ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 659อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 679อ่านอรรถกถา 31 / 695อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๒. อิทธิกถา

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               พึงทราบวินิจฉัยในวิกุพพนิทธินิเทศดังต่อไปนี้.
               ท่านกล่าวยกตัวอย่างสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี เพื่อชี้ให้เห็นกายสักขีของฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงถึงฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ นั้น จึงแสดงฤทธิ์ที่อธิษฐานได้ยินเสียงแห่งพันโลกธาตุอันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ไม่เคยมีมาก่อนว่า พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี สถิตอยู่ในพรหมโลก ทรงเปล่งเสียงให้พันโลกธาตุทราบชัด ดังนี้.
               บัดนี้ เพื่อแสดงเรื่องราวนั้น ท่านจึงกล่าวข้อความนี้.
               ในกัป ๓๑ ถอยไปจากกัปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตในชาติเป็นลำดับ อุบัติในพระครรภ์ของพระมเหสีพระนามว่าปภาวดี ของพระเจ้าอรุณวดี ในอรุณวดีนคร มีพระญาณแก่กล้าเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ณ โพธิมณฑล ทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐ ทรงอาศัยอรุณวดีนครประทับอยู่.
               วันหนึ่ง ตอนเช้าตรู่ทรงชำระพระวรกายแล้ว แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ทรงดำริว่าจักเข้าไปอรุณวดีนครเพื่อบิณฑบาต ประทับยืน ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูพระวิหาร ตรัสเรียกพระอัครสาวกชื่ออภิภู มีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เข้าไปอรุณวดีนครเพื่อบิณฑบาตกันเถิด เราจักเข้าไปพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๑-
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรียกอภิภูภิกษุ มีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ มาเถิด เราจะเข้าไปพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง จนกว่าจะถึงเวลาฉัน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อภิภูภิกษุรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี และพระอภิภูภิกษุได้เข้าไปยังพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง.
               ณ พรหมโลกนั้น มหาพรหมเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีความชื่นชม ทำการต้อนรับได้ปูลาดพรมอาสนะถวาย ปูลาดอาสนะอันสมควรแม้แก่พระเถระด้วย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนืออาสนะที่ปูลาดไว้. แม้พระเถระก็นั่งเหนืออาสนะที่ถึงแก่ตน. มหาพรหมถวายบังคมพระทศพลแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสิขี ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสกะอภิภูภิกษุว่า ดูก่อนพราหมณ์ ธรรมีกถาจงแจ่มแจ้งแก่พรหม พรหมบริษัทและพรหมปาริสัชชะทั้งหลายเถิด.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อภิภูภิกษุรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แสดงธรรมกถาแก่พรหม.
               พรหมบริษัทและพรหมปาริสัชชะทั้งหลาย เมื่อพระเถระกล่าวธรรมกถา หมู่พรหมทั้งหลายยกโทษว่า ก็พวกเราได้การมาสู่พรหมโลกของพระศาสดาตลอดกาลนาน ภิกษุนี้เว้นพระศาสดาเสียแล้วแสดงธรรมเสียเอง.
               พระศาสดาทรงทราบว่า หมู่พรหมไม่พอใจ จึงตรัสกะภิกษุอภิภูว่า ดูก่อนพราหมณ์ พรหม พรหมบริษัทและพรหมปาริสัชชะทั้งหลายเหล่านั้นพากันยกโทษ ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นเธอจงให้พรหม พรหมบริษัทและพรหมปาริสัชชาทั้งหลายสลดใจโดยประมาณยิ่ง.
               พระเถระรับพระดำรัสของพระศาสดาแล้ว แผลงฤทธิ์ต่างๆ หลายอย่าง ยังพันโลกธาตุให้รู้แจ่มแจ้งด้วยเสียง ได้กล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า๒-
                                   ท่านทั้งหลายจงริเริ่ม จงก้าวหน้า จงประกอบ
                         (ความเพียร) ในพระพุทธศาสนา จงกำจัดเสนาแห่ง
                         มัจจุ ดุจช้างกำจัดเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น ผู้ใดจักไม่
                         ประมาทในธรรมวินัยนี้อยู่ ผู้นั้นจะละสงสารคือชาติ
                         แล้วจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑๕  ๒- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๖๑๗

               ก็พระเถระทำอย่างไร จึงยังพันโลกธาตุให้รู้แจ้งด้วยเสียง.
               พระเถระเข้านีลกสิณก่อน ครั้นออกแล้วแผ่ความมืดไปในที่ทั้งปวงในพันจักรวาลด้วยอภิญญาญาณ เมื่อสัตว์ทั้งหลายเกิดความคำนึงว่า อะไรนี่มืดแล้ว พระเถระจึงเข้าอาโลกกสิณครั้นออกแล้วก็ทำแสงสว่างให้ปรากฏ เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังเพ่งดูว่าอะไรนี่สว่างแล้ว พระเถระจึงแสดงตนให้ปรากฏ.
               เทวดาและมนุษย์ในพันจักรวาลต่างประคองอัญชลียืนนมัสการพระเถระ.
               พระเถระกล่าวว่า ขอมหาชนจงฟังเสียงของเราผู้แสดงธรรม แล้วจึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้.
               เทวดาและมนุษย์ทั้งปวงได้ยินเสียงพระเถระดุจนั่งแสดงธรรม ในท่ามกลางบริษัทที่ประชุมกันอยู่ แม้ใจความก็ได้ปรากฏแก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ท่านกล่าวว่า พระเถระให้รู้แจ่มแจ้งด้วยเสียง หมายถึงให้รู้แจ่มแจ้งใจความนั้น.
               ท่านกล่าวคำมีอาทิว่า โส ทสฺสมาเนนปิ พระเถระแสดงธรรมด้วยกายที่ปรากฏบ้าง ดังนี้อีก หมายถึงฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ หลายอย่างนี้ พระเถระนั้นทำ.
               ในบทเหล่านี้ บทว่า ธมฺมํ เทเสสิ พระเถระแสดงธรรม คือแสดงฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ มีประการดังกล่าวแล้วก่อนจึงแสดงธรรม. แต่นั้นพึงทราบว่า พระเถระกล่าว ๒ คาถาโดยลำดับตามที่กล่าวแล้ว จึงให้รู้แจ่มแจ้งด้วยเสียง.
               อนึ่ง ในบทมีอาทิว่า ทิสฺสมาเนเปิ กาเยน ด้วยกายที่ปรากฏบ้าง เป็นตติยาวิภัตติลงในลักษณะแห่งอิตถัมภูตะ (มี ด้วย ทั้ง) คือมีกายเป็นอย่างนั้น.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระครั้นแสดงเรื่องราวนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงถึงวิธีทำฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ ของผู้มีฤทธิ์แม้อื่น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โส ปกติวณฺณํ วิชหิตฺวา ผู้มีฤทธิ์นั้นละเพศปกติแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า โส คือ ภิกษุผู้มีฤทธิ์ มีจิตอ่อนสมควรแก่การงานที่ทำ ตามวิธีดังกล่าวแล้วในหนหลัง.
               หากภิกษุผู้มีฤทธิ์ประสงค์จะทำฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นละเพศปกติคือสัณฐานปกติของตน แล้วแสดงเพศเป็นกุมารบ้าง.
               อย่างไร คือออกจากจตุตถฌานมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ มีอภิญญาเป็นบาท แล้วนึกถึงเพศกุมารที่ควรนิรมิตว่า เราจงเป็นกุมารมีรูปอย่างนี้ ดังนี้แล้ว เมื่อทำบริกรรมเสร็จจึงเข้าสมาบัติอีก ครั้นออกแล้วอธิษฐานด้วยอภิญญาญาณว่า เราจงเป็นกุมารมีรูปอย่างนี้ ดังนี้.
               ภิกษุผู้มีฤทธิ์นั้นก็จะเป็นกุมารพร้อมกับอธิษฐาน.
               ท่านกล่าวไว้ในปฐวีกสิณในวิสุทธิมรรคว่า สมาบัติมีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ มีฌานเป็นบาท ย่อมสมควรในที่นี้ด้วยคำว่า ฤทธิ์ที่แผลงต่างๆ มีอาทิอย่างนี้ว่า ความเป็นคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ด้วยอำนาจปฐวีกสิณ ฯลฯ ย่อมสำเร็จดังนี้.
               อนึ่ง ในอภิญญานิเทศในวิสุทธิมรรคนั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวว่า ออกจากปฐวีกสิณเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จากฌานมีอภิญญาเป็นบาทดังนี้ ด้วยฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ.
               อนึ่ง ในนิเทศนั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวว่า ควรคิดถึงเพศกุมารของตน.
               คำกล่าวนั้นดูเหมือนจะไม่สมควรในการนิรมิตมีนาคเป็นต้น.
               แม้ในการนิรมิตมีเพศนาคเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า นาควณฺณํ เพศนาค คือมีสัณฐานคล้ายงู.
               บทว่า สุปณฺณวณฺณํ เพศครุฑ คือมีสัณฐานคล้ายครุฑ.
               บทว่า อินฺทวณฺณํ เพศพระอินทร์ คือมีสัณฐานคล้ายท้าวสักกะ.
               บทว่า เทววณฺณํ เพศเทวดา คือมีสัณฐานคล้ายเทวดาที่เหลือ.
               บทว่า สมุททวณฺณํ เพศสมุทร ย่อมสำเร็จด้วยอำนาจแห่งอาโปกสิณ.
               บทว่า ปตฺตึ พลราบ คือ พลเดินเท้า.
               บทว่า วิวิธมฺปิ เสนาพฺยูหํ กองทัพตั้งประชิดกันต่างๆ คือหมู่ทหารหลายเหล่ามีพลช้างเป็นต้น.
               แต่ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวบทมีอาทิว่า แสดงแม้ช้างด้วยเพื่อให้เห็นช้างเป็นต้น แม้ในภายนอก.
               ในวิสุทธิมรรคนั้นไม่พึงอธิษฐานว่าเราจงเป็นช้าง พึงอธิษฐานว่าช้างจงมี. แม้ในม้าเป็นต้นท่านก็กล่าวว่ามีนัยนี้เหมือนกัน. คำนั้นผิดด้วยบทเดิมกล่าวว่า ละเพศปกติ และด้วยความที่ฤทธิ์แผลงได้ต่างๆ เพราะว่าการไม่ละเพศปกติตามลำดับดังกล่าวในบาลีแล้ว แสดงเพศอื่นด้วยอำนาจอธิษฐาน ชื่อว่าฤทธิ์ที่อธิษฐาน.
               การละเพศปกติแล้วแสดงตนเป็นอย่างอื่น ด้วยอำนาจอธิษฐาน ชื่อว่าฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ.
               พึงทราบในวินิจฉัยในมโนมยิทธินิเทศดังต่อไปนี้.
               ในบทมีอาทิว่า อิมฺมหา กายา อญฺญํ กายํ อภินิมฺมินาติ ภิกษุนิรมิตกายอื่นจากกายนี้.
               ความว่า ภิกษุผู้มีฤทธิ์ประสงค์จะทำมโมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ครั้นออกจากสมาบัติมีอากาศกสิณเป็นอารมณ์ มีฌานเป็นบาทแล้วนึกถึงรูปกายของตนก่อนแล้วอธิษฐานว่าโพรงจงมี โพรงย่อมมี ต่อจากนั้นนึกถึงกายอื่นด้วยอำนาจปฐวีกสิณในภายในของโพรงนั้นแล้วทำบริกรรมอธิษฐาน โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ กายอื่นย่อมมีภายในโพรงนั้น ภิกษุนั้นบ้วนกายนั้นออกจากปากแล้วตั้งไว้ภายนอก.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะประกาศความนั้นด้วยอุปมา จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เสยฺยถาปิ ดังนี้.
               ในบทเหล่านี้ บทว่า มุญฺชมฺหา คือ จากหญ้าปล้อง.
               บทว่า อีสิกํ ปวาเหยฺย พึงชักไส้ คือขุดหน่อ.
               บทว่า โกสิยา คือ จากฝัก.
               บทว่า กรณฺฑา จากกระทอ คือจากคราบหนังเก่า.
               อนึ่ง ในบทเหล่านั้น บทว่า อุทฺธเรยฺย พึงยกออก พึงทราบการยกออกแห่งกระทอนั้นด้วยจิตเท่านั้น เพราะธรรมดางูนี้ตั้งอยู่ในชาติของตนอาศัยระหว่างท่อนไม้บ้าง ระหว่างต้นไม้บ้าง ด้วยกำลัง คือการลอกคราบออกจากตัว รังเกียจหนังเก่า ดุจเคี้ยวกินตัวย่อมละคราบด้วยตนเอง ด้วยเหตุ ๔ ประการเหล่านี้.
               อนึ่ง ในเรื่องนี้ท่านกล่าวอุปมาเหล่านี้ไว้ เพื่อให้เห็นว่ารูปสำเร็จแต่ฤทธิ์นี้ ของผู้มีฤทธิ์ย่อมเป็นเช่นกันด้วยอาการทั้งปวง เหมือนไส้เป็นต้น ย่อมเป็นเช่นกันออกจากหญ้าปล้องฉะนั้น กายที่ทำด้วยใจคืออภิญญาในบทนี้ว่า๓- ผู้มีฤทธิ์เข้าไปด้วยฤทธิ์ ด้วยกายสำเร็จแต่ใจ ชื่อว่า มโนมยกาโย กายสำเร็จแต่ใจ กายที่เกิดขึ้นด้วยใจคือฌานในบทนี้ว่า๔- ผู้มีฤทธิ์เข้าถึงกายสำเร็จ แต่ใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มโนมยกาโย กายสำเร็จแต่ใจ เพราะใจนั้นทำ แต่ในที่นี้ กายเกิดขึ้นแล้วด้วยใจคืออภิญญา ชื่อว่า มโนมยกาโย กายสำเร็จแต่ใจ เพราะใจนั้นทำ.
____________________________
๓- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๓  ๔- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๓๕๐

               เมื่อเป็นเช่นนั้น หากถามว่า ชื่อว่ากายสำเร็จแต่ใจอันฤทธิ์ที่อธิษฐานและอันฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ ทำ ย่อมมีได้หรือ.
               ตอบว่า ย่อมมีได้ทีเดียว แต่ในที่นี้ การนิรมิตจากภายในเท่านั้น ชื่อว่ามโนยิทธิ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า เป็นฤทธิ์ที่อธิษฐานและเป็นฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ เพราะทำให้พิเศษเป็นต่างหากของฤทธิ์เหล่านั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในญาณวิปผารนิเทศดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า ญาณวิปฺผารา ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ เพราะมีกำลังแผ่ไปแห่งญาณ.
               อนึ่ง ในบทนี้ พึงทราบว่าท่านพึงแสดงฤทธิ์อนุปัสสนา ๗ แล้วย่อฤทธิ์ที่เหลือตลอดถึงอรหัตมรรค.
               ในบทมีอาทิว่า ท่านพากุละมีฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ มีความว่า
               ท่านพากุลเถระได้ชื่ออย่างนี้ เพราะเป็นผู้เจริญในตระกูลทั้งสอง สะสมบุญบารมีมาในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เป็นพระเถระที่ถึงพร้อมด้วยบุญสัมปทา.
               จริงอยู่ พระเถระนั้นเสวยมหาสมบัติ ท่องเที่ยวไปในเทวโลก มนุษยโลก บังเกิดในศาสนาของพระทศพลของเรา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงโกสัมพีก่อน.
               ในเวลาที่พระเถระนั้นเกิด พี่เลี้ยงพร้อมด้วยบริวารนำไปยังแม่น้ำยมุนาพร้อมกับบริวารใหญ่ เพื่อสิริมงคล เล่นน้ำดำผุดดำว่ายอยู่. ปลาใหญ่ตัวหนึ่งสำคัญว่า ทารกนี้เป็นอาหารของเรา จึงอ้าปากว่ายเข้าไปหา. พี่เลี้ยงทิ้งทารกหนีไป. ปลาใหญ่กลืนกินทารกนั้น.
               สัตว์ผู้มีบุญไม่ได้รับทุกข์แต่อย่างไร คล้ายเข้าไปยังห้องนอนฉะนั้น ด้วยเดชของทารก ปลาร้อนผ่าวดุจกลืนกระเบื้องร้อนว่ายไปด้วยความเร็วสิ้นทาง ๓๐ โยชน์เข้าไปยังตาข่ายของชาวประมง ชาวกรุงพาราณสี.
               ปลานั้นพอชาวประมงเอาออกจากตาข่ายเท่านั้นก็ตายด้วยเดชของทารกนั้น. ชาวประมงเอาปลานั้นใส่ตะกร้า คิดว่าจะขายในราคาพันหนึ่ง เที่ยวไปในนคร ไปถึงประตูเรือนของเศรษฐีไม่มีบุตร มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ได้ขายปลาให้ภรรยาเศรษฐี ๑ กหาปณะ.
               นางเอาปลาวางไว้บนแผ่นกระดานด้วยตนเองแล้วผ่าข้างหลัง ครั้นเห็นทารกมีสีดุจทองคำในท้องปลาจึงตะโกนว่า เราได้บุตรในท้องปลาแล้วนำทารกเข้าไปหาสามี. ทันใดนั้นเอง เศรษฐีให้ตีกลองประกาศ แล้วนำทารกมาเฝ้าพระราชากราบทูลเพื่อความให้ทรงทราบ.
               พระราชาตรัสว่า ทารกมีบุญ ท่านจงเลี้ยงทารกให้ดี.
               ตระกูลเศรษฐีที่เป็นมารดาบิดา ครั้นทราบเรื่องราวนั้นจึงไป ณ ที่นั้น พูดว่าบุตรของเรา จึงโต้เถียงกันเพื่อจะเอาทารกไป. ทั้งสองก็ได้ไปเฝ้าพระราชา.
               พระราชาตรัสว่า เราไม่อาจทำให้ตระกูลทั้งสองไม่ให้มีบุตรได้ ทารกนี้จงเป็นทายาทของตระกูลทั้งสองเถิด.
               ตั้งแต่นั้นมาตระกูลทั้งสองก็อุดมสมบูรณ์ด้วยลาภมากมาย. เพราะทารกนั้นเป็นผู้เจริญด้วยสองตระกูลจึงตั้งชื่อว่าพากุลกุมาร.
               เมื่อพากุลกุมารนั้นรู้เดียงสาแล้ว มารดาบิดาจึงสร้างปราสาทแห่งละ ๓ หลังในนครทั้งสอง หาคนฟ้อนรำมาแสดงเป็นประจำ. พากุลกุมารอยู่ในนครหนึ่งๆ นครละ ๔ เดือน. เมื่อพากุลกุมารอยู่ในนครหนึ่งครบ ๔ เดือน มารดาบิดาจึงสร้างมณฑปไว้ที่เรือนขนานแล้วให้พากุลมารพร้อมดวยนักฟ้อนรำขึ้นไปอยู่บนเรือขนานนั้น แล้วนำพากุลกุมารซึ่งเสวยมหาสมบัติไปอีกพวกหนึ่งสองเดือนได้ครึ่งทาง.
               แม้นักฟ้อนชาวนครอีกนครหนึ่งก็เตรียมต้อนรับเหมือนกัน ด้วยคิดว่า อีกสองเดือน พากุลกุมารจักมาถึงครึ่งทาง แล้วนำมานครของตนอยู่ได้สองเดือน.
               พากุลกุมารอยู่ในนครนั้น ๔ เดือน แล้วกลับไปอีกนครหนึ่งโดยทำนองนั้น.
               เมื่อพากุลกุมารเสวยสมบัติอยู่อย่างนี้ อายุครบ ๘๐ ปี.
               ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์ของเราบรรลุพระสัพพัญญตญาณแล้วทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จจาริกไปตามลำดับบรรลุถึงกรุงโกสัมพี. พระมัชฌิมภาณจารย์กล่าวว่า กรุงพาราณสี.
               แม้พากุลเศรษฐีก็ได้ยินว่า พระทศพลเสด็จมา จึงถือของหอมและดอกไม้เป็นอันมากไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถา ได้ศรัทธาแล้วก็บวช. พระพากุละเป็นปุถุชนอยู่ ๗ วันเท่านั้น ในอรุณที่ ๘ ก็บรรลุรพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ลำดับนั้น มาตุคามที่อยู่ในนครทั้งสอง มายังเรือนตระกูลของตนๆ อยู่ ณ ที่นั้นทำจีวรส่งไปถวาย. พระเถระใช้จีวรที่ชาวกรุงโกสัมพีส่งไปถวายทุกกึ่งเดือน. ชาวกรุงโกสัมพีก็ส่งไปถวายทุกกึ่งเดือน โดยทำนองนี้ได้นำสิ่งที่อุดมในนครทั้งสองมาถวายพระเถระด้วยประการดังนี้.
               พระเถระบวชได้ ๘๐ พรรษาอย่างมีความสุข. อาพาธแม้มีประมาณน้อยเพียงครู่เดียวก็ไม่เคยมีแก่พระเถระนั้น ในทั้งสองตระกูล พระเถระกล่าวพากุลสูตร๕- ในครั้งสุดท้ายแล้วก็ปรินิพพาน ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๕- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๓๘๐

               ความไม่มีโรคในท้องปลา ชื่อว่าฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ เพราะท่านพระพากุละมีภพคร้งสุดท้ายเกิดด้วยอานุภาพแห่งอรหัตญาณที่ควรได้ด้วยอัตภาพนั้น.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ด้วยอานุภาพแห่งปฏิสัมภิทาญาณที่บรรลุด้วยผลกรรมอันสุจริต.
               แม้พระสังกิจจเถระก็เคยทำบุญไว้ก่อนบังเกิดในครรภ์ของธิดาตระกูลมั่งคั่งในกรุงสาวัตถีผู้เป็นอุปัฏฐากของพระธรรมเสนาบดีเถระ. ธิดานั้นเมื่อทารกอยู่ในครรภ์ ได้ถึงแก่กรรมในขณะนั่นเอง ด้วยโรคอย่างหนึ่ง. เมื่อร่างของธิดานั้นถูกเผา เนื้อที่เหลือไหม้เว้นเนื้อที่ครรภ์.
               ลำดับนั้น เนื้อที่ครรภ์ของนางหล่นลงจากเชิงตะกอน สัปเหร่อเอาหลาวแทงในที่ ๒-๓ แห่ง. ปลายหลาวถูกหางตาของทารก. สัปเหร่อทั้งหลายแทงเนื้อที่ครรภ์แล้วเอาใส่ไว้ในกองเถ้าเอาถ้ากลบแล้วกลับไป. เนื้อที่ครรภ์ไหม้.
               แต่บนยอดเถ้า ทารกคล้ายรูปทองคำ ดุจนอนบนกลีบปทุม.
               จริงอยู่ เมื่อสัตว์มีภพครั้งสุดท้ายแม้ถูกภูเขาสิเนรุทับ ก็ยังไม่สิ้นชีวิต เพราะยังไม่บรรลุพระอรหัต.
               วันรุ่งขึ้น สัปเหร่อคิดว่าจักดับเชิงตะกอนจึงพากันมา เห็นทารกนอนอยู่อย่างนั้น เกิดอัศจรรย์ไม่เคยมีจึงพาทารกไปนครถามนักพยากรณ์. นักพยากรณ์กล่าวว่า หากทารกนี้จักอยู่ครองเรือน พวกญาติจักรลำบากตลอด ๗ ชั่วตระกูล หากบวชจักมีสมณะ ๕๐๐ แวดล้อมเที่ยวไป.
               ตาได้เลี้ยงทารกนั้นจนเจริญ เมื่อทารกเจริญแม้พวกญาติก็พากันเลี้ยงดู ด้วยหวังว่าจักให้บวชในสำนักของพระคุณเจ้าของเรา.
               เมื่อทารกมีอายุได้ ๗ ขวบ เขาได้ยินพวกเด็กๆ พูดกันว่า มารดาของท่านถึงแก่กรรมเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์ เมื่อร่างของมารดาถูกเผา ท่านก็ไฟไหม้ จึงบอกแก่พวกญาติว่า นัยว่าฉันพ้นจากภัยเห็นปานนี้ ฉันจะไม่อยู่เป็นฆราวาสละ ฉันจักบวช.
               พวกญาติกล่าวว่า ดีแล้วพ่อคุณ จึงพาไปหาพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้มอบให้ว่า ขอพระคุณเจ้าให้กุมารนี้บวชเถิด.
               พระเถระให้ตจปัญจกรรมฐานแล้วให้ทารกบวช.
               ทารกนั้นเมื่อจดปลายมีดโกนเท่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ครั้นอายุครบก็ได้อุปสมบทบวชได้ ๑๐ พรรษา มีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริหารเที่ยวไป.
               ความเป็นผู้ไม่มีโรคบนเชิงตะกอนก่อด้วยฟืน โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล ชื่อว่าฤทธิ์แผ่ไปด้วยญาณของท่านสังกิจจะ.
               แม้พระภูตปาลเถระก็เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเหตุมาก่อน. บิดาของท่านเป็นคนยากจนอยู่ในกรุงราชคฤห์. บิดาพาทารกนั้นไปดงเกวียนเพื่อหาฟืน บรรทุกฟืนเสร็จแล้ว เดินทางไปถึงใกล้ประตูเมืองในเวลาเย็น.
               ลำดับนั้น โคทั้งหลายของเขาสลัดแอกออกแล้วเข้าเมือง. เขาให้บุตรน้อยนั่งใต้เกวียน แล้วเดินตามรอยเท้าโคเข้าเมืองเหมือนกัน. เมื่อเขายังไม่ออกประตูเมืองปิดเสียแล้ว. ทารกนอนหลับอยู่ภายใต้เกวียนตลอดคืน.
               ตามปกติกรุงราชคฤห์มีอมนุษย์มาก ก็ที่นี้เป็นที่ใกล้ป่าช้า และไม่มียักษ์ไรๆ สามารถจะทำอันตรายแก่ทารกผู้มีภพครั้งสุดท้ายนั้นได้.
               ครั้นต่อมา ทารกนั้นบวชได้บรรลุรพระอรหัต มีชื่อว่าภูตปาลเถระ.
               ความเป็นผู้ไม่มีโรคโดยนัยดังกล่าวแล้วในท้องที่ แม้มียักษ์ร้ายเที่ยวไปอย่างนี้ ชื่อว่าฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณของท่านพระภูตปาละ.
               พึงทราบวินิจฉัยในสมาธิวิปผาริทธินิเทศดังต่อไปนี้.
               ในบทมีอาทิว่า อายสฺมโต สารีปุตฺตเถรสฺส สมาธิวิปฺผารา อิทฺธิ ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิของท่านพระสารีบุตร.
               มีความว่า เมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่ที่กโปตกันทรากับพระมหาโมคคัลลาเถระ เมื่อคืนเดือนหงาย ยังมิได้ปลงผม นั่งอยู่ในที่แจ้ง ยักษ์ร้ายตนหนึ่งแม้ถูกยักษ์ผู้เป็นสหายห้ามก็ได้ประหารบนศีรษะของพระเถระ เสียงสนั่นหวั่นไหวดุจเสียงเมฆ.
               ในขณะที่ยักษ์ประหาร พระเถระนั่งเข้าสมาบัติ จึงไม่มีการเจ็บปวดไรๆ ด้วยการประหารนั้น.
               นี้เป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิของท่านพระสารีบุตรเถระนั้น.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ข้าพเจ้าสดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปะ ใกล้กรุงราชคฤห์. สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะอยู่ ณ กโปตกันทรา.
               สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ตอนกลางคืนเดือนหงายยังมิได้ปลงผม นั่งเข้าสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ณ โอกาสแจ้ง.
               สมัยนั้นแล ยักษ์สหายสองคนออกจากทิศอุดรไปทิศทักษิณด้วยกรณียะอย่างใดอย่างหนึ่ง. ยักษ์ทั้งสองได้เห็นท่านพระสารีบุตร ฯลฯ นั่งอยู่ ณ ที่แจ้ง ครั้นเห็นแล้วยักษ์ตนหนึ่งได้พูดกะยักษ์ผู้เป็นสหายว่า ดูก่อนสหายย่อมสว่างไสวกะเรา เพื่อจะประหารศีรษะของสมณะนี้.
               เมื่อยักษ์กล่าวอย่างนี้แล้ว ยักษ์สหายได้พูดกะยักษ์นั้นว่า อย่าเลยสหาย อย่าดูหมิ่นสมณะนั้นเลย สมณะนั้นเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก.
               แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม ฯลฯ ดูก่อนสหาย สมณะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก.
               ครั้งนั้นแล ยักษ์นั้นมิได้เชื่อฟังยักษ์สหายนั้น ได้ประหารศีรษะของท่านพระสารีบุตร ได้มีการประหารยิ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น ด้วยการประหารนั้นยังช้างขนาด ๗ ศอกหรือ ๗ ศอกครึ่งให้จมได้โดยแท้ หรือพึงทำลายยอดภูเขาใหญ่ได้ แต่ทว่ายักษ์นั้นร้องว่า เราร้อน เราร้อน แล้วตกลงในมหานรก ณ ที่นั้นนั่นเอง.
               ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระเห็นยักษ์นั้น ประหารศีรษะของท่านพระสารีบุตรด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงเกินของมนุษย์ จึงเข้าไปหาพระสารีบุตร ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนพระสารีบุตรผู้มีอายุ พอทนได้หรือ ยังเยียวยาได้หรือ ไม่มีทุกข์ไรบ้างหรือ.
               พระสารีบุตรกล่าวว่า ดูก่อนท่านโมคคัลลานะ พอทนได้ พอเยี่ยวยาได้ อนึ่ง ศีรษะของผมเป็นทุกข์นิดหน่อย.
               พระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า ดูก่อนท่านสารีบุตร น่าอัศจรรย์ไม่เคยมีมาเลย ข้อที่ท่านสารีบุตรมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ดูก่อนท่านสารีบุตร ยักษ์ตนใดตนหนึ่งได้ประหารศีรษะของท่าน ได้เป็นการประหารยิ่งใหญ่ถึงเพียงดัง ฯลฯ อนึ่ง ศีรษะของผมเป็นทุกข์นิดหน่อย.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า ดูก่อนท่านโมคคัลลานะ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาเลย ข้อที่ท่านมหาโมคคัลลานะมีอานุภาพมาก ย่อมเห็นแม้ยักษ์ในที่ใด บัดนี้พวกเราจะไม่เห็นแม้ปิศาจเล่าฝุ่นในที่นั้นได้อีกเลย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสดับการสนทนาเห็นปานนั้นของพระมหานาคทั้งสองเหล่านั้น ด้วยทิพโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงเกินของมนุษย์ จึงทรงเปล่งอุทานว่า๖-
                                   จิตของผู้ใดเปรียบด้วยภูเขาหินตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
                         ไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่โกรธ
                         เคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเคือง จิตของผู้ใด
                         อบรมแล้วอย่างนี้ ทุกข์จักถึงผู้นั้นได้แต่ไหน.

____________________________
๖- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๙๖

               อนึ่ง คำในอรรถกถาว่า ด้วยการประหารนั้นไม่มีความเจ็บป่วยใดๆ เลย เหมาะสมอย่างยิ่งกับพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ทุกข์จักถึงผู้นั้นได้แต่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ทุกขเวทนาย่อมไม่มีด้วยคำที่พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า อนึ่ง ศีรษะของเราเป็นทุกข์นิดหน่อย แต่ท่านกล่าวว่าทุกข์ หมายถึงความที่ศีรษะนั้นไม่ควรแก่การงาน.
               จริงอยู่ แม้ในโลก ท่านกล่าวว่าปกติของความสุขสามารถจะบริหารได้โดยไม่ยาก ปกติของความทุกข์สามารถจะบริหารได้โดยยาก ความที่ศีรษะไม่ควรแก่การงานนั้นพึงทราบว่าได้มีเพราะเป็นสมัยที่ออกจากสมาบัติเสียแล้ว ในสมัยที่เอิบอิ่มด้วยสมาบัติจะพึงมีไม่ได้เลย ท่านกล่าวว่า บัดนี้เราย่อมไม่เห็นแม้ปิศาจเล่นฝุ่นเลย เพราะไม่สามารถจะเห็นได้ ท่านกล่าวเพราะไม่มีความขวนขวายในอภิญญาทั้งหลาย.
               นัยว่า พระเถระอนุเคราะห์หมู่ชนในภายหลัง อย่าได้สำคัญฤทธิ์อันเป็นของปุถุชนว่ามีสาระเลยโดยมากไม่ให้ฤทธิ์.
               อนึ่ง ในเถรคาถา ท่านกล่าวไว้ว่า๗-
                                   ความปรารถนาของเรามิได้มีเพื่อปุพเพนิวาสญาณ
                         มิได้มีเพื่อทิพยจักษุ มิได้มีเพื่อฤทธิ์ อันเป็นเจโตปริยญาณ
                         เพื่อจุติเพื่ออุปบัติ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งโสตธาตุเลย.

____________________________
๗- ขุ. เถร. เล่ม ๒๖/ข้อ ๓๙๖

               พระเถระกล่าวถึงความไม่มีความปรารถนาในอภิญญาทั้งหลายด้วยตนเอง แต่พระเถระบรรลุบารมีในสาวกปารมิญาณ.
               คนเลี้ยงโคเป็นต้นเข้าใจว่า พระสัญชีวเถระผู้เข้านิโรธเป็นอัครสาวกที่สองของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ มรณภาพเสียแล้ว จึงลากเอาหญ้าและฟืนเป็นต้นก่อไฟเผา แม้เพียงอังสะที่จีวรของพระเถระก็ไม่ไหม้ นี้เป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ดูก่อนมารผู้ลามก ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก ดูก่อนมารผู้ลามก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีสาวกคู่หนึ่งชื่อว่าวิธุระและสัญชีวะเป็นคู่เจริญเลิศ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะผู้เป็นพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้า ไม่มีสาวกใดๆ จะเสมอเหมือนด้วยท่านวิธุระ ในการแสดงธรรม ด้วยปริยายนี้ ท่านวิธุระจึงมีชื่อว่า วิธุโร.
               ส่วนท่านสัญชีวะไปสู่ป่าบ้าง ไปสู่โคนต้นไม้บ้าง ไปสู่เรือนว่างบ้าง ย่อมเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธโดยไม่ยากเลย.
               ดูก่อนมารผู้ลามก เรื่องเคยมีมาแล้ว ท่านสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง พวกคนเลี้ยงโค เลี้ยงปศุสัตว์ ชาวนา นักท่องเที่ยวได้เห็นท่านสัญชีวะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ครั้นเห็นแล้วก็คิดว่า น่าอัศจรรย์จริงหนอ พ่อคุณเอ๋ย ไม่เคยมีมาแล้ว สมณะนี้นั่งมรณภาพ พวกเราช่วยกันเผาเถิด.
               ลำดับนั้น คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวนา นักท่องเที่ยวจึงลากหญ้าพืชโคมัย แล้วสุมบนกายของท่านสัญชีวะ จุดไฟกลับไป.
               ลำดับนั้น ท่านพระสัญชีวะโดยราตรีนั้นล่วงไปออกจากสมาบัติสลัดจีวร นุ่งในตอนเช้าถือบาตรและจีวรเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต คนเลี้ยงโค คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวนา นักท่องเที่ยวเห็นท่านสัญชีวบิณฑบาต จึงคิดว่า น่าอัศจรรย์จริงพ่อคุณเอ๋ย ไม่เคยมีมาแล้ว พระสมณะนี้นั่งมรณภาพ ท่านฟื้นขึ้นมาแล้ว.
               โดยปริยายนี้แล ท่านสัญชีวะจึงมีชื่อว่า สญชีโว๘- ด้วยประการฉะนี้แล.
____________________________
๘- ม. ม. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๕๙

               ส่วนพระขาณุโกณฑัญญเถระตามปกติเป็นผู้มากด้วยสมาบัติ พระเถระนั้นนั่งเข้าสมาบัติตลอดคืนในป่าแห่งหนึ่ง โจร ๕๐๐ ลักข้าวของเดินไปประสงค์จะพักผ่อนด้วยคิดว่า บัดนี้ไม่มีคนเดินตามรอยเท้าพวกเรา จึงวางข้าวของลงสำคัญว่าตอไม้ วางข้าวของทั้งหมดไว้บนร่างของพระเถระนั่นเอง เมื่อพวกโจรพักผ่อนแล้วเตรียมจะเดินต่อไป ในขณะที่จะถือข้าวของที่วางไว้คราวแรก พระเถระลุกขึ้นตามเวลาที่กำหนดไว้ พวกโจรเห็นอาการที่พระเถระเคลื่อนไหวได้ต่างกลัวร้องเอ็ดตะโร.
               พระเถระกล่าวว่า อุบาสกทั้งหลายอย่ากลัวไปเลย เราเป็นภิกษุ. พวกโจรจึงพากันมาไหว้ด้วยความเลื่อมใสในพระเถระ จึงบวชแล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               จำเดิมแต่นั้นมา พระเถระจึงได้ชื่อว่า ขาณุโกณฺฑญฺญเถโร ความที่ท่านพระขาณุโกณฑัญญเถระนั้นถูกโจรเอาข้าวของ ๕๐๐ ชิ้นวางทับไม่มีเจ็บปวด นี้เป็นฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๒. อิทธิกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 659อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 679อ่านอรรถกถา 31 / 695อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10090&Z=10320
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6954
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6954
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :