ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๕ / ๗.

               พรรณนาอายติภยคาถา               
               คาถาว่า เอวํ ทุติเยน ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่ง ยังเป็นหนุ่มอยู่ทีเดียวมีพระประสงค์จะทรงผนวช จึงสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายจงพาพระเทวีมาแล้วให้ทรงบริหารราชสมบัติ เราจักบวช.
               อำมาตย์ทั้งหลายทูลให้ทรงทราบว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่อาจรักษาราชสมบัติที่หาพระราชามิได้ พระราชาใกล้เคียงทั้งหลายจักพากันมาปล้นชิงเอา ขอพระองค์จงทรงรอจนตราบเท่าพระโอรสสักองค์หนึ่งเสด็จอุบัติขึ้น.
               พระราชาทรงมีพระทัยอ่อนจึงทรงรับคำ.
               ลำดับนั้น พระเทวีทรงตั้งครรภ์. พระราชาทรงสั่งอำมาตย์เหล่านั้นอีกว่า พระเทวีทรงมีพระครรภ์ ท่านทั้งหลายจงอภิเษกพระโอรสผู้ประสูติแล้วในราชสมบัติ แล้วจงบริหารราชสมบัติ เราจักบวช. อำมาตย์ทั้งหลายทูลพระราชาให้ทรงทราบแม้อีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้อที่พระเทวีจักประสูติพระโอรสหรือพระธิดานั้นรู้ได้ยาก เพราะเหตุนั้น ขอพระองค์จงทรงรอเวลาประสูติก่อน. ทีนั้น พระเทวีได้ประสูติพระโอรส. แม้คราวนั้น พระราชาก็ทรงสั่งอำมาตย์ทั้งหลายเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. อำมาตย์ทั้งหลายพากันทูลพระราชาให้ทรงทราบด้วยเหตุมากมายแม้อีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงทรงรอจนกว่าพระโอรสจะเป็นผู้สามารถ.
               ลำดับนั้น เมื่อพระกุมารเป็นผู้สามารถแล้วพระราชารับสั่งให้อำมาตย์ทั้งหลายประชุมกันแล้วตรัสว่า บัดนี้ พระกุมารนี้เป็นผู้สามารถแล้ว ท่านทั้งหลายจงอภิเษกพระกุมารนั้นในราชสมบัติแล้วปรนนิบัติ ครั้นตรัสแล้ว ไม่ให้โอกาสแก่พวกอำมาตย์ ให้นำบริขารทั้งปวงมีผ้ากาสายะเป็นต้นมาจากตลาด ทรงผนวชในภายในบุรีนั่นเอง แล้วเสด็จออกไปเหมือนพระมหาชนก.
               ปริชนทั้งปวงพากันร่ำไรมีประการต่างๆ ติดตามพระราชาไป. พระราชาเสด็จไปตราบเท่ารัชสีมาของพระองค์ แล้วเอาไม้เท้าขีดรอยพลางตรัสว่า ไม่ควรก้าวล่วงรอยขีดนี้. มหาชนนอนลงบนแผ่นดินทำศีรษะไว้ที่รอยขีดร่ำไรอยู่ กล่าวว่า นี่แน่ะพ่อ บัดนี้ อาชญาของพระราชาจะทำอะไรแก่พระองค์ได้ จึงให้พระกุมารก้าวล่วงรอยขีดไป. พระกุมารทูลว่า พระเจ้าพ่อ พระเจ้าพ่อ แล้ววิ่งไปทันพระราชา.
               พระราชาทรงเห็นพระกุมารแล้วทรงดำริว่า เราบริหารมหาชนนี้ครองราชสมบัติ บัดนี้ เราไม่อาจบริหารทารกคนเดียวได้หรือ จึงพาพระกุมารเข้าป่า ทรงเห็นบรรณศาลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าในปางก่อนทั้งหลายอยู่มาแล้วในป่านั้น จึงสำเร็จการอยู่พร้อมกับพระโอรส.
               ลำดับนั้น พระกุมารทรงทำความคุ้นเคยในที่นอนอย่างดีเป็นต้น เมื่อมานอนบนเครื่องลาดทำด้วยหญ้า หรือบนเตียงเชือก จึงทรงกันแสง. เป็นผู้อันความหนาวและลมเป็นต้นถูกต้องเข้าก็ทูลว่า หนาวเสด็จพ่อ ร้อนเสด็จพ่อ ยุงกัดเสด็จพ่อ หิวเสด็จพ่อ ระหายเสด็จพ่อ.
               พระราชามัวแต่ทรงปลอบโยนพระกุมารอยู่นั่นแล ทำให้เวลาล่วงไปตลอดราตรี แม้เวลากลางวันทรงเที่ยวบิณฑบาตแล้วนำภัตตาหารเข้าไปให้พระกุมารนั้น. ภัตตาหารสำรวม มากไปด้วยข้าวฟ่าง ลูกเดือยและถั่วเขียวเป็นต้น แม้ไม่ชอบใจก็เสวยภัตตาหารนั้นด้วยอำนาจของความหิว พอล่วงไป ๒-๓ วันก็ทรงซูบซีดเหมือนปทุมที่วางไว้ในที่ร้อน. ส่วนพระราชาไม่ทรงมีประการอันแปลก เสวยได้ด้วยกำลังแห่งการพิจารณา.
               ลำดับนั้น พระราชา เมื่อจะทรงให้พระกุมารยินยอมจึงตรัสว่า นี่แน่ะพ่อ ในนคร ย่อมจะหาอาหารประณีตได้ พวกเราจงพากันไปในนครนั้นเถิด. พระกุมารรับว่า ดีละเสด็จพ่อ. แต่นั้น พระราชาทรงให้พระกุมารอยู่ข้างหน้า แล้วพากันกลับมาตามทางที่มาแล้วนั่นแหละ.
               ฝ่ายพระเทวีชนนีของพระกุมาร ทรงดำริว่า บัดนี้ พระราชาจักไม่ทรงพาพระกุมารไปอยู่ป่านาน พอล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้นก็จักเสด็จกลับ จึงให้กระทำรั้วไว้ในที่ที่พระราชาเอาไม้เท้าขีดไว้นั่นแหละ แล้วสำเร็จการอยู่.
               พระราชาประทับยืนอยู่ในที่ไม่ไกลจากรั้วของพระเทวีนั้น แล้วทรงส่งพระกุมารไปว่า ดูก่อนพ่อ มารดาของเจ้านั่งอยู่ที่นี่ เจ้าจงไป.
               พระองค์ได้ประทับยืนดูด้วยหวังพระทัยว่าใคร ๆ อย่าได้เบียดเบียนเขาเลย จนกระทั่งพระกุมารนั้นถึงที่นั้น พระกุมารได้วิ่งไปยังสำนักของพระมารดา.
               พวกบุรุษผู้ทำการอารักขาเห็นพระกุมารนั้นเสด็จมา จึงกราบทูลพระเทวี. พระเทวีห้อมล้อมด้วยหญิงฟ้อนสองหมื่นนางต้อนรับเอาไว้แล้ว และตรัสถามถึงความเป็นไปของพระราชา ได้ทรงสดับว่า เสด็จมาข้างหลัง จึงทรงสั่งคนไปคอยรับ.
               ฝ่ายพระราชาได้เสด็จไปยังที่อยู่ของพระองค์ในทันใดนั้นเอง.
               คนทั้งหลายไม่พบพระราชาจึงพากันกลับมา.
               ลำดับนั้น พระเทวีทรงหมดหวัง จึงพาพระโอรสไปยังพระนครอภิเษกไว้ในราชสมบัติ.
               ฝ่ายพระราชาประทับนั่งอยู่ในที่อยู่ของพระองค์ ทรงเห็นแจ้งบรรลุพระโพธิญาณแล้ว ได้กล่าวอุทานคาถานี้ ในท่ามกลางพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ณ ควงต้นไม้สวรรค์.
               อุทานคาถานั้น โดยใจความง่ายทั้งนั้น.
               ก็ในอุทานคาถานี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               การเปล่งวาจาสนทนาหรือวาจาเครื่องเกี่ยวข้องด้วยอำนาจความเสน่หาในกุมารนั้นนี้ใด เกิดแล้วแก่เราผู้ยังกุมารนั้นให้ยินยอมอยู่ โดยการอยู่ร่วมกับกุมารคนหนึ่งผู้เป็นเพื่อน. ผู้ประกาศให้ทราบความหนาวและความร้อนเป็นต้น. ถ้าเราไม่สละกุมารนั้นไซร้ แม้กาลต่อจากนั้นไป การเปล่งวาจาสนทนาหรือวาจาเครื่องเกี่ยวข้องนั้น ก็จักมีอยู่เหมือนอย่างนั้น. การเปล่งวาจาสนทนาหรือวาจาเครื่องเกี่ยวข้องกับเพื่อนจะพึงมีแก่เราจนถึงในบัดนี้.
               เราเล็งเห็นภัยนี้ต่อไปข้างหน้าว่า การเปล่งวาจาสนทนาและวาจาเครื่องเกี่ยวข้องทั้งสองนี้ จะกระทำอันตรายแก่การบรรลุคุณวิเศษ จึงทิ้งกุมารนั้นแล้วปฏิบัติโดยแยบคาย จึงได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาอายติภยคาถา               
               พรรณนากามคาถา               
               คาถาว่า กามา หิ จิตฺรา ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า บุตรของเศรษฐีในนครพาราณสี ยังหนุ่มแน่นทีเดียวได้ตำแหน่งเศรษฐี. เขามีปราสาท ๓ หลังอันเหมาะแก่ฤดูทั้ง ๓. เขาให้บำเรอด้วยสมบัติทั้งปวงดุจเทพกุมาร.
               ครั้งนั้น เขายังเป็นหนุ่มอยู่ทีเดียวคิดว่าจักบวช จึงลาบิดามารดา.
               บิดามารดาห้ามเขาไว้ เขาก็ยังรบเร้าอยู่เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. บิดามารดาจึงห้ามเขาแม้อีกโดยประการต่างๆ ว่า พ่อเอย เจ้าเป็นคนละเอียดอ่อน การบรรพชาทำได้ยาก เช่นกับการการเดินไปๆ มาๆ บนคมมีดโกน.
               เขาก็ยังรบเร้าอยู่เหมือนเดิมนั่นแหละ.
               บิดามารดาจึงคิดว่า ถ้าลูกคนนี้บวช ความโทมนัสย่อมเกิดมีแก่พวกเรา ห้ามเขาได้ ความโทมนัสย่อมจะเกิดมีแก่เขา. เออก็ความโทมนัสจงมีแก่พวกเราเถิด จงอย่ามีแก่เขาเลย จึงอนุญาตให้บวช.
               แต่นั้น บุตรของเศรษฐีนั้นไม่สนใจปริชนทั้งปวงผู้ปริเทวนาการอยู่ ไปยังป่าอิสิปตนะ บวชในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย. เสนาสนะอันประเสริฐยังไม่ถึงเขา เขาจึงลาดเสื่อลำแพนบนเตียงน้อยแล้วนอน. เขาเคยชินที่นอนอย่างดีมาแล้ว จึงได้มีความลำบากยิ่งตลอดคืนยังรุ่ง. เมื่อราตรีสว่างแล้ว เขาทำบริกรรมสรีระแล้วถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตพร้อมกับพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พระพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้แก่กว่า ได้เสนาสนะเลิศและโภชนะเลิศ. พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นนวกะ ได้อาสนะและโภชนะอันเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น.
               เขาได้เป็นผู้มีความทุกข์อย่างยิ่ง แม้เพราะโภชนะอันเศร้าหมองนั้น. พอล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น เขาก็ซูบผอมมีผิวพรรณหมองคล้ำเบื่อหน่าย ในเพราะสมณธรรมยังไม่ถึงความแก่กล้านั้น. แต่นั้น จึงสั่งทูตให้บอกแก่บิดามารดาแล้วสึก.
               พอ ๒-๓ วัน เขาได้กำลังแล้วประสงค์จะบวชแม้อีก.แต่นั้น เขาจึงบวชเป็นครั้งที่สอง แล้วก็สึกไปอีก.
               ในครั้งที่สามเขาบวชอีก ปฏิบัติโดยชอบเห็นแจ้งแล้ว กระทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณแล้วกล่าวอุทานคาถานี้ ได้กล่าวแม้พยากรณ์คาถานี้แหละในท่ามกลางพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายซ้ำอีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามา ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑.
               ใน ๒ อย่างนั้น ธรรมคืออารมณ์มีปิยรูปเป็นต้น ชื่อว่าวัตถุกาม ประเภทของราคะทั้งหมด ชื่อว่ากิเลสกาม. ก็ในที่นี้ ประสงค์เอาวัตถุกาม.
               กามทั้งหลายวิจิตรงดงามโดยอเนกประการมีรูปเป็นต้น. ชื่อว่าอร่อย เพราะเป็นที่ชอบใจของชาวโลก. ชื่อว่าเป็นที่รื่นรมย์ใจ เพราะทำใจของพาลปุถุชนให้ยินดี.
               บทว่า วิรูปรูเปน ได้แก่ ด้วยรูปต่างๆ.
               ท่านกล่าวอธิบายว่า ด้วยสภาวะหลายอย่าง.
               จริงอยู่ กามเหล่านั้นวิจิตรงดงามด้วยอำนาจรูปเป็นต้นมีรูปต่างๆ ชนิด ด้วยอำนาจสีเขียวเป็นต้นในรูปเป็นต้น. อธิบายว่า กามทั้งหลายแสดงความชอบใจโดยประการนั้นๆ ด้วยรูปต่างๆ นั้นๆ อย่างนี้ ย่ำยีจิตอยู่คือไม่ให้ยินดีในการบวช.
               คำที่เหลือในคาถานี้ปรากฏชัดแล้ว แม้บทสรุปก็พึงประกอบด้วยบท ๒ บท หรือ ๓ บท แล้วพึงทราบโดยนัยดังกล่าวในคาถาแรกนั้นแล.
               จบพรรณนากามคาถา               
               พรรณนาอีติคาถา               
               คาถาว่า อีติ จ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า หัวฝีเกิดขึ้นแก่พระเจ้าพาราณสี เวทนากล้าได้เพิ่มมากขึ้น หมอทั้งหลายทูลว่า เว้นสัตถกรรมการผ่าตัด จะไม่มีความผาสุก พระราชาทรงให้อภัยหมอเหล่านั้น แล้วให้กระทำการผ่าตัด. หมอเหล่านั้นผ่าหัวฝีนั้นแล้ว นำหนองและเลือดออกมา กระทำให้ไม่มีเวทนาแล้ว เอาผ้าพันแผล. และถวายคำแนะนำพระราชาใน (การเสวย) เนื้อและพระกระยาหารอันเศร้าหมอง.
               พระราชาทรงมีพระสรีระซูบผอม เพราะโภชนะเศร้าหมอง. และหัวฝีของพระราชานั้นก็แห้งไป. พระราชาทรงมีสัญญาว่าทรงผาสุก จึงเสวยพระกระยาหารอันสนิท. ด้วยเหตุนั้น จึงทรงเกิดพละกำลัง ทรงเสพเฉพาะในการเสพเท่านั้น.
               หัวฝีของพระราชานั้นก็ถึงสภาวะอันมีในก่อนนั่นแหละ เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์จึงทำให้การผ่าตัดจนถึง ๓ ครั้ง อันหมอทั้งหลายละเว้นแล้ว (จากการรักษา) จึงทรงเบื่อหน่าย ละราชสมบัติใหญ่ออกบวชเข้าป่า เริ่มวิปัสสนา ๖ พรรษาก็ทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ ได้กล่าวอุทานคาถานี้แล้วไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ.
               ที่ชื่อว่า อีติ จัญไรในคาถานั้น เพราะอรรถว่ามา.
               คำว่า อีติ นี้เป็นชื่อของเหตุแห่งความฉิบหายอันเป็นส่วนแห่งอกุศลที่จรมา. เพราะฉะนั้น แม้กามคุณเหล่านี้ก็ชื่อว่าจัญไร เพราะอรรถว่านำมาซึ่งความฉิบหายมิใช่น้อย และเพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมอนัตถพินาศ.
               แม้หัวฝีก็หลั่งของไม่สะอาดออกมา เป็นของบวมขึ้น แก่จัดและแตกออก เพราะฉะนั้น กามคุณเหล่านี้จึงชื่อว่าดุจหัวฝี เพราะหลั่งของไม่สะอาด คือกิเลสออกมา และเพราะมีภาวะบวมขึ้น แก่จัดและแตกออก โดยการเกิดขึ้น การคร่ำคร่าและแตกพังไป.
               ชื่อว่าอุปัทวะ เพราะอรรถว่ารบกวน. อธิบายว่า ทำอนัตถพินาศให้เกิดครอบงำ ท่วมทับไว้. คำว่า อุปัทวะ นี้เป็นชื่อของหัวฝีคือราคะเป็นต้น. เพราะฉะนั้น แม้กามคุณเหล่านี้ ก็ชื่อว่าอุปัทวะ เพราะนำมาซึ่งความพินาศคือการไม่รู้แจ้งพระนิพพานเป็นเหตุ และเพราะเป็นวัตถุที่ตั้งโดยรอบแห่งอุปัทวกรรมทุกชนิด.
               ก็เพราะเหตุที่กามคุณเหล่านี้ทำความกระสับกระส่ายเพราะกิเลสให้เกิด ทำความไม่มีโรคกล่าวคือศีล หรือความโลภให้เกิดขึ้น ปล้นเอาความไม่มีโรคซึ่งเป็นไปตามปกติ ฉะนั้น กามคุณเหล่านั้นจึงชื่อว่าดุจโรค เพราะอรรถว่าปล้นความไม่มีโรคนี้.
               อนึ่ง ชื่อว่าดุจลูกศร เพราะอรรถว่าเข้าไปเรื่อยๆ ในภายใน เพราะอรรถว่าเสียบเข้าในภายใน และเพราะอรรถว่าถอนออกยาก. ชื่อว่าเป็นภัย เพราะนำมาซึ่งภัยในปัจจุบันและภัยในภายหน้า.
               ชื่อว่า เมตํ เพราะตัดบทออกเป็น เม เอตํ.
               คำที่เหลือในคาถานี้ปรากฏชัดแล้ว.
               แม้คำสรุปก็พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาอีติคาถา               
               พรรณนาสีตาลุกคาถา               
               คาถาว่า สีตญฺจ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสี ได้มีพระราชาพระนามว่าสีตาลุกพรหมทัต พระราชานั้นทรงผนวชแล้วอยู่ในกุฎีที่มุงบังด้วยหญ้าในป่า ก็ในสถานที่นั้น ในฤดูหนาวก็หนาวจัด ในฤดูร้อนก็ร้อนจัด เพราะเป็นสถานที่โล่งแจ้ง. ในโคจรคามก็ไม่ได้ภิกษาเพียงพอแก่ความต้องการ แม้น้ำดื่มก็หาได้ยาก. ทั้งลม แดด เหลือบและสัตว์เลื้อยคลานก็เบียดเบียน.
               พระราชานั้นได้มีพระดำริดังนี้ว่า ในที่ประมาณกึ่งโยชน์จากที่นี้ไป มีถิ่นที่สมบูรณ์ อันตรายอันเบียดเบียนเหล่านี้แม้ทุกชนิดก็ไม่มี ในถิ่นที่นั้น ถ้ากระไรเราพึงไปในถิ่นที่นั้น เราอยู่ผาสุกอาจได้บรรลุความสุข.
               พระองค์ได้ทรงดำริต่อไปอีกว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่เป็นผู้มักมากในปัจจัย และย่อมทำจิตเห็นปานนี้ให้อยู่ในอำนาจของตนได้ ย่อมไม่ตกอยู่ในอำนาจของจิต เราจักไม่ไปละ ครั้นทรงพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงไม่เสด็จไป.
               พระองค์ทรงพิจารณาจิตที่เกิดขึ้นอย่างนี้จนถึงครั้งที่สามทำจิตให้กลับแล้ว.
               แต่นั้นพระองค์ก็ประทับอยู่ในที่เดิมนั้นแหละ ถึง ๗ พรรษาปฏิบัติชอบอยู่ กระทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ ตรัสอุทานคาถานี้ แล้วได้เสด็จไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีตญฺจ ความว่า ความหนาวมี ๒ อย่าง คือความหนาวมีธาตุภายในกำเริบเป็นปัจจัย และความหนาวมีธาตุภายนอกกำเริบเป็นปัจจัย.
               แม้ความร้อนก็มี ๒ อย่างเหมือนกัน.
               แมลงวันสีน้ำตาลชื่อว่าเหลือบ.
               บทว่า สิรึสปา ความว่า ทีฆชาติชนิดใดชนิดหนึ่งซึ่งเลื้อยคลานไป.
               คำที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
               แม้บทสรุปพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาสีตาลุกคาถา               
               พรรณนานาคคาถา               
               คาถาว่า นาโคว ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสี มีพระราชาองค์หนึ่งครองสมบัติอยู่ ๒๐ ปี สวรรคตแล้วไหม้อยู่ในนรก ๒๐ ปีเหมือนกัน แล้วเกิดในกำเนิดช้างในหิมวันตประเทศ มีสกนธ์กายเกิดพร้อมแล้ว มีร่างกายทั้งสิ้นดุจสีปทุม ได้เป็นช้างใหญ่จ่าโขลงตัวประเสริฐ. เฉพาะลูกช้างทั้งหลายย่อมกินกิ่งไม้หักที่ช้างนั้นหักลงแล้วๆ แม้ในการหยั่งลงน้ำ พวกช้างพังก็เอาเปือกตมมาไล้ทาช้างนั้น.
               เรื่องทั้งหมดได้เป็นเหมือนเรื่องของช้างปาลิไลยกะ.
               ช้างนั้นเบื่อหน่ายจึงหลีกออกไปจากโขลง. แต่นั้น โขลงช้างก็ติดตามช้างนั้นไปตามแนวของรอยเท้า. ช้างนั้นแม้หลีกไปอย่างนั้นถึงครั้งที่ ๓ โขลงช้างก็ยังติดตามอยู่นั่นแหละ.
               ลำดับนั้น ช้างนั้นจึงคิดว่า บัดนี้ หลานของเราครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี ถ้ากระไรเราพึงไปยังอุทยาน. ตามชาติกำเนิดอันมีในก่อนของตน หลานนั้นจักรักษาเราไว้ในอุทยานนั้น.
               ลำดับนั้น เมื่อโขลงช้างพากันหลับในตอนกลางคืน ช้างนั้นจึงละโขลงเข้าไปยังอุทยานนั้นนั่นแหละ. พนักงานรักษาอุทยาน เห็นเข้า จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาทรงแวดล้อมด้วยเสนา โดยหวังพระทัยว่าจักจับช้าง. ช้างบ่ายหน้าไปเฉพาะพระราชา.
               พระราชาทรงดำริว่า ช้างมาตรงหน้าเรา จึงผูกสอดลูกศรประทับยืนอยู่.
               ลำดับนั้น ช้างคิดว่า พระราชานี้คงจะยิงเรา จึงกล่าวด้วยถ้อยคำมนุษย์ว่า ข้าแต่ท่านพรหมทัต พระองค์อย่ายิงข้าพระองค์เลย ข้าพระองค์เป็นพระอัยกาของพระองค์.
               พระราชาตรัสว่า ท่านพูดอะไร แล้วตรัสถามเรื่องราวทั้งปวง.
               ฝ่ายช้างก็กราบทูลเรื่องทั้งปวงในราชสมบัติ ในนรกและในกำเนิดช้าง ให้ทรงทราบ.
               พระราชาตรัสว่า ดีละ ท่านอย่ากลัว และอย่าให้ใครๆ กลัว แล้วให้เข้าไปตั้งเสบียง คนอารักขาและสิ่งของสำหรับช้างแก่ช้าง.
               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จบนคอช้างตัวประเสริฐทรงดำริว่า พระอัยกานี้ครองราชสมบัติอยู่ ๒๐ ปีแล้วไหม้ในนรก แล้วเกิดใน กำเนิดดิรัจฉานด้วยเศษแห่งวิบากที่เหลือ แม้ในกำเนิดนั้นก็อดกลั้นการกระทบกระทั่งในการอยู่เป็นหมู่คณะไม่ได้ จึงมาที่นี้. โอ! การอยู่เป็นหมู่คณะลำบากหนอ. แต่ความเป็นผู้เดียวอยู่เป็นสุขแล. จึงทรงเริ่มวิปัสสนาบนคอช้างนั้นนั่นเอง ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว.
               พระราชานั้นทรงมีความสุขด้วยโลกุตรสุข.
               พวกอำมาตย์เข้าไปหมอบกราบแล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ได้เวลาเสด็จไปแล้ว พระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า เราไม่ได้เป็นพระราชา แล้วได้ตรัสคาถานี้ โดยนัยอันมีในก่อนนั่นแล.
               คาถานั้นว่าโดยอรรถแห่งบท ปรากฏชัดแล้ว.
               ก็ในที่นี้ ประกอบคำอธิบายไว้ดังต่อไปนี้.
               ก็คาถานั้น ท่านกล่าวโดยความถูกต้อง มิใช่กล่าวตามที่ได้ฟังกันมา. ช้างนี้ชื่อว่านาคะ เพราะไม่มาสู่ภูมิที่ตนยังมิได้ฝึก เพราะเป็นผู้ฝึกตนแล้วในศีลทั้งหลายที่พระอริยะใคร่หรือเพราะเป็นผู้มีร่างกายใหญ่โตฉันใด ชื่อว่าในกาลไหนๆ แม้เราก็ฉันนั้น พึงเป็นผู้ชื่อว่านาค เพราะไม่มาสู่ภูมิที่ยังไม่ได้ฝึก เพราะเป็นผู้ฝึกแล้วในศีลทั้งหลายที่พระอริยเจ้าใคร่ เพราะไม่กระทำบาป และเพราะไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก หรือเพราะเป็นผู้มีสรีระคุณใหญ่.
               อนึ่ง ช้างนี้ละโขลง อยู่ในป่าตามความชอบใจ ด้วยความสุขในความเป็นผู้เดียวเที่ยวไป พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉันใด ชื่อว่าในกาลไหนๆ แม้เราก็ฉันนั้น พึงเว้นหมู่คณะเสีย อยู่ในป่าตามความชอบใจด้วยความสุขในการอยู่ผู้เดียว คืออาศัยในป่าตลอดกาลที่ปรารถนา โดยประการที่จะมีความสุขแก่ตน พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด.
               อธิบายว่า พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป.
               อนึ่ง ช้างนี้ชื่อว่ามีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว เพราะเป็นผู้มีขันธ์ซึ่งตั้งอยู่ถูกที่ใหญ่โต ฉันใด ชื่อว่าในกาลไหนๆ แม้เราก็ฉันนั้น เป็นผู้ชื่อว่ามีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว เพราะเป็นผู้มีขันธ์คือกองแห่งศีลอันเป็นของพระอเสขะอันยิ่งใหญ่.
               อนึ่ง ช้างนี้ชื่อว่าปทุมี มีสีเหมือนปทุม เพราะมีตัวเช่นกับปทุม หรือเพราะเกิดในตระกูลช้างปทุมฉันใด ชื่อว่าในกาลไหนๆ แม้เราก็ฉันนั้น พึงเป็นผู้ชื่อว่าปทุมี เพราะเป็นผู้ซื่อตรงเช่นกับปทุม หรือเพราะเป็นผู้เกิดในปทุมคือริยชาติ.
               อนึ่ง ช้างนี้เป็นผู้โอฬารยิ่งด้วยเรี่ยวแรงและกำลังเป็นต้นฉันใด ชื่อว่าในกาลไหนๆ แม้เราก็ฉันนั้น พึงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์เป็นต้น หรือด้วยศีล สมาธิและปัญญา เป็นเครื่องชำแรกกิเลสเป็นต้น.
               เราคิดอยู่อย่างนี้จึงเริ่มวิปัสสนา แล้วได้บรรลุพระปัจเจกสัมโพธิญาณฉะนี้แล.
               จบพรรณนานาคคาถา               
               พรรณนาอัฏฐานคาถา               
               คาถาว่า อฏฺฐาน ตํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า โอรสของพระเจ้าพาราณสียังทรงเป็นหนุ่มอยู่ทีเดียว มีพระประสงค์จะผนวช จึงทูลอ้อนวอนพระชนกชนนี. พระชนกชนนีทรงห้ามพระโอรสนั้น. พระโอรสนั้นแม้จะถูกห้ามก็ยังทรงรบเร้าอยู่นั่นแหละว่าจักบวช.
               แต่นั้น พระชนกชนนีได้ตรัสคำทั้งปวงแล้วทรงอนุญาต เหมือนบุตรเศรษฐีที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น. และทรงให้พระโอรสปฏิญาณว่า บวชแล้วต้องอยู่ในพระอุทยานเท่านั้น.
               พระโอรสได้ทรงกระทำอย่างนั้นแล้ว.
               พระมารดาของพระองค์ทรงห้อมล้อมด้วยหญิงฟ้อนสองหมื่นนาง เสด็จไปพระอุทยานแต่เช้าตรู่ ให้พระโอรสดื่มยาคู และในระหว่างก็ทรงให้เคี้ยวของควรเคี้ยวเป็นต้น ทรงสนทนาอยู่กับพระโอรสนั้นจนกระทั่งเที่ยง จึงเสด็จเข้าพระนคร. ฝ่ายพระบิดาก็เสด็จมาในเวลาเที่ยง ให้พระโอรสนั้นเสวย แม้พระองค์ก็เสวยด้วย ทรงสนทนากับพระโอรสนั้นตลอดวัน. ในเวลาเย็น ทรงวางคนผู้ปรนนิบัติไว้ แล้วเสด็จเข้าพระนคร.
               พระโอรสนั้นไม่เงียบสงัดอยู่ตลอดทั้งวันและคืนด้วยประการอย่างนี้.
               ก็สมัยนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระนามว่าอาทิจจพันธุ์ อยู่ในเงื้อมเขานันทมูลกะ. พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงรำพึงอยู่ได้เห็นพระกุมารนั้นว่า กุมารนี้อาจบวชได้ แต่ไม่อาจตัดชัฏได้. เบื้องหน้าแต่นั้นทรงรำพึงต่อไปว่า พระกุมารจักเบื่อหน่ายโดยธรรมดาของตนได้หรือไม่หนอ. ลำดับนั้น ทราบว่า พระกุมารเมื่อทรงเบื่อหน่ายเองโดยธรรมดาจักเป็นเวลานานมาก จึงดำริว่าเราจักให้อารมณ์แก่พระกุมารนั้นดังนี้ แล้วมาจากพื้นมโนศิลาโดยนัยก่อน แล้วได้ยืนอยู่ในอุทยาน.
               บริษัทของพระราชาเห็นเข้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเสด็จมา.
               พระราชาทรงมีพระทัยปราโมทย์ว่า บัดนี้โอรสของเราจะไม่รำคาญ จักอยู่กับพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า จึงทรงอุปัฏฐากพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าโดยเคารพ แล้วขอให้อยู่ในอุทยานนั้น รับสั่งให้กระทำทุกสิ่งมีบรรณศาลา ที่พักกลางวันและที่จงกรมเป็นต้น เสร็จแล้วนิมนต์ให้อยู่.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นอยู่ในที่นั้น วันหนึ่งได้โอกาสจึงถามพระกุมารว่า พระองค์เป็นอะไร?
               พระกุมารตรัสว่า ข้าพเจ้าเป็นบรรพชิต.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่เป็นผู้เช่นนี้.
               ลำดับนั้น เมื่อพระกุมารตรัสว่า ท่านผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเป็นผู้เช่นไร อะไรไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ท่านไม่เพ่งดูการกระทำอันไม่สมควรแก่ท่าน พระมารดาของท่านเสด็จมาในเวลาเช้าพร้อมกับพวกสตรีสองหมื่นนาง กระทำอุทยานให้ไม่เงียบสงัด.
               อนึ่ง พระบิดาของท่านก็เสด็จมาพร้อมกับหมู่พลใหญ่ ทำให้ไม่เงียบสงัดในตอนเย็น บริษัทผู้ปรนนิบัติทำให้ไม่เงียบสงัดตลอดราตรีทั้งสิ้น มิใช่หรือ ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่เป็นเช่นกับท่าน แต่ท่านเป็นผู้เป็นเช่นนี้ ดังนี้แล้วแสดงธรรมเครื่องอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งในหิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์แก่พระกุมารผู้ยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแหละ.
               พระกุมารเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในหิมวันตประเทศนั้น ผู้ยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึด ผู้กำลังจงกรม และผู้กำลังทำการย้อมและการเย็บเป็นต้น จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายไม่ได้มาในที่นี้ แต่การบรรพชาท่านทั้งหลายอนุญาตแล้ว.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า เจริญพร ท่านอนุญาตการบรรพชาจำเดิมแต่กาลที่บวชแล้ว ชื่อว่าสมณะทั้งหลายย่อมได้เพื่อจะกระทำการออกไปจากทุกข์แก่ตน และเพื่อจะไปยังถิ่นที่ต้องการที่ปรารถนา กรรมมีประมาณเท่านี้แหละย่อมควร. ครั้นกล่าวแล้วจึงยืนอยู่ในอากาศ กล่าวกึ่งคาถานี้ว่า ข้อที่จะได้สัมผัสวิมุตติอันเกิดขึ้นในสมัยนั้น มิใช่ฐานะของผู้ยินดีในการคลุกคลีดังนี้ เป็นผู้ที่ใครๆ ยังเห็นอยู่นั่นแล ได้ไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะทางอากาศ.
               เมื่อพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเสด็จไปอย่างนั้นแล้ว พระกุมารนั้นเสด็จเข้าไปยังบรรณศาลาของตนแล้วก็นอน. ฝ่ายบุรุษผู้อารักขาประมาทเสียว่า พระกุมารนอนแล้ว บัดนี้จักไปไหนได้ จึงก้าวลงสู่ความหลับ.
               พระกุมารรู้ว่าบุรุษนั้นประมาทแล้ว จึงถือบาตรจีวรเข้าไปป่า.
               ก็พระกุมารนั้นยืนอยู่ในที่นั้นเริ่มวิปัสสนา กระทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณแล้วไปยังสถานที่ของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า. และในที่นั้น ถูกถามว่า บรรลุได้อย่างไร จึงกล่าวกึ่งคาถาที่พระอาทิจจพันธุปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้ให้ครบบริบูรณ์.
               ความของคาถานั้นว่า บทว่า อฏฺฐาน ตํ ตัดเป็น อฏฺฐานํ ตํ ท่านอธิบายว่า อการณํ ตํ แปลว่า ข้อนั้นมิใช่เหตุ. ท่านลบนิคคหิต. เหมือนในคำมีอาทิว่า อริยสจฺจาน ทสฺสนํ ดังนี้.
               บทว่า สงฺคณิการตสฺส แปลว่า ผู้ยินดีในหมู่คณะ.
               บทว่า ยํ เป็นคำกล่าวเหตุ ดุจในคำมีอาทิว่า ยํ หิรียติ หิรียิตพฺเพน แปลว่า เพราะละอายด้วยสิ่งที่ควรละอาย.
               บทว่า ผสฺเส ได้แก่ พึงบรรลุ.
               บทว่า สามยิกํ วิมุตฺตึ ได้แก่ โลกิยสมาบัติ.
               จริงอยู่ สมาบัติอันเป็นฝ่ายโลกิยะนั้น ท่านเรียกว่า สามยิกา วิมุตฺติ เพราะหลุดพ้นจากข้าศึกทั้งหลายในสมัยที่แน่วแน่ๆ เท่านั้น. ซึ่งสามยิกวิมุตตินั้น.
               พระกุมารตรัสว่า เราใคร่ครวญคำของพระอาทิจจพันธุปัจเจกสัมพุทธเจ้าดังนี้ว่า บุคคลพึงบรรลุวิมุตติด้วยเหตุใด เหตุนั้นมิใช่ฐานะ คือเหตุนั้นย่อมไม่มีแก่ผู้ยินดีในการคลุกคลีดังนี้ จึงละความยินดีในการคลุกคลี ปฏิบัติโดยแยบคาย จึงได้บรรลุแล้ว.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.
               จบพรรณนาอัฏฐานคาถา               
               จบวรรคที่ ๒               
               พรรณนาทิฏฐิวิสูกคาถา               
               คำว่า ทิฏฺฐีวิสูกานิ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่งไปในที่ลับแล้วทรงดำริว่า ความร้อนเป็นต้นอันกำจัดความหนาวเป็นต้นมีอยู่ฉันใด วิวัฏฏะอันกำจัดวัฏฏะมีอยู่ฉันนั้นหรือไม่หนอ.
               พระองค์จึงตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านรู้จักวิวัฏฏะไหม? อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า รู้พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสถามว่า วิวัฏฏะนั้นคืออะไร? แต่นั้นอำมาตย์ทั้งหลายจึงกล่าวถึงความเที่ยงและความขาดสูญ โดยนัยมีอาทิว่า โลกมีที่สุด.
               พระราชาทรงดำริว่า อำมาตย์พวกนี้ไม่รู้ อำมาตย์พวกนี้ทั้งหมดเป็นไปในคติของทิฏฐิ ทรงเห็นความที่พระองค์เองทรงเป็นที่ขัดกันและไม่เหมาะสมกันแก่อำมาตย์เหล่านั้น แล้วทรงดำริว่า วิวัฏฏะอันกำจัดวัฏฏะย่อมมี ควรแสวงหาวิวัฏฏะนั้น จึงทรงละราชสมบัติออกผนวช เจริญวิปัสสนาอยู่ ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณแล้ว. ได้ตรัสอุทานคาถานี้ และพยากรณ์คาถาในท่ามกลางพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ความของคาถานั้นว่า บทว่า ทิฏฺฐีวิสูกานิ ได้แก่ ทิฏฐิ ๖๒.
               จริงอยู่ ทิฏฐิเหล่านั้นชื่อว่าเป็นข้าศึก เพราะอรรถว่าเป็นข้าศึก เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องแทง และเพราะอรรถว่าทวนต่อมรรคสัมมาทิฏฐิ เมื่อเป็นอย่างนั้น ข้าศึกของทิฏฐิ หรือข้าศึกคือทิฏฐิ ชื่อว่าทิฏฐีวิสูกะ.
               บทว่า อุปาติวตฺโต แปลว่า ก้าวล่วงแล้วด้วยมรรคคือทัสสนะ.
               บทว่า ปตฺโต นิยามํ ความว่า บรรลุถึงนิยตภาวะความเป็นผู้แน่นอน โดยความเป็นผู้ไม่ตกไปเป็นธรรมดา และโดยความเป็นผู้มีสัมโพธิญาณเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               อีกอย่างหนึ่ง บรรลุปฐมมรรคกล่าวคือสัมมัตตนิยาม.
               ท่านกล่าวความสำเร็จกิจในปฐมมรรค และการได้เฉพาะปฐมมรรคนั้น ด้วยลำดับคำมีประมาณเท่านี้.
               บัดนี้ ท่านแสดงการได้เฉพาะมรรคที่เหลือ ด้วยคำว่า ปฏิลทฺธมคฺโค นี้.
               บทว่า อุปฺปนฺนญาโณมฺหิ แปลว่า เราเป็นผู้มีพระปัจเจกสัมโพธิญาณเกิดขึ้นแล้ว.
               ท่านแสดงผล ด้วยบทว่า อุปฺปนฺนญาโณมฺหิ นี้.
               บทว่า อนญฺญเนยฺโย ความว่า อันคนเหล่าอื่นไม่ต้องแนะนำว่า นี้จริง.
               ท่านแสดงความเป็นพระสยัมภู ด้วยบทว่า อนญฺญเนยฺโย นี้.
               อีกอย่างหนึ่ง แสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญเอง เพราะไม่มีความเป็นผู้อันคนอื่นจะพึงแนะนำในพระปัจเจกสัมโพธิญาณที่ได้บรรลุแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เป็นไปล่วงข้าศึกคือทิฏฐิ ด้วยสมถะและวิปัสสนา บรรลุถึงความแน่นอนด้วยมรรคเบื้องต้น มีมรรคอันได้แล้วด้วยมรรคที่เหลือทั้งหลาย มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ด้วยผลญาณ ชื่อว่าอันคนอื่นไม่ได้แนะนำ เพราะได้บรรลุธรรมทั้งหมดนั้นด้วยตนเอง.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้ว ฉะนี้แล.
               จบพรรณนาทิฏฐีวิสูกคาถา               
               พรรณนานิลโลลุปคาถา               
               คาถาว่า นิลฺโลลุโป ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พ่อครัวของพระเจ้าพาราณสีหุงพระกระยาหารในระหว่าง (เสวย) เห็นเป็นที่พอใจมีรสอร่อย แล้วน้อมเข้าไปถวายด้วยหวังใจว่า ชื่อแม้ไฉน พระราชาคงจะประทานทรัพย์ให้แก่เรา.
               พระกระยาหารนั้นโดยเฉพาะกลิ่นเท่านั้น ก็ทำความเป็นผู้ใคร่เสวยให้เกิดแก่พระราชา ทำพระเขฬะในพระโอฐให้เกิดขึ้น ก็เมื่อคำข้าวคำแรกสักว่าใส่เข้าในพระโอฐ เอ็นหมื่นเจ็ดพันเอ็นได้เป็นประหนึ่งน้ำอมฤตถูกต้องแล้ว.
               พ่อครัวคิดว่า จักประทานเราเดี๋ยวนี้ จักประทานเราเดี๋ยวนี้.
               ฝ่ายพระราชาทรงดำริว่า พ่อครัวสมควรแก่การสักการะ แล้วทรงดำริต่อไปว่า ก็เราได้ลิ้มรสแล้วสักการะ เกียรติศัพท์อันเลวก็จะแพร่ไปว่า พระราชาองค์นี้เป็นคนโลภ หนักในรส ดังนี้ จึงมิได้ตรัสคำอะไรๆ.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น พ่อครัวก็ยังคงคิดอยู่ว่า ประเดี๋ยวจักประทาน ประเดี๋ยวจักประทาน จนกระทั่งเสวยเสร็จ.
               ฝ่ายพระราชาก็มิได้ตรัสอะไรๆ เพราะกลัวต่อการติเตียน.
               ลำดับนั้น พ่อครัวคิดว่า ชิวหาวิญญาณของพระราชานี้ เห็นจะไม่มี ในวันที่สองจึงน้อมพระกระยาหารอันมีรสไม่อร่อยเข้าไปถวาย.
               พระราชาพอได้เสวยแม้ทรงทราบอยู่ว่า แน่ะผู้เจริญ วันนั้นพ่อครัวควรแก่การตำหนิหนอ แต่ก็ทรงพิจารณาเหมือนในครั้งก่อน จึงมิได้ตรัสอะไรๆ เพราะกลัวการติเตียน.
               ลำดับนั้น พ่อครัวคิดว่า พระราชา ดีก็ไม่ทรงทราบ ไม่ดีก็ไม่ทรงทราบ จึงถือเอาเครื่องเสบียงทุกชนิดด้วยตัวเอง แล้วหุงต้มเฉพาะบางอย่างถวายพระราชา.
               พระราชาทรงพระดำริว่า โอหนอ ความโลภ ชื่อว่าเราผู้กินบ้านเมืองถึงสองหมื่นเมือง ยังไม่ได้แม้สักว่าข้าวสวย เพราะความโลภของพ่อครัวนี้ ทรงเบื่อหน่ายละราชสมบัติออกผนวชเห็นแจ้งอยู่ ได้ทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ ได้ตรัสคาถานี้โดยนัยก่อนนั่นแล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิลฺโลลุโป แปลว่า ไม่มีความโลภ.
               จริงอยู่ บุคคลใดถูกความอยากในรสครอบงำ บุคคลนั้นย่อมโลภจัด โลภแล้วๆ เล่าๆ. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า โลลุปะ ผู้โลภ. เพราะฉะนั้น พระราชานี้เมื่อจะทรงห้ามความเป็นผู้ถูกเรียกว่าเป็นคนโลภ จึงตรัสว่า นิลโลลุปะ ผู้ไม่มีความโลภ.
               ในบทว่า นิกฺกุโห นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               เรื่องสำหรับหลอกลวง ๓ อย่างไม่มีแก่ผู้ใด ผู้นั้นท่านเรียกว่าผู้ไม่หลอกลวง ก็จริง ถึงอย่างนั้น ในคาถานี้ ชื่อว่าผู้ไม่หลอกลวง เพราะไม่ถึงความประหลาดใจในโภชนะอันเป็นที่พอใจเป็นต้น.
               ในบทว่า นิปฺปิปาโส นี้ ความอยากจะดื่ม ชื่อว่าความกระหาย, ชื่อว่าผู้ไม่กระหาย เพราะไม่มีความอยากจะดื่มนั้น. อธิบายว่า ผู้เว้นจากความประสงค์จะบริโภคเพราะความโลภในรสอร่อย.
               ในบทว่า นิมฺมกฺโข นี้ มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน มีลักษณะทำคุณความดีของคนอื่นให้ฉิบหาย. ชื่อว่าผู้ไม่มีความลบหลู่คุณท่าน เพราะไม่มีมักขะนั้น ท่านกล่าวหมายเอาความไม่มีการลบหลู่คุณของพ่อครัว ในคราวที่พระองค์ทรงเป็นคฤหัสถ์.
               ในบทว่า นิทฺธนฺตกสาวโมโห นี้ ธรรม ๖ ประการ คือกิเลส ๓ มีราคะเป็นต้นและทุจริต ๓ มีกายทุจริตเป็นต้น พึงทราบว่า กสาวะ น้ำฝาด เพราะอรรถว่าไม่ผ่องใสตามที่เกิดมี เพราะอรรถว่าให้ละภาวะของตนแล้ว ให้ถือภาวะของผู้อื่น และเพราะอรรถว่าดุจตะกอน.
               เหมือนดังท่านกล่าวไว้ว่า
                         บรรดาธรรมเหล่านั้น กิเลสดุจน้ำฝาด ๓ เป็นไฉน? กิเลส
                         ดุจน้ำฝาด ๓ เหล่านี้ คือกิเลสดุจน้ำฝาดคือราคะ โทสะ
                         และโมหะ บรรดาธรรมเหล่านั้น กิเลสดุจน้ำฝาด ๓ แม้อื่น
                         อีกเป็นไฉน ? คือกิเลสดุจน้ำฝาดทางกาย ทางวาจา และ
                         ทางใจ ดังนี้.

               บรรดากิเลสดุจน้ำฝาดเหล่านั้น ชื่อว่าผู้มีโมหะดุจน้ำฝาดอันขจัดแล้ว เพราะเป็นผู้ขจัดกิเลสดุจน้ำฝาด ๓ เว้นโมหะ และเพราะเป็นผู้ขจัดโมหะอันเป็นมูลรากของกิเลสดุจน้ำฝาดทั้งหมดนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเป็นผู้มีโมหะดุจน้ำฝาดอันขจัดแล้ว เพราะเป็นผู้ขจัดกิเลสดุจน้ำฝาดทางกาย วาจา ใจ ๓ นั่นแหละ และชื่อว่าเป็นผู้มีโมหะ. อันขจัดแล้ว เพราะเป็นผู้ขจัดโมหะแล้ว.
               บรรดากิเลสดุจน้ำฝาดนอกนี้ ความที่กิเลสดุจน้ำฝาดคือราคะถูกขจัด สำเร็จแล้วด้วยความเป็นผู้ไม่มีความโลภเป็นต้น ความที่กิเลสดุจน้ำฝาดคือโทสะถูกขจัด สำเร็จแล้วด้วยความเป็นผู้ไม่มีการลบหลู่คุณท่าน.
               บทว่า นิราสโย แปลว่า ผู้ไม่มีตัณหา.
               บทว่า สพฺพโลเก ภวิตฺวา ความว่า เป็นผู้เว้นจากภวตัณหาและวิภวตัณหาในโลกทั้งสิ้น คือในภพทั้ง ๓ หรือในอายตนะ ๑๒.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               อีกอย่างหนึ่ง กล่าวบาททั้ง ๓ แล้วพึงทำการเชื่อมความในบทว่า เอโก จเร นี้ แม้อย่างนี้ว่า พึงอาจเป็นผู้เดียวเที่ยวไป ดังนี้.
               จบพรรณนานิลโลลุปคาถา               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :