ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 127อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 128อ่านอรรถกถา 32 / 129อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๓. เสเรยยกวรรค
๖. กุสุมาสนิยเถราปทาน (๑๒๖)

               ๑๒๖. อรรถกถากุสุมาสนิยเถราปทาน               
               เรื่องราวของท่านพระกุสุมาสนิยเถระมีคำเริ่มต้นว่า นคเร ธญฺญวติยา ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระชินวรพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ทุกๆ ภพนั้นจะสั่งสมแต่บุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นประจำเสมอ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ท่านได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นผู้มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ไปเรียนไตรเพทจนจบศิลปศาสตร์ชั้นสูงของพราหมณ์ เป็นผู้ฉลาดในลัทธิของตนและของผู้อื่น มีความประสงค์จะบูชามารดาบิดา จึงวางกำดอกบัว ๔ กำไว้ข้างๆ ตัว แล้วนั่งลงได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี มีหมู่ภิกษุสงฆ์แวดล้อม กำลังเสด็จผ่านมา และได้พบเห็นกลุ่มแห่งพระพุทธเจ้ารัศมีมีสีเขียวและเหลืองเป็นต้นพวยพุ่งออกมา เขามีใจเลื่อมใส จัดแจงปูลาดอาสนะเกลี่ยลาดดอกไม้เหล่านั้นบนอาสนะนั้น แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้นั่งบนอาสนะนั้นแล้ว ถือเอาของควรเคี้ยวและควรบริโภคทั้งหมดในเรือนของตนที่ตระเตรียมไว้เพื่อมารดา มาถวายให้พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยบริวารฉันจนอิ่มแล้ว.
               ในเวลาที่พระองค์ฉันเรียบร้อยแล้ว ยังได้ถวายดอกอุบลอีกกำมือหนึ่ง. ด้วยบุญวิธีอันนั้น เรามีความโสมนัสได้ตั้งความปรารถนาไว้แล้ว.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอนุโมทนาแล้ว ก็เสด็จหลีกไป.
               ด้วยบุญอันนั้น เขาจึงได้เสวยสวรรค์สมบัติและมนุษย์สมบัติจนครบทั้ง ๒ อย่าง.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ได้เกิดในตระกูลแห่งหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ด้วยสมบัติในกรุงสาวัตถี บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็เจริญรุ่งเรืองไปด้วยโภคสมบัติและยศศักดิ์ เพราะมองเห็นโทษในกามทั้งหลายจึงละเพศฆราวาสบวช ไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์.
               ในกาลก่อนมา ท่านได้ระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วในกาลก่อนได้ด้วยปุพเพนิวาสญาณ เกิดความโสมนัส เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า นคเร ธญฺญวติยา ดังนี้.
               คำว่า ธญฺญวติยา นั้น มีวิเคราะห์ว่า
               ชื่อว่าธัญญวดี เพราะเป็นที่เกิดแห่งตระกูลขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาลและคหปติมหาศาล มากมายหลายตระกูล ซึ่งล้วนแต่มีโชคมีบุญ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธัญญวดี เพราะเป็นแหล่งแห่งรัตนะ ๗ ประการมีมุกดาและแก้วมณีเป็นต้น อันเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคชั้นดี ๗ อย่าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธัญญวดี เพราะเป็นแหล่งที่เกิดแห่งวัดวาอารามเป็นต้นซึ่งเป็นสถานที่อยู่ของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพผู้มีบุญจำนวนมากมาย.
               ชื่อว่านคระ เพราะเป็นที่ปรารถนาต้องการของเหล่าชนผู้ต้องการเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภค.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่านคะ เพราะไม่ไปไหน. คือสถานที่ประทับอยู่ของพระราชา พระยุพราชและหมู่อำมาตย์เป็นต้น.
               ชื่อว่านคร เพราะย่อมยึดครอบครองไว้.
               อธิบายว่า สถานที่ที่กำหนดหมาย แวดล้อมกั้นเป็นเขตด้วยกำแพงเป็นต้น อันเป็นหมวดหมู่แห่งที่ประทับ (พระมหาราชวัง) ของพระราชาเป็นต้น ชื่อว่าพระนคร.
               เชื่อมความว่า ในพระนครนั้น เราได้รับพยากรณ์ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าวิปัสสี ในกาลใด ในกาลนั้น เราได้เป็นพราหมณ์อยู่ในพระนครธัญญวดีนั้นแล.
               คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               จบอรรถกถากุสุมาสนิยเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๓. เสเรยยกวรรค ๖. กุสุมาสนิยเถราปทาน (๑๒๖) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 127อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 128อ่านอรรถกถา 32 / 129อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=3811&Z=3831
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=3683
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=3683
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :