ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มัคคสัจนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาสตินิทเทสดังต่อไปนี้
               บทว่า กาเย ได้แก่ รูปกาย. รูปกายในที่นี้ท่านประสงค์ว่า กาย - หมู่ ดุจหัตถิกาย - หมู่ช้าง รถกาย - หมู่รถ เป็นต้น ด้วยอรรถว่าเป็นที่รวมอวัยวะใหญ่น้อยและสิ่งทั้งหลายมีผมเป็นต้น.
               อนึ่ง ชื่อว่ากาย ด้วยอรรถว่าเป็นที่เกิดแห่งสิ่งน่าเกลียดทั้งหลายเหมือน ที่ชื่อว่ากาย ด้วยอรรถว่าเป็นที่รวมฉะนั้น.
               ชื่อว่ากาย เพราะเป็นที่เกิดของสิ่งน่าเกลียด คือน่าเกลียดอย่างยิ่ง.
               บทว่า อาโย ได้แก่ ที่เกิด.
               ในบทนั้นมีอธิบายคำว่า อาโย เพราะอรรถว่าสิ่งทั้งหลายย่อมเกิดจากกายนั้น. อะไรเกิด? สิ่งที่น่าเกลียดมีผมเป็นต้น. ชื่อว่า กาโย เพราะอรรถว่าเป็นที่เกิดของสิ่งน่าเกลียด ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กายานุปสสี - พิจารณาเห็นว่า ได้แก่ พิจารณาเห็นกายเป็นปกติ, หรือพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งกาย, แม้กล่าวว่า กาเย แล้วยังถือเอากายเป็นครั้งที่ ๒ อีกว่า กายานุปสฺสี พึงทราบว่า ท่านกล่าวเพื่อแสดงการกำหนดและแยกออกเป็นก้อน โดยไม่ปนกัน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงไม่กล่าวว่า เวทนานุปสฺสี หรือ จิตฺตธมฺมานุปสฺสี ในกาย,
               ที่แท้ก็ กายานุปสฺสี นั่นเอง เพราะเหตุนั้นจึงเป็นอันท่านแสดงการกำหนดโดยไม่ปนกันด้วยอาการของกายานุปัสสนาในวัตถุคือกายนั่นเอง.
               อนึ่ง ภิกษุไม่พิจารณาเห็นธรรมอย่างหนึ่งพ้นจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย, มิใช่พิจารณาเห็นหญิงและบุรุษพ้นจากผมและขนเป็นต้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ภิกษุไม่พิจารณาเห็นธรรมอย่างหนึ่พ้นจากภูตรูปและอุปาทายรูป แม้ในกายอันเป็นรวมภูตรูปและอุปาทายรูป มีผมและขนเป็นต้น,
               ที่แท้พิจารณาเห็นการประชุมอวัยวะใหญ่น้อย ดุจพิจารณาเห็นเครื่องประกอบรถ, พิจารณาเห็นการประชุมผมและขนเป็นต้น ดุจพิจารณาเห็นส่วนของนคร, พิจารณาเห็นการประชุมภูตรูปและอุปาทายรูป ดุจแยกต้นกล้วยใบกล้วยและเครือกล้วยออกจากกัน และดุจแบกำมือที่เปล่าออก เพราะเหตุนั้นจึงเป็นอันท่านแสดงการแยกออกจากเป็นก้อน ด้วยการเห็นโดยประการต่างกันของวัตถุ กล่าวคือสังขารด้วยการประชุมกันนั่นเอง.
               จริงอยู่ ในบทนี้ กายก็ดี หญิงก็ดี ชายก็ดี ธรรมใดๆ อื่นก็ดีพ้นจากการประชุมกันตามที่กล่าวแล้ว ย่อมไม่ปรากฏ. แต่ในเหตุเพียงการประชุมธรรมตามที่กล่าวแล้วนั่นแล สัตว์ทั้งหลายย่อมทำการยึดมั่นผิดอย่างนั้นๆ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
                         ยํ ปสฺสติ น ตํ ทิฏฺฐํ     ยํ ทิฏฺฐํ ตํ น ปสฺสติ
                         อปสฺสํ พชฺฌเต มูฬฺโห  พชฺฌมาโน น มุจฺจติ
                         บุคคลเห็นสิ่งใด สิ่งนั้น ชื่อว่าอันเขาเห็นแล้ว ก็หาไม่
                         สิ่งใดที่เห็นแล้ว ชื่อว่าย่อมไม่เห็นสิ่งนั้น คนหลงเมื่อ
                         ไม่เห็นย่อมติด เมื่อติดย่อมไม่หลุดพ้น ดังนี้.
               ท่านกล่าวไว้ดังนี้ เพื่อแสดงการแยกเป็นก้อนออกไปเป็นต้น.
               อนึ่ง ด้วยอาทิศัพท์ในบทนี้ พึงทราบความดังนี้.
               เพราะเนื้อความนี้ ได้แก่ การพิจารณาเห็นกายในกายนี้นั่นเอง. มิใช่การพิจารณาเห็นธรรมอื่น.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านอธิบายไว้ว่า มิใช่พิจารณาเห็นความเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เป็นความงาม ในกายนี้ซึ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และเป็นของไม่งาม เหมือนการพิจารณาเห็นน้ำที่พยับแดดซึ่งไม่มีน้ำฉะนั้น.
               อันที่จริงแล้วพิจารณาเห็นกาย ก็คือพิจารณาเห็นการประชุมอาการที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และเป็นของไม่งามนั่นเอง.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวถึงกายมีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นเบื้องต้น และมีกระดูกป่นละเอียดเป็นที่สุด โดยนัยมีอาทิว่า๑- อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขุ อรญฺญคโต วา รุกฺขมูลคโต วา ฯเปฯ โส สโตว อสฺสสติ
               ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในศาสนานี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ฯลฯ ภิกษุนั้นมีสติหายใจเข้า…
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๗๔

               ในสติปัฏฐานกถาข้างหน้า พึงเห็นความอย่างนี้ว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย เพราะพิจารณาเห็นในกายนี้เท่านั้นของกายทั้งหมดที่ท่านกล่าวถึงกายว่า ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ย่อมพิจารณาเห็นกองปฐวีธาตุ กองอาโปธาตุ กองเตโชธาตุ กองวาโยธาตุ กองผม กองขน กองผิว กองหนัง กองเนื้อ กองเลือด กองกระดูก กองเยื่อในกระดูก.๒-
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความอย่างนี้ว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกาย กล่าวคือการประชุมธรรมมีผมเป็นต้นในกาย เพราะพิจารณาเห็น การประชุมธรรมต่างๆ มีผมและขนเป็นต้นนั้นๆ นั่นเอง เพราะไม่เห็นอะไรๆ ที่ควรยึดถืออย่างนี้ว่า เรา หรือของเรา ในกาย.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นความแม้อย่างนี้ว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย แม้เพราะพิจารณาเห็นกาย กล่าวคือการประชุมอาการมีอนิจจลักษณะเป็นต้น ทั้งหมดอันมีนัยมาแล้วข้างหน้า โดยลำดับมีอาทิว่า ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในกายนี้, ไม่พิจารณาเห็นโดยความไม่เที่ยงเป็นของเที่ยง๒- ดังนี้ นี้เป็นความทั่วไปในสติสัมปัฏฐาน ๔.
____________________________
๒- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๒๗

               บทว่า กาเย กายานุปสฺสี - ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกาย.
               ความว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายอย่างหนึ่งๆ ในกายดังที่กล่าวไว้เป็นส่วนมาก มีกองอัสสาสะและกองปัสสาสะเป็นต้น.
               บทว่า วิหรติ นี้แสดงถึงการบำเพ็ญวิหารธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในวิหารธรรม คือ อิริยาบถ ๔.
               อธิบายว่า ภิกษุเปลี่ยนความเมื่อยในอิริยาบถหนึ่ง ด้วยอิริยาบถอื่นแล้วนำตนที่ยังซบเซาอยู่ให้คล่องแคล่ว.
               คำว่า อาตาปี - มีความเพียรนี้ แสดงถึงการบำเพ็ญความเพียรกำหนดกาย.
               อธิบายว่า ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรที่ท่านกล่าวว่า อาตาโป เพราะเผากิเลสในภพ ๓ ในสมัยนั้น, ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อาตาปี - มีความเพียร.
               บทว่า สมฺปชาโน - มีสัมปชัญญะ คือเป็นผู้ประกอบด้วยญาณ อันได้แก่สัมปชัญญะกำหนดกาย.
               บทว่า สติมา - มีสติ คือเป็นผู้ประกอบด้วยสติกำหนดกาย.
               ก็เพราะภิกษุนี้กำหนดอารมณ์ด้วยสติแล้วพิจารณาเห็นด้วยปัญญา.
               จริงอยู่ ผู้ไม่มีสติจะพิจารณาเห็นไม่ได้เลย.
               ด้วยเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า๓- สติญฺจ ขฺวาหํ ภิกฺขเว สพฺพตฺถิกํ วทามิ๓- - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสติแลมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง.
               ฉะนั้น ในบทนี้ท่านจึงกล่าวถึงกรรมฐานคือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยข้อความเพียงเท่านี้ว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ - ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ดังนี้.
____________________________
๓- สํ. มหา. เล่ม ๑๙/ข้อ ๕๗๒

               อีกอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีความเพียร เป็นผู้หดหู่ในภายใน เป็นผู้ทำอันตราย, ผู้ไม่มีสัมปชัญญะย่อมหลงในการกำหนดอุบาย และในการเว้นสิ่งไม่เป็นอุบาย. ผู้มีสติหลงใหลย่อมไม่สามารถในการไม่สละอุบาย และในการไม่กำหนดสิ่งไม่เป็นอุบาย ฉะนั้น, ด้วยเหตุนั้น กรรมฐานนั้นจึงไม่สำเร็จแก่ภิกษุนั้น,
               ฉะนั้น กรรมฐานนั้นย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพของธรรมเหล่าใด เพื่อแสดงถึงธรรมเหล่านั้น พึงทราบว่า ท่านจึงกล่าวบทนี้ว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา - ภิกษุมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติดังนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานและองค์ประกอบแล้วบัดนี้ เพื่อทรงแสดงองค์แห่งปหานะ จึงตรัสว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ - กำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสีย.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า วิเนยฺย - กำจัดเสีย ได้แก่ กำจัดด้วยตทังควินัย - กำจัดชั่วคราว หรือวิกขัมภนวินัย - กำจัดด้วยการข่มไว้.
               บทว่า โลเก ความว่า กายใดกำหนดไว้ในคราวก่อน กายนั้นนั่นแลชื่อว่าโลก ในที่นี้ ด้วยอรรถว่าแตกและสลายไป ละอภิชฌาและโทมนัสในโลกนั้นเสีย.
               อนึ่ง เพราะภิกษุนั้นย่อมละอภิชฌาและโทมนัสในส่วนเพียงกายเท่านั้นก็หาไม่, ย่อมละแม้ในเวทนาเป็นต้นอีกด้วย, ฉะนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า๔- ปญฺจปิ อุปาทานกฺขนฺธา โลโก - แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็เป็นโลก.
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๔๔๐

               พึงทราบว่า ท่านกล่าวบทนี้ด้วยการถอดความซึ่งธรรมเหล่านั้น เพราะธรรมเหล่านั้นนับเข้าในโลก.
               พระสารีบุตรกล่าวว่า ในบทว่า โลเก นั้น โลกเป็นไฉน?
               กายนั้นนั่นแลเป็นโลก. นี้เป็นคำอธิบายในบทนี้.
               ท่านกล่าวย่อไว้ว่า อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ดังนี้.
               ก็ในระหว่างปาฐะในสังยุตตนิกายและอังคุตตรนิกาย อาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ต่างหากกัน.
               ชื่อว่า อภิชฺฌา เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเพ่ง คือปรารถนา หรือเพ่งเอง หรือเพียงความเพ่งเท่านั้น.
               อนึ่ง ในบทว่า อภิชฺฌาโทมนสฺสํ นี้ เพราะกามฉันทะสงเคราะห์เข้ากับอภิชฌา พยาบาทสงเคราะห์เข้ากับโทมนัส. ฉะนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงการละนิวรณ์ด้วยแสดงถึงธรรมทั้งสองอันเป็นธรรมมีกำลังนับเนื่องในนิวรณ์.
               อนึ่ง ในบทนี้โดยความต่างกัน ท่านกล่าวถึงการละความยินดีอันเป็นมูลเหตุของสมบัติทางกาย ด้วยกำจัดอภิชฌา, ละความยินร้ายอันเป็นมูลเหตุของความวิบัติทางกาย ด้วยกำจัดโทมนัส.
               อนึ่ง ละความยินดีในกายด้วยกำจัดอภิชฌา, ละความไม่ยินดีในกายภาวนาด้วยกำจัดโทมนัส, ละการเพิ่มเติมความงามและความสุขเป็นต้นที่ไม่เป็นจริงในกายด้วยกำจัดอภิชฌา, ละการนำออกความไม่งามความไม่เป็นสุขเป็นต้น อันเป็นจริงในกายด้วยกำจัดโทมนัส. เป็นอันท่านแสดงถึงอานุภาพของโยคะ และความสามารถในโยคะของพระโยคาวจรด้วยบทนั้น.
               อานุภาพของโยคะ คือ พระโยคาวจรเป็นผู้พ้นจากความยินดียินร้าย เป็นผู้อดกลั้นความไม่ยินดีและความยินดี และเป็นผู้เว้นจากการเพิ่มเติมในสิ่งที่ไม่เป็นจริง และการนำสิ่งที่เป็นจริงออก.
               อนึ่ง พระโยคาวจรนั้นเป็นผู้พ้นจากความยินดียินร้าย เป็นผู้อดกลั้นความไม่ยินดีและความยินดี ไม่หมกมุ่นในสิ่งไม่เป็นจริงและกำจัดสิ่งเป็นจริง เป็นผู้สามารถในโยคะด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่งในบทว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้ ท่านกล่าวถึงกรรมฐานแห่ง อนุปสฺสนา.
               ในบทว่า วิหรติ นี้ ท่านกล่าวถึงการบริหารกายของภิกษุผู้บำเพ็ญกรรมฐานด้วยวิหารธรรมดังกล่าวแล้ว.
               พึงทราบว่า ในบทมีอาทิว่า อาตาปี ท่านกล่าวถึงสัมมัปปธานด้วยความเพียร, กล่าวกรรมฐานอันมีประโยชน์ทั้งหมด หรืออุบายการบริหารกรรมฐานด้วยสติสัมปชัญญะ, กล่าวสมถะที่ได้ด้วยอำนาจกายานุปัสสนาด้วยสติ, กล่าววิปัสสนาด้วยสัมปชัญญะ, กล่าวผลของภาวนาด้วยกำจัดอภิชฌาและโทมนัส.
               อนึ่ง ในบทมีอาทิว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี - ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย พึงประกอบความในคำของเวทนาเป็นต้นต่อไปแล้วพึงทราบตามควรโดยนัยดังกล่าวแล้ว ในกายานุปัสสนานั่นแล.
               อรรถอันไม่ทั่วไปมีดังต่อไปนี้
               ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาอย่างหนึ่งๆ โดยมีความไม่เที่ยงเป็นต้น เป็นอย่างๆ ไปในเวทนาทั้งหลายมีประเภทไม่น้อยมีสุขเวทนาเป็นต้น, พิจารณาเห็นจิตดวงหนึ่งๆ โดยมีความไม่เที่ยงเป็นต้น อย่างหนึ่งๆ ในจิตมีประเภท ๑๖ ดวงมีจิตมีราคะเป็นต้น, พิจารณาเห็นธรรมอย่างหนึ่งๆ โดยมีความไม่เที่ยงเป็นต้น อย่างหนึ่งๆ ในธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ เว้นกายเวทนาและจิต, หรือพิจารณาเห็นธรรมมีนิวรณ์เป็นต้น โดยนัยดังกล่าวแล้วในสติปัฏฐานสูตร.๕-
____________________________
๕- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๒๗๓

               อนึ่ง ในบทเหล่านี้ พึงทราบว่า บทว่า กาเย เป็นเอกวจนะ เพราะสรีระมีหนึ่ง.
               บทว่า จิตฺเต เป็นเอกวจนะ ท่านทำโดยถือเอาชาติ เพราะไม่มีความต่างแห่งสภาวะของจิต.
               อนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นโดยประการที่พึงเห็นเวทนาเป็นต้น พึงทราบว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย, เป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิต, เป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย.
               พึงพิจารณาเห็นเวทนาอย่างไร?
               พึงพิจารณาเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์, พึงพิจารณาเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นดังลูกศร, พึงพิจารณาเห็นอทุกขมสุขโดยความเป็นของไม่เที่ยง.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๖-
                                   โย สุขํ ทุกฺขโต อทฺท ทุกฺขมทฺทกฺขิ สลฺลโต
                                   อทุกฺขมสุขํ สนฺตํ อทฺทกฺขิ นํ อนิจฺจโต.
                                   ส เว สมฺมทฺทโส ภิกฺขุ ปริชานาติ เวทนา.

                                   ภิกษุใดได้เห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นทุกข์
                         โดยความเป็นดังลูกศร ได้เห็นอทุกขมสุขอันสงบระงับแล้ว
                         นั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง. ภิกษุนั้นแลเป็นผู้เห็นชอบ
                         ย่อมรู้รอบเวทนาทั้งหลาย.

____________________________
๖- สํ. สฬา เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๖๘

               อนึ่ง พึงพิจารณาเห็นเวทนาทั้งหมดโดยความเป็นทุกข์
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรากล่าวว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ได้เสวยแล้ว, สิ่งนั้นทั้งหมดเป็นไปในทุกข์.๗-
____________________________
๗- สํ. สฬา เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๙๑

               อนึ่ง พึงพิจารณาเห็นโดยความเป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง.
               ดังที่ท่านกล่าวว่า สุขเวทนาเป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะปรวนแปร. ทุกขเวทนาเป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะปรวนแปร, อทุกขมสุขเวทนาเป็นสุขเพราะรู้ เป็นทุกข์เพราะไม่รู้.๘- แต่ก็ควรพิจารณาด้วยอำนาจการพิจารณาเห็นสัตว์มีความไม่เที่ยงเป็นต้น.
____________________________
๘- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๑๑

               พึงทราบวินิจฉัยในจิตและธรรมดังต่อไปนี้
               พึงพิจารณาเห็นจิตก่อน ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาเห็นสัตว์มีความไม่เที่ยงเป็นต้น อันมีประเภทจิตที่ต่างๆ กัน โดยมีอารัมมณะ อธิปติ สหชาตะ ภูมิ กรรม วิบากและกิริยาเป็นต้นและประเภทแห่งจิต ๑๖ อย่างมีสราคจิตเป็นต้น.
               พึงพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย ด้วยสามารถแห่งการพิจารณาเห็นสัตว์ มีความไม่เที่ยงเป็นต้นแห่งสุญญตาธรรม อันมีลักษณะของตนและสามัญลักษณะ ทั้งมีความสงบและไม่สงบเป็นต้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ อภิชฌาโทมนัสนั้นที่ภิกษุละได้ในโลก อันได้แก่กายจึงเป็นอันละได้แม้ในโลกมีเวทนาเป็นต้นด้วยโดยแท้, แต่ถึงกระนั้นท่านก็กล่าวไว้ในที่ทั้งปวง ด้วยสามารถบุคคลต่างกัน และด้วยสามารถการเจริญสติปัฏฐานอันมีในขณะต่างกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ครั้นละได้ในส่วนหนึ่งแล้ว, แม้ในส่วนที่เหลือก็เป็นอันละได้ด้วย.
               ด้วยเหตุนั้นแล พึงทราบว่าท่านกล่าวอย่างนี้ เพื่อแสดงการละอภิชฌาของภิกษุนั้น.
               สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในส่วนเบื้องต้นด้วยประการฉะนี้.
               ภิกษุย่อมกำหนดกายด้วยจิตอื่น กำหนดเวทนาด้วยจิตอื่น กำหนดจิตด้วยจิตอื่น กำหนดธรรมทั้งหลายด้วยจิตอื่น. แต่ในขณะโลกุตรมรรค สติปัฏฐานย่อมได้ในจิตดวงเดียวเท่านั้น.
               สติสัมปยุตด้วยวิปัสสนาของบุคคลผู้มากำหนดกายตั้งแต่ต้น ชื่อว่ากายานุปัสสนา. บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่ากายานุปัสสี. สติสัมยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคของบุคคลผู้ขวนขวาย วิปัสสนาแล้วบรรลุอริยมรรค ชื่อว่ากายานุปัสสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่ากายานุปัสสี.
               สติสัมปยุตด้วยวิปัสสนาของบุคคลผู้มากำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าธัมมานุปัสสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่าธัมมานุปัสสี. สติสัมยุตด้วยมรรค ในขณะแห่งมรรคของบุคคลผู้ขวนขวายวิปัสสนา แล้วบรรลุอริยมรรค ชื่อว่าธัมมานุปัสสนา, บุคคลผู้ประกอบด้วยสตินั้น ชื่อว่าธัมมานุปัสสี.
               การแสดงอย่างนี้ ย่อมตั้งอยู่ในบุคคล. แต่สติกำหนดกาย ละความเห็นผิดในกายว่างาม ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่ากายานุปัสสนา.
               สติกำหนดเวทนา ละความเห็นผิดในเวทนาว่าเป็นสุข ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเวทนานุปัสสนา.
               สติกำหนดจิต ละความเห็นผิดในจิตว่า เป็นของเที่ยง ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าจิตตานุปัสสนา.
               สติกำหนดธรรม ละความเห็นผิดในธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตน ย่อมสำเร็จด้วยมรรค เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าธัมมานุปัสสนา. สติสัมปยุตด้วยมรรคอย่างเดียว ย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง โดยความที่ยังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้ในจิตดวงเดียวเท่านั้น ในขณะแห่งโลกุตรมรรค.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มัคคสัจนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=906&Z=950
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=3890
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=3890
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :