ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 423อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 469อ่านอรรถกถา 31 / 517อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค
๕. วิโมกขกถา

               วิโมกขกถา               
               อรรถกถาวิโมกขุเทศ               
               บัดนี้ ถึงคราวที่จะพรรณนาไปตามลำดับความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งวิโมกขกถา ซึ่งท่านกล่าวในลำดับอินทริยกถา.
               จริงอยู่ วิโมกขกถานี้ ท่านกล่าวในลำดับอินทริยกถา เพราะผู้ประกอบอินทรีภาวนาเป็นผู้ได้วิโมกข์. ก็พระสารีบุตรเถระเมื่อกล่าววิโมกขกถานั้น ทำสุตตันตเทศนาให้เป็นหัวหน้าแล้วกล่าวเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรนั้นดังต่อไปนี้.
               ในบทมีอาทิว่า สุญฺญโต วิโมกฺโข ได้แก่ อริยมรรคอันเป็นไป เพราะทำนิพพานให้เป็นอารมณ์โดยอาการแห่งความเป็นของสูญ ชื่อว่าสุญญตวิโมกข์. สุญญตวิโมกข์นั้นชื่อว่าสุญญตะ เพราะเกิดธาตุสูญ. ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะพ้นจากกิเลสทั้งหลาย.
               โดยนัยนี้นั่นแหละพึงทราบว่า วิโมกข์เป็นไปเพราะทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ โดยอาการหานิมิตมิได้ ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์. วิโมกข์เป็นไปเพราะทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ โดยอาการไม่มีที่ตั้ง ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์.
               ภิกษุรูปหนึ่งพิจารณาสังขารทั้งหลาย โดยความไม่เที่ยงแต่ต้นนั่นเอง.
               อนึ่ง เพราะเพียงพิจารณาด้วยความไม่เที่ยงเท่านั้น ยังไม่เป็นการออกไปแห่งมรรค ควรพิจารณาโดยความเป็นทุกข์บ้าง โดยความเป็นอนัตตาบ้าง.
               หากเมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นการออกไปแห่งมรรคในกาลที่พิจารณาโดยความไม่เที่ยง ภิกษุนี้ชื่อว่าอยู่โดยความไม่เที่ยง แล้วออกไปโดยความไม่เที่ยง.
               อนึ่ง หากว่าการออกไปแห่งมรรคในกาลที่ภิกษุนั้นพิจารณาโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา ภิกษุนี้ชื่อว่าอยู่โดยความไม่เที่ยงแล้วออกไปโดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา.
               แม้ในการอยู่โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตาแล้วออกไป ก็มีนัยนี้.
               อนึ่ง ในอุเทศนี้ แม้ภิกษุใดอยู่โดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา หากในเวลาออกย่อมออกโดยความไม่เที่ยง แม้ทั้ง ๓ นี้ก็เป็นผู้มากไปด้วยอธิโมกข์ ย่อมได้สัทธินทรีย์ ย่อมพ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เป็นผู้ระลึกศรัทธาในขณะปฐมมรรค เป็นผู้พ้นจากศรัทธาในฐานะ ๗.
               อนึ่ง หากออกไปโดยความเป็นทุกข์ แม้ชนทั้ง ๓ ก็เป็นผู้มากด้วยปัสสัทธิ ย่อมได้สมาธินทรีย์ ย่อมพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เป็นกายสักขี (พยานเห็นกับตาทางกาย) ในที่ทั้งปวง.
               อนึ่ง อรูปฌานในกายสักขีนี้เป็นบาทของภิกษุใด ภิกษุนั้นเป็นอุภโตภาควิมุตในผลอันเลิศ แต่นั้นเป็นการออกโดยความเป็นอนัตตาของชนเหล่านั้น. ชนแม้ทั้ง ๓ ก็เป็นผู้มากด้วยความรู้ ย่อมได้ปัญญินทรีย์ ย่อมพ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เป็นผู้ระลึกถึงธรรมในขณะปฐมมรรค เป็นผู้ถึงทิฏฐิในฐานะ ๖ เป็นผู้พ้นด้วยปัญญาในผลอันเลิศ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามรรคย่อมได้ชื่อด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยเป็นไปกับหน้าที่ ๑ ด้วยเป็นข้าศึก ๑ ด้วยมีคุณ ๑ ด้วยอารมณ์ ๑ ด้วยการมา ๑.
               หากภิกษุพิจารณาสังขารโดยความไม่เที่ยง แล้วออกจากความวางเฉยในสังขาร ย่อมพ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์ หากพิจารณาโดยความเป็นทุกข์แล้วออก ย่อมพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ หากพิจารณาโดยความเป็นอนัตตาแล้วออก ย่อมพ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ นี้ชื่อว่าเป็นชื่อโดยความเป็นไปกับหน้าที่.
               อนึ่ง วิโมกข์ชื่อว่าอนิมิตตะ เพราะทำการแยกความเป็นฆนะ (ก้อน) ของสังขารทั้งหลายด้วยอนิจจานุปัสสนา แล้วละนิมิตว่าเที่ยง นิมิตว่ายั่งยืน นิมิตว่าคงที่ออกไปเสีย. ชื่อว่าอัปปณิหิตะ เพราะละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนา แล้วยังความปรารถนาที่ตั้งไว้ให้แห้งไป. ชื่อว่าสุญญตะ เพราะละความสำคัญว่าตน สัตว์ บุคคลด้วยอนัตตานุปัสสนา แล้วเห็นสังขารทั้งหลายโดยความเป็นของสูญ นี้ชื่อว่าเป็นชื่อโดยความเป็นข้าศึก.
               อนึ่ง ชื่อว่าสุญญตะ เพราะความเป็นของสูญจากราคะเป็นต้น. ชื่อว่าอนิมิตตะ เพราะไม่มีรูปนิมิตเป็นต้น หรือราคะนิมิตเป็นต้น. ชื่อว่าอัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้งของราคะเป็นต้น นี้ชื่อว่าเป็นชื่อโดยความมีคุณของมรรคนั้น.
               มรรคนี้นั้น ย่อมทำนิพพานอันเป็นของสูญ ไม่มีนิมิต ไม่มีที่ตั้ง ให้เป็นอารมณ์ เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า สุญญตะ อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ นี้ชื่อว่าเป็นชื่อโดยความเป็นอารมณ์.
               อนึ่ง การมามี ๒ อย่าง คือ วิปัสสนาคมนะ (การมาแห่งวิปัสสนา) ๑ มัคคาคมนะ (การมาแห่งมรรค) ๑.
               การมาแห่งวิปัสสนาย่อมได้ในมรรค การมาแห่งมรรคย่อมได้ในผล. เพราะอนัตตานุปัสนา ชื่อว่าสุญญตะ มรรคแห่งสุญญตวิปัสสนา ชื่อว่าสุญญตะ. ผลแห่งสุญญตมรรค ชื่อว่าสุญตะ. อนิจจานุปัสสนา ชื่อว่าอนิมิตตะ. มรรคแห่งอนิมิตตานุปัสสนา ชื่อว่าอนิมิตตะ. ก็ชื่อนี้ย่อมได้ด้วยอภิธรรมปริยาย แต่ในสุตตันตปริยายก็ได้ด้วย.
               จริงอยู่ อาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในสุตตันตปริยายนั้นว่า พระโยคาวจรทำนิพพานอันเป็นโคตรภูญาณหานิมิตมิได้ให้เป็นอารมณ์ เป็นชื่อที่ไม่มีนิมิตตั้งอยู่ในอาคมนียฐาน (ที่เป็นที่มาถึง) เองแล้วให้ชื่อแก่มรรค ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า มรรคเป็นอนิมิตตะ ควรกล่าวว่า ผลเป็นอนิมิตตะด้วยการมาแห่งมรรค. ทุกขานุปัสสนาชื่อว่าอัปปณิหิตะ เพราะยังการตั้งไว้ในสังขารทั้งหลายให้แห้งไป มรรคแห่งอัปปณิหิตวิปัสสนา ชื่อว่าอัปปณิหิตะ. ผลแห่งอัปปณิหิตมรรค ชื่อว่าอัปปณิหิตะ เพราะเหตุนั้น วิปัสสนาย่อมให้ชื่อแห่งมรรคของตนอย่างนี้. มรรคย่อมให้ชื่อแห่งผล นี้ชื่อว่าเป็นชื่อโดยการมาถึง. พระโยคาวจรย่อมกำหนดคุณวิเศษแห่งวิโมกข์ จากความวางเฉยในสังขารด้วยประการฉะนี้.
               พระสารีบุตรเถระครั้นยกวิโมข์อันเป็นมหาวัตถุ ๓ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้ว ขึ้นแสดงอย่างนี้ประสงค์จะชี้แจงถึงวิโมกข์ แม้อื่นอีก ด้วยสามารถการชี้แจงวิโมกข์นั้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า อปิจ อฏฺฐสฏฺฐี วิโมกฺขา อีกอย่างหนึ่ง วิโมกข์ ๖๘ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อปิจ เป็นบทแสดงถึงปริยายอื่น.
               วิโมกข์เหล่านั้นมี ๖๘ ได้อย่างไร มี ๗๕ มิใช่หรือ. มี ๗๕ ตามเสียงเรียกร้องจริงหรือไม่ควรนับวิโมกข์ ๓ เหล่านี้ เพราะชี้แจงวิโมกข์อื่นเว้นวิโมกข์ ๓ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วและเพราะกั้นวิโมกข์เหล่านั้น แม้วิโมกข์ ๓ มีอัชฌัตวิโมกข์เป็นต้นก็ไม่ควรนับ เพราะหยั่งลงภายในด้วยกล่าวโดยพิสดาร ๔ ส่วน. อัปปณิหิวิโมกข์ ในบทนี้ว่า ปณิหิโต วิโมกฺโข อปฺปณิหิโต วิโมกฺโข ปณิหิตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ก็ไม่ควรนับ เพราะมีชื่ออย่างเดียวกันด้วยการยกขึ้นแสดงเป็นครั้งแรก
               เมื่อนำวิโมกข์ ๗ อย่างเหล่านี้ออกอย่างนี้แล้วก็เหลือวิโมกข์ ๖๘.
               หากถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไรจึงยกวิโมกข์ ๓ มีสุญญตวิโมกข์เป็นต้นขึ้นแสดงเล่า.
               ตอบว่า เพื่อหยิบยกขึ้นโดยอุเทศแล้วทำการชี้แจงวิโมกข์เหล่านั้น.
               อนึ่ง วิโมกข์ ๓ มีอัชฌัตตวุฏฐานวิโมกข์ (วิโมกข์มีการออกจากภายใน) เป็นต้น ท่านยกขึ้นแสดงด้วยอำนาจแห่งหมู่อันเป็นมูลเหตุเว้นประเภทเสีย.
               พึงทราบแม้อัปปณิหิตวิโมกข์ ท่านก็ยกขึ้นแสดงอีกด้วยอำนาจเป็นปฏิปักษ์ของปณิหิวิโมกข์.
               พึงทราบวินิจฉัยในอัชฌัตวุฏฐานวิโมกข์เป็นต้นดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า อชฺฌตฺตวุฏฺฐาโน เพราะออกจากภายใน.
               ชื่อว่า อนุโลมา เพราะคล้อยตาม.
               ชื่อว่า อชฺฌตฺตวุฏฺฐานปฏิปฺปสฺสทฺธิ เพราะระงับออกไปแห่งการออกจากภายใน.
               บทว่า รูปี คือ รูปอันเป็นรูปฌานให้เกิดชึ้นในอวัยวะมีผมเป็นต้นในภายใน.
               ชื่อว่า รูปี เพราะภิกษุมีรูป.
               บทว่า รูปานิ ปสฺสติ ภิกษุเห็นรูป คือเห็นรูปมีนีลกสิณเป็นต้นในภายนอกด้วยญาณจักษุ.
               ด้วยบทนี้ ท่านแสดงถึงการได้ฌานในกสิณทั้งหลายอันมีวัตถุในภายในและภายนอก.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปสญฺญี คือ ภิกษุไม่มีความสำคัญว่า รูปในภายใน.
               ความว่า มีรูปาวจรฌานยังไม่เกิดในผลเป็นต้นของตน.
               ด้วยบทนี้ ท่านทำบริกรรมในภายนอกแล้ว จึงแสดงฌานที่ได้แล้วในภายนอกนั้นเอง.
               บทว่า สุภนฺเตว อธิมุตฺโต น้อมใจไปในธรรมส่วนงามเท่านั้น คือน้อมไปในอารมณ์ว่างามเท่านั้น.
               ในบทนั้น ความผูกใจว่างามไม่มีในอัปปนาภายในแม้โดยแท้ แต่ภิกษุใดแผ่สัตตารมณ์ไปโดยอาการเป็นของไม่น่าเกลียดอยู่ เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้น้อมใจไปว่างามเท่านั้น ฉะนั้นท่านจึงยกขึ้นแสดงอย่างนี้.
               ชื่อว่า สมยวิโมกฺโข เพราะมีวิกขัมภนวิมุตติในสมัยที่ยังไม่อิ่มเอิบๆ.
               ชื่อว่า สามยิโก เพราะวิโมกข์นั้นประกอบแล้วในสมัยที่ยังไม่อิ่มเอิบด้วยสามารถทำกิจของตน.
               ปาฐะว่า สามายิโก บ้าง.
               ชื่อว่า กุปฺโป เพราะสามารถกำเริบได้ คือทำลายได้.
               ชื่อว่า โลกิโก เพราะประกอบไว้ในโลกโดยไม่ก้าวล่วงโลก.
               ปาฐะว่า โลกิโย บ้าง.
               ชื่อว่า โลกุตฺตโร เพราะข้ามโลก หรือข้ามโลกได้แล้ว.
               ชื่อว่า สาสโว เพราะมีอาสวะด้วยการทำอารมณ์.
               ชื่อว่า อนาสโว เพราะไม่มีอาสวะด้วยการทำอารมณ์และด้วยการประกอบร่วม.
               ชื่อว่า สามิโส เพราะมีอามิสกล่าวคือรูป.
               ชื่อว่า นิรามิสา นิรามิสตโร เพราะไม่มีอามิส ยิ่งกว่าไม่มีอามิส เพราะละรูปและอรูปได้โดยประการทั้งปวง.
               บทว่า ปณิหิโต คือ ตั้งไว้แล้ว ปรารถนาแล้วด้วยอำนาจแห่งตัณหา.
               ชื่อว่า สญฺญุตฺโต เพราะประกอบแล้วด้วยสังโยชน์ด้วยการทำอารมณ์.
               บทว่า เอกตฺตวิโมกฺโข ได้แก่ วิโมกข์มีสภาพอย่างเดียวกัน เพราะไม่งอกงามด้วยกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า สญฺญาวิโมกฺโข คือ วิปัสสนาญาณนั้นแหละ ชื่อว่าสัญญาวิโมกข์ เพราะพ้นจากสัญญาวิปริต. วิปัสสนาญาณนั้นแหละ ชื่อว่าญาณวิโมกข์เพราะวิโมกข์ คือญาณนั้นแหละด้วยอำนาจพ้นจากความลุ่มหลง.
               บทว่า สีติสิยาวิโมกฺโข คือ ความพ้นเป็นไปแล้วว่า วิปัสสนาญาณนั้นแหละพึงเป็นความเย็น ชื่อว่าสีติสิยาวิโมกข์.
               ปาฐะว่า สีติสิกาวิโมกฺโข บ้าง.
               อาจารย์ทั้งหลายพรรณนาความแห่งบทนั้นว่า ความพ้นเพราะความเป็นของเย็น.
               บทว่า ฌานวิโมกฺโข ได้แก่ วิโมกข์ คือฌานนั้นเองอันมีประเภทเป็นอุปจาระและอัปปนา และมีประเภทเป็นโลกุตระ.
               บทว่า อนุปาทา จิตฺตสฺส วิโมกฺโข ได้แก่ ความพ้นแห่งจิต เพราะไม่ยึดมั่น คือไม่ทำการถือ.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบอรรถกถาวิโมกขุเทศ               

               อรรถกถาวิโมกขนิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งอุเทศมีอาทิว่า กตโม ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อิติ ปฏิสญฺจิกฺขติ คือ พิจารณาเห็นอย่างนี้.
               บทว่า สุญฺญมิทํ นามรูปนี้ว่าง คือ ขันธปัญจกนี้ว่าง ว่างจากอะไร ว่างจากความเป็นตัวตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺเตน วา จากความเป็นตัวตน คือว่างจากความเป็นตัวตน เพราะไม่มีตัวตนที่กำหนดว่าเป็นคนพาล.
               บทว่า อตฺตนิเยน วา จากสิ่งที่เนื่องด้วยตน คือว่างจากสิ่งที่เป็นของตนที่กำหนดไว้นั้น ความไม่มีสิ่งที่เนื่องด้วยตน เพราะไม่มีของตนนั้นเอง.
               อนึ่ง ชื่อว่าสิ่งที่เนื่องด้วยตนจะพึงเป็นของเที่ยงหรือพึงเป็นความสุข. แม้ทั้งสองอย่างนั้นก็ไม่มี.
               ท่านอธิบายไว้ว่าอนิจจานุปัสสนาด้วยปฏิเสธสิ่งที่เป็นของเที่ยง ทุกขานุปัสนาด้วยปฏิเสธความสุข.
               บทว่า สุญฺญมิทํ อตฺเตนวา นามรูปนี้ว่าจากความเป็นตัวตน ท่านกล่าวถึงอนัตตานุปัสนานั่นเอง.
               บทว่า โส คือ ภิกษุนั้นเห็นแจ้งด้วยอนุปัสสนา ๓ อย่างนี้.
               บทว่า อภินิเวสํ น กโรติ ไม่ทำความยึดมั่น คือไม่ทำความยึดมั่นตนด้วยอำนาจแห่งอนัตตานุปัสสนา.
               บทว่า นิมิตฺตํ น กโรติ ไม่ทำเครื่องกำหนดหมาย คือไม่ทำเครื่องกำหนดหมายว่าเที่ยงด้วยอำนาจแห่งอนิจจานุปัสนา.
               บทว่า ปณิธึ น กโรติ ไม่ทำความปรารถนา คือไม่ทำความปรารถนาด้วยอำนาจแห่งทุกขานุปัสนา.
               วิโมกข์ ๓ เหลานี้ย่อมได้ด้วยอำนาจแห่งตทังคะ ในขณะแห่งวิปัสสนาโดยปริยาย แต่ย่อมได้ด้วยอำนาจแห่งสมุจเฉท ในขณะแห่งมรรคโดยตรง.
               ฌาน ๔ เป็นอัชฌัตตวุฏฐานวิโมกข์ เพราะออกจากนิวรณ์เป็นต้นในภายใน.
               อรูปสมาบัติ ๔ ชื่อว่าพหิทธาวุฏฐานวิโมกข์ เพราะออกจากอารมณ์ทั้งหลาย แม้อารมณ์ท่านก็กล่าวว่าภายนอกในบทนี้เหมือนอายตนะภายนอก.
               วิกขัมภนวิโมกข์สองเหล่านี้ สมุจเฉทวิโมกข์เป็นทุภโตวุฏฐานวิโมกข์.
               ท่านกล่าวการออกจากภายในโดยสรุป ด้วยบทมีอาทิว่า นีวรเณหิ วุฏฺฐา ออกจากนิวรณ์ทั้งหลาย.
               ด้วยบทมีอาทิว่า รูปสญฺญาย จากรูปสัญญา ท่านไม่กล่าวถึงสมาบัตินั้น เพราะการก้าวล่วงอารมณ์มีกสิณเป็นต้นปรากฏแล้ว จึงกล่าวถึงการก้าวล่วงรูปสัญญาเป็นต้นดังที่ท่านกล่าวแล้วในพระสูตรทั้งหลาย.
               บทว่า สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉา สีลพฺพตปรามาสา เป็นบทสมาส. ตัดบทว่า สกฺกายทิฏฺฐิยา (จากสักกายทิฏฐิ) วิจิกิจฺฉาย (จากวิจิกิจฉา) สีลพฺพตปรามาสา (จากสีลัพพตปรามาส). นี้แลเป็นปาฐะ.
               ด้วยบทว่า วิตกฺโก จ เป็นอาทิ ท่านกล่าวถึงอุปจารภูมิแห่งฌานและสมาบัติ.
               ด้วยบทว่า อนิจฺจานุปสฺสนา เป็นอาทิท่านกล่าวถึงวิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งมรรค ๔.
               บทว่า ปฏิลาโภ วา การได้ ชื่อว่า ปฏิลาโภ เพราะขวนขวายปรารถนาได้ด้วยถึงความชำนาญ ๕ อย่าง เพราะความขวนขวายในฌานและความขวนขวายในสมาบัติทั้งปวงเป็นความระงับด้วยถึงความชำนาญ ฉะนั้น การได้ท่านจึงกล่าวว่าวิโมกข์เป็นความระงับ.
               ส่วนวิบากเป็นความระงับฌานและสมาบัติ เพราะเหตุนั้น จึงตรงทีเดียว.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การได้ฌานและสมาบาติเพราะความขวนขวายในอุปจารสงบ เพราะฉะนั้นการได้ฌานและสมาบัติท่านจึงกล่าวว่า ปฏิปัสสัทธิวิโมกข์ ความพ้นเป็นความระงับ.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ ในภายใน คือเป็นไปเพราะเนื่องกับตน.
               บทว่า ปจฺจตฺตํ เฉพาะตน คือเป็นไปเฉพาะตน.
               ท่านแสดงภายในเนื่องด้วยตนแม้ด้วยบททั้งสองนั้น.
               บทว่า นิลนิมิตฺตํ นิมิตสีเขียว คือสีเขียวนั่นเอง.
               บทว่า นีลสญฺญํ ปฏิลภิ ได้นิลสัญญา คือได้สัญญาว่าสีเขียวในนีลนิมิตนั้น.
               บทว่า สุคฺคหิตํ กโรติ ทำนิมิตนั้นให้เป็นอันถือไว้ดีแล้ว คือทำให้เป็นอันถือไว้ด้วยดีในบริกรรมภูมิ.
               บทว่า สูปธาริตํ อุปธาเรติ ทรงจำไว้ดีแล้ว คือทรงจำทำไว้ด้วยดีในอุปจารภูมิ.
               บทว่า สฺวาตฺถิตํ อวตฺถาเปติ กำหนดไว้ดีแล้ว คือตัดสินด้วยดีในอัปปนาภูมิ.
               ปาฐะว่า ววตฺถาเปติ บ้าง.
               จริงอยู่ ภิกษุเมื่อทำนีลบริกรรมในภายในย่อมทำผมดีหรือดวงตา.
               บทว่า พหิทฺธา นีลมิตฺเต ในนิมิตสีเขียวภายนอก คือในนีลกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง บรรดาดอกไม้สีเขียว ผ้าสีเขียว ธาตุสีเขียว.
               บทว่า จิตฺตํ อุปสํหรติ คือ น้อมจิตเข้าไป.
               แม้ในสีเหลืองเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อาเสวติ ย่อมเสพ คือเสพสัญญานั้นแหละแต่ต้น.
               บทว่า ภาเวติ คือ ย่อมเจริญ.
               บทว่า พหุลีกโรติ ทำให้มากๆ คือทำบ่อยๆ.
               บทว่า รูปํ ได้แก่ รูปมีนิมิตสีเขียว.
               บทว่า รูปสญฺญี คือ มีความสำคัญว่าเป็นรูป ความสำคัญในรูปนั้น ชื่อว่ารูปสญฺญา. ชื่อว่า รูปสญฺญี เพราะมีรูปเป็นสัญญา.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่ามีนิมิตสีเหลืองในภายใน.
               ภิกษุเมื่อกระทำปีตบริกรรม ย่อมทำให้ที่มันข้น หรือที่ผิวหรือในที่ตาสีเหลือง. เมื่อกระทำโลหิตบริกรรม ย่อมทำที่เนื้อ เลือด ลิ้น ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือในที่ตาสีแดง. เมื่อทำโอทาตบริกรรม ย่อมทำที่กระดูก ฟัน เล็บหรือในที่ตาสีขาว.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ อรูปํ ไม่มีรูปในภายใน. ความว่า ไม่มีรูปนิมิตในภายใน.
               บทว่า เมตฺตาสหคเตน ประกอบด้วยเมตตา คือประกอบด้วยเมตตาด้วยอำนาจแห่งปฐมฌานและจตุตถฌาน.
               บทว่า เจตสา คือ มีใจ.
               บทว่า เอกํ ทิสํ ตลอดทิศหนึ่ง ท่านกล่าวหมายถึงสัตว์หนึ่งที่กำหนดครั้งแรกแห่งทิศหนึ่ง ด้วยสามารถแห่งการแผ่ไปยังสัตว์อันไม่เนื่องด้วยทิศหนึ่ง.
               บทว่า ผริตฺวา แผ่ไปแล้ว คือถูกต้องทำให้เป็นอารมณ์.
               บทว่า วิหรติ อยู่ คือยังการอยู่ด้วยอิริยาบถอันตั้งมั่นด้วยพรหมวิหารให้เป็นไป.
               บทว่า ตถา ทุติยํ ทิศที่สองก็เหมือนกัน คือแผ่ไปตลอดทิศใดทิศหนึ่งในบรรดาทิศทั้งหลายมีทิศตะวันออกเป็นต้นฉันใด ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อันเป็นลำดับนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า อิติ อุทฺธํ ทั้งเบื้องบน. ท่านอธิบายว่า ทิศเบื้องบนโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า อโธ ติริยํ ทิศเบื้องล่าง เบื้องขวาง คือแม้ทิศเบื้องล่าง แม้ทิศเบื้องขวางก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง ในบทเหล่านั้น บทว่า อโธ คือเบื้องล่าง.
               บทว่า ติริยํ คือ ทิศน้อย. ความว่า ยังจิตสหรคตด้วยเมตตาให้แล่นไปบ้าง ให้แล่นกลับบ้างในทิศทั้งปวง ดุจให้ม้าวิ่งไปวิ่งกลับในบริเวณของม้าฉะนั้น.
               ด้วยเหตุเพียงนี้ ท่านกำหนดถือเอาทิศหนึ่งๆ แล้ว แสดงการแผ่เมตตาไปโดยจำกัด.
               ส่วนบทมีอาทิว่า สพฺพธิ ในที่ทุกสถานท่านกล่าวเพื่อแสดงโดยไม่จำกัด.
               บทว่า สพฺพธิ คือ ในที่ทั้งปวง.
               บทว่า สพฺพตฺตาย ทั่วสัตว์ทุกเหล่า คือทุกตัวตนในประเภทสัตว์มีเลว ปานกลาง เลิศ มิตร ศัตรูและความเป็นกลางเป็นต้นทั้งปวง.
               อธิบายว่า เพราะไม่ทำการแบ่งแยกว่านี้เป็นสัตว์อื่น เป็นผู้เสมอกับตน.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สพฺพตฺตาย คือ โดยความเป็นผู้มีจิตรวมอยู่ทั้งหมด.
               อธิบายว่า ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกแม้เล็กน้อย.
               บทว่า สพฺพาวนฺตํ ตลอดโลกคือสัตว์ทุกเหล่า. อธิบายว่า ประกอบด้วยสัตว์ทั้งปวง. ปาฐะว่า สพฺพวนฺตํ บ้าง.
               บทว่า โลกํ ได้แก่ สัตว์โลก.
               อนึ่ง ในนิเทศนี้ ท่านกล่าวว่า เมตฺตาสหคเตน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอีกเพราะแสดงปริยายด้วยบทมีอาทิอย่างนี้ว่า วิปุเลน อันไพบูลย์ หรือเพราะในบทนี้ท่านไม่กล่าว ตถาศัพท์ หรือ อิติศัพท์อีก ดุจในการแผ่ไปโดยจำกัด ฉะนั้นท่านจึงกล่าว บทว่า เมตฺตาสหคเตน เจตสา ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอีก หรือท่านกล่าวบทนี้โดยการสรุป.
               ในบทว่า วิปุเลน นี้พึงเห็นความไพบูลย์ด้วยการแผ่ไป.
               พึงเห็นจิตนั้นถึงความเป็นใหญ่ด้วยภูมิ.
               จริงอยู่ จิตนั้นถึงความเป็นไปใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลสได้ เพราะมีผลไพบูลย์และเพราะการสืบต่อยาว.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตชื่อว่า มหคฺคตํ เพราะถึง คือดำเนินไปด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะและปัญญาอันยิ่งใหญ่.
               ชื่อว่า อปฺปมาณํ หาประมาณมิได้ด้วยสามารถแห่งความคล่องแคล่วแบะด้วยสามารถแห่งสัตตารมณ์อันประมาณมิได้.
               ชื่อว่า อเวรํ ไม่มีเวร เพราะละข้าศึกคือความพยาบาท.
               ชื่อว่า อพฺยาปชฺฌํ ไม่มีความเบียดเบียนเพราะละโทมนัสเสียได้. ท่านอธิบายว่า ไม่มีทุกข์.
               บทว่า อปฺปฏิกูลา โหนฺติ สัตว์ทั้งหลายไม่เป็นที่เกลียดชัง คือสัตว์ทั้งหลายไม่เป็นที่เกลียดชังจิตของภิกษุแล้วย่อมอุปัฏฐาก.
               แม้ในบทที่เหลือพึงประกอบด้วยกรุณา มุทิตาและอุเบกขาโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง.
               ชื่อว่าไม่มีเวร เพราะละข้าศึกคือความเบียดเบียนด้วยกรุณา เพราะละข้าศึกคือความริษยาด้วยมุทิตา.
               บทว่า อุเปกฺขาสหคเตน ตือมีจิตประกอบด้วยอุเบกขาด้วยอำนาจแห่งจตุตถฌาน.
               ชื่อว่าไม่มีเวร เพราะละข้าศึกคือราคะ. ชื่อว่าไม่เบียดเบียน เพราะละโสมนัสเกี่ยวกับเคหสิต (กามคุณ) อกุศลแม้ทั้งหมดชื่อว่ามีความเบียดเบียน เพราะประกอบด้วยความเร่าร้อนคือกิเลส.
               นี้เป็นความพิเศษของบทเหล่านั้น.
               บทว่า สพฺพโส คือโดยอาการทั้งปวง หรือแห่งสัญญาทั้งปวง. ความว่า แห่งสัญญาไม่มีเหลือ.
               บทว่า รูปสญฺญานํ รูปสัญญา คือรูปาวจรฌานดังที่กล่าวมาแล้วโดยหัวข้อว่า สัญญาและอารมณ์ของรูปาวจรฌานนั้น.
               จริงอยู่ แม้รูปาวจรฌาน ท่านกล่าวว่ารูป ในบทมีอาทิว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ ภิกษุมีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลาย๑- แม้อารมณ์ของรูปาวจรฌาน ท่านก็กล่าวว่ารูป ในบทมีอาทิว่า พหิทฺธา รูปานิ ปสฺสติ สุวณฺณทุพฺพณฺณานิ ภิกษุเห็นรูปทั้งหลายในภายนอกมีผิวงามและผิวทราม.๒-
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๔๖๙  ๒- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๘๒

               เพราะฉะนั้นในที่นี้ บทว่า รูปสญฺญานํ นี้ เป็นชื่อของรูปวจรฌานดังที่ท่านกล่าวแล้วโดยหัวข้อว่าสัญญา อย่างนี้ว่า รูเป สญฺญา รูปสญฺญา ความสำคัญในรูปชื่อว่ารูปสัญญา. ชื่อว่า รูปสญฺญํ เพราะมีรูปเป็นสัญญา.
               ท่านอธิบายว่ารูป เป็นชื่อของภิกษุนั้น.
               พึงทราบว่า บทนี้เป็นชื่อของอารมณ์อันเป็นประเภทมีปฐวีกสิณเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า สมติกฺกมา เพราะล่วง คือเพราะคลายกำหนัดและเพราะดับตัณหา.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ท่านอธิบายไว้ว่า ภิกษุเพราะคลายกำหนัดเพราะดับ เพราะเหตุคลายกำหนัดเพราะดับ รูปสัญญากล่าวคือฌาน ๑๕ ด้วยอำนาจแห่งกุศลวิบากกิริยาเหล่านี้ และรูปสัญญากล่าวคืออารมณ์ ๙ ด้วยอำนาจปฐวีกสินเป็นต้นเหล่านี้ หรือรูปสัญญาไม่มีส่วนเหลือ โดยอาการทั้งปวง เข้าถึงอากาสานัญจายตนะอยู่ เพราะไม่สามารถเข้าถึงรูปสัญญานั้นเพราะยังไม่ก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง.
               อนึ่ง เพราะสมาบัตินั้นควรบรรลุด้วยการก้าวล่วงอารมณ์ มิใช่เหมือนปฐมฌานเป็นต้นในอารมณ์เดียวเท่านั้น. การก้าวล่วงสัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ยังไม่คลายกำหนัดในอารมณ์ ฉะนั้นพึงทราบว่าท่านทำการพรรณนาความนี้ แม้ด้วยสามารถแห่งการก้าวล่วงอารมณ์.
               บทว่า ปฏิฆสญฺญานํ อตฺถงฺคมา เพราะดับปฏิฆสัญญา คือสัญญาเกิดความกระทบวัตถุมีจักษุเป็นต้น ชื่อว่าปฏิฆสัญญา.
               บทนี้เป็นชื่อของรูปสัญญาเป็นต้น.
               เพราะดับ เพราะละ เพราะไม่ให้เกิดปฏิฆสัญญา ๑๐ โดยประการทั้งปวง คือกุสลวิบากแห่งสัญญาเหล่านั้น ๕ อกุสลวิบาก ๕.
               ท่านอธิบายว่า ทำไม่ให้เป็นไปได้.
               อนึ่ง สัญญาเหล่านี้ย่อมไม่มีแม้แก่ผู้เข้าถึงปฐมฌานเป็นต้นโดยแท้ เพราะในสมัยนั้น จิตยังไม่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งทวาร ๕ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น เพื่อให้เกิดอุตสาหะในฌานนี้ ดุจในจตุตถฌานแห่งสุขและทุกข์ที่ละได้แล้วในที่อื่นและดุจในตติยมรรคแห่งสักกายทิฏฐิเป็นต้น.
               พึงทราบคำแห่งสัญญาเหล่านั้น ในที่นี้ด้วยอำนาจแห่งการสรรเสริญฌานนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง สัญญาเหล่านั้นย่อมไม่มีแก่ผู้เข้าถึงรูปาวจรโดยแท้ถึงดังนั้น ย่อมไม่มีเพราะละได้แล้วก็หามิได้ เพราะการเจริญรูปาวจร ย่อมไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดในรูป และเพราะยังเนื่องในรูป สัญญาเหล่านั้นจึงยังเป็นไปอยู่ ส่วนภาวนานี้ยังเป็นไปเพื่อคลายกำหนัดในรูป เพราะฉะนั้นจึงควรกล่าวว่า สัญญาเหล่านั้นละได้แล้วในบทนี้ ไม่ใช่กล่าวแต่อย่างเดียว ควรแม้เพื่อทรงไว้อย่างนี้โดยส่วนเดียวด้วย เพราะยังละสัญญาเหล่านั้นไม่ได้ก่อนจากนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เสียงของผู้เข้าถึงปฐมฌานเป็นดุจหนาม.๓-
____________________________
๓- องฺ. ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๗๒

               อนึ่ง เพราะละได้แล้วในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถึงความที่อรูปสมาบัติไม่หวั่นไหว และความที่พ้นไปอย่างสงบ.
               บทว่า นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา เพราะไม่มนสิการถึงนานัตสัญญา คือสัญญาเป็นไปในโคจรมีความต่างๆ กันหรือสัญญามีความต่างๆ กัน เพราะสัญญาเหล่านั้นเป็นไปในโคจรมีสภาพต่างๆ กัน อันเป็นความต่างกันมีรูปสัญญาเป็นต้น และเพราะสัญญา ๔๔ อย่างนี้คือ กามาวจรกุสลสัญญา ๘ อกุสลสัญญา ๑๒ กามาวจรกุสลวิปากสัญญา ๑๑ อกุสลวิปากสัญญา ๒ กามาวจรกิริยาสัญญา ๑๑ มีความต่างกัน มีสภาพต่างกันไม่เหมือนกันและกัน ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า นานตฺตสญฺญา เพราะไม่มนสิการ ไม่คำนึงและไม่ให้เกิดในจิตแห่งนานัตตสัญญาเหล่านั้น โดยประกอบทั้งปวง เพราะไม่คำนึงถึงสัญญาเหล่านั้นไม่ให้เกิดในจิต ไม่มนสิการ ไม่พิจารณา ท่านจึงกล่าวว่า ตสฺมา.
               อนึ่ง เพราะรูปสัญญาและปฏิฆสัญญาก่อนไม่มี แม้ในภพอันเกิดด้วยฌานนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงในกาลเข้าถึงฌานนี้ในภพนั้นอยู่ละ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวความไม่มี แม้โดยส่วนทั้งสอง คือ เพราะก้าวล่วง เพราะดับสัญญาเหล่านั้น.
               จริงอยู่ แม้ในนิเทศนั้น ภิกษุเมื่อเข้าถึงฌานนี้อยู่ย่อมเข้าถึง เพราะมนสิการสัญญาเหล่านั้นอยู่. แต่เมื่อมนสิการสัญญาเหล่านั้นก็ยังเป็นผู้ไม่เข้าถึง.
               อนึ่ง ในนิเทศนี้ท่านกล่าวถึงการละรูปาวจรธรรมทั้งปวง ด้วยบทนี้ว่า รูปสญฺญานํ สมติกฺกมา เพราะล่วงรูปสัญญา ดังนี้โดยสังเขป.
               ด้วยบทนี้ว่า ปฏิฆสญฺญานํ อตฺถงฺคมา นานตฺตสญฺญานํ อมนสิการา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มีมนสิการนานัตสัญญา พึงทราบว่าท่านกล่าวการละและการไม่มนสิการจิตเจตสิกอันเป็นกามาวจรทั้งปวง.
               ในบทว่า อนนฺโต อากาโส อากาศไม่มีที่สุดนี้พึงทราบความดังนี้
               ชื่อว่า อนนฺโต เพราะอากาศนั้นไม่ปรากฏว่าเกิดหรือเสื่อมเพราะเป็นเพียงบัญญัติ ชื่อว่า อนนฺโต แม้ด้วยสามารถการแผ่ไปไม่มีที่สุด.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรนั้นย่อมไม่แผ่ไปโดยเอกเทศ ย่อมแผ่ทั่วไป.
               บทว่า อากาโส คือ อากาศที่เพิกกสิณขึ้น.
               บทมีอาทิว่า อากาสานญฺจายตนํ มีความดังได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหรติ เข้าถึงอยู่ คือถึงอายตนะนั้นแล้วให้สำเร็จอยู่ด้วยอิริยาบถอันสมควรนั้น.
               ชื่อว่า สมาปตฺติ เพราะควรเข้าถึงอายตนะนั้นนั่นแหละ.
               บทว่า อากาสานญฺจายตนํ สมติกฺกมฺม เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะ แม้ฌาน แม้อารมณ์ ก็ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะโดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อน.
               จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะโดยนัยที่กล่าวแล้วในก่อน เพราะอากาสานัญจะ (ความว่างเปล่าแห่งอากาศ) นั้นเป้ฯอายตนะด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นอารมณ์ของอรูปฌานที่หนึ่ง ดุจที่อยู่ของทวยเทพฉะนั้น.
               อนึ่ง ชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ เพราะอากาสานัญจะ (ความว่างเปล่าของอากาศ) นั้นเป็นอายตนะด้วยอรรถว่าเป็นถิ่นที่เกิด เพราะเป็นเหตุเกิดของฌานนั้น ดุจบทมีอาทิว่า กมฺโพชา อสฺสานํ อายตนํ กัมโพชนครเป็นถิ่นเกิดของม้าทั้งหลาย.
               พระโยคาวจรควรล่วงแม้ทั้งสองอย่าง คือฌานและอารมณ์ ด้วยทำไม่ให้เป็นไปและด้วยไม่มนสิการแล้วเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะนี้อยู่ ฉะนั้นพึงทราบว่า ท่านทำแม้ทั้งสองอย่างนี้รวมกันแล้วกล่าวบทนี้ว่า อากาสานญฺจายตนํ สมติกกมม.
               บทว่า อนนฺตํ วิญฺญาณํ วิญญาณไม่มีที่สุด วิญญาณนั่นแหละ ท่านกล่าวว่า ภิกษุมนสิการวิญญาณที่แผ่ไปว่า อนนฺโต อากาโส อากาศไม่มีที่สุดว่า อนนฺตํ วิญฺญาณํ วิญญาณไม่มีที่สุด หรือชื่อว่า อนนฺตํ ด้วยอำนาจมนสิการ.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรนั้นเมื่อมนสิการอากาศ อารมณ์และวิญญาณนั้นโดยไม่มีส่วนเหลือ ย่อมทำความไม่มีที่สุดไว้ในใจ.
               บทว่า วิญฺญาณญฺจายตนํ สมติกฺกมฺม เพราะล่วงวิญญาณณัญจายตนะ แม้ฌาน แม้อารมณ์ก็เป็นวิญญาณัญจายตนะตามนัยดังกล่าวแล้วแม้ในบทนี้และในบทก่อน.
               จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็เป็นวิญญาณัญจายตนะ ตามนัยดังกล่าวแล้วในก่อนเพราะวิญญาณัญจะ (วิญญาณว่างเปล่า) นั้นเป็นอายตนะด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานที่ ๒.
               อนึ่ง ชื่อว่าวิญญาณัญจายตนะ เพราะวิญญาณัญจะนั้นเป็นอายตนะด้วยอรรถว่าเป็นถิ่นเกิด เพราะเป็นเหตุเกิดของฌานนั้น.
               พระโยคาวจรควรล่วงแม้ทั้งสอง คือฌานและอารมณ์ ด้วยทำไม่ให้เป็นไปและไม่ทำไว้ในใจแล้วพึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะนี้. เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า ท่านทำแม้ทั้งสองอย่างนั้นรวมกันแล้วกล่าวบทนี้ว่า วิญฺญาณญฺจายตนํ สมติกฺกมฺม ดังนี้.
               บทว่า นตฺถิ กิญฺจิ ไม่มีอะไร. ท่านอธิบายว่า พระโยคาวจรมนสิการอยู่อย่างนี้ว่า นตฺถิ นตฺถิ ไม่มี ไม่มี สุญฺญํ สุญฺญํ ว่างเปล่า ว่างเปล่า วิวิตฺตํ วิวิตฺตํ สงัด สงัด.
               บทว่า อากิญฺจญฺญายตนํ สมติกกมม เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะ (ไม่มีอะไรเหลือสักน้อยหนึ่งเป็นอารมณ์) แม้ฌาน แม้อารมณ์ก็เป็นอากิญจัญญายตนะตามนัยดังกล่าวแล้วแม้ในบทนี้ และในบทก่อนนั่นแหละ.
               จริงอยู่ แม้อารมณ์ก็เป็นอากิญจัญญายตนะ เพราะอากิญจัญญะ (ไม่มีอะไรเหลือ) นั้นเป็นอายตนะด้วยอรรถว่าเป็นที่ตั้ง เพราะเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานที่ ๓ ตามนัยดังกล่าวแล้วในบทก่อน.
               อนึ่ง ชื่อว่าอากิญจัญญายตนะ เพราะอากิญจัญญะนั้นเป็นอายตนะด้วยอรรถว่าเป็นถิ่นให้เกิด เพราะเป็นเหตุเกิดของฌานนั้นนั่นแล เพราะล่วงแม้ทั้งสองอย่างนั้น คือฌานและอารมณ์ ด้วยทำไม่ให้เป็นไปและด้วยไม่ทำไว้ในใจแล้วพึงเข้าถึงแนวสัญญานาสัญญายตนะ (มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่) นี้อยู่ เพราะฉะนั้นพึงทราบว่า ท่านทำแม้ทั้งสองอย่างนั้นรวมกันแล้วกล่าวบทนี้ว่า อากิญฺจญฺญายตนํ สมติกฺกมฺม ดังนี้. สัญญาเวทยิตนิโรธกถา (การดับสัญญาเวทนา) ท่านกล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               วิโมกข์ ๗ มีอาทิว่า รูปี รูปานิ ปสฺสติ (ภิกษุมีรูปย่อมเห็นรูปทั้งหลาย) ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะอรรถว่าพ้นด้วยดีจากธรรมเป็นข้าศึกทั้งหลาย และเพราะอรรถว่าพ้นด้วยดี ด้วยอำนาจความยินดียิ่งในอารมณ์.
               ส่วนนิโรธสมาบัติ ชื่อว่าวิโมกข์ เพราะอรรถว่าพ้นแล้วจากจิตและเจตสิกทั้งหลาย.
               ชื่อว่า สมยวิโมกข์ เพราะพ้นในสมัยเข้าถึงสมาบัติ ไม่พ้นในสมัยออกแล้ว.
               ชื่อว่า อริยมรรค เพราะพ้นสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งสมุจเฉทวิมุตติ.
               ชื่อว่า สามัญผล เพราะพ้นสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งปฏิปัสสัทธิวิมุตติ ชื่อว่านิพพาน เพราะพ้นสิ้นเชิงด้วยอำนาจแห่งนิสสรณวิมุตติ นี่เป็นอสมยวิโมกข์ สามยิกาสามยิกวิโมทย์ (พ้นชั่วคราวและไม่ชั่วคราว) ก็เหมือนอย่างนั้น.
               ชื่อว่า กุปโป เพราะอาศัยความประมาทจึงเสื่อม.
               ชื่อว่า อกุปโป เพราะไม่เสื่อมอย่างนั้น.
               ชื่อว่า โลกิโย เพราะย่อมเป็นไปตามโลก.
               ชื่อว่า โลกุตฺตรา เพราะอริยมรรคทั้งหลายย่อมข้ามโลก ชื่อว่า โลกุตตรา เพราะสามัญผลและนิพพานข้ามไปแล้วจากโลก.
               ชื่อว่า อนาสโว เพราะอาสวะทั้งหลายไม่หน่วงเหนี่ยวโลกุตรธรรมอันสูงด้วยเดชไว้ได้ ดุจแมลงวันไม่เกาะก้อนเหล็กที่ร้อนฉะนั้น.
               บทว่า รูปฺปปฏิสญฺญุตฺโต วิโมกข์ปฏิสังยุตด้วยรูป คือรูปฌาน.
               บทว่า อรูปปฺปฏิสญญุตฺโต วิโมกข์ที่ไม่ปฏิสังยุตด้วยรูป คืออรูปสมาบัติ.
               วิโมกข์ที่ถูกตัณหาหน่วงเหนี่ยวไว้ ชื่อว่าปณิหิตวิโมกข์ วิโมกข์ที่ไม่ถูกตัณหาหน่วงเหนี่ยวไว้ ชื่อว่าอัปปณิหิตวิโมกข์. มรรคผลชื่อว่าเอกัตตวิโมกข์ เพราะมีอารมณ์อย่างเดียวกันและเพราะสำเร็จอย่างเดียวกัน นิพพานชื่อว่าเอกัตตวิโมกข์ เพราะไม่มีที่สอง ชื่อว่านานัตตวิโมกข์ เพราะมีอารมณ์ต่างกัน และเพราะมีวิบากต่างกัน
               บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี. ความว่า พึงมี คือมี ๑๐ และมี ๑.
               อนึ่ง บทว่า สิยา เป็นคำแสดงวิธี มิใช่เป็นคำถาม.
               บทว่า วตฺถุวเสน ด้วยอำนาจแห่งวัตถุ คือมี ๑๐ ด้วยอำนาจแห่งวัตถุ ๑๐ มีนิจจสัญญาเป็นต้น.
               บทว่า ปริยาเยน โดยปริยาย คือมี ๑ โดยปริยายแห่งการพ้น.
               บทว่า สิยาติ กถญฺจ สิยา บทว่า พึงมีได้ คือ พึงมีได้อย่างไร ได้แก่ ถามว่า สิ่งใดตั้งไว้ว่าพึงมี สิ่งนั้นพึงมีได้อย่างไร.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสนญาณํ เป็นบทสมาส.
               บาลีว่า อนิจฺจานุปสฺสนาญาณํ ดังนี้บ้าง.
               แม้ในบทที่เหลือก็เหมือนกัน.
               บทว่า นิจฺจโต สญฺญาย จากนิจจสัญญา คือจากสัญญาอันเป็นไปแล้วโดยความเป็นของเที่ยง.
               ความว่า จากสัญญาอันเป็นไปแล้วว่า เป็นของเที่ยง.
               แม้ในบทนี้ว่า สุขโต อตฺตโต นิมิตฺโต สญฺญาย จากสุขสัญญา อัตตสัญญา นิมิตตสัญญา ก็มีนัยนี้.
               อนึ่ง บทว่า นิมิตฺตโต คือ จากนิมิตว่าเที่ยง.
               บทว่า นนฺทิยา สญฺญาย จากนันทิสัญญา คือจากสัญญาอันเป็นไปแล้วด้วยความเพลิดเพลิน.
               ความว่า จากสัญญาอันสัมปยุตแล้วด้วยความเพลิดเพลิน.
               แม้ในบทนี้ว่า ราคโต สมุทยโย อาทานโต ปณิธิโต อภินิเวสโต สญฺญา จากราคสัญญา สมุทยสัญญา อาทานสัญญา ปณิธิสัญญา อภินิเวสสัญญา ก็มีนัยนี้.
               อนึ่ง เพราะอนุปัสสนา ๓ อย่าง คือ ขยานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความสิ้นไป) วยานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเสื่อม) วิปริณามานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความแปรปรวน) เป็นความวิเศษแห่งภังคานุปัสสนา อันเป็นพลวปัจจัย เพราะเป็นกำลังแห่งอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น เพราะอนิจจานุปัสสนามีกำลังด้วยเห็นความดับ ก็เมื่ออนิจจานุปัสสนามีกำลัง แม้การพิจารณาเห็นทุกข์และอนัตตาว่า๔- สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ดังนี้ก็มีกำลัง ฉะนั้นเมื่อท่านกล่าวอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น ก็เป็นอันกล่าวถึงอนุปัสสนาแม้ ๓ เหล่านั้นด้วย.
____________________________
๔- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๔๒

               อนึ่ง เพราะท่านกล่าวว่า สุญญตานุปัสสนาญาณพ้นจากสัญญาโดยความยึดถือยึดมั่นสิ่งที่เป็นสาระ ยึดมั่นสิ่งที่เป็นความลุ่มหลง ยึดมั่นสิ่งที่เป็นความอาลัย ยึดมั่นสิ่งที่เป็นกิเลสอันผูกใจ ตามคำพูดว่า ย่อมหลุดพ้นจากสัญญาโดยความยึดมั่น.
               ท่านอธิบายต่อไปว่า พ้นจากสัญญาโดยไม่พิจารณา เพราะไม่มีสิ่งยึดมั่น ฉะนั้นพึงทราบว่า อนุปัสสนาแม้ ๕ มีอธิปัญญาธัมมวิปัสสนาเป็นต้น ท่านมิได้กล่าวไว้เลย.
               ในมหาวิปัสสนา ๑๘ พึงทราบว่าท่านมิได้กล่าวถึงอนุปัสสนา ๘ เหล่านั้นเลย กล่าวถึงแต่อนุปัสสนา ๑๐ เท่านั้น.
               บทว่า อนิจฺจานุปสสนา ยถาภูตํ ญาณํ อนิจจานุปัสสนายถาภูตญาณ คือการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงเป็นความรู้ตามความเป็นจริง.
               แม้ทั้งสองบทเป็นปฐมาวิภัตติ.
               บทว่า ยถาภูตญาณํ ท่านกล่าวถึงอรรถแห่งญาณ.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               บทว่า สมฺโมหา อญฺญาณา จากความหลง จากความไม่รู้ คือจากความไม่รู้อันเป็นความหลง.
               บทว่า มุจฺจติ (พ้น) ท่านกล่าวถึงอรรถแห่งวิโมกข์.
               บทว่า อนิจฺจานุปสฺสนา อนุตฺตรํ สีติภาวํ ญาณํ ความว่า อนิจจานุปัสสนาเป็นญาณอันมีความเย็นใจอย่างเยี่ยม. ชื่อว่า อนุตฺตรํ เพราะอรรถว่าสูงสุดโดยมีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น หรือชื่อว่า อนุตฺตรํ เพราะเป็นปัจจัยแห่งความยอดเยี่ยม. ญาณอันมีความเย็นใจนั่นแล ชื่อว่าสีติภาวญาณ. สีติภาวญาณนั้นเป็นญาณยอดเยี่ยม กล่าวคือพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง.
               นิพพานชื่อว่าเป็นความเย็นอย่างเยี่ยมในพระพุทธวจนะนี้ว่า๕- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ เป็นผู้ควรเพื่อทำให้แจ้งพระนิพพานอันเป็นความเย็นอย่างเยี่ยม. แต่ในที่นี้ วิปัสสนาเป็นความเย็นอย่างเยี่ยม.
____________________________
๕- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๕๖

               บทว่า นิจฺจโต สนฺตาปปริฬาหทรถา มุจฺจติ พ้นจากความเดือดร้อน ความเร่าร้อนและความกระวนกระวาย โดยความเป็นสภาพเที่ยง.
               แม้ในบทนี้ กิเลสอันเป็นไปว่าเที่ยง ท่านกล่าวว่า สนฺตาโป เพราะอรรถว่าเดือดร้อนในโลกนี้และโลกหน้า. ท่านกล่าวว่า ปริฬาโห เพราะอรรถว่าเผาผลาญ. ท่านกล่าวว่า ทรโถ เพราะอรรถว่าร้อน.
               บทมีอาทิว่า เนกฺขมฺมํ ชายติ ฌานํ มีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง บทมีอาทิว่า เนกขัมมะ ในบทนี้ คือ สมาบัติ ๘ อันเป็นส่วนแห่งการแทงตลอด.
               บทว่า อนุปฺปาทา จิตฺตสฺส วิโมกฺโข (การหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ยึดถือ) ในที่นี้คือวิปัสสนานั่นเอง.
               แต่ในบาลีนี้ว่า การพูดกันมีอันนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษากันมีอันนี้เป็นประโยชน์ นี้คือความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ยึดถือ๖- นิพพานคือความหลุดพ้นเพราะไม่ยึดถือ.
____________________________
๖- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๐๗

               บทว่า กตีหุปาทาเนหิ คือ ด้วยอุปาทานเท่าไร.
               บทว่า กตฺมา เอกุปาทา คือ จากอุปาทานหนึ่งเป็นไฉน.
               บทว่า อิทํ เอกุปาทานา คือ จากอุปาทานหนึ่งนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อิทํ เพ่งญาณก่อน.
               ในการพ้นจากอุปาทานนั้นมีความดังต่อไปนี้
               เพราะพระโยคาวจรเห็นแล้ว เห็นแล้วซึ่งความเกิดและความเสื่อมของสังขารทั้งหลายแต่ต้น เห็นด้วยอนิจจานุปัสสนา ภายหลังเห็นความดับของสังขารทั้งหลาย แล้วเห็นด้วยอนิมิตตานุปัสนา เพราะอนิมิตตานุปัสสนาเป็นความวิเศษแห่งอนิจจานุปัสนา ความไม่มีตัวตนเป็นความปรากฏ ด้วยการเห็นความเกิดและความเสื่อม และด้วยการเห็นความดับของสังขารทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นการละทิฏฐุปาทานและอัตตวาทุปาทานได้.
               อนึ่ง เพราะละทิฏฐินั่นเอง จึงเป็นอันละสีลัพพตุปาทาน เพราะไม่มีความเห็นว่าตัวตนย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยศีลและพรต.
               อนึ่ง เพราะพระโยคาวจรเห็นความไม่มีตัวตนโดยตรงด้วยอนัตตานุปัสสนา.
               อนึ่ง สุญญตานุปัสสนาเป็นความวิเศษแห่งอนัตตานุปัสสนานั่นเอง ฉะนั้น ญาณ ๔ เหล่านี้ ย่อมพ้นจากอุปาทานทั้งหลาย ๓ มีทิฏฐุปาทานเป็นต้น.
               ท่านไม่กล่าวถึงการพ้นจากกามุปาทาน เพราะตัณหาเป็นข้าศึกโดยตรงของอนุปัสนา ๔ มีทุกขานุปัสสนาเป็นต้น และของอนุปัสนา ๓ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น เพราะเมื่อพระโยคาวจรเห็นว่าสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ด้วยทุกขานุปัสสนาแต่ต้น และภายหลังเมื่อเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ด้วยอัปปณิหิตานุปัสสนา ย่อมละความปรารถนาสังขารทั้งหลายเสียได้ เพราะอัปปณิหิตานุปัสสนาเป็นความวิเศษของทุกขานุปัสสนานั่นเอง.
               อนึ่ง เพราะเมื่อพระโยคาวจรเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายด้วยนิพพิทานุปัสสนา คลายความกำหนัดด้วยวิราคานุปัสสนา ย่อมละความปรารถนาสังขารทั้งหลายเสียได้ ฉะนั้น ญาณ ๔ เหล่านี้ย่อมพ้นจากกามุปาทาน เพราะพระโยคาวจรดับกิเลสทั้งหลายได้ด้วยนิโรธานุปัสนา ย่อมสละกิเลสทั้งหลายได้ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา ฉะนั้น ญาณ ๒ เหล่านี้ย่อมพ้นจากอุปาทาน ๔ ด้วยเหตุนั้นท่านจึงชี้แจงวิโมกข์ ๖๘ ด้วยความต่างกันโดยสภาวะ และด้วยความต่างกันโดยอาการ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๕. วิโมกขกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 423อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 469อ่านอรรถกถา 31 / 517อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=6186&Z=7125
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=3868
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=3868
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :