ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑. พุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๓ / ๑๑.

               สุเมธดาบสนั้นกระทำการตกลงอย่างนี้ว่า เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน เพื่อที่จะใคร่ครวญถึงธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าธรรมอันกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนหนอ อยู่เบื้องบนหรือเบื้องล่าง หรืออยู่ในทิศใหญ่และทิศน้อย เมื่อคิดค้นธรรมธาตุทั้งสิ้นไปโดยลำดับก็ได้เห็นทานบารมีข้อที่ ๑ ที่พระโพธิสัตว์แต่เก่าก่อนทั้งหลายถือปฏิบัติเป็นประจำ จึงกล่าวสอนตนอย่างนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญทานบารมีข้อแรกให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า หม้อน้ำที่คว่ำไว้ย่อมคายน้ำออกหมด ไม่นำกลับเข้าไปฉันใด ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่เหลียวแลทรัพย์ ยศ บุตรและภรรยาหรืออวัยวะน้อยใหญ่ ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมด แก่ยาจกผู้มาถึงกระทำมิให้มีส่วนเหลือ จักได้นั่งที่โคนต้นโพธิ์เป็นพระพุทธเจ้า
               ครั้นกล่าวสอนตนแล้ว จึงอธิษฐานทานบารมีข้อแรก กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         เอาเถอะ เราจะเลือกเฟ้นธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธ
               เจ้า ทั้งทางโน้นและทางนี้ ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง ทั้งสิบทิศ
               ตลอดถึงธรรมธาตุ.
                         ครั้นเมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่อย่างนั้น จึงได้เห็นทานบารมี
               ข้อที่ ๑ เป็นเส้นทางใหญ่ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน
               ประพฤติตามคลองธรรมสืบกันมาแล้ว.
                         ท่านจงสมาทานบารมีข้อที่ ๑ นี้ กระทำให้มั่นก่อน จงถึง
               ความเป็นทานบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิญาณ.
                         หม้อน้ำเต็มเปี่ยม ใครผู้ใดผู้หนึ่งคว่ำปากลง น้ำย่อมไหล
               ออกหมด น้ำย่อมไม่ขังอยู่ในหม้อนั้นแม้ฉันใด ท่านก็ฉันนั้น
               เหมือนกัน เห็นยาจกไม่ว่าจะต่ำทราม สูงส่งและปานกลาง จง
               ให้ทานให้หมด เหมือนหม้อน้ำที่เขาคว่ำปากลงไว้ฉะนั้น.
               ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า ธรรมที่กระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จะไม่พึงมีประมาณเท่านี้เลย จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒ จึงได้มีความคิดอันนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป แม้ศีลบารมี ท่านก็ต้องบำเพ็ญให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่าเนื้อทรายจามรีไม่เห็นแก่ชีวิต รักษาเฉพาะขนหางของตนเท่านั้นฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น จำเดิมแต่นี้ไป อย่าได้เห็นแม้แก่ชีวิต รักษาเฉพาะศีลเท่านั้นจักได้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วได้อธิษฐานศีลบารมีข้อที่ ๒ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีประมาณเท่านี้ เรา
               จักเลือกเฟ้นธรรมแม้อย่างอื่นอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นศีลบารมีข้อที่ ๒
               ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานศีลบารมีข้อที่ ๒ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               จงถึงความเป็นศีลบารมี หากท่านปรารถนาเพื่อจะบรรลุพระ
               โพธิญาณ.
                         จามรี หางคล้องติดในที่ไหนก็ตาม ปลดขนหางออก
               ไม่ได้ ก็ยอมตายในที่นั้นแม้ฉันใด ท่านจงบำเพ็ญศีลให้
               บริบูรณ์ในภูมิทั้ง ๔ จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ เหมือนจามรีรักษา
               ขนหางฉันนั้นเถิด.
               ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีประมาณเท่านี้เลย จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็น เนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้เนกขัมมบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อยู่ในเรือนจำมาเป็นเวลานาน มิได้มีความรักใคร่ในเรือนจำนั้นเลย โดยที่แท้รำคาญอย่างเดียว ไม่อยากอยู่ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงทำภพทั้งปวงให้เป็นเช่นกับเรือนจำ รำคาญอยากจะพ้นไปจากภพทั้งปวง มุ่งหน้าต่อเนกขัมมะคือการออกจากกามเท่านั้น ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยอาการอย่างนี้ แล้วได้อธิษฐานเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ความจริง พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจัก
               เลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         คราวนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเนกขัมมบารมี
               ข้อที่ ๓ ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ในก่อนถือปฏิบัติเป็น
               ประจำแล้ว.
                         ท่านจงสมาทานเนกขัมมบารมีข้อที่ ๓ นี้ กระทำให้มั่น
               ก่อน จงถึงความเป็นเนกขัมมบารมี หากท่านปรารถนาจะบรรลุ
               พระโพธิญาณ.
                         บุรุษอยู่มานานในเรือนจำ ลำบากเพราะความทุกข์ มิได้
               ทำความยินดีให้เกิดในเรือนจำนั้น แสวงหาความพ้นออกไป
               อย่างเดียว ฉันใด ท่านจงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ เป็น
               ผู้มุ่งหน้าออกบวช เพื่อพ้นจากภพนั้นเถิด.
               ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงเท่านี้ จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ปัญญาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านอย่าได้เว้นใครๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นคนชั้นต่ำ ชั้นกลางและชั้นสูง พึงเข้าไปหาบัณฑิตแม้ทั้งหมดไต่ถามปัญหา. เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ไม่ละเว้นตระกูลไรๆ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลชั้นต่ำเป็นต้น เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับ ได้อาหารพอยังชีพโดยพลันฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เข้าไปหาบัณฑิตทั้งปวง ไต่ถามปัญหา จักได้เป็นพระพุทธเจ้า
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานปัญญาบารมีข้อที่ ๔ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมเหล่านี้จักไม่มีเพียงเท่านี้ เราจักเฟ้นหาธรรม
               แม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         เราเมื่อค้นหาอยู่ในคราวนั้น ก็ได้เห็นปัญญาบารมีข้อที่ ๔
               ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่แต่ก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานปัญญาบารมีข้อที่ ๔ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               จงถึงความเป็นปัญญาบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิ
               ญาณ.
                         ภิกษุเมื่อขออยู่ ไม่เว้นตระกูลต่ำ สูงและปานกลาง ย่อม
               ได้อาหารเป็นเครื่องยังชีพด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ท่านเมื่อ
               ไต่ถามชนผู้รู้อยู่ตลอดกาลทั้งปวง ถึงความเป็นปัญญาบารมี จัก
               ได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงเท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีก ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้วิริยบารมีให้บริบูรณ์ เหมือนอย่างว่า พญาราชสีห์มฤคราชเป็นผู้มีความเพียรมั่นในอิริยาบถทั้งปวงฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น เป็นผู้มีความเพียรมั่นในอิริยาบถทั้งปวง ในภพทุกภพ เป็นผู้มีความเพียร ไม่ย่อหย่อน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานวิริยบารมีข้อที่ ๕ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเฟ้น
               หาธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         ครั้งนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นวิริยบารมีข้อที่ ๕ ที่
               ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานวิริยบารมีข้อที่ ๕ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               จงถึงความเป็นวิริยบารมี ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุพระโพธิ
               ญาณ.
                         พญาราชสีห์มฤคราชเป็นผู้มีความเพียรไม่ย่อหย่อนใน
               การนั่ง การยืนและการเดิน ประคองใจไว้ในกาลทุกเมื่อแม้ฉันใด
               ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงประคองความเพียรไว้ให้มั่นตลอดทุก
               ภพ ถึงความเป็นวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
               ลำดับนั้น เมื่อสุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้ขันติบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้อดทนทั้งในการยกย่องนับถือและในการดูถูกดูหมิ่น. เหมือนอย่างว่า คนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็มิได้กระทำความรักและความขัดเคืองเพราะการกระทำอันนั้น ย่อมอด ย่อมทน ย่อมกลั้นไว้ได้ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทนได้ทั้งในการนับถือ ทั้งในการดูหมิ่น จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานขันติบารมีข้อที่ ๖ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือก
               เฟ้นธรรมแม้ข้ออื่น ๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         ในคราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นขันติบารมีข้อที่ ๖
               ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ชั้นก่อนๆ ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               มีใจไม่ลังเลในขันติบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ.
                         ธรรมดาแผ่นดินย่อมอดกลั้นสิ่งทั้งปวงที่เขาทิ้งลง
               สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ไม่กระทำการขัดเคือง เพราะการ
               กระทำนั้นแม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อดทน
               ต่อการนับถือและการดูหมิ่นของคนทั้งปวง ถึงความเป็นขันติ
               บารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
               ลำดับนั้น สุเมธดาบสจึงคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น แล้วใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ ๗ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้สัจจบารมีให้บริบูรณ์ แม้เมื่ออสนีบาตจะตกลงบนกระหม่อมก็ตาม ท่านอย่าได้กล่าวมุสาวาททั้งรู้อยู่ ด้วยอำนาจฉันทะเป็นต้น เพื่อต้องการทรัพย์เป็นต้น. เหมือนอย่างว่าธรรมดาดาวประกายพรึกในฤดูทั้งปวง หาได้ละวิถีโคจรของตนโคจรไปในวิถีอื่นไม่ ย่อมจะโคจรไปในวิถีของตนเท่านั้นฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อย่าได้ละสัจจะกล่าวมุสาวาทเลย จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานสัจจบารมีข้อที่ ๗ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมทั้งหลาย จะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจัก
               เลือกเฟ้นธรรมแม้ข้ออื่น ๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นสัจจบารมีข้อที่ ๗ ที่
               ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานสัจจบารมีข้อที่ ๗ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               มีคำพูดไม่เป็นสองในข้อนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
                         ธรรมดาดาวประกายพรึกเป็นดุจคันชั่ง คือเที่ยงตรงใน
               โลกพร้อมทั้งเทวโลก ไม่ว่าในสมัย ฤดูหรือปีก็ตามย่อมไม่
               โคจรและเวียนออกนอกวิถีโคจร แม้ฉันใด
                         แม้ท่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ออกไปนอกทางสัจจะ
               ทั้งหลาย ถึงความเป็นสัจจบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิ-
               ญาณได้.
               ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อธิษฐานบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานที่ได้อธิษฐานไว้. เหมือนอย่างว่า ธรรมดาภูเขาถูกลมพัดในทิศทั้งปวง ไม่หวั่นไหว ไม่เขยื้อน คงตั้งอยู่ในที่ของตนฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่หวั่นไหวในการอธิษฐานคือการตั้งใจมั่นของตน จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานซึ่งอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมทั้งหลายจักไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือก
               เฟ้นธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         ในคราวนั้นเราเลือกเฟ้นอยู่ก็ได้เห็นอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘
               ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานอธิษฐานบารมีข้อที่ ๘ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุพระสัมโพธิ
               ญาณได้.
                         ภูเขาหินไม่หวั่นไหว คงตั้งอยู่ตามเดิม ไม่สะเทือนเพราะ
               ลมแรงกล้า คงตั้งอยู่ในที่ของตนเอง แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น
               เหมือนกัน จงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอธิษฐานในกาลทั้งปวง ถึง
               ความเป็นอธิษฐานบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
               ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงนี้เท่านั้น จึงใคร่ครวญให้ยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙ จึงได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านพึงบำเพ็ญแม้เมตตาบารมีให้บริบูรณ์ ท่านพึงเป็นผู้มีจิตเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งในสิ่งที่เป็นประโยชน์และในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างว่า ธรรมดาน้ำย่อมไหลแผ่ความเย็นเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งแก่คนชั่วทั้งแก่คนดีฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีจิตเป็นอย่างเดียวด้วยเมตตาจิตในสัตว์ทั้งปวงอยู่ จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้น
               ธรรมแม้ข้ออื่นๆ ที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         คราวนั้น เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นเมตตาบารมีข้อที่ ๙
               ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานเมตตาบารมีข้อที่ ๙ นี้ กระทำให้มั่นก่อน
               จงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนด้วยเมตตา ถ้าท่านปรารถนาเพื่อ
               จะบรรลุพระโพธิญาณ.
                         ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดย
               เสมอกัน ชะล้างมลทินคือธุลีออกได้ แม้ฉันใด
                         แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้สม่ำเสมอ
               ในชนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล ท่านถึงความเป็นเมตตาบารมีแล้ว
               จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้.
               ลำดับนั้น สุเมธดาบสนั้นคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายจะไม่พึงมีเพียงเท่านั้น จึงพิจารณาให้ยิ่งขึ้นไปก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ แล้วได้มีความคิดดังนี้ว่า
               ดูก่อนสุเมธบัณฑิต จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงบำเพ็ญแม้อุเบกขาบารมีให้บริบูรณ์ พึงวางใจเป็นกลางทั้งในสุขและทั้งในทุกข์. เหมือนอย่างว่า ธรรมดาแผ่นดินเมื่อคนทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ย่อมทำใจเป็นกลางอยู่ ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน วางใจเป็นกลางอยู่ในสุขและทุกข์ ก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               ครั้นคิดแล้วจึงอธิษฐานอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ กระทำให้มั่นแล้ว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ก็พุทธธรรมเหล่านี้ จักไม่มีเพียงนี้เท่านั้น เราจักเลือกเฟ้น
               ธรรมแม้ข้ออื่นๆ อันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณ.
                         คราวนั้น เราเลือกเฟ้นอยู่ ก็ได้เห็นอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐
               ที่ท่านผู้แสวงหาคุณใหญ่ในก่อน ถือปฏิบัติเป็นประจำ.
                         ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมีข้อที่ ๑๐ นี้ กระทำให้มั่น
               ก่อน ท่านเป็นผู้มั่นคงประดุจตราชู จักบรรลุพระสัมโพธิญาณ.
                         ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉย ในของไม่สะอาดและของ
               สะอาดที่คนทิ้งลง เว้นจากความโกรธและความยินดีทั้งสองนั้น
               ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นประดุจตาชั่งในสุข
               และทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุ
               พระสัมโพธิญาณได้.
               ต่อแต่นั้น สุเมธดาบสจึงคิดว่า พุทธการกธรรมทั้งหลายอันเป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายพึงปฏิบัติในโลกนี้ มีเพียงนี้เท่านั้น เว้นบารมี ๑๐ เสียธรรมเหล่าอื่นย่อมไม่มี บารมีทั้ง ๑๐ นี้แม้ในอากาศเบื้องบนก็ไม่มี แม้ในแผ่นดินเบื้องล่างก็ไม่มี แม้ในทิศทั้งหลายมีทิศตะวันออกเป็นต้นก็ไม่มี แต่จะตั้งอยู่เฉพาะในภายในหทัยของเราเท่านั้น.
               ครั้นได้เห็นว่าบารมีเหล่านั้นตั้งอยู่เฉพาะในหทัยอย่างนั้น จึงอธิษฐานบารมีเหล่านั้นทั้งหมดกระทำให้มั่น พิจารณาอยู่แล้วๆ เล่าๆ พิจารณากลับไปกลับมา ยึดเอาตอนปลายทวนมาให้ถึงต้น ยึดเอาตอนต้นทวนให้ถึงตอนปลาย ยึดเอาตอนกลางให้จบลงตอนสุดข้างทั้งสอง ยึดเอาที่สุดจากข้างทั้งสองให้จบลงตอนกลาง.
               การบริจาคสิ่งของภายนอก จัดเป็นทานบารมี การบริจาคอวัยวะน้อยใหญ่ จัดเป็นทานอุปบารมี การบริจาคชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี เพราะเหตุนั้น ท่านสุเมธดาบส จึงพิจารณาสมติงสบารมี คือบารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ประดุจคนหมุนเครื่องยนต์หีบน้ำมันไปมา และเหมือนเอาเขามหาเมรุให้เป็นโม่กวนมหาสมุทรในจักรวาลฉะนั้น.
               เมื่อสุเมธดาบสนั้นพิจารณาบารมี ๑๐ อยู่อย่างนั้น ด้วยเดชแห่งธรรม มหาปฐพีนี้หนาสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ก็ร้องลั่น สะท้านเลื่อนลั่นหวั่นไหว เหมือนมัดไม้อ้อที่ถูกช้างเหยียบ และเหมือนเครื่องยนต์หีบอ้อยที่กำลังหีบอ้อยอยู่ หมุนคว้างไม่ต่างอะไรกับวงล้อเครื่องปั้นหม้อ และวงล้อเครื่องยนต์หีบน้ำมัน.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   ธรรมที่เป็นเครื่องบ่มพระโพธิญาณในโลก มีเพียงเท่านี้
                         นั้น ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ก็ไม่มี นอกไปจากนี้ก็ไม่มี ท่านจงตั้งมั่น
                         อยู่ในธรรมนั้น.
                                   เมื่อเราพิจารณาธรรมเหล่านี้ พร้อมทั้งสภาวะ รส และ
                         ลักษณะ ด้วยเดชแห่งธรรม แผ่นดินทั้งหมื่นโลกธาตุหวั่นไหว.
                         แผ่นดินไหว ร้องลั่น ดังเครื่องยนต์หีบอ้อยที่หีบอยู่ เมทนีดล
                         เลื่อนลั่น เหมือนวงล้อเครื่องยนต์หีบน้ำมันฉะนั้น.
               เมื่อมหาปฐพีไหวอยู่ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัมมนครไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ได้ ต่างสลบล้มลง ประหนึ่งว่าศาลาใหญ่ถูกลมยุคันตวาตโหมพัดฉะนั้น ภาชนะดินมีหม้อเป็นต้นกลิ้งกระทบกันและกันแตกละเอียด.
               มหาชนสะดุ้งกลัว จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบข้อนี้เลยว่า แผ่นดินนี้ นาคทำให้หมุน หรือว่าบรรดาภูต ยักษ์และเทวดาพวกใดพวกหนึ่งทำให้หมุน. อีกประการหนึ่ง มหาชนแม้ทั้งหมดนี้ถูกทำให้เดือดร้อน ความชั่วหรือความดีจักมีแก่โลกนี้ ขอพระองค์จงตรัสบอกเหตุนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายด้วยเถิด.
               ลำดับนั้น พระศาสดาครั้นได้ทรงสดับถ้อยคำของชนเหล่านั้น จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัวเลย อย่าคิดอะไรเลย ภัยอันมีต้นเหตุมาจากเหตุนี้ ไม่มีแก่พวกท่าน ผู้ที่เราพยากรณ์ให้ไว้ในวันนี้ว่า สุเมธบัณฑิตจักได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมในอนาคตนั้น บัดนี้พิจารณาบารมี ๑๐ เมื่อเขาพิจารณาไตร่ตรองอยู่ เพราะเดชแห่งธรรม โลกธาตุตลอดทั้งหมื่นหนึ่งจึงไหวและร้องลั่นไปพร้อมกันทีเดียว.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ในที่อังคาสพระพุทธเจ้า บริษัทมีประมาณเท่าใด บริษัท
               มีประมาณเท่านั้น ในที่นั้น ต่างตัวสั่นเป็นลมล้มลงบนแผ่นดิน.
                         หม้อน้ำหลายพัน และหม้อข้าวหลายร้อย ในที่นั้นกระทบ
               กันและกันแตกละเอียด.
                         มหาชนหวาดเสียวสะดุ้งกลัวหัวหมุน มีใจว้าวุ่น จึงประชุม
               กัน แล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธทีปังกร. กราบทูลว่า
                         อะไรจักมีแก่โลก ดีหรือชั่ว หรือชาวโลกทั้งปวงจะถูกทำให้
               เดือดร้อนวุ่นวาย ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ขอจงทรงบรรเทาเหตุ
               นั้น.
                         คราวนั้น พระมหามุนีทีปังกรทรงให้พวกเขาเข้าใจด้วยพระ
               ดำรัสว่า พวกท่านจงวางใจเสียเถิด อย่าได้กลัวเลย ในการไหวของ
               แผ่นดินนี้.
                         วันนี้ เราได้พยากรณ์บุคคลใดว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า
               บุคคลนั้นพิจารณาธรรมเก่าก่อนที่พระชินเจ้าเคยถือปฏิบัติมา.
                         เมื่อเขาพิจารณาถึงธรรมอันเป็นพุทธภูมิโดยไม่เหลืออยู่
               ด้วยเหตุนั้น โลกธาตุหนึ่งหมื่นนี้ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก จึงได้
               ไหว.
               มหาชนได้ฟังพระดำรัสของพระตถาคตแล้ว ต่างร่าเริงยินดี พากันถือเอาดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ออกจากรัมมนครเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ บูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไหว้แล้วกระทำประทักษิณแล้วเข้าไปยังรัมมนครตามเดิม.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์พิจารณาบารมี ๑๐ อธิษฐานความเพียรกระทำให้มั่น แล้วลุกจากอาสนะไป.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         ทันใดนั้น ใจของพวกเขาก็เย็น เพราะได้ฟังพระดำรัส
               ของพระพุทธเจ้า ทุกคนจึงพากันเข้าไปหาเรากราบไหว้อีก.
                         เรายึดมั่นพระพุทธคุณ กระทำใจให้มั่น แล้วนมัสการ
               พระพุทธเจ้าทีปังกร ลุกขึ้นจากอาสนะไปในคราวนั้น.
               ลำดับนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลทั้งสิ้นประชุมกันบูชาพระโพธิสัตว์ผู้ลุกขึ้นจากอาสนะ ด้วยดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ ไหว้แล้วป่าวประกาศคำสรรเสริญอันเป็นมงคลมีอาทิว่า
               ข้าแต่ท่านสุเมธดาบสผู้เป็นเจ้า วันนี้ท่านตั้งความปรารถนายิ่งใหญ่ไว้ที่ใกล้บาทมูลของพระทีปังกรทศพล ความปรารถนานั้นจงสำเร็จแก่ท่าน โดยหาอันตรายมิได้ ความกลัวหรือความหวาดเสียว อย่าได้มีแก่ท่าน โรคแม้มีประมาณน้อยจงอย่าเกิดขึ้นในร่างกาย ท่านจงรีบเร่งบำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์แล้วรู้แจ้งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ต้นไม้ที่เผล็ดดอกออกผลย่อมเผล็ดดอกและออกผลตามฤดูกาล ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน อย่าได้ล่วงเลยฤดูกาลนั้น จงได้สัมผัสพระสัมโพธิญาณอันอุดมโดยพลัน.
               ก็แหละครั้นป่าวประกาศอย่างนี้แล้ว ได้กลับไปยังเทวสถานของตนๆ ตามเดิม.
               ฝ่ายพระโพธิสัตว์ผู้อันเทวดาทั้งหลายสรรเสริญแล้วจึงคิดว่า เราจักบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้บริบูรณ์เป็นพระพุทธเจ้าในที่สุดสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ดังนี้แล้วอธิษฐานความเพียรกระทำให้มั่น แล้วได้เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าไปสู่ป่าหิมพานต์ทันที.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                         เหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างโปรยปรายดอกไม้
               ทิพย์และดอกไม้อันเป็นของมนุษย์ แก่เขาผู้ลุกขึ้นจากอาสนะ.
                         เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวกนั้น ต่างก็ประกาศความ
               สวัสดีว่า ความปรารถนาของท่านยิ่งใหญ่ ขอท่านจงได้สิ่งนั้น
               ตามความปรารถนา.
                         ขอสรรพเสนียดจัญไรจงบำราศไป ขอความโศกและโรค
               จงพินาศไป อันตรายทั้งหลายจงอย่าได้มีแก่ท่าน ท่านจงได้
               สัมผัสพระโพธิญาณอันอุดมโดยเร็วพลัน.
                         เมื่อถึงฤดูกาล ต้นไม้ทั้งหลายที่มีดอก ย่อมผลิดอก
               แม้ฉันใด ข้าแต่มหาวีระ ขอท่านจงเบิกบานด้วยพุทธญาณ
               ฉันนั้นเถิด.
                         พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐
               ให้บริบูรณ์ ฉันใด ข้าแต่มหาวีระ ขอท่านจงบำเพ็ญบารมี ๑๐
               ให้บริบูรณ์ ฉันนั้นเถิด.
                         พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ตรัสรู้ที่ต้นโพธิมณฑล
               ฉันใด ข้าแต่มหาวีระ ขอท่านจงตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ของพระชินเจ้า
               ฉันนั้นเถิด.
                         พระสัมพุทธเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ประกาศพระธรรมจักร
               ฉันใด ข้าแต่มหาวีระ ขอท่านจงประกาศพระธรรมจักร ฉันนั้น
               เถิด.
                         พระจันทร์บริสุทธิ์ไพโรจน์ในวันเพ็ญ ฉันใด ขอท่านจง
               มีใจเต็มเปี่ยมรุ่งโรจน์ในหมื่นโลกธาตุ ฉันนั้นเถิด.
                         พระอาทิตย์พ้นจากราหู ย่อมสว่างจ้าด้วยความร้อน ฉันใด
               ขอท่านจงพ้นจากโลก ไพโรจน์ด้วยสิริ ฉันนั้นเถิด.
                         แม่น้ำสายใดสายหนึ่ง ย่อมไหลลงยังทะเลใหญ่ ฉันใด
               ชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลกจงประชุมกันในสำนักของท่าน ฉันนั้น
               เถิด.
                         ในกาลนั้น สุเมธดาบสนั้นอันเทวดาและมนุษย์ชมเชย
               และสรรเสริญแล้ว สมาทานธรรม ๑๐ ประการ เมื่อจะบำเพ็ญ
               ธรรมเหล่านั้นให้บริบูรณ์จึงเข้าไปสู่ป่าใหญ่แล้ว.

               จบสุเมธกถา               

               ฝ่ายชนชาวรัมมนคร ครั้นเข้าไปยังนครแล้วก็ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. พระศาสดาได้ทรงแสดงธรรมแก่พวกเขา ให้มหาชนดำรงอยู่ในสรณะเป็นต้น แล้วเสด็จออกจากรัมมนครไป.
               ต่อจากนั้น พระองค์ทรงดำรงอยู่ตลอดชั่วพระชนมายุ ทรงกระทำพุทธกิจครบทุกอย่างแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุโดยลำดับ.
               คำทั้งหมดที่ควรจะกล่าวในเรื่องนั้น พึงทราบโดยพิสดารตามนัยที่กล่าวไว้ในพุทธวงศ์แล.
               จริงอยู่ ท่านกล่าวไว้ในพุทธวงศ์นั้นว่า
                         ครั้งนั้น ชนเหล่านั้นอังคาสพระโลกนายกพร้อมทั้งพระสงฆ์
               แล้ว ได้ถึงพระศาสดาทีปังกรพระองค์นั้นเป็นสรณะ.
                         พระตถาคตทรงยังบางคนให้ตั้งอยู่ในสรณคมน์ บางคนให้
               ตั้งอยู่ในศีล ๕ อีกพวกให้ตั้งอยู่ในศีล ๑๐. ทรงประทานสามัญผล
               อันสูงสุดทั้ง ๔ แก่บางคน ทรงประทานธรรมที่ไม่มีสิ่งใดเสมอคือ
               ปฏิสัมภิทาแก่บางคน. บางคน พระนราสภก็ทรงประทานสมาบัติ ๘
               อันประเสริฐ บางคนก็ทรงมอบให้วิชชา ๓ และอภิญญา ๖.
                         พระมหามุนีทรงสั่งสอนหมู่ชน ด้วยความพยายามนั้น เพราะ
               เหตุนั้น ศาสนาของพระโลกนาถจึงได้แผ่ไพศาลไป.
                         พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าทีปังกร ผู้มีพระหนุใหญ่ มีต้น
               พระศอดังคอของโคผู้ ทรงยังชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้น ทรงปลด
               เปลื้องทุคติให้.
                         พระมหามุนีทรงเห็นชนที่พอจะแนะนำให้ตรัสรู้ได้ แม้ใน
               ที่แสนโยชน์ ก็เสด็จเข้าไปหาโดยครู่เดียว ให้เขาตรัสรู้ได้.
                         ในการตรัสรู้มรรคผลครั้งแรก พระพุทธเจ้าให้สัตว์ร้อยโกฏิ
               ได้ตรัสรู้ ในการตรัสรู้มรรคผลครั้งที่สอง พระนาถะให้สัตว์เก้าโกฏิ
               ได้ตรัสรู้.
                         ก็ในกาลใด พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมในเทวพิภพ ใน
               กาลนั้น การตรัสรู้มรรคผลครั้งที่สามได้มีแก่สัตว์เก้าหมื่นโกฏิ.
                         การประชุมของพระศาสดาทีปังกรได้มี ๓ ครั้ง การประชุม
               ครั้งแรกมีชนแสนโกฏิ.
                         อีกครั้ง เมื่อพระชินเจ้าประทับอยู่วิเวกที่ยอดเขานารทะ พระ
               ขีณาสพผู้ปราศจากมลทินร้อยโกฏิประชุมกัน.
                         ในกาลใด พระมหาวีระประทับอยู่บนยอดเขาสุทัสสนะ ใน
               กาลนั้น พระมหามุนีทรงห้อมล้อมด้วยพระขีณาสพเก้าหมื่นโกฏิ.
                         สมัยนั้นเราเป็นชฎิลมีตบะกล้า สำเร็จอภิญญา ๕ เหาะไป
               กลางอากาศ.
                         การตรัสรู้ธรรม โดยการนับว่าได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่น สอง
               หมื่นการตรัสรู้ธรรมมิได้นับว่า ได้มีแก่หนึ่งคนหรือสองคน
                         ในกาลนั้น ศาสนานี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร แผ่
               ไปกว้างขวาง ชนรู้กันมากมาย แพร่หลายบริสุทธิ์ผุดผ่อง.
                         พระขีณาสพสี่แสนได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก ห้อมล้อมพระ
               ทีปังกรผู้ทรงรู้แจ้งโลกอยู่ทุกเมื่อ.
                         สมัยนั้นใครๆ ก็ตาม จะละภพมนุษย์ไป เขาเหล่านั้นมิได้
               บรรลุพระอรหัต ยังเป็นเสขบุคคล จะต้องถูกเขาตำหนิติเตียน.
                         พระพุทธศาสนาก็เบิกบานไปด้วยพระอรหันต์ผู้คงที่ เป็น
               พระขีณาสพ ปราศจากมลทิน งดงามอยู่ในกาลทุกเมื่อ.
                         พระศาสดาทีปังกร มีนครนามว่ารัมมวดี มีกษัตริย์นามว่า
               สุเทวะเป็นพระชนก มีพระเทวีนามว่าสุเมธาเป็นพระชนนี.
                         พระองค์ทรงครองเรือนอยู่หมื่นปี มีปราสาทอย่างดีที่สุด
               สามหลัง ชื่อว่าหังสา โกญจา และมยุรา.
                         มีเหล่านารีแต่งตัวสวยงามจำนวนสามแสน มีจอมนารีนาม
               ว่า ปทุมา มีพระโอรสนามว่า อุสภักขันธะ.
                         พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกบวชด้วยยาน
               คือช้าง พระชินเจ้าทรงตั้งปธานความเพียรอยู่ ๑๐ เดือนถ้วน.
                         พระมุนีทรงบำเพ็ญเพียรทางใจได้ตรัสรู้แล้ว พระมหามุนี
               ทีปังกรผู้สงบ อันพรหมทูลอาราธนาแล้ว.
                         พระมหาวีระทรงประกาศพระธรรมจักร ในตำหนักอัน
               ประกอบด้วยสิริในนันทาราม ประทับนั่งที่โคนต้นซึก ได้ทรง
               กระทำการย่ำยีพวกเดียรถีย์.
                         มีพระอัครสาวก คือพระสุมังคละและพระติสสะ พระศาสดา
               ทีปังกรมีพระอุปัฏฐากนามว่าสาคตะ.
                         มีพระอัครสาวิกา คือพระนางนันทาและพระนางสุนันทา
               ต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เรียกกันว่าต้นปิปผลิ.
                         มีอัครอุปัฏฐากนามว่าตปุสสะและภัลลิกะ นางสิริมาและ
               นางโกณาเป็นอุปัฏฐายิกาของพระศาสดาทีปังกร.
                         พระมหามุนีทีปังกรมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก ทรงงดงาม
               ประดุจต้นไม้ประจำทวีป และดุจต้นพญาไม้สาละมีดอกบาน
               สะพรั่ง.
                         รัศมีของพระองค์วิ่งวนไปรอบ ๆ ๑๒ โยชน์ พระมเหสีเจ้า
               พระองค์นั้นมีพระชนมายุได้แสนปี พระองค์ดำรงอยู่เพียงนั้น
               ทรงยังชุมชนเป็นอันมากให้ข้ามได้แล้ว.
                         พระองค์พร้อมทั้งสาวกทรงยังพระสัทธรรมให้สว่างไสว
               ยังมหาชนให้ข้ามได้แล้ว ทรงรุ่งโรจน์ดุจกองไฟแล้วนิพพานไป.
                         พระฤทธิ์ พระยศ และพระจักรรัตนะที่พระบาททั้งสอง
               ทั้งหมดนั้นอันตรธานหายไปแล้ว สังขารทั้งปวงเป็นของว่างเปล่า
               แน่แท้ ดังนี้.
                         พระชินเจ้าผู้ศาสดาพระนามว่าทีปังกร เสด็จนิพพานที่
               นันทาราม ณ ที่นั้นมีพระชินสถูปของพระองค์สูง ๓๖ โยชน์แล.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1&Z=146
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :