ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑. พุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๕ / ๑๑.

               ในกาลต่อจากพระเวสสภูนั้น ในกัปนี้มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะและพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะมีสาวกสันนิบาตครั้งเดียวเท่านั้น ในสันนิบาตนั้นมีภิกษุสี่หมื่น.
               ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระราชานามว่าเขมะ ถวายมหาทานพร้อมทั้งจีวร และเภสัชมียาหยอดตาเป็นต้นแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา แล้วบวช.
               พระศาสดาแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้ากกุสันธะมีนครชื่อว่าเขมะ พราหมณ์นามว่าอัคคิทัตตะ เป็นพระบิดา พราหมณีนามว่าวิสาขา เป็นพระมารดา มีพระอัครสาวก ๒ องค์คือพระวิธุระและพระสัญชีวะ มีพระอุปัฏฐากชื่อว่าพุทธิชะ มีพระอัครสาวิกา ๒ องค์คือพระนางสามาและพระนางจัมปา มีต้นซึกใหญ่เป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ มีพระสรีระสูง ๔๐ ศอก มีพระชนมายุสี่หมื่นปีแล.
                         กาลต่อจากพระเวสสภู มีพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ
                         โดยพระนาม ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า ประมาณไม่ได้ เข้าถึง
                         ได้โดยยาก ฉะนี้แล.

               ในกาลต่อจากพระกกุสันธะนั้น พระศาสดาพระนามว่าโกนาคมนะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว.
               แม้พระองค์ก็มีสาวกสันนิบาตครั้งเดียวเท่านั้น ในสาวกสันนิบาตนั้นมีภิกษุสามหมื่น.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระราชาพระนามว่าปัพตะ อันหมู่อำมาตย์ห้อมล้อม เสด็จไปยังสำนักของพระศาสดา สดับพระธรรมเทศนาแล้ว นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ยังมหาทานให้เป็นไปแล้ว ถวายผ้าปัตตุณณะ (ผ้าไหมที่ซักแล้ว) ผ้าจีนปฏะ (ผ้าขาวในเมืองจีน) ผ้าโกไสย (ผ้าทอด้วยไหม) ผ้ากัมพล (ผ้าทำด้วยขนสัตว์) ผ้าทุกูละ (ผ้าทำด้วยเปลือกไม้) และเครื่องลาดขนสัตว์ทำด้วยทอง แล้วบวชในสำนักของพระศาสดา.
               พระศาสดาแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นมีนครชื่อว่าโสภวดี พราหมณ์นามว่ายัญทัตตะ เป็นพระบิดา พราหมณีนามว่าอุตรา เป็นพระมารดา มีพระอัครสาวก ๒ องค์คือพระภิยยสะและพระอุตระ มีพระอุปัฏฐากชื่อว่าโสตถิชะ มีพระอัครสาวิกา ๒ องค์คือพระนางสมุททาและพระนางอุตรา มีต้นมะเดื่อเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ มีพระสรีระสูง ๓๐ ศอก มีพระชนมายุสามหมื่นปีแล.
                         กาลต่อจากพระกกุสันธะ มีพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่า
                         โกนาคมนะ ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า เป็นพระชินเจ้าผู้
                         โลกเชษฐ์องอาจในหมู่คน ฉะนี้แล.

               ในกาลต่อจากพระโกนาคมนะนั้น พระศาสดาพระนามว่ากัสสปะ อุบัติขึ้นแล้ว แม้พระองค์ก็มีสาวกสันนิบาตครั้งเดียวเท่านั้น, ในสาวกสันนิบาตนั้นมีภิกษุสองหมื่น.
               ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้เป็นมาณพชื่อว่าโชติปาละ สำเร็จไตรเพท เป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งบนแผ่นดินและกลางหาว ได้เป็นมิตรของช่างหม้อชื่อว่าฆฏิการะ พระโพธิสัตว์นั้นไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับช่างหม้อนั้น ได้ฟังธรรมกถาแล้วบวช ลงมือทำความเพียร เล่าเรียนพระไตรปิฎกทำพระพุทธศาสนาให้งดงาม เพราะถึงพร้อมด้วยวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่.
               พระศาสดาแม้พระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่าจักได้เป็นพระพุทธเจ้า.
               นครที่ประสูติของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีนามว่าพาราณสี พราหมณ์นามว่าพรหมทัตตะ เป็นพระบิดา พราหมณีนามว่าธนวดี เป็นพระมารดา มีพระอัครสาวก ๒ องค์คือพระติสสะและพระภารทวาชะ มีพระอุปัฏฐากชื่อว่าสรรพมิตตะ มีพระอัครสาวิกา ๒ องค์คือพระนางอนุฬาและพระนางอุรุเวฬา มีต้นนิโครธเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ มีพระสรีระสูง ๒๐ ศอก มีพระชนมายุสองหมื่นปีแล.
                         กาลต่อจากพระโกนาคมนะ พระสัมพุทธเจ้าพระนาม
                         ว่ากัสสปะโดยพระโคตร ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า เป็น
                         พระธรรมราชา ผู้ทรงทำแสงสว่าง ฉะนี้แล.

               ก็ในกัปที่พระทีปังกรทศพลเสด็จอุบัติขึ้นนั้น แม้จะมีพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ถึง ๓ พระองค์ แต่พระโพธิสัตว์มิได้รับการพยากรณ์ในสำนักของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่แสดงพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นไว้ในที่นี้ แต่ในอรรถกถา เพื่อที่จะแสดงพระพุทธเจ้าแม้ทั้งหมดตั้งแต่พระทีปังกรไป จึงกล่าวคำนี้ไว้ว่า
                         พระสัมพุทธเจ้าเหล่านี้ คือพระตัณหังกร พระเมธังกร
               พระสรณังกร พระทีปังกรสัมพุทธเจ้า พระโกณฑัญญะผู้สูงสุด
               กว่านระ
                         พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตมุนี
               พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ พระปทุมุตตระ
                         พระสุเมธะ พระสุชาตะ พระปิยทัสสี ผู้มีพระยศใหญ่
               พระอัตถทัสสี พระธรรมทัสสี พระสิทธัตถะผู้โลกนายก
                         พระติสสะ พระผุสสสัมพุทธเจ้า พระวิปัสสี พระสิขี
               พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ
               ผู้นายก
                         ล้วนปราศจากราคะ มีพระหทัยตั้งมั่น ทรงบรรเทา
               ความมืดอย่างใหญ่ได้ เหมือนพระอาทิตย์ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
               พระสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นพร้อมทั้งพระสาวก ลุกโพลงแล้ว
               ประดุจกองไฟ เสด็จปรินิพพานแล้ว.
               บรรดาพระพุทธเจ้าเหล่านั้น พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายได้กระทำอธิการไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์มีพระทีปังกรเป็นต้นมาตลอดสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป. ก็กาลต่อจากพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้แล้ว ไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น.
               ก็พระโพธิสัตว์ได้รับคำพยากรณ์ในสำนักของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์มีพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้น ดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว จึงทรงบำเพ็ญพุทธการกธรรมมีความเป็นผู้มีทานบารมีเป็นต้นที่พระโพธิสัตว์นี้ประมวลธรรม ๘ ประการนี้ที่ว่า
                         อภินีหารคือความปรารถนาอย่างจริงจัง ย่อมสำเร็จเพราะ
               ประมวลธรรม ๘ ประการเข้าไว้คือ ความเป็นมนุษย์ ๑ ความ
               สมบูรณ์ด้วยเพศ (ชาย) ๑ เหตุ (ที่จะได้บรรลุพระอรหัต) ๑
               ได้พบเห็นพระศาสดา ๑ ได้บรรพชา ๑ สมบูรณ์ด้วยคุณ
               (คือได้อภิญญาและสมาบัติ) ๑ การกระทำอันยิ่ง (สละชีวิต
               ถวายพระพุทธเจ้า) ๑ ความเป็นผู้มีฉันทะ (อุตสาหะพากเพียร
               มาก) ๑.
               แล้วกระทำอภินีหารไว้ที่บาทมูลของพระทีปังกร แล้วกระทำความอุตสาหะว่า เอาเถอะ เราจะค้นหาธรรม อันกระทำความเป็นพระพุทธเจ้าทั่วทุกด้าน ซึ่งได้เห็นแล้วว่า ครั้งนั้น เราค้นหาอยู่ก็ได้พบเห็นทานบารมีข้อแรก บำเพ็ญมาจนกระทั่งอัตภาพเป็นพระเวสสันดร และเมื่อดำเนินมาก็ดำเนินมาเพราะได้ประสบอานิสงส์ของพระโพธิสัตว์ผู้ที่ได้กระทำอภินีหารไว้ ซึ่งท่านพรรณนาไว้ว่า
                         นรชนผู้สมบูรณ์ด้วยองค์คุณทุกประการ ผู้เที่ยงต่อ
               พระโพธิญาณอย่างนี้ ท่องเที่ยวไปตลอดกาลนานแท้ด้วย
               ร้อยโกฏิกัป
                         จะไม่เกิดในอเวจีมหานรก และในโลกันตรนรกก็
               เช่นกัน แม้เมื่อเกิดในทุคติ จะไม่เกิดเป็นนิชฌามตัณหิก-
               เปรต ขุปปิปาสาเปรต และกาลกัญชิกาสูร
                         ไม่เป็นสัตว์ตัวเล็กๆ เมื่อเกิดในมนุษย์ก็จะไม่เป็น
               คนตาบอดแต่กำเนิด
                         ไม่เป็นคนหูหนวก ไม่เป็นคนใบ้ ไม่เกิดเป็นสตรี
               ไม่เป็นอุภโตพยัญชนกะและกะเทย.
                         นรชนผู้เที่ยงต่อพระโพธิญาณ จะไม่ติดพันในสิ่งใด
               พ้นจากอนันตริยกรรม เป็นผู้มีโคจรสะอาดในที่ทุกสถาน
                         ไม่ซ่องเสพมิจฉาทิฏฐิ เพราะเห็นกรรมและผลของการ
               กระทำ แม้จะไปเกิดในสวรรค์ก็จะไม่เกิดเป็นอสัญญีสัตว์
                         ในเหล่าเทพชั้นสุทธาวาส ก็ไม่มีเหตุที่จะไปเกิด.
               เป็นสัตบุรุษ น้อมใจไปในเนกขัมมะ พรากจากภพน้อยใหญ่
               ประพฤติแต่ประโยชน์แก่โลก บำเพ็ญบารมีทั้งปวง ดังนี้.
               ก็เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นบำเพ็ญบารมีทั้งหลายอยู่ ไม่มีปริมาณของอัตภาพที่บำเพ็ญเพื่อความเป็นผู้มีทานบารมี คือกาลเป็นพราหมณ์ชื่อว่าอกิตติ กาลเป็นพราหมณ์ชื่อสังขะ กาลเป็นพระเจ้าธนัญชัย กาลเป็นพระเจ้ามหาสุทัสสนะ กาลเป็นมหาโควินทะ กาลเป็นพระเจ้านิมิมหาราช กาลเป็นพระจันทกุมาร กาลเป็นวิสัยหเศรษฐี กาลเป็นพระเจ้าสีวิราช กาลเป็นพระเวสสันดรราชา.
               ก็โดยแท้จริง ในสสบัณฑิตชาดก ความเป็นทานบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้กระทำการบริจาคตนอย่างนี้ว่า
                         เราเห็นเขาเข้ามาเพื่อภิกษา จึงบริจาคตนของตน ผู้เสมอ
                         ด้วยทานของเราไม่มี นี้เป็นทานบารมีของเรา ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง อัตภาพที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญความเป็นผู้มีศีลบารมี คือในกาลเป็นสีลวนาคราช กาลเป็นจัมเปยยนาคราช กาลเป็นภูริทัตนาคราช กาลเป็นพญาช้างฉัตทันต์ กาลเป็นชัยทิสราชบุตร กาลเป็นอลีนสัตตุกุมาร ก็เหลือที่จะนับได้.
               ก็โดยที่แท้ ในสังขปาลชาดก ความเป็นผู้มีศีลบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้กระทำการบริจาคตนอยู่อย่างนี้ว่า
                         เราถูกแทงด้วยหลาวก็ดี ถูกแทงด้วยหอกก็ดี มิได้โกรธ
                         พวกลูกของนายบ้านเลย นี้เป็นศีลบารมีของเรา ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง อัตภาพที่พระโพธิสัตว์สละราชสมบัติใหญ่ บำเพ็ญความเป็นผู้มีเนกขัมบารมี คือในกาลเป็นโสมนัสสกุมาร กาลเป็นหัตถิปาลกุมาร กาลเป็นอโยฆรบัณฑิต จะนับประมาณมิได้.
               ก็โดยที่แท้ ในจูฬสุตโสมชาดก ความเป็นเนกขัมมบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้สละราชสมบัติออกบวช เพราะความเป็นผู้ไม่มีความติดข้องอย่างนี้ว่า
                         เราสละราชสมบัติใหญ่ที่อยู่ในเงื้อมมือ ประดุจก้อนเขฬะ
                         เมื่อละทิ้ง ไม่มีความข้องเลย นี้เป็นเนกขัมมบารมีของเรา ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง อัตภาพที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญความเป็นผู้มีปัญญาบารมี คือในกาลเป็นวิธุรบัณฑิต กาลเป็นมหาโควินทบัณฑิต กาลเป็นกุททาลบัณฑิต กาลเป็นอรกบัณฑิต กาลเป็นโพธิปริพาชก กาลเป็นมโหสถบัณฑิต จะนับประมาณมิได้.
               ก็โดยที่แท้ ในสัตตุภัสตชาดก ความเป็นปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้แสดงงูที่อยู่ในกระสอบ ในคราวเป็นเสนกบัณฑิตว่า
                         เราใช้ปัญญาใคร่ครวญอยู่ ได้ช่วยปลดเปลื้องพราหมณ์ให้พ้นจาก
                         ทุกข์ ผู้เสมอด้วยปัญญาของเราไม่มี นี้เป็นปัญญาบารมีของเรา ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง อัตภาพที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญความเป็นวิริยบารมีเป็นต้น ก็เหลือที่ประมาณได้.
               ก็โดยที่แท้ ในมหาชนกชาดก ความเป็นวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ว่ายข้ามมหาสมุทรอยู่อย่างนี้ว่า
                         ในท่ามกลางน้ำ เราไม่เห็นฝั่งเลย พวกมนุษย์ถูกฆ่าตายหมด
                         เราไม่มีจิตเป็นอย่างอื่นเลย นี้เป็นวิริยบารมีของเรา ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ในขันติวาทีชาดก ความเป็นขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้อดกลั้นมหันตทุกข์ได้ เหมือนไม่มีจิตใจอย่างนี้ว่า
                         เมื่อพระเจ้ากาสีฟาดฟันเราผู้เหมือนไม่มีจิตใจ ด้วยขวาน
                         อันคมกริบ เราไม่โกรธเลย นี้เป็นขันติบารมีของเรา ดังนี้.
               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ในมหาสุตโสมชาดก ความเป็นสัจบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้สละชีวิตตามรักษาสัจจะอยู่อย่างนี้ว่า
                         เราเมื่อจะตามรักษาสัจวาจา ได้สละชีวิตของเราปลดเปลื้อง
                         กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ได้แล้ว นี้เป็นสัจบารมีของเรา ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ในมูคปักขชาดก ความเป็นอธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้สละแม้ชีวิตอธิษฐานวัตรอยู่อย่างนี้ว่า
                         มารดาบิดามิได้เป็นที่เกลียดชังของเรา ทั้งยศใหญ่ก็มิได้
                         เป็นที่เกลียดชัง แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา
                         เพราะฉะนั้น เราจึงอธิษฐานวัตร ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ในสุวรรณสามชาดก ความเป็นเมตตาบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ไม่เหลียวแลแม้แต่ชีวิต มีความเมตตาอยู่อย่างนี้ว่า
                         ใครๆ ก็ทำให้เราสะดุ้งไม่ได้ ทั้งเราก็มิได้หวาดกลัวต่อใครๆ
                         เราอันกำลังเมตตาค้ำชู จึงยินดีอยู่ในป่าได้ทุกเมื่อ ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               ในโลมหังสชาดก ความเป็นอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้เมื่อพวกเด็กชาวบ้านยังความสุขและความทุกข์ให้เกิดขึ้น ด้วยการถ่มน้ำลายใส่เป็นต้น และด้วยการนำดอกไม้และของหอมเข้ามาบูชาเป็นต้น ก็ไม่ประพฤติล่วงเลยอุเบกขาอย่างนี้ว่า
                         เราหนุนซากศพเหลือแต่กระดูก สำเร็จการนอนในป่าช้า
                         พวกเด็กชาวบ้านพากันเข้ามาแสดงรูป (อาการ) นานัปการ ดังนี้.

               จัดเป็นปรมัตถบารมี.
               นี้เป็นความสังเขปในที่นี้ ส่วนข้อความพิสดารนั้นพึงถือเอาจากจริยาปิฎก.
               พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีทั้งหลายอย่างนี้แล้ว ดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร กระทำบุญใหญ่อันเป็นเหตุให้แผ่นดินใหญ่ไหวเป็นต้น อย่างนี้ว่า
                         แผ่นดินนี้หาจิตใจมิได้ ไม่รู้สึกสุขและทุกข์ แม้แผ่นดิน
                         นั้นก็ได้ไหวแล้วถึง ๗ ครั้ง เพราะกำลังทานของเรา ดังนี้.

               ในเวลาสิ้นสุดแห่งอายุ จุติจากอัตภาพนั้นได้ไปเกิดในดุสิตพิภพ. ฐานะมีประมาณเท่านี้ จำเดิมแต่บาทมูลของพระพุทธเจ้าทีปังกร จนถึงพระโพธิสัตว์นี้บังเกิดในดุสิตบุรี พึงทราบว่า ชื่อทูเรนิทาน ด้วยประการฉะนี้.


               จบทูเรนิทานกถา               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑. พุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑]
อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1&Z=146
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :