บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ |
ในบทนี้ว่า โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย - การดับตัณหานั้นด้วยความคลายกำหนัดโดยไม่เหลือ ควรกล่าวว่า โย ตสฺเสว ทุกฺขสฺส - การดับทุกข์นั้นด้วยความคลายกำหนัดโดยไม่เหลือ เพราะทุกข์ดับด้วยความดับสมุทัย, มิใช่ดับด้วยประการอื่น. ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- ยถาปิ มูเล อนุปทฺทเว ทฬฺเห ฉินฺโนปิ รุกฺโข ปุนเรว รูหติ, เอวมฺปิ ตณฺหานุสเย อนูหเต นิพฺพตฺตี ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ เมื่อยังถอนตัณหานุสัยไม่ได้ ทุกข์นี้ย่อม เกิดบ่อยๆ เหมือนเมื่อรากไม้ยังแข็งแรง ไม่มี อันตราย ต้นไม้แม้ตัดแล้ว ก็ยังงอกอีกได้. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงทุกขนิโรธนั้น จึงตรัสอย่างนี้เพื่อแสดงสมุทยนิโรธ. ____________________________ ๑- ขุ. ธ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๓๔ จริงอยู่ พระตถาคตทั้งหลายผู้มีความประพฤติเสมอด้วยสีหะ, พระตถาคตเหล่านั้น เมื่อจะทรงดับทุกข์และเมื่อจะทรงแสดงการดับทุกข์ จึงทรงดำเนินไปในเหตุ, ไม่ทรงดำเนินไปในผล. ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์มีความประพฤติเยี่ยงสุนัข, พวกนั้นเมื่อจะดับทุกข์และเมื่อจะแสดงถึงการดับทุกข์ จึงดำเนินไปในผลแห่งเทศนาของทุกขนิโรธ นั้นด้วยอัตกิลมถานุโยค - การประกอบความเพียรโดยทำตนให้ลำบาก ไม่ดำเนินไปในเหตุ เพราะฉะนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงดำเนินไปในเหตุ จึงตรัสพระพุทธวจนะมีอาทิว่า โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย ดังนี้. แม้พระธรรมเสนาบดีก็กล่าวตามลำดับที่พระศาสดาตรัสนั่นแล. ในบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺสาเยว ตณฺหาย ความว่า แห่งตัณหาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โปโนพฺภวิกา - ตัณหาทำให้เกิดภพใหม่ แล้วทรงจำแนกเป็นกามตัณหาเป็นต้น และทรงประกาศในภายหลังด้วยการเกิดและการตั้งอยู่. บทว่า อเสสวิราคนิโรโธ - การดับตัณหาด้วยความสำรอกโดยไม่เหลือ. ความว่า มรรค ท่านกล่าวว่า วิราคะ - ความคลายกำหนัด ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๒- วิราคา วิมุจฺจติ - เพราะความคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น. การดับด้วยความคลายกำหนัด ชื่อว่าวิราคนิโรธ. การดับด้วยคลายกำหนัดโดยไม่เหลือ โดยถอนอนุสัย ชื่อว่าอเสสวิราคนิโรธ. ____________________________ ๒- วิ. มหา. เล่ม ๔/ข้อ ๒๓ อีกอย่างหนึ่ง เพราะท่านกล่าวการละว่าวิราคะ ฉะนั้น พึงเห็นการประกอบในบทนี้อย่างนี้ว่า วิราโค อเสโส นิโรโธ การดับไม่มีเหลือ ชื่อว่าวิราคะ. แต่โดยอรรถ บท เพราะตัณหาอาศัยนิพพานนั้น ย่อมคลายกำหนัดคือย่อมดับโดยไม่มีเหลือ ฉะนั้น นิพพานนั้นท่านจึงกล่าว ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ - การดับตัณหานั้น ด้วยความคลายกำหนัดโดยไม่เหลือ. อนึ่ง ตัณหาอาศัยนิพพานย่อมสละ ย่อมสละคืน ย่อมพ้น ย่อมไม่ติด, ในนิพพานนี้ไม่มีความอาลัยแม้สักอย่างเดียวในความอาลัยในกามคุณทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวนิพพานว่า จาโค ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย - ความสละ ความสละคืน ความหลุดพ้น ความไม่อาลัย. เพราะนิพพานเป็นอย่างเดียวเท่านั้น, แต่ชื่อของนิพพานนั้นมีอยู่ไม่น้อย ด้วยสามารถเป็นปฏิปักษ์ต่อชื่อของสังขตธรรมทั้งปวง. คือมีอาทิว่า อเสสวิราโค - คลายกำหนัดโดยไม่มีเหลือ. อเสสนิโรโธ - ดับโดยไม่มีเหลือ. จาโค - ความสละ. ปฏินิสฺสคฺโค - ความสละคืน. มุตฺติ - ความหลุดพ้น. อนาลโย - ความไม่อาลัย. ราคกฺขโย - ความสิ้นราคะ. โทสกฺขโย - ความสิ้นโทสะ. โมหกฺขโย - ความสิ้นโมหะ. ตณฺหกฺขโย - ความสิ้นตัณหา. อนุปฺปาโท - ความไม่เกิด. อปฺปวตฺตํ - ความไม่เป็นไป. อนิมิตฺตํ - ความไม่มีเครื่องหมาย. อปฺปณิหิตํ - ความไม่มีที่ตั้ง. อนายูหนํ - ความไม่มีกรรมเป็นเหตุปฏิสนธิ. อปฺปฏิสนฺธิ - ความไม่สืบต่อ. อนุปปตฺติ - ความไม่อุบัติ. อคติ - ความไม่มีคติ. อชาตํ - ความไม่เกิด. อชรํ - ความไม่แก่. อพฺยาธิ - ความไม่เจ็บ. อมตํ - ความไม่ตาย. อโสกํ - ความไม่โศก. อปริเทวํ - ความไม่ร้องไห้คร่ำครวญ. อนุปายาสํ - ความไม่เหือดแห้งใจ. อสงฺกิลิฏฺฐํ - ความไม่เศร้าหมอง. บัดนี้ ท่านแสดงถึงความเกิดแห่งตัณหาแม้ที่ถึงความเป็นไปไม่ได้ ถูกตัดด้วยมรรคเพราะอาศัยนิพพานในวัตถุใด เพื่อแสดงความไม่มีในวัตถุนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า สา ปเนสา เป็นอาทิ. ในบทนั้นมีความว่า เหมือนบุรุษเห็นเถากระดอมและน้ำเต้าเกิดในพื้นที่ จึงค้นหารากตั้งแต่ยอดแล้วตัดทิ้ง, เถากระดอมและเถาน้ำเต้านั้น เหี่ยวแห้งไปโดยลำดับแล้วก็หมดไป, แต่นั้นควรพูดว่ากระดอมและน้ำเต้าในพื้นที่นั้นก็หมดหายไปฉันใด ตัณหาในจักษุเป็นต้นก็ดุจกระดอมและน้ำเต้าในพื้นที่นั้นฉันนั้น. ตัณหานั้นถูกตัดด้วยอริยมรรคเสียแล้วก็ถึงความหมดสิ้นไป เพราะอาศัยนิพพาน. ครั้นตัณหาถึงความหมดไปอย่างนี้แล้วก็ไม่ปรากฏในวัตถุเหล่านั้น ดุจกระดอมและน้ำเต้าในพื้นที่ฉะนั้น. อนึ่ง เหมือนอย่างว่า ราชบุรุษนำโจรมาจากดงแล้วฆ่าที่ประตูทักษิณของนคร, แต่นั้นควรกล่าวได้ว่า โจรตายเสียแล้วหรือถูกฆ่าตายเสียแล้วในดงฉันใด ตัณหาในจักษุเป็นต้นดุจโจรในดงฉันนั้น, ตัณหานั้นดับไปแล้วในนิพพาน เพราะอาศัยนิพพานจึงได้ดับไปดุจโจรที่ประตูทักษิณ. ตัณหาดับไปอย่างนี้ ไม่ปรากฏในวัตถุเหล่านั้นดุจโจรในดง, ด้วยเหตุนั้น พระสารีบุตร เมื่อจะแสดงถึงความดับตัณหานั้นในจักษุเป็นต้นนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า จกฺขํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ - จักษุเป็นที่รักเป็นที่ยินดีในโลก ตัณหานี้ เมื่อละย่อมละได้ในจักษุนี้. อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า เพราะกำหนดรู้วัตถุที่ตัณหาเกิด ตัณหาจึงดับไปในวัตถุที่ตัณหาเกิดด้วยดับไปโดยไม่ให้เกิด เพราะไม่เกิดอีกต่อไปในวัตถุที่กำหนดรู้. อนึ่ง ในบทนี้ ท่านกล่าวว่า ตัณหาย่อมละได้ด้วยเป็นปฏิปักษ์ต่อความเกิด ย่อมดับไปด้วยเป็นปฏิปักษ์ต่อความตั้งอยู่ ดังนั้น. จบอรรถกถานิโรธสัจนิทเทส ----------------------------------------------------- .. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา นิโรธสัจนิทเทส จบ. |