ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 723อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 726อ่านอรรถกถา 31 / 731อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๘. สติปัฏฐานกถา

               อรรถกถาสติปัฏฐานกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามความที่ยังไม่เคยพรรณนาแห่งสติปัฏฐานกถา อันมีพระสูตรเป็นเบื้องต้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุปัสสนาวิเศษ ๗ อย่าง ยกอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระองค์ตรัสแล้วในลำดับแห่งสมสีสกถาเป็นตัวอย่างตรัสแล้ว.
               พึงทราบความในพระสูตรนั้นก่อน.
               บทว่า จตฺตาโร สติปัฏฐาน ๔ เป็นการกำหนดจำนวน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงการกำหนดสติปัฏฐานไว้ว่า ไม่ต่ำกว่านั้น ไม่สูงกว่านั้น.
               บทว่า อิเม นี้เป็นบทชี้ให้เห็นสิ่งที่ควรชี้ให้เห็น.
               บทว่า ภิกฺขเว เป็นคำร้องเรียกบุคคลผู้รับธรรม.
               บทว่า สติปฏฺฐานา คือ สติปัฏฐาน ๓ อย่าง ได้แก่ สติเป็นโคจร ๑ ความที่พระศาสดาผู้ประพฤติล่วงความยินดียินร้าย ในสาวกทั้งหลายผู้ปฏิบัติ ๓ อย่าง ๑ และสติ ๑.
               สติโคจร ท่านกล่าวว่าสติปัฏฐาน มาในพระบาลีมีอาทิว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับของสติปัฏฐาน ๔.
               บทนั้นมีอธิบายว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะมีที่ตั้ง อะไรตั้ง สติตั้ง การตั้งสติชื่อว่าสติปัฏฐาน.
____________________________
๑- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๘๑๙

               ความละเมิดคำแนะนำด้วยความข้องใจของศาสดา ในสาวกผู้ปฏิบัติ ท่านกล่าวว่า สติปฏฺฐานํ ในพระบาลีนี้ว่า๒- พึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยะเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่าเป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่.
               บทนั้นมีอธิบายว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะควรตั้งไว้. อธิบายว่า ควรประพฤติ ควรตั้งไว้ด้วยอะไร ด้วยสติ การตั้งไว้ด้วยสติ ชื่อว่าสติปัฏฐาน.
____________________________
๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๖๑๘, ๖๓๓

               อนึ่ง สตินั่นแหละท่านกล่าวว่า สติปัฏฐาน มาในพระบาลีมีอาทิว่า๓- สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์.
               บทนั้นมีอธิบายว่า ชื่อว่า ปฏฺฐานํ เพราะย่อมตั้งไว้. ความว่า ตั้งไว้ ก้าวไป แล่นไปแล้วเป็นไปอยู่ สตินั่นแหละตั้งไว้ชื่อว่าสติปัฏฐาน.
____________________________
๓- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๒๘๗

               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าเป็นที่ระลึก ชื่อว่าอุปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเป็นที่เข้าไปตั้งไว้ เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะสติเข้าไปตั้งไว้บ้าง.
               นี้เป็นความประสงค์ในที่นี้.
               ผิถามว่า เพราะเหตุไร จึงทำเป็นพหุวจนะว่า สติปฏฺฐานา. เพราะสติมีมาก.
               จริงอยู่ ว่าโดยประเภทของอารมณ์ สติเหล่านั้นมีมาก.
               บทว่า กตเม จตฺตาโร ๔ ประการเป็นไฉน เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา ถามตอบเอง.
               บทว่า อิธ คือ ในพระศาสนานี้.
               บทว่า ภิกฺขุ ชื่อว่าภิกขุ เพราะเห็นภัยในสงสาร.
               ก็การพรรณนาความแห่งบทที่เหลือในคาถานี้ ท่านกล่าวไว้แล้วในอรรถกถามรรคสัจจนิเทศ ในสุตมยญาณกถา.
               ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐาน ๔ ไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               เพราะเพื่อเป็นประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ เพราะเมื่อตัณหาจริต ทิฏฐิจริต สมถยานิก วิปสฺนายานิก เป็นไปแล้วโดยสองส่วนๆ ด้วยความอ่อนและความเฉียบแหลม.
               กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นทางหมดจดของผู้มีตัณหาจริตอ่อน.
               เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางหมดจดของผู้เฉียบแหลม.
               จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางหมดจดของผู้มีทิฏฐิจริตอ่อน.
               ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอันมีประเภทยิ่งเกิน เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้มีทิฏฐิจริตเฉียบแหลม.
               สติปัฏฐานข้อที่ ๑ เป็นนิมิตควรถึงโดยไม่ยาก เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้เป็นสมถยานิกอ่อน.
               สติปัฏฐานข้อที่ ๒ เป็นทางหมดจดของผู้เป็นสมถยานิกเฉียบแหลม เพราะไม่ดำรงอยู่ในอารมณ์หยาบ.
               สติปัฏฐานข้อที่ ๓ มีประเภทไม่ยิ่งเกินเป็นอารมณ์ เป็นทางหมดจดของผู้เป็นวิปัสนายานิกอ่อน.
               สติปัฏฐานข้อที่ ๔ มีประเภทยิ่งเกินเป็นอารมณ์ เป็นทางหมดจดของผู้เป็นวิปัสสนายานิกเฉียบแหลม.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐาน ๔ ไว้ไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง เพื่อละความสำคัญผิดว่าเป็นของงาม เป็นสุข เป็นของเที่ยงและเป็นตัวตน เพราะว่ากายเป็นของไม่งาม.
               อนึ่ง สัตว์ทั้งหลายมีความสำคัญผิดๆ ในกายนั้นว่าเป็นของงาม เพื่อละความสำคัญผิดนั้นของสัตว์เหล่านั้น ด้วยเห็นความเป็นของไม่งามในกายนั้น จึงตรัสสติปัฏฐานข้อที่ ๑.
               อนึ่ง พระองค์ตรัสถึงทุกขเวทนาในเวทนาเป็นต้นที่สัตว์ถือว่าเป็นสุข เป็นของเที่ยง เป็นตัวตน พระองค์ตรัสว่า จิตเป็นธรรมชาติไม่เที่ยง ธรรมเป็นอนัตตา สัตว์ทั้งหลายยังมีความสำคัญผิดๆ ในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นสุข เป็นของเที่ยง เป็นตัวตน เพื่อละความสำคัญผิดเหล่านั้นของสัตว์เหล่านั้นด้วยแสดงถึงความเป็นทุกข์เป็นต้นในสิ่งนั้น พระองค์จึงตรัสสติปัฏฐาน ๓ ที่เหลือ.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละความสำคัญผิดๆ ว่าเป็นของงาม เป็นของเที่ยง เป็นตัวตน ด้วยประการฉะนี้ มิใช่เพื่อละความสำคัญผิดอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อละโอฆะ ๔ โยคะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ อุปาทาน ๔ และอคติ ๔ บ้าง เพื่อกำหนดรู้อาหาร ๔ อย่างบ้าง พึงทราบว่า พระองค์จึงตรัสสติปัฏฐาน ๔.
               พึงทราบวินิจฉัยในสุตตันตนิเทศดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปฐวีกายํ กองปฐวีธาตุ คือธาตุดินในกายนี้.
               เพื่อสงเคราะห์ปฐวีธาตุทั้งหมด เพราะปฐวีธาตุในกายทั้งสิ้นมีมากท่านจึงใช้กายศัพท์ ด้วยอรรถว่าเป็นที่รวม.
               แม้ในกองวาโยธาตุเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ท่านใช้กองผมเป็นต้น เพราะกองผมเป็นต้นมีมาก.
               อนึ่ง บทว่า วักกะ ไตเป็นต้น เพราะกำหนดไว้แล้วจึงไม่ใช้กาย เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าท่านจึงไม่ใช้กายแห่งวักกะเป็นต้นนั้น.
               พึงทราบความในบทมีอาทิว่า สุขํ เวทนํ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า สุขํ เวทนํ สุขเวทนา ได้แก่ สุขเวทนาทางกายหรือทางจิต.
               ทุกขเวทนาก็อย่างนั้น.
               ส่วนบทว่า อทุกฺขมสุขํ เวทนํ ได้แก่ อุเบกขาเวทนาทางจิตเท่านั้น.
               บทว่า สามิสํ สุขํ เวทนํ สุขเวทนาเจืออามิส คือโสมนัสเวทนาอาศัยเรือน ๖.
               บทว่า นิรามิสํ สุขํ เวทนํ สุขเวทนาไม่เจืออามิส ได้แก่โสมนัสเวทนาอาศัยเนกขัมมะ ๖.
               บทว่า สามิสํ ทุกฺขํ เวทนํ ทุกขเวทนาเจืออามิส ได้แก่โทมนัสเวทนาอาศัยเรือน ๖.
               บทว่า นิรามิสํ ทุกขํ เวทนํ ทุกขเวทนาไม่เจืออามิส ได้แก่โทมนัสเวทนาอาศัยเนกขัมมะ ๖.
               บทว่า สามิสํ อทุกฺขมสุขํ เวทนํ อทุกขมสุขเวทนาเจืออามิส ได้แก่อุเบกขาเวทนาอาศัยเรือน ๖.
               บทว่า นิรามิสํ อทุกฺขมสุขํ เวทนํ อทุกขมสุขเวทนาไม่เจืออามิส ได้แก่อุเบกขาเวทนาอาศัยเนกขัมมะ ๖.
               บทมีอาทิว่า สราคํ จิตฺตํ จิตมีราคะมีอรรถดังกล่าวแล้วในญาณกถา.
               บทว่า ตทวเสเส ธมฺเม ในธรรมที่เหลือจากนั้น คือในธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือจากกาย เวทนาและจิตเท่านั้น.
               อนึ่ง ในบททั้งปวงบทว่า เตน ญาเณน คือ ด้วยอนุปัสสนาญาณ ๗ อย่างนั้น.
               อนึ่ง บทเหล่าใดมีอรรถมิได้กล่าวไว้ในระหว่างๆ ในกถานี้ บทเหล่านั้นมีอรรถดังได้กล่าวแล้วในกถานั้นๆ ในหนหลังนั่นแล ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาสติปัฏฐานกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๘. สติปัฏฐานกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 723อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 726อ่านอรรถกถา 31 / 731อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10710&Z=10811
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=8222
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=8222
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :