ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 633อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 659อ่านอรรถกถา 31 / 679อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๑. มหาปัญญากถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงคุณดังที่กล่าวแล้วด้วยบทมีอาทิว่า ชานํ ชานาติ เมื่อทรงทราบก็ย่อมทรงถวายให้วิเศษยิ่งขึ้น เพราะพระสัพพัญญุตญาณ เมื่อจะยังพระสัพพัญญุตญาณให้สำเร็จจึงกล่าวบทมีอาทิว่า นตฺถิ มิได้มี ดังนี้.
               ชื่อว่าบทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นผู้ทรงเป็นอย่างนั้น มิได้ทำให้แจ้งมิได้มี เพราะกำจัดความหลงพร้อมด้วยวาสนาในธรรมทั้งปวงด้วยอรหัตมรรคญาณอันสำเร็จด้วยอำนาจกำลังบุญที่ทรงบำเพ็ญมาแล้ว.
               ชื่อว่าบทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบมิได้มี เพราะทรงทราบธรรมทั้งปวงโดยความไม่หลง.
               ชื่อว่าบทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงเห็นมิได้มี เพราะธรรมทั้งปวงพระองค์ทรงเห็นด้วยญาณจักษุ ดุจด้วยจักษุ.
               อนึ่ง ชื่อว่าบทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทราบมิได้มี เพราะพระองค์ทรงบรรลุแล้วด้วยญาณ.
               ชื่อว่าบทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงทำให้แจ้งมิได้มี เพราะพระองค์ทรงทำให้แจ้ง ด้วยการทำให้แจ้ง ด้วยการไม่หลง.
               ชื่อว่าบทธรรมที่พระองค์ไม่ทรงถูกต้องด้วยปัญญามิได้มี เพราะพระองค์ทรงถูกต้องด้วยปัญญาอันไม่หลง.
               บทว่า ปจฺจุปปนฺนํ ได้แก่กาลหรือธรรมเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า อุปาทาย คือ ถือเองแล้ว. ความว่า ทำไว้ในภายใน แม้นิพพานพ้นกาลไปแล้ว ท่านก็ถือเอาด้วยคำว่า อุปาทาย นั่นแหละ.
               อนึ่ง คำมี อตีต ล่วงไปแล้วเป็นต้นย่อมสืบเนื่องกับคำมีอาทิ นตฺถิ หรือกับคำมีอาทิว่า สพฺเพ.
               บทว่า สพฺเพ ธมฺมา ธรรมทั้งหลายทั้งปวง รวมสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งหมด.
               บทว่า สพฺพากาเรน โดยอาการทั้งปวง คือรวมอาการทั้งปวงมีอาการไม่เที่ยงเป็นต้นแห่งธรรมอย่างหนึ่งๆ ในบรรดาธรรมทั้งหมด.
               บทว่า ญาณมุเข ในมุข คือพระญาณ ได้แก่ในเฉพาะหน้าคือพระญาณ.
               บทว่า อาปถํ อาคจฺฉติ ย่อมมาสู่คลอง คือย่อมถึงการรวมกัน.
               บทว่า ชานิตพฺพํ ควรรู้ท่านกล่าวเพื่อขยายความแห่งบทว่า เนยฺยํ ควรแนะนำ วา ศัพท์ในบทมีอาทิว่า อตฺตตฺโถ วา และประโยชน์ตนเป็นสมุจจยรรถ (ความรวมกัน).
               บทว่า อตฺตตฺโถ คือประโยชน์ของตน.
               บทว่า ปรตฺโถ ประโยชน์ของผู้อื่นคือประโยชน์ของโลก ๓ อื่น.
               บทว่า อุภยตฺโถ ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ได้แก่ประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่ายคราวเดียวกัน คือของตนและของคนอื่น.
               บทว่า ทิฏฐธมฺมิโก ประโยชน์ภพนี้ คือประโยชน์ประกอบในภพนี้ หรือประโยชน์ปัจจุบัน.
               ประโยชน์ประกอบแล้วในภพหน้า หรือประโยชน์ในสัมปรายภพชื่อว่า สมฺปรายิโก.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า อุตฺตาโน ดังต่อไปนี้
               ประโยชน์ที่พูดใช้โวหารชื่อว่า อุตฺตาโน ประโยชน์ตื้น เพราะเข้าใจง่าย.
               ประโยชน์ที่พูดเกิน โวหารปฏิสังยุตด้วยสุญญตาชื่อว่า คมฺภีโร ประโยชน์ลึก เพราะเข้าใจยาก.
               ประโยชน์อันเป็นโลกุตระชื่อว่า คุฬฺโห ประโยชน์ลับ เพราะพูดภายนอกเกินไป.
               ประโยชน์มีความไม่เที่ยงเป็นต้นชื่อว่า ปฏิจฺฉนฺโน ประโยชน์ปกปิด เพราะปกปิดด้วยฆนะ (ก้อน) เป็นต้น.
               ประโยชน์ที่พูดโดยไม่ใช้โวหารมากชื่อว่า เนยฺโย ประโยชน์ที่ควรนำไป เพราะไม่ถือเอาตามความพอใจ ควรนำไปตามความประสงค์.
               ประโยชน์ที่พูดด้วยใช้โวหารชื่อว่า นีโต ประโยชน์ที่นำไปแล้ว เพราะนำความประสงค์ไปโดยเพียงคำพูด.
               ประโยชน์คือศีล สมาธิและวิปัสสนาอันบริสุทธิ์ด้วยดีชื่อว่า อนวชฺโช ประโยชน์ไม่มีโทษ เพราะปราศจากโทษด้วยตทังคะและวิกขัมภนะ.
               ประโยชน์คืออริยมรรคชื่อว่า นิกฺกิเลโส ประโยชน์ไม่มีกิเลส เพราะตัดกิเลสขาด.
               ประโยชน์คืออริยผลชื่อว่า โวทาโน ประโยชน์ผ่องแผ้ว เพราะกิเลสสงบ.
               นิพพานชิ่อว่า ปรมตฺโถ ประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะนิพพานเป็นธรรมเลิศในสังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า ปริวตฺตติ ย่อมเป็นไป คือแทรกซึมคลุกเคล้าโดยรอบย่อมเป็นไปโดยวิเศษในภายในพุทธญาณ เพราะไม่เป็นภายนอกจากความเป็นวิสัยแห่งพุทธญาณ.
               พระสารีบุตรเถระย่อมแสดงความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จพระญาณด้วยบทมีอาทิ สพฺพํ กายกมฺมํ ตลอดกายกรรมทั้งปวง.
               บทว่า ญาณานุปริวตฺตติ พระญาณย่อมเป็นไปตลอด. ความว่า ไม่ปราศจากพระญาณ.
               บทว่า อปฺปฏิหิตํ มิได้ขัดข้อง ท่านแสดงถึงความที่ไม่มีอะไรกั้นไว้ พระสารีบุตรเถระประสงค์จะยังพระสัพพัญญุตญาณให้สำเร็จด้วยอุปมาจึงกล่าวบทมีอาทิว่า ยาวตกํ เนยยบทมีเท่าใด.
               ในบทเหล่านั้นชื่อว่า เนยฺยํ เพราะควรรู้ ชื่อว่า เนยฺยปริยนฺติกํ เพราะพระญาณมีเนยยบทเป็นที่สุด.
               อนึ่ง ผู้ไม่เป็นสัพพัญญูไม่มีเนยยบทเป็นที่สุด แม้ในเนยยบทมีพระญาณเป็นที่สุดก็ดังนี้เหมือนกัน.
               พระสารีบุตรเถระแสดงความที่ได้กล่าวไว้แล้วในคู่ต้นให้พิเศษไปด้วยคู่นี้ แสดงกำหนดด้วยการปฏิเสธด้วยคู่ที่ ๓.
               อนึ่ง เนยยะในบทนี้ชื่อว่า เนยฺยปถ เพราะเป็นคลองแห่งญาณ.
               บทว่า อญฺญมญฺญํ ปริยนฺตฏฺฐายิโน ธรรมเหล่านั้นตั้งอยู่ในที่สุดรอบของกันและกัน คือมีปกติยังเนยยะและญาณให้สิ้นไปแล้วตั้งอยู่ในที่สุดรอบของกันและกันจากฐานะ.
               บทว่า อาวชฺชนปฏิพทฺธา เนื่องด้วยความทรงคำนึง คือเนื่องด้วยมโนทวาราวัชชนะ. ความว่า ย่อมรู้ลำดับแห่งความคำนึงนั่นเอง.
               บทว่า อากงฺขปฏิพทฺธา เนื่องด้วยทรงพระประสงค์ คือเนื่องด้วยความพอใจ ความว่าย่อมรู้ลำดับแห่งอาวัชชนจิตด้วยชวนญาณ.
               ท่านกล่าวบททั้ง ๒ นอกนี้เพื่อประกาศความตามลำดับบททั้ง ๒ นี้.
               บทว่า พุทฺโธ อาสยํ ชานาติ พระพุทธเจ้าย่อมทรงทราบอัธยาศัยเป็นต้น ท่านพรรณนาไว้ในญารกถาแล้ว แต่มาในมหานิเทศว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงทราบอัธยาศัย. ในบทนั้นมาในอาคตสถานว่า พุทฺธสฺส ภควโต ในที่นี้ในที่บางแห่งว่า๑- พุทธสส.
____________________________
๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๓๒๐

               บทว่า อนตมโส คือ โดยที่สุด.
               ในบทว่า ติมิติมิงฺคลํ นี้ พึงทราบดังต่อไปนี้
               ปลาชนิดหนึ่งชื่อว่าติมิ ปลาชนิดหนึ่งชื่อว่าติมิงคิละ เพราะตัวใหญ่กว่าปลาติมินั้น สามารถกลืนกินปลาติมิได้ ปลาชนิดหนึ่งชื่อติมิติมิคละมีลำตัวประมาณ ๕๐๐ โยชน์ สามารถกลืนกินปลาติมิคละได้.
               ในบทนี้พึงทราบว่าเป็นเอกวจนะด้วยถือเอากำเนิด.
               ในบทว่า ครุฬํ เวนเตยฺยํ ครุฑตระกูลเวนเตยยะนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่า ครุฬ เป็นชื่อโดยกำเนิด ชื่อว่า เวนเตยฺย เป็นชื่อโดยโคตร.
               บทว่า ปเทเส คือ ในเอกเทศ.
               บทว่า สารีปุตฺตสมา มีปัญญาเสมอด้วยพระสารีบุตร พึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงพระเถระผู้เป็นพระธรรมเสนาบดีของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เพราะพระสาวกที่เหลือไม่มีผู้เสมอด้วยพระธรรมเสนาบดีเถระทางปัญญา
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายสาวกของเราผู้มีปัญญามาก.
____________________________
๒- องฺ. เอก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๑๔๖

               อนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า
                         สัตว์ทั้งหลายอื่นใดมีอยู่เว้นพระโลกนาถ สัตว์เหล่านั้น
                         ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งปัญญาของพระสารีบุตร.
               บทว่า ผริตฺวา แผ่ไป คือพุทธญาณบรรลุถึงปัญญาแม้ของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงแล้วแผ่ไปแทรกซึมเข้าไปสู่ปัญญาของเทวดา และมนุษย์เหล่านั้นโดยฐานะแล้วตั้งอยู่.
               บทว่า อติฆํสิตฺวา ขจัดแล้วคือพุทธญาณก้าวล่วงปัญญาแม้ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นแล้วตั้งอยู่.
               ปาฐะในมหานิเทศว่า๓- อภิภวิตฺวา ครอบงำแล้ว คือย่ำยีแล้วด้วยบทว่า เยปิเต เป็นต้น. พระสารีบุตรเถระแผ่ไปขจัดด้วยประการนี้แล้ว แสดงเหตุให้ประจักษ์แห่งฐานะ.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺฑิตา คือ ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
               บทว่า นิปุณา ละเอียด คือมีปัญญาละเอียดสุขุมสามารถแทงตลอดปัญญาสุขุมในระหว่างอรรถได้.
               บทว่า กตปรปฺปวาทา แต่งวาทะโต้ตอบ คือรู้วาทะโต้ตอบและแต่วาทะต่อสู้กับชนเหล่าอื่น.
               บทว่า วาลเวธิรูปา คือ มีปัญญาเปรียบด้วยนายขมังธนูผู้สามารถยิงขนทราย.
               บทว่า เต ภินฺทนฺตา ปญฺญา จรนฺติ ปญฺญาคเตน ทิฏฺฐิคตานิ๓- เที่ยวทำลายปัญญาและทิฏฐิด้วยปัญญา.
               ความว่า เที่ยวไปดุจทำลายทิฏฐิของคนอื่นแม้สุขุมด้วยปัญญาของตนดุจนายขมังธนูยิงขนทรายฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญานั่นแหละคือปัญญาคตะ ทิฏฐินั้นแหละคือทิฏฐิคตะ ดุจในคำว่า คูถคตํ มุคตฺตคตํ๔- คูถ มูตรเป็นต้น.
____________________________
๓- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๓๒๐  ๔- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๑๕

               บทว่า ปญฺหํ อภิสงฺขริตฺวา แต่งปัญหา คือแต่งคำถาม ๒ บทบ้าง ๓ บทบ้าง ๔ บทบ้าง ท่านกล่าว ๒ ครั้งเพื่อสงเคราะห์เข้าด้วยกันเพราะปัญญาเท่านั้นให้มากยิ่งขึ้น.
               บทว่า คุฬฺหานิ จ ปฏิจฺฉนฺนานิ จ ปัญหาทั้งลี้ลับและเปิดเผย มีปาฐะที่เหลือว่า อตฺถชาตานิ เกิดประโยชน์ บัณฑิตทั้งหลายถามปัญหาเพราะบัณฑิตเหล่านั้นเห็นข้อแนะนำอย่างนั้นแล้วอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์อย่างนี้ว่า ขอจงถามปัญหาที่ตนแต่งมา.
               อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงประทานโอกาสเพื่อให้ผู้อื่นถาม ทรงแสดงธรรมแก่ผู้เข้าไปเฝ้าเท่านั้น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๕-
               บัณฑิตเหล่านั้นพากันแต่งปัญหา ด้วยหมายใจว่า จักเข้าไปหาพระสมณโดดมแล้วทูลถามปัญหานี้ หากว่าพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะนี้แก่พระองค์ แม้หากว่าพระสมณโคดมนั้นถูกพวกเราถามแล้วอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้ พวกเราจักยกวาทะนั้นแม้อย่างนี้แก่พระองค์ ดังนี้.
               บัณฑิตเหล่านั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ.
               พระสมณโคดมก็ทรงชี้แจงให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมมีกถา.
               บัณฑิตเหล่านั้นถูกพระสมณโคดมทรงชี้แจงให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ก็ไม่ถามปัญหากะพระสมณโคดมเลย บัณฑิตเหล่านั้นจักยกวาทะแก่พระสมณโคดมที่ไหนได้ ย่อมกลายเป็นสาวกของพระสมณโคดมไปโดยแท้.๕-
____________________________
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๓๓๐

               หากถามว่า เพราะเหตุไร บัณฑิตทั้งหลายจึงไม่ทูลถามปัญหา.
               ตอบว่า นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงธรรมในท่านกลางบริษัท ทรงตรวจดูอัธยาศัยของบริษัท แต่นั้นทรงเห็นว่า บัณฑิตเหล่านี้พากันมาทำปัญหาซ่อนเร้น ลี้ลับ ให้มีสาระเงื่อนงำ ครั้นบัณฑิตเหล่านั้นไม่ทูลถามพระองค์เลย พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า โทษประมาณเท่านี้ในการถามปัญหา ประมาณเท่านี้ในการแก้ปัญหา ประมาณเท่านี้ในอรรถ ในบท ในอักขระดังนี้ เมื่อจะถามปัญหาเหล่านี้พึงถามอย่างนี้ เมื่อจะแก้ปัญหาควรแก้อย่างนี้ ดังนั้น พระองค์จึงทรงใส่ปัญหาที่บัณฑิตเหล่านั้นนำมาทำให้มีสาระซับซ้อน ไว้ในระหว่างธรรมกถาแล้วจึงทรงแสดง.
               บัณฑิตเหล่านั้นย่อมพอใจว่า เราไม่ถามปัญหาเหล่านี้ เป็นความประเสริฐของเรา หากว่าเราพึงถามพระสมณโคดม จะพึงทรงทำให้เราตั้งตัวไม่ติดได้เลย.
               อีกประการหนึ่ง ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเมื่อทรงแสดงธรรม ย่อมทรงแผ่เมตตาไปยังบริษัทด้วยการแผ่เมตตา มหาชนย่อมมีจิตเลื่อมใสในพระทศพล ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีรูปโฉมงดงาม น่าทัศนะ มีพระสุรเสียงไพเราะ มีพระชิวหาอ่อนนุ่ม มีช่องพระทนต์สนิท ทรงกล่าวธรรมดุจรดหทัยด้วยน้ำอมฤต ในการทรงกล่าวธรรมนั้น ผู้มีจิตเลื่อมใสด้วยการทรงแผ่เมตตา ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราไม่สามารถจะจับสิ่งตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงกล่าวกถาไม่มีสอง กถาไม่เป็นโมฆะ กถานำสัตว์ออกไป เห็นปานนี้ได้เลย บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ถามปัญหา เพราะความที่ตนเลื่อมใสนั่นแหละ.
               บทว่า กถิตา วิสชฺชิตา จ ปัญหาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวและทรงแก้แล้ว.
               ความว่า ปัญหาเหล่านั้นเป็นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าว ด้วยการตรัสถึงปัญหาที่บัณฑิตทั้งหลายถามว่า พวกท่านจงถามอย่างนี้ เป็นอันทรงแก้โดยประการที่ควรแก้นั่นเอง.
               บทว่า นิทฺทิฏฺฐิการณา มีเหตุที่ทรงแสดงไขให้เห็นชัด ด้วยการแก้ทำให้มีเหตุอย่างนี้ว่า การแก้ย่อมมีด้วยเหตุการณ์อย่างนี้.
               บทว่า อุปกฺขิตฺตกา จ เต ภควโต สมฺปชฺชนฺติ บัณฑิตเหล่านั้นเข้าไปหมอบเฝ้า ย่อมปรากฏแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ความว่า บัณฑิตเหล่านั้นมีกษัตริย์บัณฑิตเป็นต้น เข้าเฝ้าแทบพระบาท ย่อมปรากฏแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยการแก้ปัญหาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งสาวก ทั้งอุบาสกย่อมปรากฏ.
               อธิบายว่า บัณฑิตเหล่านั้นย่อมถึงสาวกสมบัติ หรืออุบาสกสมบัติ.
               บทว่า อถ เป็นนิบาตลงในอรรถว่าลำดับ. อธิบายว่า ในลำดับพร้อมด้วยสมบัติที่บัณฑิตเหล่านั้นเข้าไปเฝ้า.
               บทว่า ตตฺถ คือ ในที่นั้นหรือในอธิการนั้น.
               บทว่า อภิโรจติ ย่อมรุ่งเรือง คือโชติช่วง สว่างไสวอย่างยิ่ง.
               บทว่า ยทิทํ ปญฺญาย คือ ด้วยปัญญา. ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรุ่งเรือง ด้วยปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               อิติศัพท์ลงในอรรถแห่งเหตุ. ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้เลิศ มีพระปัญญาไม่ใกล้ด้วยเหตุนี้.
               บทว่า ราคํ อภิภุยฺยตีติ ภูริปญฺญา ชื่อว่า ภูริปญฺญา มีปัญญาดังแผ่นดิน เพราะอรรถว่าครอบงำราคะ. ความว่า ชื่อว่า ภูริปญฺญา เพราะมรรคปัญญานั้นๆ ครอบงำ ย่ำยี ราคะอันเป็นโทษกับตน.
               บทว่า ภูริ มีอรรถว่าฉลาด เฉียบแหลม ความฉลาดย่อมครอบงำสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ความไม่ฉลาดครอบงำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอรรถแห่งความครอบงำด้วยภูริปัญญา.
               บทว่า อภิภวิตา ครอบงำอยู่ คือ ผลปัญญานั้นๆ ครอบงำ ย่ำยีราคะนั้นๆ. ปาฐะว่า อภิภวิตา บ้าง.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทมีราคะเป็นต้น พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               ราคะมีลักษณะกำหนัด. โทสะมีลักษณะประทุษร้าย. โมหะมีลักษณะหลง.
               โกธะมีลักษณะโกรธ. อุปนาหะมีลักษณะผูกโกรธไว้. โกธะเกิดก่อน อุปนาหะเกิดภายหลัง.
               มักขะมีลักษณะลบหลู่คุณผู้อื่น. ปลาสะมีลักษณะตีเสมอ.
               อิสสามีลักษณะทำสมบัติผู้อื่นให้สิ้นไป. มัจฉริยะมีลักษณะหลงสมบัติของตน.
               มายามีลักษณะปกปิดความชั่วที่ตนทำ. สาเฐยยะมีลักษณะประกาศคุณอันไม่มีอยู่ของตน.
               ถัมภะมีลักษณะจิตกระด้าง. สารัมภะมีลักษณการทำเกินกว่าการทำ.
               มานะมีลักษณะถือตัว. อติมานะมีลักษณะถือตัวยิ่ง.
               มทะมีลักษณะมัวเมา. ปมาทะมีลักษณะปล่อยจิตในกามคุณ ๕.
               ด้วยบทว่า ราโค อริ ตํ อรึ มทฺทนิปญฺญา เป็นปัญญาย่ำยีราคะอันเป็นข้าศึกเป็นต้น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร
               กิเลสมีราคะเป็นต้น ชื่อว่า ภูอริ เพราะอรรถว่าเป็นข้าศึกในจิตสันดาน. ท่านกล่าวว่า ภูริ เพราะลบ อักษรด้วยบทสนธิ.
               พึงทราบว่าเมื่อควรจะกล่าวว่า ปัญญาย่ำยี ภูรินั้นชื่อว่า ภูริมทฺทนิปญฺญา ท่านกล่าวว่า ภูริปญฺญา เพราะลบ มทฺทนิศัพท์เสีย.
               อนึ่ง บทว่า ตํ อรึ มทฺทนี ท่านกำหนดบทว่า เตสํ อรีนํ มทฺทนี การย่ำยีข้าศึกเหล่านั้น.
               บทว่า ปฐวีสมาย เสมอด้วยแผ่นดิน คือ ชื่อว่าเสมอด้วยแผ่นดิน เพราะอรรถว่ากว้างขวางไพบูลย์นั่นเอง.
               บทว่า วิตฺถตาย กว้างขวาง คือแผ่ไปในวิสัยที่ควรรู้ได้ ไม่เป็นไปในเอกเทศ.
               บทว่า วิปุลาย ไพบูลย์ คือโอฬาร. แต่มาในมหานิเทศว่า๖- วิปุลาย วิตฺถตาย ไพบูลย์ กว้างขวาง.
____________________________
๖- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๑๓๒

               บทว่า สมนฺนาคโต คือบุคคลผู้ประกอบแล้ว.
               อิติศัพท์ลงในอรรถว่าเหตุ. ความว่า ด้วยเหตุนี้ปัญญาของบุคคลนั้น ชื่อว่าภูริปัญญา เพราะบุคคลเป็นผู้ประกอบด้วยภูริปัญญา เพราะเหตุนั้น บุคคลย่อมยินดีในอรรถที่เจริญแล้ว เมื่อควรจะกล่าวว่า ภูริปญฺญสฺส ปญฺญา ภูริปญฺญปญฺญา ปัญญาของบุคคลผู้ประกอบด้วยภูริปัญญา ชื่อว่าภูริปัญญปัญญา ท่านกล่าว ภูริปญฺญา เพราะลบ ปญฺญาศัพท์เสียศัพท์หนึ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ภูริปญฺญา เพราะมีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน.
               บทว่า อปิจ ท่านกล่าวเพื่อให้เห็นปริยายอย่างอื่น.
               บทว่า ปญฺญายเมตํ คือ คำว่า ภูริ นี้ เป็นชื่อของปัญญา.
               บทว่า อธิวจนํ เป็นคำกล่าวยิ่งนัก.
               บทว่า ภูริ ชื่อว่าภูริ เพราะอรรถว่าย่อมยินดีในอรรถที่เจริญแล้ว.
               บทว่า เมธา ปัญญาชื่อว่าเมธา เพราะอรรถว่ากำจัดทำลายกิเลสทั้งหลาย ดุจสายฟ้าทำลายสิ่งที่ก่อด้วยหินฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเมธา เพราะอรรถว่าถือเอาทรงไว้เร็วพลัน.
               บทว่า ปริณายกา ปัญญาเป็นปริณายก.
               ชื่อว่าปริณายิกา เพราะอรรถว่าปัญญาย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์ใด ย่อมนำสัตว์นั้นไปในธรรมอันสัมปยุต ในการปฏิบัติประโยชน์และในปฏิเวธอันมีลักษณะแน่นอน ด้วยบทเหล่านี้เป็นอันท่านกล่าวถึงคำอันเป็นปริยายแห่งปัญญาแม้อย่างอื่นด้วย.
               บทว่า ปญฺญาพาหุลฺลํ ความเป็นผู้มีปัญญามาก ชื่อว่า ปญฺญาพหุโล เพราะมีปัญญามาก ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีปัญญามากนั้น ชื่อว่าปัญญาพาหุลละ ปัญญานั่นแหละเป็นไปมาก.
               ในบทมีอาทิว่า อิเธกจฺโจ บุคคลบางคนในโลกนี้ ได้แก่กัลยาณปุถุชน หรืออริยบุคคล.
               ชื่อว่า ปญฺญาครุโก เพราะเป็นผู้มีปัญญาหนัก.
               ชื่อว่า ปญฺญาจริโต เพราะเป็นผู้มีปัญญาเป็นจริต.
               ชื่อว่า ปญฺญาสโย เพราะมีปัญญาเป็นที่อาศัย.
               ชื่อว่า ปญฺญาธิมุตฺโต เพราะน้อมใจเชื่อด้วยปัญญา.
               ชื่อว่า ปญฺญาธโช เพราะมีปัญญาเป็นธงชัย.
               ชื่อว่า ปญฺญาเกตุ เพราะมีปัญญาเป็นยอด.
               ชื่อว่า ปญฺญาธิปติ เพราะมีปัญญาเป็นใหญ่.
               ชื่อว่า ปญฺญาธิปเตยฺโย เพราะมาจากความเป็นผู้มีปัญญาเป็นใหญ่.
               ชื่อว่า วิจยพหุโล เพราะมีการเลือกเฟ้นสภาวธรรมมาก.
               ชื่อว่า ปวิจยพหุโล เพราะมีการค้นคว้าสภาวธรรมโดยประการต่างๆ มาก.
               การหยั่งลงด้วยปัญญาแล้ว ปรากฏธรรมนั้นๆ คือทำให้แจ่มแจ้ง ชื่อว่าโอกขายนะ. ชื่อว่า โอกฺขายนพหุโล เพราะมีการพิจารณามาก.
               การเพ่งพิจารณาธรรมนั้นๆ ด้วยปัญญาโดยชอบ ชื่อว่า สมฺเปกฺขา. การดำเนินไป การเป็นไปด้วยการเพ่งพิจารณาโดยชอบ ชื่อว่า สมฺเปกฺขายนํ.
               ชื่อว่า สมฺเปกฺขายนธมฺโม เพราะมีการเพ่งพิจารณาโดยชอบเป็นธรรม เป็นปกติ.
               ชื่อว่า วิภูตวิหารี เพราะทำธรรมนั้นให้แจ่มแจ้ง ให้ปรากฏอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า วิภูตวิหารี เพราะมีธรรมเป็นเครื่องอยู่แจ่มแจ้ง.
               ชื่อว่า ตจฺจริโต เพราะมีปัญญาเป็นจริต.
               ชื่อว่า ตคฺครุโก เพราะมีปัญญาหนัก.
               ชื่อว่า ตพฺพหุโล เพราะมีปัญญามาก.
               โน้มไปในปัญญานั้น ชื่อว่า ตนฺนินโน. น้อมไปในปัญญานั้น ชื่อว่า ตปฺโปโณ. เงื้อมไปในปัญญานั้น ชื่อว่า ตปฺปพฺภาโร. น้อมจิตไปในปัญญานั้น ชื่อว่า ตทฺธิมุตฺโต. ปัญญานั้นเป็นใหญ่ ชื่อว่า ตทธิปติ. ผู้มาจากปัญญาเป็นใหญ่นั้น ชื่อว่า ตทธปเตยฺโย.
               บทมีอาทิว่า ปญฺญาครุโก มีปัญญาหนัก ท่านกล่าวจำเดิมแต่เกิดในชาติก่อน ดุจในประโยคมีอาทิว่า บุคคลนี้เป็นผู้หนักในกาม ย่อมรู้การเสพกาม.๗-
____________________________
๗- ขุ. ปฎิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๒๗๙

               บทมีอาทิว่า ตจฺจริโต ท่านกล่าวถึงในชาตินี้.
               สีฆปัญญา (ปัญญาเร็ว) ลหุปัญญา (ปัญญาเบา) หาสปัญญา (ปัญญาร่าเริง) และชวนปัญญา (ปัญญาแล่น) เป็นปัญญาเจือด้วยโลกิยะและโลกุตระ.
               ชื่อว่า สีฆปญฺญา ด้วยอรรถว่าเร็ว. ชื่อว่า ลหุปญฺญา ด้วยอรรถว่าเบา. ชื่อว่า หาสปญฺญา ด้วยอรรถว่าร่าเริง. ชื่อว่า ชวนปญฺญา ด้วยอรรถว่าแล่นไปในสังขารเข้าถึงวิปัสสนาและในวิสังขาร.
               บทว่า สีฆํ สีฆํ พลันๆ ท่านกล่าว ๒ ครั้ง เพื่อสงเคราะห์ศีลเป็นต้นมาก.
               บทว่า สีลานิ คือ ปาติโมกขสังวรศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ ด้วยสามารถแห่งจาริตศีลและวาริตศีล.
               บทว่า อินฺทฺริยสํวรํ อินทริยสังวร คือการไม่ทำให้ราคะปฏิฆะเข้าไปสู่อินทรีย์ ๖ มีจักขุนทรีย์เป็นต้นแล้ว ปิดกั้นด้วยหน้าต่างคือสติ.
               บทว่า โภชเน มตฺตญฺญุตํ คือความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคด้วยพิจารณาแล้วจึงบริโภค.
               บทว่า ชาคริยานุโยคํ ประกอบความเพียรด้วยความเป็นผู้ตื่นอยู่ คือชื่อว่า ชาคโร เป็นผู้ตื่น เพราะใน ๓ ส่วนของวันย่อมตื่น คือไม่หลับในส่วนปฐมยามและมัชฌิมยามของราตรี บำเพ็ญสมณธรรมอย่างเดียว.
               ความเป็นผู้ตื่น กรรมคือความเป็นผู้ตื่น การประกอบเนืองๆ ของความเป็นผู้ตื่น ชื่อว่าชาคริยานุโยค ยังชาคริยานุโยตนั้นให้บริบูรณ์.
               บทว่า สีลกฺขนฺธํ คือ ศีลขันธ์อันเป็นของพระเสขะหรือพระอเสขะ.
               ขันธ์แม้นอกนี้ก็พึงทราบอย่างนี้.
               บทว่า ปญฺญาขนฺธํ คือ มรรคปัญญาและโลกิยปัญญาของพระเสขะและพระอเสขะ.
               บทว่า วิมุตฺติขนฺธํ คือ ผลวิมุตติ.
               บทว่า วิมุตฺติญาณทสฺสนกฺขนฺธํ คือ ปัจจเวกขณญาณ.
               บทว่า หาสพหุโล เป็นผู้มีความร่าเริง เป็นมูลบท.
               บทว่า เวทพหุโล เป็นผู้มีความพอใจมาก เป็นบทชี้แจงด้วยการเสวยโสมนัสเวทนาอันสัมปยุตด้วยปีตินั่นแหละ.
               บทว่า ตุฏฺฐิพหุโล เป็นผู้มีความยินดีมาก เป็นบทชี้แจงด้วยอาการยินดีแห่งปีติมีกำลังไม่มากนัก.
               บทว่า ปามุชฺชพหุโล เป็นผู้มีความปราโมทย์มาก เป็นบทชี้แจงด้วยความปราโมทย์แห่งปีติมีกำลัง.
               บทว่า ยงฺกิญฺจิ รูปํ เป็นอาทิมีความดังได้กล่าวแล้วในสัมมสนญาณนิเทศ.
               บทว่า ตุลยิตฺวา คือ เทียบเคียงด้วยกลาปสัมมสนะ (การพิจารณาเป็นกลุ่มเป็นกอง).
               บทว่า ตีรยิตฺวา คือ พินิจด้วยอุทยัพพยานุปัสสนา.
               บทว่า วิภาวยิตฺวา พิจารณา คือทำให้ปรากฏด้วยภังคานุปัสสนาเป็นต้น.
               บทว่า วิภูตํ กตฺวา ทำให้แจ่งแจ้ง คือทำให้ฉลาดด้วยสังขารุเบกขาญาณ.
               ติกขปัญญา (ปัญญาคมกล้า) เป็นโลกุตระทีเดียว.
               บทว่า อุปฺปนฺนํ เกิดขึ้นแล้ว คือวิตกแม้ละได้แล้วด้วยสมถวิปัสสนา ด้วยวิกขัมภนะและตทังคะ ท่านก็กล่าวว่า เกิดขึ้นยังถอนไม่ได้ เพราะไม่ล่วงเลยธรรมดาที่เกิดขึ้น เพราะยังถอนไม่ได้ด้วยอริยมรรค.
               ในที่นี้ท่านประสงค์เอาวิตกที่เกิดขึ้น ยังถอนไม่ได้นั้น.
               บทว่า นาธิวาเสติ ไม่รับรองไว้ คือไม่ยกขึ้นสู่สันดานแล้วให้อยู่.
               บทว่า ปชหติ ย่อมละ คือละด้วยตัดขาด.
               บทว่า วิโนเทติ ย่อมบรรเทา คือย่อมซัดไป.
               บทว่า พฺยนฺตีกโรติ ย่อมทำให้สิ้นสุด คือทำให้ปราศจากที่สุด.
               บทว่า อนภาวํ คเมติ ให้ถึงความไม่มีต่อไป. ความว่า ถึงอริยมรรคตามลำดับวิปัสสนาแล้วให้ถึงความไม่มีด้วยการตัดขาด.
               วิตกประกอบด้วยกาม ชื่อว่ากามวิตก วิตกประกอบด้วยความตายของผู้อื่น ชื่อว่าพยาบาทวิตก. วิตกประกอบด้วยความเบียดเบียนผู้อื่นชื่อว่าวิหิงสาวิตก.
               บทว่า ปาปเก คือ ลามก.
               บทว่า อกุสเล ธมฺเม คือ ธรรมอันไม่เป็นความฉลาด.
               บทว่า นิพฺเพธิกปญฺญา ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส คือมรรคปัญญาอันเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มากด้วยความเบื่อหน่าย.
               บทว่า อุพฺเพคพหุโล เป็นผู้มากด้วยความสะดุ้ง คือ เป็นผู้มากด้วยความหวาดกลัวภัยในเพราะญาณ.
               บทว่า อุตฺตาสพหุโล เป็นผู้มากไปด้วยความหวาดเสียว คือมากไปด้วยความกลัวอย่างแรงง บทนี้ ขยายความบทก่อนนั่นเอง.
               บทว่า อุกฺกณฺฐพหุโล คือเป็นผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย เพราะมุ่งเฉพาะวิสังขาร นอกเหนือไปจากสังขาร.
               บทว่า อนภิรติพหุโล เป็นผู้มากไปด้วยความไม่พอใจ ท่านแสดงถึงความไม่มีความยินดียิ่งด้วยความเบื่อหน่าย.
               แม้บัดนี้ พระสารีบุตรเถระไขความนั้นด้วยคำทั้งสอง.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า พหิมุโข เบือนหน้าออก คือมุ่งหน้าเฉพาะนิพพานอันเป็นภายนอกจากสังขาร.
               บทว่า น รมติ ไม่ยินดี คือ ไม่ยินดียิ่ง.
               บทว่า อนิพฺพิทฺธปุพฺพํ ไม่เคยเบื่อหน่าย คือไม่เคยถึงที่สุดในสังสารอันไม่รู้เบื้องต้นและที่สุดแล้วเบื่อหน่าย.
               บทว่า อปฺปทาลิตปุพฺพํ ไม่เคยทำลายเป็นคำกล่าวถึงอรรถของบทนั้น. ความว่า ไม่เคยทำลายด้วยการกระทำที่สุดนั่นเอง.
               บทว่า โลภกฺขนฺธํ กองโลภะ คือกองโลภะ หรือมีส่วนแห่งโลภะ.
               บทว่า อิมาหิ โสฬสหิ ปญฺญาหิ สมนฺนาคโต บุคคลผู้ประกอบด้วยปัญญา ๑๖ ประการเหล่านี้ ท่านกล่าวถึงพระอรหันต์โดยกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ แม้พระโสดาบันพระสกทาคามีและพระอนาคามีก็ย่อมได้เหมือนกัน เพราะท่านกล่าวไว้ในตอนก่อนว่า เอโก เสขปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต ผู้หนึ่งเป็นพระเสขะบรรลุปฏิสัมภิทา.๘-
____________________________
๘- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๖๗๘


               จบอรรถกถาโสฬสปัญญานิเทศ               

               อรรถกถาปุคคลวิเสสนิเทศ               
               พระสารีบุตรเถระแสดงถึงลำดับของบุคคลวิเศษผู้บรรลุปฏิสัมภิทาด้วยบทมีอาทิว่า เทฺว ปุคฺคลา บุคคล ๒ ประเภท.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺพโยโค ผู้มีความเพียรก่อน คือประกอบด้วยบุญอันเป็นเหตุบรรลุปฏิสัมภิทาในอดีตชาติ.
               บทว่า เตน คือ เหตุที่มีความเพียรมาก่อนนั้น.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนั้น.
               บทว่า อติเรโก โหติ เป็นผู้ประเสริฐ คือมากเกินหรือเพราะมีความเพียรมากเกินท่านจึงกล่าวว่า อติเรโก.
               บทว่า อธิโก โหติ เป็นผู้ยิ่ง คือเป็นผู้เลิศ.
               บทว่า วิเสโส โหติ เป็นผู้วิเศษ คือวิเศษที่สุด หรือเพราะมีความเพียรวิเศษ ท่านจึงกล่าวว่า วิเสโส.
               บทว่า ญาณํ ปภิชฺชติ ญาณแตกฉาน คือถึงความแตกฉานปฏิสัมภิทาญาณ.
               บทว่า พหุสฺสุโส เป็นพหูสูต คือเป็นพหูสูตด้วยอำนาจแห่งพุทธพจน์.
               บทว่า เทสนาพหุโล เป็นผู้มากด้วยเทศนา คือด้วยอำนาจแห่งธรรมเทศนา.
               บทว่า ครูปนิสฺสิโต เป็นผู้อาศัยครู คือเข้าไปอาศัยครูผู้ยิ่งด้วยปัญญา.
               บทว่า วิหารพหุโล เป็นผู้มีวิหารธรรมมาก ได้แก่เป็นผู้มีวิหารธรรม คือวิปัสสนามาก เป็นผู้มีวิหารธรรม คือผลสมาบัติมาก.
               บทว่า ปจฺจเวกฺขณาพหุโล เป็นผู้มีความพิจารณามาก ได้แก่เมื่อมีวิหารธรรม คือวิปัสสนาย่อมเป็นผู้มีความพิจารณาวิปัสสนา เมื่อมีวิหารธรรมคือผลสมาบัติ ย่อมเป็นผู้มีความพิจารณาผลสมาบัติมาก.
               บทว่า เสขปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต คือ เป็นพระเสกขะบรรลุปฏิสัมภิทา เป็นพระอเสกขะบรรลุปฏิสัมภิทาก็อย่างนั้น.
               ในบทว่า สาวกปารมิปฺปตฺโต เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีนี้วินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               การถึงฝั่งแห่งสาวกญาณ ๖๗ ของพระมหาสาวกผู้เลิศกว่าสาวกผู้มีปัญญามากทั้งหลาย ชื่อว่า ปารมี. บารมีของพระสาวก ชื่อว่าสาวกบารมี. ผู้ถึงสาวกบารมีนั้น ชื่อว่า สาวกปารมิปฺปตฺโต. ปาฐะว่า สาวกปารมิตาปฺปตฺโต บ้าง.
               มหาสาวกนั้นเป็นผู้รักษาและเป็นผู้บำเพ็ญสาวกญาณ ๖๗ ชื่อว่า ปรโม. ความเป็นหรือกรรมแห่งปรมะนั้นด้วยญาณกิริยา ๖๗ อย่างนี้ของปรมะนั้น ชื่อว่าปารมี. บารมีของพระสาวกนั้นชื่อว่า สาวกบารมี. ผู้ถึงสาวกบารมีนั้นชื่อว่า สาวกปารมิปฺปตฺโต.
               บทว่า สาวกปารมิปฺปตฺโต ได้แก่ พระสาวกรูปใดรูปหนึ่งมีพระมหาโมคคัลลานเถระเป็นต้น.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า เอโก ปจฺเจกสมฺพุทฺโธ ผู้หนึ่งเป็นพระปัจเจกสัมพุทธะ เพราะไม่มีพระสาวกอื่นยิ่งกว่าพระสาวกผู้บรรลุสาวกบารมี.
               พระสารีบุตรเถระแสดงสรุปความที่กล่าวแล้วด้วยบทมีอาทิว่า ปญฺญาปเภทกุสโล ทรงเป็นผู้ฉลาดในประเภทแห่งปัญญาอีก.
               ท่านชี้แจงญาณหลายอย่างแห่งญาณกถาโดยมาก. ท่านกล่าวทำปัญญาแม้อย่างหนึ่งแห่งปัญญากถาโดยมากให้ต่างๆ กัน โดยอาการต่างๆ กัน นี้เป็นความพิเศษด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถามหาปัญญากถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๑. มหาปัญญากถา จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 633อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 659อ่านอรรถกถา 31 / 679อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=9683&Z=10089
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6492
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6492
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :