ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 21อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 32 / 23อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค
๑๐. สุมังคลเถราปทาน (๒๐)

               ๒๐. อรรถกถาสุมังคลเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระสุมังคลเถระมีคำเริ่มต้นว่า อาหุตึ ยิฏฺฐุกาโมหํ ดังนี้.
               แม้ท่านสุมังคละนี้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปิยทัสสี บังเกิดเป็นรุกขเทวดา.
               วันหนึ่ง ท่านเห็นพระศาสดาทรงสรงสนาน มีจีวรผืนเดียวประทับยืน ถึงโสมนัสปรบมือ. ด้วยบุญนั้นท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลแห่งคนเข็ญใจ ด้วยวิบากเครื่องไหลออกแห่งกรรมเช่นนั้น ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงสาวัตถี.
               ท่านได้มีชื่อว่า สุมังคละ ดังนี้. ท่านเจริญวัยแล้ว เป็นผู้มีเคียว มีไถ มีจอบอันเป็นสมบัติของคนค่อมเป็นบริขาร เลี้ยงชีพด้วยการไถ.
               วันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงบำเพ็ญมหาทานให้เป็นไปแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ เขาถือหม้อนมส้มเดินรวมกันกับมนุษย์ทั้งหลายผู้ถือเอาเครื่องอุปกรณ์ทานเดินมา เห็นเครื่องสักการะและสัมมานะของพระผู้มีพระภาคเจ้า ของภิกษุทั้งหลาย จึงคิดว่าสมณศากยบุตรเหล่านี้นุ่งผ้าเนื้อละเอียด เสวยโภชนะดีๆ อยู่ในที่สงัดลม ไฉนหนอ แม้เราก็จะพึงบวช จึงเข้าไปหาพระเถระรูปหนึ่งแล้วแจ้งความประสงค์ของตน.
               พระมหาเถระนั้นมีความกรุณาท่าน จึงให้ท่านบวชแล้วบอกกรรมฐาน.
               ท่านอยู่ในป่าเบื่อหน่ายกระสันในที่อยู่ผู้เดียว ใคร่จะสึก จึงไปบ้านญาติ เห็นมนุษย์ในระหว่างทางต่างถกกระเบนไถนาอยู่ นุ่งผ้าปอนๆ มีร่างกายเปื้อนด้วยธุลีโดยรอบซูบซีดด้วยลมและแดดไถนาอยู่ จึงได้ความสังเวชว่า สัตว์เหล่านี้เสวยทุกข์มีชีวิตเป็นเครื่องหมายอย่างใหญ่หนอ.
               ก็เพราะญาณของท่านแก่รอบ กรรมฐานตามที่ท่านถือเอา จึงปรากฏแก่ท่าน. ท่านเข้าไปยังโคนไม้แห่งหนึ่งได้ความสงัด มนสิการโดยแยบคายอยู่ เจริญวิปัสสนาก็บรรลุพระอรหัตตามลำดับแห่งมรรค.
               ท่านบรรลุพระอรหัตผลอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทานด้วยอำนาจโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อาหุตึ ยิฏฺฐุกาโมหํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาหุตึ ได้แก่ เครื่องอุปกรณ์บูชาและสักการะมิใช่น้อย มีข้าวและน้ำเป็นต้น.
               บทว่า ยิฏฺฐุกาโม แปลว่า ผู้ใคร่เพื่อจะบูชา, ข้าพเจ้าเป็นผู้ใคร่จะให้ทาน.
               บทว่า ปฏิยาเทตฺวาน โภชนํ ความว่า จัดแจงอาหารให้สำเร็จ.
               บทว่า พฺราหฺมเณ ปฏิมาเนนฺโต ความว่า แสวงหาปฏิคาหกคือบรรพชิตผู้บริสุทธิ์.
               บทว่า วิสาเล มาฬเก ฐิโต ความว่า ยืนอยู่ในโรงอันกว้างขวาง มีพื้นทรายขาวสะอาดน่ารื่นรมย์ยิ่ง.
               บทว่า อถทฺทสาสึ สมฺพุทฺธํ เชื่อมความว่า เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปิยทัสสี ผู้มียศใหญ่ มีบริวารมาก ผู้แนะนำโลกทั้งปวง คือสัตว์โลกทั้งสิ้น คือนำไปโดยพิเศษ ให้สัตว์ถึงพระนิพพาน เป็นพระสยัมภูผู้เป็นเอง ผู้ไม่มีอาจารย์ ผู้เป็นบุคคลเลิศ เป็นบุคคลประเสริฐ เป็นผู้จำแนกแจกธรรม ผู้ประกอบด้วยคุณมีความเป็นผู้มีภคยธรรม มีความรุ่งเรือง สมบูรณ์ด้วยรัศมีมีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น แวดล้อมไปด้วยสาวกทั้งหลาย รุ่งโรจน์งดงามเหมือนพระอาทิตย์ คือเหมือนพระสุริโยทัย ดำเนินไปในถนนคือในวิถี.
               บทว่า อญฺชลึ ปคฺคเหตฺวาน ความว่า เราประคองวางหม้อน้ำไว้บนศีรษะประคองอัญชลี กระทำจิตใจของเราให้เลื่อมใส ในคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเช่นนี้.
               อธิบายว่า ทำจิตให้เลื่อมใส.
               บทว่า มนสา ว นิมนฺเตสึ แปลว่า ทูลอาราธนาด้วยใจ.
               บทว่า อาคจฺฉตุ มหามุนิ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การบูชาในแผ่นดิน เป็นมุนี ขอเชิญเสด็จมาสู่นิเวศน์ของข้าพระองค์เถิด.
               บทว่า มม สงฺกปฺปมญฺญาย ความว่า พระศาสดาไม่มีผู้ยิ่งกว่า คือเว้นจากผู้ยิ่งกว่าในโลก คือในสัตวโลก ทรงทราบความดำริแห่งจิตของเราแล้ว แวดล้อมด้วยพระขีณาสพ ๑,๐๐๐ องค์ คือพระอรหันต์ ๑,๐๐๐ องค์ เสด็จเข้าไปใกล้คือเสด็จถึงประตูของเรา คือประตูเรือนของเรา.
               เราได้กระทำนมัสการอย่างนี้แด่พระศาสดาผู้ถึงพร้อมแล้วนั้น. ข้าแต่พระองค์ผู้บุรุษอาชาไนย คือผู้อาชาไนย ผู้ประเสริฐของบุรุษทั้งหลาย ขอความนอบน้อมของเราด้วยดีจงมีแด่ท่าน. ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด คือสูงสุดประเสริฐด้วยคุณยิ่งของบุรุษทั้งหลาย ขอความนอบน้อมของเราจงมีแด่ท่าน.
               อธิบายว่า เราขอเชื้อเชิญซึ่งพระองค์ขึ้นสู่ปราสาทอันเป็นที่น่าเลื่อมใสคือยังความเลื่อมใสให้เกิด แล้วประทับนั่งบนสีหาสนะ คือบนอาสนะอันสูงสุด.
               บทว่า ทนฺโต ทนฺตปริวาโร ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฝึกพระองค์แล้วด้วยทวารทั้ง ๓ ด้วยพระองค์เอง ทรงแวดล้อมไปด้วยบริษัท ๔ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา ผู้ฝึกแล้วเหมือนกัน.
               บทว่า ติณฺโณ ตารยตํ วโร ความว่า พระองค์เองทรงข้ามแล้ว คือข้ามขึ้นแล้วจากสงสารออกไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐสูงสุดกว่าบุรุษผู้วิเศษผู้ข้ามอยู่ เสด็จขึ้นปราสาทด้วยการอาราธนาของเรา ประทับนั่งคือสำเร็จการนั่ง บนอาสนะอันประเสริฐ คือสูงสุด.
               บทว่า ยํ เม อตฺถิ สเก เคเห ความว่า อามิสใดที่เรารวบรวมไว้ที่มีปรากฏอยู่ในเรือนตน.
               บทว่า ตาหํ พุทฺธสฺส ปาทาสึ ความว่า เรามีจิตเลื่อมใสได้ถวายอามิสนั้นแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน โดยเคารพ หรือโดยเอื้อเฟื้อ.
               บทว่า ปสนฺโน เสหิ ปาณิภิ ความว่า เรามีจิตเลื่อมใส มีจิตผ่องใสถือเอาอามิสถวายด้วยมือทั้งสองของตน. เรามีจิตเลื่อมใส มีความดำริแห่งใจอันผ่องใสแล้ว มีใจดี มีใจงาม.
               อธิบายว่า เราเกิดความปลื้มใจ เกิดโสมนัสกระทำอัญชลี ประคองอัญชลีไว้เหนือเศียรเกล้า นอบน้อมพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ.
               บทว่า อโห พุทธสฺสุฬารตา ความว่า ภาวะที่พระศาสดาผู้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เป็นภาวะที่ยิ่งใหญ่ น่าอัศจรรย์หนอ.
               บทว่า อฏฺฐนฺนํ ปยิรุปาสตํ ความว่า ในระหว่างพระอริยบุคคล ๘ นั่งฉันอยู่ มีพระขีณาสพอรหันต์เป็นอันมาก.
               บทว่า ตุยฺเหเวโส อานุภาโว ความว่า พระองค์เท่านั้นมีอานุภาพ คือมีการเที่ยวไปในอากาศและผุดขึ้นดำลงเป็นต้น. ไม่ใช่คนเหล่าอื่น.
               บทว่า สรณํ ตํ อุเปมหํ ความว่า เราขอถึง คือถึงหรือทราบว่า ท่านผู้เป็นเช่นนี้นั้นเป็นที่พึ่ง เป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปิยทัสสี เป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์โลกเป็นนระผู้องอาจ ประทับนั่ง ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ภาษิต คือตรัสพยากรณ์คาถาเหล่านี้.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาสุมังคลเถราปทาน               
               จบอรรถกถาสีหาสนิยวรรคที่ ๒               
               -----------------------------------------------------               

               รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
                         ๑. สีหาสนทายกเถราปทาน
                         ๒. เอกถัมภิกเถราปทาน
                         ๓. นันทเถราปทาน
                         ๔. จุลลปันถกเถราปทาน
                         ๕. ปิลินทวัจฉเถราปทาน
                         ๖. ราหุลเถราปทาน
                         ๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน
                         ๘. รัฏฐปาลเถราปทาน
                         ๙. โสปากเถราปทาน
                         ๑๐. สุมังคลเถราปทาน
               ในวรรคนี้ท่านประกาศคาถาไว้ ๑๓๗ คาถา.
               จบ สีหาสนิยวรรคที่ ๒.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค ๑๐. สุมังคลเถราปทาน (๒๐) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 21อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 22อ่านอรรถกถา 32 / 23อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1457&Z=1499
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=728
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=728
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :