ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๓. อานาปาณกถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๕.

               ๔. อรรถกถาโวทานญาณนิเทศ               
               บทว่า โวทาเน ญาณานิ ญาณในโวทาน คือญาณบริสุทธิ์.
               บทว่า ตํ วิชยิตฺวา เว้นจิตนั้นเสีย. พึงเชื่อมความว่า เว้นจิตแล่นไปตามอตีตารมณ์ ตกไปข้างฝ่ายฟุ้งซ่าน ดังกล่าวแล้วในก่อนเสีย.
               บทว่า เอกฏฺฐาเน สมาทหติ ย่อมตั้งมั่นจิตไว้ในฐานะหนึ่ง คือตั้งมั่นไว้เสมอในที่สัมผัสแห่งอัสสาสะและปัสสาสะ.
               บทว่า ตตฺเถว อธิโมกฺเขติ น้อมจิตไปในฐานะนั้นแล เมื่อท่านกล่าวว่า เอกฏฐาเน ในฐานะหนึ่ง พระโยคาวจรย่อมทำความตกลงในที่สัมผัสแห่งอัสสาสะและปัสสาสะ.
               บทว่า ปคฺคณฺหิตฺวา ประคองจิตไว้แล้ว คือประคองจิตไว้ด้วยเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์และปีติสัมโพชฌงค์.
               บทว่า วินิคฺคณฺหิตฺวา ข่มจิตนั้นเสีย คือข่มจิตไว้ด้วยการเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า ประคองจิตไว้ด้วยสตินทรีย์และวีริยินทรีย์ ข่มจิตไว้ด้วยสตินทรีย์และสมาธินทรีย์.
               บทว่า สมฺปชาโน หุตฺวา พระโยคาวจรรู้ทันจิตนั้น คือรู้ทันด้วยอสุภภาวนาเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง รู้ทันด้วยเมตตาภาวนาเป็นต้น พึงทราบความเชื่อมว่า พระโยคาวรจรย่อมละราคะพยาบาทที่จิตตกตามไป.
               ความว่า เมื่อรู้ทันว่า จิตนั้นเป็นเช่นนี้ ย่อมละราคะพยาบาทโดยเป็นปฏิปักษ์ต่อจิตนั้น.
               บทว่า ปริสุทฺธํ บริสุทธิ์ คือไม่มีอุปกิเลส.
               บทว่า ปริโยทาตํ ขาวผ่อง คือประภัสสร.
               บทว่า เอกตฺตคตํ โหติ จิตถึงความเป็นธรรมอย่างเดียว คือเมื่อพระโยคาวจรถึงความวิเศษนั้นๆ จิตนั้นๆ ก็ย่อมถึงความเป็นธรรมอย่างเดียว.
               บทว่า กตเม เต เอกตฺตา ความเป็นธรรมอย่างเดียวเหล่านั้น เป็นไฉน. พระสารีบุตรเถระ เมื่อถามความเป็นธรรมอย่างเดียว แม้ประกอบและยังไม่ประกอบ ย่อมถามทำรวมกัน.
               บทว่า ทานโวสฺสคฺคุปฏฺฐเนกตฺตํ ความเป็นธรรมอย่างเดียวในความปรากฏแห่งการบริจาคทาน คือการบริจาค การสละทานอันเป็นทานวัตถุ ชื่อว่า ทานูปสคฺโค ได้แก่ เจตนาบริจาคทางวัตถุ. การเข้าไปตั้งความปรากฏแห่งทานนั้นด้วยทำให้เป็นอารมณ์ ชื่อว่า ทานูปสคฺคุปฏฺฐานํ ความปรากฏแห่งการบริจาคทาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นธรรมอย่างเดียว ในความปรากฏแห่งการบริจาคทาน ชื่อว่า ทานุปสคฺคุปฏฺฐาเนกตฺตํ ปาฐะว่า ทานโวสฺสคฺคุปฏฺฐาเนกตฺตํ ดีกว่า ความอย่างเดียวกัน.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวจาคานุสติสมาธิด้วยการยกบทขึ้น.
               อนึ่ง แม้ท่านกล่าวจาคานุสติสมาธินั้นด้วยการยกบทก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยแห่งความเป็นธรรมอย่างเดียวกัน แม้ ๓ อย่างนอกนี้ เพราะฉะนั้น อาจารย์พวกหนึ่งจึงกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ท่านชี้แจงไว้แล้วดังนี้.
               จริงอยู่ แม้นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ยังกราบทูลว่า
               ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่จำพรรษาในทิศทั้งหลาย ในศาสนานี้จักมาสู่กรุงสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระมีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อนี้มรณภาพแล้ว ภิกษุนั้นจักมีคติอย่างไร อภิสัมราภพจักเป็นอย่างไรดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงพยากรณ์ถึงคติและสัมปรายภพนั้นในโสดาปัตติผลก็ดี ในสกคาทามิผลก็ดี ในอนาคามิผลก็ดี ในอรหัตผลก็ดี. ข้าพเจ้าเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วจักถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลาย พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถีหรือหนอ.
               หากภิกษุทั้งหลายจักกล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า ภิกษุรูปนั้นเคยมากรุงสาวัตถี. ข้าพเจ้าจักตัดสินใจถวายวัสสิกสาฏก อาคันตุกภัตร คมิกภัตร คิลานภัตร คิลานุปัฏฐากภัคร คิลานเภสัข หรือธุวยาคู (ข้าวยาคูเป็นประจำ) ให้พระคุณเจ้ารูปนั้นบริโภคโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงดังนั้น จักเกิดความปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วจักเกิดปีติ เมื่อมีใจปีติ กายจักสงบ เมื่อกายสงบจักเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตจักตั้งมั่น อินทรียภาวนา พลภาวนา โพชฌงคภาวนานั้นจักมีแก่ข้าพเจ้า.๑-
____________________________
๑- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๑๕๓

               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่าในความเป็นธรรมอย่างเดียวทั้งหลาย ท่านกล่าวถึงธรรมที่หนึ่งด้วยอุปจารสมาธิ ธรรมที่สองด้วยอัปปนาสมาธิ ธรรมที่สามด้วยวิปัสสนาสมาธิ ธรรมที่สี่ด้วยมรรคและผล.
               นิมิตแห่งสมถะ ชื่อว่าสมถนิมิต. ลักษณะอันเป็นความเสื่อมความทำลาย ชื่อว่าวยลักษณะ.
               บทว่า นิโรโธ คือ นิพพาน.
               บทที่เหลือพึงประกอบตามนัยที่กล่าวแล้วใน ๓ บทเหล่านี้.
               บทว่า จาคาธิมุตฺตานํ ของบุคคลผู้น้อมใจไปในจาคะ คือคือน้อมไปในทาน.
               บทว่า อธิจิตฺตํ ได้แก่ สมาธิอันเป็นบทแห่งวิปัสสนา.
               บทว่า วิปสฺสกานํ ของบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย คือของผู้เห็นแจ้งสังขารด้วยอนุปัสสนา ๓ ตั้งแต่ภังคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับสังขาร).
               บทว่า อริยปุคฺคลานํ คือพระอริยบุคคล ๘. ความเป็นธรรมอย่างเดียว ๓ มีธรรมที่ ๒ เป็นต้น ย่อมประกอบด้วยอานาปานสติ และด้วยกรรมฐานที่เหลือ.
               บทว่า จตูหิ ฐาเนหิ คือ ด้วยเหตุทั้งหลาย ๔.
               บทที่ยกขึ้นว่า จิตถึงความเป็นธรรมอย่างเดียว เป็นจิตแล่นไปสู่ปฏิปทาวิสุทธิ เป็นจิตเจริญงอกงามด้วยอุเบกขา และเป็นจิตร่าเริงด้วยญาณดังนี้ด้วยอำนาจแห่งสมาธิวิปัสสนามรรคและผล. บทขยายความอันเป็นเบื้องต้นแห่งคำถามเพราะใคร่จะทำเพื่อความพิสดารแห่งบทที่ยกขึ้นเหล่านั้นมีอาทิว่า อะไรเป็นเบื้องต้นแห่งปฐมฌาน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิปทาวิสุทฺธิปสนฺนญฺเจว ย่อมเป็นจิตที่มีปฏิปทาวิสุทธิผ่องใส คือปฏิปทานั่นเองชื่อว่าวิสุทธิ เพราะชำระมลทินคือนิวรณ์ จิตแล่นไป คือเข้าไปสู่ปฏิปทาวิสุทธินั้น.
               บทว่า อุเปกฺขานุพฺรูหิตญฺจ คือ เจริญงอกงามด้วยอุเบกขา คือความเป็นกลางนั้น.
               บทว่า ญาเณน จ สมฺปหํสิตํ ร่าเริงด้วยญาณ คือร่าเริง ผ่องแผ้ว บริสุทธิ์ด้วยญาณอันขาวผ่อง.
               อาจารย์พวกหนึ่งพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า อุปจาระพร้อมด้วยการสะสมชื่อว่าปฏิปทาวิสุทธิ อัปปนาชื่อว่าการเจริญงอกงามด้วยอุเบกขา ปัจจเวกขณะชื่อว่าความร่าเริง.
               อนึ่ง เพราะท่านกล่าวบทมีอาทิว่า จิตถึงความเป็นธรรมอย่างเดียว เป็นจิตแล่นไปสู่ปฏิปทาวิสุทธิ ฉะนั้นพึงทราบปฏิปทาวิสุทธิด้วยการมาแห่งอัปปนาภายใน การเจริญงอกงามด้วยอุเบกขาด้วยกิจแห่งอุเบกขา คือความเป็นกลางนั้น การร่าเริงด้วยการสำเร็จกิจแห่งญาณอันขาวผ่องด้วยสำเร็จความไม่ล่วงไปแห่งธรรมทั้งหลาย. เป็นอย่างไร เพราะจิตย่อมบริสุทธิ์จากหมู่กิเลส คือนิวรณ์อันเป็นอันตรายแก่ ฌานนั้นในวาระที่อัปปนาเกิด. เพราะจิตบริสุทธิ์ จิตปราศจากเครื่องกีดกันย่อมดำเนินไปสู่สมถนิมิตอันเป็นท่ามกลาง สมาธิคืออัปปนาเป็นไปเสมอชื่อว่าสมถนิมิต อันเป็นท่ามกลาง.
               แต่ปุริมจิต (จิตดวงก่อน) ในลำดับแห่งอัปปนาสมาธินั้นเข้าถึงความเป็นของแท้โดยนัยแห่งความปรวนแปรสันตติอย่างเดียว ชื่อว่าย่อมดำเนินสู่สมถนิมิตอันเป็นท่ามกลาง เพราะดำเนินไปอย่างนี้ จิตจึงชื่อว่าแล่นไปในสมถนิมิตนั้นโดยเข้าถึงความเป็นของแท้.
               พึงทราบปฏิปทาวิสุทธิ อันสำเร็จอาการมีอยู่ในปุริมจิตอย่างนี้ก่อนด้วยอำนาจแห่งการมาในขณะปฐมฌานเกิดนั่นเอง.
               อนึ่ง เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วไม่ทำความขวนขวายในการชำระจิต เพราะไม่มีสิ่งที่ควรชำระอีก ชื่อว่าจิตหมดจดวางเฉยอยู่. เมื่อดำเนินสู่สมถะด้วยการเข้าถึงความเป็นสมถะแล้ว ไม่ทำความขวนขวายในการสมาทานอีก ชื่อว่า จิตดำเนินสู่สมถะวางเฉยอยู่. เพราะดำเนินสู่สมถะเมื่อจิตละความเกี่ยวข้องด้วยกิเลสแล้วปรากฏด้วยความเป็นธรรมอย่างเดียว ไม่ทำความขวนขวายในการปรากฏแห่งความเป็นธรรมอย่างเดียวอีก ชื่อว่าจิตมีความปรากฏในความเป็นธรรมอย่างเดียววางเฉยอยู่.
               พึงทราบความพอกพูนอุเบกขาด้วยอำนาจกิจของความวางเฉยเป็นกลางนั้น.
               ธรรมเทียมคู่ คือสมาธิและปัญญาเหล่าใดเกิดแล้วในจิตนั้นอันพอกพูนด้วยอุเบกขาอย่างนี้ เมื่อยังไม่ล่วงเกินซึ่งกันและกัน ได้เป็นไปแล้ว. อินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้นเหล่าใดมีรสอันเดียวกันด้วยรสคือวิมุตติ เพราะพ้นจากกิเลสต่างๆ เป็นไปแล้ว พระโยคาวจรนั้นนำความเพียรใดอันเข้าถึงวิมุตตินั้น สมควรแก่ความเป็นรสเดียวด้วยความไม่เป็นไปแห่งอินทรีย์เหล่านั้น.
               การเสพใดเป็นไปแล้วในขณะของพระโยคาวจรนั้น อาการเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เพราะเห็นโทษและอานิสงส์นั้นๆ ในความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วด้วยญาณแล้วสำเร็จเพราะเป็นจิตร่าเริง เป็นจิตผ่องใส ฉะนั้นพึงทราบว่า ความร่าเริงด้วยอำนาจแห่งความสำเร็จกิจ แห่งญาณอันขาวผ่องด้วยสำเร็จความไม่ล่วงเกินกันเป็นต้นแห่งธรรมทั้งหลาย ท่านอธิบายไว้ดังนี้แล.
               ในบทนั้นมีความดังนี้ เพราะญาณปรากฏด้วยสามารถแห่งอุเบกขา.
               สมดังที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ว่า จิตประคองไว้แล้วอย่างนั้นย่อมวางเฉยด้วยดี ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่งด้วยสามารถแห่งปัญญาด้วยอำนาจแห่งอุเบกขา จิตย่อมหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ ด้วยสามารถแห่งอุเบกขา ปัญญินทรีมีประมาณยิ่ง ด้วยสามารถแห่งปัญญา ด้วยอำนาจแห่งความหลุดพ้น ธรรมเหล่านั้นย่อมมีกิจเป็นอันเดียวกัน เพราะความที่จิตเป็นธรรมชาติหลุดพ้นแล้ว ปัญญินทรีย์มีประมาณยิ่ง ด้วยสามารถแห่งปัญญา ด้วยอำนาจแห่งภาวนา เพราะอรรถว่าเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน๒- ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ความร่าเริงอันเป็นกิจของญาณเป็นที่สุด.
____________________________
๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๕๕

               บทมีอาทิว่า เอวํติวตฺตคตํ จิตอันถึงความเป็นไป ๓ ประการเป็นคำสรรเสริญจิตนั้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวํติวตฺตคตํ ได้แก่ จิตถึงความเป็นไป ๓ อย่างด้วยสามารถแห่งความแล่นไปสู่ปฏิปทาวิสุทธิ ความพอกพูนอุเบกขาและความร่าเริงด้วยญาณ.
               บทว่า วิตกฺกสมฺปนฺนํ เป็นจิตถึงพร้อมด้วยวิตก คือถึงความเป็นจิตงามด้วยวิตก เพราะปราศจากความกำเริบแห่งกิเลส.
               บทว่า จิตฺตสฺส อธิฏฺฐานสมฺปนฺนํ ถึงพร้อมด้วยการอธิษฐานแห่งจิต คือจิตสมบูรณ์ไม่ย่อหย่อนด้วยการอธิษฐาน กล่าวคือเป็นไปตามลำดับแห่งจิตในอารมณ์นั้นนั่นเอง ความเป็นไปแห่งฌานชื่อว่าอธิษฐานในเพราะความชำนาญแห่งอธิษฐานฉันใด แม้ในที่นี้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ก็ชื่อว่าอธิษฐานจิตย่อมควรฉันนั้น ด้วยเหตุนั้น จิตย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น แต่เพราะกล่าวว่า สมาธิสมฺปนฺนํ ถึงพร้อมด้วยสมาธิไว้ต่างหากจึงควรถือเอาตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะสงเคราะห์สมาธิเข้าไว้ในองค์ฌาน จึงกล่าวว่า จิตฺตสฺส อธิฏฺฐานสมฺปนฺนํ ด้วยสามารถแห่งหมวด ๕ ขององค์ฌาน.
               บทว่า สมาธิสมฺปนฺนํ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งหมวด ๕ ของอินทรีย์ เพราะสงเคราะห์สมาธิเข้าไว้ในอินทรีย์.
               แต่ในทุติยฌานเป็นต้น ท่านละบทที่ยังไม่ได้แล้วกล่าวว่า ปีติสมฺปนฺนํ ถึงพร้อมด้วยปีติ ด้วยสามารถแห่งการได้.
               ในมหาวิปัสสนา ๑๘ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น วิตกเป็นต้นบริบูรณ์แล้วเพราะมหาวิปัสสนาเหล่านั้นเป็นกามาวจร.
               อนึ่ง เพราะในมหาวิปัสสนาเหล่านั้นไม่มีอัปปนา จึงควรประกอบปฏิปทาวิสุทธิเป็นต้น ด้วยอำนาจแห่งสมาธิชั่วขณะ. ท่านกล่าววิตกเป็นต้นบริบูรณ์ด้วยสามารถการได้เพราะได้วิตกเป็นต้น ด้วยปฐมฌานิก (ผู้ได้ปฐมฌาน) ในมรรค ๔ เพราะวิตกเป็นต้นในมรรคมีผู้ได้ทุติยฌานเป็นต้น ย่อมเสื่อมดุจในฌานทั้งหลาย.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านแสดงโวทานญาณ (ญาณบริสุทธิ์) ๑๓ โดยพิสดาร. แสดงอย่างไร ท่านแสดงญาณ ๑๓ เหล่านี้ก็คือญาณทั้งหลาย ๖ สัมปยุตด้วยการตั้งมั่นในที่เดียวกัน ด้วยการน้อมไปในความตั้งมั่นนั้นเอง ด้วยการละความเกียจคร้าน ด้วยการละความฟุ้งซ่าน ด้วยการละราคะ ด้วยการละพยาบาท ญาณ ๔ สัมปยุตด้วยความเป็นธรรมอย่างเดียว ๔ ญาณ ๓ สัมปยุตด้วยปฏิปทาวิสุทธิ การพอกพูนอุเบกขาและความร่าเริง.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงความสำเร็จแห่งญาณเหล่านั้น ด้วยสามารถแห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ ไม่สรุปญาณเหล่านั้น แล้วแสดงวิธีเจริญอานาปานสติสมาธิ อันเป็นเบื้องต้นแห่งการท้วง โดยนัยมีอาทิว่า นิมิตฺตํ อสฺสาสปสฺสาสา นิมิตลมอัสสาสะปัสสาสะ แล้วแสดงสรุปญาณที่สุด. นิมิตในญาณนั้น ท่านกล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า อนารมฺมณาเมกจิตฺตสฺส คือ ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว.
               ในบทนี้ อักษรเป็นบทสนธิ.
               ปาฐะว่า อนารมฺมณเมกจิตฺตสฺส บ้าง. ความว่า ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียว.
               บทว่า ตโย ธมฺเม ธรรม ๓ ประการ คือ ธรรม ๓ ประการมีนิมิตเป็นต้น.
               บทว่า ภาวนา ได้แก่ อานาปานสติสมาธิภาวนา.
               บทว่า กถํ อย่างไร เป็นคำถามใคร่จะกล่าวความแห่งคาถาแก้ ดังกล่าวแล้วในลำดับแห่งคาถาท้วงดังกล่าวแล้วครั้งแรก.
               บทว่า น จิเม ตัดบทเป็น น จ อิเม.
               ปาฐะว่า น จ เม ดังนี้บ้าง. ปาฐะนั้นเป็นปาฐะกำหนดบท.
               พึงประกอบ กถํ ศัพท์ด้วยบทแม้ที่เหลือ ๕ อย่างนี้ว่า กถํ น จ อวิทิตา โหนฺติ กถํ น จ จิตฺตํ วิกฺเขปํ คจฺฉติ เป็นธรรมไม่ปรากฏก็หามิได้อย่างไร และจิตไม่ถึงความฟุ้งซ่านอย่างไร.
               บทว่า ปธานญฺจ ปญฺญายติ จิตปรากฏเป็นประธาน คือ ความเพียรปรารภการเจริญอานาปานสติสมาธิปรากฏ เพราะว่าวีริยะ ท่านกล่าวว่าเป็นปธาน เพราะเป็นเหตุเริ่มตั้ง.
               บทว่า ปโยคญฺจ สาเธติ จิตให้ประโยชน์สำเร็จ คือพระโยคาวจรยังฌานข่มนิวรณ์ให้สำเร็จ เพราะว่าฌาน ท่านกล่าวว่าปโยค เพราะประกอบด้วยการข่มนิวรณ์.
               บทว่า วิเสสมธิคจฺฉติ บรรลุผลวิเศษ คือได้มรรคอันทำการละสังโยชน์ เพราะว่ามรรค ท่านกล่าวว่าวิเสส เพราะเป็นอานิสงส์แห่งสมถะและวิปัสสนา.
               อนึ่ง เพราะมรรคเป็นประธานแห่งความวิเศษ จึงไม่ทำการสะสมด้วยการทำ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระยังความที่ถามนั้นให้สำเร็จด้วยอุปมา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺถาปิ รุกฺโข เปรียบเหมือนต้นไม้ ดังนี้.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้.
               เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เขาทำพื้นที่ให้เรียบเหมาะที่จะทำงานเพื่อเลื่อยด้วยเลื่อย เพื่อไม่ให้กลิ้งไปมา ในเวลาเอามีดถากและผ่า.
               บทว่า กกเจน คือ เลื่อยด้วยมือ.
               บทว่า อาคเต คือ ฟันเลื่อยที่เลื่อยต้นไม้มาใกล้ตน.
               บทว่า คเต คือ ฟันเลื่อยต้นไม้ไปส่วนอื่น.
               วาศัพท์เป็นสมุจจยัตถะ ลงในอรรถรวบรวม.
               บทว่า น อวิทิตา โหนฺติ ไม่ปรากฏก็หามิได้ คือฟันเลื่อยแม้ทั้งหมดที่บุรุษเลื่อยต้นไม้ แม้ไม่ถึงที่มองดูก็ย่อมปรากฏ เพราะไม่ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป.
               บทว่า ปธานํ เป็นประธาน คือความเพียรในการตัดต้นไม้.
               บทว่า ปโยคํ ประโยค คือกิริยาที่ตัดต้นไม้.
               บทว่า วิเสสมธิคจฺฉติ ถึงความวิเศษไม่มีด้วยอุปมา.
               บทว่า อุปนิพนฺธนา นิมิตฺตํ ความเนื่องกันเป็นนิมิต คือปลายจมูกก็ดี ริมฝีปากก็ดี เป็นนิมิต คือเป็นเหตุแห่งสติอันเนื่องกัน. สติชื่อว่า อุปนิพนฺธา เพราะเป็นเครื่องผูกจิตไว้ในอารมณ์.
               บทว่า นาสิกคฺเควา คือ ผู้มีจมูกตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก.
               บทว่า มุขนิมิตฺเต วา คือ ผู้มีจมูกสั้นตั้งสติไว้ที่ริมฝีปากบน เพราะริมฝีปากบนเป็นนิมิตแห่งสติที่ปาก เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มุขนิมิตฺตํ ริมฝีปาก.
               บทว่า อาคเต คือ ลมอัสสาสะปัสสาสะที่มาในภายในจากที่สัมผัส.
               บทว่า คเต คือ ลมอัสสาสปัสสาสะที่ไปภายนอกจากที่สัมผัส.
               บทว่า น อวิทิตา โหนฺติ ลมอัสสาสะปัสสาสะไม่ปรากฏก็หามิได้ คือลมอัสสาสะปัสสาสะแม้ทั้งหมดเหล่านั้นยังไม่ถึงที่สัมผัสก็ย่อมปรากฏ. เพราะไม่ใส่ถึงการมาการไปของลมอัสสาสะปัสสาสะ.
               บทว่า กมฺมนียํ โหติ ย่อมควรแก่การงาน คือทั้งกายทั้งจิตย่อมควรแก่การงานเหมาะแก่ภาวนากรรม สมควรแก่ภาวนากรรม. ความเพียรนี้ชื่อว่าปธาน เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวถึงเหตุด้วยผล.
               บทว่า อุปกฺกิเลสา ปหียนฺติ ภิกษุผู้ปรารภความเพียรย่อมละอุปกิเลสได้ คือละนิวรณ์ได้ด้วยการข่มไว้.
               บทว่า วิตกฺกา วูปสมนฺติ วิตกย่อมสงบไป คือวิตกไม่ตั้งมั่นแล้ว เที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ย่อมถึงความสงบ ภิกษุปรารภความเพียรละอุปกิเลสได้ด้วยฌานใด วิตกทั้งหลายย่อมสงบด้วยฌานนั้น.
               บทว่า อยํ ปโยโค ท่านทำเป็นปุงลิงค์เพราะเพ่งถึงประโยค.
               บทว่า สญฺโญชนานิ ปหียนฺติ ภิกษุผู้ปรารภความเพียรย่อมละสังโยชน์ได้ คือละสังโยชน์อันมรรคนั้นๆ ทำลายด้วยสมุจเฉทปหาน.
               บทว่า อนุสยา พฺยาสนฺติ อนุสัยย่อมถึงความพินาศ คือเพราะอนุสัยที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีก จึงชื่อว่า พยนฺตา เพราะมีเกิดหรือเสื่อมปราศจากไปแล้ว. ชื่อว่า พฺยนฺติ โหนฺติ เพราะไม่เสื่อมมาก่อน ต่อมาเสื่อม ความว่า พินาศ. เพื่อแสดงว่า การละสังโยชน์ย่อมมีได้ด้วยการละอนุสัย มิใช่ด้วยอย่างอื่น ท่านจึงกล่าวถึงการละอนุสัย.
               ความว่า ละสังโยชน์ได้ด้วยมรรคใด อนุสัยย่อมพินาศไปด้วยมรรคนั้น นี้เป็นความวิเศษ.
               ในจตุกะที่ ๔ ท่านกล่าวถึงอริยมรรคไว้ในที่นี้ เพราะแม้อริยมรรค ท่านก็ได้ชี้แจงไว้แล้ว แม้เมื่อไม่กล่าวถึงความไม่มีอารมณ์เป็นสองแห่งจิตดวงเดียว เพราะสำเร็จแล้วท่านจึงไม่แก้จิตดวงนั้นแล้วสรุปว่า ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ไม่เป็นอารมณ์แห่งจิตดวงเดียวอย่างนี้.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะสรรเสริญพระโยคาวจรผู้สำเร็จภาวนานั้นจึงกล่าวคาถาว่า อานาปานสฺสติ ยสฺส แล้วกล่าวนิเทศแห่งคาถานั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนั้นดังต่อไปนี้
               ภิกษุใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ดีแล้ว อบรมแล้วตามลำดับตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนอะไร เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น.
               พึงทราบความเชื่อมด้วยคาถาว่า พระโยคาวจรนั้นยังโลกมีขันธโลกเป็นต้นนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกเป็นต้นยังโอกาสโลกนี้ให้สว่างไสวฉะนั้น.
               พึงทราบว่าในบทนี้ ท่านทำการลบอาทิศัพท์เพราะท่านกล่าวถึงแม้น้ำค้างเป็นต้นในนิเทศแห่งบทว่า อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น.
               ในคาถานิเทศท่านกล่าวแปลกออกไปโดยปฏิเสธความนั้นว่า โน ปสฺสาโส โน อสฺสาสโส ไม่ใช่ลมปัสสาสะ ไม่ใช่ลมอัสสาสะ.
               บทว่า อุปฏฺฐานํ สติ สติเข้าไปตั้งอยู่. ความว่า ชื่อว่าสติเข้าไปตั้งลมอัสสาสะนั้น เพราะความไม่หลง. ลมปัสสาสะก็เหมือนกัน.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านกล่าวความว่า สติในลมหายใจเข้าและหายใจออก ชื่อว่าอานาปานสติ. บัดนี้ประสงค์จะชี้แจงถึงบุคคลที่ท่านกล่าวว่า ยสฺส ด้วยอำนาจแห่งสติเท่านั้น จึงกล่าวว่า สติย่อมปรากฏแก่บุคคลผู้หายใจเข้าและผู้หายใจออก.
               ความว่า ผู้ใดหายใจเข้า สติของผู้นั้นย่อมกำหนดลมอัสสาสะ. ผู้ใดหายใจออก สติของผู้นั้นย่อมกำหนดลมปัสสาสะ.
               ปริปุณฺณาติ ฌานวิปสฺสนามคฺคปรมฺปราย อรหตฺตมคฺคปปตฺติยา ปริปุณฺณา ฯ
               เตเยว หิ ฌานวิปสฺสนามคฺคธมฺเม สนฺธาย ปริคฺคหฏฺเฐนาติอาทิมาห ฯ
               เต หิ ธมฺมา อิมินา โยคินา ปริคฺคยฺหมานตฺตา ปริคฺคหา เตน ปริคฺคหฏฺเฐน ปริปุณฺณา ฯ
               ตตฺถ สพฺเพสํ จิตฺตเจตสิกานํ อญฺญมญฺญปริวารตฺตา ปริวารฏฺเฐน ปริปุณฺณา ฯ
               ภาวนาปาริปูริวเสน ปริปุรฏฺเฐน ปริปุณฺณา ฯ

               บทว่า ปริปุณฺณา คือ บริบูรณ์ด้วยบรรลุอรหัตมรรค อันสืบมาจากมรรคในฌานและวิปัสสนา.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวคำมีอาทิว่า ปริคฺคหฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าถือเอารอบ หมายถึงธรรมคือมรรคฌานและวิปัสสนาฌาน. เพราะธรรมเหล่านั้นชื่อว่า ปริคฺคหา เพราะอันพระโยคาวจรนี้ถือเอารอบ.
               ชื่อว่า ปริปุณฺณา ด้วยอรรถว่าถือเอารอบนั้น. ชื่อว่า ปริปุณฺณา ด้วยอรรถว่าเป็นบริวาร เพราะจิตและเจตสิกทั้งปวงเป็นบริวารของกันและกัน. ชื่อว่า ปริปุณฺณา ด้วยอรรถว่าบริบูรณ์ด้วยความบริบูรณ์แห่งภาวนา.
               บทมีอาทิว่า จตสฺโส ภาวนา ภาวนา ๔ ท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งบทที่กล่าวแล้วว่า สุภาวิตา เจริญแล้ว. ภาวนา ๔ ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               บทว่า ยานีกตา ทำให้เป็นดังยาน คือทำเช่นกับยานเทียมแล้ว.
               บทว่า วตฺถุกตา ทำให้เป็นที่ตั้ง คือทำเช่นกับวัตถุ ด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง.
               บทว่า อนุฏฺฐิตา น้อมไป คือปรากฏแล้ว.
               บทว่า ปริจิตา อบรม คือตั้งสะสมไว้โดยรอบ.
               บทว่า สุสมารทฺธา ปรารภดีแล้ว คือปรารภด้วยดี ทำด้วยดี.
               บทว่า ยตฺถ ยตฺถ อากงฺขติ ภิกษุจำนงหวังในที่ใดๆ คือหากภิกษุปรารถนาในฌานใดๆ ในวิปัสสนาใดๆ.
               บทว่า ตตฺถ ตตฺถ คือ ในฌานนั้นๆ ในวิปัสสนานั้นๆ.
               บทว่า วสิปฺปตฺโต เป็นผู้ถึงความชำนาญ ได้แก่ถึงความเป็นผู้ชำนาญ คือความเป็นผู้มีวสีมาก.
               บทว่า พลปฺปตฺโต ถึงกำลัง คือถึงกำลังสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า เวสารชฺชปฺปตฺโต ถึงความแกล้วกล้าคือ ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ความเป็นผู้ฉลาด.
               บทว่า เต ธมฺมา ได้แก่ ธรรม คือสมถะและวิปัสสนา.
               บทว่า อาวชฺชนปฏิพทฺธา เป็นธรรมเนื่องด้วยความคำนึง คือเพราะเนื่องด้วยความคำนึง.
               ความว่า เพียงภิกษุนั้นคำนึงเท่านั้น ธรรมทั้งหลายย่อมถึงการประกอบพร้อมด้วยสันดาน หรือด้วยญาณ.
               บทว่า อากงฺขณปฏิพทฺธา เนื่องด้วยความหวัง คือเพราะเนื่องด้วยความชอบใจ.
               ความว่า เพียงภิกษุชอบใจเท่านั้น ธรรมทั้งหลายย่อมถึงการประกอบพร้อมโดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               อนึ่ง มนสิการในบทว่า มนสิการปฏิพทฺธา นี้เป็นจิตตุปบาทแห่งความคำนึง. ท่านกล่าวเพื่อขยายความด้วยสามารถแห่งไวพจน์ของความหวัง.
               บทว่า เตน วุจฺจติ ยานีกตา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าทำให้เป็นดังยาน. อธิบายว่า ธรรมเหล่านั้นทำให้เป็นเช่นกับยาน เพราะทำแล้วอย่างนั้น.
               บทว่า ยสฺมึ ยสฺมึ วตฺถุสฺมึ ในวัตถุใดๆ คือในวัตถุหนึ่งๆ ในวัตถุ ๑๖.
               บทว่า สวาธิฏฺฐิตํ มั่นคงดีแล้ว คือตั้งไว้ดีแล้ว.
               บทว่า สุปติฏฺฐิตา ปรากฏดีแล้ว คือเข้าไปตั้งไว้ด้วยดี. ท่านแสดงธรรม ๒ อย่างเหล่านั้น ประกอบด้วยอนุโลมปฏิโลมเพราะทำกิจของตนๆ ร่วมกันแห่งสติอันมีจิตสัมปยุตแล้ว.
               บทว่า เตน วุจฺจติ วตฺถุกตา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทำให้เป็นที่ตั้ง. อธิบายว่า เพราะความเป็นอย่างนี้ ธรรมทั้งหลายจึงทำให้เป็นที่ตั้ง.
               บทว่า เยน เยน จิตฺตํ อภินีหรติ จิตน้อมไปด้วยอาการใดๆ คือจิตนำออกจากความเป็นไปในก่อนแล้วน้อมเข้าไปในภาวนาวิเศษใดๆ.
               บทว่า เตน เตน สติ อนุปริวตฺตติ สติก็หมุนไปตามด้วยอาการนั้นๆ คือสติช่วยเหลือในภาวนาวิเศษนั้นๆ หมุนไปตาม เพราะเป็นไปแต่ก่อน.
               ในบทว่า เยน เตน นี้ พึงทราบว่าเป็นสัตตมีวิภัตติ ดุจในประโยคมีอาทิว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ๓- พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด เข้าไปหา ณ ที่นั้นดังนี้.
____________________________
๓- ขุ. ขุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๕

               บทว่า เตน วุจฺจติ อนุฏฺฐิตา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่าน้อมไป คือเพราะทำอย่างนั้นนั่นแล.
               ท่านอธิบายว่า ธรรมทั้งหลายไปตามภาวนานั้นๆ ตั้งอยู่ เพราะอานาปานสติเป็นประธานของสติ พึงทราบว่า ท่านทำการประกอบพร้อมกับสติในบทว่า วตฺถุกตา และอนุฏฺฐิตา.
               อนึ่ง เพราะสติอันภิกษุอบรมให้บริบูรณ์แล้ว เป็นอันงอกงามแล้ว ได้อาเสวนะแล้ว ฉะนั้น อรรถทั้ง ๓ ที่ท่านกล่าวไว้ในบทว่า ปริปุณฺณา เป็นอันกล่าวแม้ในบทว่า ปริจิตา ด้วย.
               ท่านกล่าวอรรถที่ ๔ เป็นอรรถวิเศษ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สติยา ปริคฺคณฺหนฺโต ภิกษุกำหนดถือเอาด้วยสติ คือพระโยคาวจรกำหนดถือเอาสิ่งที่ควรถือเอาด้วยสติอันสัมปยุตแล้ว หรือเป็นบุพภาค.
               บทว่า ชินาติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเม ภิกษุย่อมชนะอกุสลธรรมอันลามกได้ คือย่อมชนะ ย่อมครอบงำ กิเลสอันลามกด้วยการตัดขาด. ธรรมเทศนานี้เป็นบุคคลาธิษฐาน เพราะเมื่อธรรมทั้งหลายชนะ แม้บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยธรรมนั้น ก็ชื่อว่าย่อมชนะด้วย.
               อนึ่ง ธรรมเหล่านั้นไม่ละสติปรารภเพื่อจะชนะในขณะที่ยังเป็นไปของตน ท่านกล่าวว่าชนะแล้ว เหมือนที่ท่านกล่าวว่า บุคคลปรารภเพื่อจะบริโภค ก็เป็นอันบริโภคแล้ว.
               อนึ่ง พึงทราบลักษณะในบทนี้โดยอรรถแห่งศัพท์.
               แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น เมื่อควรจะกล่าวว่า ปริชิตา ท่านแปลง อักษรเป็น อักษรกล่าวว่า ปริจิตา. ท่านทำโดยลักษณะของภาษา แปลง เป็น ในอรรถวิกัปว่า สมฺมา คโท อสฺสาติ สุโต ชื่อว่า สุภต เพราะมีพระวาจาชอบ ฉันใด แม้ในบทนี้ก็พึงทราบฉันนั้น.
               บทว่า ปริจิตา ในอรรถวิกัปนี้เป็นกัตตุสาธนะ ๓ บทก่อนเป็นกัมมสาธนะ.
               บทว่า จตฺตาโร สุสมารทฺธา ธรรม ๔ อย่างภิกษุปรารภดีแล้ว. ท่านอธิบายว่า ธรรม ๔ อย่างมีอรรถอันภิกษุปรารภดีแล้ว. พึงเห็นว่าลบ อตฺถ ศัพท์.
               แม้อรรถแห่งบทว่า สุสมารทฺธา พึงทราบว่าท่านกล่าวว่า สุสมารทฺธา ในที่นี้ หรือ สุสมารทฺธธมฺมา มีธรรมอันภิกษุปรารภดีแล้ว. พึงทราบว่า ท่านกล่าวว่า จตฺตาโร โดยประเภทแห่งอรรถ มิใช่โดยประเภทแห่งธรรม.
               อนึ่ง เพราะธรรมทั้งหลายอันภิกษุเจริญแล้วเป็นอันชื่อว่าปรารภดีแล้ว มิใช่ธรรมเหล่าอื่น ฉะนั้นท่านกล่าวอรรถแห่งความเจริญ ๓ อย่างไว้แม้ในที่นี้.
               แม้อรรถแห่งอาเสวนะ (การเสพ) ท่านก็กล่าวในอรรถแห่งความเจริญ ๓ อย่างที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านไม่กล่าวอรรถแห่งธรรมนั้น เป็นอันกล่าวถึงอรรถแห่งกิเลสอันเป็นข้าศึกแก่ธรรมนั้นที่ถอนแล้ว เพราะที่สุดแห่งการปรารภย่อมปรากฏโดยการถอนกิเลสอันเป็นข้าศึก ด้วยเหตุนั้นเป็นอันท่านกล่าวถึงอรรถอันถึงยอดแห่งธรรมที่ปรารภดีแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตปฺปจฺจนีกานํ กิเลสอันเป็นข้าศึกแก่ธรรมนั้น คือกิเลสเป็นข้าศึกแก่ฌานวิปัสสนาและมรรคเหล่านั้น.
               บทว่า กิเลสานํ แห่งกิเลสทั้งหลาย คือแห่งกิเลสทั้งหลายมีกามฉันทะเป็นต้น และสักกายทิฏฐิอันสัมปยุตด้วยนิจจสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า สุสมุคฺฆาตตฺตา เพราะเพิกถอนด้วยดี คือเพราะถอนด้วยดี เพราะพินาศไปด้วยสามารถแห่งวิกขัมภนะ ตทังคะและสมุจเฉทะ. แต่ในคัมภีร์ทั้งหลาย พวกอาจารย์เขียนไว้ว่า สุสมุคฺฆาตตฺตา บทนั้นไม่ดี.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อแสดงอรรถวิกัปแม้อื่นแห่งบทนั้นอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สุสมํ ความเสมอดี.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺถ ชาตา กุศลธรรมทั้งหลายเกิดในธรรมนั้น คือเกิดในภาวนาวิเศษอันถึงยอดนั้น.
               บทว่า อนวชฺชา ไม่มีโทษ คือปราศจากโทษ คือกิเลสด้วยการไม่เข้าถึงความที่กิเลสทั้งหลายเป็นอารมณ์.
               บทว่า กุสลา ได้แก่ กุศลโดยกำเนิด.
               บทว่า โพธิปกฺขิยา เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือ ชื่อว่า โพธิปกฺขิยา เพราะเป็นฝ่ายแห่งพระอริยเจ้าอันได้ชื่อว่า โพธิ เพราะอรรถว่าตรัสรู้.
               บทว่า ปกฺเข ภวตฺตา เพราะเป็นในฝ่าย คือเพราะตั้งอยู่ในความเป็นอุปการะ.
               อนึ่ง ธรรม ๓๗ เหล่านั้นคือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘.#-
____________________________
#- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๔

               บทว่า อิทํ สมํ นี้เป็นความเสมอ คือชื่อว่าเสมอ เพราะธรรมชาติในขณะมรรคนี้ย่อมยังกิเลสทั้งหลายให้สงบ คือให้พินาศไปด้วยการตัดขาด.
               บทว่า นิโรโธ นิพฺพานํ ความดับเป็นนิพพาน คือ ชื่อว่านิโรธ เพราะดับทุกข์. ชื่อว่านิพพาน เพราะไม่มีตัณหา กล่าวคือเครื่องร้อยรัด.
               บทว่า อิทํ สุสมํ นี้เป็นความเสมอดี คือนิพพานนี้ ชื่อว่าเสมอดี เพราะเสมอด้วยดี เพราะปราศจากความไม่เสมอ คือสังขตธรรมทั้งปวง.
               บทว่า ญาตํ รู้แล้ว คือรู้เสมอ กล่าวคือโพธิปักขิยธรรมด้วยญาณ เพราะไม่หลง รู้เสมอดี กล่าวคือนิพพาน ด้วยญาณโดยความเป็นอารมณ์ เห็นทั้งสองนั้นดุจเห็นด้วยตานั้นนั่นเอง.
               บทว่า วิทิตํ ทราบแล้ว คือได้ทั้งสองอย่างนั้นด้วยเกิดในสันดานและด้วยทำเป็นอารมณ์ ทำให้แจ้งแล้วและถูกต้องแล้วด้วยปัญญาดุจรู้แล้ว ประกาศอรรถแห่งบทก่อนๆ ว่าไม่ย่อหย่อน ไม่หลงลืม ไม่ปั่นป่วน มีอารมณ์เป็นหนึ่ง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อารทฺธํ ปรารภแล้ว คือปรารถนาแล้ว.
               บทว่า อลลีนํ ไม่ท้อถอย.
               บทว่า อุปฏฺฐิตา ตั้งมั่นแล้ว คือเข้าไปตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า อสมฺมุฏฺฐา ไม่หลงลืม คือไม่หายไป.
               บทว่า ปสฺสทฺโธ สงบแล้ว คือดับแล้ว.
               บทว่า อสารทฺโธ ไม่เป็นป่วน คือไม่กระวนกระวาย.
               บทว่า สมาหิตํ ตั้งมั่นแล้ว คือตั้งไว้เสมอ.
               บทว่า เอกคฺคํ มีอารมณ์เดียว คือไม่ฟุ้งซ่าน.
               บทมีอาทิว่า จตฺตาโร สุสมารทฺธา ธรรม ๔ อย่างภิกษุปรารภดีแล้ว มีอรรถเป็นมูลรากของคำ สุสมารทธ ทั้งสิ้น.
               ส่วนบทมีอาทิว่า อตฺถิ สมํ ความเสมอก็มี มีอรรถเป็นมูลรากของสุสม.
               บทมีอาทิว่า ญาตํ มีอรรถเป็นวิกัปของคำ อารทฺธ.
               ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบอรรถแห่งบท เมื่อควรจะกล่าวว่า สมา จ สุสมา จ สมสุสมา เสมอและเสมอดี ชื่อว่า สมสุสมา ท่านทำเป็นเอกเสสสมาสมีรูปเป็นเอกเทศ แล้วกล่าวว่า สุสมา เหมือนกล่าวว่า นามญ จ รูปญจ นามรูปญจ นามรูปํ นาม รูป และนามรูป ชื่อว่า นามรูปํ.
               บทว่า อิทํ สมํ อิทํ สุสมํ นี้เสมอ นี้เสมอดี ท่านทำเป็นคำนปุงสกลิงค์ เพราะไม่เพ่งเป็นอย่างอื่น.
               อนึ่ง เพราะแม้ ญาตํ รู้แล้วท่านกล่าวว่า ทิฏฐํ เห็นแล้ว. เห็นแล้วและปรารภแล้วโดยอรรถเป็นอันเดียวกัน.
               ส่วนบทว่า วิทิต รู้แล้ว สจฺฉิกต ทำให้แจ้งแล้ว ผสฺสิต ถูกต้องแล้ว เป็นไวพจน์ของบทว่า ญาต รู้แล้ว. ฉะนั้นจึงเป็นอันท่านกล่าวอรรถแห่ง อารทฺ ปรารภแล้วว่า ญาต รู้แล้ว.
               บทว่า อารทฺธํ โหติ วีริยํ อลฺลีนํ ความเพียรภิกษุนั้นปรารภแล้ว ไม่ย่อหย่อน มีอรรถตรงกับคำว่า อารทฺ แต่บทมีอาทิว่า อุปฏฺฐิตา สติ สติตั้งมั่น ท่านกล่าวเพื่อแสดงอรรถแห่งคำว่า อารทฺ. ชื่อว่า สุสมารทฺธา เพราะปรารภแล้วด้วยดี โดยอรรถก่อน และชื่อว่า สุสมารทฺธา เพราะเริ่มเสมอดี ด้วยอรรถนี้เมื่อท่านทำเป็นเอกเสสสมาส จึงกล่าวว่า สุสมารทฺธา. ท่านกำหนดถือเอาอรรถนี้แล้วกล่าวว่า ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สุสมารทฺธา ปรารภแล้วเสมอดี.
               บทว่า อนุปุพฺพํ คือ ตามลำดับ. อธิบายว่า ก่อนๆ หลัง.
               บทว่า ทีฆํอสฺสาสวเสน ด้วยสามารถลมหายใจเข้ายาว คือด้วยสามารถลมหายใจเข้าที่ท่านกล่าวว่า ทีฆํ ยาว.
               บทว่า ปุริมา ปุริมา ข้างต้นๆ คือ สติสมาธิ ข้างต้นๆ. ท่านกล่าวอรรถแห่งบทว่า ปุพฺพํ ด้วยบทนั้น.
               บทว่า ปจฺฉิมา ปจฺฉิมา ข้างหลังๆ คือสตินั่นเอง. ท่านกล่าวอรรถแห่งบทว่า อนุ ด้วยบทนั้น. ด้วยบททั้งสองนั้นเป็นอันได้ความว่า อบรมอานาปานสติก่อนและหลัง. เพราะกล่าวยังวัตถุ ๑๖ อย่างข้างบนให้พิสดาร ในที่นี้ท่านจึงย่อแล้วแสดงบทสุดท้ายว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี พิจารณาเห็นความสละคืนดังนี้.
               เพราะอานาปานสติ แม้ทั้งปวงภิกษุอบรมตามลำดับ เพราะเป็นไปตามความชอบใจ บ่อยๆ แห่งการเจริญถึงยอด. เหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อญฺญมญฺญํปริจิตา เจว โหนฺติ อนุปริจิตา จ อาศัยกันภิกษุนั้นอบรมแล้วและอบรมตามลำดับแล้ว ดังนี้.
               บทว่า ยถตฺถา อรรถแห่งยถาศัพท์ คืออรรถตามสภาวะ.
               บทว่า อตฺตทมถฏฺโฐ ความฝึกตน คือความหมดพยศของตนในขณะอรหัตมรรค.
               บทว่า สมถฏฺโฐ ความสงบตน คือความเป็นผู้เยือกเย็น.
               บทว่า ปรินิพฺพาปนฏฺโฐ ความยังตนให้ปรินิพพาน คือด้วยการดับกิเลส.
               บทว่า อภิญฺญฏฺโฐ ความรู้ยิ่ง คือด้วยอำนาจแห่งธรรมทั้งปวง.
               บทว่า ปริญฺญฏฺโฐ ความกำหนดรู้เป็นต้น คือด้วยอำนาจแห่งกิจคือมรรคญาณ.
               บทว่า สจฺจาภิสมยฏฺโฐ ความตรัสรู้สัจจะ คือด้วยอำนาจแห่งการเห็นแจ้งแทงตลอดอริยสัจ ๔.
               บทว่า นิโรเธ ปติฏฺฐาปกฏฺโฐ ความยังตนให้ประดิษฐานอยู่ในนิโรธ คือด้วยอำนาจแห่งการกระทำอารมณ์. ท่านประสงค์จะชี้แจงว่า พุทฺโธ ในบทว่า พุทฺเธน แม้ไม่มีบทว่า พุทฺธสฺส จึงกล่าวว่า พุทฺโธ.
               บทว่า สยมฺภู พระผู้เป็นเอง คือเป็นเองปราศจากการแนะนำ.
               บทว่า อนาจริยโก ไม่มีอาจารย์ คือขยายอรรถแห่งบทว่า สยมฺภู. เพราะว่าผู้ใดแทงตลอดอริยสัจปราศจากอาจารย์ ผู้นั้นเป็นพระสยัมภู.
               แม้บทมีอาทิว่า ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ในธรรมที่ไม่เคยสดับมาแต่กาลก่อน เป็นการประกาศอรรถแห่งความไม่มีอาจารย์.
               บทว่า อนนุสฺสุเตสุ คือ ไม่เคยสดับมาแต่อาจารย์.
               บทว่า สามํ คือ เอง.
               บทว่า อภิสมฺพุชฺฌิ ตรัสรู้ คือแทงตลอดโดยชอบอย่างยิ่ง.
               บทว่า ตตฺถ จ สพฺพญฺญุตํ ปาปุริ คือ บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูทั้งหลายเป็นผู้แทงตลอดสัจจะ.
               ปาฐะว่า สพฺพญฺญุตํ ปตฺโต บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูบ้าง.
               บทว่า พเลสุ จ วสีภาวํ เป็นผู้มีความชำนาญในพลธรรมทั้งหลาย คือบรรลุความเป็นอิสระในกำลังของพระตถาคต ๑๐. ผู้ใดเป็นอย่างนั้น ท่านกล่าวผู้นั้นว่าเป็นพุทธะ ในบทว่า พุทฺโธ นั้นเป็นบัญญัติ หมายถึงขันธสันดานที่อบรมบรรลุความหลุดพ้นอันยอดเป็นนิมิตแห่งญาณอันอะไรๆ ไม่กระทบแล้วในธรรมทั้งปวง หรือพุทธเจ้าผู้วิเศษกว่าสัตว์เป็นบัญญัติ หมายถึงการตรัสรู้ยิ่งสัจจะอันเป็นปทัฏฐานแห่งสัพพัญญุตญาณ. ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นอันท่านกล่าวถึงการชี้แจงบทว่า พุทธะ โดยอรรถ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะชี้แจงโดยพยัญชนะ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า พุทฺโธติ เกนฏฺเฐน พุทฺโธ
               บทว่า พุทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าพุทธะ ด้วยอรรถว่ากระไร.
               ในบทนั้น ท่านกล่าวว่า อรคโต เพราะตรัสรู้ในโลกตามเป็นจริง ชื่อว่า พุทฺโธ เพราะตรัสรู้สัจธรรม ชื่อว่า พุทฺโธ ทรงสอนให้หมู่สัตว์ตรัสรู้ เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวว่า ใบไม้แห้งเพราะลมกระทบ.
               บทว่า สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ ชื่อว่าพุทโธ เพราะความเป็นพระสัพพัญญู. ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะมีปัญญาสามารถตรัสรู้ธรรมทั้งปวง.
               บทว่า สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ ชื่อว่าพุทโธ ทรงเห็นธรรมทั้งปวง. ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะทรงเห็นธรรมทั้งปวงด้วยญาณจักษุ.
               บทว่า อนญฺญเนยฺยตาย พุทฺโธ ชื่อว่าพุทโธ เพราะไม่มีผู้อื่นแนะนำ. ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะอรรถว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยไม่ตรัสรู้ด้วยผู้อื่น.
               บทว่า วิสวิตาย พุทฺโธ ชื่อว่าพุทโธ เพราะมีพระสติไพบูลย์. ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะอรรถว่าแย้มดุจดอกบัวแย้มโดยที่ทรงแย้มด้วยคุณต่างๆ.
               ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะเป็นผู้ฉลาดในการสิ้นไปแห่งการนอนหลับด้วยกิเลสทั้งปวงด้วยละธรรมอันทำจิตให้ท้อแท้โดยปริยาย ๖ มีอาทิว่า ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ ชื่อว่าพุทโธ เพราะนับว่าพระองค์สิ้นอาสวะ ดุจบุรุษผู้ฉลาดในการสิ้นไปแห่งการนอนหลับ.
               เพราะบทว่า สงฺขา สงฺขาตํ โดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน. ความว่า โดยส่วนแห่งคำว่า สงฺขาเตน. ชื่อว่าเพราะนับว่าไม่มีเครื่องลูบไล้ เพราะไม่มีเครื่องลูบไล้คือตัณหาและเครื่องลูบไล้คือทิฏฐิ.
               ท่านอธิบายบทมีอาทิว่า เอกนฺตวีตราโค ทรงปราศจากราคะโดยส่วนเดียวให้แปลกด้วยคำว่า โดยส่วนเดียว เพราะละกิเลสทั้งปวงพร้อมด้วยวานาได้แล้ว.
               บทว่า เอกนฺตนิกฺกิเลโส พระองค์ไม่มีกิเลสโดยส่วนเดียว คือไม่มีกิเลสด้วยกิเลสทั้งปวงอันเหลือจาก ราคะ โทสะและโมหะ. ชื่อว่าพุทโธ เพราะเสด็จไปแล้วสู่หนทางที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว แม้อรรถแห่งการตรัสรู้ ก็ชื่อว่าเป็นอรรถแห่งการไปสู่ธาตุทั้งหลาย เพราะอรรถแห่งการตรัสรู้อันเป็นอรรถแห่งการไปถึง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะเสด็จไปสู่หนทางที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียว.
               อนึ่ง ในบทว่า เอกายนมคฺโค นี้ ท่านกล่าวชื่อของทางไว้ในชื่อเป็นอันมากว่า
                         มรรค ปันถะ ปถะ ปัชชะ อัญชสะ วฏมะ อายนะ นาวา
                         อุตตรสตุ (สะพานข้าม) กุลล (แพ) สังกมะ (ทางก้าวไป).
๔-
               เพราะฉะนั้น ทางจึงมีทางเดียว ไม่เป็นทาง ๒ แพร่ง.
____________________________
๔- ขุ. จูฬ. เล่ม ๓๐/ข้อ ๕๖๘

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเอกายนมรรค เพราะเป็นทางอันบุคคลเดียวพึงไป.
               บทว่า เอเกน ผู้เดียว คือด้วยจิตสงัดเพราะละความคลุกคลีด้วยหมู่.
               บทว่า อยิตพฺโพ พึงไป คือพึงปฏิบัติ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อยโน เพราะเป็นเหตุไป. ความว่า ไปจากสงสารสู่นิพพาน. การไปของผู้ประเสริฐ ชื่อว่าเอกายนะ.
               บทว่า เอเก คือ ผู้ประเสริฐ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ทางอันเป็นทางไปของพระสัมสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าเอกายนมรรค หรือชื่อว่า อยโน เพราะไป.
               ความว่า ย่อมไป ย่อมเป็นไป.
               ชื่อว่าเอกายนมรรค เพราะเป็นทางไปในทางเดียว.
               ท่านอธิบายว่า ทางเป็นไปในพระพุทธศาสนาทางเดียวเท่านั้น มิใช่ในทางอื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า เอกายโน เพราะไปทางเดียว.
               ท่านอธิบายว่า ในเบื้องต้นแม้เป็นไปด้วยความเป็นมุขต่างๆ และนัยต่างๆ ในภายหลัง ก็ไปนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น บทว่า เอกายนมคฺโค ความว่า ทางไปนิพพานทางเดียว.
               ชื่อว่าพุทโธ เพราะเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอย่างเยี่ยมผู้เดียว ไม่เป็นพุทโธ เพราะตรัสรู้ด้วยคนอื่น.
               ท่านอธิบายว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมด้วยพระองค์เองเท่านั้น.
               บทว่า อพุทฺธิวิหตตฺตา พุทฺธิปฏิลาภา พุทฺโธ ชื่อว่าพุทโธ เพราะทรงกำจัดเสียซึ่งความไม่มีปัญญา เพราะทรงได้ซึ่งพระปัญญาเครื่องตรัสรู้.
               บทนี้ว่า พุทฺธิ พุทฺธํ โพโธ เป็นคำบรรยาย.
               ในบทนั้น ท่านกล่าวไว้เพื่อให้รู้ว่า ชื่อว่าพุทโธ เพราะประกอบด้วยพุทธคุณ ดุจกล่าวว่าผ้าสีเขียว สีแดง เพราะประกอบด้วยชนิดของสีเขียวสีแดง.
               ต่อจากนั้นไป บทมีอาทิว่า พุทฺโธติ เนตํ นามํ บทว่า พุทฺโธ นี้มิใช่ชื่อที่มารดาเป็นต้นตั้งให้ ท่านกล่าวเพื่อให้รู้ว่า นี้เป็นบัญญัติไปตามอรรถ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า มิตฺตา คือ สหาย.
               บทว่า อมจฺจา คือ คนรับราชการ.
               บทว่า ญาตี คือ ญาติฝ่ายบิดา.
               บทว่า สาโลหิตา คือ ญาติฝ่ายมารดา.
               บทว่า สมณา คือ ผู้เป็นบรรพชิต.
               บทว่า พฺราหฺมณา คือ ผู้มีวาทะว่าเป็นผู้เจริญ หรือผู้มีบาปสงบมีปาปลอยแล้ว.
               บทว่า เทวตา คือ ท้าวสักกะเป็นต้นและพรหม.
               บทว่า วิโมกฺขนฺติกํ พระนามที่เกิดในที่สุดแห่งพระอรหัตผลคือวิโมกขะ ได้แก่อรหัตมรรค ที่สุดแห่งวิโมกขะ คืออรหัตผล ความเกิดในที่สุดแห่งวิโมกขะนั้น ชื่อว่าวิโมกขันติกะ.
               จริงอยู่ ความเป็นพระสัพพัญญูย่อมสำเร็จด้วยอรหัตมรรค เป็นอันสำเร็จในการเกิดอรหัตผล. เพราะฉะนั้น ความเป็นพระสัพพัญญูจึงเป็นความเกิดในในที่สุดแห่งอรหัตผล แม้เนมิตนามนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเกิดในที่สุดแห่งอรหัตผล ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นี้เป็นวิโมกขันติกนาม พระนามที่เกิดในที่สุดแห่งอรหัตผลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว.
               บทว่า โพธิยามูเล สห สพฺพญฺญุตญาณสฺส ปฏิลาภา เกิดขึ้นพร้อมกับการได้พระสัพพัญญุตญาณ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ คือพร้อมกับการได้พระสัพพัญญุตญาณในขณะตามที่ได้กล่าวแล้ว ณ ควงไม้มหาโพธิ.
               บทว่า สจฺฉิกา ปญฺญตฺติ สัจฉิกาบัญญัติ คือ ด้วยทำให้แจ้งซึ่งอรหัตผล หรือบัญญัติเกิดด้วยการทำให้แจ้งธรรมทั้งปวง.
               บทว่า ยทิทํ พุทฺโธ บัญญัติว่า พุทฺโธ นี้เป็นการประกาศความเป็นพุทธะโดยพยัญชนะ.
               การเทียบเคียงกันนี้โดยอรรถดังที่กล่าวแล้วในบทภาชนีย์นี้แห่งบาทคาถาว่า ยถา พุทฺเธน เทสิตา อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               โดยประการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานาปานสติแล้ว โดยประการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ยถาศัพท์เป็นอรรถ ๑๐ อย่าง สงเคราะห์ด้วยยถาศัพท์ ด้วยเหตุนั้น พึงทราบว่าท่านทำให้เป็นเอกเสสสมาสด้วย ด้วยอำนาจแห่งเอกเสสสมาสสรุป ยถาศัพท์มีปการศัพท์เป็นอรรถ และยถาศัพท์มีสภาวศัพท์เป็นอรรถ แล้วกล่าวว่า ยถา. แต่ในบทภาชนีย์ท่านทำให้เป็นเอกวจนะว่า เทสิโต ด้วยการประกอบศัพท์หนึ่งๆ ใน ยถาศัพท์นั้น.
               แม้ในบทต้น เพราะท่านกล่าวว่า โหติ คหฏฺโฐ วา โหติ ปพฺพชิโต วา เหมือนบุคคลเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ท่านกล่าวว่า ยสฺส คหฏฺฐสฺส วา ปพฺพชิตสฺส วา แห่งคฤหัสถ์ก็ตาม แห่งบรรพชิตก็ตาม ท่านกล่าวถึงอรรถแห่งโลก.
               บทว่า ปภาเสติ ย่อมให้สว่างไสว. ความว่า ทำให้ปรากฏแก่ญาณของตน.
               บทว่า อภิสมฺพุทฺธตฺตา เพราะเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ คือเพราะแทงตลอดด้วยสาวกปารมิญาณ.
               บทว่า โอภาเสติ ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว คือโลกอันเป็นกามาวจร.
               บทว่า ภาเสติ ยังโลกให้สว่างไสว คือโลกเป็นรูปาวจร.
               บทว่า ปภาเสติ ยังโลกนี้ให้สว่างไสว คือโลกเป็นอรูปาวจร.
               บทว่า อริยญาณํ คือ อรหัตมรรคญาณ.
               บทว่า มหิกมุตฺโต คือ พ้นจากน้ำค้าง.
               น้ำค้าง ท่านเรียกว่า มหิก. ปาฐะว่า มหิยา มุตฺโต บ้าง.
               บทว่า ธูมรชา มุตฺโต คือพ้นจากควันและธุลี.
               บทว่า ราหุคหณา วิปฺปมุตฺโต คือ พ้นจากการจับของราหู ท่านกล่าวให้แปลกด้วยอุปสรรค ๒ อย่าง เพราะราหูเป็นภาวะทำให้ดวงจันทร์เศร้าหมองเพราะใกล้กัน.
               บทว่า ภาสติ คือ ให้สว่างไสวด้วยมีแสงสว่าง.
               บทว่า ตปเต ได้แก่ ให้เปล่งปลั่ง ด้วยมีเดช.
               บทว่า วิโรจเต คือ ให้ไพโรจน์ด้วยมีความรุ่งเรือง.
               บทว่า เอวเมวํ ตัดบทเป็น เอวํ เอวํ.
               อนึ่ง เพราะแม้ดวงจันทร์เมื่อสว่างไสวไพโรจน์ ย่อมยังโอกาสโลกนี้ให้สว่างไสว และภิกษุเมื่อสว่างไสว เปล่งปลั่ง ไพโรจน์ด้วยปัญญา ย่อมยังโลกมีขันธโลกเป็นต้นให้ว่างไสวด้วยปัญญา ฉะนั้น แม้ในบททั้งสองท่านไม่กล่าวว่า ภเสติ แต่กล่าว ภาสเต ดังนี้ เพราะเมื่อกล่าวอย่างนั้นก็เป็นอันกล่าแม้อรรถแห่งเหตุด้วย.
               หากถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่อุปมาด้วยพระอาทิตย์ซึ่งมีแสงกล้ายิ่งนัก กลับไปอุปมาด้วยพระจันทร์.
               ตอบว่า พึงทราบว่าที่ถืออย่างนั้นเพราะการอุปมาด้วยดวงจันทร์ อันประกอบด้วยคุณสมบัติเยือกเย็น เป็นการสมควรแก่ภิกษุผู้สงบด้วยการสงบความเร่าร้อน เพราะกิเลสทั้งปวง.
               พระสารีบุตรเถระ ครั้นสรรเสริญพระโยคาวจรผู้ยังสิทธิในการเจริญอานาปานสติให้สำเร็จ แล้วแสดงสรุปญาณเหล่านั้นว่า อิมานิ เตรส โวทาเน ญาณานิ ญาณในโวทาน ๑๓ เหล่านี้แล.

               จบอรรถกถาโวทานญาณนิเทศ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๓. อานาปาณกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 294อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 362อ่านอรรถกถา 31 / 423อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=4070&Z=5199
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1781
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1781
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :