ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 11อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 32 / 13อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๑๒. อานันทเถราปทาน (๑๐)

               ๑๐. พรรณนาอานันทเถราปทาน               
               คำมีอาทิว่า อารามทฺวารา นิกฺขมฺม ดังนี้ เป็นอปทานของท่านพระอานนทเถระ.
               แม้พระเถระนี้ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดเป็นน้องชายต่างมารดากับพระศาสดา ในนครหังสวดี เขาได้มีชื่อว่าสุมนะ.
               ก็พระบิดาของสุมนะนั้นเป็นพระราชาพระนามว่านันทะ. พระเจ้านันทราชนั้น เมื่อสุมนกุมารผู้เป็นโอรสของพระองค์เจริญวัยแล้ว จึงได้ประทานโภคนครให้ในที่ประมาณ ๒๐ โยชน์ จากนครหังสวดีไป. สุมนกุมารนั้นมาเฝ้าพระศาสดาและพระบิดาในบางครั้งบางคราว.
               ครั้งนั้น พระราชาทรงบำรุงพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ประมาณหนึ่งแสนโดยเคารพด้วยพระองค์เอง ไม่ยอมให้คนอื่นบำรุง.
               สมัยนั้น ปัจจันตชนบทกำเริบขึ้น พระกุมารไม่กราบทูลพระราชาถึงความที่ปัจจันตชนบทกำเริบ เสด็จไประงับเสียเอง.
               พระราชาได้สดับดังนั้นดีพระทัยตรัสว่า นี่แน่ะพ่อ พ่อจะให้พรเจ้า เจ้าจงรับเอา.
               พระกุมารกราบทูลว่า ข้าพระองค์ปรารถนาเพื่อจะบำรุงพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ กระทำชีวิตไม่ให้เป็นหมัน. พระราชาตรัสว่า ข้อนั้นเจ้าไม่อาจได้ จงบอกอย่างอื่นเถิด.
               พระกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาว่ากษัตริย์ทั้งหลายไม่มีพระดำรัสเป็นสอง ขอพระองค์จงประทานการบำรุงพระศาสดานั้นแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ไม่ต้องการอย่างอื่น. ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาต ก็เป็นอันทรงประทานเถิดพระเจ้าข้า.
               พระกุมารนั้นจึงเสด็จไปยังพระวิหารด้วยทรงหวังว่า จักหยั่งรู้น้ำพระทัยของพระศาสดา.
               ก็สมัยนั้น พระศาสดากำลังเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎี. พระกุมารเสด็จเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ โยมมาเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา ขอท่านทั้งหลายจงแสดงพระศาสดาแก่โยมด้วยเถิด. ภิกษุทั้งหลายทูลว่า พระเถระชื่อว่าสุมนะเป็นพระอุปัฏฐากของพระศาสดา พระองค์จงเสด็จไปยังสำนักของพระเถระนั้น. พระกุมารจึงเสด็จไปยังสำนักของพระเถระแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงแสดงพระศาสดา.
               ลำดับนั้น พระเถระ เมื่อพระกุมารทรงเห็นอยู่นั่นเอง ได้ดำดินเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระราชบุตรเสด็จมาเพื่อจะขอเฝ้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ถ้าอย่างนั้นเธอจงปูลาดอาสนะไว้ข้างนอก. พระเถระถือเอาพุทธอาสน์อีกที่หนึ่ง แล้วดำลงในภายในพระคันธกุฎี เมื่อพระกุมารนั้นทรงเห็นอยู่ ก็ปรากฏขึ้น ณ ที่บริเวณภายนอก แล้วปูลาดอาสนะในบริเวณพระคันธกุฎี.
               พระกุมารเห็นดังนั้น จึงทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า ภิกษุนี้ยิ่งใหญ่หนอ.
               ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้. พระราชบุตรถวายบังคมพระศาสดา ทรงทำปฏิสันถารแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระนี้เห็นจะเป็นที่โปรดปรานในพระศาสนาของพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ถวายพระพร พระกุมารเธอเป็นที่โปรดปราน. พระราชบุตรทูลถามว่า พระเถระนี้เป็นที่โปรดปราน เพราะกระทำกรรมอะไร พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาตรัสว่า เพราะทำบุญมีให้ทานเป็นต้น.
               พระราชบุตรนั้นทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้กระหม่อมฉันก็ใคร่จะเป็นที่โปรดปรานในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคต เหมือนพระเถระนี้ แล้วถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ณ ที่กองค่ายพัก ตลอด ๗ วัน.
               ในวันที่ ๗ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กระหม่อมฉันได้พรสำหรับปรนนิบัติพระองค์ ๓ เดือนจากสำนักพระราชบิดา ขอพระองค์จงรับนิมนต์การอยู่จำพรรษาเพื่อหม่อมฉันตลอด ๓ เดือน ทรงทราบว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงพาพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งบริวารไป แล้วให้สร้างวิหารทั้งหลายอันเหมาะสมที่จะเป็นที่อยู่ของพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ไว้ในที่ระยะหนึ่งโยชน์ๆ แล้วนิมนต์ให้ประทับอยู่ในวิหารนั้นๆ แล้วนิมนต์ให้เสด็จเข้าไปประทับยังวิหารที่สร้างด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ในอุทยานชื่อว่าโสภณะ ซึ่งซื้อไว้ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ณ ที่ใกล้สถานที่ประทับของพระองค์ แล้วหลั่งน้ำให้ตกลงด้วยพระดำรัสว่า
                                   ข้าแต่พระมหามุนี อุทยานชื่อว่าโสภณะนี้ กระหม่อมฉัน
                         ซื้อไว้ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง แล้วให้สร้างด้วยทรัพย์อีกแสนหนึ่ง
                         ขอพระองค์ได้โปรดรับไว้เถิด.

               ในวันใกล้วันเข้าพรรษา พระราชบุตรได้ยังมหาทานให้เป็นไปแด่พระศาสดา แล้วทรงชักชวนโอรส พระชายาและเหล่าอำมาตย์ ในการให้ทาน และการกระทำกิจการว่า ท่านทั้งหลายพึงให้ทานโดยวิหารนี้ ส่วนพระองค์เองประทับอยู่ที่ใกล้ๆ กับสถานที่อยู่ของพระสุมนเถระ ทรง บำรุงพระศาสดาตลอดไตรมาส ณ สถานที่ประทับอยู่ของพระองค์ ด้วยประการอย่างนี้.
               ก็เมื่อจวนจะใกล้วันปวารณา จึงเสด็จเข้าไปยังหมู่บ้านยังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ทรงวางไตรจีวรไว้แทบบาทมูลของพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ ทรงนมัสการแล้วได้ทรงกระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุญที่กระหม่อมฉันทำเริ่มมาตั้งแต่กองค่ายนั้น จะกระทำเพื่อประโยชน์แก่สักกสมบัติเป็นต้นก็หามิได้ โดยที่แท้ กระหม่อมฉันพึงเป็นอุปัฏฐากที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนพระสุมนเถระนี้.
               พระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนานั้นไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์แล้วเสด็จหลีกไป.
               ในพุทธุปบาทกาลนั้น เขาทำบุญอยู่ถึงแสนปี แม้ต่อจากพุทธุปบาทกาลนั้นไป ก็ได้สั่งสมบุญกรรมไว้เหลือหลายในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป จึงมาเกิดในเรือนของผู้มีสกุล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ได้เอาผ้าอุตราสงค์มาทำการบูชาเพื่อจะรับบาตรของพระเถระรูปหนึ่งผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่.
               เขากลับไปเกิดในสวรรค์อีก จุติจากสวรรค์แล้วมาเป็นพระเจ้าพาราณสี ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ จึงนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้ฉัน เสร็จแล้วให้สร้างบรรณศาลา ๘ หลังไว้ในอุทยานอันเป็นมงคลของพระองค์ แล้วมอบถวายตั่งอันสำเร็จด้วยรัตนะทั้งหมด กับเชิงรองอันเป็นแก้วมณี ๘ สำรับ เพื่อให้เป็นที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น แล้วทำการอุปัฏฐากอยู่ถึงหมื่นปี. การกระทำดังนี้ได้ปรากฏแล้ว.
               เขาก่อสร้างบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ ถึงแสนกัป ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต พร้อมกับพระโพธิสัตว์ของพวกเราทั้งหลาย จุติจากภพดุสิตนั้นแล้วมาบังเกิดในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าอมิโตทนศากยะ ได้นามว่าอานนท์ เพราะเกิดมาทำพวกพระญาติให้ยินดี.
               อานนท์นั้นเจริญวัยขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำการเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ แล้วเสด็จไปยังนครกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เสร็จแล้วเสด็จออกจากนครกบิลพัสดุ์นั้น จึงออกไปพร้อมกับเจ้าภัททิยะเป็นต้นผู้เสด็จออกบวชเพื่อเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น แล้วบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ได้ฟังธรรมกถาในสำนักของท่านพระปุณณมันตานีบุตร จึงดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
               ก็สมัยนั้น ในปฐมโพธิกาล พระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีอุปัฏฐากประจำเป็นเวลา ๒๐ พรรษา. บางคราวท่านพระนาคสมาละถือบาตรจีวรเที่ยวไป. บางคราวพระนาคิตะ, บางคราวพระอุปวาณะ, บางคราวพระสุนักขัตตะ, บางคราวพระจุนทะสมณุทเทส, บางคราวพระสาคิตะ, บางคราวพระเมฆิยะ ท่านเหล่านั้น โดยมากพระศาสดาไม่ทรงโปรด.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งอยู่บนบวรพุทธอาสน์อันเขาปูลาดไว้ในบริเวณพระคันธกุฎี ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราเป็นคนแก่แล้ว. ภิกษุบางพวก เมื่อเรากล่าวว่าจะไปทางนี้ กลับไปทางอื่น บางพวกวางบาตรจีวรของเราไว้ที่พื้น พวกท่านจงเลือกภิกษุสักรูปหนึ่งให้เป็นอุปัฏฐากประจำตัวเรา.
               ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นเกิดธรรมสังเวช.
               ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักบำรุงพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามท่านเสีย. โดยอุบายนี้ พระมหาสาวกทั้งปวงมีพระมหาโมคคัลลานะเป็นต้น ยกเว้นท่านพระอานนท์ ต่างลุกขึ้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากๆ แม้พระมหาสาวกเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงห้ามเสีย.
               ส่วนพระอานนท์คงนั่งนิ่งอยู่.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านผู้มีอายุ แม้ตัวท่านก็จงทูลขอตำแหน่งอุปัฏฐากพระศาสดาเถิด. พระอานนท์กล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าการอุปัฏฐากที่ได้มาด้วยการขอ จะเป็นเช่นไร ถ้าทรงชอบพระทัย พระศาสดาก็จักตรัสบอกเอง.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ ไม่ต้องให้กำลังใจอานนท์ เธอรู้ตัวเองแล้วจักอุปัฏฐากเราเอง.
               ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันกล่าวว่า ลุกขึ้นเถิด อาวุโสอานนท์ ท่านจงขอตำแหน่งอุปัฏฐากกะพระศาสดาเถิด.
               พระเถระลุกขึ้นแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ทรงได้แก่ข้าพระองค์ ๑ จักไม่ทรงประทานบิณฑบาตอันประณีต ๑ จักไม่ประทานให้อยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกัน ๑ จักไม่ทรงพาไปยังที่นิมนต์ ๑ เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               การปฏิเสธ ๔ ข้อนี้ เพื่อจะปลดเปลื้องการติเตียนที่ว่า เมื่อได้คุณประโยชน์มีประมาณเท่านี้ การอุปัฏฐากพระศาสดาจะหนักหนาอะไร.
               (พระอานนท์กราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จไปยังที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์ได้รับไว้ ๑ ข้าพระองค์จะได้นำบุคคลผู้มาแล้วๆ จากประเทศอื่นเข้าเฝ้าในทันทีทันใด ๑ เมื่อใด ข้าพระองค์เกิดความสงสัย ขอให้ได้เข้าเฝ้าถามพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ เมื่อนั้น ๑ ถ้าพระองค์จักทรงพยากรณ์ธรรมที่ทรงแสดงในที่ลับหลังแก่ข้าพระองค์อีก ๑ เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพระองค์จักอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               การขอ ๔ ข้อนี้ เพื่อจะปลดเปลื้องคำติเตียนที่ว่า แม้เรื่องเท่านี้ พระเถระก็ไม่ได้การอนุเคราะห์ในสำนักพระศาสดา และเพื่อจะทำธรรมภัณฑาคาริก ขุนคลังธรรมให้บริบูรณ์
               รวมความว่า พระเถระได้พร ๘ ประการนี้ จึงจะเป็นอุปัฏฐากประจำ.
               พระเถระได้บรรลุผลแห่งบารมีทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญมาแสนกัป ก็เพื่อต้องการฐานันดรนั้นเท่านั้น.
               ตั้งแต่วันที่ได้ตำแหน่งอุปัฏฐาก พระเถระได้อุปัฏฐากพระทศพลด้วยกิจมีอาทิอย่างนี้ คือถวายน้ำสรง ๒ ครั้ง ถวายไม้ชำระพระทนต์ ๓ ครั้ง บริกรรมพระหัตถ์และพระบาท บริกรรมพระปฤษฎางค์ และกวาดบริเวณพระคันธกุฎี เป็นผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสำนักตลอดภาคกลางวัน ด้วยหวังใจว่า เวลาชื่อนี้ พระศาสดาควรได้สิ่งชื่อนี้ เราควรทำกรรมชื่อนี้.
               ส่วนในภาคกลางคืน ได้ถือเอาประทีปด้ามดวงใหญ่ เดินไปรอบๆ บริเวณพระคันธกุฎี ๙ ครั้ง เพื่อจะได้ถวายคำตอบในเมื่อพระศาสดาตรัสเรียก และเพื่อบรรเทาความง่วงเหงาหาวนอน.
               ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าในพระเชตวัน ตรัสสรรเสริญพระอานนทเถระโดยอเนกปริยาย แล้วทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติและเป็นอุปัฏฐาก.
               พระเถระนี้อันพระศาสดาทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะในฐานะ ๕ ฐานะด้วยประการอย่างนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการ เป็นผู้รักษาคลังธรรมของพระศาสดา ทั้งที่ยังเป็นพระเสขะอยู่ทีเดียว.
               เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว อันภิกษุทั้งหลายให้อาจหาญขึ้น และอันเทวดาให้สังเวชสลดใจโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง คิดว่า ก็บัดนี้ พรุ่งนี้แล้วหนอจะทำสังคายนาพระธรรม ก็ข้อที่เรายังเป็นพระเสขะมีกรณียะที่จะพึงทำ จะไปยังที่ประชุมเพื่อสังคายนาพระธรรมกับพระเถระผู้เป็นอเสขะ ไม่สมควรเลย จึงเกิดความอุตสาหะ เริ่มตั้งวิปัสสนา กระทำวิปัสสนากรรมอยู่ตลอดคืนยังรุ่ง ไม่ได้ความเพียรอันสม่ำเสมอในการจงกรม แต่นั้นจึงเข้าไปยังวิหารแล้วนั่งบนที่นอน มีความประสงค์จะนอนจึงเอนกายลง. ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน, และเท้าพอพ้นจากพื้น ในระหว่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายโดยไม่ถือมั่น ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖.
               พระเถระประกอบด้วยคุณมีอภิญญา ๖ เป็นต้นอย่างนี้ บรรลุตำแหน่งเอตทัคคะโดยคุณมีความเป็นอุปัฏฐากเป็นต้น ระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะแสดงอปทานแห่งความประพฤติในกาลก่อนด้วยความโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อารามทฺวารา นิกฺขมฺม ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อารามทฺวารา ความว่า พระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จออกจากประตูพระวิหาร แล้วประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้เรียบร้อย ที่เขาทำไว้ท่ามกลางมณฑป ใกล้ประตูด้านนอก เพื่อจะทรงแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งปวง.
               บทว่า วสฺสนฺโต อมตํ วุฏฺฐึ ความว่า หลั่งฝนคือธรรมด้วยสายธารแห่งมหาอมตะคือพระธรรมเทศนา.
               บทว่า นิพฺพาเปสิ มหาชนํ ความว่า ทรงทำไฟคือกิเลสอันอยู่ในจิตสันดานของมหาชนให้ดับ คือให้สงบระงับ.
               อธิบายว่า ทรงยังมหาชนให้ถึงความสงบคือความเย็น ด้วยการดื่มน้ำอมฤตคือพระนิพพาน.
               เมื่อจะแสดงบริวารสมบัติจึงกล่าวว่า สตสหสฺสํ เต ธีรา ดังนี้.
               อธิบายว่า นักปราชญ์เหล่านั้นเป็นพระขีณาสพประมาณหนึ่งแสน ประกอบด้วยอภิญญา ๖ คือส่วนแห่งญาณมีอิทธิวิธญาณเป็นต้น ชื่อว่ามีฤทธิ์ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยฤทธิ์ทั้งหลาย อันสามารถไปในหลายแสนจักรวาลได้โดยทันที พากันแวดล้อมพระสัมพุทธเจ้าคือพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระพระองค์นั้น ประดุจเงาไม่ไปปราศในที่ไหนๆ. อธิบายว่า แวดล้อมฟังธรรมอยู่.
               บทว่า หตฺถิกฺขนฺธคโต อาสึ ความว่า ในกาลนั้น คือในสมัยแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราได้นั่งอยู่บนหลังช้าง.
               บทว่า เสตจฺฉตฺตํ วรุตฺตมํ ความว่า เรานั่งบนหลังช้างกั้นเศวตฉัตรชั้นสูงที่พึงต้องการไว้เหนือกระหม่อมของเรา.
               บทว่า สุจารุรูปํ ทิสฺวาน ความว่า ความปลื้มใจคือความยินดี ได้แก่ความโสมนัสเกิดขึ้นแก่เรา เพราะได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้มีพระรูปงดงามเป็นที่จับใจ กำลังทรงแสดงธรรมอยู่.
               บทว่า โอรุยฺห หตฺถิกฺขนฺธมฺหา ความว่า เราเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นประทับนั่ง จึงลงจากหลังช้างแล้วเข้าไปเฝ้า คือไปสู่ที่ใกล้พระนราสภ คือพระผู้ประเสริฐแห่งนระ.
               บทว่า รตนมยฉตฺตํ เม เชื่อมความว่า เรากั้นฉัตรของเราอันประดับด้วยรัตนะ เหนือพระเศียรแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด.
               บทว่า มม สงฺกปฺปมญฺญาย ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระนั้นทรงเป็นใหญ่ในระหว่างฤาษีทั้งหลาย ทรงทราบความดำริอันเกิดขึ้นด้วยความเลื่อมใสของเรา.
               บทว่า ตํ กตํ ฐปยิตฺวาน ความว่า พระองค์ทรงหยุดพระธรรมกถาที่พระองค์กำลังทรงแสดงอยู่นั้น แล้วได้ภาษิตคือตรัสคาถาเหล่านี้ เพื่อต้องการพยากรณ์เรา.
               หากจะมีคำถามว่า ทรงพยากรณ์อย่างไร?
               จึงตรัสคำมีอาทิว่า โย โส ดังนี้.
               ในคำนั้น เชื่อมความว่า พระราชกุมารนั้นใดทรงกั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการอันเป็นทอง เหนือกระหม่อมของเราตถาคต.
               บทว่า ตมหํ กิตฺตยิสฺสามิ ความว่า เราจักประกาศคือจักกระทำพระราชกุมารนั้นให้ปรากฏ.
               บทว่า สุโณถ มม ภาสโต ความว่า ท่านทั้งหลายจงฟัง คือจงเงี่ยโสตลงมนสิการคำของเราผู้จะกล่าวอยู่.
               บทว่า อิโต คนฺตฺวา อยํ โปโส ความว่า พระราชกุมารนี้จุติจากมนุษยโลกนี้ จักไปยังภพดุสิตแล้วอยู่ คือจักอยู่ในภพดุสิตนั้น.
               ในคำนั้นเชื่อมเนื้อความว่า อันนางอัปสรทั้งหลายกระทำไว้ในเบื้องหน้าคือแวดล้อม จักเสวยสมบัติอยู่ในภพดุสิต.
               บทว่า จตุตฺตึสกฺขตฺตุํ เชื่อมความว่า จุติจากภพดุสิตแล้วบังเกิดขึ้นในภพดาวดึงส์ จักเป็นจอมเทวดาครองเทวราชสมบัติอยู่ ๓๔ ครั้ง.
               บทว่า พลาธิโป อฏฺฐสตํ ความว่า จุติจากภพดาวดึงส์มาบังเกิดในมนุษยโลก จักเป็นใหญ่ในกองทัพ คือเป็นใหญ่เป็นประธานในกองทัพอันประกอบด้วยองค์ ๔ จักเป็นเจ้าประเทศราช ๑๐๘ ชาติ จักอยู่ครองพสุธาคือปฐพีอันประเสริฐด้วยรัตนะมิใช่น้อย คือจักอยู่ในแผ่นดิน.
               บทว่า อฏฺฐปญฺญาสกฺขตฺตุํ ความว่า จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ชาติ. จักครองความเป็นเจ้าประเทศราชอันกว้างใหญ่คือนับไม่ถ้วน ในแผ่นดินคือในแผ่นดินชมพูทวีปทั้งสิ้น.
               บทว่า สกฺยานํ กุลเกตุสฺส ความว่า จักได้เป็นญาติของพระพุทธเจ้าผู้เป็นธงชัยแห่งสักยราชสกุล.
               บทว่า อาตาปี แปลว่า มีความเพียร.
               บทว่า นิปโก ได้แก่ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือปัญญารู้รอบคอบ. เป็นผู้เฉลียวฉลาด ในพาหุสัจจะคือความเป็นพหูสูต ได้แก่ในการทรงจำพระไตรปิฎก.
               เชื่อมความว่า จักเป็นผู้มีความประพฤติในการถ่อมตน คือเป็นผู้ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น เป็นผู้ไม่แข็งกระด้าง คือเว้นจากความกระด้างมีความคะนองทางกายเป็นต้น จักเป็นผู้ชำนาญบาลีทั้งปวง คือจักเป็นผู้มีปกติทรงจำพระไตรปิฎกทั้งสิ้นได้.
               บทว่า ปธานปหิตตฺโต โส ความว่า พระอานนทเถระนั้นเป็นผู้มีจิตส่งไปเพื่อกระทำความเพียร.
               บทว่า อุปสนฺโต นิรูปธิ ความว่า เป็นผู้เว้นอุปธิคือ ราคะ โทสะและโมหะ. เป็นผู้สงบ คือเป็นผู้มีกายและจิตสงบ เพราะละเหล่ากิเลสที่จะพึงละด้วยโสดาปัตติมรรค.
               บทว่า สนฺติ อารญฺญกา ความว่า มีในอรัญ คือเกิดในป่าใหญ่.
               บทว่า สฏฺฐิหายนา ความว่า ในเวลามีอายุ ๖๐ ปี มีกำลังเสื่อมไป.
               บทว่า ติธา ปภินฺนา ความว่า ตกมัน ๓ แห่ง กล่าวคือที่ตาหูและอัณฑะ.
               บทว่า มาตงฺคา แปลว่า เกิดในตระกูลช้างชื่อมาตังคะ.
               บทว่า อีสาทนฺตา แปลว่า มีงาเหมือนงอนรถ. เป็นช้างทรงคือเป็นราชพาหนะ.
               ช้างตัวประเสริฐได้แก่พญาช้าง กล่าวคือช้างกุญชรมีปรากฏอยู่ฉันใด บัณฑิตกล่าวคือพระขีณาสพ ได้แก่พระอรหันตนาคผู้มีฤทธิ์นับด้วยแสน ย่อมมีอยู่ฉันนั้น. พระอรหันตนาคทั้งหมดนั้น ของพญาช้างตัวประเสริฐคือพระพุทธเจ้า.
               บทว่า น โหนฺติ ปณิธิมฺหิ เต ความว่า บัณฑิตเหล่านั้นย่อมไม่เป็นเช่นนั้นในความปรารถนา. อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหมดนั้นพึงกลัวภัย ไม่อาจดำรงอยู่ตามภาวะของตนได้อย่างไร.
               คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังกล่าวแล้วฉะนี้แล.
               จบพรรณนาอานันทเถราปทาน               
               จบพรรณนาพุทธวรรคที่ ๑ ด้วยลำดับคำเพียงเท่านี้               
               จบอรรถกถาอปทานภาคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

               รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. พุทธาปทาน
                         ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
                         ๓. สารีปุตตเถราปทาน
                         ๔. มหาโมคคัลลานเถราปทาน
                         ๕. มหากัสสปเถราปทาน
                         ๖. อนุรุทธเถราปทาน
                         ๗. ปุณณมันตานีปุตตเถราปทาน
                         ๘. อุปาลีเถราปทาน
                         ๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
                         ๑๐. ปิณโฑภารทวาชเถราปทาน
                         ๑๑. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน
                         ๑๒. อานันทเถราปทาน
               ท่านรวบรวมคาถาทั้งหมดได้ ๖๕๐ คาถา.
               จบ อปทานพุทธวรรคที่ ๑               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๑๒. อานันทเถราปทาน (๑๐) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 11อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 12อ่านอรรถกถา 32 / 13อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1165&Z=1212
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=9262
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=9262
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :