ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑. พุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๑๐ / ๑๑.

               ๑. พรรณนาพุทธาปทาน               
               บัดนี้ พระเถระมีความประสงค์จะกล่าวอรรถกถาอปทาน ในลำดับอัพภันตรนิทาน จึงกล่าวไว้ว่า
                         อปทาน คืออปทานใด แสดงนัยอันวิจิตร พระอรหันตเจ้า
                         ทั้งหลาย สังคายนาไว้ในขุททกนิกาย บัดนี้ ถึงลำดับแห่ง
                         การสังวรรณนา เนื้อความแห่งอปทานนั้น ดังนี้.

               ก่อนอื่น อปทานใดในคาถานั้น ย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในรสอันเดียวกัน เพราะท่านกล่าวไว้ว่า พระพุทธพจน์ทั้งสิ้นมีรสคือวิมุตติเป็นอันเดียวกัน, ย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในธรรมที่ท่านสงเคราะห์ไว้ ๒ ส่วนด้วยอำนาจธรรมและวินัย,
               ในบรรดาปฐมพุทธพจน์ มัชฌิมพุทธพจน์และปัจฉิมพุทธพจน์ ย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในมัชฌิมพุทธพจน์, ในบรรดาพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก ย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในพระสุตตันตปิฎก, ในบรรดานิกาย ๕ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกายและขุททกนิกาย ย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในขุทนิกาย, ในบรรดานวังคสัตถุศาสน์ คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ท่านสงเคราะห์ลงในคาถา.
               ในบรรดาธรรมขันธ์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ซึ่งท่านพระอานนท์กล่าวไว้อย่างนี้ว่า
                                   ธรรมเหล่าใดที่คล่องปากขึ้นใจของข้าพเจ้า ธรรม
                         เหล่านั้นมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ คือที่ข้าพเจ้าเรียน
                         จากพระพุทธเจ้า ๘๒,๐๐๐ เรียนจากภิกษุ ๒,๐๐๐ พระ
                         ธรรมขันธ์ ดังนี้.

               เป็นอันสงเคราะห์ลงใน ๒-๓ พระธรรมขันธ์.
               บัดนี้ ท่านเมื่อจะแสดงอปทานนั้น จึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาสมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ถ้วน มีจำนวนนับไม่ถ้วน ดังนี้.
               ในคำเหล่านั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บารมี ๑๐ ถ้วนนั่นเอง จัดเป็นบารมี ๓๐ ถ้วน ด้วยอำนาจบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และปรมัตถบารมี ๑๐ โดยเป็นอย่างต่ำ อย่างกลางและอย่างสูง.
               ผู้บริบูรณ์ดี คือผู้สมบูรณ์ ประกอบ พร้อมพรั่ง บรรลุ ประกอบพร้อมด้วยบารมี ๓๐ ถ้วนนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี ๓๐ ถ้วน.
               ชื่อว่าราชา เพราะยังหมู่สัตว์ผู้อยู่ในสกลโลกทั้ง ๓ และกายของตนให้ยินดี คือให้ยึดติดด้วยพรหมวิหารสมาบัติ ๔ คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือด้วยความเป็นผู้มีจิตเป็นอันเดียวด้วยธรรมเครื่องอยู่แห่งผลสมาบัติ,
               พระราชาโดยธรรม ชื่อว่าพระธรรมราชา, พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างนี้.
               อธิบายว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาที่ล่วงไปแล้ว คือจากไปแล้ว ดับแล้ว ถึงการตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว มีจำนวนนับไม่ได้ คือเว้นจากการนับ ด้วยอำนาจจำนวนสิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ ปโกฏิ โกฏิปโกฏิ นหุต นินนหุต อักโขภินี พินทุ อัพพุทะ นิรัพพุทะ อหหะ อพพะ อฏฏะ โสคันธิกะ อุปปละ กุมุทะ ปุณฑริกะ ปทุมะ กถานะ มหากถานะ และอสังเขยยะ.๑-
____________________________
๑- เป็นวิธีนับในคัมภีร์ทางศาสนา โปรดดูคำอธิบายในหนังสืออภิธานัปปทีปิกา หน้า ๑๓๔.

               พระผู้มีพระภาคเจ้า อันพระอานนทเถระทูลถามถึงอธิการที่พระองค์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ทรงทำไว้ ในอดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้น และสมภารที่พระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงทำไว้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า สมฺโพธึ พุทฺธเสฏฺฐานํ ดังนี้.
               อธิบายว่า ดูก่อนอานนท์ผู้เจริญ เธอจงฟังอปทานของเรา.
               เชื่อมความว่า ดูก่อนอานนท์ ในกาลก่อนคือในกาลบำเพ็ญโพธิสมภาร เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ อภิวาทด้วยเศียรเกล้าซึ่งพระสัมโพธิญาณ คือจตุสัจมรรคญาณหรือพระสัพพัญญุตญาณ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประเสริฐคือผู้แทงตลอดสัจจะ ๔.
               อธิบายว่า เราเอานิ้ว ๑๐ นิ้ว คือฝ่ามือทั้งสองนมัสการ คือไหว้พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนายกของโลก คือผู้เป็นใหญ่ในโลก พร้อมทั้งพระสงฆ์คือเป็นไปกับสงฆ์สาวก แล้วอภิวาทด้วยเศียรคือด้วยศีรษะ คือกระทำการสรรเสริญด้วยความเต็มใจ แล้วกระทำการนอบน้อมอยู่.
               บทว่า ยาวตา พุทฺธเขตฺเตสุ ความว่า รัตนะทั้ง ๗ มีแก้วไพฑูรย์เป็นต้นที่ตั้งอยู่ในอากาศคือที่อยู่ในอากาศ ที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นคือที่อยู่บนพื้นของแผ่นดิน นับไม่ถ้วนคือนับไม่ได้ มีอยู่เพียงใดคือมีประมาณเท่าใด ในพุทธเขตในหมื่นจักรวาล เราเอาใจคือจิตประมวลมาซึ่งรัตนะทั้งหมดนั้น คือจักอธิษฐานจิตนำมาด้วยดี.
               อธิบายว่า เราจะกระทำให้เป็นกองรอบๆ ปราสาทของเรา.
               บทว่า ตตฺถ รูปิยภูมิยํ ความว่า นิรมิตพื้นอันสำเร็จด้วยรูปิยะคือสำเร็จด้วยเงิน ในปราสาทหลายชั้นนั้น.
               อธิบายว่า เรานิรมิตปราสาทหลายร้อยชั้นอันล้วนแล้วด้วยรัตนะ คือสำเร็จด้วยรัตนะ ๗ สูงคือพุ่งขึ้นเด่นอยู่ในท้องฟ้า คือโชติช่วงอยู่ในอากาศ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะพรรณนาปราสาทนั้นเท่านั้น จึงตรัสว่า วิจิตฺถมฺภํ ดังนี้ เป็นต้น.
               เชื่อมความว่า ปราสาทให้ยกเสามีสีดังแก้วลายเป็นต้นมิใช่น้อย วิจิตรงดงาม ทำไว้อย่างดี คือสร้างไว้ดีถูกลักษณะ จัดแบ่งไว้เรียบร้อยโดยเป็นส่วนสูงและส่วนกว้าง ชื่อว่าควรมีค่ามาก เพราะนิรมิตเสาค่ายอันมีค่าหลายร้อยโกฏิไว้.
               ปราสาทวิเศษอย่างไรอีกบ้าง?
               คือปราสาทมีขื่ออันสำเร็จด้วยทอง ได้แก่ ประกอบด้วยขื่อและคันทวยอันทำด้วยทอง ประดับแล้ว คืองดงามด้วยนกกระเรียนและฉัตรที่ยกขึ้นในปราสาทนั้น.
               เมื่อจะทรงพรรณนาความงามของปราสาทโดยเฉพาะซ้ำอีก จึงตรัสว่า ปฐมา เวฬุริยา ภูมิ ดังนี้ เป็นต้น.
               ความว่า ปราสาทซึ่งมีพื้นหลายร้อยชั้นนั้นงดงาม คือน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เสมอเหมือนหมอก คือเช่นกับหลืบเมฆฝน ปราศจากมลทินคือไม่มีมลทิน มีสีเขียว สำเร็จด้วยแก้วไพฑูรย์. อธิบายว่า พื้นชั้นแรกดารดาษ คือสะพรั่งด้วยกอบัวและดอกปทุมที่เกิดในน้ำ งดงามด้วยกาญจนภูมิ คือพื้นทองอันประเสริฐคือสูงสุด.
               อธิบายว่า พื้นปราสาทนั้นนั่นแล บางชั้นเป็นส่วนของแก้วประพาฬ คือเป็นโกฏฐาสของแก้วประพาฬ มีสีดังแก้วประพาฬ พื้นบาง ชั้นแดง คือมีสีแดง พื้นบางชั้นงาม คือเป็นที่ดื่มด่ำใจ มีแสงสว่างดังสีแมลงค่อมทอง คือเปล่งรัศมีอยู่ พื้นบางชั้นส่องแสงไปทั้ง ๑๐ ทิศ.
               ในปราสาทนั้น มีป้อมและศิลาติดหน้ามุขที่จัดไว้ดีแล้ว คือจัดไว้เรียบร้อย มีสีหบัญชรและสีหทวารที่ทำไว้เป็นแผนกๆ ตามส่วน.
               บทว่า จตุโร เวทิกา ความว่า ที่วลัยของชุกชีและหน้าต่างมีต่าข่าย ๔ แห่ง มีพวงของหอมและช่อของหอมอันเป็นที่รื่นรมย์ใจ คือเป็นที่จับใจ ห้อยย้อยอยู่.
               ในปราสาทนั้นแหละ มีเรือนยอดประดับด้วยรัตนะ ๗ คืองดงามด้วยรัตนะ ๗. มีสีเป็นอย่างไร? คือเป็นสีเขียวคือมีสีเขียว เป็นสีเหลืองคือมีสีเหลือง ได้แก่ มีสีเหลืองทอง เป็นสีแดงคือมีสีเหมือนโลหิต ได้แก่มีสีแดง เป็นสีขาวคือมีสีขาว ได้แก่เป็นสีเศวต มีสีดำล้วนคือมีสีดำไม่มีสีอื่นเจือ.
               อธิบายว่า ปราสาทนั้นประกอบด้วยเรือนยอด คือประกอบด้วยเรือนยอดอย่างดี และด้วยเรือนยอดมีช่อฟ้าอย่างดี.
               ในปราสาทนั้นแหละ มีดอกปทุมชูดอก คือมีดอกตั้งบาน ได้แก่มีดอกปทุมบานสะพรั่งงดงาม.
               อธิบายว่า ปราสาทนั้นงดงามด้วยหมู่เนื้อร้ายมีสีหะและพยัคฆ์เป็นต้น และงดงามด้วยหมู่ปักษีมีหงส์ นกกระเรียนและนกยูงเป็นต้น.
               หมายความว่า ปราสาทนั้นสูงลิ่ว เพราะสูงจรดท้องฟ้า จึงเกลื่อนกล่นด้วยนักษัตรและดวงดาว ประดับด้วยพระจันทร์ พระอาทิตย์และรูปพระจันทร์พระอาทิตย์.
               อธิบายว่า ปราสาทของพระเจ้าจักรพรรดิหลังนั้นนั่นแหละ ดาดาษด้วยข่ายเหมคือข่ายทอง ประกอบด้วยกระดิ่งทองคือประกอบด้วยข่ายกระดิ่งทอง.
               หมายความว่า ระเบียบดอกไม้ทองคือถ่องแถวของดอกไม้ดอกเป็นที่รื่นรมย์ใจคือเป็นที่จับใจ ย่อมเปล่งเสียง คือย่อมส่งเสียงเพราะแรงลม คือเพราะลมกระทบ.
               ปักธงซึ่งย้อมสี คือระบายด้วยสีต่างๆ คือมีสีมิใช่น้อย คือธงสีหงสบาท ได้แก่ สีฝาง สีแดงคือสีโลหิต เป็นสีเหลืองคือมีสีเหลือง และธงสีทองและสีเหลืองแก่ ได้แก่มีสีดังทองชมพูนุทและมีสีเหลืองแก่ คือปักธงสีต่างๆ ไว้ในปราสาทนั้น.
               คำว่า ธชมาลินี นี้ ท่านกล่าวโดยเป็นลิงควิปลาส. อธิบายว่า ปราสาทนั้นประกอบด้วยระเบียบธง.
               พระองค์เมื่อจะทรงพรรณนาเครื่องลาดเป็นต้นในปราสาทนั้น จึงตรัสว่า น นํ พหู ดังนี้ เป็นต้น. อธิบายว่า ปราสาทนั้นชื่อว่าจะไม่มีสิ่งของโดยมาก ย่อมไม่มีในปราสาทนั้น. ที่นอนมีเตียงและตั่งเป็นต้นวิจิตรด้วยที่นอนต่างๆ คือวิจิตรงดงามด้วยเครื่องลาดมิใช่น้อย มีจำนวนหลายร้อย คือนับได้หลายร้อย.
               มีเป็นอย่างไร? คือที่นอนเป็นแก้วผลึก ได้แก่ทำด้วยแก้วผลึก ที่สำเร็จด้วยเงินคือทำด้วยเงิน สำเร็จด้วยแก้วมณีคือทำด้วยแก้วมณีเขียว ทำด้วยทับทิม คือทำด้วยแก้วมณีรัตตชาติ สีแดงโดยกำเนิด สำเร็จด้วยแก้วลาย คือทำด้วยแก้วมณีด่าง คือเพชรตาแมว ลาดด้วยผ้ากาสีเนื้อดีคือลาดด้วยผ้ากาสีเนื้อละเอียดอ่อน.
               ผ้าห่มชื่อว่า ปาวุรา. ผ้าห่มเป็นเช่นไร? คือผ้ากัมพล ได้แก่ผ้าที่ทอด้วยผม ผ้าทุกุละได้แก่ผ้าที่ทอด้วยผ้าทุกุละ ผ้าจีนะได้แก่ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายจีน ผ้าปัตตุณณะได้แก่ผ้าที่ทอด้วยฝ้ายอันเกิดมีในประเทศปัตตุณณะ เป็นผ้าสีเหลือง คือมีสีเหลือง.
               อธิบายว่า เราให้ปูลาดเครื่องลาดอันวิจิตร คือที่นอนทั้งหมดอันวิจิตรด้วยเครื่องลาดและผ้าห่ม มิใช่น้อยด้วยใจคือด้วยจิต.
               เมื่อจะทรงพรรณนาปราสาทนั้นโดยเฉพาะ จึงตรัสว่า ตาสุ ตาเสฺวว ภูมีสุ ดังนี้ เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รตนกูฏลงฺกตํ ความว่า ประดับ คืองามด้วยยอดอันล้วนด้วยแก้ว คือช่อฟ้าแก้ว.
               บทว่า มณิเวโรจนา อุกฺกา ความว่า คบเพลิง คือประทีปมีด้ามอันกระทำด้วยแก้วมณีอันรุ่งเรือง คือแก้วมณีแดง.
               บทว่า ธารยนฺตา สุติฏฺฐเร ความว่า คนหลายร้อยยืนทรงไว้ คือถือชูไว้ในอากาศอย่างเรียบร้อย.
               เมื่อจะทรงพรรณนาปราสาทนั้นนั่นแหละซ้ำอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า โสภนฺติ เอสิกาถมฺภา ดังนี้. เสาที่เขาปักไว้ที่ประตูเมือง เพื่อต้องการความงาม ชื่อว่าเสาระเนียด ในคำว่า โสภนฺติ เอสิกาถมฺภา นั้น. ซุ้มประตูงามคือน่าพึงใจ เป็นซุ้มประตูทองคือสำเร็จด้วยทอง เป็นทองชมพูนุทคือล้วนแล้วด้วยทองชมพูนุท สำเร็จด้วยไม้แก่นคือทำด้วยแก่นไม้ตะเคียน และทำด้วยเงิน.
               อธิบายว่า เสาระเนียดและซุ้มประตูทำปราสาทนั้นให้งดงาม.
               อธิบายว่า ในปราสาทนั้น มีที่ต่อหลายแห่งจัดไว้เรียบร้อย วิจิตรคืองามด้วยบานประตูและกลอน เป็นวงรอบของที่ต่องดงามอยู่.
               บทว่า อุภโต ได้แก่ สองข้างปราสาทนั้น มีหม้อเต็มน้ำ ประกอบคือเต็มด้วยปทุมมิใช่น้อย และอุบลมิใช่น้อย ทำปราสาทนั้นให้งดงาม.
               ครั้นทรงพรรณนาความงามของปราสาทอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงประกาศปราสาทที่ทำด้วยรัตนะ และสักการะสัมมานะ การนับถือยกย่อง จึงตรัสคำมีอาทิว่า อตีเต สพฺพพุทฺเธ จ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีเต ความว่า ในกาลอันล่วงไปแล้วคือผ่านไปแล้ว เรานิรมิตพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกทุกองค์ พร้อมทั้งพระสงฆ์ คือเป็นไปกับหมู่สาวกที่เกิดมีมาแล้ว และพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งสาวกคือมีพระสาวก โดยมีวรรณ รูปโฉมและทรวดทรงตามปกติโดยสภาวะ พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกทุกพระองค์ เสด็จเข้าไปยังปราสาททางประตูที่จะต้องเสด็จเข้าไป ประทับนั่งบนตั่งอันทำด้วยทองล้วนๆ คือล้วนแล้วด้วยทองทั้งหมด เป็นอริยมณฑลคือเป็นหมู่พระอริยะ.
               อธิบายว่า ในบัดนี้คือในปัจจุบัน เราได้ให้พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม คือไม่มีผู้ยิ่งกว่าซึ่งมีอยู่ และพระปัจเจกพุทธเจ้าหลายร้อยองค์ผู้เป็นสยัมภู คือผู้เป็นเองไม่มีคนอื่นเป็นอาจารย์ ผู้ไม่พ่ายแพ้ คือผู้อันขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวบุตรมารทำให้แพ้ไม่ได้ ผู้บรรลุชัยชนะ ให้อิ่มหนำแล้ว. พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตกาลและปัจจุบันกาล พากันเสด็จขึ้น.
               อธิบายว่า พากันเสด็จขึ้นสู่ภพ คือปราสาทของเราอย่างดี.
               เชื่อมความว่า ต้นกัลปพฤกษ์เหล่าใดที่เป็นทิพย์คือเกิดในเทวโลกมีอยู่มาก และต้นกัลปพฤกษ์เหล่าใดที่เป็นของมนุษย์ คือเกิดในมนุษย์มีอยู่เป็นอันมาก เรานำเอาผ้าทั้งหมดจากต้นกัลปพฤกษ์เหล่านั้น แล้วให้ทำเป็นไตรจีวร แล้วให้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นครองไตรจีวร.
               ครั้นให้นุ่งห่มไตรจีวรอย่างนี้แล้ว เอาของเคี้ยวคือของอย่างใดอย่างหนึ่งมีขนมเป็นต้นที่ควรเคี้ยว อันถึงพร้อมแล้วคือมีรสอร่อย ของควรบริโภคคืออาหารที่ควรบริโภคอันอร่อย ของควรลิ้มคือของที่ควรเลียกินอันอร่อย ของควรดื่มคือน้ำปานะ ๘ อย่างที่สมบูรณ์คืออร่อย และโภชนะคืออาหารที่ควรกิน บรรจุให้เต็มที่ในบาตรมณีมัย คือทำด้วยศิลาอันงามคือดี แล้วถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้นั่งลงแล้ว.
               อธิบายว่า นิมนต์ให้รับเอาแล้ว.
               อริยมณฑลทั้งหมดนั้น คือหมู่พระอริยเจ้าทั้งหมดนั้น เป็นผู้มีทิพยจักษุเสมอกัน เป็นผู้เกลี้ยงเกลา อธิบายว่า เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยทิพยจักษุ เป็นผู้เกลี้ยงเกลาคือเป็นผู้สละสลวย คืองดงาม เพราะเว้นจากกิเลสทั้งปวง ครองจีวรคือเป็นผู้พรั่งพร้อมกันด้วยไตรจีวร เป็นผู้อันเราให้อิ่มหนำสำราญบริบูรณ์ด้วยของหวาน น้ำตาลกรวด น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยและข้าวชั้นดี.
               หมู่พระอริยเจ้าเหล่านั้นอันเราให้อิ่มหนำอย่างนี้แล้ว เข้าสู่ห้องแก้วคือเรือนมีห้องอันนิรมิตด้วยรัตนะทั้ง ๗ แล้วสำเร็จสีหไสยาบนที่นอนอันมีค่ามาก คือบนเตียงอันหาค่ามิได้ ดุจไกรสรราชสีห์มีถ้ำเป็นที่อยู่อาศัย คือนอนอยู่ในถ้ำฉะนั้น.
               อธิบายว่า สีหมฤคราชนอนตะแคงข้างขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า เอาเท้าขวาทำเป็นที่หนุนศีรษะ วางเท้าซ้ายทอดไปตรงๆ เอาหางซุกไว้ในระหว่างหัวไส้แล้วนิ่งๆ ฉันใด หมู่พระอริยเจ้าทั้งหลายก็สำเร็จคือกระทำการนอนฉันนั้น.
               อธิบายความว่า หมู่พระอริยเจ้าเหล่านั้น ครั้นสำเร็จสีหไสยาอย่างนี้แล้ว รู้ตัวอยู่คือสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ลุกขึ้นแล้วคือลุกขึ้นอย่างเรียบร้อย แล้วคู้บัลลังก์บนที่นอน คือทำการนั่งทำขาอ่อนให้แนบติดกันไป.
               บทว่า โคจรํ สพฺพพุทฺธานํ ความว่า เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌาน คือเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยความยินดีในฌาน อันเป็น โคจร คืออารมณ์ของพระพุทธเจ้าทั้งปวงทั้งที่ล่วงไปแล้วและที่ยังไม่มา.
               บทว่า อญฺเญ ธมฺมานิ เทเสนฺติ ความว่า บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าพวกหนึ่ง คือบางพวกแสดงธรรม อีกพวกหนึ่งเล่นคือรื่นรมย์ด้วยฤทธิ์ คือด้วยการเล่นฌานมีปฐมฌานเป็นต้น.
               ความอธิบายต่อไปว่า บางพวกอบรมอภิญญา คืออภิญญา ๕ ให้เชี่ยวชาญคือทำให้ชำนาญ คือบรรดาอภิญญา ๕ ย่อมถึงคือเข้า อภิญญาอันไปคือถึง บรรลุความชำนาญด้วยความชำนาญ ๕ ประการ กล่าวคือการนึก การเข้า การออก การหยุดยืนและการพิจารณา. บางพวกแผลงฤทธิ์ คือทำการแผลงฤทธิ์ให้เป็นหลายพันคน ได้แก่แผลงฤทธิ์มีอาทิอย่างนี้ คือแม้คนเดียวทำให้เป็นหลายคน แม้หลายคนทำให้เป็นคนเดียวก็ได้.
               บทว่า พุทฺธาปิ พุทฺเธ ความว่า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายประชุมกันอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมถามพระพุทธเจ้าทั้งหลายถึงปัญหาอันเป็นวิสัย คือเป็นอารมณ์ของพระสัพพัญญุตญาณ พระพุทธเจ้าเหล่านั้นย่อมตรัสรู้แจ้งจริง คือตรัสรู้โดยพิเศษไม่มีส่วนเหลือ ซึ่งฐานะคือเหตุ ที่ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะลึกซึ้งโดยอรรถอันละเอียดคือสุขุมด้วยพระปัญญา.
               ในกาลนั้น แม้พระสาวกทั้งหลายผู้ประชุมกันอยู่ในปราสาทของเรา ย่อมถามปัญหากะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ถามปัญหากะสาวกคือศิษย์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าและพระสาวกเหล่านั้น ต่างถามปัญหากันและกัน ต่างพยากรณ์คือแก้ปัญหากันและกัน.
               เมื่อจะทรงแสดงพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้น โดยมีภาวะเป็นอย่างเดียวกันอีก จึงตรัสคำมีอาทิว่า พุทฺธา ปจฺเจกพุทฺธา จ ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า พระพุทธเจ้าได้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกคือศิษย์ และผู้ปรนนิบัติคือนิสิต ทั้งหมดนี้ยินดีอยู่ด้วยความยินดีของตนๆ เร้นอยู่ ย่อมอภิรมย์อยู่ในปราสาทของเรา.
               พระเจ้าติโลกวิชัยจักรพรรดิราชนั้น ครั้นทรงแสดงอาจารสมบัติของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ในเวชยันตปราสาทของพระองค์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงอานุภาพของพระองค์ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ฉตฺตา ติฏฺฐนฺติ รตนา ดังนี้.
               ในคำนั้น มีอธิบายว่า ฉัตรแก้วอันล้วนแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพวงมาลัยทองเป็นทิวแถว คือห้อยตาข่ายทองอยู่ประจำ. ฉัตรทั้งหลายวงด้วยข่ายแก้วมุกดาคือล้อมด้วยข่ายแก้วมุกดา เพียงแต่คิดว่า ฉัตรทุกชนิดจงกั้นอยู่เหนือกระหม่อมคือศีรษะเรา ก็ย่อมปรากฏขึ้น.
               เพดานผ้าวิจิตรด้วยดาวทอง คือแวววาวด้วยดาวทองจงมีคือจงบังเกิดขึ้น.
               อธิบายว่า เพดานมิใช่น้อยทุกชนิด วิจิตรคือมีสีหลายอย่าง ดาษด้วยมาลัยคือแผ่ไปด้วยดอกไม้ จงกั้นอยู่เหนือกระหม่อม คือส่วนเบื้องบนแห่งที่เป็นที่นั่ง.
               เชื่อมความว่า สระโบกขรณีดาดาษคือกลาดเกลื่อนด้วยพวงดอกไม้คือพวงของหอมและดอกไม้หลายอย่าง งดงามด้วยพวงของหอม คือพวงสุคนธชาติมีจันทน์ หญ้าฝรั่นและกฤษณาเป็นต้น.
               อธิบายว่า สระโบกขรณีเกลื่อนกล่นด้วยพวงผ้าคือพวงผ้าอันหาค่ามิได้ มีผ้าปัตตุณณะและผ้าจีนะเป็นต้น ประดับตกแต่งด้วยพวงรัตนะทั้ง ๗. ดาดาษด้วยดอกไม้ คือดาดาษด้วยดอกไม้หอมมีจำปา สฬละและจงกลนีเป็นต้น วิจิตรงดงามด้วยดี.
               สระโบกขรณีมีอะไรอีกบ้าง?
               คือสระโบกขรณีอบอวลด้วยสุคนธชาติอันมีกลิ่นหอมน่าพอใจยิ่ง. เจิมด้วยของหอมไว้โดยรอบคือประดับด้วยของหอมที่เอานิ้วทั้ง ๕ ไล้ทาไว้ สระโบกขรณีอันมีอยู่ในทิศทั้ง ๔ ของปราสาท มุงด้วยเครื่องมุงเหมคือมุงด้วยเครื่องมุงอันเป็นทองและเพดานทอง ดาดาษแผ่เต็มไปด้วยปทุมและอุบล ปรากฏเป็นสีทองในรูปทอง สระโบกขรณีฟุ้งไปด้วยละอองเรณูของดอกปทุม คือขจรขจายไปด้วยละอองธุลีของดอกปทุม งดงามอยู่.
               รอบๆ เวชยันตปราสาทของเรามีต้นไม้มีต้นจำปาเป็นต้นออกดอกทุกต้น นี้เป็นต้นไม้ดอก. ดอกไม้ทั้งหลายหล่นมาเองแล้วลอยไปโปรยปราสาท. อธิบายว่า โปรยลงเบื้องบนปราสาท.
               มีอธิบายว่า ในเวชยันตปราสาทของเรานั้น มีนกยูงฟ้อน มีหมู่หงส์ทิพย์ คือหงส์เทวดาส่งเสียงร้อง หมู่นกการวิกคือโกกิลาที่มีเสียงเพราะขับขาน คือทำการขับร้อง และหมู่นกอื่นๆ ที่ไม่สำคัญก็ร่ำร้องด้วยเสียงอันไพเราะอยู่โดยรอบปราสาท.
               รอบๆ ปราสาท มีกลองขึงหนังหน้าเดียวและกลองขึงหนังสองหน้าเป็นต้นทั้งหมดได้ดังขึ้นคือได้ตีขึ้น พิณนั้นทั้งหมดซึ่งมีสายมิใช่น้อย ได้ดีดขึ้นคือส่งเสียง. สังคีตทุกชนิดคือเป็นอเนกประการ จงเป็นไปคือจงบรรเลง. อธิบายว่า จงขับขานขึ้น.
               ในพุทธเขตมีกำหนดเพียงใดคือในที่มีประมาณเท่าใด ได้แก่ในหมื่นจักรวาลและในจักรวาลอื่นจากหมื่นจักรวาลนั้น บัลลังก์ทองสมบูรณ์ด้วยความโชติช่วงคือสมบูรณ์ด้วยรัศมี ไม่มีช่องว่าง ใหญ่โต สำเร็จด้วยรัตนะทั่วทุกด้าน คือเขาทำขจิตด้วยรัตนะทั้ง ๗ จงตั้งอยู่ ต้นไม้ประดับประทีปคือต้นไม้มีน้ำมันตามประทีปจงลุกเป็นไฟโพลงอยู่ คือสว่างด้วยประทีปรอบๆ ปราสาท. เป็นไม้ประทีปติดต่อกันไปเป็นหมื่นดวง คือเป็นหมื่นดวงติดต่อกันกับหมื่นดวง จงเป็นประทีปรุ่งเรืองเป็นอันเดียวกัน คือเป็นประดุจประทีปดวงเดียวกัน. อธิบายว่า จงลุกโพลง.
               หญิงคณิกาคือหญิงฟ้อนผู้ฉลาดในการฟ้อนและการขับ หญิงขับร้องคือผู้ทำเสียงด้วยปาก จงฟ้อนไปรอบๆ ปราสาท. หมู่นางอัปสรคือหมู่หญิงเทวดา จงฟ้อนรำ. สนามเต้นรำต่างๆ คือมณฑลสนามเต้นรำต่างๆ มีสีเป็นอเนกประการ จงฟ้อนรำรอบๆ ปราสาท ชื่อว่าเขาเห็นกันทั่วไป. อธิบายว่า จงปรากฏ.
               อธิบายว่า ในครั้งนั้น เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่าติโลกวิชัย ให้ยกธงทั้งปวงมี ๕ สี คือมีสี ๕ สีมีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น วิจิตรคืองดงามด้วยสีหลายหลาก บนยอดไม้ บนยอดเขา คือยอดเขาหิมพานต์และเขาจักรวาลเป็นต้น บนยอดเขาสิเนรุและในที่ทั้งปวง ในจักรวาลทั้งสิ้น.
               อธิบายว่า พวกคนคือคนจากโลกอื่น พวกนาคจากโลกนาค พวกคนธรรพ์และเทวดาจากเทวโลก ทั้งหมดจงมาคือจงเข้ามา. พวกคนเป็นต้นเหล่านั้นนมัสการคือทำการนอบน้อมเรา กระทำอัญชลีคือทำกระพุ่มมือ แวดล้อมเวชยันตปราสาทของเรา.
               พระเจ้าจักรพรรดิติโลกวิชัยนั้น ครั้นพรรณนาอานุภาพปราสาทและอานุภาพของตนอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะให้ถือเอาผลบุญที่ตนทำไว้ด้วยสมบัติ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ยํ กิญฺจิ กุสลํ กมฺมํ ดังนี้.
               อธิบายว่า กิริยากล่าวคือกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะพึงกระทำมีอยู่ กุศลกรรมที่จะพึงทำทั้งหมดนั้น เราทำแล้วด้วยกาย วาจาและใจ คือด้วยไตรทวาร ให้เป็นอันทำดีแล้วคือให้เป็นอันทำด้วยดีแล้วในไตรทศ. อธิบายว่า กระทำให้ควรแก่การเกิดขึ้นในภพดาวดึงส์.
               เมื่อจะให้ถือเอาอีกจึงกล่าวว่า เย สตฺตา สญฺญิโน ดังนี้เป็นต้น
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า สัตว์เหล่าใดจะเป็นมนุษย์ เทวดาหรือพรหมก็ตาม ที่มีสัญญาคือประกอบด้วยสัญญามีอยู่ และสัตว์เหล่าใดที่ไม่มีสัญญาคือเว้นจากสัญญา ได้แก่สัตว์ผู้ไม่มีสัญญาย่อมมีอยู่ สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นผู้มีส่วนบุญที่เรากระทำแล้ว คือจงเป็นผู้มีบุญ.
               พระโพธิสัตว์เมื่อจะให้ถือเอาแม้อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เยสํ กตํ ดังนี้.
               อธิบายว่า บุญที่เราทำแล้วอันชน นาค คนธรรพ์และเทพเหล่าใด รู้ดีแล้วคือทราบแล้ว เราให้ผลบุญแก่นรชนเป็นต้นเหล่านั้น นรชนเป็นต้นเหล่าใด ไม่รู้ว่าเราให้บุญที่เราทำแล้วนั้น เทพทั้งหลายจงไปแจ้งให้รู้.
               อธิบายว่า จงบอกผลบุญนั้นแก่นรชนเป็นต้นเหล่านั้น.
               สัตว์เหล่าใดในโลกทั้งปวงผู้อาศัยอาหารเลี้ยงชีวิต สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงได้โภชนะอันพึงใจทุกอย่างด้วยใจของเรา คือด้วยจิตของเรา. อธิบายว่า จงได้ด้วยบุญฤทธิ์ของเรา.
               ทานใดเราได้ให้แล้ว ด้วยจิตใจอันเลื่อมใส เรานำมาแล้ว คือยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นแล้ว ในทานนั้นด้วยจิตใจ. พระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า และพระสาวกของพระชินเจ้า เราผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้บูชาแล้ว.
               ด้วยกรรมที่เราทำดีแล้วนั้น คือด้วยกุศลกรรมที่เราเชื่อแล้วกระทำไว้ และด้วยการตั้งเจตนาไว้ คือด้วยความปรารถนาที่ทำไว้ด้วยใจ เราละคือทิ้งร่างกายมนุษย์ ได้แก่สรีระของมนุษย์ แล้วได้ไปสู่ดาวดึงสเทวโลก.
               อธิบายว่า เราได้เกิดขึ้นในดาวดึงสเทวโลกนั้น เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นฉะนั้น.
               แต่นั้น พระเจ้าจักรพรรดิติโลกวิชัยได้สวรรคตแล้ว จำเดิมแต่นั้น เรารู้จักภพ ๒ ภพ คือชาติ ๒ ชาติที่มาถึง คือความเป็นเทวดา ได้แก่อัตภาพของเทวดา และความเป็นมนุษย์ คืออัตภาพของมนุษย์. นอกจาก ๒ ชาติ เราไม่รู้จัก คือไม่เห็นคติอื่น คือความอุปบัติอื่น อันเป็นผลแห่งความปรารถนาด้วยใจคือด้วยจิต.
               อธิบายว่า เป็นผลแห่งความปรารถนาที่เราปรารถนาแล้ว.
               บทว่า เทวานํ อธิโก โหมิ ความว่า ถ้าเกิดในเทวดา เราได้เป็นผู้ยิ่งคือเป็นใหญ่ ได้แก่เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่าเทวดาทั้งหลาย ด้วยอายุ วรรณะ พละและเดช. ถ้าเกิดในมนุษย์ เราย่อมเป็นใหญ่ในมนุษย์ คือเป็นอธิบดี เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ทั้งหลาย. อนึ่ง เราเป็นพระราชาผู้เพียบพร้อม คือสมบูรณ์ด้วยรูปอันยิ่ง คือด้วยรูปสมบัติ และด้วยลักษณะ คือลักษณะส่วนสูงและส่วนใหญ่ ไม่มีผู้เสมอ คือเว้นคนผู้เสมอด้วยปัญญา ได้แก่ปัญญาเครื่องรู้ปรมัตถ์ในภพที่เกิดแล้วๆ. อธิบายว่า ไม่มีใครๆ เสมอเหมือนเรา.
               เพราะผลบุญอันเป็นบุญสมภารที่เรากระทำไว้แล้ว โภชนะอันประเสริฐอร่อยมีหลายอย่างคือมีประการต่างๆ รัตนะทั้ง ๗ มากมายมีประมาณไม่น้อย และผ้าปัตตุณณะและผ้าโกเสยยะเป็นต้นหลายชนิด คือเป็นอเนกประการ จากฟากฟ้าคือนภากาศมา คือเข้ามาหาเรา ได้แก่สำนักเราโดยเร็วพลัน ในภพที่เกิดแล้วๆ.
               เราเหยียดคือชี้มือไปยังที่ใดๆ จะเป็นที่แผ่นดิน บนภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ภักษาทิพย์คืออาหารทิพย์ย่อมเข้ามา คือ เข้ามาหาเรา ได้แก่สำนักเราจากที่นั้นๆ. อธิบายว่า ย่อมปรากฏขึ้น.
               อนึ่ง รัตนะทั้งปวง ของหอมมีจันทน์เป็นต้นทุกอย่าง ยานคือพาหนะทุกชนิด มาลาคือดอกไม้ทั้งหมดมีจำปา กากะทิงและบุนนาคเป็นต้น เครื่องอลังการคือเครื่องอาภรณ์ทุกชนิด นางทิพกัญญาทุกนาง น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวดทุกอย่าง ของเคี้ยวคือของควรเคี้ยวมีขนมเป็นต้นทุกชนิด ย่อมเข้ามาคือย่อมเข้ามาหาเราคือสำนักเราโดยลำดับ.
               บทว่า สมฺโพธิวรปตฺติยา แปลว่า เพื่อต้องการบรรลุมรรคญาณทั้ง ๔ อันสูงสุด. อธิบายว่า เราได้กระทำ คือบำเพ็ญอุดมทานใด เพราะอุดมทานนั้น เรากระทำภูเขาหินให้บันลือเป็นอันเดียวกันทั้งสิ้น ให้กระหึ่มเสียงดัง คือเสียงกึกก้องมากมาย ยังโลกพร้อมทั้งเทวโลก ได้แก่มนุษยโลกและเทวโลกทั้งสิ้นให้ร่าเริง คือทำให้ถึงความโสมนัส จะได้เป็นพระพุทธเจ้าผู้มีกิเลสดุจหลังคาอันเปิดแล้วในโลก คือในสกลโลกทั้ง ๓.
               บทว่า ทิสา ทสวิธา โลเก ความว่า ในจักรวาลโลกมีทิศอยู่ ๑๐ อย่าง คือ ๑๐ ส่วน ที่สุดย่อมไม่มีแก่ผู้ไป คือผู้ดำเนินไปอยู่ในส่วนนั้น.
               ครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ในที่ที่เราไปแล้วๆ หรือในทิศาภาคนั้น มีพุทธเขตคือพุทธวิสัยนับไม่ถ้วนคือยกเว้นการนับ.
               บทว่า ปภา ปกิตฺติตา ความว่า ในกาลเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครั้งนั้น รัศมีของเรา รัศมีคือแสงสว่างของจักรแก้ว และแก้วมณีเป็นต้นนำรัศมีมา คือเปล่งรัศมีเป็นคู่ๆ ปรากฏแล้ว ในระหว่างนี้ คือในระหว่างหมื่นจักรวาล มีข่ายคือหมู่รัศมีได้มีแสงสว่างกว้างขวาง คือมากมาย.
               บทว่า เอตฺตเก โลกธาตุมฺหิ ความว่า ในหมื่นจักรวาล ชนทั้งปวงย่อมดู คือเห็นเรา. เทวดาทั้งปวงจนกระทั่งเทวโลกจงอนุวรรตน์ตาม คือเกื้อกูลเรา.
               บทว่า วิสิฏฺฐมธุนาเทน แปลว่า ด้วยเสียงบันลืออันไพเราะสละสลวย.
               บทว่า อมตเภริมาหนึ แปลว่า เราตีกลองอมตเภรี ได้แก่กลองอันประเสริฐ.
               ชนทั้งปวงในระหว่างนี้ คือระหว่างหมื่นจักรวาลนี้จงฟัง คือจงใส่ใจวาจาที่เปล่งคือเสียงอันไพเราะของเรา.
               เมื่อฝนคือธรรมตกลง คือเมื่อฝนมีอรรถอันเป็นปรมัตถ์ ลึกซึ้ง ไพเราะ สุขุม อันเป็นโวหารของพระธรรมเทศนานั้น ตกลงมาด้วยการบันลืออันล้วนแล้วด้วยพระธรรมเทศนา ภิกษุและภิกษุณีเป็นต้นทั้งหมดจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะคือไม่มีกิเลส ด้วยอานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า เยตฺถ ปจฺฉิมกา สตฺตา มีอธิบายว่า บรรดาสัตว์คือบริษัท ๔ อันเป็นหมวดหมู่นี้ สัตว์เหล่าใดเป็นปัจฉิมกสัตว์ คือเป็นผู้ต่ำสุดด้วยอำนาจคุณความดี สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดจงเป็นพระโสดาบัน.
               ในคราวเป็นพระเจ้าจักรพรรดิโลกวิชัยนั้น เราได้ให้ทานที่ควรให้ บำเพ็ญศีลบารมีโดยไม่เหลือ บรรลุถึงบารมี คือที่สุดในเนกขัมคือเนกขัมมบารมี พึงเป็นผู้บรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด คือมรรคญาณทั้ง ๔.
               เราสอบถามบัณฑิต คือนักปราชญ์ผู้มีปัญญา คือถามว่า ท่านผู้เจริญ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล คนทำอะไรจึงจะเป็นผู้มีส่วนแห่งสวรรค์และนิพพานทั้งสอง.
               อธิบายว่า บำเพ็ญปัญญาบารมี ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า กตฺวา วีริยมุตฺตมํ ได้แก่ กระทำความเพียรอันสูงสุด คือประเสริฐสุด ได้แก่ไม่ขาดตอน ในการยืนและการนั่งเป็นต้น.
               อธิบายว่า บำเพ็ญวิริยบารมี. เราถึงบารมีคือที่สุดแห่งอธิวาสนขันติที่คนร้ายทั้งสิ้นไม่ทำความเอื้อเฟื้อ คือได้บำเพ็ญขันติบารมีแล้ว พึงบรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุด คือความเป็นพระพุทธเจ้าอันอุดม.
               บทว่า กตฺวา ทฬฺหมธิฏฺฐานํ ความว่า เรากระทำอธิษฐานบารมีมั่นโดยไม่หวั่นไหวว่า แม้เมื่อสรีระและชีวิตของเราจะพินาศไป เราจักไม่งดเว้นบุญกรรม บำเพ็ญที่สุดแห่งสัจบารมีว่า แม้เมื่อศีรษะจะขาด เราจักไม่กล่าวมุสาวาท ถึงที่สุดแห่งเมตตาบารมี โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุข ไม่มีโรคป่วยไข้ แล้วบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด.
               เราเป็นผู้เสมอ คือมีใจเสมอในอารมณ์ทั้งปวง คือในการได้สิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต ในการไม่ได้สิ่งเหล่านั้น ในสุขทางกายและทางใจ ในทุกข์เช่นนั้นคือที่เป็นไปทางกายและทางใจ ในการยกย่องที่ชนผู้มีความเอื้อเฟื้อกระทำ และในการดูหมิ่น บำเพ็ญอุเบกขาบารมี บรรลุแล้ว. อธิบายว่า พึงบรรลุพระสัมโพธิญาณอันสูงสุด.
               ท่านทั้งหลายจงเห็นคือรู้ความเกียจคร้านคือความเป็นผู้เกียจคร้าน โดยความเป็นภัย คือโดยอำนาจว่าเป็นภัยว่า มีส่วนแห่งอบายทุกข์ เห็นคือรู้ความไม่เกียจคร้าน คือความเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ความประพฤติอันไม่หดหู่ ชื่อว่าความเพียรโดยความเกษม คือโดยอำนาจความเกษมว่า มีปกติให้ไปสู่นิพพาน แล้วจงเป็นผู้ปรารภความเพียร. นี้เป็นพุทธานุสาสนีคือนี้เป็นความพร่ำสอนของพระพุทธเจ้า.
               บทว่า วิวาทํ ภยโต ทิสฺวา ความว่า ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาท คือการทะเลาะโดยความเป็นภัย เห็นคือรู้ว่า ความวิวาทมีส่วนแห่งอบาย และเห็นคือรู้ความไม่วิวาท คือความงดเว้นจากการวิวาทว่าเป็นเหตุให้บรรลุพระนิพพาน แล้วจงเป็นผู้สมัครสมานกัน คือมีจิตมีอารมณ์เลิศเป็นอันเดียว เป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน คือสละสลวย งดงามด้วยเมตตาอันดำเนินไปในธุระหน้าที่. กถาคือการเจรจา การกล่าวนี้เป็นอนุสาสนีคือเป็นการให้โอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ท่านทั้งหลายจงเห็น คือจงรู้ความประมาท คือการอยู่โดยปราศจากสติ ในการยืนและการนั่งเป็นต้น โดยความเป็นภัยว่า เป็นเหตุให้เป็นไปเพื่อความทุกข์ ความเป็นผู้มีรูปชั่วและความเป็นผู้มีข้าวน้ำน้อยเป็นต้น และเป็นเหตุให้ไปสู่อบายเป็นต้น ในสถานที่เกิดแล้วๆ แล้วจงเห็นคือจงรู้อย่างชัดแจ้งถึงความไม่ประมาท คือการอยู่ด้วยสติในอิริยาบถทั้งปวง โดยเป็นความเกษม คือโดยความเจริญว่า เป็นเหตุเครื่องบรรลุพระนิพพาน แล้วจงอบรม คือจงเจริญ จงใส่ใจถึงมรรคมีองค์ ๘ คือมรรค ได้แก่อุบายเครื่องบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ อันมีองค์ประกอบ ๘ อย่าง คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ.
               กถาคือการกล่าว ได้แก่การเจรจา การเปล่งวาจา นี้เป็นพุทธานุสาสนี. อธิบายว่า เป็นความพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บทว่า สมาคตา พหู พุทฺธา ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนับได้หลายแสนมาพร้อมกันแล้ว คือเป็นผู้ประชุมกันแล้ว และพระอรหันตขีณาสพทั้งหลายมาพร้อมกันแล้ว คือเป็นผู้ประชุมกันแล้วโดยประการทั้งปวง ได้แก่โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงนอบน้อม คือจงนมัสการกราบไหว้ ด้วยการกระทำความนอบน้อมด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นผู้ควรแก่การกราบไหว้.
               ด้วยประการฉะนี้ คือด้วยประการดังเรากล่าวมาแล้วนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย คือใครๆ ไม่พึงอาจเพื่อจะคิด.
               ธรรมทั้งหลายมีอาทิ คือสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ มรรคมีองค์ ๘ ขันธ์ ๕ เหตุปัจจัย อารัมปัจจัยเป็นต้น ชื่อว่าพุทธธรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง สภาวะแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย คือใครๆ ไม่อาจเพื่อจะคิดวิบาก กล่าวคือเทวสมบัติ มนุษย์สมบัติ และนิพพานสมบัติ ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เป็นอจินไตย คือในสิ่งที่พ้นจากวิสัยของการคิด ย่อมเป็นอันใครๆ ไม่อาจคิด คือล่วงพ้นจากการที่จะนับจำนวน.
               ก็ด้วยลำดับคำมีประมาณเท่านี้ อุปมาเหมือนคนเดินทาง เมื่อใครๆ ถูกเขาถามว่าขอจงบอกทางแก่เรา ก็บอกว่าจงละทางซ้ายถือเอาทางขวา ดังนี้แล้วก็ทำกิจที่ควรทำในคามนิคมและราชธานีให้สำเร็จโดยทางนั้น แม้จะไปใหม่อีกตามทางซ้ายมือสายอื่นที่เขาไม่ได้เดินกัน ก็ย่อมทำกิจที่ควรทำในคามและนิคมเป็นต้นให้สำเร็จได้ฉันใด พุทธาปทานก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ครั้นให้สำเร็จได้ด้วยอปทานที่เป็นฝ่ายกุศลแล้ว เพื่อที่จะให้พุทธาปทานนั้นนั่นแลพิสดารออกไป ด้วยอำนาจอปทานที่เป็นฝ่ายอกุศลบ้าง จึงตั้งหัวข้อปัญหาไว้ดังนี้ว่า
                         ทุกฺกรญฺจ อพฺภกฺขานํ   อพฺภกฺขานํ ปุนาปรํ
                         อพฺภกฺขานํ สิลาเวโธ    สกลิกาปิ จ เวทนา ฯ
                         นาฬาคิริ สตฺตจฺเฉโท   สีสทุกฺขํ ยวขาทนํ
                         ปิฏฺฐิทุกฺขมตีสาโร       อิเม อกุสลการณาติ ฯ
                  การทำทุกรกิริยา ๑ การกล่าวโทษ ๑ การด่าว่า ๑ การกล่าวหา ๑
                  การถูกศิลากระทบ ๑ การเสวยเวทนาจากสะเก็ดหิน ๑ การปล่อย
                  ช้างนาฬาคิรี ๑ การถูกผ่าตัดด้วยศาสตรา ๑ การปวดศีรษะ ๑
                  การกินข้าวแดง ๑ ความเจ็บปวดสาหัสที่กลางหลัง ๑ การลงโลหิต ๑
                  เหล่านี้เป็นเหตุฝ่ายอกุศล.

               บรรดาข้อปัญหาเหล่านั้น ปัญหาข้อที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้
               การทำทุกรกิริยาอยู่ถึง ๖ พรรษา ชื่อว่าทำทุกรกิริยา.
               ในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นพราหมณ์มาณพชื่อว่าโชติปาละ โดยที่เป็นชาติพราหมณ์จึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา เพราะวิบากของกรรมเก่าแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เขาได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ จึงได้กล่าวว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ที่ไหน การตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง.
               เพราะวิบากของกรรมนั้น พระโพธิสัตว์นั้นจึงได้เสวยทุกข์มีนรกเป็นต้นหลายร้อยชาติ ถัดมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นนั่นแหละ เขาทำชาติสงสารให้สิ้นไปด้วยกรรมที่ได้พยากรณ์ไว้นั้นนั่นแล ในตอนสุดท้ายได้อัตภาพเป็นพระเวสสันดร จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในภพดุสิต. จุติจากภพดุสิตนั้นด้วยการอาราธนาของเหล่าเทวดา บังเกิดในสักยตระกูล เพราะญาณแก่กล้าจึงละทิ้งราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเสีย แล้วตัดกำพระเกศาให้มีปลายเสมอกัน ด้วยดาบที่ลับไว้อย่างดี ที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที รับบริขาร ๘ อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ซึ่งเกิดในกลีบปทุม ในเวลาที่กัปยังตั้งอยู่ซึ่งพระพรหมนำมาให้แล้วบรรพชา เพราะญาณทัสสนะคือพระโพธิญาณยังไม่แก่กล้าก่อน จึงไม่รู้จักทางและมิใช่ทางแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้มีสรีระเช่นกับเปรตผู้ไม่มีเนื้อและเลือด เหลือแต่กระดูก หนังและเอ็น ด้วยอำนาจที่บริโภคอาหารมื้อเดียว คำเดียว เป็นผู้เดียว ทางเดียว และนั่งผู้เดียว บำเพ็ญทุกรกิริยามหาปธานความเพียรใหญ่ โดยนัยดังกล่าวไว้ในปธานสูตรนั่นแล ณ อุรุเวลาชนบทถึง ๖ พรรษา.
               พระโพธิสัตว์นั้นนึกถึงทุกรกิริยานี้ว่า ไม่เป็นทางแห่งการตรัสรู้ จึงกลับเสวยอาหารประณีตในคาม นิคมและราชธานี มีอินทรีย์ผ่องใส มีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ครบบริบูรณ์ เสด็จเข้าไปยังโพธิมัณฑ์โดยลำดับ ชนะมารทั้ง ๕ ได้เป็นพระพุทธเจ้า.
                            ก็ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์ชื่อโชติปาละ ได้กล่าว
                  กะพระกัสสปสุคตเจ้าว่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นจักมีมาแต่ไหน
                  การตรัสรู้เป็นของได้ยากยิ่ง.
                            เพราะวิบากของกรรมนั้น เราจึงต้องทำทุกรกิริยามากมาย
                  อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาถึง ๖ ปี จากนั้น จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ.
                  เราไม่ได้บรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุดโดยหนทางนั้น เรา
                  ถูกกรรมเก่าห้ามไว้ จึงได้แสวงหาโดยทางผิด.
                             เรามีบุญและบาปสิ้นไปหมดแล้ว เว้นจากความเร่าร้อนทั้ง
                   ปวง ไม่มีความโศก ไม่มีความคับแค้น ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพาน
                   แล.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1&Z=146
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :