั้นเป็นอรูปภพ.
               ภพที่ระคนด้วยขันธ์ ๕ คือล้วนไปด้วยขันธ์ ๕ แห่งภพนั้นมีอยู่ ฉะนั้น ภพนั้นจึงชื่อว่าปัญจโวการภพ, ปัญจโวการภพนั้นเป็นกามภพด้วย เป็นเอกเทสแห่งรูปภพด้วย.

               ฌาน               
               [๙] วิสัชนา ๑๒ มีวิสัชนาในปฐมฌานเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยอำนาจฌานสมาบัติ.
               คำว่า ฌาน ในที่นี้ ประสงค์เอาเพียงแต่พรหมวิหารธรรมเท่านั้น.
               ปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุขและเอกัคตา.
               ทุติยฌาน ประกอบด้วยปีติ สุขและเอกัคตา.
               ตติยฌาน ประกอบด้วยสุขและเอกัคตา.
               จตุตถฌาน ประกอบด้วยอุเบกขาและเอกัคตา.
               ธรรมชาติใดย่อมสนิทสนม รักใคร่ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าเมตตา. อธิบายว่า ย่อมเสน่หา.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเจริญในมิตร หรือความเป็นไปอันนั้นแห่งมิตรมีอยู่ ฉะนั้นจึงชื่อว่าเมตตา, ชื่อว่าวิมุตติ เพราะพ้นจากปัจนิกธรรมทั้งหลาย และเพราะน้อมไปในอารมณ์, ความพ้นแห่งใจ ชื่อว่าเจโตวิมุตติ, เมตตาคือเจโตวิมุตติ ชื่อว่าเมตตาเจโตวิมุตติ.
               กรุณาก็มีอรรถตามที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               บุคคลประกอบด้วยธรรมชาตินั้นแล้ว ย่อมบันเทิง, หรือธรรมชาติใดย่อมบันเทิงเอง, หรือว่า สักว่าความบันเทิงนั้น ฉะนั้น ชื่อว่ามุทิตา.
               ธรรมชาติใดย่อมเพ่งด้วยการประหาณความพิบัติโดยนัยเป็นต้นว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผู้มีเวรหามิได้เถิด และด้วยการเข้าถึงความเป็นกลาง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอุเบกขา.
               พรหมวิหาร ๓ มีเมตตาเป็นต้น ประกอบด้วยฌาน ๓ มีปฐมฌานเป็นต้น, ส่วนอุเบกขาพรหมวิหารประกอบด้วยจตุตถฌาน.
               ที่สุดแห่งอากาศนั้นไม่มีด้วยสามารถแห่งการแผ่ไป ฉะนั้น อากาศนั้นชื่อว่า อนนฺโต - ไม่มีที่สุด, อากาศไม่มีที่สุด ชื่อว่าอากาสานันตะ ได้แก่ กสิณุคฆาฏิมากาส - อากาศที่เพิกกสิณออก. อากาสานันตะนั่นแหละชื่อว่าอากาสานัญจะ, อากาสานัญจะนั้นชื่อว่าเป็นอายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั้น เช่นเดียวกับที่อยู่ของเทพทั้งหลายชื่อว่าเทวายตนะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ, สมาบัติคืออากาสานัญจายตนะนั่นแหละ ชื่อว่าอากาสานัญจายตนสมาบัติ.
               และที่สุดแห่งวิญญาณนั้นไม่มีด้วยสามารถแห่งการแผ่ไป ฉะนั้น ชื่อว่า อนนฺตํ - ไม่มีที่สุด, วิญญาณไม่มีที่สุดมีอากาศเป็นอารมณ์นั้น. อนันตะนั่นแหละชื่อว่าอานัญจะ, วิญญาณไม่มีที่สุด ท่านไม่กล่าวว่า วิญฺญาณานญฺจ แต่กล่าวว่า วิญฺญาณญฺจ.
               ก็ศัพท์นี้ในที่นี้เป็นรุฬหีศัพท์ คือเป็นศัพท์ที่นิยมใช้กัน.
               วิญญาณัญจะนั้นเป็นอายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั้น เช่นเดียวกับที่อยู่ของเทพทั้งหลายเรียกว่าเทวายตนะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าวิญญาณัญจานะ.
               ฌานชื่อว่าอากิญจนะ เพราะไม่มีอะไรแม้สักน้อยหนึ่ง. มีคำอธิบายว่า แม้โดยที่สุด เพียงภังคขณะก็ไม่มีเหลืออยู่.
               ภาวะแห่งอากิญจนะ ชื่อว่าอากิญจัญญะ. คำนี้เป็นชื่อของฌานที่ไม่มีอากาสานัญจานะเป็นอารมณ์.
               อากิญจัญญะนั้นเป็นอายตนะ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั้น เช่นเดียวกับที่อยู่ของเทพทั้งหลาย เรียกว่าเทวายตนะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอากิญจัญญายตนะ.
               สัญญาแห่งฌานพร้อมด้วยสัมปยุตธรรมนั้นไม่มี ไม่มีสัญญาก็หามิได้ เพราะไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาละเอียด ฉะนั้นชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญา, เนวสัญญานาสัญญานั้นด้วย เป็นอายตนะด้วย เพราะนับเนื่องด้วยมนายตนะและธรรมายตนะ ฉะนั้นจึงชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ.
               อีกนัยหนึ่ง สัญญาในฌานนี้ ชื่อว่าเป็นสัญญาไม่ได้ เพราะไม่สามารถทำกิจสัญญาให้ชัดเจนได้, และชื่อว่าไม่มีสัญญาเลยก็ไม่ได้ เพราะยังมีอยู่โดยสังขารธรรมที่ยังเหลืออยู่เป็นสุขุมภาพ ฉะนั้นจึงชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญา.
               เนวสัญญานาสัญญานั้นด้วย เป็นอายตนะด้วย เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งแห่งธรรมที่เหลือ๑- ฉะนั้นจึงชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ. คำนี้เป็นชื่อของสมาบัติอันมีอากิญจัญญายตนะเป็นอารมณ์.
____________________________
๑- เสสธมฺมานํ = แห่งธรรมที่เหลือ : ได้แก่ เจตสิก ๒๙ และจิต ๑ มีสัญญาเป็นประธาน.

               อนึ่ง ในฌานนี้มิใช่สัญญาจะเป็นอย่างนี้อย่างเดียว แม้เวทนาก็ชื่อว่า เนวเวทนา นาเวทนา - มีเวทนาก็ไม่ใช่ ไม่มีเวทนาก็ไม่ใช่. แม้จิตก็ชื่อว่า เนวจิตตะ นาจิตตะ - มีจิตก็ไม่ใช่ไม่มีจิตก็ไม่ใช่. ถึงผัสสะก็ชื่อว่า เนวผัสสะ นาผัสสะ - มีผัสสะก็ไม่ใช่ไม่มีผัสสะก็ไม่ใช่.
               ในสัมปยุตธรรมที่เหลือก็นัยนี้. แต่เทศนานี้ท่านทำด้วยหัวข้อว่าสัญญา.

               ปัจจยาการ ๑๒               
               วิสัชนา ๑๒ มีวิสัชนาในอวิชชาเป็นต้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงด้วยองค์แห่งปฏิจจสมุปบาท.
               กายทุจริตเป็นต้นชื่อว่าอวินทิยะ ความว่า ไม่ควรได้ เพราะอรรถว่าไม่ควรบำเพ็ญ. ธรรมชาติใดย่อมได้ซึ่งอวินทิยะนั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอวิชชา.
               กายสุจริตเป็นต้นชื่อว่าวินทิยะ - ควรได้ เพราะตรงกันข้ามกับอวินทิยะนั้น, ธรรมชาติใดย่อมไม่ได้ซึ่งวินทิยะนั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอวิชชา.
               ธรรมชาติใดทำอรรถคือกองแห่งขันธ์ทั้งหลายมิให้ปรากฏ, ทำอรรถคือความต่อแห่งอายตนะทั้งหลายมิให้ปรากฏ, ทำอรรถคือความว่างแห่งธาตุทั้งหลายมิให้ปรากฏ, ทำอรรถคือความเป็นใหญ่แห่งอินทรีย์ทั้งหลายมิให้ปรากฏ, ทำอรรถคือความจริงแห่งสัจจะทั้งหลายมิให้ ปรากฏ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าอวิชชา, ทำอรรถ ๔ อย่างที่กล่าวแล้วด้วยสามารถแห่งการบีบคั้นเป็นต้นแห่งสัจจะทั้งหลายมีทุกขสัจจะเป็นต้น ฉะนั้นจึงชื่อว่าอวิชชา.
               ธรรมชาติใดย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้แล่นไปในกำเนิด, คติ, ภพ, วิญญาณฐิติและสัตตาวาสทั้งปวง ในสังสารวัฏอันไม่มีที่สุด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าอวิชชา.
               ธรรมชาติใดย่อมแล่นไปในบัญญัติทั้งหลายมีหญิงและบุรุษเป็นต้น อันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์, ไม่แล่นไปแม้ในวิชชมานบัญญัติมีขันธ์เป็นต้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าอวิชชา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอวิชชา เพราะปกปิดเสียซึ่งวัตถุและอารมณ์แห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้น และธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นปฏิจจสมุปบาทและที่เป็นปฏิจจสมุปปันนะ.
               ธรรมชาติใดย่อมปรุงแต่งซึ่งสังขตธรรม๑- ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสังขาร.
____________________________
๑- สังขตธรรม : จิต ๘๙, เจตสิก ๕๒, รูป ๒๘.

               ธรรมชาติใดย่อมรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าวิญญาณ.
               ธรรมชาติใดย่อมรู้อารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น จึงชื่อว่านาม, อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปสู่อารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่านาม,
               ธรรมชาติใดย่อมแตกดับไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่ารูป.
               ธรรมชาติใดย่อมแผ่ไปในจิตและเจตสิกอันเป็นที่เกิด และนำไปสู่สังสารทุกข์อันยืดเยื้อต่อไป ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่า อายตนะ.
               ธรรมชาติใดย่อมถูกต้อง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าผัสสะ.
               ธรรมชาติใดย่อมเสวยอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าเวทนา.
               ธรรมชาติใดย่อมอยากได้ในอารมณ์ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าตัณหา.
               ธรรมชาติใดย่อมเข้าไปยึดในอารมณ์คือย่อมถือไว้อย่างมั่นคง ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าอุปาทาน.
               ธรรมชาติใดย่อมเป็น คือย่อมเกิด ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าภพ.
               การเกิด ชื่อว่าชาติ.
               การแก่ ชื่อว่าชรา.
               สัตว์ทั้งหลายย่อมตายด้วยธรรมชาตินั้น ฉะนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่ามรณะ.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา อภิญเญยยนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 1อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 31 / 10อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=105&Z=159
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=1536
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=1536
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :