ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 534อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 544อ่านอรรถกถา 31 / 557อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค
๒. สัจจกถา

               อรรถกถาสัจจกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามลำดับความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งสัจจกถา อันมีพระสูตรเป็นเบื้องต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความวิเศษของการแทงตลอดสัจจะ อันตั้งอยู่บนความจริงด้วยสามารถแห่งอริยมรรคอันเป็นคุณของธรรมคู่กันตรัสไว้แล้ว.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรนั้นก่อนดังต่อไปนี้.
               บทว่า ตถานิ คือ เป็นของแท้ด้วยความเป็นจริง.
               จริงอยู่ ธรรมชาติทั้งหลายอันเป็นความจริงนั่นแหละชื่อว่าสัจจะ ด้วยอรรถว่าเป็นจริง. อรรถแห่งสัจจะ ท่านกล่าวไว้แล้วในอรรถกถาปฐมญาณนิเทศ.
               บทว่า อวิตถานิ เป็นของไม่ผิด คือปราศจากความตรงกันข้ามในสภาพที่กล่าวแล้ว เพราะสัจจะไม่มี ก็ชื่อว่าไม่มีสัจจะ.
               บทว่า อนญฺญกานิ ไม่เป็นอย่างอื่น คือ เว้นจากสภาพอื่น เพราะไม่มีสัจจะหามิได้ ก็ชื่อว่ามีสัจจะ.
               บทว่า อิทํ ทุกฺขนฺติ ภิกฺขเว ตถเมตํ สัจจะว่านี้ทุกข์เป็นของจริง คือ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่กล่าวว่า นี้ทุกข์ สิ่งนั้นชื่อว่า เป็นของแท้ เพราะตามความเป็นจริง.
               จริงอยู่ ทุกข์นั่นแหละคือทุกข์ ชื่อว่าเป็นของไม่ผิด เพราะไม่มีสิ่งตรงกันข้ามในสภาวะดังกล่าวแล้ว เพราะทุกข์ไม่มี ก็ชื่อว่าไม่มีทุกข์ ชื่อว่าไม่เป็นอย่างอื่นเพราะปราศจากสภาพอื่น.
               จริงอยู่ ทุกข์ไม่มีสภาพเป็นสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ได้.
               แม้ในสมุทัยเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

               อรรถกถาปฐมสุตตันตนิเทศ               
               บทว่า ตถฏฺเฐน ด้วยอรรถเป็นของแท้ คือด้วยอรรถตามความเป็นจริง.
               บทว่า ปีฬนฏฺโฐ สภาพบับคั้นเป็นต้น มีความดังกล่าวแล้วในญาณกถานั่นแล.
               บทว่า เอกปฺปฏิเวธานิ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว คือแทงตลอดด้วยมรรคญาณเดียว หรือชื่อว่า เอกปฺปฏิเวธานิ เพราะมีการแทงตลอดร่วมกัน.
               บทว่า อนตฺตฏฺเฐน ด้วยความเป็นอนัตตา คือด้วยความเป็นอนัตตา เพราะความที่สัจจะแม้ ๒ ปราศจากตน.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งหมดนั่นแหละ พึงทราบว่า ว่างเปล่า เพราะไม่มีผู้เสวย ผู้กระทำ ผู้ดับและผู้ไป.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   ความจริง ทุกข์เหล่านั้นมีอยู่ ใครๆ เป็นทุกข์หามี
                         ไม่การกระทำมีอยู่ ใครๆ ผู้ทำหามีไม่ ความดับมีอยู่
                         ใครๆ ผู้ดับหามีไม่ ทางมีอยู่ แต่คนผู้เดินทางหามีไม่.
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   ความว่างเปล่าจากความงาม ความสุขอันยั่งยืน
                         และตัวตน ความว่างเปล่าจาก ๒ บทข้างต้นและ
                         ตัวตนเป็นอมตบท ในสัจจะเหล่านั้น ความว่างเปล่า
                         เป็นมรรค ปราศจากความสุขยั่งยืนและตัวตน.
               บทว่า สจฺจฏฺเฐน ด้วยความเป็นของจริง คือ ด้วยความไม่ผิดจากความจริง.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺเฐน ด้วยความเป็นปฏิเวธ คือด้วยความพึงแทงตลอดในขณะแห่งมรรค.
               บทว่า เอกสงฺคหิตานิ สัจจะ ๔ ท่านสงเคราะห์เข้าเป็นหนึ่ง คือสงเคราะห์ด้วยอรรถหนึ่งๆ. ความว่า ถึงการนับว่าเป็นหนึ่ง.
               บทว่า ยํ เอกสงฺคหิตํ ตํ เอกตฺตํ สิ่งใดท่านสงเคราะห์เป็นหนึ่ง สิ่งนั้นเป็นหนึ่ง. ความว่า เพราะท่านสงเคราะห์ด้วยอรรถหนึ่ง ฉะนั้นจึงเป็นหนึ่ง.
               ท่านเพ่งถึงความถี่สัจจะทั้งหลายเป็นหนึ่ง แม้ในความที่มีมากแล้วทำให้เป็นเอกวจนะ.
               บทว่า เอกตฺตํ เอเกน ญาเณน ปฏิวิชฺฌติ บุคคลย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งด้วยญาณเดียว คือบุคคลกำหนด กำหนดเป็นอย่างดีถึงความที่สัจจะ ๔ ต่างกันและเป็นอันเดียวกัน ในส่วนเบื้องต้นแล้วดำรงอยู่ ย่อมแทงตลอดสัจจะหนึ่งมีความเป็นของแท้เป็นต้น ด้วยมรรคญาณหนึ่งในขณะแห่งมรรค. อย่างไร เมื่อแทงตลอดสัจจะหนึ่งมีความเป็นของแท้เป็นต้นแห่งนิโรธสัจ ย่อมเป็นอันแทงตลอดสัจจะหนึ่งมีความเป็นของแท้เป็นต้น แม้แห่งสัจจะที่เหลือก็เหมือนกัน.
               เมื่อพระโยคาวจรกำหนด กำหนดด้วยดีถึงความต่างกันและเป็นอันเดียวกันแห่งขันธ์ ๕ ในส่วนเบื้องต้น แล้วตั้งอยู่ ในเวลาออกจากมรรค ออกโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ หรือโดยความเป็นอนัตตา แม้เมื่อเห็นขันธ์หนึ่ง โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นต้น แม้ขันธ์ที่เหลือก็เป็นอันเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นต้น ฉันใด แม้ข้อนี้ก็พึงเห็นมีอุปมาฉันนั้น.
               บทว่า ทุกฺขสฺส ทุกฺขฏฺโฐ ตถฏฺโฐ สภาพทนได้ยากแห่งทุกข์ เป็นสภาพแท้ คือ อรรถ ๔ อย่างมีความบีบคั้นแห่งทุกขสัจเป็นต้น เป็นสภาพแท้ เพราะเป็นจริง.
               แม้ในสัจจะที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อรรถ ๔ อย่างนั้นนั่นแล ชื่อว่าเป็นสภาพมิใช่ตัวตน เพราะไม่มีตัวตน ชื่อว่าเป็นสภาพจริง เพราะไม่ผิดไปจากความจริงโดยสภาพดังกล่าวแล้ว ชื่อว่าเป็นสภาพแทงตลอด เพราะควรแทงตลอดในขณะแห่งมรรค.
               บทมีอาทิว่า ยํ อนิจฺจํ สิ่งใดไม่เที่ยง ท่านแสดงทำสามัญลักษณะให้เป็นเบื้องต้น.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ยํ อนิจฺจํ ตํ ทุกฺขํ ยํ ทุกฺขํ ตํ อนิจฺจํ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่เที่ยง ท่านหมายเอาทุกข์ สมุทัยและมรรค เพราะสัจจะ ๓ เหล่านั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง และชื่อว่าเป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง.
               บทว่า ยํ อนิจฺจญฺจ ทุกฺขญฺจ ตํ อนตฺตา สิ่งใดไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ท่านสงเคราะห์นิโรธสัจกับมรรค ๓ เหล่านั้น.
               จริงอยู่ แม้สัจจะ ๔ ก็เป็นอนัตตา.
               บทว่า ตํ ตถํ สิ่งนั้นเป็นของแท้ คือสิ่งนั้นเป็นของจริงเป็นสัจจจตุกะ.
               บทว่า ตํ สจฺจํ สิ่งนั้นเป็นของจริง คือสิ่งนั้นนั่นแหละไม่ผิดไปจากความจริง ตามสภาพเป็นสัจจจตุกะ.
               ในบทมีอาทิว่า นวหากาเรหิ ด้วยอาการ ๙ พึงทราบว่าท่านแสดงด้วยความรู้ยิ่ง เพราะพระบาลีว่า สพฺพํ ภิกฺขเว อภิญฺเญยฺยํ๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งควรรู้ยิ่งทั้งปวงเป็นอาทิ ด้วยความกำหนดรู้ เพราะความปรากฏแห่งญาตปริญญาในสัจจะ ๔ ในสัจจะนี้แม้แยกกันในความกำหนดรู้ทุกข์ ในการละสมุทัย ในการเจริญมรรค ในการทำให้แจ้งนิโรธ ด้วยการละ เพราะปรากฏการละด้วยเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยการเจริญ เพราะปรากฏการเจริญอริยสัจ ๔ ด้วยทำให้แจ้ง เพราะปรากฏการทำให้แจ้งอริยสัจ ๔.
____________________________
๑- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๓

               ในบทมีอาทิว่า นวหากาเรติ ตถฏฺเฐน ด้วยความเป็นของแท้ด้วยอาการ ๙ ท่านประกอบตามนัยที่กล่าวแล้วครั้งแรกนั่นเอง.
               ในบทมีอาทิว่า ทฺวาทสหิ อากาเรหิ ด้วยอาการ ๑๒ ความเป็นของแท้เป็นต้น มีความดังกล่าวแล้วในญาณกถา.
               พึงทราบการประกอบตามนัยดังกล่าวแล้วแม้ในนิเทศแห่งอาการเหล่านั้น.
               ในบทมีอาทิว่า สจฺจานํ กติ ลกฺขณานิ สัจจะมีลักษณะเท่าไร.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแยกลักษณะ ๖ ที่ควรกล่าวต่อไปเป็นสองส่วน คือเป็นสังขตะและอสังขตะ แล้วตรัสว่า เทฺว ลกฺขณานิ มีลักษณะ ๒ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺขตฺลกฺขณญฺจ อสงฺขตลกฺขณญฺจ สังขตลักษณะและอสังขตลักษณะ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสังขตลักษณะและอสังขตลักษณะไว้อย่างนี้ว่า๒-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขตลักษณะของสังขตธรรม ๓ เหล่านี้ คือ ความเกิดปรากฏ ความเสื่อมปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ความแปรเป็นอย่างอื่นปรากฏ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม ๓ เหล่านี้ คือความเกิดไม่ปรากฏ ความเสื่อมไม่ปรากฏ เมื่อตั้งอยู่ความแปรเป็นอย่างอื่นไม่ปรากฏ ดังนี้.
____________________________
๒- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๘๖-๔๘๗

               แต่สังขตธรรมไม่ใช่ลักษณะ ลักษณะไม่ใข่สังขตธรรม.
               อนึ่ง เว้นสังขตธรรมเสียแล้วไม่สามารถบัญญัติลักษณะได้ แม้เว้นลักษณะเสียแล้วก็ไม่สามารถบัญญัติสังขตธรรมได้ แต่สังขตธรรมย่อมปรากฏได้ด้วยลักษณะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงลักษณะทั้งสองนั้นโดยพิสดาร จึงตรัสว่า ฉ ลกฺขณานิ ลักษณะทั้งหลาย ๖.
               บทว่า สงฺขตานํ สจฺจานํ สัจจะที่ปรุงแต่ง คือ ทุกขสัจ สมุทยสัจและมรรคสัจ เพราะสัจจะเหล่านั้นชื่อว่าสังขตะ เพราะอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง.
               บทว่า อุปฺปาโท คือ ชาติ.
               บทว่า ปญฺญายติ คือ ย่อมให้รู้.
               บทว่า วโย คือ ความดับ.
               บทว่า ฐิตานํ อญฺญถตฺตํ เมื่อตั้งอยู่ความแปรปรากฏ คือ เมื่อยังตั้งอยู่ ความเป็นอย่างอื่น คือชราปรากฏ เพราะสัจจะที่ปรุงแต่ง ๓ สำเร็จแล้ว ท่านจึงกล่าวถึงความเกิด ความเสื่อมและความแปร แต่ไม่ควรกล่าวถึงความเกิด ความเสื่อมและความแปร เพราะความเกิด ความชราและความดับของสัจจะที่ปรุงแต่งเหล่านั้นยังไม่สำเร็จ ไม่ควรกล่าวว่า ความเกิด ความเสื่อมและความแปรไม่ปรากฏ เพราะอาศัยสิ่งปรุงแต่ง แต่ควรกล่าวว่าเป็นสังขตะ เพราะความผิดปกติของสังขตะ.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ความเกิด ความชราและความดับของทุกข์และสมุทัย นับเนื่องด้วยสัจจะ ความเกิด ความชรา ความดับของมรรคสัจ ไม่นับเนื่องด้วยสัจจะ.
               ในบทนั้น ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาแห่งขันธกวรรคว่า ในขณะสังขตะทั้งหลายเกิด สังขตะทั้งหลายก็ดี ลักษณะแห่งความเกิดก็ดี ขณะสังขตะเกิดนั้นกล่าวคือกาลก็ดีย่อมปรากฏ เมื่อความเกิดล่วงไป สังขตะก็ดี ลักษณะชราก็ดี ขณะแห่งความเกิดกล่าวคือกาลก็ดีย่อมปรากฏ ในขณะดับ สังขตะก็ดี ชราก็ดี ลักษณะดับก็ดี ขณะแห่งความดับนั้นกล่าวคือกาลก็ดีย่อมปรากฏ.
               บทว่า อสงฺขตสฺส สจฺจสฺส สัจจะที่ไม่ปรุงแต่ง คือนิโรธสัจ เพราะนิโรธสัจนั้นชื่อว่าอสังขตะ เพราะสำเร็จเองไม่ต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง.
               บทว่า ฐิตสฺส เมื่อตั้งอยู่ คือตั้งอยู่เพราะความเป็นสภาพเที่ยง มิได้ตั้งอยู่ เพราะความถึงฐานะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงลักษณะทั้งสองนั้นอีกโดยพิสดาร จึงตรัสว่า ทฺวาทส ลกฺขณานิ ลักษณะทั้งหลาย ๑๒.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า จตุนฺนํ สจฺจานํ กติ กุสลา สัจจะ ๔ เป็นกุศลเท่าไร ดังต่อไปนี้.
               บทว่า อพฺยากตํ อัพยากฤต (ทำให้แจ้งไม่ได้) คือ นิพพานเป็นอัพยากฤตในอัพยากฤต ๔ คือ วิบากเป็นอัพยากฤต กิริยาเป็นอัพยากฤต รูปเป็นอัพยากฤต นิพพานเป็นอัพยากฤต เพราะอัพยากฤตแม้ ๔ ชื่อว่าอัพยากฤต เพราะทำให้แจ้งไม่ได้ด้วยลักษณะเป็นกุศลและอกุศล.
               บทว่า สิยา กุสลํ เป็นกุศลก็มี คือเป็นกุศลด้วยอำนาจแห่งกามาวจรกุศล รูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล.
               บทว่า สิยา อกุศลํ เป็นอกุศลก็มี คือเป็นอกุศลด้วยอำนาจแห่งอกุศลที่เหลื่อเว้นตัณหา.
               บทว่า สิยา อพฺยากตํ เป็นอัพยากฤตก็มี คือเป็นอัพยากฤตด้วยอำนาจแห่งวิบากกิริยาอันเป็นกามาวจร รูปาวจรและอรูปาวจร และแห่งรูปทั้งหลาย.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า สิยา ตีณิ สจฺจานิ พึงเป็นสัจจะ ๓ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สงฺคหิตานิ ท่านสงเคราะห์ คือนับเข้า.
               บทว่า วตฺถุวเสน ด้วยสามารถแห่งวัตถุ คือด้วยสามารถแห่งวัตถุกล่าวคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคที่เป็นอกุศล กุศลและอัพยากฤต.
               บทว่า ยํ ทุกฺขสจฺจํ อกุสลํ ทุกขสัจเป็นอกุศล คือ อกุศลที่เหลือเว้นตัณหา.
               บทว่า อกุสลฏฺเฐน เทฺว สจฺจานิ เอกสจฺเจน สงฺคหิตานิ สัจจะ ๒ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๑ ด้วยความเป็นอกุศล คือทุกข์สัจและสมุทยสัจ ๒ เหล่านี้ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๑ ด้วยความเป็นอกุศล. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นอกุศลสัจจะ.
               บทว่า เอกสจฺจํ ทฺวีหิ สจฺเจหิ สงฺคหิตํ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๒ คือ อกุศลสัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยทุกขสัจและสมุทยสัจ ๒.
               บทว่า ยํ ทุกฺขสจฺจํ กุสลํ ทุกขสัจเป็นกุศล คือเป็นกุศล เป็นไปในภูมิ ๓ ทุกขสัจและมรรคสัจ ๒ เหล่านี้ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๑ ด้วยความเป็นกุศล ชื่อว่าเป็นกุศลสัจจะ กุศลสัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยทุกขสัจและมรรคสัจ ๒.
               บทว่า ยํ ทุกฺขสจฺจํ อพฺยากตํ ทุกขสัจเป็นอัพยากฤต คือวิบากกิริยาอันเป็นไปในภูมิ ๓ และรูป ทุกขสัจและนิโรธสัจ ๒ เหล่านี้ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๑ ด้วยความเป็นอัพยากฤต ชื่อว่าเป็นอัพยากฤตสัจจะ อัพยากฤตสัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยทุกขสัจและนิโรธสัจ ๒.
               บทว่า ตีณิ สจฺจานิ เอกสจฺเจน สงฺคหิตานิ สัจจะ ๓ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๑ คือ สมุทยสัจ มรรคสัจ และนิโรธสัจ ท่านสงเคราะห์ด้วยทุกขสัจอันเป็นอกุศล กุศล และอัพยากฤต ๑.
               บทว่า เอกํ สจฺจํ ตีหิ สจฺเจหิ สงฺคหิตํ สัจจะ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสัจจะ ๓ คือ ทุกขสัจ ๑ ท่านสงเคราะห์ด้วยสมุทยสัจ มรรคสัจและนิโรธสัจอันเป็นอกุศล กุศล และอัพยากฤตไว้ต่างหาก.
               ส่วนอาจารย์บางพวกพรรณนาไว้ว่า ทุกขสัจและสมุทยสัจท่านสงเคราะห์ด้วยสมุทยสัจ ด้วยความเป็นอกุศล ทุกขสัจและมรรคสัจ ท่านสงเคราะห์ด้วยมรรคสัจ ด้วยความเป็นกุศล มิใช่ด้วยความเป็นทัศนะ. ทุกขสัจและนิโรธสัจ ท่านสงเคราะห์ด้วยนิโรธสัจ ด้วยความเป็นอัพยากฤต มิใช่ด้วยความเป็นอสังขตะ.
               จบอรรถกถาปฐมสุตตันตนิเทศ               

               อรรถกถาทุติยสุตตันตปาลินิเทศ               
               พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงชี้แจงการแทงตลอดสัจจะด้วยอำนาจแห่งอรรถของพระสูตรอื่นอีก จึงทรงนำพระสูตรมาทรงแสดงมีอาทิว่า๑- ปุพฺเพ เม ภิกฺขเว ดังนี้.
____________________________
๑- สํ. ข. เล่ม ๑๗/ข้อ ๕๙

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ เม ภิกฺขเว สมฺโพธา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก่อนแต่ตรัสรู้ คือ แต่สัพพัญญุตญาณของเรา.
               บทว่า อนภิสมฺพุทฺธสฺส ยังไม่ตรัสรู้ คือ ยังไม่แทงตลอดธรรมทั้งปวง.
               บทว่า โพธิสตฺตสฺเสว สโต คือ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์.
               บทว่า เอตทโหสิ ได้มีความคิดนี้ คือเมื่อเรานั่งเหนือโพธิบัลลังก์ ได้มีความปริวิตกนี้.
               บทว่า อสฺสาโท ความพอใจ ชื่อว่าอัสสาทะ เพราะความพอใจ.
               บทว่า เอตทโหสิ ได้มีความคิดนี้ คือเมื่อเรานั่งเหนือโพธิบัลลังก์ ได้มีความปริวิตกนี้.
               บทว่า อสฺสาโท ความพอใจ ชื่อว่าอัสสาทะ เพราะความพอใจ.
               บทว่า อาทีนโว คือ เป็นโทษ.
               บทว่า นิสฺสรณํ เป็นอุบายเครื่องสลัดออก คือหลีกออกไป.
               บทว่า สุขํ ชื่อว่าสุข เพราะถีงความสบาย. อธิบายว่า กระทำรูปที่เกิดขึ้นให้มีความสุข.
               บทว่า โสมนสฺสํ ชื่อว่าสุมนะ เพราะมีใจงาม เพราะประกอบด้วยปีติและโสมนัส ความเป็นแห่งความมีใจงาม ชื่อว่าโสมนัส ความสุขนั่นแหละวิเศษกว่าการประกอบด้วยปีติ.
               บทว่า อนิจฺจํ คือ ไม่ยั่งยืน.
               บทว่า ทุกฺขํ ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ และเพราะสังขารเป็นทุกข์.
               บทว่า วิปริณามธมฺมํ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา คือไม่อยู่ในอำนาจ มีความเปลี่ยนแปลงไปด้วยชราและความดับเป็นปกติ ด้วยบทนี้ท่านกล่าวถึงความไม่มีตัวตน.
               บทว่า ฉนฺทราควินโย ความกำจัดฉันทราคะ คือกั้นราคะอันได้แก่ฉันทะ มิใช่กั้นราคะ คือผิวพรรณ.
               บทว่า ฉนฺทราคปฺปหานํ ความละฉันทราคะ คือละฉนทราคะนั้นนั่นเอง.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า ยาวกีวญฺจ เพียงใดดังต่อไปนี้.
               เรายังไม่รู้ทั่วถึง คือไม่แทงตลอดด้วยญาณอันยิ่งซึ่งคุณโดยความเป็นคุณ ฯลฯ แห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ตามความเป็นจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณคือไม่ทำการปฏิญญาว่า เราเป็นอรหันต์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณคือความเป็นสัพพัญญู ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่าเพียงนั้น.
               พึงทราบอรรถโดยความเชื่อมด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กีวญฺจ เป็นเพียงนิบาต.
               บทว่า ยโต คือ เพราะเหตุใด หรือในกาลใด.
               บทว่า อถ คือ ในลำดับ.
               บทว่า ญาณญฺจ ปน เม ทสฺสนํ อุทปาทิ ญาณทัศนะเกิดขึ้นแก่เรา คือปัจจเวกขณญาณคือทัศนะเกิดขึ้นแก่เราด้วยทำกิจคือทัศนะ.
               บทว่า อกุปฺปา ไม่กำเริบ คือไม่อาจให้กำเริบ ให้หวั่นไหวได้.
               บทว่า วิมุตฺติ คือ อรหัตผลวิมุตติ แม้การพิจารณามรรคนิพพานก็เป็นอันท่านกล่าวด้วยการพิจารณาผลนั่นเอง.
               บทว่า อยมนฺติมา ชาติ ชาตินี้มีในที่สุด คือความเป็นไปแห่งขันธ์นี้มีในที่สุด.
               บทว่า นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว บัดนี้ ความเกิดอีกมิได้มี คือ บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก ด้วยบทนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงการพิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว เพราะการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ ไม่มีแก่พระอรหันต์
               จบอรรถกถาทุติยสุตตันตปาลินิเทศ               

               อรรถกถาทุติยสุตตันตนิเทศ               
               การรู้ว่า สุขโสมนัสสัมปยุตด้วยตัณหานี้เป็นคุณแห่งรูป ในลำดับแห่งการประกอบสัจปฏิเวธญาณ และในส่วนเบื้องต้นว่า อยํ รูปสฺส อสฺสาโทติ ปหานปฺปฏิเวโธ การแทงตลอดด้วยการละว่า สุขโสมนัสนี้เป็นคุณแห่งรูป แล้วแทงตลอดสมุทยสัจ กล่าวคือการละสมุทัยในขณะแห่งมรรค.
               บทว่า สมุทยสจฺจํ สมุทยสัจ คือ ญาณอันแทงตลอดสมุทยสัจ.
               จริงอยู่ แม้อารัมมณญาณอันเป็นอริยสัจ ท่านก็กล่าวว่าสัจจะ ดุจในประโยคมีอาทิว่า๑- กุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้นย่อมถึงการสงเคราะห์เข้าในอริยสัจ ๔.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๔๐

               การรู้ว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูปในส่วนเบื้องต้นว่า อยํ รูปสฺส อาทีนโวติ ปริญฺญาปฏิเวโธ การแทงตลอดด้วยการกำหนดรู้ว่า รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งรูป แล้วแทงตลอดทุกขสัจ กล่าวคือการกำหนดรู้ทุกข์ในมรรคญาณ.
               บทว่า ทุกฺขสจฺจํ ได้แก่ ญาณอันแทงตลอดทุกขสัจ.
               การรับรู้นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูปในส่วนเบื้องต้นว่า อิทํ รูปสฺส นิสฺสรณนฺติ สจฺฉิกิริยาปฏิเวโธ การแทงตลอดด้วยทำให้แจ้งว่า การกำจัดฉันทราคะการละฉันทราคะนี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งรูป แล้วแทงตลอดนิโรธสัจ กล่าวคือการทำให้แจ้งนิโรธสัจในขณะแห่งมรรค.
               บทว่า นิโรธสจฺจํ นิโรธสัจ คือญาณแทงตลอดนิโรธสัจ มีนิโรธสัจเป็นอารมณ์.
               บทว่า ยา อิเมสุ ตีสุ ฐาเนสุ ในฐานะ ๓ เหล่านี้ พึงทราบการประกอบความว่า ทิฏฐิ สังกัปปะเป็นไปแล้วด้วยอำนาจแห่งการแทงตลอดในสมุทัย ทุกข์ นิโรธ ๓ ตามที่กล่าวแล้วนี้.
               บทว่า ภาวนาปฏิเวโธ การแทงตลอดด้วยภาวนา คือแทงตลอดด้วยมรรคสัจ อันได้แก่มรรคภาวนานี้.
               บทว่า มคฺคสจฺจํ มรรคสัจ คือญาณดอันแทงตลอดมรรคสัจ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงสัจจะและการแทงตลอดสัจจะโดยปริยายอื่นอีกจึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า สจฺจนฺติ กตีหากาเรหิ สจฺจํ สัจจะด้วยอาการเท่าไร.
               ในบทนั้น เพราะพระสัพพัญญุโพธิสัตว์แม้ทั้งปวงนั่งเหนือโพธิบัลลังก์แสวงหาสมุทยสัจมีชาติเป็นต้นของทุกขสัจมีชรามรณะเป็นต้นว่าอะไรหนอ.
               อนึ่ง เมื่อแสวงหาอย่างนั้นจึงกำหนดถือเอาว่า สมุทยสัจมีชาติเป็นต้นเป็นปัจจัยของทุกขสัจมีชราและมรณะเป็นต้น ฉะนั้น การแสวงหานั้นและการกำหนดนั้น ท่านทำว่าเป็นสัจจะ เพราะแสวงหาและเพราะกำหนดสัจจะทั้งหลาย แล้วจึงกล่าวว่า เอสนฏฺเฐน ปริคฺคนฏฺเฐน ด้วยความแสวงหา ด้วยความกำหนด.
               อนึ่ง วิธีนี้ย่อมได้ในการกำหนดปัจจัย แม้ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ย่อมได้ในการกำหนดปัจจัยของพระสาวกทั้งหลายด้วยการเชื่อฟัง.
               บทว่า ปฏิเวธฏฺเฐน ด้วยการแทงตลอด คือด้วยความแทงตลอดเป็นอันเดียวกันในขณะแห่งมรรค ของผู้แสวงหาและของผู้กำหนดอย่างนั้นในส่วนเบื้องต้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า กึนิทานํ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า นิทาน เป็นต้นเป็นไวพจน์ของเหตุทั้งหมด เพราะเหตุย่อมมอบให้ซึ่งผล ดุจบอกว่า เชิญพวกท่านรับของนั้นเถิดดังนี้ ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นิทาน เพราะผลย่อมตั้งขึ้น เกิดขึ้น เป็นขึ้น จากเหตุนั้น ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า สมุทย ชาติ ปภโว.
               ในบทนี้มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า กึนิทานํ เพราะมีอะไรเป็นเหตุ ชื่อว่า กึสมุทยํ เพราะมีอะไรเป็นสมุทัย. ชื่อว่า กึชาติกํ เพราะมีอะไรเป็นกำเนิด. ชื่อว่า กึปภวํ เพราะมีอะไรเป็นแดนเกิด.
               อนึ่ง เพราะชรามรณะนั้นมีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นสมุทัย มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด ด้วยอรรถตามที่กล่าวแล้ว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ชาตินิทานํ มีชาติเป็นเหตุ เป็นอาทิ.
               บทว่า ชรามรณํ ชราและมรณะ คือทุกขสัจ.
               บทว่า ชรามรณสมุทยํ เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ คือสมุทยสัจเป็นปัจจัยแห่งชราและมรณะนั้น.
               บทว่า ชรามรณนิโรธํ ความดับแห่งชราและมรณะ คือนิโรธสัจ.
               บทว่า ชรามรณนิโรธคามินีปฏิปทํ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ คือมรรคสัจ.
               พึงทราบอรรถในบททั้งปวงโดยนัยนี้.
               บทว่า นิโรธปฺปชานนา การรู้ชัดความดับ คือรู้ความดับด้วยทำอารมณ์.
               บทว่า ชาติ สิยา ทุกฺขสจฺจํ สิยา สมุทยสจฺจํ ชาติเป็นทุกขสัจก็มี เป็นสมุทยสัจก็มี ชื่อว่าทุกขสัจ ด้วยความปรากฏ เพราะภพเป็นปัจจัย ชื่อว่าสมุทยสัจ ด้วยความเป็นปัจจัยของชราและมรณะ.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               บทว่า อวิชฺชา สิยา ทุกฺขสจฺจํ อวิชชาเป็นทุกขสัจก็มี คืออวิชชาเป็นสมุทัยแห่งอาสวะด้วยความมีอวิชชาเป็นสมุทัย.

               จบอรรถกถาทุติยสุตตันตนิเทศ               
               จบอรรถกถาสัจจกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ยุคนัทธวรรค ๒. สัจจกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 534อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 544อ่านอรรถกถา 31 / 557อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=7862&Z=8153
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=5160
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=5160
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :