ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 362อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 423อ่านอรรถกถา 31 / 469อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๔. อินทรียกถา

               ๔. อรรถกถาอินทริยกถา               
               ๑. อรรถกถาปฐมสุตตันตนิเทศ               
               บัดนี้ ถึงคราวที่จะพรรณนาตามความที่ยังไม่เคยพรรณนาในอินทรียกถา ซึ่งกล่าวในลำดับอานาปานสติกถา.
               จริงอยู่ อินทริยกถานี้ท่านกล่าวในลำดับอานาปานสติกถา เพื่อแสดงวิธีมีการชำระอินรีย์ อันเป็นอุปการะแก่อานาปานสตินั้น เพราะไม่มีอานาปานสติภาวนาในเพราะความไม่มีอินรีย์ทั้งหลายอันเป็นอุปการะแก่อานาปานสติภาวนา เพราะเหตุนั้น พระสารีบุตรเถระประสงค์จะทำอินทริยกถาที่ควรกล่าวนั้น อันเป็นเทศนาที่มีมาในพระสูตร โดยประสงค์จะให้รู้ซึ่งคนได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้เป็นเบื้องต้นจึงกล่าวคำเป็นอาทิว่า เอวมฺเม สตํ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เป็นบทนิบาต.
               บททั้งหลายมีอาทิว่า เม เป็นบทนาม.
               บทว่า วิ ในบทว่า วิหรติ นี้ เป็นบทอุปสรรค.
               บทว่า หรติ เป็นบทอาขยาต.
               พึงทราบการจำแนกบทโดยนัยนี้ด้วยประการฉะนี้.
               แต่โดยอรรถ เอวํ ศัพท์ ย่อมปรากฏในอรรถแห่งนิทัศนะการชี้แจงและในอรรถแห่งอวธารณะ (การรับรอง) ในการถือเอาคำอันเป็นอุปมาการอ้าง การติเตียน การสรรเสริญและอาการ.
               แต่ เอวํศัพท์ในที่นี้ วิญญูชนบัญญัติลงในอรรถแห่งอาการและในอรรถแห่งนิทัศนะ และในอรรถแห่งอวธารณะก็เหมือนอย่างนั้น.
               ในอรรถเหล่านั้น ท่านแสดงความนี้ด้วยเอวํศัพท์อันมีอาการเป็นอรรถ แปลว่า ด้วยอาการอย่างนี้.
               ใครๆ สามารถจะรู้พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นอันมีนัยต่างๆ ละเอียด มีอัธยาศัยไม่น้อยเป็นสมุฏฐาน สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์หลายอย่างลึกซึ้งด้วยเหตุผลเทศนาและปฏิเวธอันมาสู่คลองโสตโดยสมควรแก่ภาษาของตนๆ แห่งสัตว์ทั้งปวงได้โดยทุกประการ แม้ยังผู้ประสงค์จะฟังให้เกิดด้วยกำลังทั้งปวง จึงกล่าวว่า เอวํ เม สุตํ คือแม้ข้าพเจ้าก็สดับมาแล้วด้วยอาการหนึ่งดังนี้.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะออกตัวว่า เรามิใช่พระสยัมภู สิ่งนี้เรายังมิได้ทำให้แจ้ง ด้วย เอวํศัพท์อันมีนิทัศนะเป็นอรรถ จึงแสดงสูตรทั้งสิ้นที่ควรกล่าวในบัดนี้ว่า เอวํ เม สุตํ แม้เราก็สดับมาแล้วอย่างนี้ดังนี้. ด้วยมีอวธารณะเป็นอรรถ พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะแสดงกำลังอันทรงไว้ของตน สมควรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงสรรเสริญโดยนัยมีอาทิว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา มีปัญญามาก สารีบุตรเป็นผู้เลิศ.๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่พิจารณาเห็นบุคคลอื่นแม้สักคนเดียว ซึ่งเป็นผู้ยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่ตถาคตประกาศไปแล้วอย่างนี้ ให้เป็นไปตามได้อย่างถูกต้องเหมือนสารีบุตรเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมที่ตถาคตประเทศแล้ว ให้เป็นไปตามได้อย่างถูกต้อง.๒-
____________________________
๑- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๖  ๒- องฺ. เอก. ๒๐/๑๔๕

                จึงยังความเป็นผู้ใคร่จะฟังให้เกิดแก่สัตว์ทั้งหลายว่า เราสดับมาแล้วอย่างนี้ พระธรรมจักรนั้นแลไม่บกพร่องไม่เกิน โดยอรรถหรือโดยพยัญชนะ พึงเห็นเป็นอย่างนี้เท่านั้น ไม่พึงเห็นเป็นอย่างอื่น.
               เมศัพท์ย่อมปรากฏในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ จตุตถีวิภัตติและฉัฏฐีวิภัตติ. แต่ในที่นี้ย่อมควรในสองอรรถว่า มยา สุตํ อันเราสดับแล้ว และ มม สุตํ สดับแล้วแก่เราดังนี้.
               ศัพท์ว่า สุตํ นี้เป็นทั้งอุปสรรคและมิใช่อุปสรรค ย่อมปรากฏในการฟังชัด การไป การชุ่มชื้น การสะสม การประกอบ การรู้แจ้งทางหู และเมื่อจะรู้ ย่อมปรากฏด้วยการแล่นไปตามโสตทวาร.
               แต่ในที่นี้ สุตํศัพท์นั้นมีความว่า เข้าไปทรงไว้หรือการเข้าไปทรงไว้โดยแล่นไปตามโสตทวาร.
               เมื่อ เมศัพท์ มีอรรถว่า มยา ย่อมควรว่า อันเราสดับแล้วอย่างนี้ คือเข้าไปทรงไว้โดยแล่นไปตามโสตทวาร. เมื่อมีอรรถว่า มม ย่อมควรว่า การฟังคือการเข้าไปทรงไว้โดยตามแล่นไปทางโสตทวารของเราอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไม่รู้ความที่การฟังอันตนให้เกิดแล้วว่า เราสดับมาแล้วอย่างนี้ เมื่อจะเปิดเผยการฟังอันมีมาก่อน ย่อมยังความไม่เชื่อถือในธรรมนี้ให้พินาศไปว่า คำนี้เรารับมาแล้วเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้าด้วยเวสารัชธรรม ๔ ผู้ทรงกำลัง ๑๐ ผู้ตั้งอยู่ในฐานะอันองอาจ ผู้บันลือสีหนาท ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง ผู้เป็นอิสระในธรรม ผู้เป็นพระธรรมราชา ผู้เป็นธรรมาธิบดี ผู้เป็นธรรมประทีป ผู้เป็นธรรมสรณะ ผู้เป็นจักรพรรดิแห่งพระสัทธรรมอันประเสริฐ ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรทำความเคลือบแคลงสงสัย ในอรรถ ในธรรม ในบท ในพยัญชนะนี้เลย ยังสัทธาสัมปทาให้เกิด.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   สาวกของพระโคดมกล่าวอยู่อย่างนี้ว่า เราสดับ
                         มาแล้วอย่างนี้ ย่อยยังผู้ไม่เชื่อให้พินาศไป ยังผู้เชื่อให้
                         เจริญในพระศาสนา ดังนี้.
               บทว่า เอกํ แสดงจำนวน.
               บทว่า สมยํ แสดงกำหนด.
               บทว่า เอกํ สมยํ แสดงความไม่แน่นอน.
               สมยศัพท์ในบทนั้นย่อมปรากฏ
                         ในการประชุม ขณะ กาล หมู่ เหตุ ทิฏฐิ
                         การได้ การละ และการแทงตลอด
               แต่ในที่นี้ สมยศัพท์เอาความว่า กาล. ด้วยเหตุนั้นท่านแสดงว่า เอกํ สมยํ ในสมัยหนึ่ง บรรดาสมัยทั้งหลายอันเป็นประเภทแห่งกาลมีปี ฤดู เดือน กึ่งเดือน คืน วัน เช้า เที่ยง เย็น ยามต้น ยามกลาง ยามสุดและครู่เป็นต้น.
               ในกาลทั้งหลายมีปีเป็นต้นเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรใดๆ ในปี ฤดู เดือน ปักษ์ กลางคืนหรือกลางวันใด ๆ พระสูตรนั้นทั้งหมด พระเถระรู้แล้วเป็นอย่างดี กำหนดแล้วเป็นอย่างดีด้วยปัญญาโดยแท้.
               แต่เพราะเมื่อกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ ในปีโน้น ฤดูโน้น เดือนโน้น ปักษ์โน้น กลางคืนวันโน้น หรือกลางวันวันโน้น ไม่สามารถจะทรงจำได้ จะยกขึ้นแสดงได้หรือให้ยกขึ้นแสดงได้โดยง่าย ควรจะกล่าวให้มาก ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระประมวลความนั้นลงด้วยบทเดียวเท่านั้นแล้วกล่าวว่า เอกํ สมยํ.
               ในบรรดาสมัยอันมีประเภทมากมาย ตามประกาศไว้ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายของพระผ้มีพระภาคเจ้ามีอาทิอย่างนี้คือ สมัยลงสู่พระครรภ์ สมัยประสูติ สมัยเกิดสังเวช สมัยเสด็จทรงผนวช สมัยทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา สมัยชนะมาร สมัยตรัสรู้ สมัยเสวยสุขในทิฏฐธรรม สมัยเทศนา สมัยปรินิพพาน แสดงถึงสมัยหนึ่ง คือสมัยเทศนา.
               ท่านกล่าวว่า เอกํ สมยํ หมายถึง สมัยใดสมัยหนึ่ง ในบรรดาสมัยอันเป็นสมัยทรงบำเพ็ญกิจด้วยพระกรุณาในสมัยทรงบำเพ็ญพระญาณกรุณา อันเป็นสมัยทรงปฏิบัติประโยชน์ เพื่อผู้อื่นในสมัยที่ทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์เพื่อผู้อื่น อันเป็นสมัยแสดงธรรมิกถาในสมัยที่ทรงกระทำกิจแก่ผู้มาประชุมกัน อันเป็นสมัยทรงประกาศพระศาสนา.
               อนึ่ง เพราะบทว่า เอกํ สมยํ เป็นอัจจันตสังโยคะ คือเป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถว่า สิ้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้หรือพระสูตรอื่นสิ้นสมัยใด ทรงอยู่ด้วยพระกรุณาวิหาร สิ้นสมัยนั้นตลอดกาล ฉะนั้น เพื่อส่องความนั้น ท่านจึงทำให้เป็นทุติยาวิภัตติ.
               ดังที่ท่านกล่าวว่า
                                   ท่านเพ่งถึงอรรถนั้นๆ แล้วจึงกล่าว สมยศัพท์
                         ในที่อื่นด้วยสัตตมีวิภัตติและตติยาวิภัตติ ในที่นี้กล่าว
                         ด้วยทุติยาวิภัตติ.
               ส่วนพระโบราณาจารย์ทั้งหลายพรรณนาว่า สมยศัพท์นี้มีความต่างกันเพียงคำพูดว่า ตสฺมึ สมเย ในสมัยนั้น เตน สมเยน ด้วยสมัยนั้น หรือ ตํ สมยํ สิ้นสมัยนั้น ในที่ทั้งปวงมีความเป็นสัตตมีวิภัตติทั้งนั้น.
               เพราะฉะนั้น แม้เมื่อกล่าวว่า เอกํ สมยํ ก็พึงทราบความว่า เอกสฺมึ สมเย ในสมัยหนึ่ง.
               บทว่า ภควา คือ ครู. เพราะชนทั้งหลายในโลกเรียกครูว่า ภควา.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เป็นครูของสรรพสัตว์ เพราะเป็นผู้ประเสริฐด้วยคุณทั้งปวง เพราะฉะนั้น พึงทราบบทว่า ภควา ต่อไป.
               แม้พระโบราณาจาย์ทั้งหลายก็ยังกล่าวไว้ว่า
                                   คำว่า ภควา เป็นคำประเสริฐที่สุด คำว่า ภควา
                         เป็นคำสูงที่สุด พระตถาคตนั้นทรงเป็นผู้ควรแก่ความ
                         เคารพ คารวะ ด้วยเหตุนั้นจึงขนานพระนามว่า ภควา.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบความโดยพิสดารแห่งบทนั้นด้วยคาถานี้ว่า
                                   เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงมีคายธรรม ๑
                         ทรงมีภัคคธรรม ๑ ทรงประกอบด้วยภคธรรม ๑ ทรง
                         จำแนกธรรม ๑ ทรงมีผู้ภักดี ๑ ทรงคายการไปในภพ
                         ทั้งหลาย ๑ ฉะนั้นจึงได้รับขนานพระนามว่า ภควา.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ท่านกล่าวไว้ในพุทธานุสตินิเทศ ในวิสุทธิมรรคแล้ว.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ในนิเทศนี้ท่านแสดงเทศนาสมบัติด้วยคำว่า เอวํ แสดงสาวกสมบัติ ด้วยบทว่า เม สุตํ แสดงกาลสมบัติว่า เอกํ สมยํ แสดงเทศกสมบัติด้วยบทว่า ภควา.
               อนึ่ง ในบทว่า สาวตฺถิยํ นี้ ชื่อว่า สาวตฺถี เป็นนครอันเป็นที่อยู่ของฤษีชื่อว่าสวัตถะ.
               นักอักษรศาสตร์กล่าวไว้อย่างนี้ว่า เหมือนนครกากันที มากันที.
               แต่พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่าสาวัตถี เพราะมนุษย์ทั้งหลายมีเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด.
               อนึ่ง เมื่อพวกกองเกวียนถามว่า มีสินค้าอะไร ชาวกรุงสาวัตถีตอบว่า มีทุกอย่าง.
                                   เครื่องอุปกรณ์ทุกชนิด รวมอยู่ในกรุงสาวัตถี
                         ตลอดทุกกาล เพราะฉะนั้น อาศัยเครื่องอุปกรณ์
                         ทั้งหมด จึงเรียกว่า สาวัตถี.
               ใกล้กรุงสาวัตถีนั้น.
               บทว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัตติ ลงในอรรถว่าใกล้.
               บทว่า วิหรติ นี้แสดงการพร้อมด้วยการอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาการอยู่ด้วยอิริยาบถ และการอยู่อันเป็นของทิพย์ ของพรหม ของพระอริยะโดยไม่พิเศษ. แต่ในที่นี้แสดงถึงการประกอบด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอิริยาบถทั้งหลาย อันมีประเภทเช่นยืน เดิน นั่งและนอน.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ประทับยืน แม้ทรงดำเนิน แม้ประทับนั่ง แม้บรรทม ก็พึงทราบว่า วิหรติ ประทับอยู่นั่นแล
               ในบทว่า เชตวเน นี้ ชื่อเชตะ เพราะทรงชนะชนผู้เป็นศัตรูของพระองค์ หรือชื่อเชตะ เพราะเกิดเมื่อชนะชนผู้เป็นศัตรูของพระราชาของตน หรือชื่อเชตะ เพราะตั้งชื่ออย่างนี้แก่พระกุมาร เพราะทำให้เป็นมงคล.
               ชื่อว่า วน เพราะปรารถนา. ความว่า เพราะทำความยินดีแก่สัตว์ทั้งหลาย เพื่ออัตสมบัติ เพราะยังความสิเนหาให้เกิดในตน.
               หรือชื่อว่า วน เพราะเชิญชวน. ความว่า ดุจขอร้องสัตว์ทั้งหลายว่า จงมาใช้สอยกะเราเถิด มีทั้งลมไหวอ่อนๆ ต้นไม้ กิ่งไม้ คบไม้ หน่อไม้ ใบไม้ซึ่งทำให้เกิดความเพลิดเพลินด้วยความหอมของดอกไม้นานาชนิด และเป็นที่ยินดีของวิหคมีนกดุเหว่าเป็นต้น.
               สวนของเจ้าเชต ชื่อว่าเชตวัน เพราะสวนนั้นพระราชกุมารพระนามว่าเชตะ ทรงปลูก ทำให้งอกงาม ทรงดูแลรักษาอย่างดี.
               อนึ่ง เจ้าเชตนั้นเป็นเจ้าของสวนนั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า เชตวนํ สวนของเจ้าเชต.
               ในเชตวันนั้น ชื่อว่า วน มีสองอย่าง คือ สวนปลูกและเกิดเอง. เชตวันนี้และเวฬุวันเป็นต้นเป็นสวนปลูก. อันธวัน มหาวันเป็นต้นเกิดเอง.
               บทว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี มารดาบิดาตั้งชื่อว่าสุทัตตคหบดี.
               อนึ่ง เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความประสงค์ทุกประการ เพราะปราศจากความตระหนี่และเพราะเพียบพร้อมด้วยคุณมีกรุณาเป็นต้น ได้บริจาคก้อนข้าวแก่คนอนาถาตลอดกาล ด้วยเหตุนั้นจึงชื่อว่าอนาถบิณฑิกะ.
               ชื่อว่า อาราม เพราะเป็นที่มายินดีของสัตว์หรือโดยเฉพาะบรรพชิต. บรรพชิตทั้งหลายมาจากที่นั้นๆ ย่อมยินดี ย่อมยินดียิ่ง เพราะอารามนั้นงามด้วยดอกไม้และผลไม้เป็นต้น และเพราะถึงพร้อมด้วยองค์แห่งเสนาสนะ ๕ อย่างมีไม่ไกลเกินไป ไม่ใกล้เกินไปเป็นต้น.
               ความว่า เป็นผู้ไม่รำคาญอาศัยอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อาราม เพราะแม้เมื่อชนไปในที่นั้นๆ มาในระหว่างของตนแล้วให้ยินดีด้วยสมบัติมีประการดังกล่าวแล้ว เพราะอารามนั้น อนาถบิณฑิกคหบดีซื้อด้วยเงิน ๑๘ โกฏิจากพระหัตถ์ของพระราชกุมารเชตะเพื่อเกลี่ยพื้นที่ แล้วให้สร้างเสนาสนะด้วยเงิน ๑๘ โกฏิ สร้างทางไปสู่วิหารด้วยเงิน ๑๘ โกฏิแล้วมอบถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยปริจาคเงิน ๕๔ โกฏิด้วยประการฉะนี้ ฉะนั้นจึงเรียกว่าอารามของอนาถปิณฑิกะ.
               อารามของอนาถปิณฑิกะนั้น.
               อนึ่ง คำว่า เชตวเน ประกาศเจ้าของเดิม.
               คำว่า อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ประกาศเจ้าของหลัง.
               ประโยชน์อะไรในการประกาศชนเหล่านั้น.
               เป็นการนึกถึงทิฏฐานุคติของผู้ประสงค์บุญทั้งหลาย.
               เจ้าเชตทรงบริจาคเงิน ๑๘ โกฏิที่ได้จากการขายพื้นที่ในการสร้างซุ้มประตูและปราสาท และต้นไม้มีค่าหลายโกฏิ. อนาถปิณฑิกบริจาค ๕๔ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้ ด้วยการประกาศชื่อชนเหล่านั้น.
               ท่านพระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่า ผู้ใครบุญทั้งหลายย่อมทำบุญอย่างนี้ ย่อมชักชวนผู้ใคร่บุญแม้เหล่าอื่นในการนึกถึงทิฏฐานุคติของท่านเหล่านั้น.
               ในข้อนั้นจะพึงมีผู้พูดว่า หากพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ก็ไม่ควรกล่าวว่า เชตวเน อนาถปิณฺทิกสฺส อาราเม ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ครั้นประทับอยู่ ณ ที่นั้นแล้ว ก็ไม่ควรกล่าวว่า สาวตฺถิยํ ใกล้กรุงสาวัตถี เพราะสมัยเดียวไม่สามารถจะประทับอยู่ในที่สองแห่งได้ ไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า
               บทว่า สาวตฺถิยํ เป็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถว่าใกล้ คือใกล้กรุงสาวัตถี.
               เพราะฉะนั้น เหมือนฝูงโคทั้งหลายเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคาและยมุนาเป็นต้น ก็เรียกว่า ฝูงโคเที่ยวไปใกล้แม่น้ำคงคา เที่ยวไปใกล้แม่น้ำยมุนาฉันใด แม้ในข้อนี้ก็ฉันนั้น เชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ ที่นั้นก็กล่าวว่า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีใกล้กรุงสาวัตถี เพราะคำว่า กรุงสาวัตถี ของบทนั้นเพื่อแสดงถึงโคจรคาม คำที่เหลือเพื่อแสดงถึงที่อยู่อันสมควรแก่บรรพชิต.
               ในบทเหล่านั้น ท่านพระสารีบุตรแสดงถึงการทำความอนุเคราะห์คฤหัสถ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประกาศชื่อกรุงสาวัตถี แสดงถึงการทำความอนุเคราะห์บรรพชิต ด้วยประกาศชื่อเชตวันเป็นต้น.
               อนึ่ง ด้วยบนต้นแสดงถึงการเว้นการประกอบอัตตกิลมถานุโยค เพราะได้รับปัจจัย ด้วยบทหลังแสดงถึงอุบายเป็นเครื่องเว้นการประกอบกามสุขัลลิกานุโยค เพราะละวัตถุกาม.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทก่อนแสดงถึงการประกอบธรรมเทศนา ด้วยบทหลังแสดงถึงการน้อมไปเพื่อวิเวก. ด้วยบทก่อนแสดงถึงการเข้าถึงด้วยพระกรุณา ด้วยบทหลังแสดงถึงการเข้าถึงด้วยปัญญา. ด้วยบทต้นแสดงถึงความเป็นผู้น้อมไปเพื่อยังประโยชน์สุขให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลาย ด้วยบทหลังแสดงถึงความไม่เข้าไปคิดในการทำประโยชน์สุขเพื่อผู้อื่น. ด้วยบทต้นแสดงถึงการอยู่ผาสุก มีการไม่สละสุขอันประกอบด้วยธรรมเป็นนิมิต ด้วยบทหลังแสดงถึงการอยู่ผาสุก มีการประกอบธรรมอันยอดเยี่ยมของมนุษย์. ด้วยบทต้นแสดงถึงความเป็นผู้มากด้วยอุปการะแก่มนุษย์ทั้งหลาย ด้วยบทหลังแสดงถึงความเป็นผู้มากด้วยอุปการะแก่ทวยเทพ. ด้วยบทต้นแสดงถึงความที่พระองค์อุบัติขึ้นในโลกเป็นผู้เจริญในโลก ด้วยบทหลังแสดงถึงความเป็นผู้ไม่ถูกโลกฉาบทา.
               ด้วยบทต้นแสดงการชี้แจงถึงประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว เพราะพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนเกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลหนึ่งคือใคร คือพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.๓-
               ด้วยบทหลังแสดงถึงการอยู่อันสมควรในที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติแล้ว.
____________________________
๓- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๓๙

               
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอุบัติในสวนทั้งนั้น ทั้งโลกิยอุบัติและโลกุตรอุบัติ คือครั้งแรกทรงอุบัติ ณ ลุมพินีวัน ครั้งที่สองทรงอุบัติ ณ โพธิมณฑล ด้วยเหตุนั้นพึงทราบการประกอบความในบทนี้ โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า พระสารีบุตรเถระย่อมแสดงถึงการประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าในสวนทั้งนั้น.
               บทว่า ตตฺร ณ ที่นั้น เป็นบทแสดงถึงเทศะและกาละ.
               ท่านแสดงว่า ในสมัยที่ประทับอยู่ และในพระวิหารเชตวันที่ประทับอยู่ หรือแสดงถึงเทศะและกาละอันควรกล่าว.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมไม่ทรงแสดงธรรมในเทศะหรือกาละอันไม่สมควร ดังตัวอย่างในข้อนี้ว่า ดูก่อนพาหิยะ ยังไม่ถึงเวลาก่อน.๔-
____________________________
๔- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๙

               บทว่า โข เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งอวธารณะ เพียงทำบทให้เต็ม หรือในอรรถแห่งกาลต้น.
               บทว่า ภควา คือแสดงถึงความเป็นผู้เคารพของโลก.
               บทว่า ภิกฺขุ เป็นคำกล่าวถึงบุคคลที่ควรฟังพระดำรัส.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พึงทราบอรรถแห่งคำโดยนัยมีอาทิว่า๕- ชื่อว่าภิกขุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่าภิกขุ เพราะเป็นผู้ออกเที่ยวเพื่อขอ.
____________________________
๕- วิ. มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๒๖

               บทว่า อามนฺเตสิ คือ ตรัสเรียก ได้ตรัสให้รู้ นี้เป็นความในบทว่า อามนฺเตสิ นี้ แต่ในที่อื่นเป็นไปในความให้รู้บ้าง ในการเรียกบ้าง.
               บทว่า ภิกฺขโว แสดงอาการเรียก.
               ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงประกาศถึงความประพฤติที่คบคนเลวและคนดี ด้วยพระดำรัสอันสำเร็จด้วยการประกอบคุณ มีความเป็นผู้ขอเป็นปกติ ความเป็นผู้ขอเป็นธรรมดา และความเป็นผู้ทำความดีในการขอเป็นต้นของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงกระทำการข่มความเป็นผู้ฟุ้งซ่านและความหดหู่.
               อนึ่ง ด้วยบทว่า ภิกฺขโว นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำภิกษุเหล่านั้นให้หันหน้าเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ ด้วยพระดำรัสอันเปี่ยมไปด้วยพระกรุณาอย่างกว้างขวาง พระหฤทัยและพระเนตรสุภาพ ทรงยังภิกษุเหล่านั้นให้เกิดความสนใจเพื่อจะฟังด้วยพระดำรัส แสดงความเป็นผู้ใครเพื่อจะกล่าวนั้นนั่นเอง.
               อนึ่ง ด้วยบทว่า ภิกฺขโว นั้นทรงชักชวนภิกษุเหล่านั้น แม้ตั้งใจฟังด้วยดี ด้วยพระดำรัสอันเป็นประโยชน์ในการตรัสรู้.
               จริงอยู่ ความเป็นผู้ตั้งใจฟังด้วยดีเป็นสมบัติของพระศาสนา.
               หากมีคำถามว่า เมื่อมีเทวดาและมนุษย์เหล่าอื่นอยู่ด้วย เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกเฉพาะภิกษุทั้งหลายเท่านั้นเล่า.
               ตอบว่า เพราะภิกษุทั้งหลายเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด เป็นผู้นั่งใกล้ เป็นผู้เตรียมแล้วทุกเมื่อ และเป็นดุจภาชนะอันที่จริง พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั่วไปแก่บริษัททั้งปวง.
               อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้เจริญที่สุดในบริษัทเพราะเข้าไปถึงก่อน ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด เพราะเป็นผู้ดำเนินตามพระจริยาของพระศาสดา ตั้งแต่ความเป็นผู้ไม่ครองเรือนเป็นต้น และเพราะเป็นผู้รับคำสอนไว้ทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นผู้ใกล้ เพราะเมื่อนั่น ณ ที่นั้น ก็นั่งใกล้พระศาสดา ชื่อว่าเป็นผู้เตรียมไว้ทุกเมื่อ เพราะเป็นผู้ท่องเที่ยวไปในสำนักของพระศาสดา และชื่อว่าเป็นดุจภาชนะของพระธรรมเทศนา เพราะเป็นผู้พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอน.
               ในข้อนั้นจะพึงมีผู้พูดว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธรรม ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายก่อน ไม่ทรงแสดงธรรมไปเลยเพื่ออะไร. เพื่อให้ตั้งสติเพราะภิกษุทั้งหลายในที่ประชุมนั่งคิดอย่างอื่นบ้าง จิตฟุ้งซ่านบ้าง พิจารณาธรรมบ้าง มนสิการกรรมฐานบ้าง.
               ภิกษุเหล่านั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสเรียก แล้วทรงแสดงธรรมไปเลย ก็ไม่สามารถจะกำหนดได้ว่า เทศนานี้มีอะไรเป็นนิทาน มีอะไรเป็นปัจจัย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโดยมีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไรพึงถึงความฟุ้งซ่าน หรือพึงถือเอาผิดๆ.
               ด้วยเหตุนั้น เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นตั้งสติ จึงตรัสเรียกก่อนแล้วทรงแสดงธรรมในภายหลัง.
               บทว่า ภทนฺเต นี้เป็นคำแสดงความเคารพ หรือเป็นการให้คำรับต่อพระศาสดา.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ภทนฺเต นี้ พระผู้พระภาคเจ้าเมื่อตรัสว่า ภิกฺขโว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ภทนฺเต ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกฺขโว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับว่า ภทนฺเต. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ภิกษุทั้งหลายให้คำรับว่า ภิกฺขโว. ภิกษุทั้งหลายทูลให้คำรับว่า ภทนฺเต.
               บทว่า เต ภิกฺขู พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสเรียก.
               บทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ คือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับการตรัสเรียกของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ความว่า ภิกษุทั้งหลายหันหน้า ฟัง รับ ถือเอา.
               บทว่า ภควา เอตทโวจ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรทั้งสิ้นนั้นที่ควรตรัสในบัดนี้.
               อนึ่ง ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ท่านพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวถึงนิทานใดอันประดับด้วยการอ้างถึงกาละ เทศะ ผู้แสดงและบริษัท เพื่อความสะดวกแห่งพระสูตรนี้อันส่องถึงความลึกซึ้งของเทศนาญาณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันสมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ ดุจท่าน้ำอันเป็นภูมิภาคที่สะอาด เกลื่อนกลาดด้วยทรายเช่นกับลาดไว้ด้วยตาข่ายแก้วมุกดา มีบันไดแก้ววิลาส โสภิตขจิตด้วยพื้นศิลาราบรื่น เพื่อข้ามไปได้สะดวก ณ สระโบกขรณี มีน้ำรสอร่อยใสสะอาดดาดาษไปด้วยดอกบัวและกอบัว ดุจบันไดงดงามรุ่งเรืองผุดขึ้นด้วยแสงสว่างแห่งมวลแก้วมณี อันผูกติดไว้กับแผ่นกระดานอันละเอียดอ่อนทำด้วยงาและลดาทอง เพื่อขึ้นสะดวกยังปราสาทอันประเสริฐ ตกแต่งไว้อย่างรุ่งโรจน์ ล้อมด้วยฝาที่จัดไว้เป็นอย่างดี และเวทีอันวิจิตร ดุจเพราะใคร่จะสัมผัสทางแห่งนักษัตร ดุจมหาทวารอันมีประตูและหน้าต่างไพศาล รุ่งโรจน์ โชติช่วง บริสุทธิ์ด้วยทอง เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้วประพาฬเป็นต้น เพื่อเข้าไปสะดวกยังเรือนใหญ่ อันงดงามด้วยอิสริยสมบัติอันโอฬาร อันเป็นหลักการประพฤติของชน ในเรือนซึ่งมีเสียงไพเราะด้วยการพูด การหัวเราะเจือไปด้วยเสียงกระทบ มีกำไรมือและกำไรเท้าทองคำเป็นต้น.
               การพรรณนาความแห่งนิทานนั้นสมบูรณ์แล้ว.
               บทว่า ปญฺจภู ในพระสูตรเป็นการกำหนดจำนวน.
               บทว่า อิมานิ อินฺทฺริยานิภู อินทรีย์เหล่านี้เป็นบทชี้แจงธรรมที่กำหนดไว้แล้ว อรรถแห่งอินทรีย์ ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงพระสูตรนี้แล้ว มีพระประสงค์จะแสดงวิธีเจริญความบริสุทธิ์แห่งอินทรีย์ทั้งหลายที่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรนี้ และความระงับอินทรีย์ที่เจริญแล้ว จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า อิมานิ ปญฺจินฺทฺริยานิ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า วิสุชฺฌนฺติ คือ ย่อมถึงความหมดจด.
               บทว่า อสฺสทฺเธ ผู้ไม่มีศรัทธา คือผู้ปราศจากความเชื่อในพระรัตนตรัย.
               บทว่า สทฺเธ ผู้มีศรัทธา คือผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย.
               บทว่า เสวโต สมาคม คือเสพด้วยจิต.
               บทว่า ภชโต คบหา คือเข้าไปนั่งใกล้.
               บทว่า ปยิรปาสโต นั่งใกล้ คือเข้าไปนั่งด้วยความเคารพ.
               บทว่า ปาสาทนีเย สุตตนฺเต พระสูตรอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส คือพระสูตรปฏิสังยุตด้วยพระรัตนตรัยอันให้เกิดความเลื่อมใส.
               บทว่า กุสีเต ผู้เกียจคร้าน ชื่อว่า กุสีทา เพราะจมลงด้วยอาการเกียจคร้าน. กุสีทานั่นแล คือผู้เกียจคร้าน. บุคคลผู้เกียจคร้านเหล่านี้.
               บทว่า สมฺมปฺปธาเน ความเพียรชอบ คือพระสูตรปฏิสังยุตด้วยความเพียรชอบอันให้สำเร็จกิจ ๔ อย่าง.
               บทว่า มุฏฺฐสฺสติ ผู้มีสติหลงลืม คือผู้มีสติหายไป.
               บทว่า สติปฏฺฐาเน สติปัฏฐาน คือพระสูตรอันทำให้ยิ่งด้วยสติปัฏฐาน.
               บทว่า ฌานวิโมกฺเข ฌานและวิโมกข์ คือพระสูตรอันทำให้ยิ่งด้วยจตุตถฌาน วิโมกข์ ๘ และวิโมกข์ ๓ อย่าง.
               บทว่า ทุปฺปญฺเญ บุคคลปัญญาทราม คือไม่มีปัญญา หรือชื่อว่า ทุปฺปญฺญา เพราะเป็นผู้มีปํญญาทรามเพราะไม่มีปํญญา ซึ่งบุคคลผู้มีปัญญาทรามเหล่านั้น.
               บทว่า คมฺภีรญาณจริยํ ญาณจริยาอันลึกซึ้ง คือพระสูตรปฏิสังยุตด้วยอริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น หรือเช่นกับญาณกถา.
               บทว่า สุตฺตนฺตกฺขนฺเธ จำนวนพระสูตร คือส่วนแห่งพระสูตร.
               บทว่า อสฺสทฺธิยํ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ในบทมีอาทิว่า อสฺสทฺธิยํ คือ ความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา บุคคลเห็นโทษในความไม่มีศรัทธา ละความไม่มีศรัทธา ย่อมเจริญสัทธินทรีย์ บุคคลเห็นอานิสงส์ในสัทธินทรีย์ เจริญสัทธินทรีย์ ย่อมละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา.
               ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               บทว่า โกสชฺชํ คือควมเป็นผู้เกียจคร้าน.
               บทว่า ปมาทํ คือ การอยู่ปราศจากสติ.
               บทว่า อุทฺธจฺจํ คือ ความเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ได้แก่ซัดจิตไป.
               บทว่า ปหีนตฺตา เพราะเป็นผู้ละแล้ว คือเพราะเป็นผู้ละการบำเพ็ญฌานด้วยสามารถแห่งอัปปนา.
               บทว่า สุปฺปหีนตฺตา เพราะความเป็นผู้ละดีแล้ว คือเพราะความเป็นผู้ละแล้วด้วยดี ด้วยการบำเพ็ญวิปัสสนา ด้วยสามารถแห่งวุฏฐานคามินี.
               บทว่า ภาวิตํ โหติ สุภวิตํ อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมดีแล้ว ฟังประกอบตามลำดับดังที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               จริงอยู่ เพราะละด้วยสามารถตรงกันข้ามกับวิปัสสนา จึงควรกล่าวว่า สุปฺปหีนตฺตา เพราะฉะนั้น จึงควรกล่าวว่า สุภาวิตํ ไม่ใช่ด้วยฌาน.
               อนึ่ง เพราะการสำเร็จภาวนาด้วยการละสิ่งที่ควรละ เป็นอันสำเร็จการละสิ่งที่ควรละด้วยความสำเร็จแห่งภาวนา ฉะนั้นท่านแสดงทำเป็นคู่กัน.
               พึงทราบวินิจฉัยในปฏิปัสสัทธิวารดังต่อไปนี้
               บทว่า ภาวิตานิเจว โหนฺติ สุภาวิตานิ จ เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมแล้ว เพราะอินทรีย์ที่บุคคลเจริญแล้วนั่นแล เป็นอินทรีย์ที่อบรมดีแล้ว.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสทฺธานิ จ สุปฺปฏิปสฺสทฺธานิ จ ระงับแล้ว ระงับดีแล้ว ท่านกล่าวถึงความที่อินทรีย์ระงับแล้วนั่นแล เป็นอินทรีย์ระงับดีแล้ว พึงทราบความที่อินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้วและระงับแล้ว ด้วยสามารถแห่งการเกิดกิจของมรรคในขณะแห่งผล.
               บทว่า สมุจฺเฉทวิสุทฺธิโย สมุจเฉทวิสุทธิ ได้แก่มรรควิสุทธินั่นเอง.
               บทว่า ปฏิปฺปสฺสทฺธิโย ปฏิปัสสัทธิวิสุทธิ ได้แก่ผลวิสุทธินั่นเอง.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระ เพื่อแสดงประกอบอินทรีย์มีวิธีดังกล่าวแล้วอย่างนั้น ด้วยสามารถแห่งการกบุคคล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตีนํ ปุคฺคลานํ บุคคลเท่าไร.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ภาวิตินฺทฺริยวเสน พุทฺโธ ชื่อว่าพุทฺโธ ด้วยสามารถความเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว.
               ความว่า ผู้ตรัสรู้ ผู้รู้อริยสัจ ๔ ด้วยการฟังธรรมกถาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. นี้เป็นคำพูดถึงเหตุแห่งความเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว เพราะว่า ผู้เจริญอินทรีย์แล้วในขณะแห่งผล เพราะเป็นผู้ตรัสรู้มรรคด้วยสามารถบรรลุภาวนา.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะแสดงถึงผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผลเท่านั้นให้วิเศษออกไป เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายแม้ ๘ ก็เป็นพระสาวกของพระตถาคต จึงกล่าวว่า ขีณาสโว พระขีณาสพ เพราะพระขีณาสพเท่านั้น. ท่านกล่าวว่า ภาวิตินฺทฺริโย ผู้เจริญอินทรีย์แล้ว ด้วยการสำเร็จกิจทั้งปวง.
               ส่วนพระอริยบุคคลแม้นอกนั้นก็เป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้วเหมือนกัน โดยปริยาย เพราะสำเร็จกิจด้วยมรรคนั้นๆ เพราะฉะนั้น ในขณะแห่งผล ๔ ท่านจึงกล่าวว่า อินทรีย์ ๕ เป็นอินทรีย์อันบุคคลเจริญแล้ว อบรมดีแล้ว.
               อนึ่ง เพราะอินทรีย์ภาวนายังมีอยู่นั่นเองแก่พระอริยบุคคลเหล่านั้น เพื่อประโยชน์แก่อุปริมรรค ฉะนั้น พระอริยบุคคลเหล่านั้น จึงไม่ชื่อว่าเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้วโดยตรง.
               บทว่า สยมฺภูตฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าตรัสรู้เอง คือเป็นผู้ไม่มีอาจารย์ เป็นภควา ด้วยอรรถเป็นแล้ว เกิดแล้วในชาติอันเป็นอริยะเอง.
               จริงอยู่ แม้พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็เป็นพระสยัมภูในขณะผลด้วยอำนาจแห่งความสำเร็จภาวนา. ชื่อว่า ภาวิตินฺทฺริโย ด้วยอรรถว่าเป็นผู้รู้เองในขณะแห่งผลด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า อปฺปเมยฺยฏฺเฐน ด้วยอรรถว่ามีพระคุณประมาณไม่ได้ คือด้วยอรรถว่าไม่สามารถประมาณได้ เพราะทรงประกอบด้วยอนันตคุณ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่ามีพระคุณประมาณไม่ได้ เพราะสำเร็จด้วยภาวนาในขณะผล เพราะฉะนั้นแล จึงเป็นผู้เจริญอินทรีย์แล้ว.
               จบอรรถกถาปฐมสุตตันตนิเทศ               

               ๒. อรรถกถาทุติยสุตตันตนิเทศ               
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะตั้งสูตรอื่นอีกแล้วชี้แจงถึงแบบอย่างแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย จึงแสดงพระสูตรมีอาทิว่า ปญฺจิมานิ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า เย หิ เกจิ สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นบทถือเอาโดยไม่มีเหลือ.
               หิ อักษรเป็นนิบาต ลงในอรรถเพียงให้เต็มบท (บทสมบูรณ์).
               บทว่า สมณา วา พฺราหฺมณา วา ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งโวหารของโลก.
               บทว่า สมุทยํ เหตุเกิดคือปัจจัย.
               บทว่า อตฺถงฺคมํ ความดับ คือถึงความไม่มีแห่งอินทรีย์ที่เกิดแล้ว หรือความไม่เกิดแห่งอินทรีย์ที่ยังไม่เกิด.
               บทว่า อสฺสาทํ คือ อานิสงส์.
               บทว่า อาทีนวํ คือ โทษ.
               บทว่า นิสฺสรณํ อุบายเครื่องสลัดออก คือออกไป.
               บทว่า ยถาภูตํ คือ ตามความเป็นจริง.
               บทว่า สมเณสุ คือ ผู้สงบบาป.
               บทว่า สมณสมฺมตา ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะ คือเราไม่ได้รับยกย่องว่าเป็นสมณะ. เมื่อกล่าวว่า สมฺมตา ด้วยอำนาจแห่งปัจจุบันกาล เป็นอันกล่าวฉัฏฐีวิภัตติในบทว่า เม นี้ ด้วยอำนาจแห่งลักษณะของศัพท์.
               บทว่า พฺราหฺมเณสุ คือ ผู้ลอยบาป.
               บทว่า สามญฺญตฺถํ สามัญผล คือประโยชน์ของความเป็นสมณะ.
               บทว่า พฺรหมญฺญตฺถํ พรหมัญผล คือประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์.
               แม้ด้วยบททั้งสอง ก็เป็นอันท่านกล่าวถึงอรหัตผลนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สามญฺญตฺถํ ได้แก่ ผล ๓ เบื้องต่ำ.
               บทว่า พฺรหฺมญฺญตฺถํ ได้แก่ อรหัตผล. เพราะทั้งสามัญผลและพรหมัญผลก็คืออริยมรรคนั่นเอง.
               บทว่า ทิฏฺเฐว ธมฺเม คือ ในอัตภาพที่ประจักษ์อยู่นั่นแล.
               บทว่า สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งเอง คือทำให้ประจักษ์ด้วยญาณอันยิ่งด้วยตนเอง.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช เข้าถึง คือถึงแล้ว หรือให้สำเร็จแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในสุตตันตนิเทศดังต่อไปนี้.
               พระสารีบุตรเถระถามถึงจำนวนประเภทของเหตุเกิดแห่งอินทรีย์เป็นต้นก่อนแล้วแก้จำนวนของประเภทต่อไป.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อสีติสตํ ๑๘๐ คือ ๑๐๐ ยิ่งด้วย ๘๐.
               โยชนาแก้ว่า ด้วยอาการอันบัณฑิตกล่าวว่า ๑๘๐.
               พึงทราบวินิจฉัยในคณนานิเทศ อันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการถามจำนวนประเภทอีกดังต่อไปนี้.
               บทว่า อธิโมกฺขตฺถาย เพื่อประโยชน์แก่การน้อมใจเชื่อ คือเพื่อน้อมใจเชื่อ เพื่อประโยชน์แก่การเชื่อ.
               บทว่า อาวชฺชนาย สมุทโย เหตุเกิดแห่งความคำนึงถึง คือปัจจัยแห่งสัทธินทรีย์ การคำนึงถึงส่วนเบื้องต้นว่า เราจักยังศรัทธาให้เกิดเป็นอุปนิสปัจจัยแห่งชวนจิตดวงแรก เป็นอุปนิสปัจจัยแห่งชวนจิตดวงที่ ๒ เป็นต้น.
               บทว่า อธิโมกฺขวเสน ด้วยสามารถความน้อมใจเชื่อ คือด้วยสามารถความน้อมใจเชื่อสัมปยุตด้วยฉันทะ.
               บทว่า ฉนฺทสฺส สมุทโย เหตุเกิดแห่งฉันทะ คือเหตุเกิดแห่งธรรมฉันทะเป็นเยวาธรรม สัมปยุตด้วยอธิโมกข์อันเกิดขึ้นเพราะการคำนึงถึงส่วนเบื้องต้นเป็นปัจจัย.
               อนึ่ง เหตุเกิดนั้นเป็นปัจจัยแห่งสัทธินทรีย์ด้วยสามารถแห่งสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัย และเป็นอธิปติปัจจัยในกาลที่มีฉันทะเป็นใหญ่ เหตุเกิดนั่นเป็นปัจจัยแห่งอินทรีย์ที่ ๒ ด้วยสามารถแห่งอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย อนันตรูปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย.
               โดยนัยนี้แลพึงทำการประกอบแม้มนสิการ.
               อันที่จริง ในบทว่า มนสิกาโร นี้ก็อย่างเดียวกัน คือมีมนสิการเป็นเช่นเดียวกัน อันมีการแล่นไปเป็นลักษณะ. มนสิการนั้นไม่เป็นอธิปติปัจจัยในสัมปยุตธรรมทั้งหลาย พึงทราบว่าการถือเอาเหตุเกิดทั้งสองเหล่านี้ว่า เพราะเป็นพลวปัจจัย (ปัจจัยที่มีกำลัง).
               บทว่า สทฺธินฺทฺริยสฺส วเสน ด้วยอำนาจแห่งสัทธินทรีย์ คือด้วยอำนาจสัทธินทรีย์อันถึงความเป็นอินทรีย์ เพราะความเจริญยิ่งแห่งภาวนา.
               บทว่า เอกตฺตุปฏฺฐานํ ความปรากฏเป็นธรรมอย่างเดียว คือฐานะอันยิ่งใหญ่ เพราะไม่หวั่นไหวในอารมณ์เดียว ย่อมเป็นปัจจัยแห่งสัทธินทรีย์สูงขึ้นไป.
               พึงทราบแม้อินทรีย์ที่เหลือโดยนัยดังกล่าวแล้วในสัทธินทรีย์นั่นแล.
               อินทรีย์หนึ่งๆ มีเหตุเกิดอย่างละ ๔ เพราะเหตุนั้น อินทรีย์ ๕ จึงมีเหตุเกิด ๒๐ ในเหตุเกิดหนึ่งๆ ของเหตุเกิด ๔ ท่านประกอบเข้ากับอินทรีย์ ๕ แล้วกล่าวเหตุเกิด ๒๐.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า พึงเห็น ๒๐ ที่ ๑ ด้วยสามารถแห่งมรรคต่างๆ ๒๐ ที่ ๒ ด้วยสามารถแห่งมรรค ๑ รวมเป็นอาการ ๔๐ ด้วยประการฉะนี้.
               แม้อัตถังคมวาร (ความดับ) ก็พึงทราบโดยนัยนี้แล.
               อนึ่ง การดับนั้น การไม่ได้ของผู้ไม่ขวนขวายการเจริญอินทรีย์ ชื่อว่าดับการได้. การเสื่อมจากการได้ของผู้เสื่อมจากการเจริญอินทรีย์ ชื่อว่าดับ. การระงับของผู้บรรลุผล ชื่อว่าดับ.
               บทว่า เอกตฺตํ อนุปฏฺฐานํ ความไม่ปรากฏเป็นธรรมอย่างเดียว คือความไม่ปรากฏในธรรมอย่างเดียว.

               อรรถกถาอัสสาทนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในอัสสาทนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสฺสทฺธิยสฺส อนุปฏฺฐานํ ความไม่ปรากฏแห่งความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือเว้นบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา คบบุคคลผู้มีศรัทธา พิจารณาปสาทนียสูตรและทำโยนิโสมนสิการในสูตรให้มาก ชื่อว่าความไม่ปรากฏแห่งความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา.
               ในบทว่า อสฺสทฺธิยปริฬาหสฺส อนุปฏฺฐานํ ความไม่ปรากฏแห่งความเร่าร้อนเพราะความเป็นผู้ไม่มีศรัทธานี้ เมื่อพูดถึงศรัทธาเป็นไปแก่คนไม่มีศรัทธา ความทุกข์ โทมนัส ย่อมเกิด นี้ชื่อว่าความเร่าร้อน เพราะความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา.
               บทว่า อธิโมกฺขจริยาย เวสารชฺชํ ความแกล้วกล้าแห่งความประพฤติด้วยความน้อมใจเชื่อ คือความเป็นผู้แกล้วกล้าด้วยความเป็นไปแห่งศรัทธาของผู้ถึงความชำนาญด้วยสามารถแห่งวัตถุอันเป็นศรัทธา หรือด้วยภาวนา.
               บทว่า สนฺโต จ วิหารธิคโม ความสงบและการบรรลุสุขวิหารธรรม คือการได้สมถะหรือวิปัสสนา.
               คำว่า โสมนัส ในบทว่า สุขํ โสมนสฺสํ นี้ เพื่อแสดงถึงความสุขทางใจ แม้ความสุขทางกายก็ย่อมได้แก่กายอันสัมผัสด้วยรูปประณีต เกิดขึ้นเพราะสัทธินทรีย์ เพราะความสุขโสมนัสเป็นประธานและเป็นคุณ ท่านจึงกล่าวให้พิเศษว่า สุขและโสมนัสนี้เป็นคุณแห่งสัทธินทรีย์.
               โดยนัยนี้พึงทราบประกอบแม้คุณแห่งอินทรีย์ที่เหลือ.
               จบอรรถกถาอัสสาทนิเทศ               

               อรรถกถาอาทีนวนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในอาทีนวนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อนิจฺจฏฺเฐน เพราะอรรถว่าไม่เที่ยง คือ เพราะอรรถว่าสัทธินทรีย์ไม่เที่ยง ท่านกล่าวว่า สัทธินทรีย์นั้นมีอรรถว่าไม่เที่ยง เป็นโทษของสัทธินทรีย์.
               แม้ในสองบทนอกนี้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               พึงทราบว่า โทษเหล่านี้เป็นโทษของคุณของเหตุเกิดและความดับของอินทรีย์อันเป็นโลกิยะนั่นเอง
               จบอรรถกถาอาทีนวนิเทศ               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๔. อินทรียกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 362อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 423อ่านอรรถกถา 31 / 469อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=5200&Z=6185
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=3244
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=3244
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :