ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 16อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 32 / 18อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค
๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน (๑๕)

               ๑๕. อรรถกถาปิลินทวัจฉเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระปิลินทวัจฉเถระมีคำเริ่มต้นว่า นิพฺพุเต โลกนาถมฺหิ ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลมีโภคะมาก ในหังสวดีนคร ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศโดยภาวะเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ปรารถนาตำแหน่งนั้น บำเพ็ญบุญตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า บังเกิดในเรือนมีตระกูล.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะปรินิพพานแล้ว ท่านบูชาและพระสถูปของพระผู้พระภาคเจ้านั้น บำเพ็ญทานให้เป็นไปแด่พระสงฆ์ เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว เสวยสมบัติทั้งสองในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. เมื่อพระพุทธเจ้าไม่เสด็จอุบัติขึ้น เป็นพระเจ้าจักรพรรดิให้มหาชนพากันตั้งอยู่ในศีล ๕ ได้กระทำให้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายยังไม่เสด็จอุบัติขึ้นนั่นแล ท่านบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี. ญาติทั้งหลายขนานนามท่านว่า ปิลินทะ.
               บทว่า วจฺโฉ ได้แก่ โคตร.
               ครั้นต่อมาท่านได้ปรากฏนามว่าปิลินทวัจฉะ ก็เพราะท่านเป็นผู้มากไปด้วยการสังเวช ท่านจึงบวชเป็นปริพาชก ยังวิชชา ๓ ชื่อว่าจูฬคันธาระให้สำเร็จ เป็นผู้เที่ยวไปทางอากาศ และรู้จิตของผู้อื่นด้วยวิชชานั้น ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภและยศ อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์โดยลำดับ. จำเดิมแต่นั้นมา ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า วิชชานั้นไม่ได้สำเร็จแก่ท่าน. ท่านไม่ยังกิจของตนให้สำเร็จ. ท่านดำริว่า ข้อที่ท่านได้สดับมาในสำนักอาจารย์และปาจารย์ คือมหาคันธารวิชชา ซึ่งเป็นที่ๆ ท่านทรงจำไว้ได้ แต่จูฬคันธารวิชชาย่อมไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่พระสมณโคดมเสด็จมา วิชชาของเรานี้ย่อมไม่สำเร็จ พระสมณโคดมย่อมทรงทราบมหาคันธารวิชชาอย่างไม่ต้องสงสัย กระไรหนอ เราจะเข้าไปหาท่าน พึงเรียนวิชชานั้นในสำนักของพระสมณโคดม. เพราะเหตุนั้นแล พระองค์จึงตรัสว่า ท่านจงบวชในสำนักของเรา.
               ท่านสำคัญว่า การบริกรรมวิชชาเป็นการบรรพชา จึงได้บรรพชาแล้ว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ท่าน ได้ทรงประทานกัมมัฏฐานอันสมควรแก่จริยา. เพราะท่านสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ไม่นานนัก ท่านเริ่มตั้งวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตแล้ว.
               ก็เทวดาเหล่านี้ได้ผู้ตั้งอยู่ในโอวาทของท่านในชาติก่อน เกิดในสวรรค์. เทวดาเหล่านั้นอาศัยความเป็นผู้กตัญญู เกิดความนับถือในท่านมาก เข้าไปนั่งใกล้พระเถระทั้งเย็นและเช้า.
               เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในความเป็นผู้เลิศโดยความเป็นที่รักเป็นที่พอใจของเทวดาทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเราผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย ปิลินทวัจฉะเป็นเลิศ.
               ท่านถึงตำแหน่งอันเลิศอย่างนี้แล้ว หวนระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะประกาศปุพพจริยาปทาน ด้วยสามารถปีติและโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า นิพฺพุเต โลกนาถมฺหิ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า โลกนาโถ เพราะเป็นที่พึ่งคือเป็นประธานของกามโลก รูปโลกและอรูปโลก.
               ชื่อว่า อคฺคปุคฺคโล เพราะเป็นผู้มีเมธาดี คือประเสริฐล้ำเลิศ.
               เชื่อมความว่า เมื่อพระโลกนาถผู้มีเมธาดี คือบุคคลผู้ล้ำเลิศนั้นปรินิพพาน ด้วยขันธปรินิพพาน.
               บทว่า ปสนฺนจิตฺโต สุมโน ความว่า เราเป็นผู้มีจิตเลื่อมใสด้วยศรัทธา มีใจดีด้วยโสมนัส ให้กระทำการบูชาพระสถูป คือพระเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสุเมธะนั้น.
               บทว่า เย จ ขีณาสวา ตตฺถ ความว่า ก็พระขีณาสพคือผู้ละกิเลสได้แล้ว ผู้ชื่อว่า ฉฬภิญญา คือผู้ประกอบด้วยอภิญญา ๖. ชื่อว่า มหิทฺธิกา คือ ผู้ประกอบด้วยฤทธิ์มาก.
               อธิบายว่า เรานิมนต์พระขีณาสพทั้งหมดนั้น ให้มาประชุมกันในที่นั้น นำมาด้วยความเอื้อเฟื้อ ได้กระทำสังฆภัตที่จะพึงถวายแก่สงฆ์ทั้งสิ้น.
               อธิบายว่า ให้พระขีณาสพนั้นฉัน.
               บทว่า อุปฏฺญาโก ตทา อหุ ความว่า ในกาลเป็นที่ให้สังฆภัตแก่เราในครั้งนั้น ท่านได้เป็นอุปัฏฐากสาวกชื่อว่าสุเมธะ ตามพระนามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าสุเมธะ.
               อธิบายว่า สาวกนั้นได้อนุโมทนาชื่นชมยินดีบูชาสักการะแก่เราแล้วได้แสดงอานิสงส์.
               บทว่า เตน จิตฺตปฺปสาเทน เราได้เข้าถึงวิมานในเทวโลก ด้วยความเลื่อมใสแห่งจิตอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจการกระทำการบูชาพระสถูปนั้น. อธิบายว่า เราบังเกิดในทิพยวิมานนั้น.
               บทว่า ฉฬาสีติสหสฺสานิ ความว่า นางเทพอัปสรหมื่นหกพันนาง ได้ชื่นชมยินดี ยังจิตของเราให้ยินดีในวิมานนั้น.
               บทว่า มเมว อนุวตฺตนฺติ ความว่า เทพอัปสรเหล่านั้นอุปัฏฐากด้วยกามทั้งปวงคือด้วยวัตถุกามมีรูปเป็นต้นอันเป็นทิพย์ อนุวัตรตามเราเท่านั้น คือกระทำตามคำของเรา ในกาลนั้น ตลอดกาลเป็นนิตย์.
               คำที่เหลือรู้ได้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาปิลินทวัจฉเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค ๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน (๑๕) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 16อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 17อ่านอรรถกถา 32 / 18อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1320&Z=1346
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=305
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=305
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :