ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 633อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 659อ่านอรรถกถา 31 / 679อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๑. มหาปัญญากถา

               ปัญญาวรรค               
               อรรถกถามหาปัญญากถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามที่ยังไม่พรรณนาแห่งปัญญากถา อันพระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในลำดับแห่งสุญญกถาอันเป็นปทัฏฐานแห่งปัญญาโดยพิเศษ.
               ต้อนต้นในปัญญากถานั้น ปัญญา ๗ ประการมีอนุปัสสนาหนึ่งๆ เป็นมูลในอนุปัสสนา ๗ พระสารีบุตรเถระชี้แจง ทำคำถามให้เป็นเบื้องต้นก่อน.
               ปัญญา ๓ มีอนุปัสสนา ๗ เป็นมูล และมีอนุปัสสนาอันยิ่งอย่างหนึ่งๆ เป็นมูล พระสารีบุตรเถระชี้แจงไม่ทำคำถาม. ท่านชี้แจงความบริบูรณ์ของปัญญา ๑๐ แต่ต้นด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในอนุปัสสนาเหล่านั้นดังต่อไปนี้.
               เพราะอนิจจานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นเป็นของไม่เที่ยง) แล่นไปในสังขารที่เห็นแล้วโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์และโดยความเป็นอนัตตาว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา ฉะนั้น อนิจจานุปัสสนานั้นที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังชวนปัญญา (ปัญญาแล่นไป) ให้บริบูรณ์.
               จริงอยู่ ปัญญานั้นชื่อว่า ชวนา เพราะแล่นไปในวิสัยของตน ชื่อว่า ชวนปัญญา เพราะปัญญานั้นแล่นไป.
               ทุกขานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นเป็นทุกข์) มีกำลังเพราะอาศัยสมาธินทรีย์ ย่อมชำแรก ย่อมทำลายปณิธิ เพราะฉะนั้น ทุกขานุปัสสนาย่อมยังนิพเพธิกปัญญา (ปัญญาทำลายกิเลส) ให้บริบูรณ์.
               จริงอยู่ ปัญญานั้น ชื่อว่า นิพฺเพธิกา เพราะทำลายกิเลส ชื่อว่า นิพฺเพธิกปญฺญา เพราะปัญญานั้นทำลายกิเลส.
               อนัตตานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา) ย่อมยังมหาปัญญาให้บริบูรณ์ เพราะการถึงความเจริญด้วยเห็นความเป็นของสูญเป็นการถึงความยิ่งใหญ่.
               จริงอยู่ ปัญญานั้นชื่อว่า มหาปญฺญา ปัญญาใหญ่เพราะถึงความความเจริญ.
               เพราะนิพพิทานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย) เป็นปัญญาคมกล้า สามารถเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เพราะความที่อนุปัสสนา ๓ นั่นแหละเป็นที่ตั้งของการมีกำลังด้วยอาเสวนะ แม้แต่ก่อน ฉะนั้น นิพพิทานุปัสสนาย่อมยังติกขปัญญา (ปัญญาคมกล้า) ให้บริบูรณ์.
               เพราะแม้วิราคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความคลายกำหนัด) ก็กว้างขวาง สามารถคลายกำหนัดจากสังขารทั้งปวง เพราะอนุปัสสนา ๓ นั่นแหละเป็นที่ตั้งอันเจริญกว่าการมีกำลังด้วยอาเสวนะแม้แต่ก่อน ฉะนั้น วิราคานุปัสสนาย่อมยังวิบูลปัญญา (ปัญญากว้างขวาง) ให้บริบูรณ์.
               เพราะแม้นิโรธานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความดับ) ก็ลึกซึ้ง สามารถเห็นความดับทั้งปวงด้วยลักษณะของความเสื่อม เพราะอนุปัสสนา ๓ นั่นแหละเป็นที่ตั้งอันเจริญกว่าการมีกำลังด้วยอเสวนะแม้แต่ก่อน ฉะนั้น นิโรธานุปัสสนาย่อมยังคัมภีรปัญญา (ปัญญาลึกซึ้ง) ให้บริบูรณ์.
               จริงอยู่ นิโรธชื่อว่า คมฺภีโร เพราะไม่ได้ตั้งอยู่ด้วยปัญญาอันดิ้นๆ แม้ปัญญาถึงความหยั่งลงในความลึกซึ้งนั้น ก็ชื่อว่า คมฺภีรา.
               แม้เพราะปฏินิสสัคคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นการสละคืน) เป็นปัญญาไม่ใกล้ สามารถสละคืนสังขารทั้งปวงด้วยลักษณะแห่งความเสื่อม เพราะอนุปัสสนา ๓ นั่นแหละเป็นที่ตั้งอันเจริญกว่าการมีกำลังด้วยอเสวนะแม้แต่ต้น เพราะพุทธิย่อมอยู่ไกลกว่าปัญญา ๖ เพราะยังไม่ถึงชั้นยอด ฉะนั้น ปฏินิสสัคคานุปัสสนาย่อมยังอสามันตปัญญา (ปัญญาไม่ใกล้) ให้บริบูรณ์ เพราะไม่ใกล้เอง.
               จริงอยู่ อสามันตปัญญานั้นชื่อว่า อสามฺนตา เพราะไกลจากปัญญาเบื้องต่ำ ชื่อว่า อสามนฺตปญฺญา เพราะปัญญาไม่ใกล้.
               บทว่า ปณฺฑิจฺจํ ปูเรนฺติ คือ ย่อมยังความเป็นบัณฑิตให้บริบูรณ์. เพราะปัญญา ๗ ตามที่กล่าวแล้ว เจริญให้บริบูรณ์แล้ว ถึงลักษณะของบัณฑิต เป็นบัณฑิตด้วยสังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณและโคตรภูญาณกล่าว คือวุฏฐานคามินีวิปัสสนาอันถึงยอด เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปณฺฑิจฺจํ ปูเรนฺติ ย่อมยังความเป็นบัณฑิตให้บริบูรณ์.
               บทว่า อฏฺฐปญฺญา คือ ปัญญา ๘ ประการทั้งปวงพร้อมด้วยปัญญา คือความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า ปุถุปญฺญํ ปริปูเรนฺติ ย่อมยังปุถุปัญญา (ปัญญาแน่นหนา) ให้บริบูรณ์ คือเพราะบัณฑิตนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิตนั้นกระทำนิพพาน ในลำดับโคตรภูญาณให้เป็นอารมณ์ ย่อมบรรลุปัญญาคือมรรคผล ที่กล่าวว่า ปุถุปญฺญา เพราะปัญญาบรรลุความเป็นโลกุตระแน่นหนากว่าโลกิยะ ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญา ๘ ประการย่อมยังปุถุปัญญาให้บริบูรณ์.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทมีอาทิว่า อิมา นว ปญฺญา ปัญญา ๙ ประการนี้ ดังต่อไปนี้.
               การพิจารณามรรคของพระอริยบุคคลนั้นผู้บรรลุมรรคและผลตามลำดับ ผู้มีจิตสันดานเป็นไปด้วยอาการร่าเริง เพราะมีจิตสันดานประณีต ด้วยการประกอบโลกุตรธรรมอันประณีต ผู้ออกจากภวังค์หยั่งลงในลำดับแห่งผลการพิจารณาผลของพระอริยบุคคลผู้หยั่งลงสู่ภวังค์แล้วออกจากภวังค์นั้น การพิจารณากิเลสที่ละได้แล้วโดยนัยนี้แหละ การพิจารณากิเลสที่เหลือ การพิจารณานิพพาน การพิจารณา ๕ ประการ ย่อมเป็นไปด้วยประการดังนี้แล.
               ในการพิจารณาเหล่านั้น การพิจารณามรรคและการพิจารณาผล เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทาอย่างไร.
               ท่านติดตามบาลีในอภิธรรม แล้วกล่าวไว้ในอรรถกถานั้นว่า ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ คือ ธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ นิพพาน ๑ อรรถแห่งภาษิต ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ เป็นอรรถ.
               มรรคญาณและผลญาณอันมีนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ เพราะพระนิพพานเป็นอรรถ จึงเป็นอรรถปฏิสัมภิทา เพราะคำว่า ญาณในอรรถทั้งหลายเป็นอรรถปฏิสัมภิทา.๑-
               ปัจจเวกขณญาณแห่งมรรคญาณและผลญาณ อันเป็นอรรถปฏิสัมภิทานั้น เป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา เพราะคำว่า ญาณในญาณทั้งหลายเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา.๑-
               ปัจจเวกขณญาณนั้น ชื่อว่าหาสปัญญา (ปัญญาร่าเริง) แห่งจิตสันดานอันเป็นไปด้วยอาการร่าเริง เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญา ๙ ย่อมยังหาสปัญญาให้บริบูรณ์ และหาสปัญญาเป็นปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแม้มีประการทั้งปวง ชื่อว่า ปญฺญา เพราะอรรถว่าให้รู้กล่าวคือทำเนื้อความนั้นๆ ให้ปรากฏ ชื่อว่า ปญฺญา เพราะรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการนั้นๆ.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๗๗๗

               บทว่า ตสฺส คือ อันพระอริยบุคคลมีประการดังกล่าวแล้วนั้น.
               บทนั้นเป็นฉัฎฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ.
               บทว่า อตฺถววตฺถานโต โดยกำหนดอรรถ คือโดยกำหนดอรรถ ๕ อย่างตามที่กล่าวแล้ว.
               อนึ่ง แม้บัดนี้ ท่านก็กล่าวไว้ในสมณกรณียกถา (กถาอันสมณะพึงกระทำ) ว่าญาณอันมีประเภทเป็นส่วนที่ ๑ ใน ๕ ประเภท ในอรรถคือ เหตุผล ๑ นิพพาน ๑ อรรถแห่งคำ ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑.
               บทว่า อธิคตา โหติ อันบุคคลบรรลุแล้ว คือได้แล้ว ปฏิสัมภิทานั้นแหละ อันบุคคลทำให้แจ้งแล้วด้วยการทำให้แจ้งการได้เฉพาะ ถูกต้องแล้วด้วยปัญญา ด้วยผัสสะที่ได้เฉพาะนั่นแหละ.
               บทว่า ธมฺมววตฺถานโต โดยกำหนดธรรม คือโดยกำหนดธรรม ๕ อย่างที่ท่านกล่าวโดยทำนองแห่งบาลีในอภิธรรมว่า ธรรม ๕ อย่างเหล่านี้ คือเหตุอันยังผลให้เกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑ อริยมรรค ๑ ภาษิต ๑ กุศล ๑ อกุศล ๑ ชื่อว่าธรรม.
               แม้บทนี้ท่านก็กล่าวไว้ในสมณกรณียกถาว่า ญาณอันมีประเภทเป็นส่วนที่ ๒ ใน ๕ ประเภทในธรรม คือ เหตุ ๑ อริยมรรค ๑ คำพูด ๑ กุศล ๑ อกุศล ๑.
               บทว่า นิรุตฺติววตฺถานโต โดยการกำหนดนิรุตติ คือโดยการกำหนดนิรุตติอันสมควรแก่อรรถนั้นๆ.
               บทว่า ปฏิภาณววตฺถานโต โดยการกำหนดปฏิภาณ คือโดยการกำหนดปฏิสัมภิทาญาณ ๓ อันได้แก่ปฏิภาณ.
               บทว่า ตสฺสิมา ตัดบทเป็น ตสฺส อิมา นี้เป็นคำสรุป.
               พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงคุณวิเศษของอนุปัสสนาทั้งหลายด้วยการสงเคราะห์เข้าด้วยกันทั้งหมดอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงด้วยประเภทแห่งวัตถุ จึงกบ่าวคำมีอาทิว่า รูเป อนิจฺจานุปสฺสนา การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูป.
               บทนั้นมีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงชวนปัญญาด้วยสามารถแห่งอดีต อนาคตและปัจจุบันในรูปเป็นต้น จึงตั้งคำถามด้วยอำนาจรูปเป็นต้นอย่างเดียว และด้วยอำนาจรูปในอดีต อนาคตและปัจจุบันแล้วได้แก้ไปตามลำดับของคำถาม.
               ในชวนปัญญานั้น ปัญญาที่ท่านชี้แจงไว้ก่อนในการแก้รูปล้วนๆ เป็นต้น เป็นชวนปัญญาด้วยสามารถแห่งการแล่นไปในอดีตเป็นต้นในการแก้ทั้งหมดอันมีรูปในอดีตอนาคตและปัจจุบันเป็นมูล.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงประเภทแห่งปัญญาอันมีพระสูตรไม่น้อยเป็นเบื้องต้นอีก จึงแสดงพระสูตรทั้งหลายก่อน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สปฺปุริสสํเสโว การคบสัตบุรุษ คือการคบสัตบุรุษทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               บทว่า สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังพระสัทธรรม คือฟังคำสอนแสดงข้อปฏิบัติมีศีลเป็นต้นในสำนักของสัตบุรุษทั้งหลายเหล่านั้น.
               บทว่า โยนิโสมนสิกาโร การทำไว้ในใจโดยแยบคาบ คือทำไว้ในใจโดยอุบายด้วยการพิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ฟังแล้ว.
               บทว่า ธมฺมานุธมฺมปฏิปตฺติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติมีศีลเป็นต้น อันเนื่องในโลกุตรธรรม.
               คำ ๔ เหล่านี้คือ ปญฺญาปฏิลาภาย (เพื่อได้ปัญญา) ๑ ปญฺญาวุทฺธิยา (เพื่อความเจริญแห่งปัญญา) ๑ ปญฺญาเวปุลฺลาย (เพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญา) ๑ ปญฺญาพาหุลฺลาย (เพื่อความเป็นผู้มีปัญญามาก) ๑ เป็นคำแสดงภาวะด้วยอำนาจแห่งปัญญา.
               คำ ๑๒ คำที่เหลือเป็นคำแสดงภาวะด้วยอำนาจแห่งบุคคล.

               อรรถกถาโสฬสปัญญานิเทศ               
               พึงทราบวินิจฉัยในสุตตันตนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า ฉนฺนํ อภิญฺญานํ อภิญญา ๖ คือ อิทธิวิธ (แสดงฤทธิได้) ๑ ทิพโสด (หูทิพย์) ๑ เจโตปริยญาณ (รู้จักกำหนดใจผู้อื่น) ๑ ปุพเพนิวาสญาณ (ระลึกชาติได้) ๑ ทิพยจักขุ (ตาทิพย์) ๑ อาสวักขยญาณ (รู้จักทำอาสวะให้สิ้น) ๑.
               บทว่า เตสตฺตตีนํ ญาณานํ ญาณ ๗๓ คือญาณทั่วไปแก่สาวกที่ท่านชี้แจงไว้แล้วในญาณกถา.
               ในบทว่า สุตฺตสตฺตตีนํ ญาณานํ ญาณ ๗๗ นี้มีพระบาลีว่าดังนี้.๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงญาณวัตถุ ๗๗ อย่าง แก่เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจไว้ให้ดี เราจักกล่าว.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ญาณวัตถุ ๗๗ เป็นไฉน?
               ญาณว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ. ญาณว่า เมื่อไม่มีชาติ ชราและมรณะก็ไม่มี.
               ญาณว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยแม้ในอดีตกาล ก็มีชราและมรณะ. ญาณว่า เมื่อไม่มีชาติ ชราและมรณะก็ไม่มี. ญาณว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยแม้ในกาลอนาคตก็มีชราและมรณะ. ญาณว่า เมื่อไม่มีชาติ ชราและมรณะก็ไม่มี.
               ญาณว่า ธัมมัฏฐิติญาณมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความสำรอกกิเลสเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา.
               ญาณว่า เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ.
               ฯลฯ ญาณว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ. ญาณว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน. ญาณว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา. ญาณว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา. ญาณว่า เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ. ญาณว่า เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ. ญาณว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป. ญาณว่า เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ. ญาณว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร. ญาณว่า เมื่อไม่มีอวิชชาสังขารก็ไม่มี. ญาณว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยแม้ในกาลเป็นอดีตก็มีสังขาร.
               ญาณว่า เมื่อไม่มีอวิชชา สังขารก็ไม่มี. ญาณว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยแม้ในกาลอนาคต ก็มีสังขาร. ญาณว่า เมื่อไม่มีอวิชชา สังขารก็ไม่มี. ญาณว่า ธัมมัฏฐิติญาณมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความสำรอกกิเลสเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวญาณวัตถุ ๗๗ อย่างเหล่านี้.๑-
____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๑๒๗

               ญาณ ๗๗ อย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วในนิทานวรรคด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ญาณวัตถุ ๔๔ อย่าง ท่านกล่าวอย่างละ ๔ ในองค์ ๑๑ โดยนัยนี้ว่า๒- ญาณในชราและมรณะ ญาณในเหตุเกิดชราและมรณะ ญาณในความดับชราและมรณะ ญาณในปฏิปทาให้ความดับชราและมรณะ ท่านมิได้ถือเอาในที่นี้.
____________________________
๒- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๑๑๙

               อนึ่ง ญาณในทั้งสองแห่งนั้นเป็นวัตถุแห่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุข จึงชื่อว่าญาณวัตถุ.
               การได้ในบทมีอาทิว่า ลาโภ ท่านกล่าวว่า ปฏิลาโภ การได้เฉพาะ เพราะเพิ่มอุปสรรคทำให้วิเศษ. เพื่อขยายความแห่งบทนั้นอีก ท่านจึงกล่าวว่า ปตฺติ สมฺปตฺติ การถึง การถึงพร้อม.
               บทว่า ผสฺสนา การถูกต้อง คือการถูกต้องด้วยการบรรลุ.
               บทว่า สจฺฉิกิริยา การทำให้แจ้ง คือการทำให้แจ้งด้วยการได้เฉพาะ.
               บทว่า อุปฺสมฺปทา การเข้าถึงพร้อม คือการให้สำเร็จ.
               บทว่า สตฺตนฺนญฺจ เสกฺขานํ พระเสกขะ ๗ จำพวก คือของพระเสกขะ ๗ จำพวกมีท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ซึ่งรู้กันว่าเป็นพระเสกขะ เพราะยังต้องศึกษาสิกขา ๓.
               บทว่า ปุถุชฺชนกลฺยาณกสฺส ของกัลยาณปุถุชน คือของปุถุชนที่รู้กันว่าเป็นคนดี โดยอรรถว่าเป็นผู้ดีเพราะประกอบปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน.
               บทว่า วฑฺฒิตวฑฺฒนา คือ เป็นเหตุเจริญด้วยปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ด้วยอำนาจแห่งปัญญา ๘ ตามที่กล่าวแล้วและด้วยอำนาจแห่งปัญญาของพระอรหันต์ ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์แห่งปัญญาก็เหมือนกัน.
               ในบทมีอาทิว่า มหนฺเต อตฺเถ ปริคฺคณฺหาติ ย่อมกำหนดอรรถใหญ่มีความดังต่อไปนี้.
               พระอริยสาวกผู้บรรลุปฏิสัมภิทาย่อมกำหนดอรรถเป็นต้นด้วยทำให้เป็นอารมณ์.
               มหาปัญญาแม้ทั้งหมดก็เป็นของพระอริยสาวกทั้งหลายนั่นแหละ.
               อนึ่ง มหาปัญญาเป็นวิสัยแห่งปัญญานั้นมีความดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               นานาศัพท์ในบทมีอาทิว่า ปุถุนานาขนฺเธสุ ในขันธ์ต่างๆ มากเป็นคำกล่าวถึงอรรถแห่งปุถุศัพท์.
               บทว่า ญาณํ ปวตฺตตีติ ปุถุปญฺญา ชื่อว่าปุถุปัญญา เพราะญาณเป็นไป.
               ความว่า ญาณนั้นชื่อว่า ปุถุปญฺญา เพราะญาณเป็นไปในขันธ์เป็นต้นตามที่กล่าวแล้วนั่น.
               บทว่า นานาปฏิจฺจสมุปฺปาเทสุ ในปฏิจจสมุปบาทต่างๆ ท่านกล่าวเพราะเป็นปัจจัยมากด้วยอำนาจแห่งธรรมอาศัยกันเกิดขึ้น.
               บทว่า นานาสุญฺญตมนุปลพฺเภสุ ในความได้เนืองๆ ซึ่งความสูญต่างๆ คือการเข้าไปได้ชื่อว่าอุปลัพภะ. อธิบายว่า การถือเอา.
               การไม่เข้าไปได้ชื่อว่าอนุปลัพภะ เพราะการไม่เข้าไปได้ คำมากชื่อว่า อนุปลัพภา เป็นพหุวจนะ.
               อีกอย่างหนึ่ง การไม่เข้าไปได้ซึ่งตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนในความสูญต่างๆ ด้วยสุญญตา ๒๕ ชื่อว่านานาสุญตานุปลัพภา. ในนานาสุญญตานุปลัพภานั้น.
               เมื่อควรจะกล่าวว่า นานาสุญฺญตมนุปลพฺเภสุ ท่านกล่าว อักษรด้วยบทสนธิดุจในบทว่า อทุกขมสุขา ไม่ทุกข์ไม่สุข.๓-
____________________________
๓- อภิ. สงฺ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑

               ปัญญา ๕ อย่างเหล่านี้ทั่วไป ด้วยกัลยาณปุถุชน ปัญญาในบทมีอาทิว่า นานาอตฺถา มีอรรถต่างๆ ของพระอริยเจ้าเท่านั้น.
               บทว่า ปุถุชฺชนสาธารเณ ธมฺเม ในธรรมทั่วไปแก่ปุถุชน คือโลกิยธรรม.
               อิมินา อวสานปริยาเยน โลกิยโต ปุถุภูตนิพฺพานารมฺมณตฺตา ปุถุภูตา วิสุํภูตา ปญฺญาติ ปุถุปญฺญา นามาติ วุตฺตํ โหติ ฯ
               ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปุถุปัญญา เพราะปัญญาหนา ปัญญาแผนกหนึ่ง เพราะมีนิพพานอันเป็นของใหญ่เป็นอารมณ์จากโลกิยะโดยปริยายในที่สุดนี้.
               บทว่า วิปุลปญฺญา พึงทราบความนัยแห่งมหาปัญญา.
               เมื่อกำหนดธรรมตามที่กล่าวแล้ว พึงทราบความไพบูลย์ของปัญญากำหนดธรรมเหล่านั้นเพราะมีคุณใหญ่และปัญญากำหนดธรรมเหล่านั้นเพราะความใหญ่ และกำหนดธรรม เพราะความใหญ่ เพราะความยิ่งใหญ่ด้วยตนเองเท่านั้น.
               คัมภีร์ปัญญาพึงทราบโดยนัยแห่งปุถุปัญญา.
               ธรรมเหล่านั้นอันไม่พึงได้ และปัญญานั้นชื่อว่าคัมภีรา เพราะปกติชนไม่พึงได้.
               บทว่า ยสฺส ปุคฺคลสฺส คือ แห่งพระอริยบุคคลนั่นแหละ.
               บทว่า อญฺโญ โกจิ ใครอื่น คือปุถุชน.
               บทว่า อภิสมฺภวิตุํ เพื่อครอบงำได้ คือเพื่อถึงพร้อมได้.
               บทว่า อนภิสมฺภวนีโย อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ คืออันใครๆ ไม่สามารถบรรลุได้.
               บทว่า อญฺเญหิ คือ ปุถุชนนั่นแหละ.
               บทว่า อฏฺฐมกสฺส ของบุคคลที่ ๘ คือของท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นบุคคลที่ ๘ นับตั้งแต่ท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตผล.
               บทว่า ทูเร คือ ในที่ไกล.
               บทว่า วิทูเร คือ ไกลเป็นพิเศษ. บทว่า สุวิทูเร คือ ไกลแสนไกล.
               บทว่า น สนฺติเก คือ ไม่ใกล้. บทว่า น สามนฺตา คือ ในส่วนไม่ใกล้.
               คำประกอบคำปฏิเสธทั้งสองนี้ กำหนดถึงความไกลนั่นเอง.
               บทว่า อุปาทาย คือ อาศัย.
               บทว่า โสตาปนฺนสฺส คือ ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ด้วยบทนี้ ท่านกล่าวว่า มรรคปัญญานั้นๆ ห่างไกลจากผลปัญญานั้นๆ.
               บทว่า ปจฺเจกฺสมฺพุทฺโธ แปลกกันด้วยอุปสรรค.
               ทั้งสองบทนี้บริสุทธิ์เหมือนกัน.
               พระสารีบุตรเถระครั้นกล่าวคำมีอาทิว่า ปัญญาของพระปัจเจกพุทธเจ้าและชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกห่างไกลจากปัญญาของพระตถาคต แล้วประสงค์จะแสดงปัญญาอันตั้งอยู่ไกลนั้นโดยประการไม่น้อย จึงกล่าวบทมีอาทิว่า ปญฺญาปเภทกุสโล พระตถาคตทรงเป็นผู้ฉลาดในประเภทแห่งปัญญาดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺญาปเภทกุสโล คือ ทรงฉลาดในประเทศแห่งปัญญาอันมีกำหนดมากมายของพระองค์.
               บทว่า ปภินฺนญาโณ ทรงมีญาณแตกฉาน คือมีพระญาณถึงประเภทหาที่สุดมิได้.
               ด้วยบทนี้ แม้เมื่อมีความฉลาดในประเภทแห่งปัญญา พระสารีบุตรเถระก็แสดงความที่ปัญญาเหล่านั้นมีประเภทหาที่สุดมิได้.
               บทว่า อธิคตปฏิสมฺภิโท ทรงบรรลุปฏิสัมภิทา คือทรงได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อันเลิศ.
               บทว่า จตุเวสารชฺชฺปปตฺโต ทรงถึงเวสารัชชญาณ ๔ คือทรงถึงญาณกล่าวคือความกล้าหาญ ๔.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่พิจารณานิมิตนั้นว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ธรรมเหล่านั้น สมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกนี้จักท้วงเราในข้อนั้นพร้อมกับธรรมว่า ธรรมเหล่านี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมิได้ตรัสรู้แล้ว.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรามิได้พิจารณาถึงนิมิตนั้นเป็นผู้ถึงความเกษม ถึงความไม่มีภัย ถึงความกล้าหาญอยู่.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่พิจารณาเห็นนิมิตนั้นว่า เมื่อพระขีณาสพรู้ธรรมเหล่านั้น สมณะ พราหมณ์ ฯลฯ หรือใครๆ ในโลก จักท้วงเราในข้อนั้นพร้อมกับธรรมว่า อาสวะเหล่านี้ยังไม่สิ้นไป เมื่อพระขีณาสพเสพอันตรายิกธรรมที่กล่าวก็ไม่ควรเพื่อเป็นอันตรายได้.
               อนึ่ง ธรรมที่ท่านแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่บุคคลใด ธรรมนั้นย่อมไม่นำออก เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้กระทำนั้นเลย.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เห็นนิมิตนั้น ฯลฯ อยู่.๔-
____________________________
๔- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๘

               บทว่า ทสพลธารี ทรงพละ ๑๐.
               ชื่อว่า ทสพลา เพราะมีพละ ๑๐. พละของท่านผู้มีพละ ๑๐ ชื่อว่า ทสพลพลานิ. ชื่อว่า ทสพลพลธารี เพราะทรงพละของผู้มีพละ ๑๐. อธิบายว่า ทรงกำลังทศพลญาณ.
               พด้วยคำทั้ง ๓ เหล่านี้ ท่านแสดงเพียงหัวข้อประเภทของเวไนยสัตว์อันมีประเภทมากมาย.
               พระตถาคตทรงเป็นบุรุษองอาจด้วยได้สมมติ เป็นมงคลยิ่ง โดยประกอบด้วยปัญญา ทรงเป็นบุรุษสีหะด้วยอรรถว่าความไม่หวาดสะดุ้ง ทรงเป็นบุรุษนาคด้วยอรรถว่าเป็นใหญ่ ทรงเป็นบุรุษอาชาไนยด้วยอรรถว่าเป็นผู้รู้ทั่ว ทรงเป็นบุรุษนำธุระไปด้วยอรรถว่านำกิจธุระของโลกไป.
               ครั้นนั้น พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงคุณวิเศษที่ได้จากอนันตญาณมีเดชเป็นต้น เพื่อจะแสดงความที่เดชเป็นต้นเหล่านั้นเป็นรากของอนันตญาณจึงกล่าว อนนฺตญาโณ ทรงมีพระญาณหาที่สุดมิได้ แล้วกล่าวบทมีอาทิว่า อนนฺตเตโช ทรงมีเดชหาที่สุดมิได้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนนฺตญาโณ คือ ทรงมีญาณปราศจากที่สุดด้วยการคำนวณและด้วยความเป็นผู้มีอำนาจ.
               บทว่า อนนฺตเตโช คือ ทรงมีเดชถือพระญาณหาที่สุดมิได้ ด้วยการกำจัดมืดคือโมหะในสันดานของเวไนยสัตว์.
               บทว่า อนนฺตยโส ทรงมีพระยศหาที่สุดมิได้ คือทรงมีการประกาศเกียรติคุณหาที่สุดมิได้ แผ่ไป ๓ โลกด้วยพระปัญญาคุณ.
               บทว่า อฑฺโฆ ทรงเป็นผู้มั่งคั่ง คือทรงเพียบพร้อมด้วยทรัพย์ คือปัญญา.
               บทว่า มหทฺธโน ทรงมีทรัพย์มาก ชื่อว่า มหทฺธโน เพราะมีทรัพย์ คือปัญญามากโดยความเป็นผู้มากด้วยอำนาจ แม้ในเพราะความเป็นผู้เจริญด้วยทรัพย์คือปัญญา.
               บทว่า ธนวา ทรงมีอริยทรัพย์ ชื่อว่า ธนวา เพราะมีทรัพย์ คือปัญญาอันควรสรรเสริญ เพราะมีทรัพย์คือปัญญาอันประกอบอยู่เป็นนิจ เพราะมีทรัพย์คือปัญญาอันเป็นความยอดเยี่ยม.
               ในอรรถทั้ง ๓ เหล่านี้ ผู้รู้ศัพท์ทั้งหลายย่อมปรารถนาคำนี้.
               พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงความสำเร็จในอัตสมบัติของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระปัญญาคุณอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความสำเร็จสมบัติอันเป็นประโยชน์แก่โลกด้วยพระปัญญาคุณอีก จึงกล่าวบทมีอาทิว่า เนตา ทรงเป็นผู้นำ.
               พึงทราบความในบทเหล่านั้นดังต่อไปนี้.
               ทรงเป็นผู้นำเวไนยสัตว์ทั้งหลายไปสู่ฐานะอันเกษมคือนิพพาน จากฐานะอันน่ากลัวคือสงสาร ทรงเป็นผู้นำไปให้วิเศษซึ่งเวไนยสัตว์ทั้งหลายด้วยสังวรวินัยและปหานวินัย.
               ในเวลาทรงแนะนำ ทรงนำไปเนืองๆ ด้วยการตัดความสงสัยในขณะทรงแสดงธรรม ทรงตัดความสงสัยแล้วทรงบัญญัติอรรถที่ควรให้รู้ ทรงพินิจด้วยทำการตัดสินข้อที่บัญญัติไว้อย่างนั้น ทรงเพ่งอรรถที่ทรงพินิจแล้วอย่างนั้นด้วยการประกอบในการปฏิบัติ ทรงให้หมู่สัตว์ผู้ปฏิบัติแล้วอย่างนั้นเลื่อมใสด้วยผลของการปฏิบัติ.
               หิ อักษรในบทนี้ว่า โส หิ ภควา เป็นนิบาตลงในการแสดงอ้างถึงเหตุแห่งอรรถที่กล่าวไว้แล้วในลำดับ.
               บทว่า อนุปฺปนฺนสฺส มคฺคสฺส อุปฺปาเทตา ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น คือยังอริยมรรคอันเป็นเหตุแห่งอสาธารณญาณ ๖ ซึ่งยังไม่เคยเกิดในสันดานของตน ให้เกิดขึ้นในสันดานของตน เพื่อประโยชน์แก่โลก ณ โคนต้นโพธิ.
               บทว่า อสญฺชาตสฺส มคฺคสฺส สญฺชาเนตา ทรงยังมรรคที่ยังไม่เกิดพร้อมให้เกิดพร้อม คือยังอริยมรรคอันเป็นเหตุแห่งสาวกปารมิญาณที่ยังไม่เคยเกิดพร้อมในสันดานของเวไนยสัตว์ให้เกิดพร้อมในสันดานของเวไนยสัตว์ ตั้งแต่ทรงประกาศพระธรรมจักรจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อว่าสัญชาเนตา เพราะทรงยังอริยมรรคให้เกิดพร้อมในสันดานของเวไนยผู้เป็นสาวกด้วยพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นั่นแหละ.
               บทว่า อนกฺขาตสฺส มคฺคสฺส อกฺขาตา ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก คือทรงให้คำพยากรณ์เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการแล้วทรงบอกมรรค คือความเป็นบารมีที่ยังไม่เคยบอก หรืออริยมรรคที่ควรให้เกิดขึ้น ณ โคนต้นโพธิโดยเพียงพยากรณ์ว่า จักเป็นพระพุทธเจ้า.
               นัยนี้ย่อมได้แม้ในการพยากรณ์พระปัจเจกโพธสัตว์เหมือนกัน.
               บทว่า มคฺคญฺญู ทรงรู้จักมรรค คือทรงรู้อริยมรรคอันตนให้เกิดขึ้นด้วยการพิจารณา.
               บทว่า มคฺควิทู ทรงทราบมรรค คือทรงฉลาดอริยมรรคอันพึงให้เกิดขึ้นในสันดานของเวไนยสัตว์.
               บทว่า มคฺคโกวิโท ทรงฉลาดในมรรค คือทรงเห็นแจ้งมรรคที่ควรบอกแก่พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงรู้มรรคอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่ออภิสัมโพธิ ทรงทราบมรรคอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อปัจเจกโพธิ ทรงฉลาดในมรรคอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อสาวกโพธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์ทั้งหลายย่อมทำการประกอบอรรถตามลำดับด้วยอำนาจแห่งมรรคของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกในอดีต อนาคตและปัจจุบันด้วยอำนาจแห่งอัปณิหิตมรรคอันมีสุญญตะเป็นนิมิต และด้วยอำนาจแห่งมรรคของอุคฆฏิตัญญูบุคคล วิปจิตัญญูบุคคล และไนยบุคคลตามควร เพราะบาลีว่า๕- ด้วยมรรคนี้ สาวกทั้งหลายข้ามแล้วในก่อน จักข้าม ย่อมข้ามซึ่งโอฆะดังนี้.
____________________________
๕- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๗๕๗

               บทว่า มคฺคานุคามี จ ปน ก็และพระสาวกเป็นผู้ดำเนินไปตามมรรค คือเป็นผู้ดำเนินไปตามมรรคที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำเนินไปแล้ว.
                ศัพท์ในบทนี้เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งเหตุ. ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุแห่งการบรรลุคุรมียังมรรคให้เกิดเป็นต้น.
               ปน ศัพท์เป็นนิบาตลงในอรรถว่าทำแล้ว. ด้วยบทนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุแห่งมรรคที่ทำแล้ว.
               บทว่า ปจฺฉา สมนฺนาคตา พระสาวกที่จะมาภายหลัง คือเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วก่อน พระสาวกประกอบด้วยคุณมีศีลอันมาภายหลังเป็นต้น.
               ด้วยเหตุดังนี้ เพราะคุณมีศีลเป็นต้น แม้ทั้งหมดของพระผู้มีพระภาคเจ้าอาศัยอรหัตมรรคนั่นแหละมาแล้วด้วยบทมีอาทิว่า ด้วยยังมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นดังนี้ ฉะนั้น พระเถระกล่าวถึงคุณเพราะอาศัยอรหัตมรรคนั่นแหละ.
               บทว่า ชานํ ชานาติ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงทราบ ก็ย่อมทรงทราบคือย่อมทรงทราบสิ่งที่ควรทรงทราบ.
               อธิบายว่า ธรรมดาสิ่งที่ควรทราบด้วยปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อพระสัพพัญญุตญาณยังมีอยู่ ย่อมทรงทราบสิ่งที่ควรทราบทั้งหมดนั้นอันเป็นทางแห่งข้อควรแนะนำ ๕ ประการด้วยปัญญา.
               บทว่า ปสฺสํ ปสฺสติ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงเห็นก็ย่อมทรงเห็น คือทรงเห็นสิ่งที่ควรเห็น.
               อธิบายว่า ทรงกระทำทางอันควรแนะนำนั้นแหละ ดุจเห็นด้วยจักษุเพราะเห็นทั้งหมด.
               ชื่อว่าย่อมเห็นด้วยปัญญาจักษุ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้เป็นเหมือนคนบางพวกแม้ถือเอาสิ่งวิปริตรู้อยู่ ก็ย่อมไม่รู้ แม้เห็นก็ย่อมไม่เห็น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือตามสภาพที่เป็นจริง ทรงทราบก็ย่อมทรงทราบ ทรงเห็นก็ย่อมทรงเห็น. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นชื่อว่าทรงมีจักษุ เพราะอรรถว่าทรงเป็นผู้นำในการเห็น. ชื่อว่าทรงมีญาณ เพราะอรรถว่ามีความเป็นผู้ทรงรู้แจ้งเป็นต้น. ชื่อว่าทรงมีธรรม เพราะอรรถว่ามีสภาพไม่วิปริต หรือสำเร็จด้วยธรรมที่พระองค์ทรงคิดด้วยพระทัย แล้วทรงเปล่งด้วยพระวาจา เพราะทรงชำนาญทางปริยัติธรรม. ชื่อว่าทรงมีพรหม เพราะอรรถว่าทรงเป็นผู้ประเสริฐที่สุด.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทรงมีจักษุ เพราะทรงเป็นดุจจักษุ. ชื่อว่าทรงมีญาณ เพราะทรงเป็นดุจญาณ. ชื่อว่าทรงมีธรรม เพราะทรงเป็นดุจธรรม. ชื่อว่าทรงมีพรหม เพราะทรงเป็นดุจพรหม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสบอก เพราะตรัสบอกพระธรรมหรือเพราะยังพระธรรมให้เป็นไป. ตรัสบอกทั่ว เพราะตรัสบอกโดยประการต่างๆ หรือให้เป็นไปโดยประการต่างๆ. ทรงนำอรรถออก เพราะทรงนำอรรถออกแล้วจึงทรงแนะนำ. ทรงประทานอมตธรรม เพราะทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุอมตธรรม หรือเพราะทรงให้บรรลุอมตธรรมด้วยการแสดงธรรมประกาศอมตธรรม. ทรงเป็นธรรมสามี เพราะทรงให้เกิดโลกุตรธรรมด้วยการประทานโลกุตรธรรมตามความสุขโดยสมควรแก่เวไนยสัตว์ และทรงเป็นอิสระในธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ตถาคต มีอรรถดังได้กล่าวแล้วในหนหลัง.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๑. มหาปัญญากถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 633อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 659อ่านอรรถกถา 31 / 679อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=9683&Z=10089
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6492
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6492
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :