ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 239อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 242อ่านอรรถกถา 31 / 243อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
ทัสนวิสุทธิญาณนิทเทส

               ๔๐. อรรถกถาทัสนวิสุทธิญาณนิทเทส               
               [๒๔๒] พึงทราบวินิจฉัยในทัสนวิสุทธิญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า สพฺเพ ธมฺมา เอกสงฺคหิตา - ธรรมทั้งปวง ท่านสงเคราะห์เป็นหมวดเดียวกัน ได้แก่ ธรรมที่เป็นสังขตะและอสังขตะ ทั้งหมด ท่านสงเคราะห์คือกำหนดด้วยหมวดเดียวกัน.
               บทว่า ตถฏฺเฐน - โดยสภาพถ่องแท้ คือโดยสภาพเป็นจริง.
               อธิบายว่า โดยมีอยู่ตามสภาพของตนๆ.
               บทว่า อนตฺตฏฺเฐน - โดยสภาพมิใช่ตัวตน คือโดยสภาพเว้นจากตัวตนอันได้แก่ผู้กระทำและผู้เสวย.
               บทว่า สจฺจฏฺเฐน - โดยสภาพจริง คือโดยสภาพที่ไม่ผิดจากความจริง.
               อธิบายว่า โดยความเป็นสภาพของตนไม่เป็นอย่างอื่น.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺเฐน - โดยสภาพควรแทงตลอด คือควรแทงตลอดด้วยญาณ.
               ในบทนี้พึงทราบการแทงตลอด โดยความไม่ลุ่มหลงและโดยอารมณ์ด้วยญาณอันเป็นโลกุตระ.
               บทว่า อภิชานนฏฺเฐน - โดยสภาพที่ควรรู้ยิ่ง คือโดยสภาพที่ควรรู้ยิ่งธรรมนั้นๆ โดยอารมณ์ด้วยญาณอันเป็นโลกิยะ โดยความไม่หลง และโดยอารมณ์ด้วยญาณอันเป็นโลกุตระ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- สพฺพํ ภิกฺขเว อภิญฺเญยฺยํ - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงควรรู้ยิ่ง.
____________________________
๑- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๔๙

               บทว่า ปริชานนฏฺเฐน - โดยสภาพที่ควรกำหนดรู้ คือโดยสภาพที่ควรกำหนดรู้ธรรมทั้งหลายที่รู้ยิ่งแล้วโดยสภาวะด้วยญาณอันเป็นโลกิยะและโลกุตระโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ โดยความไม่เที่ยงเป็นต้น และโดยการออกไปเป็นต้น
               เหมือนที่ตรัสไว้ว่า๒- สพฺพํ ภิกฺขเว ปริญฺเญยฺยํ - ดูก่อนภิกษุทั้งปวง สิ่งทั้งปวงควรกำหนดรู้.
____________________________
๒- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๕๐

               บทว่า ธมฺมฏฺเฐน - โดยสภาพที่เป็นธรรม คือโดยสภาพที่เป็นธรรมมีการทรงไว้ซึ่งสภาพเป็นต้น.
               บทว่า ธาตฏฺเฐน - โดยสภาพที่เป็นธาตุ คือโดยสภาพที่เป็นธาตุมีความไม่มีชีวะเป็นต้น.
               บทว่า ญาตฏฺเฐน - โดยสภาพที่อาจรู้ คือโดยสภาพที่อาจรู้ด้วยญาณอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ.
               พึงทราบว่ามีสภาพอาจรู้แม้ในบทนี้เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า ทิฏฺฐํ - รูปที่เห็น, สุตํ - เสียงที่ได้ยิน, มุตํ - อารมณ์ ๓ ที่รู้, วิญฺญาตํ - ธรรมที่รู้แล้วเป็นรูป โดยอรรถมีสภาพที่อาจเห็นได้เป็นต้น ฉะนั้น.
               บทว่า สจฺฉิกิริยฏฺเฐน - โดยสภาพที่ควรทำให้แจ้ง คือโดยสภาพที่ควรทำให้ประจักษ์โดยอารมณ์.
               บทว่า ผุสนฏฺเฐน - โดยสภาพที่ควรถูกต้อง คือโดยสภาพที่ควรถูกต้องบ่อยๆ โดยอารมณ์ของสภาพที่ทำให้ประจักษ์แล้ว.
               บทว่า อภิสมยฏฺเฐน - โดยสภาพที่ควรตรัสรู้ คือโดยสภาพที่ควรตรัสรู้ด้วยญาณอันเป็นโลกิยะ.
               ถึงแม้ท่านกล่าวญาณหนึ่งๆ ว่า ปัญญาในสภาพถ่องแท้เป็นญาณในวิวัฏฏะ คือนิพพาน จริง. ปัญญาที่ควรรู้ยิ่งเป็นญาณในสภาพที่ควรรู้. ปัญญาที่ควรทำให้แจ้งเป็นญาณในสภาพที่ควรถูกต้อง.
               อนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า
                         สมวาเย ขเณ กาเล  สมูเห เหตุทิฏฺฐิสุ
                         ปฏิลาเภ ปหาเน จ  ปฏิเวเธ จ ทิสฺสติ.
                         พระโยคาวจรย่อมปรากฏในหมู่ ขณะ กาล ที่ประชุม
                         เหตุ ทิฏฐิ การได้ การละ และในการแทงตลอด.

               ในการพรรณนาคาถา ท่านกล่าวอรรถแห่งปฏิเวธแห่งอภิสมยศัพท์. แต่ถึงดังนั้นในที่นี้พึงทราบสภาพต่างๆ แห่งธรรมเหล่านั้นด้วยอรรถตามที่กล่าวแล้ว. เพราะในอรรถกถานั่นแหละ ท่านกล่าวถึงการตรัสรู้ธรรมด้วยสามารถแห่งญาณอันเป็นโลกิยะ.
               บทว่า กามจฺฉนฺโท นานตฺตํ - กามฉันทะเป็นความต่างๆ.
               ความว่า กามฉันทะเป็นสภาพต่างๆ เพราะมีอารมณ์ต่างๆ โดยมีความฟุ้งซ่าน.
               พึงทราบกิเลสทั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า เนกฺขมฺมํ เอกตฺตํ - เนกขัมมะเป็นอันเดียวกัน.
               ความว่า เนกขัมมะมีสภาพเป็นอันเดียวกันโดยมีจิตเป็นเอกัคตา และโดยไม่มีความฟุ้งซ่านของอารมณ์ต่างๆ.
               พึงทราบกุศลทั้งปวงด้วยประการฉะนี้.
               ในที่นี้พึงทราบความต่างแห่งอกุศลทั้งหลายมีพยาบาทเป็นต้น ที่ท่านย่อไว้โดยไปยาลด้วยอรรถตามที่กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบความต่างของธรรมเบื้องต่ำๆ มีวิตกวิจารเป็นต้น โดยเป็นสภาพหยาบกว่าธรรมเบื้องสูงๆ. เพราะการแทงตลอดความต่างๆ และความเป็นอันเดียวกัน ท่านสงเคราะห์เป็นอันเดียวกัน ย่อมสำเร็จด้วยการแทงตลอดสัจจะในขณะแห่งมรรค. ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระจึงยกบทว่า ปฏิเวโธ ขึ้นแล้วแสดงถึงการตรัสรู้สัจจะ.
               บทว่า ปริญฺญา ปฏิเวธํ ปฏิวิชฺฌติ - พระโยคาวจรย่อมแทงตลอดทุกขสัจ เป็นการแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ คือตรัสรู้ด้วยปริญญาภิสมยะ.
               ในบทที่เหลือมีนัยนี้.
               จริงอยู่ ในกาลตรัสรู้สัจจะ ในขณะมรรคเป็นอันเดียวกันแห่งมรรคญาณ ย่อมมีกิจ ๔ อย่าง คือปริญญา ๑ ปหานะ ๑ สัจฉิกิริยา ๑ ภาวนา ๑.
               เหมือนอย่างเรือทำกิจ ๔ อย่างในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง คือ ละฝั่งใน ๑ ตัดกระแสน้ำ ๑ นำสินค้าไป ๑ ถึงฝั่งนอก ๑ ฉันใด. พระโยคาวจรย่อมตรัสรู้สัจจะ ๔ ในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง คือ ตรัสรู้ทุกข์ด้วยการกำหนดรู้ ๑ ตรัสรู้สมุทัยด้วยการละ ๑ ตรัสรู้มรรคด้วยการเจริญ ๑ ตรัสรู้นิโรธด้วยการทำให้แจ้ง ๑ ฉันนั้น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               อธิบายไว้ว่า พระโยคาวจรกระทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ ย่อมบรรลุ ย่อมเห็น ย่อมแทงตลอดสัจจะ ๔ ด้วยสามารถกิจ.
               เหมือนอย่างว่า เรือละฝั่งในฉันใด พระโยคาวจรกำหนดรู้ทุกข์อันเป็นมรรคญาณฉันนั้น. เรือตัดกระแสน้ำฉันใด พระโยคาวจรละสมุทัยฉันนั้น. เรือนำสินค้าไปฉันใด พระโยคาวจรเจริญมรรค เพราะเป็นปัจจัยมีเกิดร่วมกันเป็นต้นฉันนั้น. เรือถึงฝั่งนอกฉันใด พระโยคาวจรทำให้แจ้งนิโรธอันเป็นฝั่งนอกฉันนั้น.
               พึงทราบข้ออุปมาอุปมัย ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ทสฺสนํ วิสุชฺฌติ - ทัสนะย่อมหมดจด คือญาณทัสนะย่อมถึงความหมดจดด้วยการละกิเลสอันทำลายมรรคนั้นๆ.
               บทว่า ทสฺสนํ วิสุทฺธํ - ทัสสนะหมดจดแล้ว คือญาณทัสนะถึงความหมดจดแล้วโดยถึงความหมดจดแห่งกิจของมรรคญาณนั้นในขณะเกิดผลนั้นๆ.
               ท่านกล่าวมรรคผลญาณในที่สุด โดยสำเร็จด้วยมรรคผลญาณแห่งปัญญา แทงตลอดความต่าง และความเป็นอันเดียวกัน ซึ่งท่านสงเคราะห์ธรรมทั้งปวงเป็นอันเดียวกัน.

               จบอรรถกถาทัสนวิสุทธิญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา ทัสนวิสุทธิญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 239อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 242อ่านอรรถกถา 31 / 243อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=2634&Z=2658
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=7669
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=7669
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :