ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 362อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 423อ่านอรรถกถา 31 / 469อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๔. อินทรียกถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               อรรถกถานิสสรณนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิสสรณนิเทศดังต่อไปนี้.
               ในบทว่า อธิโมกฺขฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าความน้อมใจเชื่อเป็นอาทิ ท่านทำอย่างละ ๕ ในอินทรีย์หนึ่งๆ แล้วแสดงอินทรีย์ ๕ มีอุบายเป็นเครื่องสลัดออก ๒๕ ด้วยสามารถมรรคและผล.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ตโต ปณีตตรสทฺธินฺทฺริยสฺส ปฏิลาภา แต่การได้สัทธินทรีย์ที่ประณีตกว่านั้น คือด้วยสามารถการได้สัทธินทรีย์ที่ประณีตกว่าในขณะแห่งมรรค จากสัทธินทรีย์ที่เป็นไปแล้วในขณะแห่งวิปัสสนานั้น.
               บทว่า ปุริมตรสทฺธินฺทฺริยา นิสฺสฏํ โหติ สลัดออกไปจากสัทธินรีย์ที่มีอยู่ก่อน คือสัทธินรีย์ในขณะแห่งมรรคนั้นออกไปแล้วจากสัทธินทรีย์ที่เป็นไปแล้วในขณะแห่งวิปัสสนาที่มีอยู่ก่อน.
               โดยนัยนี้แหละ พึงประกอบแม้สัทธินทรีย์ในขณะแห่งผล แม้อินทรีย์ที่เหลือในขณะทั้งสองนั้น.
               บทว่า ปุพฺพภาเค ปญฺจหิ อินฺทฺริเยหิ ด้วยอินทรีย์ ๕ ในส่วนเบื้องต้น คือเครื่องสลัดออกไป ๘ ด้วยสามารถแห่งสมาบัติ ๘ มีปฐมฌานเป็นต้น ด้วยอินทรีย์ ๕ ในอุปจารแห่งปฐมฌาน เครื่องสลัดออกไป ๑๘ ด้วยสามารถแห่งมหาวิปัสสนา ๑๘ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น เครื่องสลัดออกไปเป็นโลกุตระ ๘ ด้วยสามารถโสดาปัตติมรรคเป็นต้น.
               ท่านแสดงนิสสรณะ (เครื่องสลัดออกไป) ๓๔ ด้วยสามารถแห่งฌาน สมาบัติ มหาวิปัสนา มรรคและผล โดยการก้าวล่วงไปแห่งอินทรีย์ก่อนๆ.
               อนึ่ง บทว่า เนกฺขมฺเม ปญฺจินฺทฺริยานิ อินทรีย์ ๕ ในเนกขัมมะ ท่านแสดงนิสสรณะ ๓๗ โดยเป็นปฏิปักษ์ด้วยสามารถการละสิ่งเป็นปฏิปักษ์.
               ในบทนั้น ท่านกล่าวนิสสรณ ๗ ในนิสสรณะ ๗ มีเนกขัมมะเป็นต้นด้วยสามารถแห่งอุปจารภูมิ แต่ท่านมิได้กล่าวถึงผล เพราะไม่มีการละธรรมที่เป็นปฏิปักษ์.
               บทว่า ทิฏฺเฐกฏฺเฐหิ กิเลสอยู่ในที่เดียวกันกับทิฏฐิ กิเลสชื่อว่า ทิฏฺเฐกฏฺฐา เพราะตั้งอยู่ในบุคคลเดียวพร้อมกับทิฏฐิ ตลอดถึงโสดาปัตติมรรค จากกิเลสซึ่งอยู่ในที่เดียวกันกับทิฏฐิเหล่านั้น.
               บทว่า โอฬาริเกหิ จากกิเลสส่วนหยาบๆ คือจากกามราคะและพยาบาทอันหยาบ.
               บทว่า อณุสหคเตหิ จากกิเลสส่วนละเอียด คือจากกามราคะและพยาบาทนั้นแหละอันเป็นส่วนละเอียด.
               บทว่า สพฺพกิเลเสหิ จากกิเลสทั้งปวง คือจากกิเลสมีรูปราคะเป็นต้น. เพราะเมื่อละกิเลสเหล่านั้นได้ก็เป็นอันละกิเลสทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า สพฺพกิเลเสหิ.
               แต่ในนิเทศนี้ บททั้งหลายที่มีความยังมิได้กล่าวไว้ ได้กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               บทว่า สพฺเพสญฺเญว ขีณาสวานํ ตตฺถ ตตฺถ ปญฺจินฺทฺริยานิ อินทรีย์ ๕ ในธรรมนั้นๆ อันพระขีณาสพทั้งปวงสลัดออกแล้ว คืออินทรีย์ ๕ ในฐานะนั้นๆ ในบรรดาฐานะทั้งหลายที่กล่าวไว้แล้วในก่อนมีอาทิว่า อธิโมกฺขฏฺเฐน อันพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายผู้เป็นพระขีณาสพสลัดออกแล้วจากฐานะนั้นๆ ตามที่ประกอบไว้.
               ในวาระนี้ ท่านกล่าวถึงนัยที่ได้กล่าวแล้วครั้งแรก ด้วยสามารถแห่งพระขีณาสพตามที่ประกอบไว้.
               ก็นิสสรณะเหล่านี้มี ๑๘๐ เป็นอย่างไร.
               ท่านอธิบายไว้ดังนี้
               ในปฐมวารมีนิสสรณะทั้งหมด ๙๖ คือ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งมรรคและผล ๒๕ ด้วยการก้าวล่วงไป ๓๔ ด้วยการเป็นปฏิปักษ์ ๓๗.
               ในทุติยวารเมื่อนำนิสสรณออกเสีย ๑๒ ด้วยอำนาจแห่งพระขีณาสพทั้งหลาย นิสสรณะเหล่านี้ก็เป็น ๘๔ ด้วยประการฉะนี้ นิสสรณะก่อน ๙๖ และนิสสรณะเหล่านี้ ๘๔ จึงรวมเป็นนิสสรณะ ๑๘๐.
               ก็นิสสรณะ ๑๒ อันพระขีณาสพนึงนำออกเป็นไฉน.
               นิสสรณะที่พระขีณาสพพึงนำออก ๑๒ เหล่านี้ คือบรรดานิสสรณะที่กล่าวแล้วโดยการก้าวล่วง นิสสรณะ ๘ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งมรรคและผล บรรดานิสสรณะที่กล่าวแล้วโดยเป็นปฏิปักษ์ นิสสรณะ ๔ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งมรรค.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร พระขีณาสพพึงนำนิสสรณะที่กล่าวแล้วด้วยสามารถแห่งอรหัตผลออก.
               ตอบว่า เพราะได้นิสสรณะ ๒๕ ที่กล่าวไว้ก่อนทั้งหมดด้วยสามารถแห่งอรหัตผล จึงเป็นอันท่านกล่าวนิสสรณะด้วยสามารถแห่งอรหัตผลนั่นเอง. ผลสมาบัติเบื้องบนๆ ยังไม่เข้าถึงผลสมาบัติเบื้องล่างๆ เพราะฉะนั้นจึงมิได้ผลแม้ ๓ ในเบื้องล่าง.
               อนึ่ง ฌาน สมาบัติ วิปัสสนาและเนกขัมมะเป็นต้น ย่อมได้ด้วยสามารถแห่งกิริยา.
               อินทรีย์ ๕ เหล่านี้สลัดออกไปจากธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ เพราะธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหลายสงบก่อนด้วยประการฉะนี้.
               จบอรรถกถานิสสรณนิเทศ               
               จบอรรถกถาทุติยสุตตันตนิเทศ               

               ๓. อรรถกถาตติยสุตตันตนิเทศ               
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะตั้งพระสูตรอื่นอีก แล้วชี้แจงถึงแบบอย่างของอินทรีย์ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปญฺจิมานิ ภิกฺขเว ดังนี้.
               อริยมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่า โสต ในบทนี้ว่า โสตาปตฺติยงฺเคสุ.
               การถึงการบรรลุอย่างสมบูรณ์ ชื่อว่า โสตาปตฺติ (การแรกถึงกระแสธรรม).
               องค์คือสัมภาระแห่ง โสตาปตฺติ ชื่อว่า โสตาปตฺติยงฺคานิ (องค์แห่งการแรกถึงกระแสธรรม).
               โสดาปัตติยังคะ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ การคบสัตบุรุษเป็นโสดาปัตติยังคะ ๑ การฟังสัทธรรมเป็นโสดาปัตติยังคะ ๑ โยนิโสมนสิการเป็นโสดาปัตติยังคะ ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นโสดาปัตติยังคะ ๑ เป็นองค์แห่งการได้ส่วนเบื้องต้น เพราะความเป็นพระโสดาบัน.
               อาการที่เหลือกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง บทนี้ท่านกล่าวเพื่อให้เห็นว่า อินทรีย์เหล่านี้เป็นใหญ่ในวิสัยของตน.
               เปรียบเหมือนเศรษฐีบุตร ๔ คน เมื่อสหายมีพระราชาผู้ยิ่งใหญ่เป็นที่ ๕ เดินไปตามถนนด้วยคิดว่า จักเล่นนักษัตร ครั้นไปถึงเรือนของเศรษฐีบุตรคนที่ ๑ อีก ๔ คนนอกนั้นนั่งเฉย. ผู้เป็นเจ้าของเรือนเท่านั้นสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ขาทนียะ โภชนียะแก่สหายเหล่านี้ พวกเจ้าจงให้ของหอม ดอกไม้และเครื่องประดับเป็นต้นแก่สหายเหล่านี้ แล้วเดินตรวจตราในเรือน.
               ครั้นไปถึงเรือนคนที่ ๒-๓-๔ อีก ๔ คนนอกนั้นนั่งเฉย. ผู้เป็นเจ้าของเรือนเท่านั้นสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ขาทนียะ โภชนียะแก่สหายเหล่านี้ พวกเจ้าจงให้ของหอม ดอกไม้และเครื่องประดับเป็นต้นแก่สหาย แล้วเดินตรวจตราในเรือน.
               ครั้นไปถึงพระราชมณเฑียรของพระราชาภายหลังทั้งหมด พระราชาแม้จะเป็นใหญ่ในที่ทั้งปวงก็จริง ถึงดังนั้นในกาลนี้ก็ยังรับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้ขาทนียะ โภชนียะแก่สหายเหล่านี้ จงให้ของหอม ดอกไม้และเครื่องประดับแก่สหายเหล่านี้ แล้วทรงดำเนินตรวจตราพระราชมณเฑียรของพระองค์ฉันใด
               เมื่ออินทรีย์มีหมวด ๕ ทั้งศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้เกิดในอารมณ์เดียวกัน ก็เป็นดุจเมื่อสหายเหล่านั้นเดินไปตามถนนร่วมกัน. ครั้นถึงเรือนคนที่ ๑ อีก ๔ คนนั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นเดินตรวจตราฉันใด สัทธินทรีย์มีลักษณะน้อมใจเชื่อ เพราะบรรลุโสดาปัตติยังคะ เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าฉันนั้น. อินทรีย์ที่เหลือตามสัทธินทรีย์ไป.
               ครั้นถึงเรือนคนที่ ๒ อีก ๔ คนนอกนั้นนั่งนิ่ง. เจ้าของเรือนเท่านั้นเดินตรวจตราฉันใด วีริยินทรีย์เท่านั้นมีลักษณะประคองไว้ เพราะบรรลุสัมมัปปธาน เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าฉันนั้น. อินทรีย์ที่เหลือตามวิริยินทรีย์ไป.
               ครั้นถึงเรือนคนที่ ๓ อีก ๔ คนนอกนั้นนั่งนิ่ง เจ้าของเรือนเท่านั้นเดินตรวจตราฉันใด สตินทรีย์เท่านั้นมีลักษณะตั้งมั่น เพราะบรรลุสติปัฏฐานเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าฉันนั้น. อินทรีย์ที่เหลือตามสตินทรีย์ไป.
               ครั้นถึงเรือนคนที่ ๔ อีก ๔ คนนอกนี้นั่งเฉย. เจ้าของเรือนเท่านั้นเดินตรวจตราฉันใด สมาธินทรีย์เท่านั้นมีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน เพราะบรรลุฌานเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าฉันนั้น. อินทรีย์ที่เหลือตามสมาธินทรีย์ไป.
               แต่ครั้นไปถึงพระราชมณเฑียรของพระราชาภายหลังทั้งหมด อีก ๔ คนนั่งเฉย พระราชาเท่านั้นทรงดำเนินตรวจตราฉันใด ปัญญินทรีย์เท่านั้นมีลักษณะรู้ทั่ว เพราะบรรลุอริยสัจ เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าฉันนั้น. อินทรีย์ที่เหลือตามปัญญินทรีย์ไป ด้วยประการฉะนี้.

               อรรถกถาปเภทคณนนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในปเภทคณนนิเทศ อันเป็นเบื้องต้นแห่งคำถามจำนวนประเภทแห่งพระสูตร.
               บทว่า สปฺปุริสสํเสเว คือ การคบสัตบุรุษ ได้แก่ ในการคบคนดีโดยชอบ.
               บทว่า อธิโมกฺขาธิปเตยฺยฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ในการน้อมใจเชื่อ คือด้วยอรรถว่าความเป็นใหญ่ในอินทรีย์ที่เหลือ กล่าวคือน้อมใจเชื่อ.
               อธิบายว่า ด้วยอรรถคือเป็นหัวหน้าอินทรีย์ที่เหลือ.
               บทว่า สทฺธมฺมสฺสวเน คือการฟังสัทธรรม ได้แก่ธรรมของสัตบุรุษ หรือชื่อว่า สทฺธมฺม เพราะเป็นธรรมงาม ในการฟังสัทธรรมนั้น.
               บทว่า โยนิโสมนสิกาเร คือการทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย.
               ในบทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติยา การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนี้ พึงทราบความดังนี้
               ธรรมที่เข้าถึงโลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่า ธมฺมานุธมฺม. การปฏิบัติการถึงธรรมานุธรรมอันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ชื่อว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ.
               แม้ในสัมมัปปธานเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               จบอรรถกกถาปเภทคณนนิเทศ               

               อรรถกถาจริยาวาร               
               แม้ในจริยาวารก็พึงทราบความโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               ท่านกล่าวปฐมวารด้วยสามารถแห่งการให้อินทรีย์เกิดอย่างเดียว.
               ท่านกล่าวจริยาวารด้วยสามารถแห่งการเสพ และกาลแห่งการทำให้บริบูรณ์ ซึ่งอินทรีย์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว.
               จริงอยู่ คำว่า จริยา ปกติ อุสฺสนฺนตา จริยา ปกติ ความมากขึ้น โดยความเป็นอันเดียวกัน.
               จบอรรถกถาจริยาวาร               

               อรรถกถาจารวิหารนิเทศ               
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะชี้แจงแบบอย่างของอินทรีย์ โดยปริยายอื่นอีก ด้วยสามารถแห่งการชี้แจงความประพฤติและวิหารธรรม อันสัมพันธ์กับจริยาจึงยกหัวข้อว่า จาโร จ วิหาโร จ เป็นอาทิแล้วกล่าวชี้แจงหัวข้อนั้น.
               ในหัวข้อนั้น พึงทราบควมสัมพันธ์ของหัวข้อว่า เหมือนอย่างว่า สพรหมจารีผู้รู้แจ้งพึงกำหนดไว้ในฐานะที่ลึกตามที่ประพฤติ ตามที่อยู่ว่า ท่านผู้นี้บรรลุแล้วหรือว่าจักบรรลุเป็นแน่ฉันใด ความประพฤติและวิหารธรรมของผู้ถึงพร้อมด้วยอินทรีย์ก็ฉันนั้น อันสพรหมจารีผู้รู้แจ้ง ตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในอุเทศนิเทศดังต่อไปนี้.
               ความประพฤตินั่นแหละคือจริยา. เพราะคำว่า จาโร จริยา โดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน. เพราะฉะนั้น ในนิเทศแห่งบทว่า จาโร ท่านจึงกล่าวว่า จริยา.
               บทว่า อิริยาปถจริยา คือ ความประพฤติของอริยาบถ ได้แก่ความเป็นไป.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วน อายตนจริยา ความประพฤติในอายตนะ คือความประพฤติแห่งสติสัมปชัญญะในอายตนะทั้งหลาย.
               บทว่า ปตฺติ คือ ผล. ท่านกล่าวว่า ปตฺติ เพราะถึงผลเหล่านั้นเป็นประโยชน์ในปัจจุบันและภพหน้าของสัตวโลก นี้เป็นความพิเศษของบทว่า โลกตฺถ เป็นประโยชน์แก่โลก.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงภูมิของจริยาเหล่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า จตูสุ อิริยาปเถสุ ในอิริยาบถทั้งหลาย ๔.
               บทว่า สติปฏฺฐาเนสุ คืออารมณ์อันเป็นสติปัฏฐาน. แม้เมื่อกล่าวถึงสติปัฏฐาน ท่านก็กล่าวทำไม่เป็นอย่างอื่นจากสติ ดุจเป็นอย่างอื่นด้วยสามารถแห่งโวหาร.
               บทว่า อริยสจฺเจสุ ในอริยสัจทั้งหลาย ท่านกล่าวด้วยสามารถการกำหนดคือเอาสัจจะไว้ต่างหาก โลกิยสัจจญาณอันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               บทว่า อริยมคฺเคสุ สามญฺญผเลสุ จ ในอริยมรรคและสามัญผล ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งโวหารเท่านั้น.
               บทว่า ปเทเส บางส่วน คือเป็นเอกเทศในการประพฤติกิจซึ่งเป็นประโยชน์แก่โลก.
               จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงกระทำโลกัตถจริยา โดยไม่มีบางส่วน.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงจริยาเหล่านั้นอีก ด้วยสามารถแห่งการกบุคคล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปณิธิสมฺปนฺนานํ ของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งใจไว้ ในบทนั้น ท่านผู้มีอิริยาบถไม่กำเริบถึงพร้อมด้วยการคุ้มครองอิริยาบถ เพราะอิริยาบถสงบ คือถึงพร้อมด้วยอิริยาบถอันสงบสมควรแก่ความเป็นภิกษุ ชื่อว่า ปณิธิสมฺปนฺนา ผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งใจไว้.
               บทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวารานํ ผู้มีทวารคุ้มครองอินทรีย์ คือ ชื่อว่า คุตฺตทฺวารา เพราะมีทวารคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้นเป็นไปแล้วในวิสัย ด้วยสามารถแห่งทวารหนึ่งๆ ของท่านผู้มีทวารคุ้มครองแล้วเหล่านั้น.
               อนึ่ง ในบทว่า ทฺวารํ นี้ คือจักขุทวารเป็นต้นด้วยสามารถแห่งทวารที่เกิดขึ้น.
               บทว่า อปฺปมาทวิหารีนํ ของท่านผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท คือผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาทในศีลเป็นต้น.
               บทว่า อธิจิตฺตมนุยุตฺตานํ ของท่านผู้ขวนขวายในอธิจิต คือ ผู้ขวนขวายสมาธิอันได้แก่อธิจิต ด้วยความที่วิปัสสนาเป็นบาท.
               บทว่า พุทฺธิสมฺปนฺนานํ ของท่านผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยปัญญา คือผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยญาณ อันเป็นไปแล้วตั้งแต่กำหนดนามรูปจนถึงโคตรภู.
               บทว่า สมฺมาปฏิปนฺนานํ ของท่านผู้ปฏิบัติชอบ คือในขณะแห่งมรรค ๔.
               บทว่า อธิคตผลานํ ของท่านผู้บรรลุผล คือในขณะแห่งผล ๔.
               บทว่า อธิมุจฺจนฺโต ผู้น้อมใจเชื่อ คือผู้ทำการน้อมใจเชื่อ.
               บทว่า สทฺธาย จรติ ย่อมประพฤติด้วยศรัทธา คือเป็นไปด้วยสามารถแห่งศรัทธา.
               บทว่า ปคฺคณฺหนฺโต ผู้ประคองไว้ คือตั้งไว้ด้วยความเพียร คือสัมมัปปธาน ๔.
               บทว่า อุฏฺฐาเปนฺโต ผู้เข้าไปตั้งไว้มั่น คือเข้าไปตั้งอารมณ์ไว้ด้วยสติ.
               บทว่า อวิกฺเขปํ กโรนฺโต ผู้ทำจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน คือไม่ทำความฟุ้งซ่านด้วยสามารถแห่งสมาธิ.
               บทว่า ปชานนฺโต ผู้รู้ชัด คือรู้ชัดด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้อริยสัจ ๔.
               บทว่า วิชานนฺโต ผู้รู้แจ้ง คือรู้แจ้งอารมณ์ด้วยวิญญาณคือการพิจารณาอันเป็นหัวหน้าแห่งชวนจิตสัมปยุตด้วยอินทรีย์.
               บทว่า วิญฺญาณจริยาย ด้วยวิญญาณจริยา คือด้วยสามารถแห่งความประพฤติ ด้วยวิญญาณคือการพิจารณา.
               บทว่า เอวํ ปฏิปนฺนสฺส ของท่านผู้ปฏิบัติอย่างนี้ คือปฏิบัติด้วยอินทรียจริยาพร้อมกับชวนจิต.
               บทว่า กุสลา ธมฺมา อายาเปนฺติ กุสลธรรมทั้งหลายย่อมยังอิฐผลให้ยืดยาวไป คือกุสลธรรมทั้งหลายเป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งสมถะและวิปัสสนา ย่อมยังความรุ่งเรืองให้เป็นไป. ความว่า ย่อมเป็นไป.
               บทว่า อายตนจริยาย ด้วยอายตนจริยา คือประพฤติด้วยความพยายามยอดยิ่งแห่งกุสลธรรมทั้งหลาย. ท่านอธิบายว่า ประพฤติด้วยความบากบั่นด้วยความให้เป็นไป.
               บทว่า วิเสสมธิคจฺฉติ ย่อมบรรลุธรรมวิเศษ คือบรรลุธรรมวิเศษด้วยอำนาจแห่งวิกขัมนะ ตทังคะ สมุจเฉทะและปฏิปัสสัทธิ.
               บทว่า ทสฺสนจริยา เป็นต้น มีความดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.
               ในบทมีอาทิว่า สทฺธาย วิหรติ ย่อมอยู่ด้วยศรัทธา มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               พึงเห็นการอยู่ด้วยอิริยาบถของผู้เพียบพร้อมด้วยศรัทธาเป็นต้น.
               บทว่า อนุพุทฺโธ รู้ตาม คือด้วยปัญญาพิสูจน์ความจริงแล้ว.
               บทว่า ปฏิวิทฺโธ แทงตลอดแล้ว คือด้วยปํญญารู้ประจักษ์ชัด. เพราะเมื่อผู้ตั้งอยู่ในอธิโมกข์เป็นต้นรู้ตามแล้วแทงตลอดแล้ว ความประพฤติและวิหารธรรมเป็นอันตรัสรู้แล้ว แทงตลอดแล้ว ฉะนั้นท่านจึงแสดงถึงผู้ตั้งอยู่ในอธิโมกข์เป็นต้น แม้ในการรู้ตามและแทงตลอด.
               บทว่า เอวํ ในบทมีอาทิว่า เอวํ สทฺธาย จรนฺตํ ประพฤติด้วยศรัทธาอย่างนี้.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะชี้แจงถึงประการดังกล่าวแล้ว จึงชี้แจงถึงอรรถแห่งยถาศัพท์.
               แม้ในบทมีอาทิว่า วิญฺญู พึงทราบความดังนี้.
               ชื่อว่า วิญฺญู เพราะรู้ตามสภาพ.
               ชื่อว่า วิภาวี เพราะยังสภาพที่รู้แล้วให้แจ่มแจ้ง คือทำให้ปรากฏ.
               ชื่อว่า เมธา เพราะทำลายกิเลสดุจสายฟ้าทำลายหินที่ก่อไว้ หรือชื่อว่า เมธา เพราะอรรถว่าเรียนทรงจำได้เร็ว. ชื่อว่า เมธาวี เพราะเป็นผู้มีปัญญา.
               ชื่อว่า ปณฺฑิตา เพราะถึงคือเป็นไปด้วยญาณคติ.
               ชื่อว่า พุทฺธิสมฺปนฺนา เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยพุทธิสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญา.
               ชื่อว่า สพฺรหฺมจาริโน เพราะประพฤติปฏิปทาอันสูงสุดอันเป็นพรหมจริยา.
               ชื่อว่ามีกรรมอย่างเดียวกันด้วยสามารถแห่งการกระทำกรรม ๔ อย่างมี อปโลกนกรรม (ความยินยอม) เป็นต้นร่วมกัน.
               ชื่อว่ามีอุเทศอย่างเดียวกัน คือมีการสวดปาฏิโมกข์ ๕ อย่างเหมือนกัน.
               ชื่อว่า สมสิกฺขา เพราะมีการศึกษาเสมอกัน. ความเป็นผู้มีการศึกษาเสมอกัน ชื่อว่า สมสิกฺตา.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สมสิกฺขาตา บ้าง แปลว่า มีการศึกษาเสมอกัน.
               ท่านอธิบายว่า ผู้มีกรรมอย่างเดียวกัน มีการศึกษาเสมอกัน ชื่อว่า สพฺรหฺมจารี. เมื่อควรกล่าวว่า ฌานานิ ท่านทำลิงค์คลาดเคลื่อนเป็น ฌานา.
               บทว่า วิโมกฺขา ได้แก่ วิโมกข์ ๓ หรือ ๘.
               บทว่า สมาธิ ได้แก่ สมาธิ ๓ มีวิตกมีวิจาร ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร.
               บทว่า สมาปตฺติโย สมาบัติ คือไม่ตั้งอยู่ในสุญตานิมิต (ไม่มีนิมิตว่าสูญ).
               บทว่า อภิญฺญาโย คือ อภิญญา ๖. ชื่อว่า เอกํโส เพราะเป็นส่วนเดียว มิได้เป็น ๒ ส่วน.
               ชื่อว่า เอกํสวจนํ เพราะกล่าวถึงประโยชน์ส่วนเดียว.
               แม้ในบทที่เหลือก็พึงทำการประกอบอย่างนี้.
               แต่โดยพิเศษ ชื่อว่า สํสโย เพราะนอนเนื่องคือเป็นไปเสอมหรือโดยรอบ.
               ชื่อว่า นิสฺสํสโย เพราะไม่มีความสงสัย.
               ชื่อว่า กงฺขา เพราะความเป็นผู้ตัดสินไม่ได้ในเรื่องเดียวเท่านั้น แม้อย่างอื่นก็ยังเคลือบแคลง.
               ชื่อว่า นิกฺกงฺโข เพราะไม่มีความเคลือบแคลง.
               ความเป็นส่วนสอง ชื่อว่า เทฺววชฺฌํ ความไม่มีเป็นสอง ชื่อว่า อเทฺววชฺโฌ. ชื่อว่า เทฺวฬฺหกํ เพราะเคลื่อนไหว หวั่นไหวโดยสองส่วน. ชื่อว่า อเทฺวฬฺหโก เพราะไม่มีความหวั่นไหวเป็นสองส่วน (พูดไม่เป็นสอง) การกล่าวโดยธรรมเครื่องนำออก ชื่อว่า นิยฺยานิวจนํ อาจารย์บางพวกกล่าวว่า นิยฺโยควจนํ บ้าง แปลว่า กล่าวนำออก คำทั้งหมดนั้นเป็นไวพจน์ของความเป็นวิจิกิจฉา.
               ชื่อว่า ปิยวจนํ เพราะเป็นคำกล่าวน่ารักโดยมีประโยชน์น่ารัก.
               อนึ่ง ครุวจนํ คำกล่าวด้วยความเคารพ ชื่อว่า สคารวํ เพราะมีความเคารพพร้อมด้วยคารวะ ความยำเกรง ชื่อว่า ปติสฺสโย ความว่า ไม่นอนไม่นั่งเพราะทำความเคารพผู้อื่น.
               อีกอย่างหนึ่ง การรับคำ ชื่อว่า ปติสฺสโว ความว่า ฟังคำผู้อื่นเพราะประพฤติถ่อมตน.
               แม้ในสองบทนั้นเป็นชื่อของความที่ผู้อื่นเป็นผู้ใหญ่ ชื่อ สคารวํ เพราะเป็นไปกับด้วยความเคารพ ชื่อว่า สปฺปติสฺสยํ เพราะเป็นไปกับด้วยความยำเกรงหรือการรับคำ.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อควรจะกล่าวว่า สปฺปติสฺสวํ ท่านกล่าวว่า สปฺปติสฺสํ เพราะลบ อักษร หรือ อักษร.
               คำที่สละสลวยอย่างยิ่งชื่อว่า อธวจนํ.
               ชื่อว่า สคารวสปฺปติสฺสํ เพราะมีความเคารพและความยำเกรง. คำกล่าวมีความเคารพยำเกรง ชื่อว่า สคารวสปฺปติสฺสาธิวจนํ
               แม้ในบททั้งสองนี้ท่านกล่าวว่า เอตํ บ่อยๆ ด้วยสามารถความต่างกันด้วยการกำหนดไวพจน์.
               บทว่า ปตฺโต วา ปาปุณิสฺสติ วา บรรลุแล้วหรือจักบรรลุ ได้แก่ฌานเป็นต้นนั่นเอง.
               จบอรรถกถาจารวิหารนิเทศ               
               จบอรรถกถาตติยสุตตันตนิเทศ               

               ๔. อรรถกถาจตุตถสุตตันตนิเทศ               
               พระสารีบุตรเถระตั้งสูตรที่ ๑ อีก แล้วชี้แจงอินทรีย์ทั้งหลายโดยอาการอย่างอื่นอีก.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า กตีหากาเรหิ เกนฏฺเฐน ทฏฺฐพฺพานิ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ พึงเห็นด้วยอาการเท่าไร ด้วยอรรถว่ากระไร คือพึงเห็นด้วยอาการเท่าไร.
               บทว่า เกนฏฺเฐน ทฏฺฐพฺพานิ พึงเห็นด้วยอรรถว่ากระไร พระสารีบุตรเถระถามถึงอาการที่พึงเห็นและอรรถที่พึงเห็น.
               บทว่า ฉหากาเรหิ เกนฏฺเฐน ทฏฺฐพฺพานิ คือ พึงเห็นด้วยอาการ ๖ พึงเห็นด้วยอรรถกล่าวคืออาการ ๖ นั้นนั่นเอง.
               บทว่า อาธิปเตยฺยฏฺเฐน คือ ด้วยอรรถว่าความเป็นใหญ่.
               บทว่า อาทิวิโสธนฏฺเฐน เป็นเครื่องชำระในเบื้องต้น คือด้วยอรรถว่าเป็นเครื่องชำระศีลอันเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า อธิมตฺตฏฺเฐน ด้วยอรรถว่ามีประมาณยิ่ง.
               ท่านกล่าวว่า อธิมตฺตํ เพราะมีกำลังมีประมาณยิ่ง.
               บทว่า อธิฏฺฐานฏฺเฐน คือ ด้วยอรรถว่าตั้งมั่น.
               บทว่า ปริยาทานฏฺเฐน ด้วยอรรถว่าครอบงำ คือด้วยอรรถว่าสิ้นไป.
               บทว่า ปติฏฺฐาปกฏฺเฐน คือ ด้วยอรรถว่าให้ตั้งอยู่.

               อรรถกถาอธิปไตยัตถนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในอาธิปไตยัตถนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทมีอาทิว่า อสฺสทฺธิยํ ปชหโต แห่งบุคคลผู้ละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นคำกล่าวถึงการละธรรมเป็นปฏิปักษ์แห่งอินทรีย์อย่างหนึ่งๆ ท่านกล่าวเพื่อความสำเร็จแห่งความเป็นใหญ่ในการสำเร็จกิจของการละธรรมเป็นปฏิปักษ์ของตนๆ แม้ในขณะหนึ่ง.
               ท่านกล่าวถึงอินทรีย์ ๔ ที่เหลือสัมปยุตด้วยสัทธินทรีย์นั้น.
               พึงทราบแม้ท่านกล่าวทำอินทรีย์หนึ่งๆ ให้เป็นหน้าที่ในขณะต่างๆ กันแล้วทำอินทรีย์นั้นๆ ให้เป็นใหญ่กว่าอินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์นั้นๆ แล้วนำอินทรีย์นั้นไป.
               ส่วนบทว่า กามจฺฉนฺทํ ปชหโต ของบุคคลผู้ละกามฉันทะเป็นอาทิท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งขณะเดียวกันนั้นเอง.
               จบอรรถกถาอาธิปไตยัตถนิเทศ               

               อรรถกถาอาทิวิโสธนัตถนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในอาทิวิโสธนัตถนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า อสฺสทฺธิยสํวรฏฺเฐน สีลวิสุทฺธิ เป็นศีลวิสุทธิเพราะอรรถว่าระวังความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ ชื่อว่าศีลวิสุทธิ เพราะอรรถว่าห้ามความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา โดยการชำระมลทินของศีลโดยอรรถว่าเว้น.
               บทว่า สทฺธินฺทฺริยสฺส อาทิวิโสธนา เป็นเครื่องชำระในเบื้องต้นแห่งสัทธินทรีย์ คือชำระศีลอันเป็นเบื้องต้นด้วยสามารถเป็นอุปนิสัยแห่งสัทธินทรีย์.
               โดยนัยนี้แล พึงทราบอินทรีย์แม้ที่เหลือและอินทรีย์อันเป็นเหตุแห่งการสำรวมกามฉันทะเป็นต้น.
               จบอรรถกถาอาทิวิโสธนัตถนิเทศ               

               อรรถกถาอธิมัตตัตถนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในอธิมัตตัตถนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า สทฺธินฺทฺริยสฺส ภาวนาย ฉนฺโท อุปฺปชฺชติ ฉันทะเกิดขึ้นเพื่อความเจริญแห่งสัทธินทรีย์ คือฉันทะในธรรมอันฉลาดย่อมเกิดขึ้นในสัทธินทรีย์ เพราะฟังธรรมปฏิสังยุตด้วยศรัทธาของบุคคลผู้มีศรัทธา หรือเพราะเห็นคุณของการเจริญสัทธินทรีย์.
               บทว่า ปามุชฺชํ อุปฺปชฺชติ ความปราโมทย์ย่อมเกิดขึ้น คือความปราโมทย์ย่อมเกิด เพราะฉันทะเกิด.
               บทว่า ปีติ อุปฺปชฺชติ ปีติย่อมเกิดขึ้น คือปีติมีกำลังย่อมเกิดเพราะความปราโมทย์.
               บทว่า ปสฺสทฺธิ อุปฺปชฺชติ ปัสสัทธิย่อมเกิด คือกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิย่อมเกิด เพราะความเอิบอิ่มปีติ.
               บทว่า สุขํ อุปฺปชฺชติ ความสุขย่อมเกิดขึ้น คือเจตสิกสุขย่อมเกิดขึ้นเพราะกายและจิตสงบ.
               บทว่า โอภาโส อุปฺปชฺชติ แสงสว่างย่อมเกิดขึ้น คือแสงสว่างคือญาณย่อมเกิดขึ้น เพราะจมอยู่ด้วยความสุข.
               บทว่า สํเวโค อุปฺปชฺชติ ความสังเวชย่อมเกิดขึ้น คือความสังเวชในเพราะความปรวนแปรของสังขารย่อมเกิดขึ้นเพราะรู้แจ้งโทษของสังขารด้วยแสงสว่างคือญาณ.
               บทว่า สํเวเชตวา จิตฺตํ สมาทิยติ จิตสังเวชแล้วย่อมตั้งมั่น คือจิตยังความสังเวชให้เกิดแล้ว ย่อมตั้งมั่นด้วยความสังเวชนั่นนั้นเอง.
               บทว่า สาธุกํ ปคฺคณฺหาติ ย่อมประคองไว้ดี คือปลดเปลื้องความหดหู่และความฟุ้งซ่านเสียได้แบ้วย่อมประคองไว้ด้วยดี.
               บทว่า สาธุกํ อชฺฌุเปกฺขติ ย่อมวางเฉยด้วยดี คือเพราะความเพียรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำความขวนขวายในการประกอบความเพียรสม่ำเสมออีก ชื่อว่าย่อมวางเฉยด้วยดี ด้วยสามารถแห่งความวางเฉย ด้วยวางตนเป็นกลางในความเพียรนั้น.
               บทว่า อุเปกฺขาวเสน ด้วยสามารถแห่งอุเบกขา คือด้วยสามารถแห่งความวางเฉยด้วยวางตนเป็นกลางในความเพียรนั้น เพราะมีลักษณะนำไปเสมอ.
               บทว่า นานตฺตกิเลเสหิ จากกิเลสต่างๆ คือจากกิเลสอันมีสภาพต่างกันอันเป็นปฏิปักษ์แห่งวิปัสสนา.
               บทว่า วิโมกฺขวเสน ด้วยสามารถแห่งวิโมกข์ คือด้วยสามารถแห่งความหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ ตั้งแต่ภังคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความดับแห่งสังขาร).
               บทว่า วิมุตฺตตฺตา เพราะความที่จิตเป็นธรรมชาติหลุดพ้น คือหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ.
               บทว่า เต ธมฺมา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้น.
               บทว่า เอกรสา โหนฺติ มีรสเป็นอันเดียวกัน คือมีรสเป็นอันเดียวกันด้วยสามารถแห่งวิมุตติ.
               บทว่า ภาวนาวเสน ด้วยอำนาจแห่งภาวนา คือด้วยอำนาจแห่งภาวนามีรสเป็นอันเดียวกัน.
               บทว่า ตโต ปณีตตเร วิวฏฺฏนฺติ ธรรมเหล่านั้นย่อมหลีกจากธรรมนั้นไปสู่ธรรมที่ประณีตกว่า คือธรรมทั้งหลายมีฉันทะเป็นต้นย่อมหลีกจากอารมณ์ คือวิปัสสนาด้วยเหตุนั้นไปสู่อารมณ์ คือนิพพานอันประณีตกว่าด้วยโคตรภูญาณ กล่าวคือ วิวัฏฏนานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความหลีกไป).
               ความว่า ธรรมทั้งหลายหลีกออกจากอารมณ์ คือสังขารแล้วเป็นไปในอารมณ์ คือนิพพาน.
               บทว่า วิวฏฺฏนาวเสน ด้วยอำนาจแห่งความหลีกไป คือด้วยอำนาจแห่งความหลีกไปจากสังขารในขณะโคตรภู โดยอารมณ์ คือสังขาร.
               บทว่า วิวฏฺฏิตตฺตา ตโต โวสฺสชฺชติ จิตย่อมปล่อยจากธรรมนั้นเพราะเป็นจิตหลีกไปแล้ว คือบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมรรค ย่อมปล่อยกิเลสและขันธ์ด้วยเหตุนั้นนั่นแล เพราะจิตหลีกไปแล้วด้วยอำนาจแห่งการปรากฏสองข้างในขณะมรรคเกิดนั่นเอง.
               บทว่า โวสฺสชฺชิตตฺตา ตโต นิรุชฺฌนฺติ ธรรมทั้งหลายย่อมดับไปจากนั้นเพราะจิตเป็นธรรมชาติปล่อยแล้ว คือกิเลสและขันธ์ย่อมดับไปด้วยอำนาจแห่งการดับความไม่เกิด ด้วยเหตุนั้น เพราะจิตเป็นธรรมชาติปล่อยกิเลสและขันธ์ ในขณะมรรคเกิดนั้นเอง.
               อนึ่ง บทว่า โวสฺสชฺชิตตฺตา ท่านทำให้เป็นคำกล่าวตามเหตุผลที่เป็นจริงในความปรารถนา. เมื่อมีการดับกิเลส ท่านก็กล่าวถึงการดับขันธ์เพราะความปรากฏแห่งความดับขันธ์.
               บทว่า นิโรธวเสน ด้วยอำนาจความดับ คือด้วยอำนาจความดับตามที่กล่าวแล้ว.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงถึงความปล่อย ๒ ประการ ในขณะที่มรรคนั้นเกิด จึงกล่าวบทมีอาทิว่า นิโรธวเสน เทว โวสฺสคฺคา ความปล่อยด้วยอำนาจแห่งความดับมี ๒ ประการ.
               ความปล่อยแม้ ๒ ประการก็มีอรรถดังกล่าวแล้วในหนหลัง
               แม้ในบทมีอาทิว่า อสฺสทฺธิยสฺส ปหานาย ฉนฺโท อุปฺปชฺชติ ฉันทะย่อมเกิดเพื่อละความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา พึงทราบความโดยพิสดารโดยนัยนี้แล.
               แม้ในวาระอันมีวิริยินทรีย์เป็นต้นเป็นมูลเหตุ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               จบอรรถกถาอธิมัตตัตถนิเทศ               

               อรรถกถาอธิฏฐานัตถนิเทศ               
               แม้อธิฏฐานัตถนิเทศพึงทราบโดยพิสดารโดยนัยนี้.
               มีความแตกต่างกันอยู่อย่างเดียวในบทนี้ว่า อธิฏฺฐาติ ย่อมตั้งมั่น. ความว่า ย่อมดำรงอยู่.
               จบอรรถกถาอธิฏฐานัตถนิเทศ               

               อรรถกถาปริยาทานัตถปติฏฐาปกัตถนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในปริยาทานัตถนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปริยาทียติ ย่อมครอบงำ คือย่อมให้สิ้นไป.
               พึงทราบวินิจฉัยในปติฏฐาปกัตถนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า สทฺโธ สทฺธินฺทฺริยํ อธิโมกฺเข ปติฏฺฐาเปติ ผู้มีศรัทธาย่อมให้สัทธินทรีย์ตั้งอยู่ในความน้อมใจเชื่อ คือผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาน้อมใจเชื่อว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อมให้สัทธินทรีย์ตั้งอยู่ในความน้อมใจเชื่อ.
               ด้วยบทนี้ท่านชี้แจงความพิเศษของการเจริญอินทรีย์ ด้วยความพิเศษของบุคคล.
               บทว่า สทฺธสฺส สทฺธินฺทฺริยํ อธิโมกฺเข ปติฏฺฐาเปติ สัทธินทรีย์ของผู้มีศรัทธาย่อมให้ตั้งอยู่ในความน้อมใจเชื่อ คือ สัทธินทรีย์ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ย่อมยังศรัทธานั้นให้ตั้งอยู่.
               อนึ่ง ย่อมยังบุคคลผู้น้อมใจ เชื่อให้ตั้งอยู่ในความน้อมใจเชื่อ.
               ด้วยบทนี้ ท่านชี้แจงความพิเศษของบุคคลด้วยความพิเศษของการเจริญอินทรีย์.
               เมื่อประคองจิตอยู่อย่างนี้ ย่อมให้วิริยินทรีย์ตั้งอยู่ในความประคอง เมื่อตั้งสติไว้ย่อมให้สตินทรีย์ตั้งอยู่ในความตั้งมั่น เมื่อตั้งจิตไว้มั่นย่อมให้สมาธินทรีย์ตั้งอยู่ในความไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อเห็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ย่อมให้ปัญญินทรีย์ตั้งอยู่ในทัสสนะ เพราะเหตุนั้น พึงทราบการประกอบแม้ในบทที่เหลือ.
               บทว่า โยคาวจโร ชื่อว่า โยคาวจโร เพราะท่องเที่ยวไปในสมถโยคะ (การประกอบสมถะ) หรือในวิปัสสนาโยคะ (การประกอบวิปัสสนา).
               บทว่า อวจรติ คือ ท่องเที่ยวไป.
               จบอรรถกถาปริยาทานัตถปติฏฐาปกัตถนิเทศ               
               จบอรรถกถาจตุตถสุตตันตนิเทศ               

               อรรถกถาอินทริยสโมธาน               
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงถึงการรวมอินทรีย์ของผู้เจริญสมาธิและของผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อชี้แจงประเภทแห่งความเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ เป็นอันดับแรกก่อน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สมาธึ ภาเวนฺโต เจริญสมาธิ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุถุชฺชโน สมาธึ ภาเวนฺโต คือ ปุถุชนเจริญสมาธิอันเป็นฝ่ายแห่งการแทงตลอด.
               ส่วนแม้โลกุตรสมาธิก็ย่อมได้แก่พระเสกขะและแก่ผู้ปราศจากราคะ.
               บทว่า อาวชฺชิตตฺตา ผู้มีตนพิจารณาแล้ว คือมีตนพิจารณานิมิตมีกสิณเป็นต้นแล้ว.
               ท่านอธิบายว่า เพราะกระทำบริกรรมมีกสิณเป็นต้นแล้วมีตนเป็นนิมิตให้เกิดในบริกรรมนั้น.
               บทว่า อารมฺมณูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอารมณ์ คือเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งนิมิตอันให้เกิดนั้นนั่นเอง.
               บทว่า สมถนิมิตฺตูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งสมถนิมิต คือเมื่อจิตฟุ้งซ่านด้วยความเป็นผู้เริ่มทำความเพียรเกินไป เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอารมณ์ คือความสงบจิตด้วยอำนาจแห่งการเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์และอุเบกขาสัมโพชฌงค์.
               บทว่า ปคฺคหนิมิตฺตูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งปัคคหนิมิต คือเมื่อจิตหดหู่ด้วยความเป็นผู้มีความเพียรย่อหย่อนเกินไป เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งนิมิต คือการประคองจิตด้วยอำนาจแห่งการเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วีริยสัมโพชฌงค์และปิติสัมโพชฌงค์.
               บทว่า อวิกฺเขปูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในการตั้งไว้ซึ่งความไม่ฟุ้งซ่าน คือเป็นผู้ฉลาดในการตั้งไว้ซึ่งสมาธิอันสัมปยุตด้วยจิตไม่ฟุ้งซ่านและไม่หดหู่.
               บทว่า โอภาสุปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งโอภาส คือเมื่อจิตไม่ยินดีเพราะความเป็นผู้ด้อยในการใช้ปัญญา เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาโณภาส เพราะยังจิตให้สังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘.
               สังเวควัตถุ ๘ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ๔ อบายทุกข์เป็นที่ ๕ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีต ๑ วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคต ๑ อาหารปริเยฏฐิกทุกข์ (ทุกข์จากการแสวงหาอาหาร) ๑.
               บทว่า สมฺปหํสนูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในคึวามตั้งไว้ซึ่งความร่าเริง คือเมื่อจิตไม่ยินดี เพราะยังไม่บรรลุสุข คือความสงบ ทำจิตให้เลื่อมใสด้วยการระลึกพุทธคุณธรรมคุณและสังฆคุณ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความร่าเริง.
               บทว่า อุเปกฺขูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในการตั้งไว้ซึ่งอุเบกขา คือเมื่อจิตปราศจากโทษมีความฟุ้งซ่านเป็นต้น เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอุเบกขาด้วยการกระทำความไม่ขวนขวาย ในการข่มและการยกย่องเป็นต้น.
               บทว่า เสกฺโข ชื่อว่า เสกฺโข เพราะศึกษาไตรสิกขา.
               บทว่า เอกตฺตูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความเป็นธรรมอย่างเดียว คือเมื่อจิตออกจากกามเป็นต้น เพราะละสักกายทิฏฐิเป็นต้นได้แล้ว.
               บทว่า วีตราโต มีราคะไปปราศแล้ว คือปราศจากราคะสิ้นอาสวะแล้ว เพราะละราคะได้แล้วโดยประการทั้งปวง.
               บทว่า ญาณูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในการตั้งไว้ซึ่งญาณ คือความเป็นผู้ฉลาดในอสัมโมหญาณในที่นั้นๆ เพราะในธรรมของพระอรหันต์เป็นธรรมปราศจากความหลงใหล.
               บทว่า วิมุตฺตูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในการตั้งไว้ซึ่งญาณ คือเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอรหัตผลวิมุตติ.
               จริงอยู่ บทว่า วิมุตฺติ ท่านประสงค์เอาอรหัตผลวิมุตติ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งปวง.
               พึงทราบบทมีอาทิว่า อนิจฺจโต และบทมีอาทิว่า นิจฺจโต ในความตั้งไว้และความไม่ตั้งไว้ซึ่งวิปัสสนาภาวนาโดยนัยดังกล่าวแล้วในศีลกถานั่นแล.
               แต่โดยปาฐะ ท่านตัดบทสมาสด้วยฉัฏฐีวิภัตติในบทเหล่านี้ คือเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความประมวลมา เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพหานิมิตมิได้ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพมีนิมิต เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยเป็นสภาพมีที่ตั้ง เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น.
               อนึ่ง ในบทว่า สุญฺญตูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของสูญนี้ท่านตัดบทว่า สุญฺญโต อุปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของสูญ หรือ สุญฺญตาย อุปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้เพราะความเป็นของสูญ.
               อนึ่ง เพราะมหาวิปัสสนา ๘ เหล่านี้ คือ นิพพิทานุปัสสนา ๑ วิราคานุปัสสนา ๑ นิโรธานุปัสสนา ๑ ปฎินิสสัคคานุปัสสนา ๑ อธิปัญญาธรรมวิปัสสนา ๑ ยถาภูตญาณทัสสนะ ๑ ปฏิสังขานุปัสสนา ๑ วิวัฏฏนานุปปัสสนา ๑ เป็นมหาวิปัสสนาพิเศษโดยความพิเศษตามสภาวะของตน มิใช่พิเศษโดยความพิเศษแห่งอารมณ์ ฉะนั้นคำมีอาทิว่า เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของน่าเบื่อหน่าย จึงไม่ควรแก่มหาวิปัสสนา ๘ เหล่านั้น ดุจคำมีอาทิว่า เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ประกอบมหาวิปัสสนา ๘ เหล่านี้ไว้.
               ส่วนอาทีนวานุปัสสนาเป็นอันท่านประกอบว่า เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นโทษ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่นด้วยความอาลัย โดยอรรถด้วยคำคู่นี้ว่าเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงไม่ประกอบไว้โดยสรุป.
               ในมหาวิปัสสนา ๑๘ พึงทราบว่าท่านไม่ประกอบมหาวิปัสนา ๙ เหล่านี้ คือ มหาวิปัสนาข้างต้น ๘ และอาทีนวานุปัสสนา ๑ ไว้แล้วประกอบมหาวิปัสสนาอีก ๙ นอกนี้ไว้.
               บทว่า ญาณูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาณ คือพระเสกขะเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาณด้วยการเจริญวิปัสสนา เพราะไม่มีวิปัสสนูปกิเลส แต่ท่านมิได้กล่าวว่า เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งญาณเพราะความปรากฏแห่งความใครด้วยการเจริญสมาธิ.
               บทว่า วิสญฺโญคูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยไม่เกี่ยวข้อง คือเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งความไม่เกี่ยวข้องดังที่ท่านกล่าวไว้ ๔ อย่าง คือ กามโยควิสัญโญคะ (ความไม่เกี่ยวข้องด้วยกามโยคะ) ๑ ภวโยควิสัญโญคะ (ความไม่เกี่ยวข้องด้วยภวโยคะ) ๑ ทิฏฐิโยควิสัญโญคะ (ความไม่เกี่ยวข้องด้วยทิฏฐดิโยคะ) ๑ อวิชชาโยควิสัญโญคะ (ความไม่เกี่ยวข้องด้วยอวิชชาโยคะ) ๑.#-
____________________________
#- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๒๖๐

               บทว่า สญโญคานุปฏฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเกี่ยวข้อง คือเป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ซึ่งความเกี่ยวข้องที่ท่านกล่าวไว้ ๔ อย่าง คือ การโยคะ ๑ ภวโยคะ ๑ ทิฏฐิโยคะ ๑ อวิชชาโยคะ ๑.
               บทว่า นิโรธูปฏฺฐานกุสโล เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความดับ คือท่านผู้ชื่อว่าเป็นขีณาสพ เพราะมีจิตน้อมไปสู่นิพพาน ด้วยอำนาจแห่งกำลังของท่านผู้สิ้นอาสวะแล้ว ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก จิตของภิกษุผู้เป็นขีณาสพน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ตั้งอยู่ในวิเวก ยินดียิ่งในเนกขัมมะ ทำให้สูญสิ้นไปจากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งนิพพาน กล่าวคือความดับ.
____________________________
๑- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๙๐

               บทว่า กุสลํ ในบทมีอาทิว่า อารมฺมณูปฏฺฐานกุสลวเสน ด้วยสามารถความเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ซึ่งอารมณ์ ได้แก่ญาณ.
               จริงอยู่ แม้ญาณก็ชื่อว่า กุสล เพราะประกอบด้วยบุคคลผู้ฉลาด เหมือนบทว่า๒- ปณฺฑิตา ธมฺมา บัณฑิตธรรมทั้งหลาย เพราะประกอบด้วยบุคคลผู้เป็นบัณฑิต เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า ด้วยสามารถแห่งความเป็นผู้ฉลาด.
____________________________
๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๕

               บัดนี้ แม้ท่านกล่าวไว้แล้วในญาณกถามีอาทิว่า๓- จตุสฏฺฐิยา อากาเรหิ ด้วยอาการ ๖๔ ท่านก็ยังนำมากล่าวไว้ในที่นี้ ด้วยเชื่อมกับอินทริยกถา.
____________________________
๓- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๕๘

               พึงทราบบทนั้นโดยนัยที่ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะกล่าวแบบแผนของอินทรีย์ โดยเชื่อมด้วยสมันตจักษุอีก จึงกล่าวบทมีอาทิว่า๔- น ตสฺส อทฺทิฏฺฐมิธตฺถิ กิญฺจิ บทธรรมไรๆ ที่พระตถาคตนั้นไม่ทรงเห็นไม่มีในโลกนี้.
____________________________
๔- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๖๖

               ในบทเหล่านั้น บทว่า สมนฺตจกฺขุ ได้แก่ พระสัพพัญญุตญาณ. ท่านแสดงความที่อินทรีย์ทั้งหลาย ๕ ไม่พรากกันด้วยบทมีอาทิว่า ปญฺญินฺทฺริยสฺส วเสน ด้วยสามารถแห่งปัญญินทรีย์. ท่านแสดงความที่อินทรีย์ ๕ มีรสอย่างเดียวกัน และเป็นปัจจัยของกันและกัน ในเวลาประกอบการน้อมไป หรือในขณะแห่งมรรคด้วยจตุกะ ๕ มีอินทรีย์หนึ่งๆ เป็นมูล มีอาทิว่า สทฺทหนฺโต ปคฺคณฺหาติ เมื่อเชื่อย่อมประคับประคอง.
               ท่านแสดงความที่อินทรีย์ ๕ มีรสอย่างเดียวกัน และเป็นปัจจัยของกันและกัน ในเวลาประกอบการน้อมไป หรือในขณะแห่งมรรค ด้วยจตุกะ ๕ อันมีอินทรีย์หนึ่งๆ เป็นมูลมีอาทิว่า สทฺทหิตตฺตา ปคฺคหิตํ เพราะความเป็นผู้เชื่อจึงประคองไว้.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะกล่าวแบบแผนของอินทรีย์ โดยเชื่อมด้วยพุทธจักษุ จึงกล่าวบทมีอาทิว่า ยํ พุทฺธจกฺขํ พระพุทธญาณเป็นพุทธจักษุ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธจกฺขุ๕- ได้แก่ อินทริยปโรปริยัตญาณ (ปรีชากำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย) และอาสยานุสยญาณ (ปรีชากำหนดรู้อัธยาศัยและอนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย).
____________________________
๕- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๖๗

               อนึ่ง บทว่า พุทฺธญาณํ นี้ ก็ได้แก่ญาณทั้งสองนั้นเหมือนกัน.
               บทที่เหลือมีความดังได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาอินทริยสโมธาน               
               จบอรรถกถาอินทริยกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๔. อินทรียกถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 362อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 423อ่านอรรถกถา 31 / 469อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=5200&Z=6185
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=3244
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=3244
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :